‘ผันน้ำยวม’ เมื่อแม่น้ำร้องไห้ บนการพัฒนาที่มองไม่เห็นชีวิต

เรื่อง: ธนพล สังข์ทอง, กชพรรณ ศรีบรรเทา

“เขาบอกแต่ว่าเราจะได้น้ำใช้ แต่เขาไม่เคยบอกว่าเราจะเสียอะไรไป..” เสียงจากชาวบ้านบ้านแม่งูด ผู้ซึ่งอาจได้รับผลกระทบจากโครงการผันน้ำยวมกล่าว

บ้านเรือนอาจต้องกลายเป็นสุสานใต้เขื่อน ที่ทำกินและสายน้ำแห่งชีวิตอาจถูกแทนที่ด้วยภูเขากองดิน ไร่นาอาจต้องจมดิ่งใต้ผืนน้ำ ‘โครงการผันน้ำยวม’ แผนพัฒนาเศรษฐกิจซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่อย่างมหาศาล แต่กลับไร้การมีส่วนร่วมของประชน..

‘โครงการผันน้ำยม’ คืออะไร?

โครงการผันน้ำยวม’ คือโครงการขนาดใหญ่ของกรมชลประทาน มูลค่ากว่า 88,745 ล้านบาท (ข้อมูลเดือนมีนาคม 2566) ที่มีเป้าหมายผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างไปยังเขื่อนภูมิพลเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน ซึ่งประกอบด้วย เขื่อนกั้นแม่น้ำยวมความสูง 69 เมตร ในอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน อ่างเก็บน้ำขนาด 2,075 ไร่ สามารถเก็บกักน้ำได้ประมาณ 68 ล้านลูกบาศก์เมตร และสถานีสูบน้ำบ้านสบเงาพร้อมอาคารประกอบสำหรับสูบน้ำผ่านอุโมงค์คอนกรีตยาว  61 กิโลเมตร ที่เจาะทะลุผืนป่ารอยต่อ 3 จังหวัด ผ่านอุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง มีจุดกองดินที่ขุดขึ้นจากอุโมงค์ 6 จุด และพื้นที่ปากอุโมงค์บริเวณบ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

ในรายงานการศึกษาผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมได้คาดการณ์ว่า งบประมาณในการก่อสร้างโครงการนี้อยู่ที่ประมาณ 71,000 ล้านบาท และใช้เวลาเตรียมโครงการประมาณ 9 ปี (พ.ศ. 2565 – 2573 เตรียมความพร้อม 1 ปี พ.ศ. 2565 ดำเนินการก่อสร้างปี พ.ศ. 2566-2573) ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นงานวางท่อและเจาะอุโมงค์ผ่านพื้นที่อุทยานแห่งชาติ 1 แห่ง และป่าสงวน 6 แห่ง 

โครงการครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัด 4 อำเภอ 7 ตำบล 36 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลแม่วะหลวง, ตำบลแม่สวด, ตำบลกองก๋อย, และตำบลสบเมย อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมถึงตำบลนาเกียน, ตำบลอมก๋อย และตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่

เอกสารจากกรมชลประทานระบุว่า โครงการนี้จะช่วยเติมน้ำให้พื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตรในฤดูแล้งกว่า 1.6 ล้านไร่ เพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าของเขื่อนภูมิพลเฉลี่ย 417 ล้านหน่วยต่อปี อีกทั้งยังช่วยเพิ่มปริมาณน้ำสำหรับการผลิตน้ำประปา สนับสนุนการประมงในเขื่อน และส่งเสริมการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานระบุว่า มีประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ ‘ไม่เกิน 30 ราย’ (29 ราย) ขณะที่เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำสาละวินระบุว่า มีประชาชนจาก 36 หมู่บ้านที่ไม่ได้รับประโยชน์จากโครงการนี้ อีกทั้งยังชี้ว่าข้อมูลในรายงานมีความไม่ครบถ้วน

โครงการผันน้ำยวมมาจากไหน?

โครงการผันน้ำยวมไม่ใช่ไม่ใช่แนวคิดใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2538 โครงการผันน้ำข้ามลุ่มน้ำได้เริ่มมีการวางแนวคิดขึ้นภายใต้การดูแลของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) 

จนกระทั่งมีการศึกษาผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment: EIA) ในปี 2546-2549 โดยข้อค้นพบระบุว่า แนวทางที่เหมาะสมคือการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำยวมตอนล่างมายังเขื่อนภูมิพล แต่เนื่องจากงบประมาณที่สูงมาก โครงการจึงถูกระงับไว้ชั่วคราว

ต่อมาในปี 2559 โครงการนี้ถูกนำกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งเมื่อคณะกรรมการนโยบายน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้มอบหมายให้กรมชลประทานศึกษาความเป็นไปได้ของเส้นทางส่งน้ำที่เหมาะสมและทำการศึกษา EIA ใหม่ โดยครั้งนี้มี บริษัท ปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ร่วมกับมหาวิทยาลัยนเรศวรเป็นผู้ดำเนินการศึกษา EIA

ปัจจุบัน รายงาน EIA เสร็จสิ้นแล้วเมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 แต่ยังคงมีความกังขาจากประชาชนในพื้นที่และนักวิชาการหลายฝ่าย เกี่ยวกับเนื้อหาของรายงานที่อาจไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง รวมถึงเสียงสะท้อนจากชุมชนถึงความกังวลที่ไม่ได้รับการรับฟังหรือบันทึกไว้ในรายงานฉบับนี้

‘EIA ร้านลาบ’ ม่านหมอกแห่งความไม่โปร่งใสในโครงการผันน้ำยวม

แน่นอนว่าโครงการขนาดใหญ่เช่นนี้จะต้องส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและประชาชนในพื้นที่อย่างมาก  พื้นที่หมู่บ้านบริเวณที่จะสร้างเขื่อนจะต้องถูกน้ำท่วม พื้นที่ทำกินของชาวบ้านและลำธารบริเวณแนวอุโมงค์จะกลายเป็นภูเขากองดิน แต่การจัดทำรายงาน EIA กลับไม่ถูกต้อง เป็นไปอย่างเร่งรัด และขาดความโปร่งใส..

ย้อนกลับไปกลางปี 2563 แม้ว่ากรมชลประทานจะเชิญชวนให้ผู้แทนชุมชนเข้าร่วมประชุมกลุ่มย่อยเกี่ยวกับโครงการผันน้ำยวม แต่เนื่องจากสภาพถนนที่ยากลำบากในช่วงฤดูฝน และการขาดความชัดเจนในรายละเอียดของการประชุม รวมถึงความไม่มั่นใจว่าการรับประกันว่าข้อมูลการประชุมทั้งหมดจะมีบันทึกในรายงานหรือไม่ ทำให้ชาวบ้านส่วนใหญ่ปฏิเสธการเข้าร่วม

แม้ผู้แทนชุมชนและชาวบ้านจะปฏิเสธการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนั้น แต่รายงาน EIA ที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อเดือนเมษายน 2564 กลับระบุว่ามีการจัดประชุมและได้รับความร่วมมือจากชาวบ้าน โดยมีการนำชื่อ สกุล รูปภาพ และข้อมูลของชาวบ้านมาใช้ในรายงานโดยไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งเป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง ราวกับว่าทางเจ้าหน้าที่ได้จัดการประชุมผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมของชาวบ้าน และผู้เข้าร่วมประชุมล้วนเข้าใจโครงการนี้อย่างดี พร้อมจะสนับสนุน ทำให้ดูเหมือนว่ากระบวนการมีส่วนร่วมได้เสร็จสมบูรณ์แล้ว 

อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงกลับเป็นไปในทางตรงข้าม เพราะชาวบ้านและแกนนำส่วนใหญ่ปฏิเสธการเข้าร่วมประชุมกับเจ้าหน้าที่ บางกลุ่มถูกอ้างชื่อลงในรายงาน ขณะที่บางคนออกมาเปิดเผยว่าภาพการเข้าร่วมครั้งนั้นเป็นเพียงการนัดพบในร้านกาแฟและรับประทานอาหารที่ร้านลาบ โดยเจ้าตัวยืนยันว่าไม่ได้อนุญาตให้นำรูปและข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในรายงาน EIA แต่อย่างใด จนเป็นที่มาของแฮชแท็ก ‘#EIAร้านลาบ ซึ่งเรียกร้องความโปร่งใสในกระบวนการจัดทำ EIA ของโครงการนี้

นอกจากนี้ การใช้ข้อมูลเก่าจาก EIA ฉบับก่อน ๆ มาจัดทำ ซึ่งขัดแย้งกับสภาพพื้นที่ในปัจจุบัน เช่น การแสดงข้อมูลของหมู่บ้านที่ไม่มีอยู่แล้ว การให้ข้อมูลต่อชาวบ้านตามแนวอุโมงค์ซึ่งใช้ภาษาที่แตกต่างกัน แต่สื่อสารให้ข้อมูลเพียงภาษาเดียว การจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นที่ทำเพราะกฎหมายกำหนดแต่กลับไม่ฟังเสียงคัดค้านของชาวบ้านในพื้นที่จริง การจัดมีส่วนร่วมของประชาชนที่มีปัญหา EIA ที่ไร้ประสิทธิภาพ สิ่งเหล่านี้ย่อมแสดงถึงการมองข้ามเสียงของชาวบ้านอย่างแท้จริง

EIA จบ ประชาชนไม่จบ เกิดอะไรขึ้นบ้างหลังจากนั้น?

แม้ว่าโครงการผันน้ำยวมจะผ่านการประเมิน EIA แล้ว แต่ประชาชนในพื้นที่ยังคงยืนหยัดคัดค้านโครงการนี้อย่างต่อเนื่อง โดยเมื่อวันที่ 5-6 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา The Citizen.Plus รายงานว่า มีการประชุมเครือข่ายชาวบ้านลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน เพื่อแสดงจุดยืนร่วมกันของชุมชนที่มี ‘ความกังวล’ ต่อ ‘โครงการผันน้ำยวม’ หรือที่มีชื่อเต็มว่า “โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม-อ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล” โดยมีผู้เข้าร่วมประมาณ 80 คนในทั้งสองวัน ซึ่งประกอบด้วยผู้นำชุมชน คณะทำงานจากองค์กรด้านสิ่งแวดล้อม และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ณ บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และบ้านแม่คะตวน ตำบลแม่คะตวน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนน 

ขณะเดียวกันในวันที่ 18 ตุลาคม 2566 เครือข่ายภาคประชาชน 3 จังหวัดได้ฟ้องศาลปกครองเชียงใหม่ โดยชี้ให้เห็นว่าขั้นตอนการดำเนินการไม่ชอบด้วยกฎหมายและขาดการมีส่วนร่วมของประชาชน จึงได้ขอให้ศาลปกครองออกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว ในวันนั้น ตัวแทนชาวบ้านจำนวน 66 คนที่เดินทางมาจากจังหวัดเชียงใหม่ ตาก และแม่ฮ่องสอน ได้เข้ายื่นฟ้องคดีในนามของ ‘เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม-เงา-เมย-สาละวิน’ ซึ่งอยู่ในพื้นที่โครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนเขื่อนภูมิพล โดยมีการฟ้องร้อง 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมชลประทาน, คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ, สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ, และคณะรัฐมนตรี โดยได้มอบหมายให้ทนายความจากมูลนิธิศูนย์ข้อมูลชุมชนดำเนินการคดีนี้

ต่อมาในวันที่ 20 มกราคม 2567 GreenNews รายงานว่า เครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน ได้ส่งตัวแทนยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ขณะลงพื้นที่เยือนเขื่อนแม่กวง จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้อง 3 ข้อ ได้แก่ “การเพิกถอนโครงการฯ – การเพิกถอนรายงาน EIA โครงการฯ – และการยุติทุกโครงการที่เกี่ยวข้อง” โดยเครือข่ายฯ ชี้ให้เห็นว่าโครงการดังกล่าว “ไม่จำเป็น – ไม่เหมาะสม – ไม่ผ่านการศึกษาอย่างรอบด้านตามหลักวิชาการและกฎหมาย – ส่งผลกระทบรุนแรง – และไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน” การยื่นหนังสือครั้งนี้เกิดขึ้นในเวลา 13.00 น. ที่เขื่อนแม่กวงอุดมธารา จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี วันไชย ศรีนวน ผู้ใหญ่บ้านแม่งูด ตำบลนาคอเรือ อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมสมาชิกชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านอำเภอฮอดอีก 5 คน ร่วมเดินทางในฐานะตัวแทนของเครือข่ายประชาชนลุ่มน้ำยวม – เงา – เมย – สาละวิน

โครงการผันน้ำยม ‘คุ้มค่า’ หรือ ‘ไม่คุ้มเสีย’ ?

Think Forward Center ได้วิเคราะห์ในรายงาน EIA และพบว่าโครงการนี้มีต้นทุนที่แบ่งออกเป็นสามส่วนหลัก ได้แก่ ต้นทุนค่าก่อสร้าง ต้นทุนค่าสูบน้ำ และต้นทุนค่าปฏิบัติงานและบำรุงรักษา

1. ต้นทุนค่าก่อสร้าง รวมถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำต้นทางที่แม่น้ำยวมและการก่อสร้างอุโมงค์ โดยหากเฉลี่ยต้นทุนเป็นหน่วยต่อลูกบาศก์เมตร จะพบว่าต้นทุนค่าก่อสร้างเฉพาะสำหรับน้ำแต่ละลูกบาศก์เมตรที่ลอดผ่านอุโมงค์จะอยู่ที่ 4.21 บาท/ลบ.ม. (อัตราคิดลดที่ 9% ตามคำแนะนำของสภาพัฒน์)

2. ต้นทุนค่าสูบน้ำ เนื่องจากการผันน้ำในโครงการนี้จำเป็นต้องสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำไปขึ้นปากอุโมงค์ก่อน ทำให้เสียค่าใช้จ่ายประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี คิดเป็นต้นทุนต่อลูกบาศก์เมตรประมาณ 1.66 บาท/ลบ.ม.

3. ผลผลิตไฟฟ้า การใช้น้ำผันมาเพื่อผลิตไฟฟ้าที่เขื่อนภูมิพล จะสร้างมูลค่ารายได้จากค่าไฟฟ้าราว 1,150 ล้านบาทต่อปี หรือประมาณ 0.66 บาท/ลบ.ม. เมื่อนำมารวมกับต้นทุนปฏิบัติงานและบำรุงรักษาอีก 0.17 บาท/ลบ.ม. จะทำให้ต้นทุนรวมของน้ำในโครงการนี้สูงถึง 6.04 บาท/ลบ.ม.

หากใช้น้ำนี้สำหรับทำนาปรัง มูลค่าผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการใช้น้ำในการเพาะปลูกจะมีค่าเพียง 2.11 บาท/ลบ.ม. (โดย EIA คำนวณจากการใช้น้ำที่ 1,106 ลบ.ม./ไร่) สะท้อนว่าโครงการนี้ “ไม่คุ้มค่า” เพราะต้นทุนน้ำอยู่ที่ 6.04 บาท/ลบ.ม. แต่สร้างประโยชน์ได้เพียง 2.11 บาท/ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าต้นทุนอย่างมาก

แม้จะคำนวณรวมประโยชน์จากการใช้น้ำในการผลิตน้ำประปาประมาณ 300 ล้าน ลบ.ม.ต่อปีและประโยชน์อื่น ๆ แล้ว ตัวเลขมูลค่าปัจจุบันสุทธิ (NPV) ของโครงการนี้ตามรายงาน EIA ยังอยู่ที่ -10,972 ล้านบาท (ที่อัตราคิดลด 9%) แสดงถึงการขาดทุนกว่า 11,000 ล้านบาท

สรุปได้ว่า การลงทุนในโครงการนี้เพื่อนำน้ำมาทำนาปรังไม่คุ้มค่าแน่นอน

ภาพ: Thaipost

19 ธันวาคม 2566 Thaipost รายงาน ณ ห้องประชุม 123 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีการประชุมคณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ โดยเฉพาะโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล แนวส่งน้ำยวม ซึ่งมีประเด็นที่นักวิชาการชี้ว่า โครงการผันน้ำยวมที่มีมูลค่านับแสนล้านเสี่ยงต่อความผิดกฎหมาย สร้างภาระหนี้ให้แก่รัฐอย่างมหาศาล และอาจไม่คุ้มค่ากับการลงทุน โดยระบุว่า สผ. ปล่อยผ่านการประเมิน EIA แม้การศึกษาความเป็นไปได้ (FS) ของโครงการยังไม่ผ่าน ขณะที่ชาวบ้านแสดงความกังวลและเรียกร้องให้กรมชลประทานชี้แจงข้อมูลใหม่ พร้อมเตรียมตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและทบทวนโครงการนี้ใน 3 ประเด็นหลัก

หาญณรงค์ เยาวเลิศ หนึ่งในอนุกรรมการฯ เปิดเผยว่า จากรายงาน EIA พบว่าโครงการนี้จะกั้นเขื่อนและสูบน้ำจากท้ายเขื่อนไปยังอุโมงค์ ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่เคยมีการใช้งานในไทยและไม่น่าจะเหมาะสมในเชิงวิศวกรรม รายงานยังขาดข้อมูลเกี่ยวกับปริมาณน้ำในแม่น้ำยวม ไม่มีปริมาณน้ำรายวัน มีเพียงปริมาณน้ำเดิมที่ข้อมูลต่างไปแล้วเนื่องจากการใช้น้ำและที่ดินตลอดลุ่มน้ำยวมต่างไปจากเดิมแล้ว หากการสูบน้ำในปริมาณน้อยกว่า 1,835 ล้าน ลบ.ม./ปี จะทำให้การลงทุนของเอกชนขาดทุน เนื่องจากปริมาณน้ำที่มีในแต่ละปีไม่เท่ากัน

ด้าน ผศ.ดร.ประชา คุณธรรมดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ควรตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบความคุ้มค่าและความเหมาะสมของโครงการนี้ ทั้งด้านวิศวกรรมและเศรษฐศาสตร์ โดยชี้ว่าการร่วมทุนรัฐ-เอกชน (PPP) ต้องพิจารณาข้อกฎหมายให้รอบคอบ เนื่องจากเสี่ยงต่อความไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากโครงการนี้ดำเนินไปโดยไม่มีการพิจารณาผลกระทบด้านหนี้สาธารณะ ไทยอาจเผชิญกับภาระหนี้ที่ไม่อาจปฏิเสธได้ในอนาคต

ผศ.ดร.ประชา ยังระบุว่า ภาระหนี้จากโครงการนี้อาจสูงมาก ซึ่งกรมชลประทานจำเป็นต้องชี้แจงให้ชัดเจนว่า การเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรจะเกิดขึ้นอย่างไร และตั้งคำถามว่าโครงการนี้เหมาะสมต่อการใช้น้ำเพื่อการทำนาปรังหรือไม่ ขณะที่การผลิตข้าวของไทยในปัจจุบันเกินกว่าความต้องการภายในประเทศ เราจึงอาจไม่จำเป็นต้องขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวให้มากขึ้น

ศ.ดร.สุวัฒนา จิตตลดากร นักวิชการมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ตั้งข้อสังเกตว่า การเสนอ PPP โดยกรมชลประทานอาจไม่เหมาะสม เนื่องจากภารกิจหลักของเอกชนคือผลตอบแทนจากการลงทุน การพิจารณาอนุมัติโครงการควรดำเนินตามปกติ โดยจัดงบประมาณประจำปีมากกว่าการร่วมทุน

ดร.มาลี สิทธิเกรียงไกร นักวิชาการจากศูนย์ศึกษาชาติพันธุ์และการพัฒนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า พื้นที่หมู่บ้านแม่เงา อ.สบเมย ซึ่งจะตั้งสถานีสูบน้ำ และบ้านแม่งูด อ.ฮอด ที่เป็นปลายอุโมงค์นั้น ตั้งอยู่ในพื้นที่ชุมชนของชาวกะเหรี่ยงที่พึ่งพิงทรัพยากรธรรมชาติและป่าต้นน้ำ รายงาน EIA ขาดการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยระบุเพียงสภาพทั่วไป ไม่ได้คำนึงถึงรายได้และทรัพยากรป่าที่ชาวบ้านพึ่งพา ซึ่งถือเป็นรายได้สำคัญประมาณ 33% ของครัวเรือนในพื้นที่ ทั้งนี้ ความกังวลต่อความปลอดภัยและการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นยังไม่ได้รับการพิจารณาอย่างเหมาะสม

หาญณรงค์ เยาวเลิศ ประธานมูลนิธิบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ (ประเทศไทย) กล่าวต่อ BBC Thai เพิ่มเติมว่า โครงการนี้อาจทำลายป่าต้นน้ำในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำสาละวิน และอาจไม่ส่งผลประโยชน์ต่อพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยาตอนล่าง ทั้งยังไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน รัฐจะต้องใช้จ่ายเพิ่มปีละประมาณ 2,400 ล้านบาทเพื่อค่าไฟฟ้าสำหรับสูบน้ำในปริมาณ 1,700-1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี ดังนั้น น้ำที่คาดว่าจะได้ไม่ใช่ได้มาฟรี ๆ

ด้าน ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมทรัพยากรน้ำ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และหนึ่งในคณะกรรมาธิการฯ กล่าวว่า การสร้างเขื่อนขนาดใหญ่มีข้อกังขาเกี่ยวกับปริมาณน้ำที่จะได้รับตามความต้องการ เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอาจทำให้ปริมาณฝนไม่แน่นอนในแต่ละปี

แม้ว่าในเชิงปริมาณน้ำ สิตางศุ์เห็นด้วยกับการผันน้ำจากแม่น้ำยวมเนื่องจากมีปริมาณน้ำมาก แต่สิตางศุ์เน้นย้ำว่าควรมีการศึกษาผลกระทบต่อชุมชนและทรัพยากรธรรมชาติอย่างโปร่งใส รวมถึงการเยียวยาและชดเชยที่เป็นธรรม หากรัฐจำเป็นต้องดำเนินโครงการ

อย่างไรก็ตาม สิตางศุ์เสนอทางเลือกอื่นที่ไม่ต้องสร้างโครงการขนาดใหญ่ โดยการเพิ่มประสิทธิภาพของระบบชลประทานจากปัจจุบันที่ 40% ให้เป็น 60% ซึ่งจะช่วยเพิ่มปริมาณน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการโดยไม่ต้องผันน้ำผ่านป่า

ภาพ: ประชาไท

ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2567 ณ ห้องประชุมคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ประชาไท รายงานว่า คณะอนุกรรมการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากโครงการพัฒนาของรัฐ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับโครงการเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนให้เขื่อนภูมิพล หรือโครงการผันน้ำยวม ซึ่งมี ดร.ศิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ เป็นประธาน และมีผู้เข้าร่วมหลากหลายฝ่าย รวมถึงเจ้าหน้าที่กรมชลประทาน บริษัทที่ปรึกษา นักวิชาการ กลุ่มผู้ใช้น้ำ และชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบจาก อำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน รวมประมาณ 70 คน

ดร.ประชา คุณธรรมดี จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้แสดงความกังวลว่า การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการยังไม่ชัดเจน โดยเฉพาะในเรื่องปริมาณน้ำ 1,795 ล้านลูกบาศก์เมตร ที่ตั้งเป้าจะผันเพื่อปลูกข้าว ซึ่งประเมินว่าจะสร้างผลประโยชน์มูลค่า 9,000 ล้านบาท แต่ประชาเห็นว่าเป็นตัวเลขที่อาจเกินจริง และไม่สอดคล้องกับการใช้จริงในการเกษตร โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อการปลูกข้าวขาวในภาคกลางมักเกิดผลประโยชน์เพียงในบางปี ขณะที่ในปีอื่นๆ รัฐยังต้องใช้งบประมาณสนับสนุนอีกมหาศาล หากโครงการนี้เกิดขึ้น ผู้ที่ได้รับประโยชน์ต้องแบกรับค่าใช้จ่ายประมาณปีละพันล้านถึง 3,100 ล้านบาท แต่หากปล่อยให้เอกชนดำเนินการ รัฐจะต้องรับผิดชอบการขาดทุนทั้งหมด ซึ่งทำให้เกิดความกังวลว่าจะนำไปสู่การฟ้องร้องในอนาคต

นอกจากนี้ รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิชาการสนับสนุนการบริหารจัดการน้ำ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เสริมว่า การผันน้ำข้ามลุ่มน้ำ โดยเฉพาะจากลุ่มน้ำขนาดใหญ่ เช่น การผันน้ำ 1,800 ล้านลูกบาศก์เมตรจากแม่น้ำยวม อาจไม่สามารถดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ เนื่องจากปริมาณน้ำที่แม่น้ำยวมในฤดูฝนนั้นมีระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้นที่น้ำถึงระดับ 100 ลบ.ม. และในทางวิศวกรรม การสูบน้ำด้วยอัตรา 150 ลบ.ม.ต่อวินาที เพื่อดันน้ำขึ้นไปที่ระดับ 150 เมตร อาจไม่ได้สร้างประโยชน์อย่างที่คาดหวัง

“เขาบอกแต่ว่าเราจะได้น้ำใช้ แต่เขาไม่เคยบอกว่าเราจะเสียอะไรไป..”

ผลงานชิ้นนี้อยู่ภายใต้ โครงการศึกษาวิจัยและจัดตั้งคลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อมฯ ในรายวิชา การศึกษากฎหมายสิ่งแวดล้อมเชิงคลินิก คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง