เรื่อง: ธนกฤต ศรีสมเพ็ชร, ธีระวีร์ คงแถวทอง
“คนพิการมักเป็นกลุ่มแรกที่ถูกลืม และเป็นกลุ่มสุดท้ายที่ถูกนึกถึงในการพัฒนาทางเท้า”
หากพูดถึงบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันของผู้คน หนึ่งในนั้นก็คงหนีไม่พ้นสิ่งที่เรียกว่า ‘ทางเท้า’ ซึ่งควรเป็นบริการที่ทุกคนเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียม ขณะเดียวกันการเดินบนทางเท้าก็ควรที่จะเป็นเรื่องง่ายและปลอดภัยสำหรับทุกคน แต่ในความเป็นจริงกลับต่างออกไป ทางเท้าของเรามักเต็มไปด้วยอุปสรรคที่สร้างความยากลำบากให้กับผู้สัญจรไปมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับ ‘คนพิการ’ การเดินบนทางเท้าที่ไม่ราบเรียบและมีสิ่งกีดขวางอยู่ตลอดทางเป็นปัญหาที่อาจทำให้หลายคนรู้สึกหงุดหงิดใจ แต่สำหรับคนพิการ มันคือความลำบากที่มากขึ้นเป็นเท่าตัว หลายครั้งพวกเขาต้องอ้อมไกลกว่าคนอื่น บางครั้งต้องอ้อมเป็นกิโลเมตรเพื่อไปยังจุดหมายเดียวกัน หรือที่แย่กว่านั้น พวกเขาอาจไม่มีโอกาสเดินทางไปถึงจุดหมายได้เลย..
การมีสภาพแวดล้อมที่รองรับคนทุกกลุ่มอย่างเท่าเทียมไม่ควรเป็นเพียงแค่เรื่องในอุดมคติ แต่ควรเป็นมาตรฐานของสังคม เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างอิสระและปลอดภัย แล้วทำไมในความเป็นจริงเราถึงยังไปไม่ถึงจุดนั้น?
เชียงใหม่ ‘เมืองเดินได้’ แต่ไม่ใช่ ‘เมืองเดินดี’
จากการวัด ‘Good Walk Score’ ซึ่งเป็นคะแนนที่สะท้อนถึงระดับศักยภาพการเดินของพื้นที่ โดย The Urbanis by UDDC หรือ ศูนย์ออกแบบและพัฒนาเมือง (Urban Design and Development Center) คำนวณจากสถานที่ดึงดูดการเดิน 6 ประเภท ได้แก่ 1. แหล่งงาน 2. สถานศึกษา 3. แหล่งจับจ่ายใช้สอย 4. พื้นที่นันทนาการ 5. สถานที่บริการสาธารณะและธุรกรรม และ 6. สถานที่ขนส่งสาธารณะ พื้นที่ที่มีสถานที่เหล่านี้อยู่ในระยะเดินเท้าจำนวนมากจะมีคะแนนความเดินได้สูงกว่าบริเวณอื่นๆ จากการสำรวจพบว่า บริเวณเมืองเก่าของจังหวัดเชียงใหม่มี ‘Good Walk Score สูง’ แสดงถึงศักยภาพในการเป็น ‘เมืองเดินได้’
โดยถนนที่มีศักยภาพสูงในเขตเมืองเก่าของเชียงใหม่ ได้แก่ ได้แก่ ถนนท่าแพ ถนนราชดำเนิน ถนนช้างเผือก ถนนพระปกเกล้า ถนนสิงหราช ถนนช้างคลาน ถนนเจริญเมือง ถนนราชภาคินัย และถนนห้วยแก้ว
อย่างไรก็ตาม แม้เมืองเชียงใหม่จะเป็น ‘เมืองเดินได้’ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะเป็น ‘เมืองเดินดี’ เพราะการมีสถานที่ต่างๆ ในระยะก้าวเดินไม่ใช่ตัวชี้วัดคุณภาพของการเดินเท้าเสมอไป โดยจากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการจะเดินในเมืองเชียงใหม่ของ UDDC พบว่า คุณภาพการเดินเท้าในเมืองเชียงใหม่ยังคงมีข้อจำกัดและปัญหาบางประการ ไม่ว่าจะเป็นความกว้างเฉลี่ยของทางเท้าที่มีเพียง 1.2 เมตร ซึ่งอาจไม่เพียงพอสำหรับการเดินของผู้คนจำนวนมาก นอกจากนี้ บางพื้นที่ยังมีสิ่งกีดขวางที่ขัดขวางการเดิน ทำให้การเดินทางไม่สะดวกและไม่ปลอดภัยสำหรับผู้ใช้ทางเท้าอย่างแท้จริง..
เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย ในความไม่เท่าเทียมของคนพิการ
จังหวัดเชียงใหม่มีจำนวนคนพิการประเภทต่าง ๆ กว่า 57,347 คน ซึ่งคิดเป็น 2.60% ของจำนวนคนพิการทั่วประเทศ โดยในจำนวนนี้อยู่ในเขตอำเภอเมืองเชียงใหม่มากที่สุดกว่า 5,005 คน คิดเป็น 0.23% ของคนพิการทั่วประเทศ แม้จังหวัดเชียงใหม่จะมีจำนวนคนพิการเป็นอันดับ 1 ของภาคเหนือ และอันดับ 9 ของประเทศ แต่คุณภาพชีวิตของคนพิการในเมืองเชียงใหม่กลับไม่ได้รับการดูแลอย่างดีเท่าที่ควร ‘ปัญหาทางเท้า’ ยังคงเป็นหนึ่งในปัญหาที่สำคัญซึ่งผู้พิการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลอย่างจริงจัง
19 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา ทีมกฎหมายสิ่งแวดล้อมและนักศึกษาในกระบวนวิชาคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม (Environmental Law Clinic CMU: ELC CMU) ได้ลงพื้นที่สัมภาษณ์ลูกความในกรณีที่เกี่ยวข้องกับ ‘ตู้ไฟฟ้ากีดขวางทางเท้า’ บริเวณรอบคูเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี สุริยา แสงแก้วฝั้น นักเรียกร้องสิทธิการได้รับบริการสาธารณะและผู้พิการที่ต้องพึ่งพาอุปกรณ์ช่วยเหลือในการเคลื่อนที่และสัญจรไปยังที่ต่างๆ ร่วมลงพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลและให้สัมภาษณ์
จากการลงพื้นที่ในครั้งนี้ ทีมคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมได้เห็นถึงความยากลำบากในการใช้งานทางเท้าบริเวณถนนราชดำเนิน ซึ่งมีการติดตั้งตู้เหล็กลักษณะเหมือนตู้ใส่สายไฟฟ้าบนทางเท้าตลอดสาย ทำให้ผู้ที่ใช้ทางเท้าต้องเดินหลีกเลี่ยงตู้เหล็กดังกล่าว และส่วนมากต้องลงไปเดินบนถนน ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงต่ออันตรายทั้งต่อชีวิตและร่างกาย รวมถึงเป็นอุปสรรคในการใช้ทางเท้าอย่างสะดวก
ผลกระทบดังกล่าวสืบเนื่องมาจาก ‘โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าเมืองใหญ่ ระยะที่ 1’ ซึ่งในเมืองเชียงใหม่ โครงการนี้มีชื่อว่า ‘โครงการเมืองเชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย’ ซึ่งเป็นโครงการที่มุ่งเน้นการปรับปรุงภูมิทัศน์เมืองไม่ให้มีเสาไฟฟ้าและสายไฟฟ้า เพื่อให้มีความสวยงามในทัศนียภาพรอบตัวเมือง ช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว เนื่องจากเป็นเส้นทางสายวัฒนธรรมและมีวัด โบราณสถาน อีกทั้งยังถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศไทย มีระยะทางดำเนินการรวม 23 กิโลเมตร โดยมีการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) เป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบโครงการที่ปัจจุบันได้ดำเนินการจนใกล้จะเสร็จสิ้น ด้วยงบประมาณ 3,978 ล้านบาท
โดยการดำเนินงานแบ่งเป็น 1. ถนนคชสาร, ถนนมูลเมือง, ถนนชัยภูมิ 2. ถนนช้างหล่อ, ถนนราชเชียงแสน, ถนนมูลเมือง, ถนนบำรุงบุรี 3. ถนนราชภาคินัย, ถนนราชมรรคา 4. ถนนพระปกเกล้า, ถนนเวียงแก้ว, ถนนมูลเมือง, ถนนจ่าบ้าน, ถนนราชมรรคา 5. ถนนราชดำเนิน, ถนนสามล้าน 6. ถนนอารักษ์, ถนนบำรุงบุรี, ถนนศรีภูมิ 7. ถนนอัษฎาธร, ถนนมณีนพรัตน์, ถนนช้างเผือก, ถนนหัสดิเสวี, ถนนบุญเรืองฤทธิ์, ถนนมหิดล, ถนนทิพย์เนตร นอกจากนี้ ยังมีเพิ่มเติมอีกคือ บริเวณถนนทิพย์เนตร แยกประตูสวนปรุง (แสนปุง) ถึงสถานีไฟฟ้าเชียงใหม่ 6
จากปัญหาที่เกิดขึ้น ทีมคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมและสุริยาเห็นว่า การติดตั้งตู้เหล็กในลักษณะนี้เป็นการกีดขวางทางเดินเท้า ซึ่งทำให้ผู้พิการไม่สามารถใช้ทางเท้าได้อย่างปลอดภัยและสะดวก อีกทั้งยังเป็นการจำกัดสิทธิการใช้ทางเดินเท้าบริเวณรอบคูเมืองสำหรับผู้พิการอย่างชัดเจน จึงมีความต้องการให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) มีการชี้แจงและหาแนวทางการแก้ไข เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าใช้ทางเท้าได้อย่างเท่าเทียม
เชียงใหม่เมืองตู้ไฟสะท้อนอะไร?
ปัญหาตู้ไฟฟ้าขวางทางเดินเท้าที่เราเห็นในปัจจุบัน เป็นตัวอย่างหนึ่งของอุปสรรคที่เกิดขึ้นในกระบวนการพัฒนาเมืองเชียงใหม่ให้เป็น ‘สมาร์ทซิตี้’ ซึ่งควรจะเป็นเมืองที่ออกแบบและพัฒนาให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย การที่ตู้ไฟฟ้าถูกวางไว้ในตำแหน่งที่ขวางทางเดินเท้า ไม่เพียงแต่ทำให้เกิดความไม่สะดวกสำหรับผู้เดินเท้า แต่ยังเป็นอันตรายต่อผู้พิการ ผู้ใช้รถเข็นวีลแชร์ (Wheelchair) หรือผู้ที่ต้องการใช้เส้นทางสาธารณะอย่างปลอดภัย
การพัฒนาเมืองให้เป็นสมาร์ทซิตี้ ไม่ควรมุ่งเน้นเพียงแค่การนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เท่านั้น แต่ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงความเป็นอยู่ ความต้องการ รวมถึงความปลอดภัยของประชาชนทุกกลุ่มด้วย การวางแผนและออกแบบพื้นที่สาธารณะต้องมีความรอบคอบและให้ความสำคัญกับการใช้งานจริงของประชาชนในทุกกลุ่ม เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างเท่าเทียม
การพัฒนาเมืองที่ดีนั้นไม่ควรนึกถึงเพียงแค่การพัฒนาและความสวยงามเพียงอย่างเดียว แต่ควรพัฒนาเมืองโดยคำนึงถึงผู้ใช้งานทุกเพศ ทุกวัย และทุกคน ดังนั้น การพัฒนาเมืองจึงควรดำเนินการโดยคำนึงถึงทุกคนในสังคมอย่างแท้จริง
เสียงสะท้อนจากคนพิการถึงทางเท้าเชียงใหม่
“การตั้งตู้ไฟฟ้าบนทางเท้าคือปัญหาของผู้พิการทุกคน”
เสียงสะท้อนจาก สุริยา แสงแก้วฝั้น ผู้พิการและนักเรียกร้องสิทธิการได้รับบริการสาธารณะ ได้เน้นย้ำถึงปัญหาที่ผู้พิการต้องเผชิญเมื่อใช้ทางเท้าในเชียงใหม่ โดยสุริยาได้ชี้ให้เห็นว่า ปัญหาหลักๆ ของทางเท้าคือ ‘ความแคบ’ ซึ่งทำให้การเดินทางไม่สะดวกอยู่แล้ว การนำตู้ไฟฟ้ามาตั้งในตำแหน่งที่กีดขวางยิ่งทำให้ไม่สามารถใช้ทางเท้าได้เลย ส่งผลให้ผู้พิการต้องลงมาใช้ถนนร่วมกับรถยนต์ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่ออันตรายอย่างมากเข้าไปอีก
สุริยากล่าวต่อว่า หากมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ทางเท้า เขาอาจจะเลือกไม่ใช้ทางเท้านั้นเลย เพราะไม่ว่าผู้พิการจะต้องการใช้ทางเท้าแค่ไหน ก็ไม่สามารถใช้งานได้อย่างปลอดภัย
“ถ้าเรามองพื้นที่ตรงนั้นเป็นทางสัญจรผ่านไปมา โดยเฉพาะเป็นทางสาธารณะ เพราะว่าเราจำเป็นต้องใช้ เราไม่ได้อยู่แต่ในบ้าน 24 ชั่วโมง มันเลี่ยงไม่ได้อยู่แล้ว เราจำเป็นต้องใช้พื้นที่ตรงนั้น แต่พื้นที่ตรงนั้นก็ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียงพอและปลอดภัยสำหรับตัวผมและผู้อื่น”
ดังนั้น สุริยาจึงอยากเรียกร้องให้หน่วยงานที่รับผิดชอบเข้ามาดำเนินการปรับปรุงทางเท้าและถนนให้สะดวกและปลอดภัย เพื่อให้ทุกคนสามารถใช้ได้อย่างเท่าเทียม โดยสุริยาย้ำว่า ‘การมีสิ่งอำนวยความสะดวกที่เหมาะสมเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเดินทางของผู้พิการในสังคม’
Universal Design คือคำตอบ ทางออกของปัญหา ‘เมืองพิการ’
“เราต้องออกแบบอย่าง Universal Design ออกแบบให้เป็นมิตรกับทุกคน”
จากโครงการ ‘การจัดเสวนาเพื่อแสวงหาแนวทางแก้ไขต่อปัญหาตู้ไฟฟ้ากีดขวางทางเดินเท้า’ ที่จัดขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา เกรียงไกร อรุโณทยานันท์ อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมโยธา ได้กล่าวถึงความสำคัญของการออกแบบพื้นที่สาธารณะอย่าง Universal Design หรือการออกแบบที่เป็นมิตรกับทุกคน โดยเน้นว่า การออกแบบควรคำนึงถึงความสะดวกและการเข้าถึงของผู้ใช้งานทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นประชาชนทั่วไป ผู้สูงอายุ หรือแม้แต่ ‘ผู้พิการ’
‘Universal Design’ หรือ ‘อารยสถาปัตย์’ เป็นหลักการออกแบบที่มุ่งหวังให้พื้นที่และสิ่งอำนวยความสะดวกสามารถเข้าถึงได้โดยง่ายและใช้งานได้สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม การนำแนวคิดนี้ไปใช้ในการออกแบบพื้นที่สาธารณะ จะช่วยให้ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้อย่างเต็มที่ โดยไม่รู้สึกถึงข้อจำกัดจากสภาพแวดล้อม เช่น ประเทศญี่ปุ่นที่มีการพัฒนาเมืองตามหลัก Universal Design ทำให้ผู้พิการรู้สึกไม่พิการ เนื่องจากสิ่งแวดล้อมได้รับการออกแบบมาอย่างรอบคอบ เพื่อรองรับความต้องการของทุกกลุ่ม ในขณะที่ประเทศไทย ยังมีปัญหาด้านการออกแบบที่ไม่เอื้ออำนวย ทำให้ผู้คนจำนวนมากต้องเผชิญกับความยากลำบากและถูกทิ้งไว้ข้างหลัง การออกแบบที่ไม่ดีทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันในสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อสร้างเมืองที่เป็นมิตรและเข้าถึงได้สำหรับทุกคน
ปัจจุบัน องค์การสหประชาชาติ (UN) ได้บัญญัติศัพท์ใหม่ที่เรียกว่า ‘การพัฒนายุคใหม่ต้องเป็นการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยไม่ตกหล่นหรือทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ซึ่งยืนยันว่าการพัฒนาทุกระดับควรมีเป้าหมายในการไม่ทำให้ใครตกหล่นหรือถูกทิ้งไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือเปราะบาง เช่น คนพิการ
“กลุ่มคนพิการในทุกวงทั่วโลกทุกการพัฒนาทั้งในอดีตและการออกแบบตึกอาคารสถานที่ คนพิการหรือมนุษย์ล้อทั้งหลายมักจะเป็นคนกลุ่มแรกที่ถูกลืม และที่น่าเศร้ากว่านั้นอีกคือ กลุ่มคนพิการก็มักเป็นกลุ่มสุดท้ายที่จะถูกนึกถึง”
ในอดีต ประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา สังคมมักไม่คำนึงถึงความต้องการและสิทธิของคนพิการในการพัฒนาเมืองและสังคม ส่งผลให้เกิดช่องว่างในการเข้าถึงบริการและโอกาสต่าง ๆ สำหรับพวกเขา แต่ในยุคปัจจุบัน แนวทางการพัฒนาให้ความสำคัญกับการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีความเท่าเทียม โดยการออกแบบที่เอื้อต่อทุกคน รวมถึงการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายเพื่อสนับสนุนสิทธิของคนพิการ ‘การพัฒนาที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ จึงกลายเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างสังคมที่เข้มแข็งและยั่งยืนสำหรับทุกคนในสังคม
การออกแบบที่ไม่คำนึงถึงคนพิการกลายเป็นปัญหาที่มีความยาวนานในประเทศไทย โดยเฉพาะเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่ให้ความสำคัญกับการออกแบบพื้นที่สาธารณะและสิ่งอำนวยความสะดวกให้สามารถเข้าถึงได้สำหรับทุกคน สภาพแวดล้อมที่ล้าหลังในไทยสะท้อนถึงการขาดการคิดถึงกลุ่มคนพิการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ
ประเทศที่มีความเจริญก้าวหน้าในด้าน Universal Design ไม่เพียงแต่ไม่ลืมกลุ่มคนพิการ แต่ยังสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพสำหรับทุกคน การออกแบบในลักษณะนี้มุ่งเน้นไปที่การทำให้ผู้คนทุกประเภทสามารถเข้าถึงพื้นที่สาธารณะได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ซึ่งถือเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ควรได้รับการดูแลอย่างจริงจัง
การไม่ลืมและการให้ความสำคัญกับกลุ่มคนพิการในการพัฒนาเมืองและสังคมจึงเป็นก้าวสำคัญที่จะทำให้เกิดสังคมที่เป็นธรรมและเท่าเทียม ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นผลดีต่อกลุ่มคนพิการ แต่ยังสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน ‘ทุกคน’ ในสังคมด้วย
ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
อ้างอิง
- ELC CMU
- The Urbanis by UDDC. เมืองไม่สะดวกยิ่งทำให้คนพิการรู้สึกเป็นอื่น ‘หนู’-นลัทพร ไกรฤกษ์’ บรรณาธิการเพจ ThisAble.me.
- The Urbanis by UDDC. 10 data insight เชียงใหม่ เมืองขับได้ขี่ดี vs เมืองเดินได้เดินดี.
- กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ. สถิติการให้บริการ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ.
- The Standard. กฟภ. นำสายไฟความยาว 23 กิโลเมตรลงใต้ดิน ตามโครงการ ‘เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย’ ด้วยงบ 3,978 ล้านบาท.
- The Urbanis by UDDC. เป็นคนแรกที่ถูกลืมและเป็นคนสุดท้ายที่ถูกนึกถึง: ทางเท้าสำหรับทุกคนผ่านมุมมอง กฤษนะ ละไล.
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...