ก่อน 6 ตุลาฯ: ลัทธิเหมาเจ๋อตุง, ขบวนการนักศึกษาและชัยชนะทางความคิดของ พคท.

เรื่อง: ธิกานต์ ศรีนารา [1]

“อุดมการณ์ของ ‘คน 6 ตุลา’ จริงๆ คือ “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” คือความต้องการสถาปนา ‘ระบอบการปกครองใหม่’ ที่แน่ๆ คือ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” ในความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน” 

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “เลิกรำลึก 6 ตุลาเสียได้คงดี,” มติชน 24,8614 (9 ตุลาคม 44) หน้า 6

ครบรอบ 48 ปี กรณี 6 ตุลาคม 2519 แน่นอนว่าก็จะมีการจัดงานรำลึกถึงเหตุการณ์นี้ทุก ๆ ปี ดูเหมือนว่าปีนี้จะจัดงานค่อนข้างใหญ่โตซึ่งในแง่หนึ่งก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีอยู่ไม่น้อย ทว่าสิ่งหนึ่งที่มักจะปรากฏให้เห็นอยู่แทบจะทุกปีเมื่อมีการจัดงานรำลึก 6 ตุลา นั่นก็คือ การถกเถียงวิวาทะกันว่าเราควรจะรำลึกถึง 6 ตุลากันอย่างไร ?

ในบางปีการวิวาทะก็ดุเดือดเผ็ดร้อน บางปีก็เงียบงัน ในปีนี้ก็เช่นกัน จะเห็นได้ว่า เมื่อ อธึกกิต แสวงสุข นักหนังสือพิมพ์ นักข่าว นักกิจกรรมทางการเมืองที่มีชื่อเสียงในปัจจุบันโพสต์ข้อความใน Facebook ส่วนตัวของเขาในวันที่ 15 กันยายน 2567 ว่า “48 ปี 6 ตุลา ความปิติอย่างที่สุดของผมคือ ประวัติศาสตร์เดือนตุลาได้เคลื่อนผ่านคนตุลา-ไม่ว่าขั้วไหน ไปอยู่ในประวัติศาสตร์ร่วมสมัยในการต่อสู้ของคนรุ่นใหม่ ไปในอยู่ในมติสภานักศึกษาธรรมศาสตร์ มอบรางวัลจารุพงษ์ ทองสิน ให้บุ้ง ไปอยู่ในงาน ‘ตุลาแล้วไง’ ไปอยู่ในละครรักดงดิบ ของ Splashing theatre company ไปอยู่ในหนัง Taklee Genesis ของมะเดี่ยว ของ Chookiat Sakveerakul มันพ้นไปจากคนตุลาแล้ว พ้นไปจากความยึดมั่นถือมั่น ความถูกผิด ทัศนะที่เปลี่ยนแปลงแตกต่างได้ ของคนตุลาที่มีชีวิตอยู่หลังเหตุการณ์เกือบกึงศตวรรษ มันสืบต่อไปอยู่ในมือคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่มีอนาคต คนรุ่นที่จะสร้างอนาคต ให้เขาตีความและสืบทอด ตามจุดร่วมของเขาเอง ภารกิจส่งมอบจบแล้ว คนรุ่นตุลาตายตาหลับ

“มันไม่จบที่รุ่นเรา แต่ความเปลี่ยนแปลงจะเกิดแน่ในรุ่นของเขา” [2]

ในวันเดียวกัน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็ออกมาโต้เถียงทันควันว่า “ถ้าคุณชอบประวัติศาสตร์แบบตามใจตัวเอง ชอบประวัติศาสตร์แบบมั่วๆ ก็ตามใจครับ ยินดีด้วย ถ้าต้องการความจริงหรือใกล้เคียงกับความจริง ก็คงต้องรออีกนาน”[3] และดูเหมือนว่าอธึกกิตจะออกมาโพสข้อความตอบโต้ด้วย

แต่ถึงกระนั้น การโต้เถียงดังกล่าวก็ยุติลงในช่วงเวลาอันสั้น และไม่ได้ลุกลามจนกลายเป็นข้อถกเถียงของสาธารณะ อันที่จริง นี่ไม่ใช่ครั้งที่พวกเขาการโต้เถียงกันเกี่ยวกับ 6 ตุลา และอันที่จริง การโต้เถียงกันในหมู่คนเดือนตุลาว่าด้วยการจัดงานรำลึก 6 ตุลาก็น่าจะมีมานานนับตั้งแต่การจัดการครบรอบ 20 ปี 6 ตุลาเมื่อปี 2539 แล้ว หลายคนอาจนึกรำคาญใจว่าจะโต้เถียงขุดคุ้ยกันเอาอะไรนักหนา เหตุการณ์ก็ผ่านไปนานแล้ว สำหรับผู้เขียน การถกเถียงโต้แย้งกันอย่างจริงจังและมีเหตุผลเกี่ยวกับประเด็นปัญหาทางประวัติศาสตร์หนึ่งๆ ย่อมนำมาซึ่งการเติบโตทางปัญญาเสมอ และบทความชิ้นนี้ก็เป็นอีกหนึ่งความพยายามนั้น

หลากหลายกระแสความคิดทางการเมืองก่อน 14 ตุลาฯ

เป็นความจริงที่ว่า ก่อน 14 ตุลาฯ ไม่ได้มีความคิดทางการเมืองเพียงกระแสเดียวในขบวนการนักศึกษา หากแต่มีหลายกระแส ดังที่ ประจักษ์ ก้องกีรติ เคยเสนอไว้ใน และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา ว่า ในช่วงก่อนที่กรณี 14 ตุลาคม 2516 จะระเบิดขึ้นนั้น การก่อตัวทางปัญญาและความเคลื่อนไหวทางความคิดของนักศึกษาและปัญญาชนไทยได้รับอิทธิพลจากบริบททางการเมืองทั้งภายในและภายนอกประเทศ

ขบวนการนักศึกษาปัญญาชนก่อน 14 ตุลา มีลักษณะหลากหลายทางอุดมการณ์ คือ มีทั้ง “ชาตินิยม” ที่เห็นว่า เผด็จการทหารทำให้ประเทศต้องเสียเอกราชและอธิปไตยในยุคอเมริกันในไทย มีทั้ง “ซ้ายใหม่” จากขบวนการคนหนุ่มสาวในต่างประเทศ บวก “ซ้ายเก่า” จากนักคิดสังคมนิยมไทยในช่วงทศวรรษ 2490 และมีทั้งแนวคิด “กษัตริย์ประชาธิปไตย” ซึ่งก่อตัวขึ้นมาท่ามกลางกระแสยกย่องเชิดชูสถาบันกษัตริย์ แม้ว่าแต่ละกระแสความคิดจะมีความแตกต่างกันในเชิงอุดมการณ์ แต่ก็มีจุดร่วมขมวดเป็นปมเดียวกันมุ่งไปที่การต่อต้านเผด็จการทหารและเรียกร้องประชาธิปไตย ทุกกระแสธารความคิดก็ปรากฏตัวร่วมกันในการเดินขบวนของนักศึกษาประชาชนในเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516[4]

ขณะที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล[5] เสนอว่า ก่อน 14 ตุลาฯ มีกระแสความคิดหลายกระแส (ที่บางส่วนขัดแย้งกัน) ในขบวนการนักศึกษา เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เป็นการบรรจบร่วมกันของกระแสความคิดเหล่านี้ กระแสความคิดที่ว่านั้นมีอยู่ 5 กระแสด้วยกัน กระแสที่ 1 คือ กระแสวรรณกรรม-แสวงหา ได้แก่ กลุ่มพระจันทร์เสี้ยวของสุชาติ สวัสดิ์ศรี, วิทยากร เชียงกูล, สุรชัย จันทิมาธร, นิคม รายวา, จรัล ดิษฐาอภิชัย, กลุ่มสภาหน้าโดมยุคแรก (เสกสรรค์ ประเสริฐกุล มีพื้นฐานมาจากกระแสนี้)

กระแสที่ 2 คือ กระแสหลัก เล่นการเมืองแบบเป็นทางการ (ศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย) แรกๆ คิดเรื่องการสังเกตการเลือกตั้งปี 2512 ไปร่วมกับพรรคการเมือง คิดในเชิงลงสมัครรับเลือกตั้ง ตอนหลังพัฒนาเป็นศูนย์นิสิตฯ สืบมาถึง ธีรยุทธ บุญมี ถึง สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ จุดเปลี่ยนที่สำคัญคือ ตอนที่ ธีรยุทธ ขึ้นมาเป็นเลขาศูนย์นิสิตฯ ในช่วงกลางปี 2515-2516 ในแง่วิธีคิด ธีรยุทธอาจจะเป็นกระแสหลักจริง แต่เขาซ้ายที่สุดในหมู่พวกกระแสหลัก และมีวิธีคิดที่มีความยืดหยุ่นที่สุด

กระแสที่ 3 คือ กระแสกลุ่มอิสระ ได้แก่ สภาหน้าโดม สภากาแฟ, กลุ่มโซตัสใหม่, สภาหน้าโดม มี 2 ระยะ คือ ระยะแรก เป็นระยะแสวงหา แต่ระยะหลังที่ สมชาย หอมลออ และ เทียนชัย วงศ์ชัยสุวรรณ เข้ามา ทำให้ทิศทางของกลุ่มก็ออกมาเป็นแบบซ้ายๆ กว่าเพื่อน แต่พวกนี้ก็ไม่ใช่สังคมนิยมแบบที่มีการจัดตั้ง พวกนี้เป็นนักกิจกรรม ขณะที่พวกแรกจะเป็นพวกปัญญาชน นักคิด เป็นพวกนักอ่านหนังสือ

กระแสที่ 4 คือ กระแสเสรีนิยม คือพวกที่ คำนูณ สิทธิสมาน เล่าไว้ในหนังสือ “ประวัติศาสตร์ 14 ตุลา ฉบับสามัญชน” ว่า เป็นพวกที่ไปอุดรูกุญแจประตู หรือ พวกที่ขึงผ้า “เอาประชาชนคืนมา” ตอนเริ่มชุมนุม 14 ตุลา คนกลุ่มนี้ไม่ใช่ กลุ่มอิสระ คนอย่าง วิจิตร ศรีสังข์ และ สังศิต พิริยะรังสรรค์ คลุกคลีอยู่กับกลุ่มนี้

กระแสที่ 5 คือ กระแส พคท.[6] ที่มักเข้าใจผิดกันว่ามาทีหลัง แต่ความจริง พคท. มีนักกิจกรรมร่วมอยู่ในขบวนการนักศึกษาตั้งแต่ต้น เช่น กลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้งปี 2512 ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวครั้งแรกของนักศึกษา คนที่มีบทบาทมากๆ ในนั้น 1-2 คนเป็นคนของ พคท. ทำหนังสือออกมาในนามกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง แล้วใส่พวกบทกวีซ้ายๆ สมัยปี 2490 ลงไป

ด้วยเหตุนี้ เหตุการณ์ 14 ตุลาฯ จึงเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญอย่างมากของขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนไทย ดังที่มีผู้กล่าวว่ากรณี 14 ตุลาฯ ไม่เพียงเป็นการปฏิวัติทางการเมืองเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการปฏิวัติทางภูมิปัญญาด้วย[7]

สำหรับผู้เขียนแล้ว “การปฏิวัติทางภูมิปัญญา” ที่ว่านั้นก็คือการที่กระแสความคิดลัทธิเหมาเจ๋อตุงของ พคท. ได้เติบโตขึ้นและแผ่ขยายเข้ามามีอิทธิพลในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนอย่างกว้างขวางในช่วงไม่กี่ปีภายหลังการระเบิดขึ้นของกรณี 14 ตุลาฯ จนในที่สุดก็ก้าวขึ้นมามีอิทธิพล หรือ “มีชัยชนะ” เหนือกว่ากระแสความคิดทางการเมืองชนิดอื่นๆ นั่นเอง

ดังที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอว่า การเติบโตของอิทธิพล พคท. ในกลางทศวรรษ 1970 ถึงต้นทศวรรษ 1980 (ราว พ.ศ. 2510- 2520) ได้ทำให้เกิดเอกภาพขึ้นในขบวนการนักศึกษาซึ่งเป็นส่วนสำคัญของปัญญาชนรุ่นนี้ แต่เอกภาพนี้มีลักษณะของการกีดกัน (marginalize) กระแสความคิดอย่างอื่น (หรือลดทอนให้เป็นแนวร่วม) มากกว่าจะเป็นเอกภาพที่เกิดจากการผสมผสานของกระแสต่างๆ ในปัญญาชนรุ่นนี้ (คือเป็นชัยชนะของกระแส พคท. เหนือกระแสอื่นๆ)”[8]

อย่างไรก็ดี เกษียร เตชะพีระ มองต่างออกไปว่า กระแสความคิดซ้ายของ พคท. มีอิทธิพลอยู่มากก็จริง แต่ไม่ได้มีลักษณะกีดกัน ลดทอน หรือมีชัยชนะเหนือกระแสความคิดอื่นๆ และไม่ได้มีความสัมพันธ์หรือปฏิสัมพันธ์ในเชิงลบหรือเอาชนะอย่างเดียว หากแต่มีด้านหนุนเสริมและร่วมมือกัน แม้จะอยู่ในฐานะหลัก/รองก็ตามด้วย คือคล้อยไปในทิศทางเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน ช่วยให้ยอมรับแนวคิดซ้ายสังคมนิยมมาร์กซิสต์ไปด้วยกันด้วย[9] แต่อย่างไรก็ตาม ในบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมศักดิ์มากกว่าเกษียร ดังที่จะอธิบายในต่อไป

หลัง 14 ตุลาฯ นักศึกษาได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก พคท. จริงๆ หรือ ?

ภาพเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516

ความจริงที่ว่านักศึกษาและปัญญาชนไทยได้หันไปรับเอาความคิดแบบ พคท. ในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาฯ สามารถมองเห็นได้ในบันทึกส่วนตัวของนักศึกษาหัวก้าวหน้าที่เคยทำกิจกรรมทางการเมืองอยู่ในช่วงเวลานั้น ดังเช่นในบันทึกขนาดสั้นๆ ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2526 ชื่อ “รู้สึกแห่งยุคสมัย” ที่ เกษียร เตชะพีระ เขียนขึ้นหลังจากแยกตัวออกจาก พคท. และกลับเข้ามาเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ไม่นาน เขาเล่าว่า “ถ้าเช่นนั้นที่ว่า นักศึกษาธรรมศาสตร์ในช่วงปี 2516 – 2519 ซ้ายหรือแดงจริงไหม? ให้ผมตอบในฐานะอดีตนักศึกษาที่ทำกิจกรรมคนหนึ่งก็ต้องตอบว่าใช่ เพราะความรู้สึกแรกของพวกเราในยุคนั้นโดยทั่วไปคือสังคมยังป่วยไข้ด้วยโรคนานาชนิด และสังคมควรต้องเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นประชาธิปไตยที่ชาวไทยได้มาเมื่อ 14 ตุลา 2516 นั้น เป็นเป้าหมายที่มิใช่เสร็จสมบูรณ์ในตัว จากเป้าหมายนี้เรามุ่งหวังจะให้มันเป็นวิถีทางนำมาซึ่งชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชน เสรีภาพหลัง 14 ตุลาฯ เปิดหูเปิดตาเราไปสู่ความคิดใหม่ๆ มากมายที่เสนอตัวมาให้เราค้นคว้า ประยุกต์เลือกใช้เพื่อบรรลุเป้าหมายดังกล่าว และในบรรดากระแสคิดอันหลากหลายนั้น ความคิดสังคมนิยมก็เป็นกระแสหนึ่งที่เราใฝ่ใจใคร่รู้ หลังจากมันถูกปิดกั้นมานานนับ 10 ปี[10]

ในบันทึกฉบับเดียวกัน เกษียรยังยอมรับอย่างเปิดเผยอีกด้วยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เขาและเพื่อนๆ ในขบวนการนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 อ้าแขนรับเอาความคิดสังคมนิยมอย่างง่ายดายก็เพราะการเผยแพร่ความคิดที่เป็นระบบแบบแผนมีขั้นตอนของ พคท. นั่นเอง (ตามคำของเขา) “พร้อมกับการปฏิเสธอำนาจเก่าทางความรู้สึก ความคิดใหม่ก็ถูกอัดฉีดเข้ามาอย่างเป็นระบบ อุดมการณ์ของอีกฝ่ายหนึ่งถูกเผยแพร่อบรมกันในขบวนการนักศึกษาอย่างมีแบบแผน มีขั้นตอน มันค่อยๆ ซึมระบาดเข้ามาในความคิด มันกล่อมเกลาให้ยอมรับความรุนแรง อาวุธ สงครามในชนบท การปฏิวัติประชาชาติประชาธิปไตย เชิดชูขบวนการนอกกฎหมายและการต่อสู้อีกแบบหนึ่งอยู่ในใจ”[11]

ไม่เพียงเท่านั้น ในบทความเรื่อง “วิกฤตอุดมการสังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย” ที่เขาเขียนขึ้นในอีกหนึ่งปีต่อมา เกษียรก็ยังคงกล่าวในลักษณะเดียวกันว่า

“ในช่วงประชาธิปไตยเบ่งบานระหว่าง 14 ตุลาฯ 2516 – 6 ตุลาฯ 2519 การเผยแพร่การศึกษาลัทธิมาร์กซในสังคมไทยดำเนินไปอย่างแพร่หลายอย่างกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีหนังสือในรูปเล่มพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งที่เป็นหนังสือทฤษฎีโดยตรงและการประยุกต์ทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์พิมพ์ออกนับแสนๆ เล่ม เนื้อหามีตั้งแต่ขั้นนามธรรมที่สุด เช่น อธิบายศัพท์ปรัชญาลัทธิมาร์กซ มาจนถึงรูปธรรมที่สุด เช่น ประยุกต์ใช้วิภาษวิธีกับการปลูกถั่วปลูกผัก มีตั้งแต่เบาที่สุด เช่น “ชีวิตกับความใฝ่ฝัน” มาจนถึงรุนแรงที่สุด เช่น เรียกร้องตรงๆ ให้จับอาวุธโค่นล้มอำนาจรัฐใต้การนำของพรรค ลัทธิมาร์กซเริ่มเสนอตัวเข้าสู่สังคมไทยไม่เพียงแต่ในฐานะกระแสการเมืองบนดิน หากยังในฐานะกระแสปัญญาในแวดวงวิชาการด้วย”[12]

นอกจากนี้ เกษียรยังกล่าวด้วยว่า ในช่วงนับตั้งแต่กรณี 14 ตุลาฯ ไปจนถึงกรณี 6 ตุลาฯ นั้น การเผยแพร่ลัทธิมาร์กซชนิดต่างๆ ในสังคมไทยมีความแพร่หลายกว้างขวางอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน มีหนังสือในรูป “พ็อกเก็ตบุ๊ค” ทั้งที่เป็นหนังสือทฤษฎีโดยตรงและการประยุกต์ทฤษฎีมาอธิบายปรากฏการณ์ถูกพิมพ์ออกมานับแสนๆ เล่ม[13]

ปกหนังสือ แถลงการณ์พรรคคอมมิวนิสต์. ภาพจาก. https://www.kositt.com/products_detail/view/2975276

แต่เมื่อกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว กระแสความคิดลัทธิมาร์กซที่มีฐานะครอบงำเป็นด้านหลักในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในช่วงเวลานั้น คือ ลัทธิสตาลินกับลัทธิเหมาเจ๋อตงของ พคท. ดังที่เกษียรกล่าวว่า

“อย่างไรก็ตาม ในการประเมินความขาดแคลนของภูมิปัญญาลัทธิมาร์กซในหมู่ฝ่ายซ้ายไทยในยุคนั้น ผู้เขียนจำต้องยกข้อสงวนไว้ 2 ประการ คือ 1. ไม่อาจกล่าวได้ว่ามีแต่ลัทธิเหมาล้วนๆ ที่เข้ามาในครรลองความรับรู้ของฝ่ายซ้ายไทย ความคิดอื่นๆ เช่น ความคิดของ เช กูวารา และนักวิชาการมาร์กซิสต์ลาตินอเมริกาอย่าง อังเดร กุนเดอร์แฟรงค์ ก็ปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง แต่ก็จำต้องกล่าวว่า ลัทธิสตาลินกับลัทธิเหมาของ พคท. ครอบงำเป็นด้านหลัก และฝ่ายซ้ายไทยส่วนใหญ่ก็พุ่งความสนใจและเวลาค้นคว้าอันมีจำกัดจำเขี่ยในบรรยากาศการเมืองอันร้อนระอุรวมศูนย์ไว้ที่ลัทธิสตาลินและลัทธิเหมาของ พคท. 2. บทความเชิงทฤษฎีจำนวนหลายบทของปรีดี พนมยงค์, หนังสือ “แคปิตะลิสม์”, “มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไร, อย่างไร” ของ สุภา ศิริมานนท์, ลัทธิเศรษฐกิจการเมือง ของ ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และ “มาร์กซและสังคมนิยม” ของ สุรพงษ์ ชัยนาม ดูจะเป็นหนังสือน้อยเล่มที่แหกคอกความรับรู้อันจำกัดในยุคนั้นออกมา และจำต้องกันที่ทางเป็นพิเศษไว้ให้แก่หนังสือเหล่านี้ในประวัติศาสตร์ความคิดฝ่ายซ้ายไทยยุคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ความแพร่หลายและอิทธิพลของหนังสือเหล่านี้ทาบไม่ติด “คติพจน์และสรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง” แม้ว่าคุณภาพและความกว้างขวางทางภูมิปัญญาจะเหนือชั้นกว่าก็ตาม”[14]

อันที่จริงแล้ว ไม่ได้มีเพียงเกษียรคนเดียวเท่านั้นที่ยืนยันว่า ความคิดสังคมนิยมแบบ พคท. คือกระแสความคิดหลักที่ขยายเข้าไปมีอิทธิพลครอบงำความคิดทางการเมืองของนักศึกษาและปัญญาชนในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 จริงๆ เพราะในอีกหลายปีต่อมา

สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ซึ่งทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่ในยุคสมัยเดียวกับเกษียร ก็กล่าวเช่นกันว่า “การที่ พคท. เข้ามามีอิทธิพลเหนือขบวนการนักศึกษาจนกล่าวได้ว่าตั้งแต่กลางปี 2518 เป็นต้นไป ขบวนการนักศึกษาได้เป็นแขนขาของพรรค มีเหตุมาจากหลายปัจจัย แต่ปัจจัยหนึ่งก็คือ การที่สายงานในเมืองของพรรคสามารถเสนอการวิเคราะห์เกี่ยวกับ 14 ตุลาออกมาในลักษณะที่ยึดกุมอารมณ์ความรู้สึกของนักกิจกรรมนักศึกษาในขณะนั้นได้ดีกว่ากระแสความคิดอื่นๆ”[15]

ขณะที่ “ฤดี เริงชัย” อดีตนักศึกษาฝ่ายซ้ายอีกคนที่มีบทบาทสำคัญในช่วงหลัง 14 ตุลา ซึ่งต่อมาได้ “กลายเป็นเหมาอิสม์อย่างรวดเร็ว” เมื่อได้อ่านงานเขียนของเหมาเจ๋อตงและยอมรับว่าในช่วงหลัง 14 ตุลานั้น เนื่องจากขบวนการนักศึกษา “ต้องการของสำเร็จรูป เพื่อเอามาใช้เฉพาะหน้า จึงตกหล่มรับเอาความคิดของ พคท. ไปอย่างรวดเร็ว” และตามคำของฤดี

“ต้องยอมรับว่าความคิดแบบสำเร็จรูปของ พคท. นั้นสวยงามและเป็นระบบมาก เป็นระบบมากกว่าความคิดสายอื่นๆ ทั้งหมดในเวลานั้น พคท. เสนอตั้งแต่การวิเคราะห์สังคมไทย ยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการเคลื่อนไหวต่อสู้ วิธีคิดและวิธีการทำงาน ในขณะเดียวกันกลไกอำนาจรัฐที่ดำรงอยู่ก็เต็มไปด้วยอิทธิพลความคิดแบบฟาสซิสม์ใหม่ ที่มองไม่เห็นวิธีการจัดการกับความขัดแย้งอย่างอื่นๆ นอกจากการลงมือเข่นฆ่ากลุ่มคนที่เห็นแตกต่างเพียงเพราะขัดผลประโยชน์ของตน หรือเข่นฆ่าประชาชนผู้บริสุทธิ์เพียงเพื่อสร้างสถานการณ์ต่างๆ ขึ้นมา สิ่งเหล่านี้ดำเนินไปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง ขบวนนักศึกษาที่เริ่มจากคนหนุ่มสาวที่เดิมไม่รู้จักคอมมิวนิสต์แต่ถูกหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์และถูกคุกคามอย่างสาหัสสากรรจ์จากภัยขาว สยดสยองทั้งต่อบุคคลและต่อขบวนด้วยปฏิบัติการรุนแรงซ้ำแล้วซ้ำเล่าของปีกขวาจัด ทั้งหมดนี้ผลักให้ขบวนนักศึกษาเกือบทั้งขบวนหันไปหา พคท. อย่างช่วยไม่ได้”[16]

ความคิดอะไรของ พคท. ที่มีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษา?

กล่าวให้ถึงที่สุดแล้ว ความคิดแบบ พคท. ที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อขบวนการนักศึกษาในช่วงหลัง 14 ตุลาคม 2516 คือความคิดเหมาเจ๋อตงและทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” นั่นเอง โดยต้นกำเนิดของของทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” ก็มาจาก เหมาเจ๋อตุง ผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนนั่นเอง ในเดือนธันวาคมปี พ.ศ.2482 (ค.ศ.1939) เหมาเจ๋อตุง ในฐานะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนกับสหายคนอื่นๆ อีกหลายคนในเยนอานได้ร่วมกันเขียนบทความชิ้นสำคัญขึ้น นั่นคือ การปฏิวัติของจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 เหมา เจ๋อตง

ในบทความ เหมาเจ๋อตุงเสนอว่า สังคมจีนในปัจจุบันคือ “สังคมเมืองขึ้น กึ่งเมืองขึ้น และกึ่งศักดินา” ที่ด้านหนึ่งถูกจักรพรรดินิยมเร่งรัดให้เกิดปัจจัยทุนนิยมขึ้น ทำให้สังคมศักดินากลายเป็น “สังคมกึ่งศักดินา” ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การปกครองจีนอย่างทารุณของจักรพรรดินิยมก็ได้ทำให้ประเทศจีนที่เคยเป็นเอกราชกลายเป็น “ประเทศกึ่งเมืองขึ้น และเมืองขึ้น”[17]บทความชิ้นนี้ต่อมาได้ถูกนำไปใช้เป็น “แบบเรียน” ในพรรคคอมมิวนิสต์จีน และนี่คือต้นกำเนิดของทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา”

สำหรับ พคท. แม้ว่าลัทธิคอมมิวนิสต์จะปรากฏตัวขึ้นในสยามตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษ 2460, ต่อมาได้จัดตั้ง “คณะกรรมการพิเศษสยามแห่งพรรคคอมมิวนิสต์จีนสาขาทะเลใต้” ในปี 2471-2472, จัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์สยาม” ในปี 2473 และจัดตั้ง “พรรคคอมมิวนิสต์ไทย” ในปี 2485 (คำว่า “แห่งประเทศไทย” ถูกเพิ่มเข้าไปในปี 2495) แล้ว[18]แต่การรับเอาแนวคิดจาก การปฏิวัติของจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน ของ เหมาเจ๋อตุง มาปรับใช้กับการวิเคราะห์ลักษณะสังคมและกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการปฏิวัติประเทศไทยของ พคท. ดูเหมือนจะปรากฏขึ้นในปี 2493 เมื่อสำนักพิมพ์ “มหาชน” ของ พคท. จัดพิมพ์หนังสือ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ อรัญญ์ พรหมชมพู หรือ อุดม สีสุวรรณ[19] ซึ่งมีวิธีการวิเคราะห์สังคมไทยที่คล้ายคลึงกับวิธีการวิเคราะห์สังคมจีนใน “การปฏิวัติของจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน” ของ เหมาเจ๋อตุง อย่างชัดเจน

โดยอุดมวิเคราะห์ว่า นับตั้งแต่การทำสนธิสัญญาเบาริ่งกับอังกฤษในปี ค.ศ.1855 (พ.ศ. 2398) เป็นต้นมา สังคมไทยก็กลายเป็นสังคม “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” ที่ด้านหนึ่ง การรุกรานของจักรพรรดินิยม เฉือนเอาแผ่นดินไทยไปเป็นเมืองขึ้นของตน คุกคามทั้งทางเศรษฐกิจ การเมือง และวัฒนธรรม ได้ทำให้ประเทศไทยต้องตกอยู่ในฐานะ “กึ่งเมืองขึ้นของจักรพรรดินิยม” ขณะที่อีกด้านหนึ่ง การรุกรานของจักรพรรดินิยมได้ทำให้รากฐานทางเศรษฐกิจของระบอบศักดินาไทยต้องสลายตัวลง สร้างเงื่อนไขและโอกาสให้แก่การผลิตแบบทุนนิยมในสังคมไทย ผลักดันให้สังคมไทยก้าวออกจากระบอบศักดินามาเป็น “กึ่งศักดินา”[20]

หนังสือไทยกึ่งเมืองขึ้น เขียนโดยอรัญ พรหมชมพู (นามปากกาของ อุดม ศรีสุวรรณ)

แม้ว่า พคท. จะตีพิมพ์ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ออกมาตั้งแต่ปี 2493 แล้ว แต่ดูเหมือนว่านั่นจะเป็นเพียงการแสดงออกในระดับปัจเจกเท่านั้น การได้รับการศึกษาทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” ในระดับ “ขบวนการ” มีลักษณะรวมหมู่ และทำอย่างเป็นระบบเป็นครั้งแรกของ พคท. เกิดขึ้นอย่างแท้จริงในช่วงนับตั้งแต่ปี 2500 เป็นต้นมา เมื่อผู้ปฏิบัติงานระดับสูงของ พคท. ซึ่งถูกส่งไปเรียนที่ “สถาบันลัทธิมาร์กซ – เลนิน สาขาที่ 1 กรุงปักกิ่ง”

ในช่วงระหว่างปี 2495 – 2500 เรียนจบและทยอยเดินทางกลับประเทศไทย จากนั้นพวกเขาก็ได้นำเอา “ลัทธิมาร์กซ-เลนิน” และ “ความคิดเหมาเจ๋อตุง” รวมทั้งทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” มาปรับใช้ในการวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยและกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการปฏิวัติประเทศของ พคท.

จากนั้นภายหลังปี 2504 เมื่อที่ประชุมสมัชชาพรรคครั้งที่ 3 มีมติให้ถอนผู้ปฏิบัติงานจากในเมืองเกือบทั้งหมดออกสู่ชนบทเพื่อปฏิบัติงานตาม “แนวทางชนบทล้อมเมืองและยึดเมืองในที่สุด” ก็ทำให้ทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” แพร่หลายในหมู่ชาวนาในเขตชนบทมากยิ่งขึ้น จนถึงปี 2515 เมื่อ พคท. เผยแพร่ “แถลงการณ์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเนื่องในวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 30 ปี” พวกเขาประกาศว่า

“เมื่อร้อยกว่าปีมานี้ การรุกรานของจักรพรรดินิยมได้ทำให้ประเทศไทยเปลี่ยนจากสังคมศักดินามาเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาทีละก้าวๆ รากฐานเศรษฐกิจธรรมชาติแบบทำเองใช้เองค่อยๆ ถูกทำลายไป แม้ว่าพร้อมกับการขยายตัวของเศรษฐกิจสินค้านั้น ทุนนิยมแห่งชาติจะได้รับการกระตุ้นให้ขยายตัว แต่ก็ถูกจักรพรรดินิยมและศักดินานิยมบีบคั้นผูกมัด ระบอบขูดรีดแบบศักดินาที่เจ้าที่ดินกระทำต่อชาวนายังครองฐานะที่เหนือกว่าในชีวิตเศรษฐกิจ จักรพรรดินิยมได้เข้ากุมเส้นชีวิตเศรษฐกิจการคลัง ควบคุมทางการเมืองและทางการทหารของประเทศโดยผ่านอำนาจรัฐที่เผด็จการร่วมกันของชนชั้นเจ้าที่ดินใหญ่และนายทุนขุนนาง การกดขี่ของจักรพรรดินิยม ศักดินานิยม ทำให้ประชาชนอันกว้างใหญ่ไพศาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวนาต้องยากจนล้มละลายและไม่มีสิทธิทางการเมืองแต่อย่างใด”[21]

ไม่เพียงแต่เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นถึงการนำเอา “ความคิดเหมาเจ๋อตุง” ในบทความ “การปฏิวัติของจีนกับพรรคคอมมิวนิสต์จีน” มาใช้เป็นแนวในการวิเคราะห์และกำหนดยุทธศาสตร์ยุทธวิธีในการปฏิวัติสังคมไทยของ พคท. อย่างเป็นทางการเท่านั้น นับแต่นี้เป็นต้นไป บทวิเคราะห์ลักษณะสังคมไทยใน “แถลงการณ์ 30 ปี” ยังจะกลายเป็น “ต้นแบบ” ของแถลงการณ์ ข้อเขียน และคำชี้แนะฉบับอื่นๆ อีกหลายฉบับที่ พคท. จะประกาศเผยแพร่ในเวลาต่อมาด้วย 

ตัวอย่างเช่น ในปี 2518 เมื่อ “นายผี” หรือ อัศนี พลจันทร เขียน โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ภายใต้นามปากกา “อุทิศ ประสานสภา” เพื่อตอบโต้งานเขียนหลายชิ้นของ “อำนาจ ยุทธวิวัฒน์” หรือ ผิน บัวอ่อน อดีตสมาชิกกรมการเมืองของ พคท. ที่ตีพิมพ์ออกมาในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาฯ อัศนีเองก็กล่าวว่า “สิ่งที่ประชาชนในประเทศไทยที่เป็นกึ่งเมืองขึ้น – กึ่งศักดินาจะพึงกระทำและจำต้องกระทำในปัจจุบันก็คือการปฏิวัติ”[22]

หรือในเดือนพฤษภาคม 2519 เมื่อ พคท. จัดทำเอกสาร “มติการประชุมคณะกรรมการกลาง พคท. ชุดที่ 3 ครั้งที่ 4” เนื้อหาบางตอนในนั้น กล่าวถึง “แถลงการณ์ 30 ปี” ในลักษณะยกย่องว่า “การออกแถลงการณ์ครบรอบ 30 ปีของพรรค ซึ่งเป็นการชี้นำเอาหลักทฤษฎีของลัทธิมาร์กซ – เลนิน ความคิดเหมาเจ๋อตุง มาประสานเข้ากับประสบการณ์ของการปฏิวัติ ทำให้ทั่วทั้งพรรคมีความรับรู้เป็นเอกภาพกันระดับหนึ่งในปัญหาสำคัญๆ ของการปฏิวัติประเทศไทย”[23]

อย่างไรก็ตาม จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้แนวคิด “กึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ก้าวเข้ามามีอิทธิพลเหนือขบวนการนักศึกษาในเมืองก็คือการที่ พคท. ได้รับชัยชนะในการวิวาทะกับ ผิน บัวอ่อน เกี่ยวกับแนวทางการต่อสู้ในช่วงปี 2518 ซึ่งส่งผลให้ขบวนการนักศึกษาที่ติดตามการวิวาทะนี้มาตลอดหันมายอมรับแนวทางการต่อสู้ในชนบทและใช้ชนบทล้อมเมืองของ พคท. มากขึ้น

โดย สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล อธิบายว่า การตอบโต้ผินด้วยการตีพิมพ์ สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตง เล่ม 1 ตอนต้น ในเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2518 โดย “ชมรมหนังสือแสงตะวัน” ซึ่งเป็นสายงานของ พคท. ในเมือง “ถือเป็นสัญลักษณ์บ่งบอกการครอบงำของ ‘ความคิดเหมาเจ๋อตง’ ต่อขบวนการ” นักศึกษา และการที่นักศึกษาจุฬาฯ เสนอชื่อ เกรียงกมล เลาหะไพโรจน์ เข้าชิงตำแหน่งเลขาศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยในเดือนถัดมา ก็ “มีลักษณะเป็นสัญลักษณ์ (symbolic) ที่สะท้อนการเริ่มต้นของการนำของพรรคต่อขบวนการนักศึกษา” เช่นกัน[24]

ขณะที่ สมเกียรติ วันทะนะ เสนอว่า หนังสือ โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์ ของ อุทิศ ประสานสภา (หรือ นายผี, อัสนี พลจันทร), วิพากษ์ทฤษฎีจอมปลอม ของ กระแสทวน และ พร สุวรรณ และ ศึกษา 14 ตุลาฯ และวิพากษ์หลิวส้าวฉีไทย ของ ดรุณใหม่ ที่ปรากฏขึ้นพร้อมกันในปี 2518 เพื่อตอบโต้ ผิน บัวอ่อน คือสิ่งที่ “แสดงให้เห็นถึงการกรุยทางปักหลักความเป็นจ้าวให้กับทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินา” นั่นเอง และ “เมื่อการต่อสู้ทางชนชั้นในสังคมไทยคลี่คลายไปอย่างรุนแรงแหลมคมยิ่งขึ้นๆ จนถึงเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินาและชนบทล้อมเมือง จึงมีเหตุผลรองรับทางรูปธรรมอีกระลอกใหญ่ ช่วง 2519 – 2522 จึงเป็นยุคเฟื่องฟูสูงสุดของแนวคิดทฤษฎีดังกล่าว เป็นไปได้อย่างไรกันเล่าที่สภาพดังกล่าวจะไม่ได้ผ่านช่วงการตั้งตัวมาก่อน”[25]

การทำงาน จัดตั้ง ในเมืองของ พคท. ก่อน 6 ตุลาฯ

การมีอิทธิพลต่อขบวนการนักศึกษาก่อน 6 ตุลาฯ ของ พคท. นั้น ไม่ใช่ในทาง “จัดตั้ง” หากแต่เป็นในทางความคิดมากกว่า ดังที่ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล เสนอไว้ในปี 2543 ว่า “พอขึ้นปี 2518 พคท. ก็ชนะหมด แต่จุดที่ชนะจริงไม่ใช่มาจากการจัดตั้งเรื่องคนหรืออะไร แต่มาจากความคิด”[26]

แต่กระนั้น ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีการทำงานจัดตั้งในเมืองของ พคท. เลย เพียงแต่ไม่ใช่งานหลักของพรรคเท่านั้น ดังที่ ธง แจ่มศรี เล่าไว้ใน ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ ที่พิมพ์ออกมาในปี 2562 ว่า “การเคลื่อนไหวของฝ่ายขบวนการนักศึกษา ตลอดจนกระแสการต่อสู้ในเมืองในช่วงเริ่มต้น พรรคคอมมิวนิสต์มีส่วนร่วมค่อนข้างน้อย เพราะเพิ่งเสียหายจากการถูกปราบปราม เมื่อครั้งคุณอุทัยและคุณถนอมถูกจับกุม 

นอกจากนั้น ยังมีความคิดชี้นำว่า การต่อสู้ในเมืองไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง ต้องเป็นแนวทางชนบทล้อมเมืองเท่านั้น ผู้ปฏิบัติงานของพรรคจึงพยายามที่จะไม่เข้าร่วมการเคลื่อนไหวในเมือง อย่างไรก็ตาม ในขบวนการนักศึกษาก็มีหน่วยงานในเมืองของพรรคแทรกอยู่ในบางส่วน

โดยเฉพาะส่วนงานของคุณประโยชน์ที่อาศัยการเชื่อมประสานกับคุณเทพ โชตินุชิต หัวหน้าพรรคแนวร่วมเศรษฐกร และคุณฟัก ณ สงขลา ทนายความฝ่ายก้าวหน้า นอกจากนี้ ได้แก่ หน่วยงานของคุณประวุฒิ ศรีมันตระ ที่ขยายเข้าสู่กลุ่มนักคิดรุ่นใหม่ กลุ่มเยาวชนนักเรียนและงานนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยเฉพาะที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งอาจารย์ผสม เพชรจำรัส เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ นอกจากนี้ ยังมีสายงานอื่นของพรรคเข้าไปจัดตั้งนักศึกษาอยู่ด้วย เพราะสภาพการทำงานในเมืองของพรรค เมื่อไม่มีการรวมศูนย์ของสายงาน และไม่มีการประสานงาน สายงานแต่ละสายจะมีอิสระจากกัน เพื่อลดความเสียหายจากการปราบปราม”[27]

ในหนังสือ เกิดมาขบถ[28] ที่พิมพ์ออกมาในปี 2566 จรัล ดิษฐาอภิชัย เล่าว่าเขาได้เข้าไปสู่ในสายจัดตั้งของ พคท. ตั้งแต่ก่อน 14 ตุลาแล้ว ตามคำของเขา “หลังจากตามหาพรรคคอมมิวนิสต์ฯ มาหลายปี บ่ายวันหนึ่งในต้นปี 2516 ขณะผมเดินผ่านหน้าหอประชุมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชายแต่งตัวเสื้อผ้าค่อนข้างเก่า เดินมาทักทายผมและชวนผมไปคุย เขาบอกว่าได้ติดตามผมมาตั้งแต่สภาหน้าโดม เห็นว่าผมมีความคิดปฏิวัติ ทางสายจัดตั้งมอบหมายให้มาติดต่อชวนเข้าร่วมสายจัดตั้ง ผมฟังแล้วคิดว่าเขาน่าจะเป็นคนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.)แต่ไม่ค่อยแน่ใจ อาจเป็นสันติบาลก็ได้ เขาขอนัดพบครั้งต่อไปที่วัดบวรนิเวศวิหาร บางลำพู พบกันครั้งที่สอง ผมได้รับเอกสารคือ ข่าวสถานีวิทยุเสียงประชาชนแห่งประเทศไทย (สปท.) สถานีวิทยุของ พคท. และคำแนะนำเกี่ยวกับการรักษาความลับ 

จากนั้นก็นัดพบกันทุก 15 วัน แต่ละครั้ง พี่จะมีข่าวมาคุย ต่อมา ทางสายจัดตั้งเปลี่ยนคนมานำ อายุเกือบ 50 ปี แต่งตัวปอนๆ ต่อมา รู้ชื่อจริงว่าสมพงษ์ อยู่ณรงค์ สหายคนนี้เคยถูกจับติดคุกลาดยาวสมัยสฤษดิ์หลายปี อยู่กลุ่มเดียวกับจิตร ภูมิศักดิ์ พบกันครั้งแรกสหายให้เอกสารโรเนียว ‘วิพากษ์ปัญญาชน โดยหลูซิ่น’ และผมได้รับรู้สภาพการทำงานภายในของพรรคมากขึ้น”

หนังสือ เกิดมาขบถ เขียนโดย จรัล ดิษฐาอภิชัย

ในช่วงปี 2517 จรัลเล่าว่า “กล่าวเฉพาะงานปฏิวัติ จัดตั้งได้มอบหมายให้ผมทำงานกับนักศึกษาปัญญาชน และร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองกับกลุ่มเรียกร้องรัฐธรรมนูญต่อไป กลุ่มหลัง ส่วนหนึ่งเตรียมจัดตั้งพรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย…ซึ่งผมเข้าร่วมการจัดตั้งพรรคสังคมนิยมฯ”[29]

นอกจากนี้ จรัลยังเล่าด้วยว่า ในช่วงปีเดียวกันนั้นเอง “ด้านการจัดตั้ง ผมเริ่มมีสายจัดตั้งในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เชียงใหม่ มหิดล เป็นนักศึกษาที่ร่วมกิจกรรมกันมา พวกเขาตื่นตัว รู้ลัทธิมาร์กซด้วยตนเองมาระดับหนึ่ง เพียงแค่ไม่รู้หลักการ วิธีการการเคลื่อนไหวปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์” [30]

เมื่อเข้าสู่ปี 2518 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ พคท. เริ่มเข้าไปมีอิทธิพลทางความคิดต่อขบวนการนักศึกษามากขึ้นนั้น จรัลเล่าว่า ในช่วงเวลานั้น “สายจัดตั้งของผมขยายได้ค่อนข้างมาก ในกรุงเทพฯ มีสายของสมชาย หอมลออ สายของธนศักดิ์ ฤกษ์เจริญพรในสหพันธ์นักศึกษาเสรีฯ สายวุฒิพงษ์ เลาหไพโรจน์ ในมหิดล ที่ภาคเหนือ มีสายของนิสิต จิรโสภณ ส่วนในพรรคสังคมนิยมฯ ผมยึดหลักการแนวร่วม ไม่พยายามจัดตั้งใคร แต่ผู้นำพรรคส่วนใหญ่คาดเดาออกว่าผมเป็นใคร ช่วงนั้น สหายประโยชน์เอาระเบียบการของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยมาให้อ่าน ทำพิธีรับผมเป็นสมาชิกพรรค”[31]

ต่อมาในปลายปี 2518 จรัลเล่าว่า “สายจัดตั้งของ พคท. สามารถยึดกุมการนำของกลุ่มและองค์การในขบวนการนักศึกษาประชาชน สายจัดตั้งของผมมีบทบาทใน ศนท. ในสหพันธ์นักศึกษาฯ ศูนย์ประสานงานกรรมกร แต่ผู้นำสำคัญ เช่น เสกสรร ธีรยุทธ เทียนชัย พยายามรักษาความเป็นอิสระ ไม่ขึ้นต่อสายจัดตั้งของ พคท. เสกสรรค์มักล้อผมว่า ต้องฟังคำสั่งจากพรรคก่อน จึงจะทำอะไร”[32]

ต่อมาเมื่อเสกสรรค์กับเพื่อนๆ “อยากเปลี่ยนเวทีต่อสู้ ขอเข้าป่า” เสกสรรค์ก็ติดต่อกับพรรคผ่านจรัล[33]ขณะที่เสกสรรค์เองก็เล่าในหลายปีต่อมาว่า “ผมไม่ใช่คนของพรรคคอมมิวนิสต์ ฉะนั้นเมื่อคิดการนี้ขึ้นมา จึงต้องติดต่อกับผู้ปฏิบัติงานของเขาที่เห็นๆ กันอยู่ในกรุงเทพฯ”[34]

จรัลไม่ใช่คนเดียวที่เล่าถึงงานจัดตั้งในเมืองของ พคท. ในช่วงหลัง 14 ตุลา ในปี 2546 เมื่อบันทึกความทรงจำเรื่อง พิราบราม ของ คงเจตน์ พร้อมนำพล ได้รับการตีพิมพ์ออกมา คงเจตน์เล่าว่าในช่วงระหว่างปี 2518-2519 ที่เขาทำกิจกรรมนักศึกษาอยู่ที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงนั้น หลังจากพรรคสัจธรรมซึ่งเป็นพรรคการเมืองของนักศึกษาที่เขาเป็นผู้ปฏิบัติงานชนะการเลือกตั้ง ก็เริ่มมี “พวกรุ่นน้องๆ” จากหน่วยสันนิบาตเยาวชนแห่งประเทศไทย (หน่วย สยท.) ซึ่งเป็นองค์กรของ พคท. ที่ทำงานจัดตั้งเยาวชนในเมือง “เข้ามาในพรรคสัจธรรมมากขึ้นๆ”[35]

คงเจตน์ยังเล่าด้วยว่า “นับตั้งแต่ได้ชัยชนะในที่นั่งสภานักศึกษาและองค์การนักศึกษา พรรคสัจธรรมก็เนื้อหอมราวกับสาวแรกรุ่น พลพรรคเลือดใหม่ของสัจธรรม ส่วนใหญ่มาจากศูนย์นักเรียน เป็นเด็กในจัดตั้งของพี่อนุช อาภาภิรมย์ เรื่องซ้ายไม่ต้องพูดถึง พวกผมเรียกเด็กใหม่พวกนี้ว่า พวก ‘หุงฉี’ ซึ่งเป็นภาษาจีนแปลความได้ว่า ‘ธงแดง’ เด็กใหม่พวกนี้เข้ามาในพรรคฯ แบบมีจัดตั้ง และจัดตั้งกันเข้ามา พวกที่เข้ามาใหม่นี้มีวิธีคิดวิธีทำงานเป็นระบบมีความเอาการเอางาน นำวิธีการใช้ชีวิตรวมหมู่มาใช้ มีการสำรวจวิจารณ์และวิจารณ์ตนเอง เริ่มมีสำนวนแปลกๆ เข้ามา อาทิ เก็บเกี่ยวดอกผลของการต่อสู้, มีจัดตั้ง, ประชาธิปไตยรวมศูนย์, รักเสรี, สามช้า ฯลฯ ต่อมากลุ่มเด็กใหม่พวกนี้ก็กุมการนำของพรรคฯ ทุกระดับ”[36]

หนังสือพิราบราม เขียนโดยคงเจตน์ พร้อมนำพล

ขณะที่ “ชุติมา พญาไฟ” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยรามคำแหงก็เล่าเช่นกันว่าในช่วงปี 2518 พคท. ก็ได้ส่ง “แป๋ว รุ่นพี่จากจุฬาซึ่งเขารู้จักและนับถือ” มาทาบทามให้เขา “เข้าจัดตั้ง” ของ พคท.[37] ฤดี เริงชัย เป็นอีกคนที่เล่าถึงการทำงานจัดตั้งในหมู่นักศึกษาปัญญาชนในเมืองของ พคท. ไว้อย่างน่าสนใจ ฤดีเล่าว่า ในช่วงปลายปี 2517 เธอได้เข้าไปทำงานที่หนังสือพิมพ์ มาตุคาม โดยมี นิสิต จิรโสภณ เป็นคนรับเข้า[38]

จากนั้นซึ่งเป็นไปได้ว่าจะเป็นในช่วงปี 2518 แล้ว เธอเล่าว่า “ตอนนี้ฉันเริ่มกลายเป็นมวลชนในจัดตั้งของ พคท. แต่ฉันยังไม่สมัครเข้า ส.ย.ท. (สันนิบาตเยาวชนคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) เพราะฉันยังไม่ป่าวประกาศในสิ่งที่ฉันไม่เชื่อ…เวลานั้นรอบๆ ตัวฉันเพื่อนฝูงพากันเข้าจัดตั้งกันเป็นแถวไปแล้ว”[39]

หนังสือหยดหนึ่งในกระแสธาร เขียนโดย ฤดี เริงชัย

จนกระทั่งถึงกลางปี 2518 ฤดีก็ถูกชวนให้เข้าไปอยู่ในสายจัดตั้งของ พคท. อีกครั้ง ดังที่เธอเล่าว่า “กลางปี 2518 ฉันตัดสินใจเข้าโรงงานไปเป็นกรรมกร พร สุวรรณ เรียนจบแล้วไปเป็นหมออินเทิร์นที่พิษณุโลก ฉันติดต่อกับเขาทางจดหมายเป็นประจำ สองสามเดือนเขาจึงจะลงมากรุงเทพฯ สักที ทุกครั้งที่ลงมาเขาจะต้องปลีกเวลามาพบฉัน วันหนึ่งเขาชวนให้ฉันเข้าจัดตั้ง บังเอิญฉันติดต่อกับสายอื่นไปแล้ว แต่จากวันนั้น ฉันจึงรู้ว่าความจริงเขาเป็น ย.ร.ท. (องค์กรเยาวชนรักชาติแห่งประเทศไทย) คืนนั้นเขามาส่งฉันที่บ้านเมื่อเที่ยงคืนแล้ว ประยุทธเฝ้ารอที่บ้านบอกว่ามีเรื่องสำคัญต้องพูดกับฉันให้ได้ แล้วลากฉันออกไปกลางดึก ไปบ้านของกลุ่มยุวชนฯ ที่เดี๋ยวนี้กำลังเริ่มเลียนแบบการจัดตั้งองค์กรแบบ พคท. และกลายเป็นกลุ่มปิดลับ”[40] 

ขณะที่ มาลาตี วงศ์สัตตบุษย์ ซึ่งเข้าเรียนมหาวิทยาลัย “แห่งหนึ่ง” ในปี 2517 เล่าว่า ในปี 2518 เมื่อ “กระแสการปฏิวัติของโลกกำลังขึ้นสูง” เธอได้ตัดสินลาออกจากมหาวิทยาลัยแล้วไปทำงานในโรงงานเพื่อ “จัดตั้ง” กรรมกร โดยในเวลานั้นเธอก็ได้สัมพันธ์กับคนของพรรคแล้ว ตามคำของเธอ “ทุกอาทิตย์ฉันก็กลับไปประชุมกับพี่จัดตั้ง รายงานการทำงาน แล้วก็ศึกษาเพิ่มเติม พี่เขามีหน่วยทำงานกรรมกรเพิ่มขึ้นอีกหน่วย มี 2 คน เป็นรุ่นน้องชื่อ รุ้งและว่าน ทั้งคู่เป็นเด็กนักเรียน…แล้ววันหนึ่งในการประชุมกับจัดตั้ง พี่เขาก็อ่านจดหมายคล้ายๆ กับคำชี้แนะมาจากพรรค”[41] 

มิพักต้องกล่าวถึง จิระนันท์ พิตรปรีชา ที่แม้จะกล่าวว่าไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ “สายจัดตั้งในเมือง” ของ พคท. ก็ตาม แต่ก็ “เดาออกว่า ในบรรดากลุ่มองค์กรต่างๆ มีใครบ้างที่ติดต่อสัมพันธ์อยู่กับ ‘สายจัดตั้งในเมือง’” ของ พคท.[42]

“เป็นอิทธิพลในทางความคิด มากกว่าจะเป็นในแง่การจัดตั้งโดยตรง  

ในบทสัมภาษณ์เรื่อง “ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท.” (2543)[43] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้ให้คำอธิบายเกี่ยวกับการวิวาทะระหว่าง พคท. กับ ผิน บัวอ่อน เพิ่มเติมว่า “ปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ พคท.เข้ามาครอบงำขบวนการนักศึกษาได้ ซึ่งคนอื่นอาจจะไม่เห็นด้วยในจุดนี้ ผมคิดว่าก็เพราะคุณผินนี่แหละที่เป็นตัวกระตุ้น พอคุณผินออกเอกสาร พคท. ก็ออกเอกสารมาโต้ แล้วพอ พคท. ออกเอกสารมาโต้ ขบวนการนักศึกษาซึ่งก่อนหน้านี้รู้จักแนวทาง พคท. แบบไม่ชัดเจน พออ่านการโต้กันก็เลยสว่าง ชัดเจนในแนวทาง กลายเป็นปัจจัยหนึ่งที่กระตุ้นให้กระแส พคท. ครอบงำ”

ประเด็นหลักๆ ที่ผินเสนอก็คือ นักศึกษา “อย่าซ้ายเกินไป” แต่ พคท. โต้ว่า “การวิจารณ์ของผินที่ว่าไม่ควรซ้ายเกินไป ก็เพื่อต้องการจะหลอกนักศึกษาว่า ต้องให้เดินแนวทางรัฐสภา พคท. บอกว่า ถึงที่สุดแล้ว สังคมไทยมันต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมือง” ซึ่งสมศักดิ์เล่าว่า “ในสถานการณ์ตอนนั้นถ้าให้เลือกระหว่าง 2 อันนี้ ผมคิดว่าถ้าจะแฟร์ต่อคุณผิน แกไม่ได้เขียนว่าต้องชูระบบรัฐสภาเสียทีเดียว

แต่ขณะเดียวกัน แกก็ไม่ได้เขียนในทำนองว่าต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมืองเสียทีเดียวเหมือนกัน งานของแกนั้นกำกวม มองในแง่ร้ายก็อาจจะบอกว่า แกเขียนกำกวมเพื่อให้นักศึกษาหันไปในแนวทางปฏิรูป ผมเคยคุยกับแก แกเองก็บอกว่า แกเป็นนักปฏิวัติ แต่ที่แกเขียนแบบนี้ เพราะว่าแกเองก็อยู่ในเมือง เขียนให้ซ้ายมากไม่ได้ ทีนี้ถ้าให้เลือกระหว่าง 2 อัน ระหว่างคุณผินที่เสนอไม่ให้ซ้ายเกินไป กับ พคท. ที่เสนอตูมลงมาเลยว่า ต้องปฏิวัติด้วยชนบทล้อมเมือง กระแสส่วนใหญ่มันก็ไปทาง พคท.”

สมศักดิ์ยังเสนอด้วยว่า ปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ “พคท. เข้ามาครอบงำขบวนการนักศึกษาได้” ก็คือ การยอมรับ จิตร ภูมิศักดิ์ เขาอธิบายว่า “การยอมรับจิตรนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ผู้นำ พคท. ในเมืองบางคนที่รู้จักคุณจิตร ด้วยเหตุผลทั้งในแง่ส่วนตัวที่สะเทือนใจที่คุณจิตรเสียชีวิต กับทั้งเหตุผลในแง่ต้องการส่งอิทธิพลต่อเยาวชนที่เติบโตขึ้นมาในช่วง 14 ตุลา (ซึ่ง พคท. เรียกว่าเป็นพวก “ซ้ายใหม่”) ผู้นำ พคท. คนนี้ เขาก็มีความคิดว่าวิธีที่ดีที่สุดที่จะส่งผลสะเทือนต่อพวกเยาวชน (“ซ้ายใหม่”) เหล่านี้ ก็คือการสร้างฮีโร่ให้พวกเขา ครั้งแรกเขาก็พยายามปล่อย เช กูวารา ออกมา มีการโฆษณาเรื่อง เช กูวารา ก็ได้รับการต้อนรับกันเยอะ คนที่ไม่รู้จัก พคท. ก็รับเช พอเชที่เหมือนเป็นกระแสที่ปูพื้นได้รับการยอมรับแล้ว เขา (ผู้นำ พคท. ในเมือง) ก็ปล่อย จิตร ภูมิศักดิ์ ตามออกมา พิมพ์หนังสือจิตรออกมาผ่านมาทาง “ชมรมหนังสือแสงตะวัน” ที่เป็นหน่วยงานของ พคท. แรกๆ หนังสือจิตรที่พิมพ์นั้นมาจากสายงาน พคท. ทั้งนั้น บางเล่มนักศึกษาเอาไปพิมพ์โดยบังเอิญเองก็ใช่ แต่เล่มที่มาจาก พคท. ซึ่งเป็นชิ้นที่สำคัญ เช่น โฉมหน้าศักดินาไทย, ทีปกร ศิลปินนักรบของประชาชน การที่นักศึกษานิยมจิตร ที่เป็นตัวแทนของปัญญาชนที่จับอาวุธ โดยปริยายคือเป็นการยอมรับว่า นี่เป็นหนทางที่ถูกนะ หนทางชนบทล้อมเมืองเป็นทางเลือกที่ถูก

จิตร ภูมิศักดิ์

การชื่นชมจิตรเกี่ยวข้องอย่างไรกับการชื่นชมแนวทางการปฏิวัติของ พคท. สมศักดิ์อธิบายว่า “จิตรเองไม่ได้เขียนงานเกี่ยวกับทฤษฎีปฏิวัติอะไรไว้ แต่ว่าจิตรคืออะไร จิตรคือปัญญาชนที่เลือกการต่อสู้ด้วยอาวุธ และบทกวีของจิตรจำนวนมาก รวมทั้งพวกเพลงพวกอะไรก็ออกมาในทำนองนั้น เช่น “วีรชนปฏิวัติ”, “ภูพานปฏิวัติ” จิตรจึงเป็นสัญลักษณ์ 

อย่างที่บอกว่า เรื่องความนิยมมาทางหนทางต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท เริ่มมาตั้งแต่เชแล้ว ตอนนั้นประวัติเชพิมพ์ซ้ำ 7-8 ครั้ง ขายได้เป็นหมื่นเล่ม “เช นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่” เป็นหมอที่ลุกขึ้นจับอาวุธ เรื่องจิตรก็สอดขึ้นมากับกระแสนี้พอดี คือปัญญาชนต้องเลือกทางนี้ ทางที่ต่อสู้ด้วยอาวุธ ตอนนั้นเป็นเรื่องของความคิด คุณจะเข้าป่าหรือไม่ ยังไม่ใช่ประเด็นสำคัญ แต่คือการยอมรับต้องการปฏิวัติด้วยการต่อสู้ด้วยอาวุธในชนบท”

หนังสือ เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่

ในบทสัมภาษณ์ สมศักดิ์ได้สรุปข้อเสนอของเขาไว้ในตอนท้ายว่า “ปี 2516 ขบวนการนักศึกษายังไม่เป็นเอกภาพ ตีกันหลายกระแส พอปี 2517 นี่เหมือนกับเป็นช่วงเปลี่ยน ช่วงที่กระแสทั้งหลายมาตีกัน เสกสรรค์เองก็พยายามเสนอแนวทางของเขาออกมา แล้วก็มี ผิน บัวอ่อน มี พคท. พอขึ้นปี 2518 พคท. ก็ชนะหมด แต่จุดที่ชนะจริงไม่ใช่มาจากการจัดตั้งเรื่องคนหรืออะไร แต่มาจากความคิด คือถ้าให้เลือกในความรู้สึกของคนตอนนั้นว่า อะไรคือทางออกต่อไป คือทุกคนยอมรับว่า 14 ตุลา ไม่ได้แก้ปัญหาให้หมดไป ทุกคนยอมรับเหมือนกัน แม้กระทั่งนักวิชาการก็ยอมรับ แต่ถ้าเช่นนั้น แล้วจะแก้ด้วยอะไร จะทำยังไงต่อไป ข้อเสนอแบบ พคท. นั้น มันดึงดูดใจที่สุด” และตามคำของเขา 

คนที่เติบโตสมัยนี้อาจจะไม่เข้าใจ ว่าทำไมพวกเราในขบวนการนักศึกษาถึงเลือกแบบนี้ (แบบพคท.) แต่ถ้าเราลองไล่เรียงงานนักวิชาการในปัจจุบันตั้งแต่ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ ชัยอนันต์ สมุทวณิช ไปจนถึงคนอื่นๆ ในช่วง 2517-18 พวกนี้ยังไม่ผลิตงาน เพราะฉะนั้นในแง่หนึ่ง ผมว่าไม่เป็นการเกินเลยที่จะพูดว่า งานเชิงที่เสนอไอเดีย พคท.นี่ถือว่าแข็งที่สุดในช่วงนั้น ไม่ว่าจะวัดจากบรรทัดฐานอะไรก็แล้วแต่ นิธิเองเพิ่งจะเริ่มเขียนหลังปี 2522 เพราะฉะนั้น บรรยากาศทั้งหมดตอนนั้นมันไม่มีอะไรที่เข้าท่าไปกว่า พคท.อีกแล้ว

ในความรู้สึกของคนรุ่นนั้น คือคุณต้องปฏิวัติ ทำกิจกรรมเฉยๆ ด้วยการลงเลือกตั้ง อย่างนั้นไม่ได้ ไม่เรียกปฏิวัติ แต่ต้องสนับสนุนการต่อสู้ด้วยอาวุธ มันโรแมนติก ภาพที่ว่าขึ้นเขาภูพาน ประกอบกับที่คนรู้ว่าจิตรไปตายที่ภูพาน นายผีอยู่ในป่า สมัยนั้นพอมีงานเขียนหลุดออกมาจากป่าเมื่อไร เป็นเรื่องฮือฮามากเลย มันอาจจะเป็นวัยของคนรุ่นนั้น เป็นความโรแมนติก นักปฏิวัติที่เป็นตำนานอย่างนายผี เปลื้อง วรรณศรี ยังสู้นะ อุตสาห์ไปสู้ในป่า เรื่องจิตร เรื่องคุณภาพงาน พคท.ทั้งหมดมันผสมผสานกัน

อันที่จริงแล้ว ข้อเสนอของสมศักดิ์ข้างต้นนี้ ไม่ใช่ข้อเสนอที่เลื่อนลอย หากแต่สอดคล้องเป็นอย่างดีกับคำบอกเล่าของ ธง แจ่มศรี เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์คนสุดท้ายก่อนที่ พคท. จะล่มสลายในกลางทศวรรษ 2520 ดังที่เขา (อันที่จริงแล้ว น่าจะเป็นคำกล่าวของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ มากกว่า) กล่าวไว้ใน ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ ว่า

“ต้นปี พ.ศ. 2519 คณะกรรมการกลางพรรคได้ออกคำชี้แจงเรื่อง “หนทางการปฏิวัติไทย” ที่จุดมุ่งหมายที่จะวิพากษ์แนวทางของคุณผิน บัวอ่อน และยืนยันความถูกต้องของการปฏิวัติโดยใช้แนวทางชนบทล้อมเมือง แล้วยึดเมืองในที่สุด สรุปแล้วกระแสการตอบโต้ลัทธิแก้ของคุณผิน บัวอ่อน เป็นกระแสสำคัญเรื่องหนึ่งของขบวนการนักศึกษาในช่วง พ.ศ.2518-2519 และทำให้ส่วนนำของขบวนการนักศึกษาหันมาสนับสนุนแนวทางของพรรคมั่นคงขึ้น

แต่กระนั้น คงไม่สามารถกล่าวได้ว่า ขบวนการนักศึกษาเคลื่อนไหวภายใต้การนำของพรรค เพราะศูนย์กลางพรรคที่จังหวัดน่านอยู่ห่างจากสถานการณ์ในเมืองอย่างมาก ไม่อาจจะชี้แนะแนวทางการปฏิบัติการอันใดได้ สถานการณ์ขณะนั้นจึงเป็นไปในแนวทางที่ว่าขบวนการนักศึกษายอมรับแนวทางนโยบายของพรรคตามหลักยุทธศาสตร์ชนบทล้อมเมือง แต่วิเคราะห์สถานการณ์การเคลื่อนไหวด้วยยุทธวิธีของตัวเอง และกลุ่มนำของขบวนการนักศึกษาเป็นฝ่ายชี้นำทิศทางการต่อสู้ของขบวนการในนามของพรรค”[44]

อะไรคือรูปธรรมที่ยืนยันว่า พคท. มีอิทธิพลเหนือขบวนการนักศึกษา ?

ตัวอย่างรูปธรรมที่ยืนยันถึงการมีอยู่ของการที่กระแสความคิดของ พคท. แผ่ขยายเข้าไปมีอิทธิพลเหนือขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาฯ มีให้เห็นอยู่มากมายนับไม่ถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการตีพิมพ์หนังสือในแนวสังคมนิยมออกจำหน่ายจำนวนมาก เช่น Communist Manifesto ของ คาร์ล มาร์กซ และ เฟรเดอริก เองเกลส์, หลักลัทธิเลนิน ของ ไพรัช บำรุงวาที, ปรัชญาลัทธิมาร์กซิส ของ กุหลาบ สายประดิษฐ์, ปรัชญาชาวบ้าน ของ ศักดิ์ สุริยะ และ วิวัฒนาการของมาร์กซิสม์ ของ น.ชญานุตม์ เป็นต้น, การตีพิมพ์หนังสือพิมพ์ทั้งรายวัน รายสัปดาห์ และวารสารในแนวก้าวหน้าออกมาเป็นจำนวนมาก เช่น ประชาชาติ, ประชาธิปไตย, เสียงใหม่, The Nation, อธิปัตย์, มหาราษฎร์, จตุรัส, เอเชียวิเคราะห์ข่าว, สังคมศาสตร์ปริทัศน์, ปุถุชน และ อักษรศาสตร์พิจารณ์

การที่หนังสือแนวสังคมนิยมยังคงถูกตีพิมพ์เผยแพร่อย่างต่อเนื่องและครอบครองส่วนใหญ่ของตลาดหนังสือในช่วงระหว่างปี 2518 – 2519 นักศึกษาหัวก้าวหน้ากลุ่มหนึ่งที่นำโดย นิสิต จิรโสภณ ได้ตั้งสำนักพิมพ์ชื่อ “ชมรมหนังสือแสงตะวัน” เพื่อพิมพ์หนังสือเผยแพร่อุดมการณ์สังคมนิยมโดยตรง หนังสือที่สำนักพิมพ์นี้ตีพิมพ์ ได้แก่ สรรนิพนธ์ เหมาเจ๋อตง ทั้ง 8 เล่ม เหมาเจ๋อตง ผู้นำจีนใหม่ ของ เทอด ประชาธรรม, ลัทธิคอมมิวนิสต์จอมปลอมของครุสชอฟ ของ กองบรรณาธิการหุงฉี, แถลงการณ์ของพรรคคอมมิวนิสต์ ของ มาร์กซ และ เองเกลส์, ทีปกร ศิลปินนักรบของประชาชน ของ จิตร ภูมิศักดิ์, ความเรียงว่าด้วยศาสนา ของ จิตร ภูมิศักดิ์, วิทยาศาสตร์สังคมของประชาชน ของ อนันต์ ปั้นเอี่ยม และ วิวัฒนาการแห่งสังคมสยาม ของ สรรค์ รังสฤษฏิ์ เป็นต้น[45]

หนังสือ ศิลปินนักรบของประชาชน เขียนโดย จิตร ภูมิศักดิ์

รวมทั้งการที่แม้แต่สำนักพิมพ์ทั่วๆ ไปที่ไม่ได้มีหัวก้าวหน้าก็ตีพิมพ์หนังสือซึ่งเสนอความรู้เกี่ยวกับจีนและแนวทางสังคมนิยม ได้แก่ วิวัฒนาการความคิดสังคมนิยม (2518) ของ ชาญ กรัสนัยบุระ, ลัทธิสังคมนิยมแบบเพ้อฝันและแบบวิทยาศาสตร์ (2518) ของ เฟรเดอริก เองเกลส์ แปลโดย อุทิศและโยธิน, มาร์กซจงใจพิสูจน์อะไร อย่างไร (2518) ของ สุภา ศิริมานนท์, เศรษฐศาสตร์เพื่อมวลชน (2518) ของ วิภาษ รักษาวาที เป็นต้น ส่วนที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์พรรคคอมมิวนิสต์จีน และแนวคิดทฤษฎีก็เช่น นักศึกษาจีน: แนวหน้าขบวนการปฏิวัติสังคม (2518) พิมพ์โดยพรรคพลังธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, คติพจน์เหมาเจ๋อตงว่าด้วยการสร้างพรรค (2519) ว่าด้วยประชาธิปไตยรวมศูนย์ (2519) โฉมหน้าจีนใหม่ (2519) ตีพิมพ์โดยองค์การนักศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, บนเส้นทางสังคมนิยมจีน (2519) ของ ธีรยุทธ บุญมี นอกจากนี้ยังมีหนังสือเกี่ยวกับผู้นำเกาหลีเหนือ ได้แก่ กิมอิลซอง ของ คม ทิวากร

รวมถึงหนังสือเกี่ยวกับการต่อสู้ของประชาชนอินโดจีน เช่น สงครามอินโดจีน (2516) ของ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, สงครามอินโดจีน ลาว เขมร เวียดนาม (2517) ของ ชาญวิทย์ เกษตรศิริ, สงครามจรยุทธ ของ โวเหงียนเกี๊ยบ แปลโดย ศาศวัต วิสุทธิ์วิภาษ, สรรนิพนธ์โฮจิมินห์ (2518) และ วิเคราะห์การต่อสู้ของพรรคลาวด๋อง (2519) ของ ธีรยุทธ บุญมี เป็นต้น ส่วนหนังสือที่แพร่หลายอย่างมากอีกเล่มก็คือ เช กูวารา นายแพทย์นักปฏิวัติผู้ยิ่งใหญ่ ของ ศรีอุบล ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี2516 และต่อมากลายเป็นหนังสือขายดีจนต้องตีพิมพ์ซ้ำหลายครั้ง[46]

รวมถึงการที่เอกสารภายในของ พคท. หลายชิ้นถูกนำมาตีพิมพ์เผยแพร่อย่างเปิดเผยด้วย เช่น ลัทธิวัตถุนิยมทางประวัติศาสตร์และวิวัฒนาการทางสังคม โดย อธิคม กรองเกรดเพชร, ใครสร้างใครทำ, คติพจน์เหมาเจ๋อตง, หนทางการปฏิวัติไทย, หญิงสู้หญิงชนะ และ ใต้ธงปฏิวัติ เป็นต้น แต่ที่สำคัญก็คือ ไทยกึ่งเมืองขึ้น ของ อรัญญ์ พรหมชมภู (อุดม สีสุวรรณ)[47] และการก่อตั้งพรรคการเมืองแนวสังคมนิยมที่ถูกกฎหมายขึ้นมามากถึง 3 พรรค ได้แก่ พรรคแนวร่วมสังคมนิยม พรรคสังคมนิยมแห่งประเทศไทย และพรรคพลังใหม่ ไปจนถึงการที่พรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่มีความคิดอนุรักษ์นิยมประกาศว่าจะใช้นโยบาย “สังคมนิยมอ่อนๆ”[48]

ภาพจาก สหภาพคนทำงาน

อิทธิพลของกระแสความคิดสังคมนิยมของ พคท. ที่มีอยู่เหนือความคิดทางการเมืองของนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในช่วงไม่กี่ปีหลัง 14 ตุลาฯ ยังสามารถพบเห็นได้อีกจากการที่นักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในยุคนั้นแสดงบทบาทนำในการวิพากษ์วัฒนธรรมเก่าด้วยการเสนอคำขวัญ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ขึ้นมาหักล้าง, วิพากษ์งานวรรณคดีว่ารับใช้ชนชั้นศักดินา, วิพากษ์นิยายประโลมโลกว่าเป็นวรรณกรรมน้ำเน่า มอมเมา ไร้สาระ แล้วนำเสนอวรรณกรรมเพื่อชีวิตซึ่งสะท้อนถึงความทุกข์ยากและการต่อสู้ของประชาชนที่ถูกกดขี่ขึ้นแทนที่, พิมพ์ซ้ำวรรณกรรมเพื่อชีวิตที่เคยตีพิมพ์ในช่วงทศวรรษ 2490, หันไปหยิบเอานวนิยายและหนังสือเด็กจากจีนที่สะท้อนจิตใจที่เสียสละกล้าหาญของประชาชนจีนผู้ซึ่งอุทิศชีวิตเพื่อชาติและการปฏิวัติเพื่อสร้างสังคมอันดีงามมาตีพิมพ์เป็นภาษาไทย 

ขณะที่นักเขียนรุ่นใหม่ก็ผลิตงานเขียนเรื่องสั้น นวนิยาย และงานแปลใหม่ออกมาเป็นจำนวนมาก มีการวิพากษ์ระบบการศึกษาแบบเก่าว่า ล้าหลัง รับใช้สังคมทุนนิยม และเสนอให้จัดการศึกษาเพื่อมวลชนขึ้นแทน บทเพลงและดนตรีแบบเก่าถูกวิจารณ์ว่า ไร้สาระ สะท้อนแต่เรื่องความรักส่วนตัว ไม่เกิดประโยชน์แก่สังคม และเสนอเพลงเพื่อชีวิต ซึ่งสะท้อนชีวิตและความทุกข์ยากของประชาชนขึ้นแทนที่ เกิดวงดนตรีเพื่อชีวิตขึ้นในขบวนการนักศึกษาเป็นจำนวนมาก เกิดละครเพื่อชีวิตของนักศึกษาขึ้นตามมหาวิทยาลัยต่างๆ รวมไปถึงการที่กลุ่มศิลปินฝ่ายก้าวหน้าจากแขนงต่างๆ ได้ร่วมกันจัดตั้งกันขึ้นเป็น “แนวร่วมศิลปินแห่งประเทศไทย” ด้วย[49]

ในช่วงปลายปี 2518 กระแสการปฏิวัติวัฒนธรรมในขบวนการนักศึกษาก็ได้ครอบคลุมไปถึงการสร้างประเพณีและวัฒนธรรมใหม่ในกรอบเดิม โดยเริ่มจากการจัดงาน “ลอยกระทงรักไทย” ที่ไม่มีการประกวดนางนพมาศ แต่เป็นงานที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” ตามมาด้วยงานประเพณีใหม่อีกหลายงาน เช่น งาน “ปีใหม่ อรุณแห่งชัย” ที่จัดโดยองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในปี 2519 โดยสร้างความหวังให้ปี 2519 เป็นปีแห่งชัยชนะของประชาชน, งาน “ปีใหม่ชูไท” ของนิสิตหัวก้าวหน้าของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย งานฟุตบอลประเพณีระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่สอดแทรกเนื้อหาก้าวหน้าลงไป และงาน “สงกรานต์เบิกฟ้าประเพณี” เป็นต้น[50]

การดัดแปลง “โลกทัศน์-ชีวทัศน์” ครั้งใหญ่ในหมู่เยาวชนคนหนุ่มสาว

นอกจากการวิพากษ์วัฒนธรรมเก่าด้วยการเสนอคำขวัญ “ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน” แล้ว ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น ยังได้มีการเสนอหลักเกณฑ์ในการเป็นนักปฏิวัติเพื่อปรับปรุงขบวนการนักศึกษาให้มีลักษณะปฏิวัติมากยิ่งขึ้นซึ่งส่งผลให้เกิดการจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุง “โลกทัศน์-ชีวทัศน์” ครั้งใหญ่ด้วย ซึ่งแน่นอนว่านี่คืออิทธิพลอีกอันหนึ่งของ พคท. แม้แต่ เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ซึ่งไม่ค่อยเห็นด้วยกับการเคลื่อนไหวนี้ก็ยังเล่าถึงอย่างหัวเสียในบันทึกของเขาว่า “ด้วยเหตุนี้ ผมจึงมีปากเสียงกับคนของพรคคคอมมิวนิสต์อยู่เนืองๆ ผมคัดค้านการที่พวกเขาเข้ามาเคลื่อนไหวด้านโลกทัศน์ชีวทัศน์อย่างครึกโครม โฆษณาชักชวนให้ผู้คนดัดแปลงตัวเองเป็นชนชั้น ‘กรรมาชีพ’ ตามแบบแผนการปฏิวัติวัฒนธรรมในเมืองจีน และเรียกร้องให้เข้าร่วมการต่อสู้ด้วยกำลังอาวุธอย่างเปิดเผย”[51]

จิระนันท์ พิตรปรีชา ก็เล่าเช่นกันว่า “‘กระแสซ้ายจัด’ ของขบวนการนักศึกษาไทยในปี 2518-2519 ได้ตั้งแง่ปฏิเสธกลุ่มคนที่น่าจะเป็น ‘แนวร่วม’…ทั้งยังก่อกระแสวิพากษ์วิจารณ์โจมตีในหมู่พวกเดียวกันอย่างอุตลุด…มีการใช้สูตรปฏิวัติวัฒนธรรมจีนมาเรียกร้องให้ ‘วิจารณ์ตนเอง ดัดแปลงโลกทัศน์ ชีวทัศน์ ให้เป็นแบบชนชั้นกรรมาชีพ’”[52]

ขณะที่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ อธิบายว่า การจัดตั้งและเคลื่อนไหวเพื่อปรับปรุง “โลกทัศน์-ชีวทัศน์” ครั้งใหญ่ หมายถึงการสร้างองค์กรให้เข้มแข็ง มีวินัย และมีแรงจิตใจสู้รบมากขึ้น ส่วนการปรับปรุงชีวทัศน์ก็คือ การพยายามผลักดันให้ผู้ปฏิบัติงานในขบวนการมี “ชีวทัศน์ที่ก้าวหน้า” ไปพร้อมๆ กับการมี “โลกทัศน์ที่ก้าวหน้า” นั่นเอง โดยตัวแบบของบุคคลที่ก้าวหน้าและก่อให้เกิดความประทับใจแก่ขบวนการนักศึกษาก็คือ จิตร ภูมิศักดิ์ ปัญญาชนปฏิวัติซึ่งมีการใช้ชีวิตที่น่ายกย่องและเสียสละท่ามกลางการปฏิวัติเมื่อปี 2509 โดยในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ชีวิตของจิตรถูกนำมากล่าวยกย่องสดุดีและงานเขียนของเขาถูกนำกลับมาพิมพ์ใหม่ สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทยมีการจัดสัมมนาและตีพิมพ์หนังสือ จิตร ภูมิศักดิ์ นักรบของคนรุ่นใหม่ ในปี 2517[53]

นอกจากการสร้างบุคคลตัวแบบขึ้นมาแล้ว การเรียกร้องให้มีการดัดแปลง “โลกทัศน์-ชีวทัศน์” ยังกระทำผ่านการจัดพิมพ์หนังสือหลายเล่มที่ให้คำแนะเกี่ยวกับการปรับปรุงชีวทัศน์ด้วย ในช่วงระหว่างปี 2516-2519 ในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก พคท. หรือในหมู่ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. เอง ยังได้จัดพิมพ์หนังสือที่พูดถึง “โลกทัศน์-ชีวทัศน์เยาวชน” ออกมาเป็นจำนวนมากเพื่อเรียกร้องให้เยาวชนคนหนุ่มสาว “ดัดแปลงการใช้ชีวิตของตนเอง” หรือ “ดัดแปลงชีวทัศน์” ของตนเองเพื่อที่จะทำให้สามารถรับใช้ประชาชน ทำเพื่อส่วนรวมและเข้าร่วมขบวนการได้อย่างเต็มที่[54]

หนังสือเหล่านี้มีเนื้อหาตั้งแต่เบาๆ อย่าง หนุ่มสาวคือชีวิต[55] และ โลกทรรศน์เยาวชน ของ อนุช อาภาภิรม ที่พิมพ์ในปี 2517 และปี 2519 โดย นักเรียนแห่งประเทศไทย[56] ซึ่งต่อมาจะถูกนำมาตีพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2522 โดย กลุ่มเบิกฟ้า แต่เปลี่ยนชื่อใหม่เป็น ตื่นเถิดเยาวชน[57] ไปจนถึงเข้มข้นเอียงซ้าย อย่างชัดเจน เช่น ชีวทัศน์หนุ่มสาว ที่จัดพิมพ์ในปี 2519 โดยพี่น้องแสงธรรม[58], ทัศนคติชีวิตที่ก้าวหน้า ที่พิมพ์โดย กลุ่มพัฒนาวัฒนธรรม[59], บทความเรื่อง “อุปสรรคแห่งความก้าวหน้าของเยาวชนปฏิวัติ” ในหนังสือ นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ ของ กลุ่มรามคำแหงเสรี[60], เสริมทฤษฎี ของ ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์[61], คิดอย่างเยาวชนใหม่ ของ กลุ่มหนังสือตะวันแดง[62]

บทความ “ปัญหาโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้องของเยาวชน” ของ สุวัฒน์ ศรีวิจิตร และ “ภาระหน้าที่ของเยาวชน” ของ อนุช อาภาภิรม ใน ความคิดทางสังคม ที่พิมพ์ในปี 2518[63], ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง ของ ฤดี เริงชัย[64], ชีวทัศน์เยาวชน[65], แด่เยาวชน ของ ชมรมหนังสือแสงดาว[66], เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก ของ แสงเสรี[67], ทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ของ อารยา แสงธรรม และ พิทักษ์ ชัยสูงเนิน[68] และ เยาวชนใหม่ ของ นวชน วัฒนชัย[69] เป็นต้น

ต้องกล่าวว่าผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดพิมพ์หนังสือที่ว่าด้วย “โลกทัศน์-ชีวทัศน์เยาวชน” ออกมาเป็นจำนวนมากนี้คือ พคท. โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ที่เคลื่อนไหวอยู่ในเมือง โดยในจำนวนนี้ต้องถือว่า อนุช อาภาภิรม มีบทบาทสำคัญอย่างมาก เนื่องจากเขาเป็นบรรณาธิการ วิทยาสาร อันเป็นนิตยสารที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อนักเรียนและนักศึกษามาตั้งแต่ก่อนกรณี 14 ตุลาคม 2516[70] และเป็น “สมาชิกพรรคระดับสูงในกรุงเทพก่อน 6 ตุลาอีกคนหนึ่ง”[71]

การเขียนงานโดยใช้ “ภาษาธรรมดาๆ” และ “ไม่ใช่ภาษาของ พคท.” ของเขา ทำให้ความคิดของนักกิจกรรมนักศึกษาจำนวนมากเคลื่อนย้ายไปในทิศทางของ พคท. เพราะเมื่อพวกเขาอ่านมันก็จะยอมรับความคิดของอนุชได้อย่างง่ายๆ โดยไม่รู้ว่างานเขียนเหล่านั้นถูกเขียนขึ้นจากอุดมการณ์ของคอมมิวนิสต์[72]

อาทิเช่น ใน โลกทรรศน์เยาวชน อนุชเพียงแต่ให้คำแนะนำด้วยภาษาง่ายๆ ว่า เยาวชนจะต้อง “มีความรักที่เป็นวิทยาศาสตร์” และ “เลิกมีความรักที่มืดบอดตามหัวใจและอารมณ์” และอธิบายว่า “ความรักที่เป็นวิทยาศาสตร์ คือ ความรักที่ถือเอาความใกล้เคียงทางความสำนึกทางการเมืองและสังคม และเป้าหมายของชีวิตเป็นสำคัญ ไม่ถือเอาเรื่องของใกล้เคียงด้านของสถานที่ ด้านที่รสนิยมคล้ายกัน หรือด้านที่มีรูปร่างตรงกับความพึงพอใจของตนเป็นที่ตั้ง ผู้ที่มีความรักอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ก็จะดูเรื่องฐานะทางเศรษฐกิจและสังคม ตรวจสอบความสำนึกทางการเมืองและสังคมว่าไปด้วยกันได้หรือไม่ มีเป้าหมายของชีวิตคล้ายคลึงกันหรือไม่เป็นเอก เรื่องอื่นเป็นรอง ผู้ที่มีความรักอย่างเป็นวิทยาศาสตร์จะมีความรักอย่างตรงกับความเป็นจริง ไม่เหมือนผู้ที่มีความรักอย่างมืดบอดตามอารมณ์”[73]

นอกจากจะมีเป้าหมายที่เข้มข้นและชัดเจนหรือมีชื่อที่คล้ายกันๆ แล้ว หนังสือที่มีลักษณะคล้ายกับ “คู่มือ” ในการดัดแปลง “ชีวทัศน์” ของตนเองสำหรับเยาวชนคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าเหล่านี้ ยังมีเนื้อหาและการวางโครงเรื่องที่คล้ายกันด้วย คือมักจะจัดเรียงหัวข้อโดยเริ่มจาก “คนเรามีชีวิตอยู่เพื่ออะไร”, “ความเร่าร้อนในการทำงานมาจากไหน”, “นิทานเรื่อง ขนมพันครัว”, “ปฏิบัติต่อข้อบกพร่องและความผิดพลาดอย่างไร”, “เผชิญความยากลำบาก พิชิตความยากลำบาก”, “อย่าปล่อยให้เวลาผ่านไปโดยไร้ประโยชน์”, “เป็นคนต้องซื่อตรง ต้องถ่อมตัว”, “มิตรภาพเป็นสิ่งล้ำค่า”, “ความรัก การแต่งงานและครอบครัว” และ “พูดถึงเรื่องอารยธรรม” ตัวอย่างเช่น คิดอย่างเยาวชนใหม่ ของ กลุ่มหนังสือตะวันแดง, เยาวชนใหม่ ของ นวชน วัฒนชัย และ แด่เยาวชน ของ ชมรมหนังสือแสงดาว เป็นต้น

ขณะที่เล่มอื่นๆ แม้ว่าจะตัดบางหัวข้อออกไปหรือเพิ่มหัวข้ออื่นๆ เข้ามา และเรียงลำดับหัวข้อไม่เหมือนกับหนังสือ 3 เล่มนี้ แต่โดยรวมแล้วก็มีเนื้อหาไม่ต่างกันมากนัก และที่สำคัญก็คือหนังสือทุกเล่มมักจะมีหัวข้อที่ว่าด้วย “ความรัก การแต่งงานและครอบครัว” ปรากฏอยู่เสมอ เช่น บทความเรื่อง “ปัญหาโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้องของเยาวชน” ของ สุวัฒน์ ศรีวิจิตร ที่ให้คำอธิบายความหมายของคำว่า “โลกทัศน์” และ “ชีวทัศน์” รวมทั้งกล่าวถึง “ปัญหาชีวทัศน์ที่เป็นภาระถ่วงเรา” ว่ามี 5 อย่างคือ ปัญหาครอบครัว, ปัญหาการเรียน, ปัญหาความรัก, ปัญหาอาชีพ และปัญหาสุขภาพ โดยเนื้อหาของหัวข้อ “ปัญหาความรัก” นั้นคล้ายคลึงกับหนังสือทั้ง 3 เล่มข้างต้น[74] 

การปฏิวัติทัศนะเรื่องความรักก่อนกรณี 6 ตุลาฯ

ภายใต้กระแสการเรียกร้องให้เยาวชนคนหนุ่มสาวเร่งดัดแปลง “โลกทัศน์-ชีวทัศน์” ให้ก้าวหน้าขึ้นครั้งใหญ่นี้ ทัศนะว่าด้วย “ความรัก” ได้กลายเป็นประเด็นที่สำคัญอย่างมากที่เยาวชนคนหนุ่มสาวถูกเรียกร้องให้มีการดัดแปลง โดยในช่วงเวลานั้นได้มีการตีพิมพ์งานเขียนเกี่ยวกับ “ความรัก” ออกมาเป็นจำนวนมากในช่วงไม่กี่ปีภายหลังกรณี 14 ตุลาฯ ซึ่งแสดงให้เห็นอิทธิพลทางความคิดของ พคท. ในขบวนการนักศึกษาฝ่ายซ้ายอย่างชัดเจนและเปิดเผยตรงไปตรงมาทั้งในแง่ทฤษฎีและวิธีการในการปรับปรุงตนเองให้สอดคล้องกับทฤษฎีให้มากที่สุด ดังจะเห็นว่า เพียงหนึ่งปีหลังกรณี 14 ตุลาฯ กลุ่ม “ดรุณีเหล็ก” ก็ได้นำเอาหนังสือ สารแด่นิด ของ อุดม สีสุวรรณ ที่ พคท. จัดพิมพ์ขึ้นในปี 2500 มาพิมพ์ซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 2 เนื่องในวัน “เยาวชน-ประชาชนปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2517”[75]

จากนั้นกลุ่ม “ดรุณีสยาม” ก็นำเอาหนังสือ สารแด่นิด มาพิมพ์ซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 3 เนื่องในวันสตรีสากล 8 มีนาคม 2519[76] และ “ชมรมหนังสือน้ำแข็ง” ก็นำมาพิมพ์ซ้ำอีกเป็นครั้งที่ 4 ในปี 2521[77] 

จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า พวกเขา, โดยเฉพาะนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายผู้จัดพิมพ์ สารแด่นิด ในปี 2517 และปี 2519, ได้ออกมาแสดงการขานรับต่อทฤษฎี “สังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา” ของ พคท. อย่างเปิดเผย อีกทั้งยังใช้ทฤษฎีดังกล่าวมาอธิบายเรื่อง “ความรัก” ด้วย ดังเช่นในข้อเขียนที่ชื่อ “รักอย่างไรจึงเป็นรักที่ถูกต้อง” ของ “ดรุณี เหล็กเพชร” ใน สารแด่นิด ที่จัดพิมพ์ในปี 2517 ที่ว่า

“เพื่อนหนุ่มสาวที่รัก…มีแต่มองปัญหาความรักทางเพศให้สอดคล้องกับปัญหาความรักทางสังคมด้วยโลกทรรศน์และชีวทรรศน์ของมวลมหาประชาชนผู้ใช้แรงงานเท่านั้น จึงจะสามารถมองได้อย่างแจ่มชัดและถูกต้อง ! มีแต่การนำความรักทั้งมวลไปมอบให้ประชาชน นำความเคียดแค้นชิงชังทั้งมวลไปฟาดฟันศัตรูของประชาชนเท่านั้น จึงจะมีชีวิตที่รุ่งโรจน์ มีอนาคตที่แจ่มจรัส เพราะประชาชนเป็นผู้สร้างทุกสิ่งทุกอย่าง เป็นผู้ยึดกุมสัจธรรม ประชาชนสามารถเอาชนะธรรมชาติและดัดแปลงธรรมชาติได้ด้วยสองมืออันทรงพลัง และระบบสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาที่กินคนและเน่าเฟะในปัจจุบัน จักต้องถูกโค่นล้มและบดขยี้ให้แหลกยับไปด้วยสองมือที่ทรงพลังของมวลมหาประชาชนเช่นกัน ! เยาวชน, สตรี และประชาชนผู้ใช้แรงงานจักเป็นผู้ชี้ขาดและกำชัยชนะไว้ได้ในที่สุด !”[78]

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ในช่วงไม่กี่ปีภายหลังกรณี 14 ตุลาฯ ทฤษฎี “กึ่งเมืองขึ้น กึ่งศักดินา” ของ พคท. ได้ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลทางความคิดเหนือขบวนการนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายมากกว่าทฤษฎีการเมืองใดๆ บางตอนของข้อความข้างต้นที่ว่า “ระบบสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินาที่กินคนและเน่าเฟะในปัจจุบัน จักต้องถูกโค่นล้มและบดขยี้ให้แหลกยับไป” เป็นประจักษ์พยานที่ชัดเจน ไม่เพียงเท่านั้น ในช่วงไม่กี่เดือนก่อนที่กรณี 6 ตุลาฯ จะเกิดขึ้น การนำเสนอความคิดเรื่อง “ความรัก” ของนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายจะยิ่งมีลักษณะ “ซ้าย” แบบ พคท. มากขึ้นด้วย คือวิพากษ์ทั้งความรักแบบศักดินาและแบบนายทุน (ตามทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา) รวมทั้งมีลักษณะที่เรียกร้องให้เร่งรีบดัดแปลง “ความรัก” ให้ถูกต้องด้วย ดังจะเห็นได้ใน “ปัญหาความรัก (ทางเพศ)” ของ “ดารา ส่องแสงจันทร์” ซึ่งเป็น “คำนำ” ของหนังสือ สารแด่นิด ฉบับปี 2519 ที่ว่า

“ความรักเป็นความรู้สึกผูกพันธ์ใกล้ชิดอย่างตราตรึงฝังลึกและคุโชน ในสังคมที่มีชนชั้น ความรักย่อมถูกตีไว้ด้วยตราแห่งชนชั้น หรือมีลักษณะทางชนชั้น เช่น ความรักแบบศักดินาถือหลักคลุมถุงชน ความรักแบบชนชั้นนายทุนถือหลักเลือกหาคู่ครองตามผลประโยชน์ส่วนตัว และความรักของชนชั้นกรรมาชีพ ถือหลักเลือกคู่ครองบนพื้นฐานของผลประโยชน์ประชาชนส่วนข้างมากที่สุด ความรักจึงเป็นเรื่องทั้งของส่วนตัวและของชนชั้น ปัญหาความรักที่เกิดขึ้นที่สำคัญคือ แก้ปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างเรื่องส่วนตัวและเรื่องทางชนชั้นของความรักไม่ตก[79]

ผู้ที่มีปัญหาความรักหนักหน่วงจนแก้ไม่ตก สรุปก็คือเป็นผู้ที่ยกเอาความรักส่วนตัวอยู่เหนือผลประโยชน์ทางชนชั้น นั่นคือผลประโยชน์ของประชาชนอันกว้างไพศาล คือผู้ที่กำลังดำเนินชีวิตอย่างมืดบอด และกำลังตกต่ำลง ฉะนั้นควรรีบแก้ปัญหาความรักนี้เสีย มีความรักอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ คือมีความรักทางชนชั้น มีความรักต่อประชาชนอย่างแนบแน่น[80]

นอกจากการหันกลับไปเอา สารแด่นิด ของ อุดม สีสุวรรณ กลับมาพิมพ์ซ้ำแล้ว ในช่วงระหว่างปี 2516-2519 ในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนที่ได้รับอิทธิพลทางความคิดจาก พคท. ยังได้หันกลับไปหยิบเอานวนิยายของนักเขียนฝ่ายซ้ายในทศวรรษ 2490 กลับมาพิมพ์ซ้ำอีกหลายเล่มด้วย[81] โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บรรดานวนิยายที่นำเสนอทัศนะความรักที่ก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็น จนกว่าเราจะพบกันอีก ของ ศรีบูรพา ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในปี 2516 โดยฝ่ายวิชาการ สโมสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2517 โดยแนวร่วมจุฬา[82], ความรักของวัลยา ของ เสนีย์ เสาวพงศ์ ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในปี 2517 โดยฝ่ายวิชาการ สจม., ในปี 2517 โดยแนวร่วมจุฬา และในปี 2518 โดยชมรมหนังสือบัวแดง, พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก ที่ถูกนำมาพิมพ์ในปี 2518 โดย “กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต”[83]และเรื่องสั้นชื่อ “พบ ‘ศรี ประชา’ ที่ปักกิ่ง” ของ สุวัฒน์ วรดิลก ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในหนังสือที่ชื่อ นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ โดย “กลุ่มรามคำแหงเสรี” ในปี 2517[84] ไปจนถึง ปีศาจ ที่ถูกนำมาพิมพ์ซ้ำในปี 2517 โดยแนวร่วมนักศึกษาภาคเหนือ, ในปี 2518 โดยแนวร่วมจุฬาฯ กับกลุ่มนิติธรรม คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ, ปี 2518 โดยชมรมหนังสือบัวแดง และพิมพ์ซ้ำอีกครั้งในปี 2519 โดยสภานักศึกษาวิทยาลัยครูธนบุรี[85] 

เล่มหลังสุดนี้ กล่าวกันว่าเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนหัวก้าวหน้าภายหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 อย่างมากถึงกับ “กลายเป็นหนึ่งในนวนิยายที่คนหนุ่มสาวต้องพกพาคู่กับ คติพจน์เหมาเจ๋อตง”[86] ขณะที่บทกวี “อันความรักแท้แน่ฉะนี้อยู่ที่ไหน” ของ นายผี (อัสนี พลจันทร) ที่เคยตีพิมพ์ใน อักษรสาส์น เมื่อปี 2492 ก็ถูกนำกลับมาพิมพ์ซ้ำใน สารแด่นิด ของ อุดม สีสุวรรณ เมื่อปี 2517 กลุ่ม “ดรุณีเหล็ก” เช่นกัน[87]

หนังสือ สารแด่… นิด

เป็นความจริงที่ว่าในช่วงระหว่างกรณี 14 ตุลาคม 2516 จนถึงกรณี 6 ตุลาคม 2519 นั้น นอกจากอิทธิพลของ พคท. แล้ว ทัศนะความรักที่ก้าวหน้าในนวนิยายของนักคิดนักเขียนฝ่ายซ้ายนอก พคท. ในทศวรรษ 2490 บางคนก็ได้ถูก “รวี โดมพระจันทร์” ซึ่งในเวลานั้นถือว่าเป็นผู้ปฏิบัติงานในเมืองที่สำคัญอีกคนของ พคท. หยิบยกขึ้นมาเสนอเป็นต้นแบบของทัศนะความรักที่ก้าวหน้าให้แก่คนหนุ่มสาวในช่วงเวลานี้ด้วย “รวี โดมพระจันทร์” หรือ ยุทธพงศ์ ภูริสัมบรรณ เกิดวันที่ 15 พฤศจิกายน 2490 ที่จังหวัดพิจิตร ต่อมาย้ายไปจังหวัดพิษณุโลกตอนอายุ 8 ขวบ พ่อเป็นชาวจีนไหหลำ แม่เป็นคนไทยมีอาชีพค้าขายเล็กๆ น้อยๆ เขาเป็นลูก 1 ใน 8 คน ยุทธพงศ์เรียนประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ตำบลหนองปลาไหล อำเภอตะพานหิน จังหวัดพิจิตร จบมัธยมปลายที่โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคมในปี 2510 จากนั้นก็เข้าเรียนต่อที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ในปี 2511 เขาเข้าทำหนังสือพิมพ์ ธรรมจักร, ปี 2512 เป็นเลขาธิการศูนย์นิสิตนักศึกษาสังเกตการณ์การเลือกตั้ง, ปี 2513 เป็นผู้แทนประจำชั้น พอปี 4 ก็เป็นประธานนักศึกษาของคณะเศรษฐศาสตร์, ในช่วงปี 2514 มีการทำรัฐประหาร ยุทธพงศ์และเพื่อนนักศึกษาได้ทำการเคลื่อนไหวต่อต้านจึงถูกตำรวจเรียกตัวไปตักเตือน และในช่วงปี 2514 นี้เองที่เขาเริ่มอ่านหนังสือแนวก้าวหน้า เช่น ศิลปเพื่อชีวิต  ศิลปเพื่อประชาชน ของ จิตร ภูมศักดิ์ แคปิตัล ของ สุภา ศิริมานนท์ สังคมศาสตร์ปริทัศน์ และอื่นๆ[88]

ในปี 2515 ยุทธพงศ์สมัครเข้าเป็นสมาชิกพรรคตามคำชักชวนของผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ในปีเดียวกันเขาเขียน “ตื่นเถิดเสรีชน” ลงตีพิมพ์ในหนังสือ เศรษฐศาสตร์ ที่มี กมล กมลตระกูล เป็นบรรณาธิการ ด้วยนามปากกา “รวี โดมพระจันทร์” ที่เขาตั้งให้ตัวเองเป็นครั้งแรก ช่วงที่เกิดกรณี 14 ตุลาคม 2516 เขาเข้าร่วมโครงการบัณฑิตอาสาสมัครของ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ แล้วไปสอนหนังสือที่บ้านห้วยคลั่ง อำเภอบ้านโคล่ จังหวัดอุตรดิตถ์ และทำสารนิพนธ์ที่นั่นด้วย ขณะนั้นเขาไม่ได้ติดต่อกับ พคท. เลย ยุทธพงศ์เรียนจบในต้นปี 2517 ช่วงมีนาคม 2517 เขากลับมาที่กรุงเทพฯ และทำหนังสือ เอเชีย, เสียงใหม่, และ จัตุรัส ระหว่างอยู่ที่กรุงเทพฯ เขาได้กลับไปใกล้ชิดกับ พคท. อีกครั้งในปี 2517 คือ เข้าร่วมกับการชุมนุมแทบทุกครั้งและอยู่ภายใต้การชี้นำจาก พคท. เขาออกจากกรุงเทพฯ ตั้งแต่ 4 พฤศจิกายน 2519 เข้าป่าทางเขาค้อ ภูหินร่องกล้า เข้าลาว ไปจีนโดยตรง และเข้าไปทำงานใน สปท.[89] ในช่วงประมาณปี 2518 รวี โดมพระจันทร์ ได้กล่าวถึงทัศนะความรักที่ก้าวหน้าของ ศรีบูรพา ในนวนิยาย จนกว่าเราจะพบกันอีก ในหนังสือ พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน ของเขาว่า

ความรักของคนเรานั้นมีทั้งอย่างแคบและอย่างกว้าง รักอย่างแคบหมายถึงเฉพาะตน เฉพาะครอบครัวและวงศ์ตระกูล ส่วนรักอย่างกว้างหมายถึงรักประชามหาชน

ศรีบูรพาเป็นผู้หนึ่งที่สอนให้เรารู้จักความรักแบบกว้างซึ่งปรากฏในนวนิยาย ในข้อเขียนและคำพูดของเขา ในนวนิยาย “จนกว่าเราจะพบกันอีก” เขาได้ให้ตัวเอกสะท้อนความคิดออกมาว่า

“สิ่งที่เรียกว่าความรักระหว่างชายกับหญิงนั้น ถ้ามีก็เป็นแต่ความรักในวงแคบๆ นิดเดียว แนนซีได้มาสอนฉันให้รู้จักความรักที่แผ่กว้างออกไปในชุมนุมมนุษย์ ความรักที่พึงให้แก่มนุษย์ผู้เกิดมาอาภัพยากจนข้นแค้น ทั้งที่เขาเหล่านั้นก็มีความรู้สึกเหมือนๆ อย่างเราๆ ที่ได้ประสบโชคดีกว่าเขาเขาเหล่านั้น เมื่อเผชิญอากาศเยือกเย็นจัด ก็ต้องการเครื่องห่อหุ้มร่างกายเช่นเราเหมือนกัน เมื่อหิวโหยก็ต้องการอาหาร เมื่อเจ็บป่วยก็ต้องการการรักษาพยาบาลที่ถูกต้อง เมื่อถูกกระสุนปืนก็หลั่งเลือดด้วยทุกข์ทรมาน และเมื่อตายก็เรียกน้ำตาและโศกาอาดูรจากคนรักของเขา…”

นวนิยายของเขาอีกหลายเรื่องก็กล่าวในทำนองนี้อยู่เหมือนกัน คือความรักต่อประชาชนผู้ยากไร้ และต้องการให้โลกใหม่ที่เป็นของประชาชนปรากฏเป็นจริงขึ้นมาในที่สุด ไม่เพียงแต่ศรีบูรพาเท่านั้นที่สอนให้เราได้รู้จักความรักประเภทนี้ เรายังมีนักรบประชาชนในด้านหนังสือพิมพ์ การประพันธ์ ครู ฯลฯ อีกหลายคน อาทิเช่น เสนีย์ เสาวพงศ์, อิศรา อมันตกุล, รมย์ รติวัน, นายผี, กวี การเมือง และ เปลื้อง วรรณศรี เป็นต้น[90]

ในบรรดานวนิยายของปัญญาชนฝ่ายซ้ายรุ่นทศวรรษ 2490 ที่ถูกนักศึกษาและปัญญาชนรุ่น 14 ตุลาฯ นำกลับมาพิมพ์ใหม่นี้ พิราบแดง ของ สุวัฒน์ วรดิลก เป็นอีกเล่มที่มีอิทธิพลต่อนักศึกษาหัวก้าวหน้าไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความคิดเกี่ยวกับความรักที่ก้าวหน้า สุวัฒน์ถูกจับในต้นปี 2501 ขณะที่เขียน พิราบแดง ไปได้เพียง 6 ตอน จากนั้นจึงเขียนต่อจนจบ แต่ พิราบแดง ฉบับสมบูรณ์ถูกพิมพ์เป็นครั้งแรกในปี 2518 โดย “กลุ่มวรรณกรรมเพื่อชีวิต” ซึ่งพยายามเชื่อมโยงตัวละครเอกใน พิราบแดง เข้ากับตัวละครเอกใน ความรักของวัลยา และ ปีศาจ ด้วย ดังที่พวกเขากล่าวไว้ในคำนำว่า “พิราบแดง จะบินวนเวียน และร่อนปีกอย่างสวยงามในวงการวรรณกรรมไทยไปอีกนานทีเดียว ดูเหมือนว่า มันจะคาบข่าวคราวงานรวบรวมดนตรีไทยพื้นเมืองเพื่อชีวิตของวัลยา และงานบุกเบิกในชนบทของ ยง อยู่บางยาง, สาย สีมา-รัชนี, นิคม-กิ่งเทียน ฯลฯ มาให้แก่วงวรรณกรรมด้วย ถึงพวกเขาเหล่านั้นจะแก่เฒ่าชราหรือตายไปบ้างแล้ว ลูกหลานของพวกเขา ก็คงยังอยู่กระมัง”[91]

วรรณกรรมเรื่อง ปีศาจ เขียนโดยเสนีย์ เสาวพงษ์ (นามปากกาของศักดิ์ชัย บำรุงพงษ์) ภาพจาก http://www.bookeden.org/product/

ในช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อนักศึกษา “กลุ่มรามคำแหงเสรี” จัดพิมพ์ นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ ในปี 2517 นอกจากจะพยายามแนะนำบุคคลที่ถือว่าเป็นแบบอย่างที่ดีของ “นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ” ที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นในจีน เวียดนาม หรือคิวบาแล้ว พวกเขายังได้จัดพิมพ์บทความชื่อ “อุปสรรคแห่งความก้าวหน้าของเยาวชนปฏิวัติ” ไว้ในภาคผนวกของหนังสือด้วย โดยบทความชิ้นดังกล่าวเสนอว่า “เยาวชน…เป็นกำลังสำคัญส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันการปฏิวัติ เพื่อปลดแอกให้กับมวลมนุษยชาติ เนื่องจากความเร่าร้อน รักเหตุผล และรักความยุติธรรม ทำให้เยาวชนสามารถก้าวเข้าสู่กระแสคลื่นการปฏิวัติได้อย่างรวดเร็ว แต่ในขณะเดียวกัน จุดอ่อนทางชนชั้นของเยาวชนปัญญาชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนายทุนน้อย คอยฉุดรั้ง และกอดแข้งกอดขาไว้ ไม่ให้ก้าวหน้าต่อไป…มักแสดงออกใน 3 ปัญหาคือ ปัญหาครอบครัว…ปัญหาการเรียน…ปัญหาความรัก”[92] สำหรับความคิดที่ถูกต้องเกี่ยวกับความรักที่เยาวชนควรยึดถือเป็นแนวปฏิบัตินั้น บทความเสนอว่า

ความรักจะต้องตั้งอยู่บนรากฐานของเหตุผล ความเสียสละ และที่สำคัญจะต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานอุดมการทางการเมืองที่ตรงกันด้วย การกำหนดจุดยืนในปัญหานี้ให้ดี เป็นปมเงื่อนสำคัญอย่างยิ่งในการแก้ปัญหาความรัก แต่ในปัจจุบัน ขณะที่กระแสคลื่นแห่งการต่อสู้ของมวลชนกำลังคึกคัก และก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง เยาวชนทั้งหลายควรคำนึงถึงปัญหาความรักให้น้อย ตัดสินใจเด็ดเดี่ยว อุทิศชีวิต และพลังความสามารถในวัยอันมีชีวิตชีวานี้ให้แก่งานปฏิวัติให้เต็มที่ และควรยึดจิตใจเสียสละอันสูงส่ง น่าสรรเสริญอย่างยิ่ง 3 อย่างคือ “อย่าเพิ่งมีความรัก…อย่าเพิ่งแต่งงาน…อย่าเพิ่งมีบุตร” แน่นอน…เยาวชนที่ก้าวหน้าทุกคนอาจยืนหยัดในปัญหานี้ได้ในระดับต่างๆ กัน แต่การเรียกร้องและเข้มงวดต่อตัวเองเช่นนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้ว โดยเฉพาะในภาวะที่เราเป็นเยาวชน อนาคตข้างหน้าก็ยังอีกยาวไกล ในสังคมใหม่ จะเกิดบุคคลใหม่ๆ ที่น่ารักอีกมากมายทีเดียว

สำหรับเยาวชนทั่วๆ ไปที่ยังไม่ก้าวหน้า และคิดจะมีคนรัก โดยพื้นฐานแล้ว ทรรศนะความรักยังไม่แจ่มชัด เพราะในความเป็นจริงแล้ว บุคคลประเภทใดเล่าที่เป็นคนดีที่สุด น่ารักที่สุด เราควรจะใช้สายตาทางชนชั้นมาวิเคราะห์ให้ดี และแน่นอนที่สุด ไม่ว่าจะกรณีใดก็ตาม เราจะต้องมีจุดยืนที่ถูกต้อง และแจ่มชัดว่า เยาวชนที่ก้าวหน้า จะต้องให้ความรักของเราขึ้นต่องานปฏิวัติ ให้ทุกสิ่งทุกอย่างเริ่มต้นจากผลประโยชน์ของงานปฏิวัติ ต้องรู้จักนำความรักมาเป็นแรงผลักดันงานปฏิวัติ มารับใช้งานปฏิวัติ ไม่ใช่กลายเป็นอุปสรรคขัดขวางจนไม่กล้าทำการปฏิวัติและละทิ้งการปฏิวัติ[93]

ขณะที่หนังสือ เสริมทฤษฎี ของ “ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์” ซึ่งจัดพิมพ์ในปี 2518 นั้น ได้กล่าวถึงเหตุผลของการจัดพิมพ์หนังสือเล่มดังกล่าวว่า “การต่อสู้ของประชาชนที่ปฏิวัติรักเอกราช ประชาธิปไตย ในเหตุการณ์ 14 ตุลานั้น ถึงแม้ว่าชัยชนะของประชาชนจะถูกช่วงชิงไป แต่สัจจธรรมของประชาชนก็ได้นำออกเผยแพร่อย่างกว้างขวางระดับหนึ่ง ประชาชนได้ศึกษาถึงการกดขี่ขูดรีดของจักรวรรดินิยม อันสมคบกับศักดินานิยม ทุนนิยมขุนนาง ที่มีต่อพวกเขา…นอกจากนี้ ประชาชนยังได้มีโอกาสที่จะศึกษาทฤษฎีที่ปฏิวัติ ติดอาวุธความคิดปฏิวัติ…เรียนรู้และยอมรับว่า การที่จะได้มาซึ่งสังคมที่แสนดีนั้นย่อมได้มาจากการนำของพรรคที่ติดอาวุธทฤษฎีปฏิวัติ มีกองทัพที่ปฏิวัติ และมีแนวร่วมอันกว้างขวาง” และอีกเหตุผลหนึ่งก็คือ เพื่อให้นักกิจกรรมได้ “ศึกษาทฤษฎีที่ถูกต้อง นำไปปฏิบัติให้ถูกต้องและนำไปตีโต้ทฤษฎีปฏิวัติจอมปลอม ลัทธิแก้”[94] ส่วน “โลกทัศน์” และ “ชีวทัศน์” ในด้าน “ความรัก” ของนักกิจกรรมหนุ่มสาวที่ควรจะเป็นนั้น หนังสือ เสริมทฤษฎี ได้เรียกร้องนักกิจกรรมหนุ่มสาว “ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตนเองให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ แก้ไขท่าทีและทัศนะที่ไม่ถูกต้อง ขจัดซากเดนความคิดเก่าๆ ที่หลงติดค้างอยู่ให้หมด”[95] 

และที่สำคัญก็คือจะต้อง “ชูธงชีวิตรวมหมู่ เพื่อขจัดปัญหารักเสรี”[96] เพราะ “ความรักที่ถูกต้อง” นั้นมีลักษณะสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ “ความรักที่มาจากการดำเนินการผลิตร่วมกัน มิใช่มาจากการเสพสุข หรือร่วมกันบนชีวิตของคนอื่น” และ “ความรักเพื่อการดำเนินการต่อสู้ทำลายผู้กดขี่ร่วมกัน มิใช่เพื่อดำรงการกดขี่อยู่ต่อไป” และการที่จะเข้าถึงความรักเช่นนี้ได้ก็มีแต่จะต้องเข้าไปเรียนรู้จากประชาชนเท่านั้น[97]

หนังสือ เสริมทฤษฎี ของ “ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์” 

ชีวทัศน์หนุ่มสาว ซึ่งจัดพิมพ์ในปี 2519 โดย พี่น้องแสงธรรม เป็นหนังสืออีกเล่มที่สำคัญไม่น้อย เพราะนอกจากจะเป็นเอกสารที่ใช้ศึกษาทัศนะความรักภายใน พคท. แล้ว[98] ก็ยังเป็นหนังสืออีกเล่มที่เสนอคำแนะนำเกี่ยวกับการมี “ความรักที่ถูกต้อง” ให้แก่เยาวชนคนหนุ่มสาวหัวก้าวหน้าในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ด้วย โดยนำเสนอเป็นข้อๆ ดังนี้

(ก) “ความรักไม่ใช่สิ่งสำคัญที่สุดในชีวิต” แต่คือ “การทำความดี การสร้างสังคม สร้างบ้านเมือง สร้างโลกให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า” ต่างหาก,

(ข) “จะรักคนอย่างไร” ซึ่งแนะนำว่า “เราเป็นเยาวชนที่ก้าวหน้า เรามีชีวทัศน์ที่ดีงามสูงส่ง เราจะสร้างประเทศสร้างโลกให้เจริญ ดังนั้น เราก็ควรจะมีคนรักที่มีจิตใจเหมือนกัน มีชีวทัศน์ดีงามเหมือนกัน เราไม่ควรจะรักเพราะเขามีเงินมากหรือเพราะเขาสวย หากควรจะรักเพราะเขาเป็นคนดี ทำความดี…เป็นคนก้าวหน้ากล้าหาญและก็รักเรา เช่นนี้จะทำให้เรามีความสุขมากกว่ายืนนานกว่าคนที่งามแต่ล้าหลัง”

(ค) “จะรักอย่างไร” ซึ่งแนะนำว่า “เราควรจะรัก โดยทำให้เราเองและผู้ที่เรารักมีความสุขก้าวหน้าไปด้วยกัน ในสังคมเก่า สามีภรรยาน้อยคู่นักที่จะรักกันอย่างถูกต้อง เราเป็นบุคคลผู้ก้าวหน้าแล้ว เราควรจะสร้างความรักที่ถูกต้องให้เป็นแบบอย่างของผู้อื่น”

(ง) “ความรักไม่ใช่ความใคร่” และ (จ) “แต่งงานเมื่อไหร่จึงจะดี” ซึ่งแนะนำว่า “การแต่งงาน ไม่ควรทำให้ชีวิตถอยหลัง หากควรจะช่วยให้ก้าวหน้า ก่อนจะแต่งงานเราควรจะถามตัวเองว่าพร้อมแล้วหรือยังที่จะก้าวเข้าสู่ชีวิตครองเรือน…เพื่อไม่ให้ชีวิตการแต่งงานของเรามีแต่ความยุ่งยาก ความทุกข์ หรือกลายเป็นเครื่องถ่วงไม่ให้ก้าวหน้า…เราไม่ควรรีบร้อนแต่งงาน โดยเฉพาะผู้ที่ยังอายุน้อยๆ ระหว่าง 18 – 22 นั้นยังผ่านชีวิตมาน้อยมาก ยังไม่เป็นผู้ใหญ่พอ ยังไม่รู้จักอดทน เสียสละ ให้อภัยเพียงพอ…ความรักและการแต่งงานเป็นเรื่องสำคัญ เราจัดการเรื่องนี้ได้ถูกต้องชีวิตจะสดชื่นก้าวหน้า ตรงกันข้าม ถ้าจัดการเรื่องนี้ไม่ถูกต้อง ชีวิตจะยุ่งเหยิงเดือดร้อนไม่ก้าวหน้า”[99]

หนังสืออีกเล่มที่ควรกล่าวถึงในที่นี้เป็นอย่างยิ่งคือ ชีวทัศน์เยาวชน เนื่องจากเป็นที่นิยมกันอย่างมากในหมู่นักศึกษาฝ่ายซ้ายในช่วงหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ดังที่ จิระนันท์ พิตรปรีชา เล่าว่า ชีวทัศน์เยาวชน ถือกันว่าเป็น “คัมภีร์เล่มฮิตของบรรดาฝ่ายซ้ายในเมือง” โดยจิระนันท์เข้าใจว่าผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ อุดม สีสุวรรณ[100] แต่จิระนันท์น่าจะเข้าใจผิดมากกว่า เนื่องจากไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่าอุดมเป็นผู้เขียนหนังสือเล่มนี้จริง ขณะเดียวกัน ก็ไม่เป็นที่แน่ชัดด้วยว่าใครคือผู้เขียน ชีวทัศน์เยาวชน ที่แท้จริง แต่มีความเป็นไปได้สูงที่ว่าแท้จริงแล้ว ชีวทัศน์เยาวชน จะเป็นเอกสารภายในของ พคท. ดังที่ แคน สาริกา เล่าว่าในการอบรมเรื่อง “ความรัก” ในขบวนการปฏิวัติที่โรงเรียนการเมืองการทหารในช่วงหลังกรณี 6 ตุลาคม 2519 “ฝ่ายการเมืองในกองทหารหญิงจะมีการอบรมเรื่องนี้อย่างหนักด้วยเอกสารที่ชื่อว่า ‘ชีวทัศน์เยาวชน'”[101]

หนังสือ ชีวทัศน์เยาวชน

ขณะที่ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ยืนยันว่า ชีวทัศน์เยาวชน เป็น “เอกสารภายในของ พคท.” ที่ถูกนำมาเผยแพร่ในเมืองอย่างเปิดเผยในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516[102] และยิ่งเมื่อพิจารณาข้อเสนอเรื่อง “ความรัก” ก็ยิ่งจะเห็นได้ชัดเจนว่า ชีวทัศน์เยาวชน ต้องเป็นเอกสารภายในของ พคท. อย่างแน่นอน กล่าวคือ นอกจากผู้เขียนจะเริ่มด้วยการระบุว่า “ปัจจุบัน สังคมไทยเป็นสังคมกึ่งเมืองขึ้นกึ่งศักดินา”[103] ยังได้เปิดฉากวิพากษ์วิจารณ์ความรักในสังคมศักดินาอย่างรุนแรงด้วยว่า “สังคมศักดินาสอนให้ข้าราชบริพารต้องเชื่อเจ้าขุนมูลนาย ลูกต้องเชื่อพ่อ เมียต้องเชื่อผัว…สังคมศักดินา ถือว่าความรักที่ถือตามหลักการสมัครใจ เป็นสิ่งที่น่าบัดสี ลูกที่ดีต้องฟังคำสั่งของพ่อแม่ พ่อแม่ให้แต่งงานกับใครก็ต้องแต่งกับคนนั้น จะคัดค้านไม่ได้ และพ่อแม่จะให้ลูกแต่งงานกับใคร ก็มักจะถือเอาทรัพย์สมบัติยศศักดิ์ชื่อเสียงของผู้นั้นเป็นหลัก แต่ไม่ถือเอาคุณงามความดีของเขาเป็นหลัก”[104]

เป็นความจริงที่ว่าตัวอย่างรูปธรรมของการที่กระแสความคิดของ พคท. ก้าวขึ้นมามีอิทธิพลอย่างมากต่อนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายไทยในช่วงไม่กี่ปีก่อน 6 ตุลาฯ นั้นน่าจะยังมีอีกมายมาย รูปธรรมที่ถูกหยิบขึ้นมากล่าวถึงทั้งหมดนี้ก็เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น อีกทั้งยังเป็นตัวอย่างรูปธรรมที่สามารถอภิปรายลงไปในรายละเอียดได้อีกมากมายไม่รู้จบ 

แต่กระนั้น ด้วยตัวอย่างรูปธรรมทั้งหมดที่ยกมาให้เห็นข้างบนนี้ ก็มากเพียงพอแล้วที่จะกล่าวว่าส่วนใหญ่ของนักศึกษาและปัญญาชนฝ่ายซ้ายในช่วงไม่กี่ปีก่อน 6 ตุลาฯ นั้นได้เปลี่ยนย้ายความคิดทางการเมืองจากที่ก่อนหน้านี้มีหลากหลายกระแสความคิดมาสู่การมีความคิดทางการเมืองที่สนับสนุนเห็นด้วยและอยู่ภายใต้อิทธิพลของ พคท. แล้ว และสิ่งที่พวกเขาโหยหาต้องการในเวลานั้นก็คือ การปฏิวัติเพื่อสร้างสรรค์ “สังคมใหม่” ขึ้นมา

บทส่งท้าย: ทำไมต้อง “เลิกรำลึก 6 ตุลาเสียได้คงดี”

ในท้ายที่สุดนี้ คงเป็นการดีที่ผู้เขียนจะขอหยิบยกเอาข้อเสนอของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุลว่าด้วยการจัดงานรำลึก 6 ตุลาฯ มากล่าวถึงอีกครั้ง อย่างน้อยก็เพื่อเป็นการตอกย้ำว่าแม้เวลาจะผ่านไปนานถึง 20 กว่าปีแล้วก็ตาม แต่ข้อเสนอนี้ก็ยังคงไม่ถูกให้ความสำคัญเท่าที่ควร

ข้อโต้เถียงที่ว่า 6 ตุลาฯ ควรนำมารับใช้การต่อสู้ทางการเมืองในปัจจุบัน ซึ่งมีประโยชน์มากกว่าการพยายามยึดมั่นอยู่กับการค้นหาและนำเสนอความจริงเฉพาะในวงแคบๆ ยังคงถูกพูดถึงทุกปีและถูกยอมรับโดยคนในวงกว้างมากขึ้นเรื่อยๆ ขณะที่การเสนอให้รำลึกถึง 6 ตุลาฯ ด้วยการพูดถึงเจตนารมณ์และความคิดฝันทางการเมืองที่แท้จริงของผู้คนในยุคนั้น กลับแผ่วเบาและเงียบหายโรยราไปตามกาลเวลา ตามสถานการณ์ทางการเมืองและตามอายุขัยของผู้ที่เสนอมัน เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในบทความ “เลิกรำลึก 6 ตุลาเสียได้คงดี” ที่เผยแพร่ใน มติชนรายวัน ฉบับเดือนตุลาคม 2544 สมศักดิ์เสนอว่า 

ความจริงก็คือ บรรดาผู้ที่ผลักดันหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการ “รำลึก 6 ตุลา” ในปัจจุบัน เกือบทั้งหมด ไม่ได้เชื่อหรือเห็นด้วยกับอุดมการณ์ของขบวนการนักศึกษาเมื่อ 6 ตุลา 2519 อีกต่อไป (ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิดหรือแปลกแต่อย่างใด) โดยพื้นฐานแล้ว การ “รำลึก 6 ตุลา” จึงยังคงมีลักษณะของการ “สร้างที่ทาง” ให้กับ, หรือ “รับใช้” คนในปัจจุบันมากกว่า

“ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่ว่าควรให้เกียรติ (hornor) บรรดา “วีรชน” ที่เสียชีวิตจากการปราบเมื่อ 6 ตุลา แต่ผมเห็นว่าควรให้เกียรติพวกเขาในสิ่งที่พวกเขาเป็นในขณะนั้น ไม่ใช่ในสิ่งที่พวกเขาไม่ได้เป็น การ “ให้เกียรติ” แบบหลังเท่ากับเป็นการไม่ให้เกียรติเลย

อุดมการณ์ของ “คน 6 ตุลา” จริงๆ คือ “ประชาชนต้องเป็นใหญ่ในแผ่นดิน” คือความต้องการสถาปนา “ระบอบการปกครองใหม่” ที่แน่ๆ คือ ไม่ใช่ “ประชาธิปไตย” ในความหมายที่เข้าใจกันในปัจจุบัน

แต่สิ่งที่เรียกว่า “6 ตุลา” ที่ถูก “รำลึก” กันในหลายปีที่ผ่านมานี้ เป็นเพียง “ชื่อ” ที่ความหมายถูกถ่ายทิ้งออกหมด เป็นเพียง (ในลักษณะเดียวกันกับ 14 ตุลา) “ตราเกียรติยศ” (badge of hornor) อย่างหนึ่งสำหรับรณรงค์ในประเด็นทางการเมืองของปัจจุบันที่ไม่มีความเชื่อมต่ออะไรกับ 6 ตุลาเมื่อปี 2519”[105]

คงเห็นได้ชัดว่าตลอดบทความชิ้นนี้ ผู้เขียนเห็นด้วยกับข้อเสนอของสมศักดิ์เป็นสำคัญ แต่กระนั้น ผู้เขียนก็ยังมองว่าข้อเสนอของเขายังต้องมีการพิสูจน์ยืนยันด้วยหลักฐานทางประวัติศาสตร์ให้มากกว่านี้ ซึ่งนั่นก็เป็นภารกิจสำคัญที่ยังคงจะต้องทำกันต่อไป 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ประเด็นที่ว่า ในช่วงก่อน 6 ตุลานั้น ผู้ปฏิบัติงานของ พคท. ในเมือง มีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง และมีบทบาทสำคัญแค่ไหนเพียงใดต่อการเมืองไทยในช่วงเวลานั้นบ้าง สุดท้ายนี้ ผู้เขียนเห็นว่า ถึงแม้กรณี 6 ตุลาจะเป็นเหตุการณ์ที่ “ลืมไม่ได้ จำไม่ลง” ก็ตาม แต่เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าอดีตที่ “จำไม่ลง” นั้นจะตรงกันกับสิ่งที่มันเคยเกิดขึ้นจริงๆ ด้วยเหตุนี้ การจำมันได้อย่างถูกต้อง จึงสำคัญเช่นกัน


[1]อาจารย์ประจำภาควิชาประวัติศาสตร์ คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

[2]ดูใน https://web.facebook.com/share/p/A5LeqXezZgaZXeeR/

[3]ดูใน https://web.facebook.com/share/p/A5LeqXezZgaZXeeR/

[4] ประจักษ์ ก้องกีรติ, และแล้วความเคลื่อนไหวก็ปรากฏ: การเมืองวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนก่อน 14 ตุลา, กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2548.

[5] “พคท.” หมายถึง “พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” และตลอดบทความต่อจากนี้จะใช้คำว่า พคท. แทน

[6] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท.” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 9 ฉบับ 437 วันที่ 16-22 ตุลาคม 2543.

[7] ธงชัย วินิจจะกูล, “การเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของอดีต: ประวัติศาสตร์ใหม่ในประเทศไทยหลัง 14 ตุลาคม,” ใน สถานภาพไทยศึกษา: การสำรวจเชิงวิพากษ์, ฉัตรทิพย์ นาถสุภา และคณะ, บรรณาธิการ, เชียงใหม่: ตรัสวิน, 2543), หน้า 4. บทความชิ้นนี้แปลโดย กุลลดา เกษบุญชู ส่วนบทความในภาษาอังกฤษ ดูใน Thongchai Winichakul, “The Changing Landscape of the Past: New Histories in Thailand since 1973,” Journal of Southeast Asian Studies 26, 1996.

[8] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ชัยชนะของปัญญาชน 14 ตุลา (ตอนที่ 2: การเปลี่ยนประเด็นครั้งใหญ่),” ใน  รัฐประหาร 19 กันยา, กองบรรณาธิการฟ้าเดียวกัน, กรุงเทพฯ: ฟ้าเดียวกัน, 2550, หน้า 400.

[9] เกษียร เตชะพีระ, “วิจารณ์สมศักดิ์ เจียมฯ: มองต่างมุมซ้าย 14 – 6 ตุลาฯ”, [ออนไลน์], 2555,แหล่งที่มาhttp://www.facebook.com/photo.php?fbid=4610902633481&set=p.4610902633481&type=1 [11 กันยายน 2555] (facebook ส่วนตัวของ เกษียร เตชะพีระ)

[10] เกษียร เตชะพีระ, “รู้สึกแห่งยุคสมัย,” ใน มหาวิทยาลัยของฉัน, ประจักษ์ ก้องกีรติ (บรรณาธิการ), กรุงเทพฯ: องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2539, หน้า 46. อย่างไรก็ตาม ข้อเขียนชิ้นนี้ตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2526 โปรดดู องค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, รู้สึกแห่งยุคสมัย หนังสือต้อนรับเพื่อนใหม่ประจำปี พ.ศ. 2526, กรุงเทพฯ: ภาพพิมพ์, 2526. 

[11] เกษียร เตชะพีระ, “รู้สึกแห่งยุคสมัย,” หน้า 48 – 49.

[12] เกษียร เตชะพีระ, “วิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมในหมู่นักศึกษาและปัญญาชนไทย,” วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 (มกราคม – มีนาคม 2527), หน้า 78 – 79.

[13] เกษียร เตชะพีระ, “วิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย,” หน้า 78.

[14] เกษียร เตชะพีระ, “วิกฤตอุดมการณ์สังคมนิยมในหมู่นักศึกษาปัญญาชนไทย,” หน้า 81.

[15] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, กรุงเทพฯ: 6 ตุลารำลึก, 2544, หน้า 52.

[16] ฤดี เริงชัย, หยดหนึ่งในกระแสธาร, กรุงเทพฯ: มิ่งมิตร, 2539, หน้า 147-148.

[17] สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุงเล่ม 2 (ตอนปลาย), กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือแสงตะวัน, 2518, หน้า 595 – 662. ในหน้าก่อนหน้าสารบาญผู้จัดพิมพ์ระบุว่า “นิพนธ์เล่มนี้ทั้งตอนต้นและตอนปลายแปลจาก สรรนิพนธ์เหมาเจ๋อตุง เล่ม 2 จัดพิมพ์ครั้งที่ 1 ฉบับเรียงใหม่โดยสำนักพิมพ์ประชาชน ปักกิ่ง เมื่อเดือนสิงหาคมปี 1952 (พ.ศ. 2495) หมายเหตุซึ่งผนวกไว้ท้ายเรื่องแบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ หมายเหตุเดิมและหมายเหตุผู้แปล หมายเหตุเดิมใช้ตัวเลขไทย หมายเหตุผู้แปลใช้ตัวเลขอาหรับ”

[18] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (1),” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 1 (มกราคม – เมษายน, 2546) หน้า 156. 

[19] นภาพร อติวานิชยพงศ์, พัฒนาการความคิดเศรษฐศาสตร์การเมืองไทย ตั้งแต่ พ.ศ. 2475 – ปัจจุบัน, กรุงเทพฯ: สร้างสรรค์, 2531, หน้า 26. อุดม สีสุวรรณ เคยเดินทางไปจีนในช่วงที่กำลังเกิดสงครามจีน – ญี่ปุ่น ในฐานะอาสาสมัครเป็นพยาบาลให้กองทัพลู่ที่ 8 ของพรรคคอมมิวนิสต์จีนซึ่งกำลังทำสงครามกับญี่ปุ่นอยู่ที่เมืองเยนอาน ที่นั่น นอกจากอุดมจะสมัครเป็นสมาชิกของพรรคคอมมิวนิสต์จีนแล้ว เขายังได้ศึกษาลัทธิคอมมิวนิสต์และทฤษฎีการวิเคราะห์สังคมด้วย, ปี 2489 เมื่ออุดมเดินทางกลับเมืองไทย เขาได้เข้าร่วมทำหนังสือพิมพ์ มหาชน ของ พคท. โดยการชักนำของ พายัพ อังคสิงห์ ภายหลังการรัฐประหารในปี 2490 อุดมเริ่มเขียนไทยกึ่งเมืองขึ้น และนำออกตีพิมพ์ในรูปหนังสือเป็นครั้งแรกในปี 2493 ต่อมา “สำนักพิมพ์อักษร” ได้นำมาตีพิมพ์ใหม่ในปี 2522 และเปลี่ยนชื่อเป็น เส้นทางสังคมไทย

[20] อรัญญ์ พรหมชมภู, เส้นทางสังคมไทย, กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์อักษร, 2522.

[21] “แถลงการณ์ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยเนื่องในวันก่อตั้งพรรคครบรอบ 30 ปี”, ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 2 ฉบับที่ 4 (ตุลาคม – ธัวาคม 2547), หน้า 218.

[22] อุทิศ ประสานสภา, โต้ลัทธิแก้ไทย วิจารณ์แห่งวิจารณ์, กรุงเทพฯ: ประกายไฟลามทุ่ง, 2518, หน้า 53

[23] หอจดหมายเหตุมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, A 6/70, เอกสารชุดพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย, แถลงการณ์ รายงาน คำชี้แจงของ พคท. ในวาระต่างๆ เรื่อง “มติการประชุมคณะกรรมการกลาง พคท. ชุดที่ 3 ครั้งที่ 4”, หน้า 1 – 20.

[24] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, กรุงเทพฯ: คณะกรรมการรับข้อมูลและสืบพยานเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519, 2544, หน้า 116. และดูรายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องนี้ได้ใน สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “การชำระประวัติศาสตร์ 14 ตุลาภายใต้พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย” และ “เหมาเจ๋อตงกับขบวนการนักศึกษาไทย” ใน ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง, หน้า 45-89. และหน้า 90-95 ตามลำดับ.

[25] สมเกียรติ วันทะนะ, “ทศวรรษ 14 ตุลาฯ กับความเป็นอนิจจังของทฤษฎีกึ่งเมืองขึ้น-กึ่งศักดินา” ใน วารสารเศรษฐศาสตร์การเมือง ปีที่ 3 ฉบับที่ 3 (มกราคม – มีนาคม, 2527) หน้า 61.

[26] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท.” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 9 ฉบับ 437 วันที่ 16-22 ตุลาคม 2543.

[27] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ, กรุงเทพฯ: ไม่ระบุสำนักพิมพ์, 2562, หน้า 427-428.

[28] จรัล ดิษฐาอภิชัย, เกิดมาขบถ, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2566, หน้า 79-80.

[29] จรัล ดิษฐาอภิชัย, เกิดมาขบถ, หน้า 95.

[30] จรัล ดิษฐาอภิชัย, เกิดมาขบถ, หน้า 96.

[31] จรัล ดิษฐาอภิชัย, เกิดมาขบถ, หน้า 107.

[32] จรัล ดิษฐาอภิชัย, เกิดมาขบถ, หน้า 115.

[33] จรัล ดิษฐาอภิชัย, เกิดมาขบถ, หน้า 116.

[34] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, บทบันทึกคัดสรร พ.ศ. 2527-2540, กรุงเทพฯ: สามัญชน, 2542, หน้า 102.

[35] คงเจตน์ พร้อมนำพล, พิราบราม, กรุงเทพฯ: ตะวันแดง, 2546, หน้า 67.

[36] คงเจตน์ พร้อมนำพล, พิราบราม, หน้า 65.

[37] ชุติมา พญาไฟ, ปฏิวัติบนสายรุ้ง 14 ตุลา 2516-6 ตุลา 2519 บทเรียนที่แลกด้วยชีวิต, กรุงเทพฯ: แสงดาว, 2565, หน้า 137-150.

[38] ฤดี เริงชัย, หยดหนึ่งในกระแสธาร, หน้า 140.

[39] ฤดี เริงชัย, หยดหนึ่งในกระแสธาร, หน้า 145.

[40] ฤดี เริงชัย, หยดหนึ่งในกระแสธาร, หน้า 149-150.

[41] มาลาตี วงศ์สัตตบุษย์, ฝันเมื่อวันวาน, กรุงเทพฯ: ตะวันแดง, 2546, หน้า 17-18 และหน้า 44

[42] จิระนันท์ พิตรปรีชา, อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต, กรุงเทพฯ: แพรวสำนักพิมพ์, 2549, หน้า 49.

[43]ยกเว้นที่ระบุเป็นอย่างอื่น เนื้อหาในย่อหน้านี้และในอีก 2-3 ย่อหน้าต่อไปเรียบเรียงมาจาก สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ขบวนการ 14 ตุลา กับ พคท.” ใน เนชั่นสุดสัปดาห์ ปีที่ 9 ฉบับ 437 วันที่ 16-22 ตุลาคม 2543.

[44] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ, หน้า 430-431.

[45] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 68 – 74.

[46] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 75.

[47] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 76.

[48] ดูรายละเอียดของการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมของนักศึกษาและปัญญาชนดังกล่าวได้ใน สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 78.

[49] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 105 – 109.

[50] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 118.

[51] เสกสรรค์ ประเสริฐกุล, บทบันทึกคัดสรร พ.ศ. 2527-2540, หน้า 100.

[52] จิระนันท์ พิตรปรีชา, อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต, หน้า 50.

[53] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 119.

[54] คนึงนิตย์ ตั้งใจตรง, “ความคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงสังคมของขบวนการนักศึกษาไทยระหว่าง พ.ศ.2516-2519: ศึกษากรณีศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย,” วิทยานิพนธ์ปริญญาอักษรศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาประวัติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, 2530, หน้า 129.

[55] อนุช อาภาภิรม, หนุ่มสาวคือชีวิต, กรุงเทพฯ: วรรณศิลป์, 2517.

[56] อนุช อาภาภิรม, โลกทรรศน์เยาวชน, กรุงเทพฯ: ศูนย์สังคมนิทรรศน์, 2519.

[57] อนุช อาภาภิรม, ตื่นเถิดเยาวชน, กรุงเทพฯ: สรวุฒิการพิมพ์, 2522.

[58] ชีวทัศน์หนุ่มสาว, กรุงเทพฯ: พี่น้องแสงธรรม, 2519.

[59] กลุ่มพัฒนาวัฒนธรรม, ทัศนคติชีวิตที่ก้าวหน้า, ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.

[60] กลุ่มรามคำแหงเสรี, นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ, กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, 2517.

[61] ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์, เสริมทฤษฎี, กรุงเทพฯ: สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2518.

[62] กลุ่มหนังสือตะวันแดง, คิดอย่างเยาวชนใหม่, ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.

[63] สุวัฒน์ ศรีวิจิตร, “ปัญหาโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้องของเยาวชน” และ อนุช อาภาภิรม, “ภาระหน้าที่ของเยาวชน” ใน แผนกเอกสารสิ่งพิมพ์ ฝ่ายวิชาการ งานสังคมนิทรรศน์ เชียงใหม่-ลำพูน, ความคิดทางสังคม, เชียงใหม่: ม.ป.พ., 2518, หน้า 1-53 และหน้า 54-73. ตามลำดับ

[64] ฤดี เริงชัย, ปัญหาและแนวทางการต่อสู้ของผู้หญิง, กรุงเทพฯ: ปุถุชน. ม.ป.ป.

[65] ชีวทัศน์เยาวชน, ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป. (แต่น่าจะพิมพ์ออกมาในช่วงระหว่างปี 2517-2519 เพราะในหนังสือบันทึกซึ่งเขียนในอีกหลายปีหลังออกจากป่า จิระนันท์ พิตรปรีชา เล่าว่า ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ อุดม สีสุวรรณ (ซึ่งไม่จริง) และถือกันว่า “คัมภีร์เล่มฮิตของบรรดาฝ่ายซ้ายในเมือง” ในช่วงหลังกรณี 14 ตุลาคม 2516 ดูใน จิระนันท์ พิตรปรีชา (2549, น. 123)

[66] ชมรมหนังสือแสงดาว, แด่เยาวชน, ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป.

[67] แสงเสรี, เคียงข้างกันสร้างสรรค์โลก, กรุงเทพฯ: ทัพหน้าราม. 2519.

[68] อารยา แสงธรรม และ พิทักษ์ ชัยสูงเนิน, ทัศนะความรักที่ก้าหน้า, กรุงเทพฯ: เจริญวิทย์การพิมพ์. 2519.

[69] นวชน วัฒนชัย, เยาวชนใหม่, กรุงเทพฯ: สุวรรณพฤกษ์การพิมพ์. 2522.

[70] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand,” Ph.D.Dissertation Monash University,1993, p.12.

[71] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “ประวัติ พคท. ฉบับ พคท. (2),” ฟ้าเดียวกัน ปีที่ 1 ฉบับที่ 2 (เมษายน-มิถุนายน 2546), หน้า 174.

[72] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand,” p.11.

[73] อนุช อาภาภิรม, โลกทรรศน์เยาวชน, หน้า 128-133.

[74] สุวัฒน์ ศรีวิจิตร, “ปัญหาโลกทัศน์และชีวทัศน์ที่ถูกต้องของเยาวชน”, หน้า 24.

[75] ประสาน, สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: กลุ่ม “ดรุณีเหล็ก”, 2517. หน้ารองจากปก

[76] ประสาน, สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: ดรุณีสยาม, 2519.

[77] ประสาน, สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: ชมรมหนังสือน้ำแข็ง, 2521.

[78] ประสาน, สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: กลุ่ม “ดรุณีเหล็ก”, 2517. หน้า [22]-[23]

[79] ประสาน, สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: ดรุณีสยาม, 2519. หน้า [1].

[80] ประสาน, สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: ดรุณีสยาม, 2519. หน้า [9].

[81] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 106-107.

[82] ศรีบูรพา, จนกว่าเราจะพบกันอีก, กรุงเทพฯ: ดอกหญ้า, 2536, หน้า “ลำดับการพิมพ์”.

[83] สุวัฒน์ วรดิลก, พิราบแดง, กรุงเทพฯ: ชนนิยม, 2541.

[84] กลุ่มรามคำแหงเสรี, นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ, กรุงเทพฯ: พิฆเณศ, 2517.

[85] เสนีย์ เสาวพงศ์, ความรักของวัลยา, กรุงเทพฯ: มติชน, 2548, หน้า 214. ความรักของวัลยา ตีพิมพ์ครั้งแรกในนิตยสาร สยามสมัย รายสัปดาห์ ในปี 2489 และรวมเล่มครั้งแรกในปี 2496.

[86] ชูศักดิ์ ภัทรกุลวณิชย์, อ่านใหม่ เมืองกับชนบทในวรรณกรรมไทย, กรุงเทพฯ: อ่าน, 2558, หน้า 77-78.

[87] นายผี (อัสนี พลจันทร), “อันความรักแท้แน่ฉะนี้อยู่ที่ไหน” ใน ประสาน (อุดม สีสุวรรณ), สารแด่นิด, กรุงเทพฯ: กลุ่ม “ดรุณีเหล็ก”, 2517, หน้า [24]-[26].

[88] เกษียร เตชะพีระ, “รวีโดมพระจันทร์” บันทึกปากคำประวัติศาสตร์ของเสรีชน ชีวิต, งาน, การปฏิวัติ และความฝัน!,” ธรรมศาสตร์วิทยา: 61 ปีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, 2538.

[89] Somsak Jeamteerasakul, “The Communist Movement in Thailand,” p.11.

[90] รวี โดมพระจันทร์, พลิกฟ้าคว่ำแผ่นดิน, กรุงเทพฯ: ปุถุชน, 2518, หน้า 39-41.

[91] สุวัฒน์ วรดิลก, พิราบแดง, กรุงเทพฯ: ชนนิยม, 2541, หน้า 5-10.

[92] กลุ่มรามคำแหงเสรี, นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ, หน้า 159-160.

[93] กลุ่มรามคำแหงเสรี, นักรบประชาชน-วีรชนปฏิวัติ, หน้า 169-171.

[94] ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์, เสริมทฤษฎี, หน้าคำนำ.

[95] ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์, เสริมทฤษฎี, หน้า 23.

[96] ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์, เสริมทฤษฎี, หน้า 62.

[97] ชุมนุมวรรณศิลป์ ธรรมศาสตร์, เสริมทฤษฎี, หน้า 73-75.

[98] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง, หน้า 119-120.

[99] ชีวทัศน์หนุ่มสาว, หน้า 57-73.

[100] จิระนันท์ พิตรปรีชา, อีกหนึ่งฟางฝัน บันทึกแรมทางของชีวิต, หน้า 123. จิระนันท์เล่าว่าในช่วงต้นปี 2519 ขณะที่คณะของเธอพักอยู่ที่ฮานอยเพื่อรอรับคำสั่งให้เดินทางไปยังจุดหมายต่อไป ที่นั่นเองที่เธอได้พบกับอุดมเป็นครั้งแรก ตามคำของจิระนันท์ “นึกไม่ถึงว่าสหายนำที่ว่าจะเป็นผู้นำระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยที่พวกเราได้ยินชื่อเสียงมานาน ชายร่างสูงโย่งผิวขาวหน้าตามีสง่าที่พาตัวเองเข้ามาสัมผัสมือกับพวกเราอย่างยิ้มแย้มผู้นี้คือ ‘ลุงอุดม’ หรือ อุดม สีสุวรรณ (อีกนามหนึ่งที่รู้จักกันก็คือ ‘พ.เมืองชมพู’ เจ้าของผลงาน ชีวทัศน์เยาวชน ที่เป็นคัมภีร์เล่มฮิตของบรรดาฝ่ายซ้ายในเมือง)”

[101] แคน สาริกา, เปลือยป่าแดง, กรุงเทพฯ: สาริกา, 2544. หน้า 47-48.

[102] สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ, “อาชญากรรมรัฐในวิกฤตการเปลี่ยนแปลง,” หน้า 76.

[103] ชีวทัศน์เยาวชน, ม.ป.ท.: ม.ป.พ., ม.ป.ป., หน้า 11.

[104] ชีวทัศน์เยาวชน, หน้า 159-164.

[105] สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล, “เลิกรำลึก 6 ตุลาเสียได้คงดี,” มติชน 24,8614 (9 ตุลาคม 44) หน้า 6

ข่าวที่เกี่ยวข้อง