ชาวสะเอียบทำพิธีเผาสาปแช่ง 3 รัฐมนตรีคิดปลุกผี ‘เขื่อนแก่งเสือเต้น’  

รายงาน: รัชชา สถิตทรงธรรม

เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ชาวบ้านจาก 4 หมู่บ้านในตำบลสะเอียบ อำเภอสอง จังหวัดแพร่ ได้แก่ บ้านดอนแก้ว บ้านดอนชัย บ้านดอนชัยสักทอง และบ้านแม่เต้น ราว 500 – 600 คน เดินขบวนคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน – ยมล่าง ไปยังศาลเจ้าพ่อหอแดง บริเวณหน้าที่ทำการองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ จากกรณีที่มีนักการเมือง 3 คนได้แก่ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข และปลอดประสพ สุรัสวดี อดีตรัฐมนตรีในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้ให้สัมภาษณ์ประเด็นการแก้ปัญหาน้ำท่วมในลุ่มแม่น้ำยมต่อสื่อมวลชนว่า ถึงเวลาที่ต้องเอาเรื่องเขื่อนแก่งเสือเต้นกลับมาพิจารณาในการแก้ปัญหาน้ำท่วมอีกครั้ง 

จากกรณีดังกล่าวได้สร้างความไม่พอใจต่อชาวบ้านในพื้นที่ตำบลสะเอียบอีกครั้ง เพราะถือว่ารัฐมนตรีทั้ง 3 มีเจตนาปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นเพื่อหวังผลประโยชน์ทางการเมืองหรือไม่ กิจกรรมแสดงการต่อต้านเชิงสัญลักษณ์ในวันนั้นจึงมีการแห่โลงศพจำลองของรัฐมนตรีทั้ง 3 เพื่อไปทำพิธีสาปแช่งและฌาปนกิจ ณ ศาลเจ้าพ่อหอแดงด้วย

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา (สวมเสื้อ “หยุดเขื่อนแก่งเสือเต้น”)

ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา นายกองค์การบริหารส่วนตำบลสะเอียบ ในฐานะประธานกรรมการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ได้อ่านแถลงการณ์โดยระบุว่า

“เราผู้เดือดร้อนจากโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้น ที่เป็นผีหลอกหลอนเรามากว่า 35 ปี น้ำแล้งก็ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น น้ำท่วมก็ปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำไมผู้มีอำนาจ ผู้มีความรับผิดชอบ จึงไม่แก้ไขปัญหาเสียที

ทุกรัฐบาล มุ่งหน้าแต่จะสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ทำลายป่าสักทองกว่า 30,000-40,000 ไร่ ทำร้ายชุมชนสะเอียบนับพันครัวเรือน ทั้งที่ เราได้เสนอทางออกในการแก้ไขปัญหาทั้ง 14 แนวทาง รวมทั้งสะเอียบโมเดลที่เป็นการจัดการน้ำชุมชนขนาดเล็ก ขนาดกลาง ทั่วทั้งลุ่มน้ำยม หลายรัฐบาลสนใจแต่ก็ไม่เคยผลักดันอย่างจริงจังให้เป็นมรรคเป็นผล เจรจากับรัฐบาลแล้ว รับปากแล้วว่าไม่มีการดำเนินการเกี่ยวกับเขื่อนแก่งเสือเต้นแล้ว แต่นักการเมืองก็ยังฉวยโอกาสผลักดันปลุกผีเขื่อนแก่งเสือเต้นมาตลอด

ประสบการณ์สอนให้เรารู้ว่า นักการเมืองเหล่านี้ ปลิ้นปล้อน หลอกลวง และจะฉวยโอกาสผลักดันโครงการเขื่อนแก่งเสือเต้นเสมอมา หากไม่ได้ก็จะเอาเขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง ซึ่งมันคือเขื่อนแก่งเสือเต้นที่แบ่งออกเป็น 2 เขื่อน และพื้นที่น้ำท่วมของเขื่อนก็จะท่วมป่าสักทองเหมือนเดิม

เราจึงขอประกาศว่า เราจะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น เพราะเมื่อเราให้ความร่วมมือทีไร รัฐบาลก็จะสรุปว่าสมควรสร้างเขื่อนทุกครั้งไป นับต่อแต่นี้ เราจึงขอประกาศห้าม บุคลและหรือหน่วยงานที่สนับสนุน เขื่อนแก่งเสือเต้น เขื่อนยมบน เขื่อนยมล่าง เข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด เราจะไม่ให้ความร่วมมือใด ๆ ทั้งสิ้น”

ณัฐปคัลภ์ยังได้กล่าวเพิ่มเติมว่า ปีนี้ครบรอบ 35 ปีของการคัดค้านการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้นของชาวบ้านตำบลสะเอียบ ไม่ว่ารัฐบาลใดก็ตามจะหาเหตุผลมาสนับสนุนการสร้างเขื่อน จุดยืนของชาวบ้านยังคงเหมือนเดิม ตนและชาวบ้านได้ยืนยันมาตลอดว่า ผลกระทบจากการสร้างเขื่อนจะทำให้ชาวบ้านตำบลสะเอียบกว่า 2,000 ครัวเรือนต้องอพยพที่อยู่อาศัย และสูญเสียพื้นที่ป่าสักทองอีกไม่น้อยกว่า 30,000 – 40,000 ไร่

ชาติชาย ธรรมโม (สวมเสื้อยืดสีชมพู)

ชาติชาย ธรรมโม คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ตำบลสะเอียบได้กล่าวถึงก้าวต่อไปหลังจบกิจกรรมในครั้งนี้ว่า สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างความเข้าใจใหม่ต่อภาครัฐและประชาชนคือ ชาวบ้านสะเอียบมีแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในลุ่มแม่น้ำยมและลำน้ำสาขาที่เรียกว่า “สะเอียบโมเดล” ซึ่งนอกจากจะหมายถึงการสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก ฝาย หรือขุดบ่อขนาดเล็กตามลำน้ำสาขาก่อนไหลลงสู่แม่น้ำยมแล้ว สะเอียบโมเดลยังครอบคลุมถึงเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับน้ำด้วย เช่น พลังงานทางเลือก ระบบการป้องกันน้ำที่มีการระบายออกอย่างมีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการนำเสนอทางเลือกอื่น ๆ ที่ชุมชนได้มีส่วนร่วมจัดการกับหน่วยงานภาครัฐมากขึ้น 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง