บางส่วนที่ถูกกลืนหายของระบบการจัดการน้ำในสังคมล้านนา

เรื่อง: ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์

จารีตของการจัดการน้ำในสังคมล้านนา ก่อนยุคที่รัฐส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ จะรวบอำนาจการจัดการน้ำในสังคมล้านนาไป ระบบการจัดการน้ำในสังคมล้านนาแบบเดิมเป็นการจัดการน้ำในรูปแบบ “ลำเหมือง” และ “ฝาย” หรือระบบเหมืองฝาย ที่มีกลไกจัดการที่ยืดหยุ่นตามลักษณะนิเวศชุมชนท้องถิ่น ซึ่งปรากฏหลักฐานชิ้นสำคัญของล้านนา อย่าง กฎหมายมังรายณ์ศาสตร์

“แก่เหมือง” “แก่ฝาย” เป็นกลไกที่สำคัญ รองลงมาคือ รองแก่เหมืองรองแก่ฝาย ช่วยแก่เหมืองแก่ฝายอีกที ซึ่งทำงานร่วมกับ “ลูกฝาย” เป็นตัวแทนที่ร่วมกันบริหารจัดการแต่ละจุด ฝายแต่ละลูก เชื่อมต่อกันเป็นโครงข่ายจากระบบแบบ Micro Site ทั้งต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และไหลลงสู่ลุ่มน้ำ

ฝายในแต่ละแห่งมักสร้างระบบผันจ่ายน้ำ ขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่ตามสภาพพื้นที่   อย่างการสร้างทำนบกั้นน้ำเพื่อเบี่ยงน้ำเข้านาแต่ละพื้นที่ เรียกว่า “แต”  หากแตอยู่ในที่หาของผู้ใด ก็มักใช้ชื่อผู้นั้นเพื่อเป็นการแทนจุดพิกัด เช่น แตปู่คำ แตลุงทอง เป็นต้น นอกเสียจาก แตแล้ว ยังมีระบบเหมืองไส้ไก่ ที่เป็นการออกแบบจุดช่องให้น้ำผ่านขนาดเล็กจากคันนาแห่งหนึ่งสู่คันนาอีกแห่ง หรือเป็นการแบ่งน้ำเข้านาง บ้างเรียกว่า “ยอยน้ำ” “ข่าง” “ปุม”

ระบบชลประทานและเหมืองฝายของชาวล้านนา ภาพ: กรมศิลปากร

เหมืองฝาย ภูมิปัญญาในการจัดการน้ำสำหรับการทำเกษตรของชุมชนในพื้นที่ภาคเหนือ จากสภาพภูมิประเทศเป็นพื้นที่ต้นน้ำบวกกับพื้นที่ภูเขาสูง การทำนามีสภาพเป็นชั้น ๆ การดึงน้ำเข้านาจึงใช้วิธีการฝายกั้นำลำน้ำให้สูงกว่าแปลงนา และขุดบำเหมืองจากหน้าฝายเข้าสู่ที่นา มโนทัศน์ว่าด้วยการจัดการน้ำลักษณะนี้สัมพันธ์กับการจัดสรรผลประโยชน์ในพื้นที่ทำกินในแต่ละฤดู การจัดการแรงงาน การเจรจาต่อรอง การเฉลี่ยผลกระทบของแต่ละชุมชนท้องถิ่น  ผู้คนท้องถิ่นในสังคมล้านนาจึงมีร่วมกันทำ “สัญญาเหมืองฝาย” เพื่อเป็นข้อตกลง กฎระเบียบ จำแนกสิทธิในการใช้งานรวมถึงการดูแล และบทลงโทษ ทั้งหมดนี้ได้สร้างพันธะในการรับผิดรับชอบร่วมกัน (บ้างก็อาจเรียกเป็นธรรมนูญการจัดการน้ำท้องถิ่น) มักยึดโยงกับระบบความเชื่อ การให้คุณค่าความศักดิ์สิทธิ์ของ “ผีเหมืองฝาย “ผีน้ำ” “ผีป่าผีเขา” ผ่านพิธีกรรมของชุมชนที่เป็นตัวแทนการมองโลกธรรมชาติและการใช้งานธรรมชาติโดยไม่ได้แยกขาดจากกัน

จะเห็นได้ว่าระบบเหมืองฝายแบบจารีตของสังคมล้านนาดั่งเดิมนั้นสัมพันธ์กับชีวิตของผู้คนและระบบนิเวศ ที่ส่งผลต่อการผลิตแบบเกษตรกรรม  แต่อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่ของระบบเหมืองฝายแบบจารีตเกิดขึ้นหลังการ รวบอำนาจการจัดการทรัพยากรสู่รัฐส่วนกลางผ่านระบบราชการและระบบกฎหมาย  ซึ่งเห็นได้จาก กฎหมายชลประทานราษฎร์ ราวยุคทศวรรษ พ.ศ.2480

หัวใจสำคัญของการจัดการน้ำในระบบเหมืองฝาย ถูกกลืนหายไปและส่งผลต่อสถานการณ์ภาพใหญ่ของการจัดการน้ำในภาคเหนือ อาทิ การสูญเสียระบบกรรมสิทธิ์ร่วม (common property) ที่ยึดโยงกับระบบความรู้ในเชิงภูมิปัญญาของสังคมล้านนาการสูญเสียอำนาจในการออกแบบร่วมกันของผู้คน และการตัดสินใจบริหารจัดการน้ำในเชิงรวมหมู่โดยผู้คนในท้องถิ่น ภายใต้นิเวศอันหลากหลาย

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง