“ถนนสายเดิมอาจจะเป็นลูกรัง แต่ถนนสายใหม่มันต้องดีกว่าเดิม” ประวัติศาสตร์ความทรงจำที่ทอดยาวของ ‘สหายกิ่ง’ ภาณุมาศ ภูมิถาวร

เรื่อง: สุมาพร สารพินิจ

ภาพ: กิตติพศ บำรุงพงษ์

ครบรอบ 48 ปี ล้อมปราบประชาชน 6 ตุลา 2519 หนึ่งในเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ไม่ถูกบันทึกลงปฏิทิน และเป็นเสียงที่ไม่ถูกได้ยินในห้องเรียนการเมืองไทย การใช้ความรุนแรงเป็นข้อยุติความเห็นต่าง ไม่เพียงแต่สร้างความรุนแรงให้เกิดการล้อมปราบที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แต่ยังเป็นเหตุผลให้ใครหลาย ๆ คน “เตรียมไปสู่ชนบท” ตามคำกล่าวของ “สหายกิ่ง” หรือ ภาณุมาศ ภูมิภาวร จากนักศึกษาวิทยาลัยครูพิบูลสงคราม สู่ “สหาย” หรือสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)

ก่อนที่เวลาในป่าจะดำเนินไปจวบจนวันที่เดินกลับสู่เมือง สหายกิ่งเก็บเอาความทรงจำออกมาถ่ายทอดจรดปากการ้อยเรียงท่องทำนองชีวิต ในวังวนเวลาการเปลี่ยนผ่านทางความคิดและการเมืองอย่างเข้มข้น ระหว่าง 14 ตุลา 2516 จนถึงหลัง 6 ตุลา 2519 เป็นหนังสือทั้งหมด 3 เล่มด้วยกัน ศึกเขาค้อ, สหาย, ปืน เป้ และเปลผ้าใบ รวมไปถึง น้ำตาที่ลามไหม้ ผลงานล่าสุดที่เพิ่งปล่อยไปในออนไลน์เมื่อเมษายน 2565 ทุกเล่มล้วนบอกเล่าฉากและชีวิตพลิกผัน ของเหล่าสหายที่จากลาทั้งจากเป็นและจากตาย มาถึงวันนี้ภาณุมาศก็เชื่อไปแล้วว่าคนเดือนตุลาฯ ต่างเดินทางไกลเกินกว่าจะไปต่อ และควรรอดูเส้นทางสายใหม่จากการเดินทางของคนรุ่นหลัง บนถนนแห่งความหวังที่กว้างและดีกว่าเดิม

ถัดจากนี้ไปคือถ้อยความที่ถูกเรียบเรียงจากเสียงสัมภาษณ์ ว่าด้วยอดีต ปัจจุบัน และฉากทัศน์ของอนาคตที่ยังมองไม่เห็นทาง

“เราขึ้นโต๊ะถือโทรโข่งอันหนึ่ง เล่าเรื่องข้าวหอพักโรงเรียนเป็นยังไง คนฟังก็ตบมือเฮกันใหญ่ ใครมีปัญหาอะไรก็ไปพูดกัน เริ่มจากจุดนั้น”

ตอนอยู่ มศ. 4 ก็เกิด 14 ตุลาฯ คนตื่นตัวมาก โรงเรียนหลายแห่งเดินขบวนประท้วงอาจารย์ใหญ่ ผู้อำนวยการ เฉลิมขวัญก็ด้วย มีรุ่นพี่ ม.ศ. 5 อยู่ 4-5 คน ประท้วงเรื่องอะไรในโรงเรียนก็ไม่รู้ เราเดินผ่านเขาจำได้ก็เรียก “อ้าว น้องคนนี้เป็นนักเรียนประจำ มีปัญหาอะไรในโรงเรียนประจำบ้าง” เราขึ้นโต๊ะถือโทรโขงอันหนึ่ง เล่าเรื่องอาหารเป็นยังไง คนฟังตบมือเฮกันใหญ่ ใครมีปัญหาอะไรก็ไปพูดกัน เริ่มจากจุดนั้น

“ปีต่อมา (พ.ศ. 2517) มีเลือกตั้งประธานสภานักเรียน ป้าก็เป็นคนแรกที่ได้รับเลือกให้เป็นประธานสภาฯ ทีนี้นักศึกษารุ่นพี่จากวิทยาลัยวิชาการศึกษา (มหาวิทยาลัยนเรศวรในปัจจุบัน) เขามาขอพบ ตอนนั้นมีโครงการเผยแพร่ประชาธิปไตย ไปชนบทช่วงปิดเทอมก็มีรุ่นพี่พาไป ก็พวกพี่เกรียงกมล เลาหไพโรจน์, สุภาวดี หาญเมธี, ชาญวิทย์ อร่ามฤทธิ์, ก้องเกียรติ คงคา เขาก็จะมาพูดกัน มีจุดรวมนักเรียนหลาย ๆ คนที่สนใจเรื่องพวกนี้”

ภาณุมาศบรรยายบรรยากาศทางการเมืองที่เข้มข้นขึ้นเรื่อยๆ หลัง 14 ตุลาฯ เธอเคยร่วมยืนประท้วงหน้าสถานีรถไฟพิษณุโลก และฟังปราศรัยในรั้ววิทยาลัยวิชาการศึกษาจากบรรดานักศึกษาหัวก้าวหน้า สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมนำพาเธอมาเข้าร่วมกับการต่อสู้นับแต่นั้น

บทชีวิตที่พลิกผัน เมื่อถึงวันต้องเข้าป่า

ด้วยกระแสการเคลื่อนไหวที่ต่อเนื่องและคุกรุ่น ทั้งในจังหวัดพิษณุโลกที่ประสานล้อไปด้วยกันกับการเคลื่อนไหวในกรุงเทพฯ ภาณุมาศเล่าว่าในบทบาทของเธอในช่วงนั้น เธอเข้าร่วมกับศูนย์นักเรียนที่กรุงเทพฯ สมัยที่ธงชัย วินิจจะกุล ยังเป็นนักศึกษาอยู่ นาน ๆ ทีเธอและเพื่อน ๆ จะเดินทางเข้ากรุงเทพฯ ไปร่วมงานนิทรรศการและกิจกรรมให้ความรู้ทางการเมืองที่มีอยู่มากในตอนนั้น เธอเล่าว่าพอเข้าใกล้ 6 ตุลาฯ ทางพื้นที่ภาคใต้ก็มีเหตุการณ์ประท้วงความรุนแรงเกิดขึ้นเช่นกัน อย่างเรื่องการสัมปทานแร่ของบริษัทเทมโก้ เหตุการณ์ถังแดงที่พัทลุง และการฆ่าคนบริสุทธิ์นับพัน เธอเสริมว่าเพราะการอ่านเธอจึงรู้ว่าสังคมภายนอกเกิดอะไรขึ้นบ้าง พร้อมกันกับการได้เห็นสภาพชีวิตชาวนาที่ถูกกดขี่ จึงส่งผลให้ความคิดของเธอถูกยกระดับเรื่อยมา

เวลาต่อมา วิทยาลัยครูพิบูลสงคราม (ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นมหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม) ได้เปิดรับนักศึกษา เธอสมัครเข้าเรียนต่อในเอกภาษาไทยเป็นเวลาเพียงปีเศษ และในวันที่ 1 เมษายน 2519 เธอและเพื่อนอีก 4 คน จะถูกจับที่สวรรคโลก เหตุเพราะจัดวงศึกษาการเมืองและชนชั้นทางสังคมอย่างเข้มข้นในสวนหลังบ้านของรุ่นพี่คนหนึ่ง เธอบรรยายเหตุการณ์ในตอนนั้นว่า มีคนมุงโรงพักดูกันเป็นพัน และโดนจับข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร เธอกับเพื่อนติดคุกอยู่ราว 7 วัน จนคดีถูกนำขึ้นศาลและยกฟ้องไป พอเกิดเหตุการณ์ 6 ตุลาฯ เธอยืนยันกับตัวเองว่าอยู่ไม่ได้แล้ว ทั้ง 4 คนที่เคยถูกหมายหัวจึงต้องเข้าป่า

“ตอนนั้นมันยังมีแต่ความฮึกเหิม มันต้องสู้ พวกเผด็จการ เขาไม่ยอมง่ายๆ มันไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรที่จะได้มาง่ายๆ เราต้องสู้กับมัน คนที่มีทัศนะแบบนี้คือเตรียมไปสู่ชนบท ตอนนั้นเราไม่พูดว่า “เข้าป่า” คนที่บ้านเกิดก็เรียกพวกเราว่าคอมมิวนิสต์ เราไม่เข้าใจว่าคืออะไรแต่ถูกว่ามาแบบนี้ นึกย้อนไปก็สงสารพ่อแม่เหมือนกันนะ เราคงเรียนไม่จบถ้าสภาพสังคมเป็นแบบนี้ เราไม่อยากเรียน เรียนไปก็ไม่มีประโยชน์อะไร..”

ตอนนั้นมองว่าการเข้าป่าเป็นที่พึ่งสุดท้าย ทำให้สังคมเปลี่ยนแปลงพลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน เพราะก่อน 6 ตุลาฯ เราก็เดาว่าเราจะอยู่ไม่ได้ แต่ไม่คิดว่าจะรุนแรงถึงขั้นล้อมปราบนักศึกษาที่ธรรมศาสตร์

“ความจริงตอนนั้น พคท. จะเจ๊งแล้ว แต่ก็เหมือนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 เพราะ 6 ตุลาฯ นักศึกษาเข้าไปยืดชีวิตต่อได้อีกหน่อย”

โรคที่ติดจากป่าและยังรักษาไม่หาย

มันเป็นโรคที่รักษาไม่หาย ตอนนั้นมีประโยคหนึ่งในหนังสือ “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าสาง” ของอัศศิริ ธรรมโชติ แต่พอเราออกจากป่า “สหายร้อย” หรือ วัฒน์ วรรลยางกูร ก็บอกเราว่า “ขุนทองเจ้าจะกลับมาเมื่อฟ้าค่ำ”

คือมันผิดหวังมาก เราโยนอนาคตทิ้งไว้ข้างทางแล้วทำไม่สำเร็จ รู้สึกเป็นคนล้มเหลวของสังคม กลับมาก็ไม่อยากเรียนต่อ ทำใจไม่ได้กับสภาพสังคมเลยเป็นคนเรียนไม่จบ

ภาณุมาศเล่าให้ฟังว่าตอนปี 2549 เธอติดตามดูการเปลี่ยนแปลงของเพื่อนหลาย ๆ คน บางคนสีเหลือง บางคนสีแดง เธอกล่าวถึงความรู้สึกต่อสหายที่เปลี่ยนไปให้พวกเราฟังว่า จากคนที่เคยก้าวหน้าและต่อสู้กับเผด็จการอย่างจัดตั้งใหญ่สุดของเขต กลับเชียร์ให้ประยุทธ์ยึดอำนาจสำเร็จ

“มันอกหักครั้งที่ 2 เคยคิดว่า คนนี้ด้วยเลือดด้วยเนื้อจะเป็นนักปฏิวัติไปจนตาย แต่หาเป็นเช่นนั้นไม่ ตอนจบก็เป็นหนังคนละม้วน ตอนหลังก็เลยทำใจได้ คนอยากจะเปลี่ยนก็เปลี่ยน”

ถึงคราวสิ้นสุดการเดินทางของคนตุลา เวลาจึงเดินก้าวหน้าไปพร้อมคนรุ่นหลัง

“คนตุลานี่มันโคตรจะแพ้เลย มันไม่ได้มีอะไร เราแค่ไปลูบ ๆ คลำ ๆ ไม่ได้ถอดสลักระเบิด รู้แค่ว่ามันอันตรายนะแทนที่จะถอดสลักในยุคนั้น เราไม่ได้ทำ เราไม่คิดว่าจะทำ เพราะเรามีชุดความเชื่อของเราว่า เห้ย! มันยังไม่ถึงเวลา ทุกวันนี้ก็ยังมีคนพูดประโยคนั้นอยู่”

ตอนนี้ไม่อยากเรียกตัวเองว่าคน 6 ตุลา รู้สึกอายยังไงไม่รู้ ป้าเป็นคนเดือนกันยานะ ป้าเกิดเดือนกันยา (หัวเราะ) คุยกันกับเพื่อนสนิทคนนึง ต่อไปเราก็ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ ไม่ต้องบอกใครเป็นคนเดือนตุลานะอายเขา เพราะคนตุลานี่แม่งชอบทำตัวใช้วีซ่าตลอดชีพ “ฉันคนเดือนตุลา” ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างงั้น มันไม่มีอะไรให้คุณภาคภูมิใจได้หรอก ว่าคุณทำอะไรหรือไม่ทำอะไรมา มันก็อยู่ตรงนั้นของมัน อยู่ในลิ้นชักประวัติศาสตร์ไปแล้ว เราแค่อยู่ขอบสนามให้กำลังใจลูกหลานไป อย่าไปขวางทางเขาก็พอแล้ว อย่าไปพูดอะไรที่ไม่เป็นประโยชน์กับสังคมจะดีกว่า เหมือนที่พวกพรรคเพื่อไทยทำ

พวกรุ่นคุณนี่ (รุ่นของผู้สัมภาษณ์) ทำคือทำให้ทะลุเพดานจริง ๆ ใช้คำนี้จริง ๆ มันไม่ได้มีอะไรมากมาย มันแค่เป็นมายา เป็นหมอกบาง ๆ แค่นั้นเอง ลมพัดมาทีนึงมันก็ปลิวไปแล้ว คิดว่าคน 6 ตุลานี่สมควรเข้านอนได้แล้ว เหมือนที่อาจารย์ประจักษ์ ก้องกีรติบอก (หัวเราะ) “คนเดือนตุลาถึงเวลาต้องพักผ่อนบ้าง

งานเขียนที่หล่อเลี้ยงความคิด ชีวิตเพื่อสังคมของ ‘ภาณุมาศ’

“ไม่รู้สิ ป้าเป็นคนพูดไม่เก่งนะ พอเห็นอะไรแล้วรู้สึกว่ามันเป็นเรื่องราวที่อยากจะเขียนไว้ มันไม่ต้องเอาไปเผยแพร่ ไม่ต้องได้พิมพ์ บางเรื่องมันระเบิดขึ้นมา มันจุดขึ้นมาก็อยากจะเขียน อยากบันทึกไว้อย่างนั้นมากกว่า แต่ก่อนนี้สิ่งที่ระเบิดขึ้นมา คือรู้สึกว่าเรากลับมาแบบคนล้มเหลวของสังคม ถึงเขียนเรื่อง “ศึกเขาค้อ” หรือ “สหาย” ขึ้นมา อยากบอกว่าเราผ่านอะไรมา นั้นคือการเยียวยาตัวเองด้วย แต่ก็ไม่ได้เขียนเชิงโอ้อวดอะไร ตอนนั้นยังไม่เป็นที่ยอมรับ พึ่งออกจากป่า เคยส่งต้นฉบับไปให้พี่สุชาติ สวัสดิ์ศรี แกอ่าน แกบอกยังไม่ถึงเวลาที่จะพิมพ์ ผ่านไปอีก 18 ปีนะ จากที่เขียนศึกเขาค้อถึงได้พิมพ์ก็ปาเข้าปี 2545 แล้ว”

มันมีอะไรจะเขียนเราก็เขียนไปเถอะ ไม่ต้องไปเก็บไว้ แต่อย่าไปคาดหวังว่าเราเขียนเพื่ออะไร เหมือนเอาสะใจ เหมือนคนชอบร้องเพลงก็อยากร้อง คนชอบแต่งเพลงก็จะแต่ง ทั้ง ๆ ที่ไม่ได้คิดว่าจะไปขายให้แกรมมี่ได้ มันบอกไม่ถูกนะ อารมณ์ของคนที่อยากทำงานพวกนี้ แต่งเพลงด้วย วาดภาพด้วย ป้าว่าคงอารมณ์เดียวกัน เห็นอะไรมันก็อยากจะเขียนออกมาสักหน่อยนึง

“เรื่องท้าย ๆ ที่เขียนคือ “น้ำตาที่ลามไหม้” ป้าเห็นภาพวาดของพี่อรุณ วัชรสวัสดิ์ เป็นรูปดวงตาคนร้องไห้ออกมาเป็นเปลวไฟ แล้วก็เหมือนใช้คำนี้ด้วย ป้าก็เลยมานึกได้ช่วงโควิด คนตายเยอะมาก ก็เลยสร้างครอบครัวนึงขึ้นมา มีอาชีพค่อนข้างเป็นคนชั้นล่าง อยากจะบอกเล่าถึงการรักษาว่าเป็นยังไงผ่านครอบครัวนี้ เลยส่งข้อความไปขออนุญาต เอาชื่อของพี่อรุณ วัชรสวัสดิ์ มาตั้งเป็นชื่อนี้ เป็น E-Book นะ ไม่ได้พิมพ์เป็นเล่ม เป็นเล่มที่เราเขียนแล้วรู้สึกมีความสุข ได้บันทึกเรื่องราวช่วงโควิด มันหนักมาก ตายกันข้างทาง ชีวิตมันไร้ค่าจริงๆ เลยนะ โดยแท้ มันก็โยงไปได้เรื่อย สังคมไทยมันปกครองด้วยกระบอกปืนก็เป็นอย่างนี้แหละ ชีวิต ความเป็นอยู่ประชาชนไม่ได้รับการดูแลอะไรเลย”

หลังเธอพูดจบ จึงตามด้วยบทสนทนาของทีมของผู้สัมภาษณ์ที่เปรียบเธอเหมือนยักษ์ให้เด็กรุ่นหลังนั่งบนบ่า คนรุ่นหลังจึงได้เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น “ขอบคุณที่ให้เกียรติขนาดนั้น”

“ป้าเลิกคิดแบบนี้ไม่ได้ สภาพสังคมมันน่าจะดีกว่า คิดว่าคนแก่ ๆ ตัวเล็ก ๆ อย่างป้าจะทำอะไรได้อีกบ้าง ถนัดทางเขียนก็เขียนอะไรไป สักวันนึงอาจจะเป็นประโยชน์ก็ได้ ถ้าป้าตายไปแล้ว สังคมเปลี่ยนไปแล้ว ก็อาจเป็นบันทึกชิ้นนึงเล็ก ๆ ที่อยู่ในสายธารวรรณกรรมของประเทศนี้บ้าง บอกเล่าว่ามันเคยเกิดอะไรขึ้น อยากบอกตรงนั้นมากกว่าใครจะรู้จักเราหรือไม่ แค่อยากบันทึกเรื่องราว”

“วัยรุ่นสมัยนี้อ่านหนังสือเยอะนะ กระแสการอ่านหนังสือก็ไม่เบาเลยนะ จากที่คุยกับอาจารย์หรือใครหลาย ๆ คนที่เขียนหนังสือ เขาบอกว่างานกิจกรรมการเมืองที่มีหนังสือพวกนี้วางขาย เด็กรุ่นใหม่อ่านหนังสือกันเยอะมาก ดีจังเลย พอศึกษาทั้งอ่าน ทั้งมีโซเชียลค้นง่ายด้วย ดีมาก พวกคุณคือความหวังของสังคมนะเนี่ย คนรุ่นใหม่”

4 รุ่น 4 วัย มุมใดใครมอง มุมนั้นสะท้อนตัวตน

ปัจจุบันยังเขียนหนังสืออยู่ คือมันอดไม่ได้นะ บางทีพอมันมีประเด็นอะไรขึ้นมาก็เขียน บางทีก็ไม่ได้เผยแพร่ เขียนเก็บไว้ มีแม่กับลูกคนนึง บอกให้เขียนอะไรสักเรื่องที่ขณะนี้พิมพ์ไม่ได้ เราเห็นสภาพสังคมแบบนี้แล้วรู้สึกยังไง มันมีคนสามวัยเนาะ น่าจะเริ่มตั้งแต่เสรีไทย กู้บ้านกู้เมืองในแบบของเขา ช่วง 14 ตุลา 6 ตุลา แล้วก็ถึงยุคปัจจุบันของพวกคุณเนี่ย น่าจะมีคนอย่างน้อย 4 รุ่น 4 วัย ที่เล่าเหตุการณ์เชื่อมโยงประวัติศาตร์พวกนี้ได้ อยู่ที่ว่าใครจะมองมุมไหน

พวกสายอนุรักษ์เขาก็พยายามเขียนอะไรของเขาจัง ไม่ว่ากันใครอยากเขียนอะไร คือคุณยืนอยู่จุดไหนคุณก็เขียนแบบที่คุณเป็น

แม้รู้สึกแพ้ แต่ยังคงส่งต่อความหวังให้คนรุ่นหลัง? 

ภาณุมาศเอ่ยถามตัวเอง ถึงความคิดหากได้ย้อนเวลากลับไปจะยังเลือกต่อสู้และก้าวไปสู่ชนบทอย่างเดิมไหม เธอกล่าวว่า มันเป็นสิ่งที่ต้องทำ ด้วยหวังว่าสภาพสังคมประเทศไทยควรจะดีกว่านี้ ในความรู้สึกผิดหวังกับพคท. ที่ยังคงทิ้งร่องรอยความพ่ายแพ้ และความรู้สึกเจ็บลึกไว้ข้างใน ยิ่งเธอได้พบการพรากจากลาทั้งเป็นและตาย ของเหล่าสหายที่เปลี่ยนแปลงความคิดไปเรื่อย ๆ ยิ่งก่อให้เกิดคำถามมากมาย ที่ซึ่งเธอได้คำตอบสุดท้ายว่า ขณะที่เพื่อนสวิงกลับมาแล้วเราก็ยังอยู่ที่เดิม ไม่ได้ผิดหวังเท่าตอนนั้น โลกมันก็อย่างนี้แหละ คิดได้ตามวัย อายุขนาดนี้แล้ว

แต่ว่าสักวันทุกอย่างมันต้องเปลี่ยนแปลง ใช่ไหม? จากเรื่องสถาบันที่เราคุยกันไม่ได้ ต้องกระซิบกระซาบคุยกัน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเรื่องเปิดเผยมาก คุยกันให้ลั่นไปหมด เธอกล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงที่ไม่เธอไม่เคยคาดคิดว่าจะได้เห็น

บางทีรู้สึกอายนะ ถ้าจะบอกตัวเองเป็นคนตุลา เราได้ผ่านความพ่ายแพ้ยับเยินขนาดไหน รุ่นน้อง ๆ หลาน ๆ เก่งกว่าเยอะ เราก็ชื่นชม ไม่ได้รู้สึกว่าเราเป็นรุ่นพี่ เราผ่านมานะ เหมือนถนนสายนึงที่เราเดินมาจนสุดสายละ พวกคุณคือตัดทางสายใหม่ต่อไป ถนนเดิมอาจจะเป็นลูกรังนะ ถนนสายใหม่มันจะต้องกว้างจะต้องดีกว่าเดิม เธอกล่าวให้กำลังใจทุกคนปิดท้าย เปรียบตัวเองยืนมองคนรุ่นหลังข้างขอบสนาม และจะยึดมั่นในสิ่งที่เธอทำต่อไป

ข่าวที่เกี่ยวข้อง