เรื่อง: วัชรพล นาคเกษม
ภาพ: ปรัชญา ไชยแก้ว
“เคลื่อนเมืองด้วยข้อมูล ผ่านเรื่องราวของผู้คน จากบทสนทนาเพื่อสร้างคลังความคิด”
แม้จะยังยืนระยะมาไม่นานมาก แต่ที่ผ่านมาก็สร้างความน่าสนใจได้อย่างน่าตื่นเต้นกับ “เชียงรายสนทนา” สื่อสาธารณะท้องถิ่นที่บอกกับเราว่าไม่เน้นเร็ว ถ้าจะเสพอะไรเร็ว ๆ ไปที่อื่นได้เลย เพราะเราเน้นข้อมูล นั่งอยู่บ้านวิเคราะห์ข้อมูลน่าจะเป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายสุด
ที่สำคัญเลยคือเชียงรายสนทนา เคลื่อนไปด้วยกำลังเพียงหนึ่งคนถ้วนโดย เป๊ก-ธวัชชัย ดวงนภา ผู้ที่ผ่านการทำสื่อ เป็นนักเล่าเรื่องมาแล้วหลายรูปแบบ ตั้งแต่รายการทีวี ภาพยนต์สารคดี และยังคงเชื่อมั่นในการทำงานสื่อสารอยู่เสมอ และเป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่เป๊กตัดสินใจมาลงรากอยู่ที่จังหวัดเชียงราย แม้จะมาลงรากเปิด Chapter ใหม่ของชีวิต ด้วยความที่อยากจะทำความรู้จักเชียงรายให้มากขึ้นไปอีก ยิ่งอยากรู้จัก ก็ยิ่งต้องเปิดพื้นที่ บวกกับความสนใจที่อยากจะเคลื่อนเมืองนี้ด้วยงานข้อมูล เป๊กเลยยืนยันอย่างชัดเจนกับเราว่าเชียงรายสนทนาเป็น Data journalist และกำลังสนุกมาก
เราเลยถือโอกาสเปิดบทสนทนา สร้าง Dialogue กับเป๊กสักนิดเพื่อทำความรู้จักเชียงรายสนทนาให้มากยิ่งขึ้น เพราะในสถานการณ์น้ำท่วมเชียงราย เราเห็นความตั้งใจที่จะสื่อสารข้อมูลในแบบที่เป๊กเชื่อ และน่าสนใจอยู่ไม่น้อยว่าหลังจากนี้เราคงต้องกลับมาคุยเรื่องความสำคัญของข้อมูลอย่างจริงจังเสียที
ถ้าให้รวบรัดกันแบบเร็ว ๆ จะแนะนำตัวเองว่ายังไง
บอกแบบนี้แล้วกัน ไอ้สิ่งที่เด็ดเดี่ยวมาตั้งแต่ตอนเรียนจบของเราก็คือเป็นมนุษย์ที่ชอบทำสื่อแน่นอน ทำอย่างอื่นไม่เป็นทอดไข่เจียวยังไม่อร่อยเลย ไปทำงานวงการโฆษณาได้ทำงานวงการทีวี ในสมัยที่ทีวีมีแค่ไม่กี่ช่อง เรามีโอกาสได้ทำรายการเล็ก ๆ ให้ไทยทีบีเอส ชื่อรายการกล้าอาสา ทำอยู่ 3 ซีซั่น ซีซั่นละ 13 ตอน มันเป็นรายการที่พูดถึงการทำกิจกรรมอาสาเพื่อสังคม คือเอางบก้อนหนึ่งไปให้เด็กทำโปรเจกต์ เป็นรายการที่ทำเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว สิ่งนี้มันค่อนข้างใหม่ในสมัยนั้น แต่สิ่งที่มันเกิดขึ้นก็คือพอเวลาเราเห็นเด็ก ๆ ไปทำอะไรให้คนอื่นเยอะ ๆ เข้ามันก็ย้อนกลับมา Shape ตัวเราเองเหมือนกัน หลังจากนั้นเราก็เลยขอลาออกแล้วมาทำบริษัทเอง แต่สุดท้ายด้วยความที่อ่อนประสบการณ์ก็ทำให้บริษัทมันไปต่อไม่ได้ แต่ไอ้ความอยากที่จะทำอะไรเพื่อสังคมมันยังอยู่ ก็เลยเลือกไปทำงานสายวิจัย ก็ได้เจอะเจอกับคนทำงานสาย NGOs ก่อนที่จะเริ่มตั้งบริษัทของตัวเองชื่อห้องหุ้นสุข ซึ่งตอนนี้ดำเนินงานมาเป็นปีที่ 9 แล้ว เป็นบริษัทที่ทำสื่อที่เกี่ยวกับประเด็นทางสังคม 100% โดยไม่ทำเรื่องอื่นเลย ซึ่งประเด็นที่เราไปทำก็ต้องไปสร้างจุดคานงัดกับเรื่องต่าง ๆ
เราค้นพบว่าการทำบริษัทเองทำให้เรามีงานที่เราสามารถเดินทางได้อย่างอิสระ แล้วเรากับแฟน (สุดารัตน์ สาโรจน์จิตติ) ก็เชื่อเหมือนกันว่า เรื่องถิ่นที่อยู่ควรจะเป็นอิสระ เพราะพื้นฐานทางครอบครัวเรา พ่อแม่เราเป็นพนักงานเงินเดือน เต็มที่กับการทำงานมาก ไม่มีค่อยมีเวลาให้กันเท่าไหร่ ถ้าเกิดว่ามีบริษัทที่ให้เงินพ่อเราเยอะกว่าพ่อเราก็ย้าย ย้ายไปสมุทรปราการบ้าง นนทบุรีบ้าง แล้วก็สุดท้ายก็มาซื้อบ้านอยู่ที่ปทุมธานี แต่พอเกิดวิกฤติต้มยำกุ้งปี 40 ที่บ้านก็ล้ม เสร็จแล้วพ่อแม่ก็ต้องมาขายหมูปิ้ง แล้วพ่อแม่เราก็พบว่าการขายหมูปิ้งมันสบายแล้วได้เงินเยอะกว่า แล้วเราก็ได้พ่อแม่เรากลับมา เพราะพวกเขาไม่ต้องทำงานแบบเข้า 9 โมงเช้า ออก 5 โมงเย็น ด้วยความที่เป็นมนุษย์ที่อยู่ในสภาพครอบครัวแบบนี้ก็เลยทำให้เรามองอะไรได้ชัดเจนขึ้น มีคนเคยพูดไว้ว่าสายตาของความยากจนเป็นสายตาที่วิเศษมาก แต่พอเกิดวิกฤติปี 40 ตอนนั้นก็บ้านโดนยึดกลายเป็นคนไม่มีบ้าน ไม่มีราก เลยตั้งคำถามกับตัวเองว่าแล้วเราควรอิสระหรือเปล่า
หลายปีที่ผ่านมาเราเลยคิดเรื่องการย้ายออกจากกรุงเทพฯ มันมีตัวเลขในใจอยู่สามตัวเลือก คือ ขอนแก่น สุราษฎร์ธานี และเชียงราย แต่ด้วยความที่เราเป็นคนที่ไม่ชอบอยู่ในจังหวัดใหญ่ ก็เลยลงใจมาอยู่ที่เชียงรายเพราะมันไม่เล็กไม่ใหญ่จนเกินไป มาอยู่ปี 64 ปรากฏว่าเจอโควิดเลย แล้วโควิดมันก็บังคับให้เราลงรากที่นี่เพราะมันเดินทางไม่ได้ แต่ตอนนั้นก็มีความคิดอยู่สองแบบก็คือเราจะกลับกรุงเทพฯ ดีไหม หรือว่าเราจะอยู่ที่นี่ต่อดี เพราะว่ามันก็เห็นความเป็นจริงว่าแม้จะอยู่เชียงรายก็จริงแต่บินไปกลับกรุงเทพฯ บ่อยมาก แต่สุดท้ายเราก็ตัดสินใจกันว่าจะอยู่เชียงรายนี่แหละ ทีนี้พออยู่เชียงรายปุ๊บก็ต้องมีทะเบียนบ้าน พอมีทะเบียนบ้านสิทธิในการเลือกตั้งมันก็ต้องมาอยู่ที่นี่ด้วย
ก็เลยต้องทำเชียงรายสนทนา ?
ก็หันไปมองรอบตัวก็ยังไม่รู้จักใครเลยก็เลยอ่ะ พอเข้าสู่ช่วงเลือกตั้ง เราก็อยากรู้จักผู้สมัคร เชียงรายสนทนามันเลยเกิดขึ้น ตอนนั้นคือเราแท็กผู้สมัครทุกคนทุกเขตเลยนะ แบบว่ามาเปิดบทสนทนา มาทำความรู้จักกัน มาคลี่ความคิด สิ่งที่จะทำ และปัญหาที่เห็น เพื่อให้ประชาชนสามารถตัดสินใจได้ด้วยว่าคนนี้น่าสนใจที่จะเลือกมาเป็นผู้แทนของเรา แล้วก็ทำอินโฟกราฟฟิคขึ้นมาว่าเขตนั้นเป็นยังไง ข้อมูลอธิบายลักษณะเชิงประชากรเป็นยังไงแล้วลองคาดเดาผลการเลือกตั้ง สรุปว่ามีผู้สมัครเข้ามาคุยกับเรา 5-6 คนไม่เกินนี้
จนมันเกิดเรื่องขึ้นมาเพราะว่าทาง The North องศาเหนือ ประสานมาว่าทางไทยพีบีเอสอยากทำโหนดสื่อสาธารณะท้องถิ่น ก็เลยเสนอเชียงรายสนทนาเข้าไป ถือว่าก็เป็นเรื่องดีที่ขัดเกลาเราให้เห็นตัวตนที่ชัดเจนขึ้น เราชัดว่าสิ่งที่เราทำเรียกว่าเราเป็น Data Journalist เราไม่ได้ทำข่าวที่เน้นความเร็ว เราทำข่าวผ่านการเอาข้อมูลมาวิเคราะห์ ทำเรื่องฝุ่น ทำเรื่องน้ำ แล้วเราก็ทำเรื่องการจัดการความรู้ในขณะเดียวกัน นี่คือสิ่งที่เชียงรายสนทนาทำ
เรามี Mottos ประจำใจว่าเราอยากสร้างเมืองนี้ด้วยข้อมูล โดยเรื่องราวของผู้คนและท้ายที่สุดคือสร้างองค์ความรู้ เพราะเราเชื่อว่าคุณจะเถียงกันอย่างมีวุฒิภาวะคุณต้องมีข้อมูล ให้ข้อมูลมันเคลื่อนเชียงราย
ย้อนกลับไปอีกนิด เห็นว่าทำ ‘พก’ ร้านหนังสือและโรงหนังขนาดเล็กด้วย
พกมันไม่เชียงรายเลย พกเป็นเหมือนผู้พเนจรมากกว่า มันเป็นเหมือนคนเดินทาง ที่เดินทางไปพื้นที่ต่าง ๆ แล้วพกหนังสือ หนังสารคดี ภาพถ่ายไปดูด้วยมากกว่า ซึ่งมันเกี่ยวเนื่องกับเชียงรายในแง่ที่ว่าการที่เราเป็นผู้พเนจรแล้วต้องมาอยู่เชียงราย เรารู้สึกว่าเราอยากมีสารคดีที่เราอยากดูไว้ดู เราก็เลยพกมันมาด้วย แล้วโดย Concept ของมันตอนนั้นก็คือมันเหมือนเป็นการทำให้การดูหนังเป็นเรื่องปกติธรรมดา เราไม่จำเป็นจะต้องไปดูหนังในที่มืด ๆ ไม่ต้องทำเสมือนว่าโรงหนังเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ห้ามขยับตัว ห้ามเล่นโทรศัพท์ คนที่มาดูหนังกับพกสามารถทำอะไรก็ได้ เล่นโทรศัพท์ก็ได้ หรือจะเข้าห้องน้ำตอนไหนก็ได้เพียงแค่ไม่ได้รบกวนการดูหนังของคนอื่นก็พอ มันก็เลยทำให้คนมองเห็นว่าจริง ๆ แล้วการฉายหนังก็สามารถทำได้ง่ายแค่นี้เองเหมือนกัน ซึ่งสิ่งที่เราออกมาฉายมันมีบทบาทหน้าที่เป็นเพียงเครื่องมือในการชวนพูดคุยกันมากกว่า เช่น เราไปถ่ายสารคดีเรื่องแม่น้ำโขงหลังจากดูเสร็จเราก็เอาประเด็นจากในหนังในสารคดีมาชวนกันถกเถียงต่อ สร้างบทสนทนาต่อด้วยตัวมันเองแล้วมันก็มีฟังก์ชั่นของมัน เช่น เป็นการกระตุ้นเมือง เป็นการสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน
กลับมาต่อที่เชียงรายสนทนา ช่วงที่มีการเลือกตั้งใช้กระบวนการแบบไหนที่ทำให้เหล่าผู้สมัครเขารู้สึกว่าอยากเข้ามาร่วมสนทนากับเรา
ใช้วิธีโพสต์แล้วแท็กทุกคนเพื่อความแฟร์แบบที่บอกไปนั่นแหละ ส่วนที่เหลือคือเป็นหน้าที่ของเค้าที่จะเป็นคนติดต่อเรากลับมาเอง แล้วเราไม่ได้ส่งคำถามให้ดูก่อนด้วย คือชวนมาคุยกันเลย อยากรู้ว่านโยบายเป็นยังไงบ้าง แล้วจะทำให้มันเป็นจริงได้ยังไง เรื่องการศึกษาจะเป็นยังไง คือถามง่าย ๆ ด้วย Sense ที่ประชาชนอยากรู้ เราถามด้วยความง่ายแค่นั้นเลยว่าเราก็เป็นประชาชนคนหนึ่ง เราก็แค่อยากรู้เฉย ๆ ว่าเค้าจะทำอะไรให้เราได้บ้าง
ความตลกคือพอได้คุยกับผู้สมัครของบางพรรคที่เราคาดไม่ถึง ก็พบว่าจริง ๆ แล้ววิธีคิดเขาไม่ได้แย่ขนาดนั้น มันก็โอเค บางพรรคนี่ติดต่อตั้งเข้าไปหาตั้งแต่วันนั้น จนวันนี้ยังไม่ติดต่อกลับมาเลยก็มี
แล้วทำไมต้องชื่อเชียงรายสนทนา
เราเชื่อในกระบวนการ Dialogue มาก ๆ ก็คือคุยกันไปเรื่อย ๆ สนทนากับไปเรื่อย ๆ พูดคุยกันเชิงลึก แล้วส่วนตัวเป็นคนชอบเสพรายการประมาณนี้อยู่แล้ว อย่างเช่นพวก Podcast ก็ฟังเรื่อย ๆ หรือแม้กระทั่งในกระบวนการทำสารคดีมันก็ต้องใช้กระบวนการพูดคุยเพื่อให้ได้ข้อมูลมา เราเชื่อว่ามันควรมีกระบวนการพูดคุยกันลึกลึกแบบนี้ เพราะฉะนั้นมันก็เลยต้องมีชื่อคำว่า “สนทนา” แล้วเราเชื่อว่าถ้าคนสองคนได้คุยกันจริง ๆ มันน่าจะดีขึ้นได้ เป็นกระบวนการที่เราให้คุณค่ากับมันมาก ๆ
พอพูดถึง Dialogue มาก ๆ ผมมองย้อนมาดูที่เชียงรายสนทนา มันมีความเป็น Informative มากกว่า ในขณะที่จริง ๆ แล้วการสนทนามันน่าจะเป็น Narrative มากกว่าการเป็น Data journalist อ่ะครับ
คุณไม่มีทางคุยกับใครได้ถ้าคุณไม่มีข้อมูล และในความเป็นจริงข้อมูลที่ออกมาจากเชียงรายสนทนาจะเป็นข้อมูลที่ได้มาจากการพูดคุยกับผู้คนเสมอ ถ้าเกิดว่าสังเกตุจะเห็นว่าเรามีฟอนต์ที่เป็นลายมือที่ควรเขียนมาซึ่งเราเอาอันเนี่ยเป็นตัวเปิดประเด็นและเริ่มบทสนทนากับคน เพราะว่าเราเชื่อว่าทุกคนไม่ได้ไม่มีความเข้าใจในข้อมูลนั้น ๆ แล้วเขียนข้อมูลลงมาในรูปแบบที่ธรรมดาที่สุดไม่ได้ใส่ความเป็นวิชาการเข้าไปจนมันฟังไม่รู้เรื่องจากนั้นก็ชวนคุยด้วยกันตั้งต้นจากข้อมูลที่เข้าใจง่ายเหล่านี้
หลังเลือกตั้งจนถึงตอนนี้ทำอะไรไปแล้วบ้าง
เราทำเรื่องงบประมาณของเชียงรายโดยมีเว็บให้คนเข้าไปใส่ความคิดเห็นว่าตรงนี้งบเยอะไปหรือเปล่า หรือว่าตรงนี้น้อยไปไหม เราพยายามทำเรื่องแม่น้ำโขง พยายามทำเรื่องชาติพันธุ์ในแง่ Archive แล้วถ้าถามว่าน้ำหนักที่เชียงรายสนทนาให้มากที่สุดคือเรื่องอะไร 60% คือเรื่องสิ่งแวดล้อม ด้วยความที่เชียงรายเจอภัยพิบัติทุกรูปแบบและประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็ค่อนข้างหนาแน่นในที่นี่
เห็นว่ามีการฝึก AI ให้เป็นกองบรรณาธิการด้วยทำยังไง
เราเอาข้อมูลจากการทำกระบวนการอย่างเป็นระบบมาป้อนให้กับ ai ให้เรียนรู้แล้วเราก็ทำกระบวนการเรื่อย ๆ และป้อนข้อมูลเข้าไปเรื่อย ๆ แล้วเราก็ลองถาม AI ว่าจากข้อมูลที่เราให้ไปทั้งหมดเนี่ยมีข้อมูลด้านไหนที่เราควรทำ หรือน่าทำต่อไปหรือเปล่า แต่สิ่งที่เราต้องการใช้งานจาก AI ก็คือเราต้องการใช้งานความจำ ไม่เพียงแค่นั้นเนื่องจากเราฝึกตรรกะพัฒนาเหตุผลให้กับ AI ด้วย ตอนนี้เรากำลังสนุกกับการปั้นกองบรรณาธิการ AI มาก โดยเฉพาะกับประเด็นแม่น้ำโขงนี่กำลังสนุก
ในช่วงที่เกิดวิกฤติน้ำท่วมในอำเภอแม่สาย และในเมืองเชียงรายที่ผ่านมา มันมีปัญหาเรื่องแหล่งข้อมูลที่ทับซ้อนกันไม่ตรงกัน ภายใต้สถานการณ์นี้เชียงรายสนทนาทำอะไร
ในช่วงที่น้ำท่วมระลอกแรกเราไม่ได้ทำอะไรเลยนะ ช่วงที่มันเริ่มท่วมที่อำเภอเทิง อำเภอเวียงแก่น เรายังไม่ได้มีบทบาทอะไร แล้วตอนนั้นเราเองก็เป็นผู้ประสบภัยด้วย แต่เราก็เริ่มเห็นช่องว่างแล้ว ไม่นานหลังากนั้นน้ำก็ท่วมแม่สาย เราเห็นความทุกข์ยากจากการหลั่งไหลของข้อมูลเป็นจำนวนมาก เราเลยลุกขึ้นมาทำไลฟ์สดตั้งแต่สองทุ่มจนถึงตีสองอัพเดทสถานการณ์ตลอด สิ่งที่เราเห็นก็คือมันมีรายงานเข้ามาตลอด เราก็เลยจัดเก็บข้อมูลเข้า Google Forms เสร็จแล้วเราก็เอาข้อมูลพวกนี้ขึ้น Dashboard เผื่อว่าคนที่ต้องการเข้าไปช่วยเติมข้อมูลตรงนี้ สามารถเอาไปใช้ได้เลยทันที
เรามีการบอกว่าเรามีไฟล์ข้อมูลไว้อยู่ตรงนี้นะตรง Description ตรงนี้นะ ก่อนที่ต่อมาเราปรับวิธีโดยการให้ทุกคนกรอกฟอร์มเข้ามา อย่างวันแรกที่เราได้ข้อมูลมาประมาณ 30 เคส ส่วนวันต่อมาที่แม่สายก็ไปจบที่ 100 เคสที่ทุกคนช่วยกันกรอกข้อมูลเข้ามาอย่างเป็นระบบว่ามีชุมชนไหนอะไรยังไงพิกัดอยู่ตรงไหนบ้างที่ประสบปัญหา สิ่งที่เราค้นพบจากเรื่องนี้ก็คือว่าคนที่กรอกข้อมูลไม่ใช่ผู้ประสบภัยแต่เป็นคนที่เห็นผู้ประสบภัยซึ่งน่าสนใจมาก
สิ่งที่เราทำก็คือเรา Clean Data คืออะไรก็ตามที่ถูกรายงานซ้ำเราเอาออก เพราะฉะนั้นมั่นใจได้เลยว่าข้อมูลที่คุณได้ไปจะไม่ใช่ข้อมูลที่ถูกรายงานซ้ำเพราะเราจัดการนำข้อมูลซ้ำออกไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งคุณสามารถนำไปใช้งานต่อได้ทันทีเลย แล้วหลังจากนั้นพอเริ่มมีอาสาสมัครจากภาคส่วนต่าง ๆ เข้ามา เขาก็สามารถเอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้ได้เลยทันที ซึ่งสิ่งที่เราทำเนี่ยจริง ๆ แล้วมันคือเป็นการจัดการข้อมูล แต่เราก็เห็นช่องโหว่อีกเรื่องหนึ่งก็คือไม่มีการปิดเคส หมายความว่าเมื่อมีการให้ความช่วยเหลือไปแล้วไม่มีระบบการปิดเคสก็จะทำให้เกิดการให้ความช่วยเหลือซ้ำซ้อน พอขยับเข้ามาเป็นน้ำท่วมในตัวเมืองสิ่งที่เราต้องต่อสู้ก็คือเราต้องต่อสู้กับ Fake News จำนวนมาก โดยการเอาข้อมูลมาให้เค้าดูก็เป็นการตบหน้าคนที่สร้างข่าวปลอมขึ้นมา อีกอันนึงที่เราทำก็คือมีเคสหนึ่งที่สะพานมันน้ำท่วมสูงมากจนรถผ่าไปไม่ได้เราก็ใช้วิธีเปลี่ยน Status บน Google Maps มันสำคัญมากสำหรับคนขับรถเพราะว่าเค้าต้องใช้ข้อมูลที่มันทันเวลา และสี่ทุ่มของวันนั้นปรากฏว่ามีคนถ่ายรูปส่งหลักฐานเข้ามาหาเราบอกว่าระดับน้ำลดลงแล้วสะพานนั้นสามารถใช้เดินทางสัญจรได้แล้วแล้วเราก็เปลี่ยน Status บน Google Maps ได้ซึ่งเป็นสิ่งที่เราดีใจมาก เราไม่แน่ใจว่าเชียงรายสนทนาเป็นสื่อสาธารณะได้หรือเปล่าเพราะว่าข้อมูลของเราผิดบ่อยมาก แต่ว่าก็มีคนมาคอยแก้ให้ตลอด และทุกครั้งที่มีคนมาแก้ให้ก็ไม่เคยมีใครด่าเลย เข้ามาแก้ด้วยความเป็นกัลยาณมิตร และอันนี้ทำให้เราคิดว่านี่คือสิ่งที่เราอยากให้สังคมเป็นหรือเปล่า ?
เราทำเชียงรายสนทนาเพราะเราอยากทำให้เชียงรายเป็นเมืองที่ดีขึ้น และการที่มันจะดีขึ้นได้มันต้องเกิดจากการสนทนา เราจึงไม่ทำเชียงรายรีพอร์ต ในช่วงน้ำท่วมสิ่งที่เราไม่ได้ทำเลยก็คือเราไม่ได้ถ่ายรูปผู้ประสบภัยชัด ๆ สักเท่าไหร่ เราเพิ่งลงพื้นที่แม่สายเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เรารู้สึกว่าเราหยิบกล้องขึ้นมาถ่ายไม่ได้ ตอนที่เราเข้าไปแล้วเราเห็นคนที่บ้านมีโคลนสูงระดับหน้าอกแล้วก็พยายามเอาโคลนออกจากบ้านเขา ตอนนั้นเรารู้ว่าถ้าเกิดว่าเราหยิบกล้องถ่ายพวกเขา มันจะเป็นไวรัลทันทีเลยนะ แต่เรากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่านอกจากไวรัลแล้วมีใครได้อะไรบ้าง เราเลยเลือกไม่หยิบกล้องมาถ่ายผู้ประสบภัยเลย เราเลือกถ่ายเฉพาะทาง ที่มีโคลนเต็มไปหมด เน้นอธิบายภาพใหญ่ภาพกว้างมากกว่าที่จะเอาเรื่องราวชีวิตความทุกข์ยากของคนมาเป็นประเด็น เรารู้สึกว่าเรื่องนี้มันสอนเราว่าความลำบากของคนอื่นไม่ควรจะเป็นผลงานของเรา แล้วเราก็ไม่เลือกที่จะทำแบบนั้น ความคิดในใจของเราคือการถ่ายรูปแบบนั้นมันใช้ไม่ได้ถ่ายไปแล้วชีวิตพวกเขาไม่ได้ดีขึ้น
ถามแวะอีกสักนิด คิดว่าตอนนี้ Data journalist เพียงพอไหมในหน้าสื่อของไทย ?
เอาความเข้าใจเรื่อง Data journalist ก่อน คำถามคือ กรมอุตุฯรายงานสภาพอากาศทุกวันอันนี้เรียกว่าเป็น Data journalist ไหม? สำหรับเรานะ ไม่ใช่แน่ ๆ เขาไม่เป็น การเอาข้อมูลจาก excel มาเล่าให้ฟังโดยไม่มีระบบบรรณาธิการนี่เราว่าไม่ใช่เหมือนกัน คุณค่าของระบบบรรณาธิการมันไม่ควรถูกทำให้เลือนหายไปจากสังคม แต่ ณ วันนี้เหมือนคำว่า User-Generated Content มันทำให้คุณค่าตรงนี้มันถูกบดบังออกไป เราพูดเรื่องนี้มาตลอด อีกตัวอย่างคือสื่อเดิมในเชียงรายเอง บางสื่อก็อาจจะไม่ใช่ Journalist ด้วยซ้ำ แต่ประเด็นที่มันยากก็คือการที่เราจะทำ Data แล้วเป็น Journalist ไปด้วยเนี่ยมันดูเหมือนไปด้วยกันไม่ได้ เวลาคนพูดถึงคนทำสื่อแบบนี้ก็จะชอบมองว่าพวกนี้มันติสท์แตก แต่มันไปด้วยกันได้
ประเด็นเรื่อง Data journalist นี่เรื่องแรกที่ต้องถามคือรายการที่มันเป็น Data journalist นี่มันมีมากน้อยแค่ไหน แล้วต่อมาฐานคนดูรายการที่เป็น Data journalist มันมีอยู่เท่าไหร่ แล้วปัจจุบันก็เริ่มมีหัวข่าวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเยอะขึ้น ทั้งไทยพีบีเอส, Spring News, TNN กำลังจะบอกว่าเรื่องแบบนี้มันเริ่มเข้ามาเป็นเวฟ แล้วพอคนเริ่มสนใจเรื่องพวกนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ อีกหน่อยคนก็จะต้องการเสพสื่อที่เป็น Data journalist ไปเองโดยอัตโนมัติ ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ถ้ามันไม่มีข้อมูล ถ้าไม่มีข้อมูลคุณทำข่าวสิ่งแวดล้อมกันไม่ได้หรอก แล้วเราก็เชื่อว่าคนไทยก็กำลังพัฒนาไปสู่จุดนั้น ลองไปดู YouTube พวกเนิร์ด ๆ อย่าง Myths Universe หรือพอดแคสต์ของแซลมอนที่พูดเรื่องความคิดความเชื่อ ของอาจารย์แทนไทที่พูดเรื่องวิทยาศาสตร์ ช่องพวกนี้มีคนดูหลักแสนเลยนะ คนเหล่านี้แหละคือความหวัง ประชาชนคือความหวังเสมอ
ความท้าทายสำคัญสำหรับคนที่อยากทำ Data journalist คือคุณพร้อมที่จะยอมรับความยากลำบากนั้นรึเปล่า ที่เวลาคุณนำเสนออ่ะ คุณต้องไม่ใช่แค่เอามาเสนอให้แค่ Layer เดียว ต่อให้มันไม่ได้จำเป็นต้องทำลึกมาก มันก็ต้องผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ ชี้ประเด็นให้คนอ่านเห็นจนเค้าไปเสิร์ชต่อได้ เมื่อก่อนเราเคยถามพี่ที่รู้จักกันจะผลักดันทำไม Open Data อะไรเนี่ย แต่ทุกวันนี้สำหรับการเป็น Data journalist เราเองก็เพิ่งมาค้นพบว่า Open Data แม่งโคตรสำคัญ เราต้องการองค์กรที่ไม่ส่งไฟล์ PDF มาให้อ่ะ เอา Excel มาเลย จะได้เอาข้อมูลไปทำงานต่อได้ง่าย แล้วคนที่มาดูต่อจากเราเค้าจะเห็นว่าเรื่องนี้มันหนักจริง มันเป็นประเด็นจริง ๆ มันควรสนใจแล้วจริง ๆ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นแล้วเค้าเป็นมนุษย์ที่ได้รับการติดตั้งความเป็น Data journalist เข้าไป เค้าจะเป็นคนที่ใช้ Logic มากขึ้น เค้าจะเห็นภาพ เชื่อมโยงเองได้ ติดตามข้อมูลเพื่อวิเคราะห์มากขึ้น ไม่ได้ใช้ Emotional แล้วคนทำสื่อก็ต้องปรับตัวมากขึ้น ท้ายที่สุดภาพที่เราต้องการเห็นก็คือ Data มันถูก Generate โดยประชาชนที่มีวุฒิภาวะ และมีวิธีคิดที่เหมือนคนที่ส่งพิกัดมาว่ารถมันวิ่งข้ามสะพานนี้ได้แล้ว ไม่ได้ใช้ความรู้สึกเอาเองว่ามันน่าจะทำได้ แล้วต่อไปเวลาผู้มีอำนาจเสนอร่างกฎหมายมันก็จะมีประชาชนเสนอร่างคู่ขนานกันเข้าไปเลย ละคนก็จะมองว่ามันคิดแบบนี้ก็ได้นะ ทำแบบนี้ก็ได้นะ แล้วพูดคุยถกเถียงกันบนฐานข้อมูล
คิดว่าหลังจากสถานการณ์น้ำท่วมเชียงรายมันคลี่คลายลง คิดว่าบทเรียนสำคัญคือเรื่องอะไร?
ภาพ: รวมความคิดเห็นของประชาชนจากวง“ฟื้นฟูเชียงราย ช่วยกันเริ่มต้นใหม่ ให้แข็งแรงกว่าเดิม”
เราคงไม่พูดในส่วนอื่นแล้วกัน ขอพูดเฉพาะในส่วนที่เชียงรายสนทนาเข้าไปเกี่ยวข้อง Step แรกคือเรื่องการจัดการความรู้ แต่ไม่ใช่การเอา Stakeholders มานั่งคุยกันออกรายการอะไรแบบนั้นเราจะไม่ทำเด็ดขาด เพราะมันไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาอย่างแน่นอน แต่เราเชื่อว่าเราต้องเอาคนที่สนใจปัญหาเดียวกันเข้ามาคุยกันก่อน เสร็จแล้วก็แยกย่อยที่รวมกลุ่มคนที่มีปัญหาคล้าย ๆ กัน พอได้ข้อสรุปก่อนเสร็จแล้วจึงเอาข้อสรุปเรานั้นมาเข้าสู่วงใหญ่โดยในวงใหญ่คราวนี้ถึงจะสามารถเป็น Stakeholders เช่น ผู้ว่าราชการจังหวัด นายก อบจ. หรือผู้มีส่วนเกี่ยวข้องอื่น ๆที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้ อันนี้ถึงจะเป็นการจัดการองค์ความรู้ได้จริง ๆ
ส่วนอีกเรื่องที่เราจะต้องทำก็คือ เราจะต้องจัดการสร้างระบบหลังบ้าน ตอนนี้เราคุยกับ อบจ. แล้วนะ เรื่องการสร้างระบบหลังบ้าน ที่เราเลือกที่จะคุยกับ อบจ. เพราะว่า อบจ. มีทั้งคน มีทั้งอำนาจ แล้วก็มีงบประมาณ เราทำง่าย ๆ อย่างที่แม่สายคือเรามีระบบแล้วในระบบจะต้องสามารถบอกได้ว่าหน่วยงานไหนรับเรื่องไปแล้วบ้างจากนั้นก็ขึ้น Status ว่าตอนนี้ประเด็นนี้หรือปัญหานี้กำลังอยู่ในขั้นตอนไหนใครกำลังพิจารณาอยู่ไปติดเป็นคอขวดที่ตรงไหนกันแน่ให้เหมือนกับการสั่งอาหารผ่านแกร็บแล้วมันขึ้นว่าตอนนี้อาหารที่เราสั่งกำลังอยู่ในครัว ตอนนี้ไรเดอร์มาถึงแล้ว ไรเดอร์กำลังนำของมาส่งแล้ว ซึ่งสิ่งที่ทำให้เชียงรายมันเผชิญวิกฤตที่ผ่านมาก็เพราะว่ามันไม่มีข้อมูลที่เรียลไทม์มากพอ ประชาชนไม่รู้ว่าเรื่องร้องเรียนที่ตัวเองส่งไปนั้นตอนนี้อยู่ที่ไหนแล้ว และต้องมีระบบปิดเคสให้ได้ด้วยเพื่อว่าการให้ความช่วยเหลือจะไม่ซ้ำซ้อน เพราะเคสที่เชียงรายเราจะเห็นว่ามีข้าวกล่องที่เกินไปเยอะมาก แบบมากเกินไป ในขณะที่คนที่ไม่ได้ก็คือไม่ได้อะไรเลย
แล้วสุดท้ายสิ่งที่จำเป็นต้องมีก็คือใครจะเป็น Key Speaker เมื่อเกิดเหตุการณ์วิกฤตขึ้น และสามารถสื่อสารในสภาวะวิกฤตอย่างมีกลยุทธ์ได้ นอกจากนี้เรายังต้องทำงานให้คนที่อยู่ในจังหวัดเชียงรายสามารถมอนิเตอร์ Data เป็นโดยการทำเป็นคู่มือคู่เมือง ต่อไปนี้เราจะไม่ให้คนเชียงรายรอประกาศเตือนภัยจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างเดียวอีกต่อไปแล้วสิ่งที่คนเชียงรายควรจะถามหลังจากนี้คือฝนตกไปแล้วกี่มิลลิเมตร และเมื่อตกไปประมาณนี้แล้วดินจะเริ่มอิ่มน้ำ เมื่อดินอิ่มน้ำก็ต้องเตรียมตัวเพราะอาจจะเกิดน้ำป่าไหลหลากหรือดินโคลนถล่มได้
มาถึงคำถามสุดท้าย คิดว่าตัวเองเป็นคนเชียงรายแล้วหรือยัง ?
เป็นแล้วครับ เพื่อนเราเคยถามว่าความหมายของบ้านสำหรับมึงคืออะไร เราก็มานั่งตั้งคำถามกับตัวเองว่า เวลาเราไปอยู่ที่ไหนแล้วเราอยากทำให้ที่นั่นมันดีขึ้นเราเรียกที่นั่นว่าบ้านไหม ถ้าใช่ เชียงรายนี่แหละบ้าน คำตอบของเรามันเท่านี้เลย เราอยู่ปทุมธานีมาตั้งแต่เกิด แต่เราไม่เคยมีความคิดแบบนี้เลย แต่พอมาอยู่เชียงรายเราอยากทำโน่นนี่นั่นไปหมด ทำเชียงรายสนทนาทั้ง ๆ ที่ตัวเองเป็นอินโทรเวิร์ต แต่ยังต้องเอาตัวเองออกไปคุยกับคนนั้นคนนี้ ไปคุยกับนายก อบจ. เพื่อให้โปรเจกต์มันรันต่อไปได้ ใครจะลงสมัครนายกเราก็ต้องไปสืบมาว่าเค้าจะทำอะไร แม้แต่การที่เราอยากผลักดันพื้นที่สร้างสรรค์ของคนเชียงรายที่ไม่ทอดทิ้งใครไว้ข้างหลัง มีพื้นที่ให้ทุกกลุ่มชาติพันธุ์ทุกคน หรือการสร้างคานงัดในการปกป้องสิ่งแวดล้อมอีกเต็มไปหมด ละไม่มีใครให้ค่าน้ำมันค่าเดินทางเราเลยนะ เราจ่ายทุกอย่าง ขี่มอเตอร์ไซค์ไปแม่สาย มานั่งดูตาราง Excel เพื่อวิเคราะห์และนำเสนอข้อมูลแบบหนักหน่วง แล้วเราทำขนาดนี้เพื่อที่นี่ เราจะเรียกที่นี่ว่าบ้านมั้ย?