ล้านนา World: เรื่องเล่าผีเสื้อสมิงเชียงดาว – ผีเสื้อใกล้สูญพันธุ์ กับสัญญาณเตือนโลกทั้งใบที่ไม่เหมือนเดิม

เรื่อง: ภู เชียงดา

1.

ผมได้ยินข่าวเรื่องผีเสื้อใกล้จะสูญพันธุ์ เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะที่อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ต่างมีการเปิดเผยงานวิจัยออกมากันอย่างต่อเนื่องว่าปัจจุบัน ผีเสื้อเสี่ยงจะสูญพันธุ์ ซึ่งเป็นสัญญาณเตือนสำหรับธรรมชาติและมนุษย์ ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศนั้นมีผลต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สัตว์มีจำนวนลดลง อายุสั้นลง อากาศวิปริตแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิต จนทำให้ “ผีเสื้อ” มีแนวโน้มว่าบางชนิดอาจสูญพันธุ์ ในขณะที่ทุกคนรู้ดีว่า ระบบนิเวศจะสมบูรณ์มากน้อยแค่ไหน “ผีเสื้อ” นี่แหละคือตัวชี้วัดชั้นเยี่ยม!

นั่นทำให้ผมต้องกลับมารื้อค้นเรื่องราวของ “ชายเฒ่าผู้วิ่งไล่จับผีเสื้อ” ที่ผมได้เขียนบันทึกความทรงจำเก่าๆ เอาไว้นานแล้ว ออกมาอ่านอีกครั้งหนึ่ง…

‘ฟ้าสวย’ ชุมชนเล็กๆ ของพี่น้องชนเผ่าลีซู เป็นหย่อมบ้านของหมู่บ้านนาเลาใหม่ ที่ซ่อนตัวอยู่เงียบๆ  ในหลืบเขาด้านหลังดอยหลวงเชียงดาว ภูเขาที่ยังคงทอดทะมึนสูงตระหง่าน ช่างน่าเกรงขามอยู่ตรงนั้น

เดิมทีชุมชนนี้มีชื่อว่า ‘ห้วยแห้ง’ ตั้งตามชื่อของลำห้วยที่ไหลผ่านหมู่บ้าน พอถึงหน้าแล้ง สายน้ำที่ไหลมาจากส่วนหนึ่งของดอยหลวงเชียงดาว ได้ไหลลงมาแล้วมุดลงไปในโพรงใต้ดิน ทำให้ลำห้วยสายนั้นแห้งขอด แต่น่าแปลกที่น้ำสายนั้นไปในถ้ำลึกลับท้ายหมู่บ้าน จนกลายเป็นถ้ำธารน้ำไหล มีปลา และค้างคาวมาอาศัยอยู่เต็มไปหมด

ครั้งหนึ่ง ผมเคยแบกเป้ขึ้นดอยไปเป็นครูดอยสอนเด็กๆ ที่ศูนย์การเรียนฯ บ้านฟ้าสวย ในราวปี 2542  และผมจำได้ว่าบ่อยครั้ง หลังเลิกเรียน เด็กๆ ชอบชวนผมไปเที่ยวในถ้ำเถื่อน ผมใช้ไฟฉาย เด็กจุดไฟไม้เกี๊ยะ ลุยน้ำเข้าไป ภารกิจของเด็กๆ นั่นคือจับค้างคาวไปให้พ่อแม่ทำอาหาร ในขณะผมจ้องมองดูอยู่เงียบงัน ชุมชนแห่งนี้จึงมีเรื่องราวให้เรียนรู้อยู่มากมาย

แต่มีเรื่องหนึ่งที่ผมสนใจ ก็คือเรื่องของพ่อเฒ่ากิแฮะ พ่อเฒ่าลีซูชอบสวมหมวกเบเร่ต์สีแดง เที่ยวไล่จับผีเสื้อตามลำห้วย ตอนแรกผมก็ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมพ่อเฒ่าถึงไล่จับผีเสื้อเช่นนั้น แต่เริ่มเอะใจ เมื่อวันก่อนมีคนเมืองคนหนึ่งขึ้นมาบนดอย เข้ามาในหมู่บ้าน บอกว่าต้องการรับซื้อผีเสื้อตัวงาม หากใครจับได้จะให้ราคาดี  ว่ากันว่า พวกพ่อค้านำไปขายให้พวกนักสะสมซากแมลงในเมืองใหญ่ข้างล่างโน่นอีกที

…ภาพเบื้องหน้าริมลำห้วยในหุบเขา ไม่ไกลจากหมู่บ้าน ดวงตะวันสาดแสงสะท้อนไปทั่ว…สาดกระทบน้ำในแอ่งที่หลงเหลืออยู่ ส่องสาดกรวดหินทรายเป็นประกายวิบวับ หมู่ผีเสื้อหลายหลากสีสันลวดลายงดงาม กำลังกระพือปีกบินว่อนว่ายไปมาระหว่างดงดอกหญ้า ก่อนจับนิ่งบนโขดหินที่ทับซ้อนระเกะระกะริมลำห้วย

ห้วงยามนั้น…พ่อเฒ่าผ่อนลมหายใจ ค่อยๆ ก้มๆ เงยๆ ขยับกายเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างแช่มช้าและแผ่วเบา ยื่นมืออันสั่นเทาออกไปหวังจะจับปีกผีเสื้อแสนงามตัวนั้น แต่ก็นั่นแหละ…พอเอื้อมมือไปใกล้ตัว เจ้าผีเสื้อกลับกระพือปีกบินไปไกลอย่างรู้ทัน พ่อเฒ่าหยีตาอันพร่าเลือน ส่ายหน้าไปมาแล้วพึมพำๆ อย่างเสียดาย

ผมเฝ้ามองอย่างเงียบๆ อยากจะเอ่ยให้กำลังใจพ่อเฒ่า แต่สุดท้ายก็ได้แต่นิ่งงันอยู่อย่างนั้น นานนักนาน…พ่อเฒ่าค่อยๆ คิด เรียนรู้ และทดลองหาวิธีจับผีเสื้อไพร ทำอย่างไรจึงจะจับมันได้โดยไม่ทำให้ปีกอันงดงามนั้นบอบช้ำหรือฉีกขาด พ่อเฒ่าตัดสินใจฉีกผ้ามุ้งสีซีดขี้ไคลผืนหนึ่ง มาตัดเย็บเป็นตาข่ายทรงกรวย นำไปสอดใส่กับโครงไม้ไผ่ที่โค้งงอเป็นวง ก่อนจะเอาลำไผ่ยาวเล่มหนึ่งมาผูกติดกันทำเป็นด้ามจับ

ในที่สุด…พ่อเฒ่าก็ได้สวิงดักจับผีเสื้อด้วยปัญญาเท่าที่มี พร้อมกับความหวังครั้งใหม่…

ทุกยามเย็น ผมมักเห็นพวกเด็กๆ ลูกหลานของภูเขา พากันวิ่งไล่ตามหลังพ่อเฒ่าอย่างมีความสุข บางคนกระโดดโลดเต้น สนุกสนาน พร้อมกับตะโกนส่งเสียงหัวเราะดังก้องดอย

“เฮ้…พ่อเฒ่าวิ่งไล่จับผีเสื้อๆๆๆ…”

พ่อเฒ่าเงียบงัน…ไม่แสดงอาการหงุดหงิดกับพวกเด็กๆ เหล่านั้น หากแกยังคงวิ่งไล่จับผีเสื้อไปมาอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อย แม้ว่าบางครั้ง ผมยินเสียงหายใจหอบเป็นห้วงๆ ของพ่อเฒ่า พร้อมกับหยีตาจดจ้องมองความเคลื่อนไหวของผีเสื้อที่บินว่อนคล้ายอยากหลอกล่อให้พ่อเฒ่าไขว่คว้า มีความหวังแล้วก็สิ้นหวัง กว่าจะดักจับได้แต่ละตัว พ่อเฒ่าก็เกือบหมดแรง จนต้องทรุดนั่งลงบนโขดหิน

พ่อเฒ่าค่อยๆ ใช้หัวแม่มือกับนิ้วชี้บรรจงจับปีกบอบบางของผีเสื้อตัวนั้นออกมาจากกับดักเบาๆ แล้วล้วงเอาของบางอย่างในถุงย่ามออกมา…เป็นแผ่นกระดาษจากหนังสือเก่าสีเหลืองซีดที่พ่อเฒ่าชอบมาขอกับผมนั่นแหละ แกเอาไปนั่งพับเป็นซองสามเหลี่ยม

 พ่อเฒ่าค่อยๆ หย่อนผีเสื้อตัวนั้นลงในซองกระดาษ ก่อนเก็บเอาไว้ในถุงย่าม

“แย่จัง ตัวนี้ขายได้ห้าบาทเท่านั้นเอง…” ชายเฒ่าบ่นพึมพำไปมา

“เมื่อใดหนอ…เฮาจะได้ผีเสื้อตัวที่ต้องการเสียที”

ค่ำแล้ว…ลมพัดโชยเข้ามาตามช่องฝาฟากไม้ไผ่

ผมชอบไปนั่งจิบน้ำชาอยู่ข้างเตาไฟในกระท่อมของพ่อเฒ่ากิแฮะ แสงไฟจากไม้เกี๊ยะส่องแสงวอมแวมไปมา สาดกระทบใบหน้าอันเหี่ยวย่นของพ่อเฒ่า ทว่าลึกลงไปในดวงตาคู่นั้นยังฉายแววอารมณ์ดีอยู่

“คนข้างล่างบอกว่า ตอนนี้พ่อค้ามารับซื้อตัวละร้อยทีเดียวนะ…” พ่อเฒ่าเอ่ยออกมาในความเงียบ

“อะไรนะ” ผมถามอย่างไม่แน่ใจ

“ผีเสื้อ…ผืเสื้อลายเสือสมิง” พ่อเฒ่าเอ่ยเบาๆ สายตาจดจ้องมองแสงไฟในเตาที่คุโชน…

“อ๋อ…ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ใช่มั้ย” ผมบอกไป

“แม่นแล้วๆ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว…” พ่อเฒ่าพยักหน้าบอก

ใช่แล้ว หลายคนคงพอรู้เรื่องราวนี้ดี เมื่อหนังสือพิมพ์เริ่มประโคมข่าวเรื่อง ‘ผีเสื้อสมิงเชียงดาว’ กันอย่างครึกโครม…ว่ากันว่า เป็นผีเสื้อหายากที่พบได้ในบริเวณภูเขาสูง ที่สำคัญคือจะพบบนดอยหลวงเชียงดาว เพียงแห่งเดียวในประเทศไทย และมีเพียงแห่งเดียวในโลกด้วย ผีเสื้อสายพันธุ์นี้ มีขนาดใหญ่ สวยงามด้วยลวดลายบนปีกดูคล้ายลายของเสือสมิง 

ก่อนนั้นชาวบ้านบางคนเรียกผีเสื้อพันธุ์นี้ว่า ‘แบงก์ร้อยบินได้’ เพียงชั่วระยะเวลาไม่นานนัก ราคาของผีเสื้อสมิงเชียงดาว ก็เริ่มทวีคูณเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จากตัวละร้อยกลายเป็นตัวละพันบาท ห้าพันบาท เพิ่มขึ้นๆ…ว่ากันว่า พ่อค้าคนไทยนำไปขายให้ชาวต่างชาติอีกต่อหนึ่ง ผีเสื้อถูกจับทยอยออกจากป่า ลงจากดอย ลงไปในเมือง ไปถึงมือพ่อค้าทุกวันๆ…

แต่สำหรับพ่อเฒ่ากิแฮะ เขายังไม่เคยจับผีเสื้อสมิงเชียงดาวได้สักตัวเดียว พ่อเฒ่าบอกผมว่า เคยเจอครั้งหนึ่งในป่าตรงตีนดอยหลวง มันช่างงามแท้ ปีกลวดลายสดใสด้วยสีส้ม แดง ดำ เหลือง ขาว ทอง กระพือปีกไปมาระหว่างความว่างเปล่าของอากาศ เหนือดงเสี้ยวป่า ผมไม่รู้ว่า พ่อเฒ่ารู้สึกอย่างไรกับผีเสื้อ และไม่รู้ว่าจนถึงวันนี้พ่อเฒ่าได้ค้นเจอผีเสื้อตัวนั้นหรือยัง!?

ดอยหลวงเชียงดาว (ที่มา : สุวิชานนท์ รัตนภิมล)

แดดยามเย็นโรยตัวลงอย่างอ่อนล้า  ลมภูเขาพัดครวญมาอ้อยสร้อย…กระท่อมไม้ไผ่ซุกนิ่งอยู่ในหุบเขาสงัด เพียงชั่วยาม ความมืดก็เข้าคลี่คลุมสรรพสิ่ง แสงไฟฟืนในกระท่อมเริ่มส่องแสงวอมแวม ผมออกมายืนอยู่นอกชานกระท่อม นั่งอยู่ในความเงียบ พูดคุยกับตัวเอง นานและนาน จนถึงคืนดื่นดึก เหม่อมองจ้องไปบนเวิ้งฟ้า…คืนนี้ไร้เดือน หากยังคงมีดาวบางดวงวอมแสงหรุบหรู่ดูเหงาหงอย แมลงกลางคืนกรีดปีกดังช่างวังเวง…

ผมกลับไปเยือนชุมชนฟ้าสวยครั้งล่าสุด เมื่อไม่นานมานี้ ทำให้ผมเห็นความเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ ศูนย์การเรียนฯที่ผมเคยสอนนั้นถูกยุบปล่อยให้ร้าง เด็กๆ ที่ผมเคยสอนหนังสือโตเป็นหนุ่มเป็นสาวกันหมดแล้ว ลูกศิษย์หลายคนอุ้มลูกน้อยมานั่งคุยกับผม ครั้นเมื่อผมถามหาพ่อเฒ่ากิแฮะที่ชอบไล่จับผีเสื้อคนนั้น ชาวบ้านบอกผมว่า “พ่อเฒ่าตายไปนานหลายปีแล้ว…”

ไม่รู้สิ…ผมคิดอะไรไปเรื่อยเปื่อย…ครุ่นคำนึงไปถึงอดีตที่ผันผ่าน นึกถึงใบหน้าแววตาของพ่อเฒ่ากิแฮะที่ชอบสวมหมวกเบเร่ต์สีแดง  นึกถึงปีกงามของผีเสื้อสมิงเชียงดาว และนึกถึงอีกหลายๆ ชีวิตที่สูญหาย

รูปผีเสื้อสมิงเชียงดาว ในแสตมป์ไทย 

2. 

มีการบันทึกเอาไว้ว่า ‘ผีเสื้อสมิงเชียงดาว’ เป็นชนิดย่อยชนิดหนึ่งของผีเสื้อภูฐานที่มีถิ่นอาศัยเฉพาะที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นป่ากึ่งอัลไพน์ ความสูง 1,900-2,000 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ปัจจุบันเชื่อว่าผีเสื้อสมิงเชียงดาวได้สูญพันธุ์ไปแล้วจากประเทศไทยและจากโลกนี้ โดยมีรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้วประมาณปี พ.ศ. 2525-2527 จากหลายสาเหตุ แต่การสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยและพืชอาหารนับเป็นสาเหตุหลัก

Talbot ได้เล่าเรื่องของผีเสื้อภูฐานไว้ในหนังสือ Fauna of British India เมื่อปี ค.ศ. 1938 ว่า “Dr. Lidderdale เป็นผู้พบผีเสื้อชนิดนี้เป็นครั้งแรกที่เมือง Buxa ราชอาณาจักรภูฏาน เมื่อปีค.ศ. 1868 ที่ความสูงระดับ 6,000 ฟุตจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ต่อมาปี ค.ศ. 1886 และ 1890 ในเวลาต่อมา Elwes ได้ส่งชาวพื้นเมือง 3 คน เข้าไปติดตามผีเสื้อชนิดนี้ แต่ละคนต้องมีอันเป็นไป โดยคนแรกถูกชาวพื้นเมืองปล้น คนที่สองเป็นไข้ตาย และคนที่สามถูกเสือฆ่าตาย แต่สุดท้าย ตำรวจได้ค้นพบและส่งตัวอย่างผีเสื้อคืนให้แก่ Elwes ซึ่งต่อมาได้ตีพิมพ์เรื่องของผีเสื้อชนิดนี้ลงในรายงานการประชุมของสมาคมสัตววิทยา ในปี ค.ศ. 1891 

ขณะเดียวกัน ในปี ค.ศ. 1890 Doherty ได้เดินทางเข้าไปสำรวจที่เขา Naga และรายงานว่าพบผีเสื้อเป็นจำนวนมากที่ระดับความสูง 6,000 – 8,000 ฟุต จากระดับน้ำทะเลปานกลาง และยังพบว่าผีเสื้อที่ตายแล้วจะส่งกลิ่นหอมเป็นเวลาหลายวัน  ซึ่งเป็นลักษณะพิเศษของผีเสื้อชนิดนี้ แต่สุดท้ายจากการไล่ล่าผีเสื้อชนิดนี้ทำให้ Doherty ตกลงในหลุมดักเสือเกือบเอาชีวิตไม่รอด” 

ซึ่งแสดงให้เห็นว่าถิ่นที่อยู่ของผีเสื้อชนิดนี้ต้องเป็นป่าที่สมบูรณ์ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเลมาก  การค้นพบผีเสื้อชนิดนี้เต็มไปด้วยความยากลำบาก  ต้องผจญกับอันตรายต่างๆ เช่นเดียวกับ ผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่จัดเป็นผีเสื้อหนึ่งเดียวในโลก ปัจจุบันเราได้สูญเสียไปก่อนที่ใครบางคนจะได้เห็นในธรรมชาติ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเสียดาย

เขตการแพร่กระจายและความหลากหลาย

ผีเสื้อภูฐาน มีเขตการแพร่กระจายตั้งแต่ภาคเหนือของอินเดีย ภูฏาน ภาคเหนือของสาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า ภาคตะวันตกและตะวันตกเฉียงใต้ของจีน และภาคเหนือของไทย ที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ โดยพบว่ามี 4 ชนิดย่อย แต่ละชนิดย่อยมีเขตการแพร่กระจายที่แตกต่างกัน คือ ชนิดย่อย B. l. lidderdalii Atkinson, 1873 มีเขตการแพร่กระจายบนเทือกเขาในประเทศภูฏาน ขณะที่ชนิดย่อย B. l. spinosa Stichel, 1907 มีเขตการแพร่กระจายในมณฑลเสฉวน ภาคตะวันตกของจีน และตะวันตกเฉียงเหนือของมนฑลยูนาน (Savela, 2005) ส่วนชนิดย่อยสมิงเชียงดาว (B. l. ocellatomaculata Igarashi, 1979) พบที่ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่ และชนิดย่อย B. l. nobucoae Morita, 1997 พบในภาคเหนือของรัฐคะฉิ่น สหภาพพม่า (Nazari, 2006)

ผีเสื้อสมิงเชียงดาว (Bhutanitis lidderdalii ocellatomaculata) ดอยเชียงดาว จังหวัดเชียงใหม่
ผีเสื้อภูฐาน (Bhutanitis lidderdalii lidderdalii) รัฐอัสสัม อินเดีย 
ผีเสื้อภูฐาน (Bhutanitis lidderdalii nobucoae) รัฐคะฉิ่น สาธารณรัฐแห่งสหภาพพม่า

ลักษณะ : เป็นผีเสื้อที่ขนที่ลำตัว หนวดสั้น ปีกยาว ขนาดกาง ปีกเต็มที่ 90-100 มม. จุดเด่นอยู่ที่แถบสีแดงส้ม และจุดสีม่วง 2-3 จุดในแถบสีดำ รวมทั้งติ่งหางที่ปีกคู่หลัง ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ต่างกันที่ขนาดความกว้างของเส้นสีขาวพาดขวางปีกของตัวเมียมีความกว้างกว่าและเป็นสีเหลือง

นิสัย : ผีเสื้อภูฐานบินสูงระหว่างทรงพุ่มบนหน้าผา ในประเทศภูฏาน ซึ่งพบในป่าที่ปกคลุมด้วยไม้ใบกว้างอย่างหนาแน่นที่ระดับความสูง 2,000 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง (Igarashi and Fukuda, 1997) และมักปรากฏตัวบนสันเขามากกว่าในหุบเขา (Wikipedia, 2008) ช่วงเวลาที่จะพบได้คือ 10.00 – 17.00 น. บางครั้งพบได้ถึงเวลา 18.00 น. อุณหภูมิที่เหมาะสมคือ 20 องศาเซลเซียส แต่จะไม่พบเลยเมื่ออุณหภูมิ 16 องศาเซลเซียส และพบตัวเต็มวัยในเดือนสิงหาคม และกันยายน (Anonymous, 2007)

พืชอาหาร : ตัวหนอน กินใบพืชในสกุลกระเช้าสีดา (Aristolochia) ในวงศ์ Aristolochiaceae ซึ่งในพื้นที่ดอยเชียงดาว ได้แก่ กระเช้าผีมด (A. tagala) และนกขมิ้น (A. grandis) (Phuphathanaphong, 1987) ตัวเต็มวัย ชอบตอมดอกไม้ที่มีสีขาว ได้แก่ ดอกของต้นไม้ในวงศ์ Umbelliferae และวงศ์ Polygonaceae 

สถานภาพ :  เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ของไทย ขณะเดียวกันเป็นสัตว์ป่าอยู่ในบัญชี 2 ของอนุสัญญาไซเตส รวมทั้งเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองของอินเดีย และจัดเป็นผีเสื้อหายาก (Rare) (Talbot, 1978) สำหรับประเทศไทย ปัจจุบันมีสถานภาพสูญพันธุ์ (Extinct) จากข้อมูลพบว่าสูญพันธุ์ไปประมาณปีพ.ศ. 2525-2527 แต่จากการตรวจสอบจากเว็บไซต์ และตัวอย่างผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่มีผู้เก็บได้จากดอยเชียงดาวพบว่า เป็นการเก็บตัวอย่างเมื่อปี พ.ศ. 2523 ทำให้เชื่อว่าผีเสื้อสมิงเชียงดาวอาจจะสูญพันธุ์ก่อนปี พ.ศ. 2525 ก็เป็นได้

สถานการณ์ปัจจุบัน : เนื่องจากความสวยงาม หายาก ราคาสูง เป็นแรงจูงใจให้มีการเก็บเพื่อการสะสมและเพื่อการค้า ปัจจุบันมีการสะสมเฉพาะกลุ่มคนที่กี่กลุ่ม โดยเฉพาะชาวต่างประเทศ และนับวันตัวอย่างผีเสื้อจะผุพังเสียหายไป เหลือเพียงตำนานเล่าขานกันว่าครั้งหนึ่งเราเคยมีผีเสื้อที่มีความสำคัญในระดับโลกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า “ผีเสื้อสมิงเชียงดาว” 

นอกจากนี้ การบุกรุกพื้นที่เพื่อทำการการเกษตร ทำให้พื้นที่ที่เคยเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของผีเสื้อเปลี่ยนแปลงไปจนทำให้ผีเสื้อไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ จากข้อมูลของก่องกานดา และคณะ (2548) กล่าวถึงพื้นที่ที่เคยเป็นถิ่นที่อยู่ของสมิงเชียงดาว บนดอยเชียงดาว คือพื้นที่สันเขาและยอดดอยที่ระดับความสูงมากกว่า 1,900 เมตรจากระดับน้ำทะเล ซึ่งมีสังคมพืชแบบกึ่งอัลไพน์ แต่เนื่องจากการบุกรุกทำลายป่าเพื่อปลูกฝิ่นเมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้ว (ประมาณ พ.ศ. 2527-2528) และมีการเผาป่า ทำให้พื้นที่มีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นทุ่งหญ้าและมีวัชพืชขึ้น รวมทั้งอุณหภูมิในเวลากลางวันของดอยเชียงดาวในฤดูร้อนประมาณเดือนเมษายน มีอุณหภูมิสูงถึง 38-40 องศาเซลเซียส เนื่องจากเป็นที่โล่ง ไม่เหมาะต่อการอยู่อาศัยของผีเสื้อสมิงเชียงดาว

เผยไม่พบ “ผีเสื้อภูฐาน” มานานกว่า 30 ปีแล้ว 

ดร.แก้วภวิกา รัตนจันทร์ นักกีฏวิทยาชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายวิจัยด้านกีฎวิทยาป่าไม้ กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้บอกเล่าเกี่ยวกับสถานการณ์ผีเสื้อและแมลงคุ้มครองในไทยว่า ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 มีแมลงคุ้มครองจำนวน 20 ชนิด ประกอบด้วย ผีเสื้อ 16 ชนิด ด้วงปีกแข็ง 4 ชนิด ซึ่งทั้งหมดอยู่ในสถานภาพหายากใกล้สูญพันธุ์เกือบทั้งหมด แม้แต่นักกีฎวิทยาก็ยังไม่เคยเจอตัวมานานแล้ว

ทุกวันนี้ถ้าดูจาก 20 ตัว ที่อยู่ในบัญชีคุ้มครอง ที่ถือว่าวิกฤต และไม่มีข้อมูลทางวิชาการมาแล้ว 30 ปี ก็คือ ผีเสื้อภูฐาน หรือ ผีเสื้อสมิงเชียงดาว ไม่ได้เจอมานานแล้ว สมัยก่อนตามคำบอกเล่าของอาจารย์เคยมีแถวดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ ทำให้นักกีฎวิทยากังวลว่าน่าจะสูญพันธุ์ไปแล้ว 

ที่มา: ไทยพีบีเอส

เช่นเดียวกับผีเสื้อไกเซอร์อิมพีเรียล ดร.แก้วภวิกา บอกว่า เป็นแค่คำบอกเล่าของเจ้าหน้าที่ และชาวบ้านที่เคยบอกว่าพบตัวในป่าลึก แต่ไม่รู้พิกัด แม้แต่นักกีฎวิทยา กรมอุทยานฯ ก็ยังไม่มีใครพบตัวผีเสื้อชนิดนี้ มานานแล้วเช่นกัน ดังนั้น ถ้าบอกว่าตัวไหนหายาก คิดว่าหายากน่าจะเกือบทั้ง 20 ชนิด

เรียนรู้จักแมลงคุ้มครอง 20 ชนิดของไทย

ที่น่าเศร้าก็คือ ปัจจัยที่ทำให้ผีเสื้อสูญพันธุ์ เนื่องจากถิ่นอาศัยถูกคุกคาม อีกทั้งยังถูกพ่อค้าหัวใสรับซื้อไปสะสม

นักกีฎวิทยา บอกว่า ปัจจัยที่ทำให้แมลงคุ้มครอง โดยเฉพาะกลุ่มผีเสื้อและด้วงเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ เพราะความเป็นสัตว์หายาก ด้วยตัวมันเอง ประชากรที่ลดลงแล้ว ที่สำคัญสัตว์กลุ่มนี้ ต้องมีแหล่งอาศัยเฉพาะถิ่นและพืชอาหาร ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการดำรงชีวิตอยู่ และการขยายพันธุ์ของแมลงคุ้มครอง สภาพพื้นที่ป่าบางแห่ง มีความอุดมสมบูรณ์ลดลง บางแห่งถูกบุกรุกทำลาย และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ทำให้ไม่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของแมลงบางชนิด จึงไม่มีรายงานการพบตัวมานาน นอกจากนั้น การถูกลักลอบจับเพื่อไปสะสมและจำหน่าย เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้แมลงสวยงามหลายชนิดถูกคุกคามและใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจากแมลงกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ แต่ละตัวจะมีลักษณะเฉพาะตัว บวกกับความหายาก จึงกลายเป็นที่ต้องการของตลาด

ดร.แก้วภวิกา บอกว่า ตอนนี้สถานภาพของผีเสื้อภูฐานที่น่าจะสูญพันธุ์ และผีเสื้อไกเกอร์อิมพีเรียล ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ได้มีการขึ้นบัญชีรายการหายากใกล้สูญพันธุ์ไว้ ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562

3.

ผีเสื้อในโลกเสี่ยงสูญพันธุ์ เมื่อโลกแปรปรวน 

‘ผีเสื้อ’ ถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีวิวัฒนาการมาเป็นเวลานาน ประเมินว่า ผีเสื้อกลางวันมีชีวิตอยู่เมื่อประมาณ 40-50 ล้านปีที่แล้วมา นอกจากนี้ ผีเสื้อเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับมนุษย์ และระบบนิเวศ ทั้งความสัมพันธ์ในเชิงบวก คือ ช่วยในการผสมเกสรแก่พรรณไม้ต่าง ๆ ช่วยให้ระบบนิเวศมีความสมดุล และเป็นแหล่งอาหารของมนุษย์ รวมถึงการนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ 

ผีเสื้อ จึงเป็นแมลงหรือสิ่งมีชีวิตที่มีความหลากหลายมากเป็นอันดับสาม รองจากอันดับสองคือด้วง และอันดับหนึ่งคือผึ้ง ต่อ แตน ตามลำดับ 

ในโลกมีผีเสื้อประมาณ 150,000-170,000 ชนิด ประเมินว่าเป็นผีเสื้อกลางวัน (Butterfiles) และผีเสื้อบินเร็ว (Skippers) ประมาณร้อยละสิบ (ประมาณ 15,000 ชนิด) ส่วนที่เหลือเป็นผีเสื้อกลางคืน (Moths) ในประเทศไทย มีผีเสื้อกลางวันและผีเสื้อบินเร็วที่สามารถจำแนกชนิดได้ประมาณ 1,200 ชนิด และมีหลายชนิดที่ได้สูญพันธ์ุไปแล้ว เช่น ผีเสื้อภูฐาน (สมิงเชียงดาว) และมีอีกหลายชนิดที่อยู่ในสถานภาพใกล้สูญพันธ์ ได้แก่ ผีเสื้อไกเซอร์อิมพิเรียล ซึ่งสาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย ผีเสื้อบางชนิดในธรรมชาติพบเห็นได้ยาก และมีจำนวนน้อย บางชนิดสูญพันธุ์ หรือไม่มีข้อมูลการคงอยู่ของผีเสื้อในธรรมชาติ

ยกตัวอย่าง ‘ผีเสื้อจักรพรรดิ’ ซึ่งตอนนี้ได้กลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง เหตุถูกทำลายถิ่นอาศัย การใช้ยาฆ่าแมลง ส่งผลต่อระบบนิเวศ ซึ่งใครจะเชื่อว่า สัตว์ที่สวยและสง่างามที่มักมาเยี่ยมชมสวนหลังบ้านของเราในฤดูร้อน อีกทั้งยังเป็นนักเดินทางไกลข้ามทวีปกว่าปีละ 4,023 กิโลเมตร มีจำนวนลดลงกว่าร้อยละ 23 ถึง 72 ในช่วง 10 ปี ทำให้สหภาพนานาชาติเพื่อการอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากรธรรมชาติ (IUCN) ประกาศอย่างเป็นทางการว่า ผีเสื้อจักรพรรดิ (Monarch butterflies) กลายเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์อย่างยิ่ง

ผีเสื้อจักรพรรดิ โดย Kenneth Dwain Harrelson, wikimedia

ว่ากันว่า ผีเสื้อจักรพรรดิ เป็นอีกหนึ่งสิ่งมีชีวิตที่น่าทึ่ง พวกมันมีน้ำหนักตัวเพียงแค่ 1 กรัม แต่สามารถบินข้ามน้ำข้ามทะเลอพยพระยะทางไกลเป็น 4,000 กว่ากิโลเมตร จากประเทศเม็กซิโกไปยังสหรัฐอเมริกาและประเทศแคนาดาได้ในระยะเวลาเพียงแค่ 5-7 สัปดาห์ ผีเสื้อจักรพรรดินี้จะย้ายถิ่นฐานตามฤดูกาลหรือสภาพอากาศ โดยพวกมันจะอาศัยอยู่ในแคนาดาและอเมริกาทางตอนเหนือช่วงฤดูร้อนเพื่อผสมพันธุ์ ก่อนที่อาศัยกระแสลมบินพามันกลับไปจำศีลในช่วงฤดูหนาวในทางตอนใต้อย่างประเทศเม็กซิโก

ผีเสื้อจักรพรรดิ (Monarch butterflies) ที่มา: VOA Thai

น่าตกใจ 50 ปี ผีเสื้อหายไป 80 เปอร์เซ็นต์

“เป็นเรื่องยากที่ผู้คนจะจินตนาการว่าบางสิ่งที่ปรากฏขึ้นในสวนหลังบ้านของพวกเขากำลังถูกคุกคาม” แอนนา วอล์คเกอร์ (Anna Walker) หัวหน้าทีมในการประเมินจำนวนผีเสื้อและเจ้าหน้าที่พิเศษของ IUCN กล่าว 

เธอระบุว่าภัยคุกคามนั้นมาจากหลายปัจจัย แต่ส่วนใหญ่แล้วเกิดจากบริเวณพื้นที่หลบหนาวและพักอาศัยระหว่างการอพยพถูกทำลาย การตัดไม้ทำลายป่าและสารกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ในการเกษตรได้ฆ่าผีเสื้อเหล่านี้รวมทั้งตัวอ่อน ส่งผลให้พวกมันไม่อาจเพิ่มจำนวนประชากรขึ้นได้ อีกทั้งยังมีปัจจัยจากสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงที่รุนแรงตามเส้นทางการอพยพของผีเสื้อ สิ่งมีชีวิตที่บอบบางนี้จึงมิอาจทนทาน

ชุมชนวิทยาศาสตร์ที่นำโดย Xerces Society for Invertebrate Conservation ได้สำรวจพื้นที่ทำรัง 283 แห่งในแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา พวกเขาพบว่ามีจำนวนผีเสื้อเพิ่มขึ้นเป็นราว 250,000 ตัวจากเพียง 1,914 ตัว กระนั้นจำนวนก็ยังดูน่าหมิ่นเหม่ 

“เมื่อคุณคิดว่าเคยมีผีเสื้อ 3 ถึง 10 ล้านตัวในฤดูหนาวปี 1980 แต่ตอนนี้มีเพียง 250,000 ตัว” 

“เราอยู่ในกรอบวิกฤตนี้ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อสายพันธุ์” แอนนา วอล์คเกอร์ กล่าว 

เช่นเดียวกัน ในงานวิจัยของ Butterfly Conservation  เปิดเผยว่า การลดลงของประชากรผีเสื้อ ในสหราชอาณาจักร ในระดับนี้ เป็นวิกฤตการณ์ที่น่ากังวล เนื่องจากผีเสื้อเป็นส่วนสำคัญของระบบนิเวศของสหราชอาณาจักร และการลดลงอย่างรวดเร็วของผีเสื้อเป็นสัญญาณเตือนที่ชัดเจนของวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพในวงกว้าง

นักวิทยาศาสตร์จาก Butterfly Conservation ออกมาเตือนว่า  เวลาของผีเสื้อในสหราชอาณาจักรกำลังจะหมดลงแล้ว เนื่องจากแนวโน้มในระยะยาวแสดงให้เห็นว่าผีเสื้อส่วนใหญ่มีจำนวนลดลง ไม่ว่าจะเป็นในด้านความอุดมสมบูรณ์ การกระจายพันธุ์ หรือทั้งสองอย่างในช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา ข่าวนี้ตามมาหลังจากที่ได้มีการเผยแพร่รายชื่อผีเสื้ออังกฤษฉบับใหม่ เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งระบุว่าผีเสื้อที่เหลือทั้งหมดครึ่งหนึ่งในอังกฤษจัดอยู่ในกลุ่มใกล้สูญพันธุ์หรือใกล้สูญพันธุ์

การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยทั่วสหราชอาณาจักรส่งผลให้จำนวน ผีเสื้อหลายสายพันธุ์ที่ต้องการทุ่งหญ้าและป่าไม้ที่มีดอกไม้อุดมสมบูรณ์ในการสืบพันธุ์ลดลงอย่างมาก สายพันธุ์เฉพาะทางเหล่านี้มีปริมาณลดลงโดยเฉลี่ยมากกว่าหนึ่งในสี่ (ลดลง 27%) และสูญเสียการกระจายพันธุ์ไปกว่าสองในสาม (ลดลง 68%) ตั้งแต่ปี 1976

จูลี วิลเลียมส์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Butterfly Conservation กล่าวว่า “รายงานฉบับนี้เป็นหลักฐานที่ยืนยันได้ชัดเจนว่าธรรมชาติกำลังเสื่อมโทรมลงในสหราชอาณาจักร เราพึ่งพาธรรมชาติทั้งในด้านอาหาร น้ำ และอากาศบริสุทธิ์ สภาพของสายพันธุ์และถิ่นที่อยู่อาศัยของเราแสดงให้เห็นว่าธรรมชาติกำลังประสบปัญหา เราต้องการการดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพในเรื่องนี้ จำนวนผีเสื้อที่ลดลงในช่วงชีวิตของเรานั้นน่าตกใจมาก และเราไม่สามารถนิ่งเฉยและมองดูความหลากหลายทางชีวภาพของสหราชอาณาจักรถูกทำลายไปได้อีกต่อไป”

Butterfly Conservation ระบุว่าผีเสื้อได้รับผลกระทบจากฤดูใบไม้ผลิที่มีฝนตกและฤดูร้อนที่เย็นสบายกว่าปกติ ฤดูใบไม้ผลิของสหราชอาณาจักรในปีนี้ มีฝนตกชุกที่สุดตั้งแต่ปี 1986 และสูงเป็นอันดับ 6 ของปีที่มีฝนตกชุกที่สุดในประวัติศาสตร์ โดยมีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ย 301.7 มม. ในเดือนมีนาคม เมษายน และพฤษภาคม ซึ่งมากกว่าปกติเกือบหนึ่งในสาม (32%) สำนักอุตุนิยมวิทยาระบุว่าในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมามีอากาศอบอุ่น ชื้น และมีแดดมากกว่าช่วงศตวรรษที่ 20

ดร. แดน โฮร์ ผู้อำนวยการฝ่ายอนุรักษ์ผีเสื้อ กล่าวว่า “ผีเสื้อต้องการสภาพอากาศที่อบอุ่นและแห้งแล้งจึงจะสามารถบินไปมาและผสมพันธุ์ได้ หากสภาพอากาศไม่เอื้ออำนวย โอกาสในการผสมพันธุ์ก็จะน้อยลง และการลดลงของผีเสื้อในปัจจุบันอาจส่งผลต่อฤดูใบไม้ผลิและต้นฤดูร้อนที่น่าเบื่อหน่ายของเรา”

สารเคมี ยาฆ่าแมลง ก็มีส่วนทำให้ผีเสื้อหายไป

ดร. ริชาร์ด ฟ็อกซ์ หัวหน้ากลุ่มวิทยาศาสตร์ที่ศูนย์อนุรักษ์ผีเสื้อ กล่าวว่า จำนวนผีเสื้อที่ลดลงเกิดจากการสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัยในช่วงทศวรรษปี 1970 และ 1980 ซึ่งมีการไถพรวนหรือสร้างขึ้นบนพื้นที่ดังกล่าว การเสื่อมโทรมของภูมิประเทศอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่นั้นมา รวมถึงจากมลพิษจากยาฆ่าแมลง  ขณะนี้ Butterfly Conservation กำลังเขียนจดหมายเปิดผนึกถึง สตีฟ รีด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศ “สถานการณ์ฉุกเฉินทางธรรมชาติ” และห้ามใช้สารกำจัดศัตรูพืชกลุ่มนีโอนิโคตินอยด์โดยไม่มีข้อยกเว้น

แน่นอนว่า การทำลายผีเสื้อ นั่นเป็นเหมือนเรากำลังทำลายระบบนิเวศ ทำลายผีเสื้อซึ่งแท้จริงคือนักผสมเกสรมือโปร เป็นผู้ผลิตอาหารให้สิ่งมีชีวิตเล็กจิ๋ว  เป็นคู่ปรับตัวฉกาจของแมลงศัตรูพืชไร่ อีกทั้งยังเป็นตัววัดสุขภาพสิ่งแวดล้อมและผืนป่าอีกด้วย ถ้าไม่มีผีเสื้อก็ไม่มีต้นไม้!?

ที่มา https://kindconnext.com

การลดลงของผีเสื้อในเป็นสัญญาณเตือนสำหรับเราทุกคน

“ธรรมชาติกำลังส่งสัญญาณเตือน และเราต้องรับฟัง ผีเสื้อเป็นตัวบ่งชี้ที่สำคัญ เมื่อผีเสื้อประสบปัญหา เราก็รู้ว่าสิ่งแวดล้อมโดยรวมก็ประสบปัญหาเช่นกัน”ดร. แดน โฮร์ กล่าว 

ผีเสื้อมีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศในหลายประการ หนึ่งในบทบาทหลักของพวกมันคือการเป็นผู้ผสมเกสรดอกไม้ แม้ว่าผีเสื้อจะไม่ได้เป็นผู้ผสมเกสรหลักเหมือนผึ้ง แต่พวกมันก็มีบทบาทในการช่วยผสมเกสรพืชหลายชนิด ซึ่งช่วยให้พืชเหล่านี้สามารถแพร่พันธุ์และเจริญเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง

การลดลงของผีเสื้อส่งผลกระทบโดยตรงต่อพืชที่พวกมันผสมเกสร การที่พืชไม่มีการผสมเกสรอย่างเหมาะสมอาจนำไปสู่การลดลงของผลผลิตและความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งส่งผลต่อระบบนิเวศโดยรวม การลดลงของพืชชนิดหนึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในโครงสร้างของระบบนิเวศทั้งหมด

นอกจากนี้ ผีเสื้อยังเป็นอาหารของสัตว์หลายชนิด รวมถึงนกและแมลงบางชนิด การลดลงของผีเสื้ออาจส่งผลต่อห่วงโซ่อาหาร ทำให้สัตว์ที่พึ่งพาผีเสื้อเป็นแหล่งอาหารหลักต้องหันไปหาแหล่งอาหารอื่น ซึ่งอาจส่งผลให้ประชากรของสัตว์เหล่านี้ลดลงเช่นกัน

อย่างที่ทราบกันว่า เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น หน้าหนาวก็หนาวน้อยลง ทำให้สิ่งแวดล้อมเปลี่ยน การขยายพันธุ์และแพร่ระบาดของเชื้อโรคมีมากขึ้น เมื่อถึงฤดูใบไม้ผลิ อากาศเย็นลง มีผลกระทบต่อวงจรชีวิตของสัตว์และแมลงเหมือนกัน 

ดร.มาร์ก โบธัม ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศ แห่งศูนย์เพื่อระบบนิเวศและน้ำ หนี่งในทีมผู้สำรวจผีเสื้อแห่งอังกฤษ บอกว่า การเปลี่ยนแปลงสภาวะภูมิอากาศมีผลต่อพัฒนาการของสิ่งมีชีวิต สัตว์มีจำนวนลดลงอายุสั้นลง อากาศวิปริตแปรปรวน ส่งผลกระทบต่อวงจรชีวิต “ผีเสื้อ” มีแนวโน้มว่าบางชนิดอาจสูญพันธุ์ เนื่องจากเวลานี้ สภาวะภูมิอากาศของอังกฤษวิปริตในทุกช่วงฤดู  ในหน้าร้อน เกิดคลื่นความร้อน อุณหภูมิสูงขึ้น เมื่อถึงหน้าหนาว อากาศอบอุ่นขึ้น แต่ในบางพื้นที่กลับมีลมกระโชก หนาวเย็นมากขึ้น และเกิดฝนตกหนักรุนแรง

คณะสำรวจผีเสื้อลงพื้นที่ทั่วอังกฤษเพื่อตรวจสอบปริมาณผีเสื้อชนิดต่างๆ 1,800 จุด มาเป็นเวลา 37 ปีแล้ว ผลสำรวจพบว่า ช่วงอากาศวิปริต โดยเฉพาะฝนตกหนักๆ มีผลกระทบต่อการเจริญพันธุ์ของผีเสื้ออย่างมาก เพราะฝนถล่มลงมาทำลายดักแด้ของผีเสื้อชนิดต่างๆ อย่างมาก ส่วนอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นในช่วงฤดูหนาว มีผลลบต่อการขยายพันธุ์ของผีเสื้อในอังกฤษ เมื่ออากาศร้อนขึ้น เชื้อโรคแพร่ระบาดเร็วขึ้น คุกคามการแพร่พันธุ์ของผีเสื้อโดยตรง

ในผลการสำรวจสรุปตอนท้ายว่า อากาศวิปริตแปรปรวน ไม่ว่าจะร้อนมากขึ้น เย็นจัด หรือฝนตกหนัก ล้วนมีผลกับการเติบโตของผีเสื้อในทุกระยะ ตั้งแต่วางไข่ ฟักตัว เป็นหนอนหรือดักแด้ จนกระทั่งกลายเป็นผีเสื้อแสนสวย

ที่มา: pixabay.com

ความหวังในการนำผีเสื้อกลับคืนมา

จากผลการศึกษาที่เผยแพร่ในเดือนเมษายนจาก UK Butterfly Monitoring Scheme (UKBMS) แสดงให้เห็นสัญญาณที่น่าพอใจว่า ความพยายามในการอนุรักษ์ผีเสื้อกำลังประสบผลสำเร็จ โดยจำนวนผีเสื้อสีน้ำเงินขนาดใหญ่ ซึ่งถูกนำกลับคืนสู่สหราชอาณาจักรในช่วงทศวรรษ 1980 หลังจากสูญพันธุ์ไปในปี 1979 กำลังเพิ่มขึ้นมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา ส่วนจำนวนผีเสื้อลายตารางหมากรุกซึ่งถูกส่งกลับคืนสู่อังกฤษในปี 2018 หลังจากสูญพันธุ์ไปในช่วงทศวรรษ 1970 ก็กำลังเริ่มมากขึ้นเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่รุนแรงในปี 2022 ได้ทำให้ผีเสื้อพยายามฟื้นตัวจากเหตุการณ์สภาพอากาศเลวร้ายมาแล้วครั้งหนึ่ง แต่พวกมันก็ต้องเผชิญกับเหตุการณ์แบบนั้นอีกครั้ง เนื่องจากฝนตกหนักและต่อเนื่องในอีกสองสามปีต่อมา อย่างไรก็ตาม ยังมีโอกาสที่ผีเสื้อบางส่วนจะออกมาให้เห็นในช่วงดึกหากสภาพอากาศในอังกฤษแห้งและมีแดดมากขึ้น

ที่มา : WWF Thailand

Butterfly Conservation แนะนำว่า ผู้คนสามารถช่วยกันอนุรักษ์ผีเสื้อได้โดยปล่อยให้หญ้าอย่างเป็นธรรมชาติโดยไม่ต้องตัดแต่ง การศึกษาล่าสุดพบว่า สนามหญ้าที่รกร้างจะช่วยเพิ่มจำนวนผีเสื้อ ประโยชน์ของการปล่อยหญ้าให้ยาวนั้น เห็นได้ชัดที่สุดในสวนที่มีการทำฟาร์มอย่างเข้มข้น โดยพบผีเสื้อเพิ่มขึ้นถึง 93% และพบสายพันธุ์ที่หลากหลายมากขึ้น สวนที่มีหญ้าสูงในเขตเมืองพบว่ามีผีเสื้อเพิ่มขึ้นถึง 18%

ผีเสื้อ คือตัวเชื่อมสำคัญของระบบนิเวศโลก

มีคนบอกว่า ผีเสื้อเปรียบเป็นสีสันของป่า เมื่อเรามองเห็นผีเสื้อหลากหลายสีสัน  ดูแล้วเพลิดเพลินเจริญตาเป็นยิ่งนัก แต่หากเรารู้จักกับผีเสื้อให้ลึกไปกว่านี้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับระบบนิเวศ จะพบว่าผีเสื้อยังประโยชน์ให้กับระบบนิเวศมากมายจนเปรียบได้ว่าผีเสื้อเป็นเหมือนจิ๊กซอว์ตัวสำคัญของระบบนิเวศทั่วโลกก็ว่าได้ 

ผีเสื้อเหล่านี้เป็นถือว่าเป็นสิ่งมีชีวิตที่มีความสำคัญทางระบบนิเวศอีกชนิดหนึ่ง เมื่อพวกมันเป็นตัวอ่อน พวกมันกัดกินใบไม้ตามต้นไม้เพื่อลดความหนาแน่นของใบบนต้นและทำให้พืชต้นเล็กที่เคยโดนใบจากต้นไม้ใหญ่บดบังแสงได้รับแสงแดดเพียงพอสำหรับการเจริญเติบโต และเมื่อพวกมันเติบโตขึ้นเป็นผีเสื้อ มันทำหน้าที่เป็นตัวกระจายละอองเกสรดอกไม้และพืชพันธุ์พรรณไปที่ต่าง ๆ ที่มันบินไป ที่สำคัญมันยังเป็นอาหารให้แก่เหล่านกและสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่น ๆ อีกด้วย

.อย่างไรก็ตามการที่อุณหภูมิโลกเราสูงขึ้น เกิดภัยแล้งและไฟป่า การตัดป่าไม้เพื่อการเกษตรและพัฒนาเมือง และรวมถึงการใช้สารกำจัดวัชพืชและยาฆ่าแมลงในการทำเกษตรทำให้ที่อยู่ แหล่งอาหาร และประชากรของผีเสื้อจักรพรรดิลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะผีเสื้อจักรพรรดิตะวันตกจากที่เคยมีประชากรจำนวน 10 ล้านตัว เหลือเพียงแค่ 1,914 ตัว หรือ 99.9% ในช่วงปี 1980-2021 ส่วนประชากรผีเสื้อจักรพรรดิตะวันออกนั้นลดลง 84% ตั้งแต่ช่วงปี 1996 ถึง 2014

ในขณะที่เวลานี้  โลกของมนุษย์เรากำลังพัฒนากันอย่างต่อเนื่อง มีเทคโนโลยีใหม่ ๆ นวัตกรรมต่าง ๆ มาสนองความต้องการและความสะดวกสบายของมนุษย์มากมาย แต่ช่างน่าเศร้าที่โลกของสิ่งแวดล้อมและมีชีวิตต่าง ๆ นั้นกำลังเสื่อมถอยลงอย่างที่เราไม่รู้ตัว 

4.

คุณเคยได้ยินไหม… ‘ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก’

เพียงผีเสื้อขยับปีกก็อาจทำให้เกิดพายุทอร์นาโดได้ 

เปรียบดั่งการเปลี่ยนแปลงสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพียงเล็กน้อย 

ที่อาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เลยก็ได้ 

ที่มาของ‘ทฤษฎีผีเสื้อกระพือปีก’ นี้ มาจากคนชื่อลอเรนซ์ เขาเคยทำงานพยากรณ์อากาศอยู่กับกองทัพอากาศสหรัฐฯ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 และทำให้เขาสนใจศึกษาต่อทางด้านอุตุนิยมวิทยา จนได้ค้นพบว่าสภาพภูมิอากาศเป็นระบบที่มีความซับซ้อน ขึ้นอยู่กับตัวแปรมากมาย และแต่ละครั้งที่การเปลี่ยนแปลงของตัวแปร แม้แต่เพียงเล็กน้อย ดังเช่น การกระพือปีกของนกนางนวลตัวหนึ่ง ก็มีผลต่อสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นตามมาในระดับใหญ่ได้  และข้อสรุปของลอเรนซ์อย่างเป็นรูปธรรมที่รู้จักกันในปัจจุบัน ก็คือการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย เช่น การกระพือปีกของผีเสื้อที่บราซิล ก็ทำให้เกิดพายุทอร์นาโดที่เท็กซัสได้

นั่นทำให้ผมครุ่นคำนึงไปถึงเรื่องราวต่างๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน นึกถึงผีเสื้อสมิงเชียงดาวที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และนึกถึงภาวะโลกรวน ที่ทำให้เกิดเหตุการณ์หมอกควัน ไฟป่า ภัยแล้ง พายุ น้ำท่วม ดินโคลนถล่มที่หลายประเทศทั่วโลกกำลังเผชิญประสบกันอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผมรู้สึกสัมผัสได้เลยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างมันซ้อนทับ เกี่ยวโยงสอดคล้องสัมพันธุ์กันหมดทั้งสิ้น.

ข้อมูลและอ้างอิง

1.เรื่องเล่าของสมิงเชียงดาว The Bhutan Glory’s Tale,www.dnp.go.th

2.ก่องกานดา ชยามฤต ราชันย์ ภู่มาและสมราน สุดดี,2548,พรรณไม้ในดอยเชียงดาว,โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย,กรุงเทพฯ

3.ผีเสื้อของไทยที่หายไป?,ไทยพีบีเอสออนไลน์,21 ก.ย. 64

4.โลกร้อนเพราะมือเรา : ผีเสื้อใกล้สูญพันธุ์,ทวีศักดิ์ บุตรตัน,มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 21 – 27 เมษายน 2560

5.ภาวะฉุกเฉินของผีเสื้อ: สัญญาณเตือนสำหรับธรรมชาติและมนุษย์,อรณิชา เปลี่ยนภักดี,BBC Thai,September 18, 2024

6.หนังสือบันทึกผีเสื้อ 2,สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช,กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช 

7.ผีเสื้อจักรพรรดิ,WWFThailand

8.ปรากฏการณ์ผีเสื้อกระพือปีก…วิทยาศาสตร์และชีวิตจริง,ไทยรัฐ, 4 พฤษภาคม ค.ศ. 2024

'ภู เชียงดาว' เป็นนามปากกาของ 'องอาจ เดชา' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner

ข่าวที่เกี่ยวข้อง