16/06/2022
ปี 2537 อาจเป็นจุดเริ่มต้นแห่งฝันร้ายของกลุ่มชาติพันธุ์และผู้คนในเขตป่าแถบแม่ฮ่องสอนและตาก เมื่ออุทยานแห่งชาติแม่เงาได้เตรียมการประกาศทับลงไปในพื้นที่ทำกินและผืนป่าของชุมชนผู้อยู่มาก่อน เป็นผลพวงหลังรัฐไทยประกาศปิดป่าจากการสัมปทานป่าไม้ในปี 2532 ตลอดจนเป็นรอยบาดแผลจากการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (รสช.) ในปี 2534 ซึ่งนำมาสู่การมีโครงการจัดสรรที่ดินทำกินแก่ราษฎรผู้ยากไร้ในพื้นที่ป่าสงวนเสื่อมโทรม หรือ คจก. หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า โครงการอพยพคนออกจากป่า ทำให้เกิดแผนในการประกาศอุทยานแห่งชาติหลายแห่งทั่วประเทศ
ปัญหาคนกับป่าถูกตอกลิ่มอีกครั้งหลังการรัฐประหารของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 นโยบายทวงคืนผืนป่าตามคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 ได้ถือกำเนิดขึ้น พร้อมกับแผนแม่บทแก้ปัญหาการทำลายทรัพยากรป่าไม้ การบุกรุกที่ดินของรัฐ และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน หรือ แผนแม่บทป่าไม้ ที่กำหนดตัวเลขพื้นที่ป่าว่ามีเป้าหมายเพิ่มให้ได้ถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ประเทศ แผนนี้ยังคงดำเนินมาถึงปัจจุบัน และถูกสอดแทรกเข้าไปอยู่ในนโยบาย-กฎหมายอื่นๆ ของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมมาอย่างต่อเนื่อง
พชร คำชำนาญ ลงพื้นที่เก็บเสียงสะท้อนจากกลุ่มเยาวชนบ้านแม่ปอคี อ.ท่าสองยาง จ.ตาก ที่รวมกลุ่มกันต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการทรัพยากรและวิถีของกลุ่มชาติพันธุ์ ชวนซึมซับความหวังและจิตวิญญาณแห่งการต่อสู่จากรุ่นสู่รุ่น เป้าหมายสูงสุดคือการ ‘ปลดแอก’ ชุมชนออกจากเงื้อมมือแนวคิดการจัดการป่าของรัฐไทย หวังอิสรภาพในฐานะมนุษย์กลุ่มหนึ่งที่มีสิทธิและศักดิ์ศรีความเป็นคนเท่าเทียมกัน
เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ
#Lanner