เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2568 มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ จัดเวทีเสวนาออนไลน์ ในหัวข้อ “วัดใจ ครม.แพทองธาร จะปกป้องประชาชนจากกฎหมายมรดกเผด็จการ คสช.หรือไม่” ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีแพทองธาร ชินวัตร จะพิจารณาร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับ ที่มีเนื้อหามุ่งอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ แต่กลับมีผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในกว่า 4,000 ชุมชน และพื้นที่กว่า 4 ล้านไร่ ที่อาศัยอยู่ในอุทยานแห่งชาติและเขตห้ามล่าสัตว์ป่า แม้ภาคประชาชนจะคัดค้านอย่างรุนแรงเพื่อปรับแก้กฎหมายนี้ แต่กรมอุทยานฯ ยังคงเดินหน้าเสนอร่างกฎหมายดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของ ครม. ดำเนินรายการโดย พชร คำชำนาญ ตัวแทนมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
พชร กล่าวดำเนินรายการว่า พวกเราเป็นพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเครือข่ายที่ทำงานด้านป่าไม้ที่ดินก็คงจะได้ติดตามสถานการณ์ที่ทางกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็พยายามจะผลักดันเสนอร่างพระราชกฤษฎีกา 2 ฉบับเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี หรือ ครม.ซึ่งตัวร่างพระราชกฤษฎีกา ทั้ง 2 ฉบับ ก็เป็นตัวกฎหมายลำดับรองประกอบในส่วนของมาตรา 64 ของพรบ.อุทยานแห่งชาติ และพรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่ามาตรา 121 ซึ่งทั้ง 2 มาตรานี้ ก็เป็นหลักเกณฑ์เงื่อนไขที่เกี่ยวกับการทำกินที่ดินทำกินของพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศ ซึ่งประเด็นนี้ได้ร้อนขึ้นมาเพราะมีกลุ่มประชาชนออกมาขับเคลื่อนเคลื่อนไหวให้ทางกระทรวงทรัพย์ถอนเรื่องนี้ออกจากครม. หรือว่าเคลื่อนไหวให้ทางครม.เองก็ตามคือไม่รับเรื่องนี้ไปพิจารณาในครม. ซึ่งตอนนี้เส้นตายที่เกิดขึ้นก็คือวันที่ 12 พฤศจิกายน วันอังคารที่จะถึงนี้เป็นนัดสุดท้ายท้ายชี้ชะตาว่ากฎหมายทั้งร่างกฎหมายทั้ง 2 ฉบับนี้จะผ่านที่ประชุมของครม.หรือไม่ และถ้าผ่านมาแล้วจะสร้างผลกระทบกับพี่น้องประชาชนที่อยู่ในเขตป่าอนุรักษ์ทั่วประเทศอย่างไร
ปรับแก้กฎหมายป่าไม้ครั้งใหญ่หลังรัฐประหาร
ธนากร อัฏฐ์ประดิษฐ์ ที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า กฎหมายพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติปี 62 หรือว่าสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ปี 62 หรือกฎหมายป่าไม้อื่นๆ มีการเปลี่ยนแปลง มีการปรับแก้ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของประเทศ หลังจากยุคที่คสช.ยึดอำนาจเมื่อปี 57 หลังจากนั้นเกิดสภานิติบัญญัติแห่งชาติซึ่งแต่งตั้งโดยคสช. ที่ออกกฎหมายไม่ต่ำกว่า 300 ฉบับ ที่มีการเร่งในการปรับแก้ออกกฎหมายเยอะมากและรวดเร็วมาก กฎหมายที่ส่งผลกระทบกับคนจำนวนมาก อย่างเช่นกฎหมายอุทยานแห่งชาติที่ส่งผลกระทบต่อคนที่อยู่กับป่า ส่งผลกระทบต่อการจัดการป่าทรัพยากรของประเทศ มันไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในยุคที่ยึดอำนาจรัฐประหารเข้ามา เพราะฉะนั้นการมีส่วนร่วมเป็นตัวชี้วัดสำคัญที่เป็นวิธีคิดสำคัญของระบบประชาธิปไตย มันไม่มีในบรรยากาศการหารือกลไกการออกกฎหมายแบบนั้นอันนี้เป็นปัญหาเริ่มต้นแรก
กระบวนการออกกฎหมายที่ขาดการมีส่วนร่วม
แม้ว่าภาคประชาชน เครือข่ายชาวบ้าน เครือข่ายนักวิชาการมีการออกมาเรียกร้องรณรงค์คัดค้านการออกกฎหมายของสภาคสช.อย่างต่อเนื่องแต่เราก็พบว่าไม่สามารถทำได้มากอยู่แล้ว ภายใต้บรรยากาศที่มีทั้งกฎของคณะรัฐประหาร มีทั้งกฎหมายการควบคุมกันอะไรต่างๆ มีข้อจำกัดมาก กฎหมายมันก็เลยถูกเข็นออกมาจนได้ ในปี 62 หลังจากนั้นตัวกฎหมาย เนื้อหาในตัวพรบ.อุทยานแห่งชาติมันมีเนื้อหาที่มีปัญหาตั้งแต่แรกในตัวพรบ.หลายๆ ตัวที่ตอกย้ำการไม่เปลี่ยนแปลงวิธีคิดในการแก้ปัญหาเรื่องนี้เลย ตั้งแต่แรกตัวกฎหมายลูก กฎหมายลำดับรองที่ถูกเขียนไว้ว่าจะต้องออกมาภายใต้ตัวพรบ.ต่างๆ เหล่านั้นมันจึงเป็นปลายทางเป็นผลผลิตอันหลัง ที่มาจากการก่อเกิดปัญหาทุกอย่างระหว่างต้นทางกลางทางและปลายทางไม่ได้ อันนี้ความเห็นของผมตัวกฎหมายรองกฎหมายลำดับรองหรือกฎหมายรูปต่างๆ เป็นแค่ปลายทางเป็นปัญหาปลายทางที่เกิดขึ้นมาตั้งแต่เริ่มจากการก่อเกิดตัวพรบ.ด้วยซ้ำไป ในพระราชกฤษฎีกาล่าสุดที่พยายามนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามมาตรา 64 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พบว่า หลายมาตราของกฎหมายฉบับนี้สะท้อนถึงการออกแบบที่ไม่ได้คำนึงถึงสิทธิของชุมชนท้องถิ่นและประชาชนที่อาศัยอยู่กับทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งที่สิทธิของชุมชนได้รับการรับรองในรัฐธรรมนูญของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2540 และมีมากว่า 30 ทศวรรษแล้ว ไม่มีความคิดแบบนั้นอยู่ในตัวกฎหมายเหล่านี้เลย
การวิเคราะห์ข้อกฎหมายที่ขัดแย้งกับสิทธิของชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์
มาตรา 5 การที่กฎหมายไม่รับรองสิทธิ์ในที่ดินของชุมชนท้องถิ่น ถือเป็นการตอกย้ำปัญหาของการขาดสิทธิ์ในการเข้าถึงและจัดการทรัพยากรที่สำคัญ ซึ่งถูกระบุในรัฐธรรมนูญ แต่กลับไม่ได้ถูกนำมาปรับใช้ในกฎหมายเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากรของชุมชน ทำให้ไม่สามารถจัดการทรัพยากรตามสิทธิที่ควรจะได้รับ
มาตรา 6 เปลี่ยนสถานะของชุมชนที่อยู่ในเขตอนุรักษ์จาก “ชุมชนท้องถิ่น” ที่เคยมีสิทธิในการดูแลทรัพยากรในพื้นที่ มาเป็น “ผู้อยู่อาศัย” หรือ “ผู้ทำกิน” ที่มีสิทธิ์แค่ภายใต้โครงการ ซึ่งหมายความว่า ชุมชนที่เคยมีบทบาทในการจัดการทรัพยากรในแบบที่ยั่งยืน ถูกตัดขาดจากการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจเกี่ยวกับทรัพยากรของตัวเอง การออกแบบกฎหมายแบบนี้ไม่ได้คำนึงถึงวิถีชีวิตของชุมชนที่อยู่กับป่าและทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งทำให้ชุมชนเหล่านี้กลายเป็นเพียง “ผู้รับผลประโยชน์” จากโครงการต่างๆ ที่รัฐหรือองค์กรต่างๆ จัดทำขึ้น โดยไม่สามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางหรือการจัดการทรัพยากรได้อย่างเต็มที่
มาตรา 10 และ 11 กำหนดว่า ครัวเรือนต้องมีที่ดินไม่เกิน 20 ไร่ และครอบครัวไม่เกิน 40 ไร่ หากเกินต้องคืนให้กับอุทยาน ซึ่งกฎหมายนี้มีความขัดแย้งกับวิถีการใช้ที่ดินของชุมชนชาติพันธุ์หรือชนพื้นเมืองในประเทศ ที่มักใช้ระบบที่ดินร่วมกัน (สิทธิชุมชน) โดยไม่ได้แบ่งแยกเป็นแปลงย่อยหรือกำหนดขนาดชัดเจน เช่น ระบบไร่หมุนเวียน ที่มักมีการปรับเปลี่ยนการใช้ที่ดินตามความต้องการในแต่ละปี ซึ่งข้อกำหนดในกฎหมายอาจทำลายระบบดั้งเดิมนี้ได้ อีกปัญหาหนึ่งคือเรื่องสิทธิสัญชาติของชุมชนชาติพันธุ์บางกลุ่มที่ยังอยู่ในกระบวนการยืนยันสิทธิและสถานะทางกฎหมาย เช่น การขอสัญชาติไทยหรือการแก้ไขสถานะการเป็นพลเมือง ทำให้บางคนไม่ผ่านคุณสมบัติและตกหล่นจากระบบนี้ไป
มาตรา 12 และมาตรา 13 ระบุเกี่ยวกับกรณีที่โครงการในพื้นที่อนุรักษ์จะต้องสิ้นสุด หรือผู้ที่ได้รับอนุญาตจะหมดสิทธิ์ในการอยู่อาศัยในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งจะมีการกำหนดเงื่อนไขและกรอบเวลาอย่างชัดเจน สำหรับการสิ้นสุดหรือหมดสิทธิ์ในโครงการ แต่ประเด็นสำคัญคือ เมื่อมีการจำกัดสิทธิในการอยู่อาศัย ก็อาจทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนในพื้นที่ที่ยังอาศัยอยู่ตามวิถีดั้งเดิม มีการพูดถึงการคืนพื้นที่ต้นน้ำลำธารให้กลับมาเป็นพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งในบางกรณีอาจมีการใช้นโยบายนี้ในการกลับคืนพื้นที่จากการทำเกษตรกรรมหรือการใช้ประโยชน์อื่นๆ เพื่อรักษาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศ นอกจากตัวกฎหมายแล้ว ยังมีการใช้หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับลุ่มน้ำและพื้นที่อ่อนไหว (พื้นที่ที่ต้องการการอนุรักษ์เป็นพิเศษ) มาใช้ในการควบคุมการใช้ที่ดินในพื้นที่ป่า ซึ่งทำให้การกำหนดกฎหมายเหล่านี้ดูเหมือนมีเป้าหมายที่จะนำพื้นที่เหล่านั้นกลับคืนสู่การอนุรักษ์โดยอาจยึดพื้นที่คืนตามหลักเกณฑ์เหล่านี้
มาตรา 64 มีการพูดถึงการสำรวจพื้นที่ภายใต้กรอบเวลาที่กำหนดไว้ 240 วันตามมาตรา 64 ซึ่งมีการร้องเรียนจากชุมชนว่าไม่รู้หรือไม่ได้มีส่วนร่วมในกระบวนการสำรวจเหล่านี้ จนกระทั่งทราบผลหลังจากการสำรวจเสร็จสิ้นแล้ว การตีความคำศัพท์หรือคำต่างๆ ภายใต้กฎหมายที่มีความคลุมเครือทำให้หน่วยงานภาครัฐสามารถใช้ดุลพินิจในการตีความได้กว้าง ส่งผลให้เกิดปัญหากับชุมชน โดยเฉพาะในเขตป่าหรือพื้นที่อนุรักษ์ เช่น การปฏิบัติที่อาจถูกมองว่าเป็นการบุกรุก การแผ้วถางป่า หรือการทำลายสิ่งแวดล้อม การตีความที่ไม่ชัดเจนทำให้เกิดปัญหาหลายประการ เช่น การยกเลิกสิทธิในการอยู่อาศัย การคืนพื้นที่ให้กับอุทยาน หรือการเสียชีวิตของสมาชิกในชุมชนที่อาจทำให้สูญเสียสิทธิ์ในพื้นที่
มาตรา 16 ต่อมาโอนให้คนนอกครอบครัวไม่ได้ อันนี้ก็ขัดแย้งกับระบบการจัดการที่ดินในหลายชุมชนชาติพันธุ์ที่ยังมีอยู่ตอนนี้เหมือนกัน เพราะว่าเขาใช้ระบบชุมชน ไม่จำเป็นต้องเป็นญาติพี่น้องในครอบครัวเดียวกันแต่สามารถแบ่งปันจัดสรรแชร์ที่ทำกินในแต่ละปีในแต่ละฤดูกาลให้กันได้
มาตรา 17 และ 18 กำหนดหน้าที่และข้อจำกัดสำหรับผู้ที่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ โดยระบุว่าผู้ที่อยู่ในพื้นที่ต้องทำตามระเบียบที่หน่วยงานราชการกำหนด เช่น ห้ามรบกวนชีวิตพืชสัตว์ และห้ามทำการเกษตรที่ส่งผลกระทบต่อดิน น้ำ อากาศ หรือสุขภาพ รวมถึงการห้ามใช้ไฟและการเคลื่อนไหวที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม การคิดและการจัดการพื้นที่อนุรักษ์มักมุ่งเน้นไปที่การรักษาสิ่งแวดล้อม (พืชสัตว์) แต่กลับมีข้อจำกัดที่กระทบต่อการดำรงชีวิตของชุมชน เช่น ห้ามทำการเกษตร หรือห้ามสร้างสิ่งปลูกสร้างเกินความจำเป็น การที่ชุมชนสามารถอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ได้นั้นมีเงื่อนไขชัดเจน หากไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดไว้ ก็อาจทำให้สิทธิ์ในการอยู่ในพื้นที่ถูกยกเลิกได้ ความท้าทายคือใครจะตัดสินว่าอะไรจำเป็นหรือไม่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตในพื้นที่อนุรักษ์ โดยเจ้าหน้าที่ที่มีอำนาจตามกฎหมายเป็นผู้ตัดสินใจว่าจะอนุญาตหรือไม่อนุญาตสิ่งใดในพื้นที่นั้นๆ ซึ่งเป็นข้อกังวลในการตีความกฎหมายที่อาจไม่เป็นธรรมกับชุมชน
มาตรา 24 ของพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติฉบับใหม่ ระบุว่า พนักงานเจ้าหน้าที่สามารถห้าม ระงับ หยุด หรือสั่งให้ออกจากพื้นที่ได้ แม้ว่าผู้ที่เข้าไปในพื้นที่จะปฏิบัติตามระเบียบทั้งหมดก็ตาม ซึ่งผู้วิจารณ์มองว่า การกำหนดอำนาจนี้อาจส่งผลกระทบต่อสิทธิของประชาชนในชุมชนต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะใน 4,000 ชุมชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์ ซึ่งอาจไม่ได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ การออกกฎหมายลูกในครั้งนี้ทำให้สิทธิของประชาชนในชุมชนเหล่านี้ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่ เนื่องจากมีอำนาจในการควบคุมพื้นที่ที่เข้มงวดกว่ากฎหมายทั่วไป อีกทั้งชุมชนที่อาศัยในพื้นที่อนุรักษ์ยังต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตและการดำรงอยู่ของพวกเขาในอนาคต
ข้อกังวลยังรวมถึงการตั้งคำถามว่าทำไมชุมชนเหล่านี้ต้องถูกบังคับให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบของพื้นที่อนุรักษ์ ทั้งๆ ที่พวกเขาอยู่ภายใต้กฎหมายของประเทศมาโดยตลอด การออกกฎหมายฉบับนี้จึงทำให้เกิดความผิดหวังต่อระบบกฎหมายและการปกครองที่ไม่สามารถรับรองสิทธิของประชาชนในพื้นที่อนุรักษ์ได้อย่างแท้จริง
การต่อสู้ของชาวบ้านภาคเหนือ ปัญหากฎหมายใหม่กระทบสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่า
จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ กล่าวว่า ย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว ช่วงที่มีการต่อสู้เรื่องการอพยพคนออกจากป่าในปี 37 ซึ่งมีเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือเข้ามามีส่วนร่วม การต่อสู้ในครั้งนั้นคล้ายกับสถานการณ์ในปัจจุบันที่เกิดจากการออกกฎหมายพระราชกฤษฎีกาใหม่ ที่มีผลกระทบต่อสิทธิ์ของชุมชนในพื้นที่ป่า โดยเฉพาะการออกกฎหมายลูกที่จำกัดสิทธิ์ชาวบ้านและไม่สะท้อนความเป็นธรรม กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ของชุมชนในพื้นที่ป่าเริ่มตั้งแต่ปี 34 จนถึงการประกาศอุทยานในปี 60 และต้องใช้เวลา 240 วันในการพิสูจน์สิทธิ์ แต่ก็ยังไม่ได้ผลลัพธ์ที่เป็นธรรม เช่นเดียวกับการพิสูจน์ว่าใครอยู่มาก่อนหรือใครเป็นผู้บุกเบิก ที่ถูกตัดสินด้วยการใช้ภาพจากดาวเทียม ซึ่งไม่สะท้อนถึงความเป็นจริงของชุมชน
ตั้งแต่ปี 58 ชุมชนต่างๆ และขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมได้พยายามต่อสู้เพื่อไม่ให้กฎหมาย 3 ฉบับที่ไม่ยุติธรรมออกมา เช่น พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ. ฝ่าชุมชน โดยเฉพาะการไม่ยอมรับการพิสูจน์สิทธิ์ที่ไม่สามารถตอบสนองความเป็นจริงได้ แม้ในรัฐบาลชุดของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ที่ผ่านมาก็ยังไม่ได้แก้ไขปัญหานี้จนถึงปัจจุบัน การต่อสู้ของชุมชนเริ่มต้นตั้งแต่สมัยที่ สนช. พยายามร่างกฎหมาย พ.ร.บ. ฉบับนี้ โดยชุมชนปฏิเสธที่จะรับการแก้ไข และในปี 63 ก็พยายามผลักดันการปรับปรุงเนื้อหากับรัฐมนตรีวลายุทธ แต่ก็ไม่ได้รับการแก้ไขอะไรจนถึงปี 64 การประชาพิจารณ์ในรูปแบบออนไลน์ (ซูม) ก็ไม่สามารถเข้าถึงชาวบ้านบนดอยและชาติพันธุ์ได้ ในปี 65 รัฐบาลชะลอร่าง พ.ร.บ. นี้ออกไปก่อน แต่ในปี 66 ภายใต้รัฐบาลเศรษฐา ยังคงเคลื่อนไหวและเสนอนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับชีวิตของชาวบ้านในเขตป่า โดยเฉพาะ พ.ร.บ. อุทยานแห่งชาติและ พ.ร.บ. สงวนคุ้มครองสัตว์ป่า ซึ่งไม่ตอบโจทย์ชีวิตของพี่น้อง
แม้ในวันที่ 10 ตุลาคม 2566 ครม. รับรองจะมีการแก้ไข แต่ไม่นานนายกฯ เศรษฐาก็พ้นจากตำแหน่ง และหลังจากนายกฯ พรทองทานขึ้นมา ก็เคลื่อนไหวอีกครั้ง จนถึงวันที่ 22 ตุลาคม 2567 รัฐบาลใหม่มีมติชะลอการออก พ.ร.บ. ชุดนี้ก่อน แต่ยังคงมีการผลักดันให้เข้าสู่ ครม. วันที่ 12 พฤศจิกายน ทำให้เกิดความไม่เข้าใจว่าทำไมถึงเร่งรัดออกมา ทั้งที่มันมีผลกระทบกับ 4,000 ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์ ในวันที่ 22 ตุลาคม ที่ผ่านมา อธิบดีกรมอุทยานกล่าวว่า 4,000 ชุมชนในพื้นที่อนุรักษ์คือ “ผู้บุกรุก” ไม่ใช่ “ผู้บุกเบิก” ซึ่งชุมชนเหล่านี้ยืนยันว่ายังมีสิทธิ์ที่จะแสดงว่า พวกเขาคือผู้ดูแลพื้นที่มาโดยตลอด และคำกล่าวนี้ไม่สะท้อนถึงความเป็นธรรมเพราะชุมชนเหล่านี้อยู่มาก่อนและได้ดูแลพื้นที่มาโดยตลอด การใช้คำว่า “ผู้บุกเบิก” ไม่ควรถูกละเลยแบบนี้
วาทกรรมบุกรุกขัดหลักการรัฐธรรมนูญ และเรียกร้องรัฐยอมรับบทบาทชุมชนในการจัดการทรัพยากร
สุมิตรชัย หัตถสาร ผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์และฟื้นฟูสิทธิชุมชนท้องถิ่น กล่าวว่า เรื่องวาทกรรมบุกรุก มันก็เป็นวาทกรรมที่เขาใช้เป็นเครื่องมือมาตลอด เพราะว่ากฎหมายป่าไม้กฎหมายอุทยานกฎหมายทั้งหมด นิยามเบื้องต้นว่าทั้งหมดที่ดินที่รัฐประกาศเป็นเขตอุทยานเป็นของรัฐ หมายถึงว่าทรัพยากรในรัฐเป็นของรัฐ บุคคลที่จะเข้าไปในพื้นที่เหล่านี้ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐถ้าไม่ได้รับอนุญาตก็ถือว่าเป็นผู้บุกรุกหมด อันนี้คือเขาเรียกหมายถึงว่าแนวคิดในการมองกฎหมายเป็นแบบนั้น แล้วก็กฎหมายเขียนเนื้อหาคำนองนั้น ซึ่งเป็นเขาเรียกอะไรรูปแบบของกฎหมายในยุคเดิมตั้งแต่ยุคก่อนตั้งแต่สมัยยุคล่างนายคมนยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์ในยุคแรก ๆ ก็คือออกกฎหมายมาตราแล้วก็ประกาศพื้นที่เหล่านั้นให้เป็นที่ของรัฐแล้วก็รัฐก็อำนาจมาในการที่จะมากำหนดว่าใครจะได้ ใครจะอยู่ยังไง ใครจะอยู่ที่ไหน อย่างไร คือป่านั้นรัฐจะใช้ยังไง เป็นเรื่องอำนาจที่รัฐจะใช้ในการที่จะควบคุมในการจัดการเรื่องป่าทั้งหมด
ผมคิดว่ายุคโลกปัจจุบันก็ดีหรือหลังจากที่รัฐธรรมนูญ 40 รับรองเรื่องสิทธิชุมชนแล้ว มันไม่มีผู้บุกรุกอีกแล้วในความเห็นผม เพราะว่าถือว่าชุมชนหรือบุคคลที่เป็นชุมชนที่รัฐยอมรับให้เป็นชุมชน เพราะส่วนใหญ่แล้วเป็นหมู่บ้านทั้งหมดในประเทศไทยไม่มีที่ไหน ที่ไม่หมู่บ้านที่รัฐตั้งเป็นเขตปกครอง เพราะฉะนั้นทุกพื้นที่จะมีชุมชนอาศัยอยู่มีบุคคลและชุมชนอาศัยอยู่ทั้งหมดหมด เมื่อเป็นบุคคลและชุมชนก็ย่อมมีสิทธิ์ในการที่จะบริหารจัดการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอันนี้เป็นสิทธิ์ที่รัฐธรรมนูญรับรองมาตั้งแต่ปี 40 จนถึงปัจจุบัน เมื่อรัฐรับรองสิทธิ์นี้แล้วเนี่ยสิทธิ์นี้ถูกรับรองโดยรัฐธรรมนูญซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศแล้ว เพราะฉะนั้นมันจะไม่มีใครเป็นในประเทศนี้เป็นผู้บุกรุกครับรัฐมีหน้าที่ในการดูแลและจัดสรรทรัพยากรให้กับประชาชนเข้าอย่างสมดุลและยั่งยืนก็พูดง่ายๆ คือ ต้องจัดสรรให้ราษฎรสามารถเข้าใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้อย่างสมดุลและยั่งยืนคือหน้าที่ของรัฐมีการออกแบบในการที่จะทำให้ชุมชนสามารถใช้ประโยชน์จากทรัพยากรได้ โดยให้เหมาะสมกับพื้นที่ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของชุมชนต่างๆ นี่คือหน้าที่ของรัฐที่จะเข้ามาช่วยทำให้การจัดการทรัพยากรมันมันยั่งยืนและสมดุลและยั่งยืน
การดำเนินการตามกฎหมายอุทยานแห่งชาติยังคงใช้แนวคิดที่มองชุมชนท้องถิ่นเป็น “ผู้ลุกล้ำ” ในพื้นที่ป่า ซึ่งขัดแย้งกับหลักการตามรัฐธรรมนูญและหลักการสากลที่ยอมรับบทบาทของชุมชนท้องถิ่นในการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ รวมถึงการดูแลป่าโลกในระดับสากล ทั้งนี้สหประชาชาติได้เผยแพร่รายงานทุกปีที่ระบุถึงการมีส่วนร่วมของชุมชนท้องถิ่นในการอนุรักษ์และจัดการทรัพยากรธรรมชาติ และในข้อตกลงต่างๆ เช่น ข้อตกลงปารีสและข้อตกลงกาสโก ก็มุ่งเน้นให้รัฐส่งเสริมให้ชุมชนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของประเทศ โดยไม่ใช่การจัดการจากรัฐเพียงฝ่ายเดียว
‘เลาฟั้ง’ สส.พรรคประชาชน ค้านร่าง กม.อุทยานฯ-สงวนสัตว์ป่า ย้ำไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน
วันนี้ (10 พ.ย.67) เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรบัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน เปิดเผยต่อผู้สื่อข่าวว่า ตนขอให้รัฐบาลทบทวนการผลักดันร่างพระราชกฤษฎีกาที่จะออกตาม พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่มีเนื้อหาเป็นกฎหมายแย่งยึดที่ดินของประชาชนอย่างชัดเจน หากกฎหมายฉบับนี้ผ่านจะกระทบต่อคน 4,265 หมู่บ้าน ประชากรกว่า 1 ล้านคน เนื้อที่รวมกัน 4.27 ล้านไร่
เมื่อเร็วๆ นี้ รัฐบาลชี้แจงว่ามีความจำเป็นจะต้องออกกฎหมายให้ทันภายในกำหนดระยะเวลา โดยจะบรรจุเป็นวาระเข้าประชุม ครม. ในวันอังคาร ที่ 12 พ.ย. นี้ ท่ามกลางการออกมาคัดค้านของชาวบ้าน องค์กรภาคประชาชน ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ซึ่งระยะเวลาออกกฎหมายกำลังจะสิ้นสุดลงในวันที่ 27 พฤษจิกายน 2567 นี้
ร่างพระราชกฤษฎีกาทั้งสองฉบับนี้ มีปัญหาทั้งกระบวนการจัดทำที่ขาดการมีส่วนร่วมของผู้ที่ได้รับผลกระทบ และเนื้อหาที่แย่งยึดที่ดินและจำกัดสิทธิของคนลงไปเป็นอย่างมาก กล่าวคือ
ประการแรก ประชาชนไม่ได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง เพราะในการร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว กรมอุทยานฯ เพียงเปิดรับฟังความเห็นในระบบอินเตอร์เน็ตและจัดประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (Zoom Meeting) หนึ่งครั้งเท่านั้น ทำให้ประชาชนที่จะได้รับผลกระทบ ไม่มีโอกาสได้รับรู้ข้อมูลและแสดงความคิดเห็นประกอบ
ประการที่ 2. รัฐบาลเร่งรัดจะออกกฎหมายโดยไม่ทำให้ครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด โดยกรมอุทยานฯ และสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาได้ชี้แจงต่อคณะกรรมาธิการการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมว่า ร่างพระราชกฤษฎีกาที่ส่งให้คณะรัฐมนตรีนั้นมีโครงการและแผนที่แนบท้ายจำนวน 14 แห่ง จากทั้งหมด 224 แห่งนั้น ซึ่งหากรัฐบาลนำไปประกาศเป็นกฎหมาย จะขัดต่อบทบัญญัติใน พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2562 มาตรา 64 และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 121 ซึ่งต่างบัญญัติไว้ว่าจะต้องจัดให้มีแผนที่แสดงแนวเขตโครงการที่จะดำเนินการแนบท้ายพระราชกฤษฎีกาด้วย ดังนั้น การตราพระราชกฤษฎีกานี้จะต้องมีแผนที่แนวเขตโครงการแนบท้ายให้ครบทุกแห่ง หากไม่มีจะถือบังคับเป็นกฎหมายไม่ได้
ประการที่ 3. ตามร่าง พรฎ. กำหนดว่ามีกำหนดยี่สิบปี โดยที่ไม่ได้บัญญัติว่าจะมีการอนุญาตต่อได้หรือไม่ด้วยเงื่อนไขอะไร เป็นการบัญญัติกฎหมายที่มีกำหนดระยะเวลาให้สิทธิสิ้นสุดลง เท่ากับเป็นกฎหมายยึดที่ดิน หากยึดถือตามนี้หมายความว่าในอีก 20 ปีข้างหน้า ประชาชน 4,265 ชุมชน พื้นที่ 4.27 ล้านไร่ จะต้องส่งมอบคืนให้แก่กรมอุทยานฯ ทั้งหมด
ประการที่ 4. จำนวนเนื้อที่ในการอนุญาตจะได้ครอบครัวละไม่เกิน 20 ไร่ หรือครัวเรือนละไม่เกิน 40 ไร่ ส่วนที่เกินจะต้องส่งมอบให้แก่กรมอุทยานฯ เพื่อนำไปฟื้นฟูเป็นป่า เท่ากับเป็นการกำหนดกฎหมายเพื่อยึดคืนที่ดินซึ่งถือเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ของแต่ละท้องถิ่น เช่น พื้นที่ไร่หมุนเวียน พื้นที่ปลูกไม้ยืนต้นหรือครัวเรือนใหญ่ ที่ครอบครองที่ดินทำกินมากกว่าที่กำหนดนี้
ประการที่ 5. ตาม พรฎ. ได้กำหนดคุณสมบัติและข้อห้ามหลายประการที่มีลักษณะไม่เป็นธรรม กล่าวคือ ต้องการมีสัญชาติไทย ต้องไม่มีที่ดินอื่นนอกเขตโครงการ ต้องไม่มีที่ดินที่เป็นกรรมสิทธิ์หรือมีสิทธิครอบครองอื่น ต้องไม่เคยกระทำความผิดเกี่ยวกับคดีป่าไม้ทุกประเภทในเขตป่าอนุรักษ์
กรณีนี้จะทำให้คนจำวนมากเสียสิทธิ เพราะบุคคลที่ยังไม่มีสัญชาตินั้น ส่วนมากเป็นมีคุณสมบัติที่จะได้สัญชาติไทยตามกฎหมาย แต่กระบวนการจัดทำบัตรประจำตัวประชาชนของกรมการปกครองล่าช้าแต่บุคคลเหล่านี้อาจจะได้รับอนุมัติสัญชาติในภายหลังก็ได้
กรณีคนมีที่ดินอื่นนั้น มีชุมชนจำนวนมากที่เป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่างพื้นที่ป่าอนุรักษ์กับพื้นที่ที่มีกรรมสิทธิ์ สิทธิครอบครอง หนังสืออนุญาตให้ทำประโยชน์ เขตป่าสงวน สปก. เป็นต้น ดังนั้น จึงไม่ควรนำมากำหนดเป็นข้อห้ามให้เสียสิทธิ์
สำหรับกรณีที่กำหนดว่าต้องไม่เคยกระทำความผิดในเขตป่าอนุรักษ์ หรือฝ่าฝืนข้อหนึ่งข้อใดของพระราชกฤษฎีกานี้นั้น เป็นการเอาเงื่อนไขอื่นๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องมากำหนดห้ามหรือเพิกถอนสิทธิ์ ควรห้ามเฉพาะเมื่อเป็นความผิดที่เกี่ยวกับที่ดินที่ได้รับอนุญาตเท่านั้น
ประการที่ 6. สิทธิที่ได้มาไม่สามารถสืบทอดทางมรดกได้ หากทายาทประสงค์จะได้สิทธิต่อจะต้องขออนุญาตต่ออธิบดีใหม่ ข้อห้ามนี้ขัดต่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 มาตรา 37 ที่บัญญัติว่าบุคคลย่อมมีสิทธิในทรัพย์สินและการสืบมรดก นอกจากนี้ยังขัดต่อบทบัญญัติในมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ พ.ศ 2562 และมาตรา 121 แห่ง พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2562 ที่ไม่ได้บัญญัติเอาไว้ จึงเสนอให้ตัดบทบัญญัติที่ห้ามมิให้มีการสืบมรดกสิทธิออก
ประการที่ 7. การห้ามโอนหรือยินยอมให้บุคคลอื่นทำประโยชน์โดยเด็ดขาดนั้นไม่ถูกต้อง เนื่องจากที่ดินเป็นปัจจัยการผลิตที่มีจำกัด ในขณะที่คนในท้องถิ่นจำนวนมากมีอาชีพทำการเกษตรและไม่มีที่ดินทำกินหรือมีไม่เพียงพอ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาการบุกรุกทำลายป่า นอกจากนี้แม้รัฐจะห้ามแต่ในข้อเท็จจริงก็มีการเปลี่ยนมือหรือให้เช่าโดยที่รัฐไม่สามารถควบคุมได้ ซึ่งส่วนใหญ่มีเจ้าหน้าที่รัฐรู้เห็นเป็นใจและเรียกรับผลประโยชน์ด้วย ซึ่งอาจนำไปสู่ปัญหานายทุนกว้านซื้อที่ดิน จึงเสนอให้เปิดให้มีการโอนแก่กันหรือแบ่งกันใช้ได้ระหว่างคนในชุมชน โดยมีกฎระเบียบและกลไกรัฐคอยกำกับ พร้อมกำหนดเพดานการถือครองจะเหมาะสมกว่า
ประการที่ 8. การก่อสร้างอาคาร โรงเรือนหรือสิ่งปลูกสร้าง ต้องห้ามไม่ให้สูงไม่เกินสองชั้น และต้องใช้เพื่อการอยู่อาศัยหรือทำกินเท่าที่จำเป็นแก่การดำรงชีพเท่านั้น ซึ่งคำว่า “จำเป็นแก่การดำรงชีพ” ไม่มีความชัดเจนว่ามากน้อยเพียงใด และห้ามมิให้ใช้เพื่อวัตถุประสงค์อื่น เช่น โรงงาน โรงแรม เท่ากับห้ามมิให้มีการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชน
ด้าน มานพ คีรีภูวดล สส.พรรคประชาชน อีกหนึ่งตัวแทนกลุ่มชาติพันธุ์-ชนพื้นเมือง ชี้ว่ารัฐบาลควรใช้สภาผู้แทนราษฎรที่ประชาชนเลือกมาอย่างถูกต้อง ปรับแก้กฎหมายอุทยานแห่งชาติเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งคนกับป่า
หลังจากมี พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ และ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่าในปี 2562 ผมและพรรคก้าวไกลขณะนั้น เราได้รับหนังสือร้องเรื่องการออกกฎหมายลำดับรองตาม พ.ร.บ.ทั้งสองฉบับจากชุมชนที่ถูกรัฐประกาศเป็นเขตอนุรักษ์หลายแห่ง โดยเฉพาะชุมชนชาติพันธุ์ที่จะกลายเป็นผู้เสี่ยงถูกบีบให้ต้องสูญเสียวิถีชีวิตจนไม่สามารถอยู่อาศัยพึ่งพิงกับป่าที่ได้อยู่อาศัยกันมาแต่บรรพบุรุษ
กฎหมายทั้งสองฉบับถือกำเนิดจากยุค คสช. โดยสภา สนช. ซึ่งเป็นกฎหมายที่ไร้การมีส่วนร่วมของประชาชน หลังลงพื้นที่รับฟังปัญหาจากพี่น้องกลุ่มชาติพันธุ์หลายจังหวัด ประชาชนแสดงความกังวลใจต่อประเด็นการที่รัฐผลักดันการออกกฎหมายลำดับรองและมีข้อเสนอให้ทางผู้มีอำนาจที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ได้ชะลอและสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงมาโดยตลอดแม้เครือข่ายประชาชน จะมีการทักท้วง คัดค้านและนำเสนอการแก้ปัญหามาต่อเนื่องหลายห้วงจังหวะ แต่เสียงของพวกเขาแทบไร้ความหมาย
มาถึงวันนี้ ปัญหาเดิมยังไม่ถูกคลี่คลาย ปัญหาใหม่กำลังจะเพิ่มซ้อนอีก รัฐบาลควรชะลอการออกกฎหมายลูก พร้อมทั้งให้แก้ไขกฎหมายแม่ (พ.ร.บ.อุทยานแห่งชาติ) เนื่องจากไม่มีกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนตั้งแต่ต้น ขณะที่ร่างกฎหมายฉบับที่ประชาชนร่วมลงชื่อกว่า 10,000 รายชื่อ ถูกปัดตกโดย สนช.
กฎหมายนี้ทำให้ชุมชนดั้งเดิมกลายเป็นผู้บุกรุกป่า อีกทั้งยังกีดกันคนหลายกลุ่ม เช่น คนที่ไม่มีบัตรประชาชน คนที่ถูกยึดที่ดินและดำเนินคดีจากการทำกินตามวิถีชุมชน คนเหล่านี้จะไม่มีสิทธิชุมชนในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ อำนาจในการชี้ชะตาว่าให้พวกเขา “อยู่” หรือให้ “ออก” ถูกรวบไปอยู่กับอธิบดีและเจ้าหน้าที่รัฐ
ทรัพยากรที่ดิน เป็นสิ่งจำเป็นในการดำรงชีวิตของพี่น้องประชาชน โดยเฉพาะพี่น้องชาติพันธุ์ ที่มีวิถีชีวิตพึ่งพิงกับป่าไม้ มีวิถีวัฒนธรรมที่ถ้อยอาศัยธรรมชาติ แต่ที่ผ่านมา ชุมชนในพื้นที่ป่าถูกรัฐเข้ามาจัดการด้วยความไม่เข้าใจ และมุ่งแสวงหาประโยชน์จากพื้นที่ป่า โดยไม่สนใจประชาชนที่เป็นชุมชนดั้งเดิม
หากการเปลี่ยนแปลงกฎหมายครั้งนี้ เป็นไปเพื่อประโยชน์ของประชาชน การหยุดฟังเสียงของประชาชน เพื่อเดินหน้าอย่างถูกทิศทางย่อมเป็นสิ่งที่หน่วยงานรัฐต้องพึงกระทำ หากรัฐนั้นมีไว้เพื่อประชาชนอย่างแท้จริง”
ก่อนหน้านี้กรมอุทยานฯ ได้ทำคำชี้แจงต่อคณะรัฐมนตรี แต่ก็ไม่ได้อธิบายหรือโต้แย้งประเด็นเรื่องที่ถูกประชาชนคัดค้าน เช่น ขาดการมีส่วนร่วม สิทธิสิ้นสุดลงเมื่อครบกำหนด 20 ปี จำกัดการถือครองเพียงครอบครัวและ 20 ไร่ ครัวเรือนละไม่เกิน 40 ไร่ ห้ามสร้างที่พักรองรับนักท่องเที่ยว ประกอบกับการเคลื่อนไหวคัดค้านอย่างต้อเนื่องของภาคประชาชน ก็เท่ากับว่ารัฐบาลรู้อยู่แล้วว่าไม่ใช่ร่างกฎหมายที่ออกมาแก้ไขปัญหา มีแต่จะสร้างปัญหาเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังจะเดินหน้าประกาศ นั่นก็เท่ากับว่ารัฐบาลนี้ไม่ได้รู้ร้อนรู้หนาวกับปัญหาความเดือดร้อนของประชาชน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...