17/06/2022
การปาฐกถาช่วงบ่ายของรำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ “เชิดชูจิตใจ กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละ” เมื่อวันที่12 มิถุนายน 2565 สวนอัญญา หอประวัติศาสตร์ ประชาชนภาคเหนือ โดยมีเนื้อหาว่าด้วยการก่อตั้งและคุณูประการของศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ โดยเริ่มต้นการปาฐกถาด้วย เข้ม มฤคพิทักษ์ อดีตเลขาธิการศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ
เข้ม มฤคพิทักษ์ กล่าวถึง “เบ้าหลอมทั้ง 5” ที่ช่วยผลิตกำลังแนวร่วมขบวนการนักศึกษาทั่วประเทศ โดยเบ้าหลอมทั้ง 5 ที่นั้นคือ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, และกลุ่มเยาวชนนักเรียน ยุวชนสยาม โดย เข้ม มฤคพิทักษ์ กล่าวเน้นย้ำถึงกลุ่มยุวชนสยาม ว่าเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญในการบ่มเพาะนักเรียนระดับชั้นเตรียมอุดมศึกษาก่อนจะกระจายเข้าไปรับการศึกษา และเป็นกำลังสำคัญให้ขบวนการนักศึกษาในหลากหลายมหาวิทยาลัย เช่น พิทักษ์ วิมลสุทธิกุล และตัวของ เข้ม มฤคพิทักษ์ เองก็เป็นผู้ที่เคยอยู่ในกลุ่มยุวชนสยามก่อนจะเข้ามารับการศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เข้ม มฤคพิทักษ์ ยังกล่าวถึงความเกี่ยวของกันระหว่างกลุ่มยุวชนสยามและตัว นิสิต จิรโสภณ ในช่วงที่ เข้ม มฤคพิทักษ์ เข้าศึกษาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในปีพ.ศ. 2515 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ นิสิต จิรโสภณ ได้ต่อสู้กับระบบซีเนียริตี้ที่มีความรุนแรงในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยกล่าวถึงเหตุการณ์การปะทะกันของกลุ่ม “12 เดนตาย” ซึ่งเป็นกลุ่มนักศึกษาปี 1 และกลุ่มนักศึกษาในระบบซีเนียริตี้ ที่มีท่าทีจะเริ่มใช้ความรุนแรงก่อนจะเริ่มคลี่คลายลงหลังการมาถึงของ นิสิต จิรโสภณ ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ทำให้ เข้ม มฤคพิทักษ์ ประทับใจในตัว นิสิต จิรโสภณ นับตั้งแต่นั้น
เข้ม มฤคพิทักษ์ อธิบายถึงกลุ่มวลัญชทัศน์ ในแง่การเป็นเบ้าหลอมก่อนจะกลายเป็นแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่กำลังมีการบ่มเพาะการเคลื่อนไหวก่อนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ในปีถัดมา โดยเล็งเห็นว่าศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย เป็นศูนย์รวมของนักศึกษาในระดับประเทศแล้ว แต่ยังไม่มีศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ เข้ม มฤคพิทักษ์ จึงเริ่มทำการประสารงานติดต่อกับสถาบันการศึกษาระดับวิทยาลัยขึ้นไป ก่อนจะเกิดการประชุมร่วมกันนำไปสู่การจัดตั้งศูนย์กลางนักศึกษาภาคเหนือ เพื่อจะเป็นแกนในการต่อสู้ในภาคเหนือ โดยมีตัว เข้ม มฤคพิทักษ์ เองเป็นเลขาธิการคนแรก ซึ่งมีบทบาทมากขึ้นหลังเหตุการณ์ 14 ตุลา 16 อีกทั้งยังกล่าวอีกด้วยว่าเป็นเหตุการณ์การต่อสู้ที่มีความร่วมมือของทั้งขบวนการนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และนักศึกษาระดับมหาวิทยาลัยในภาคเหนือเป็นครั้งแรก คุณูประการอีกหนึ่งอย่างที่ เข้ม มฤคพิทักษ์ ยกขึ้นมาคือการก่อตั้งของสหพันธ์ชาวไร่ชาวนา ที่เกิดขึ้นหลังจากการประสานของนักศึกษา ก่อนจะส่งให้ จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวต่อ
จาตุรนต์ ฉายแสง กล่าวเสริมสำหรับการมาร่วมรำลึกถึง นิสิต จิรโสภณ ในส่วนของความกล้าต่อสู้ และกล้าเสียสละ ซึ่งจะสมบูรณ์ได้ถ้าเพิ่มความมีอุดมการณ์ และความรักในความเป็นธรรม
จาตุรนต์ ยกคำถามที่ว่า “คนแบบพี่นิสิตและเพื่อนๆ เกิดขึ้นมาได้อย่างไร” ซึ่งเจ้าตัวมองว่านอกเหนือจากลักษณะของแต่ละคนแล้ว ผลจากสังคม ที่มีความไม่เป็นประชาธิปไตย ล้าหลัง ต้องการการเปลี่ยนแปลง ก็เป็นอีกหนึ่งส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องนี้ ซึ่งทำให้ประชาชนในยุคนั้นต้องออกมาหาคำตอบ และการเปลี่ยนแปลงให้กับสังคม โดยนอกเหนือจากการทำให้ประชาชนในสังคมเกิดการ “ตื่นรู้” มากขึ้น คุณูปการที่ส่งต่อมาจากคนรุ่น นิสิต จิรโสภณ อีกข้อที่ จาตุรนต์ ยกขึ้นมากล่าวคือการต่อสู้เคลื่อนไหวเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม ซึ่งถูกส่งต่อมาจากคนรุ่นเก่า
จาตุรนต์ เล่าว่าตนนั้นได้เข้าร่วมการต่อสู้ช้าไปเสียหน่อย โดยหลังจากเป็นสมาชิกสภานักศึกษา และร่วมทำกิจกรรมต่างๆ ช่วงปลายปี พ.ศ. 2518 โดยการถูกส่งไปลงสมัครสโมสรนักศึกษาในตำแหน่งนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้ชื่อกลุ่ม แสงเสรี ความเบ่งบานของประชาธิปไตยในช่วงนั้น มีกิจกรรมมากมายถูกจัดขึ้นโดยกลุ่มคนก้าวหน้า ไม่ว่าจะเป็นการเผยแพร่ความรู้, การส่งนักศึกษาออกไปทำงานในชนบท, และการต่อสู้ทางการเมือง โดยสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้เข้าร่วมกับศูนย์กลางนักศึกษาแห่งประเทศไทย
การเคลื่อนไหวในช่วงนั้นที่ไม่ได้มีอยู่แค่ในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ต่ออีกว่าตนนั้นรับตำแหน่งเป็นนายกสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่ก็มีส่วนทำให้ตัวสโมสรได้เป็นที่พึ่งพิงสำหรับผู้เคลื่อนไหวชาวไร่ชาวนาที่เข้ามาขอความช่วยเหลือในยุคนั้น เช่นการหาพื้นที่สำหรับการจัดอภิปราย หรือการเข้าไปร่วมเคลื่อนไหวกับชาวไร่ชาวนา ซึ่ง จาตุรนต์ ถือว่าเป็นลักษณะพิเศษของการเคลื่อนไหวโดยนักศึกษาในพื้นที่ภาคเหนือ ซึ่งมีความเข้มข้นสูงในช่วงนั้น อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นช่วงเบ่งบานของประชาธิปไตย และกระแสการเคลื่อนไหว ยังมีการต่อต้านปราบปรามแม้แต่ในพื้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เอง แต่ด้วยการสนับสนุนผ่านการลงมติ สโมสรนักศึกษาเชียงใหม่ในสมัยของ จาตุรนต์ ฉายแสง จึงสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ต่อไป ถึงอย่างนั้น การปราบปรามดังกล่าวก็ส่งผลให้มีการสังหารผู้นำชาวไร่ชาวนาโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือ ก่อนจะนำไปสู่การรัฐประหาร, เหตุการณ์ 6 ตุลา 19, และการประกาศยุติของขบวนการเคลื่อนไหวในจังหวัดเชียงใหม่
ส่วนหนึ่งของปัญหาในตอนนั้น คือการใช้ยุทธวิธีทางการต่อสู้ โดยการวิเคราะห์สังคมจีนในยุคทศวรรษก่อนหน้า มาประยุกต์เข้ากับบริบทของสังคมไทย ซึ่งมีความไม่สอดคล้องกับปัญหาในสังคมไทยตอนนั้น และความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศสังคมนิยมช่วงใกล้การล่มสลายของสหภาพโซเวียต ทำให้การมีอยู่ของพรรคคอมมิวนิสต์ ถูกยุติลงในช่วงเวลาเดียวกับการกลับสู่เมืองของขบวนการเคลื่อนไหว จาตุรนต์ กล่าวต่อว่าสังคมไทยหลังจากนั้น ถูกกดขี่ลงมากภายใต้ระบอบเผด็จการ การเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานหายไป องค์กรผู้แทนชาวไร่ชาวนาถูกลดทอนบทบาท ไม่มีการปลูกฝังแนวคิดเสรีประชาธิปไตย อุดมการณ์สังคมนิยมและแนวคิดสังคมในอุดมคติก็จางหายไป เนื่องมาจากความจริงที่ปรากฎว่าประเทศต่างๆที่ถือว่าตนเป็นประเทศสังคมนิยม แท้จริงแล้วก็ไม่ใช่ และยังไม่มีอุดมการณ์ใหม่เกิดขึ้นในสังคมไทย ว่าสำหรับผู้ที่เคยต่อสู้ร่วมกันมา สังคมอุดมคตินั้นแท้จริงแล้วเป็นอย่างไรกันแน่ อย่างไรก็ตาม แนวคิดสังคมอุดมคติก็ถูกฟื้นคืนมาโดยกลุ่มคนในสังคมไทยที่ไม่ยินยอมต่อความไม่ยุติธรรมภายตั้งระบอบเผด็จการในปีพ.ศ. 2535 เรียงร้องประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ ส่งเสริมระบอบพรรคการเมืองโดยรัฐธรรมนูญปีพ.ศ. 2540 ซึ่งเป็น “รัฐธรรมนูญประชาชน”
แต่ถึงอย่างนั้น จาตุรนต์ เชื่อว่าการปลูกฝังแนวคิดเสรีภาพ หลักนิติธรรม และประชาธิปไตยที่ประชาชนสามารถควบคุมตรวจสอบได้นั้น ยังไม่แข็งแรงพอ โดยหนึ่งในกำลังสำคัญที่ จาตุรนต์ กล่าวถึงคือกลุ่มชนชั้นนำ ที่แม้จะมีเจตนาและเป้าหมายที่ต่างจากประชาชน แต่ก็เข้าร่วมการต่อสู้อาจจะมีจากความไม่พอใจในผู้นำประเทศในช่วงเวลานั้น ก่อนจะแยกตัวออกไปสนับสนุนการปกครองที่จะทำให้ประชาชนในสังคมไร้สิทธิ์ไร้เสียง นำไปสู่การรัฐประหารปีพ.ศ. 2549 และปีพ.ศ. 2557 ที่สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งในช่วงเวลาตั้งแต่ปีพ.ศ.2549 จนถึงปัจจุบัน มีพัฒนาการที่น่าสนใจในส่วนของระบบรัฐสภา และนักการเมืองในระดับหนึ่ง ที่ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่น่าพอใจเต็มที่ แต่ก็ถือได้ว่าเป็นพัฒนาการที่ดี
จาตุรนต์ ยังยกการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่น่าสนใจ ที่ได้เน้นย้ำถึงแนวคิดต่อต้านเผด็จการ, ความเท่าเทียมกันของคนในสังคมภายใต้รัฐธรรมนูญ, และสิทธิเสรีภาพ พร้อมทั้งยังมีแนวคิดใหม่ๆอย่างแนวคิดเสรีประชาธิปไตยที่มีความทันสมัยมากขึ้น เช่นการเคลื่อนไหวในประเด็น LGBTQ+ หรือการสมรสเท่าเทียม ซึ่งถือเป็นแนวคิดเสรีประชาธิปไตยที่ถูกพูดถึงในโลกตะวันตกมาเนิ่นนานแล้ว หรือประเด็นสิ่งแวดล้อม, การลดการผูกขาด และแนวคิดที่เกิดขึ้นใหม่เลยอย่างแนวคิดรัฐสวัสดิการ ซึ่งเคยถูกมองข้ามไปจากการเคลื่อนไหวในยุคสมัยก่อน ที่ต้องผ่านกระบวนการการทำให้เป็นประชาธิปไตย โดยทั้งหมดทั้งมวลนี้มีจุดเชื่อมกับการเคลื่อนไหวในยุคสมัยของ นิสิต จิรโสภณ อยู่ที่ประเด็นการต่อต้านเผด็จการ, ความเป็นอิสระ, และสังคมที่ดีงาม
จาตุรนต์ ทิ้งท้ายไว้ด้วยคำถามที่ว่า “เราจะสามารถเปลี่ยนแปลงบ้านเมืองอย่างไร ให้สอดคล้องกับเงื่อนไขทางสังคม” ที่ต้องเป็นสังคมเพื่อประโยชน์ประชาชนส่วนใหญ่ในสังคม ซึ่ง จาตุรนต์ ถือว่านี่เป็นโจทย์ที่ต้องร่วมหาคำตอบกันต่อไป โดยมีจุดร่วมกันตั้งแต่ประชาชนยุค นิสิต จิรโสภณ และประชาชนในยุคปัจจุบัน ซึ่งถือเป็นการรำลึกถึง นิสิต จิรโสภณ อย่างมีความหมาย
เข้ม มฤคพิทักษ์ กล่าวเสริมเกี่ยวกับอดีตของการเคลื่อนไหว ซึ่งมี “ห่วงโซ่” อยู่ข้อหนึ่งในขบวนการเคลื่อนไหวที่มีความสำคัญและควรพูดถึง โดย เข้ม มฤคพิทักษ์ ใช้คำขนานนามว่าเป็น “ตัวปิด” ซึ่งเป็นกลุ่มที่ช่วยจัดการปัญหาหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 นั่นคือกลุ่ม พคท. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ที่คอยประชุมอยู่ในเบื้องหลังก่อนจะส่งต่อให้กลุ่ม “ตัวเปิด” แพร่เผยต่อไปสู่มวลชน โดย เข้ม มฤคพิทักษ์ กล่าวถึง สุเทพ ลักษณาวิเชียร ซึ่งมีความสำคัญในการเป็นผู้ประสานงานละจัดตั้งที่กรุงเทพ ที่ในตอนนั้นนอกเหนือจากมหาวิทยาลัยทั้ง 4 ที่เป็นเบ้าหลอม ยังไม่มีจุดบ่มเพาะเหมือนอย่างกลุ่มวลัญชทัศน์ หรือสภาหน้าโดม ที่คอยเสริมกำลังกับขบวนเคลื่อนไหว ซึ่งความเป็น “ตัวปิด” ที่ถูกกล่าวถึงนี้ มีคุณูปการในการเป็นผู้เชื่อมโยงขบวนเคลื่อนไหวจากพื้นที่ต่างๆเข้าไว้ด้วยกัน
เข้ม มฤคพิทักษ์ ยังกล่าวย้อนไปถึงวันที่ตนและ นิสิต จิรโสภณ ได้เกิดการเชื่อมโยงกันในการต่อสู้กับระบบซีเนียริตี้ในขณะที่ตนเป็นนักศึกษาใหม่ และได้เห็นถึงการสนับสนุนอย่างสุดกำลังของคนรุ่นตน ที่ภายหลังกลายมาเป็นกำลังสำคัญในการร่วมต่อสู้ของขบวนเคลื่อนไหว ซึ่งกล่าวเสริมว่าเพราะกลุ่มวลัญชทัศน์นั้นเล็กเกินไป จึงมีการขยายและเปลี่ยนชื่อกลุ่มกลายเป็นแนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อรองรับจำนวนแนวร่วมภายในมหาวิทยาลัย แต่เนื่องด้วยการปะทะกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม แนวร่วมนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ดังกล่าวจึงไม่ได้รับการต้อนรับในการเข้าร่วมกับพรรคประชาธรรม และปิดท้ายการปาฐกถาด้วยการกล่าวถึงการพัฒนาที่เป็นลำดับของสโมสรนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งถือเป็นคุณูปการจากการต่อสู้ที่ถูกสืบทอดมา
ภาพ: ศรีลา ชนะชัย
รำลึก 47 ปี นิสิต จิรโสภณ
#รำลึก47ปีนิสิตจิรโสภณ
#Lanner
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...