เปิดตัวหนังสือ “เกษตรนิเวศ วิทยาศาสตร์และการเมือง” รวบรวมกรณีศึกษาเกษตรนิเวศ และปัญหาการเข้าถึงสิทธิของเกษตรกร

11 ตุลาคม 2567 ศูนย์ภูมิภาคด้านสังคมศาสตร์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน (RCSD) ร่วมกับศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา (CESD) สมัชชาคนจนและสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ จัดเสวนาเปิดตัวหนังสือ “เกษตรนิเวศ วิทยาศาสตร์และการเมือง” เขียนโดย Peter M. Rosset และ Miguel A. Altieri ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

โดยมีผู้ร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนคือ Peter M. Rosset หนึ่งในผู้เขียน บารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนจากสมัชชาคนจน รศ.ดร. สร้อยมาศ รุ่งมณี วิทยาลัยพัฒนศาสตร์ ป๋วย อึ้งภากรณ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ อารียา ติวะสุระเดช หนึ่งในผู้ร่วมแปลหนังสือร่วมและรับบทเป็นผู้ดำเนินรายการ

หนังสือเล่มนี้เป็นการรวบรวมกรณีศึกษาในระดับโลกรวมไปถึงหลักการเกษตรวิทยาที่เชื่อมโยงเข้ากับแนวคิดเรื่องอธิปไตยทางอาหาร ประเด็นสิทธิในการเข้าถึงที่ดิน สิทธิชุมชน ประเด็นการผูกขาดเมล็ดพันธุ์พืช และปัญหาการเกษตรที่ดึงเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกผ่านการผลิตภาคอุตสาหกรรมและการทำเกษตรพันธสัญญา นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึงการดำเนินการของเครือข่ายชาวนาและเกษตรกรทั่วโลก ความพยายามของภาคประชาสังคมในการขับเคลื่อนและยกระดับการเคลื่อนไหว

Peter M. Rosset (ศาสตราจารย์ ปีเตอร์ รอสเซ็ต)

โดย Peter M. Rosset ได้กล่าวว่า “เกษตรนิเวศวิทยาเป็นทั้งศาสตร์ และเป็นวิธีการทำเกษตรกรรม เช่น การทำเกษตรโดยไม่ใช้สารเคมี และยังเป็นขบวนการทางสังคมด้วย สิ่งที่เราพยายามจะชี้ให้เห็นคือเกษตรนิเวศวิทยามีด้านเทคนิค คือวิธีการทำเกษตรกรรม แต่ก็มีด้านการเมืองด้วย ซึ่งด้านการเมืองและสังคมมีความสำคัญไม่แพ้ด้านเทคนิค โดยเฉพาะเมื่อก่อนนั้น ไม่มีสถาบันใด ไม่มีมหาวิทยาลัย ไม่มีกรมการเกษตร ไม่มี FAO ที่ให้ความสำคัญกับเกษตรนิเวศวิทยา พวกเขามักจะทำให้มันเป็นเรื่องตลก แต่เพราะขบวนการทางสังคมอื่นๆ ผลักดันอย่างหนักมาหลายปี และเพราะวิกฤตในระบบอาหารอย่างรุนแรง ในที่สุด สถาบันต่างๆ เช่น FAO มหาวิทยาลัย และกรมการเกษตร ก็ต้องยอมรับเกษตรนิเวศวิทยา

แต่อีกสิ่งที่เราพูดถึงในหนังสือคือการที่มีคนบางกลุ่มกำลังพยายามที่จะเข้าครอบงำเกษตรนิเวศวิทยาเพื่อสิ่งที่เรียกกันว่า ‘Greenwashing’ หรือการทำให้ดูเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม อย่างที่บริษัทเกษตรกรรมขนาดใหญ่พยายามทำ เช่น บริษัทใหญ่ที่ตั้งอยู่ในประเทศไทยที่มีการนำเกษตรนิเวศวิทยามาใช้ประชาสัมพันธ์เกินความเป็นจริง ดังนั้นสิ่งที่เราต้องต่อสู้ในตอนนี้คือคำถามที่ว่าเกษตรนิเวศวิทยาที่แท้จริงคืออะไร? และเกษตรนิเวศวิทยาปลอมคืออะไร?

ทางด้าน รศ.ดร. สร้อยมาศ รุ่งมณี กล่าวว่า ถ้าเราได้กินของที่ชาวนาปลูกแบบสดและสะอาดมันคงจะดีกว่ามั้ย? หรือมีเพียงอภิสิทธิ์ชนที่เข้าถึงการทำเกษตรนิเวศที่เรียกว่า ‘Green Privilege’ คือกลุ่มคนที่มีเวลาว่างและมีทุนสำหรับการลงทุนในที่ดิน

ทั้งนี้ บารมี ชัยรัตน์ ตัวแทนสมัชชาคนจน กล่าวเพิ่มเติมว่า ท้ายที่สุดแล้วเราควรมีทางเลือกในการกินมากกว่านี้ ไม่ใช่เพียงการกินแบบที่ทุนนิยมบัญญัติ ตีความ หรือให้ความหมายว่าสิ่งนี้คือสิ่งที่อร่อย เป็นเพราะเรายังไม่มีความรู้ที่จะกินสิ่งอื่นๆ นอกจากสิ่งที่มีขายในตลาด

“ผมไม่เอาหรอกถ้าทำเกษตรนิเวศแล้วต้องมาทำตามเงื่อนไข มันเหมือนเป็นส่วนขยายของเกษตรแบบทุนนิยม ซึ่งไม่ต่างอะไรกับเกษตรพันธะสัญญา มันจึงเป็นการต่อสู้ของพวกเรากับเกษตรกระแสหลัก”

หากสนใจหนังสือ “เกษตรนิเวศ: วิทยาศาสตร์และการเมือง” สามารถติดต่อสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ RCSD The Regional Center for Social Science and Sustainable Development 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง