Lanner ตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพการแจ้งเตือนศูนย์เตือนภัยพิบัติฯ ‘ผิดที่ผิดทาง’ หลังเหตุ #น้ำท่วมแม่สาย

จากเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่ที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นวิกฤตหนักที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ได้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของระบบเตือนภัยพิบัติในประเทศไทยอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความล่าช้าในการแจ้งเตือนประชาชน จึงทำให้เกิดคำถามถึง ‘การทำงานและประสิทธิภาพของศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ’ ที่ถูกมองว่าเป็นการจัดวางหน่วยงานที่ ‘ผิดที่ผิดทาง

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ: ใครควรเป็นผู้ดูแล?

ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ หรือ ศภช. (National Disaster Warning Center) ซึ่งมีหน้าที่ในการเป็นศูนย์ข้อมูลกลางแจ้งเตือนเมื่อเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น เหตุการณ์น้ำท่วมแม่สาย ปัจจบันเป็นหน่วยงานในสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ภายใต้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่า ‘ผิดที่ผิดทาง’ อยู่ในขณะนี้ เดิมที ศภช. เคยอยู่ภายใต้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) ในสมัยรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร หลังเหตุการณ์สึนามิ เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2548

ต่อมา 15 กันยายน 2559 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา ได้เผยแพร่ประกาศพระราชบัญญัติ ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 โดยมีสาระสำคัญคือให้ยกเลิกกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และให้จัดตั้งกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมขึ้นมาแทน (เปลี่ยนชื่อกระทรวง) จึงทำให้ ศภช. ได้ย้ายมาอยู่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) ก่อนจะถูกย้ายมาสังกัดกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในปี 2565 ระหว่างที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรักษาการนายกรัฐมนตรี

แม้ว่า ศภช. จะกำลังพัฒนาระบบเตือนภัยฉุกเฉินในพื้นที่จริงผ่าน SMS ที่เรียกว่า ‘Cell Broadcast Service’ (CBS) ร่วมมือกับ กสทช. กระทรวง DE และผู้ให้บริการโทรคมนาคมอย่าง TRUE หรือ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (เดิมทีเป็น AIS) แต่ปัจจุบันระบบนี้ยังไม่พร้อมใช้งานตามที่เคยประกาศไว้ และคาดว่าจะพร้อมในปี 2568 แม้ก่อนหน้านี้จะมีการเลื่อนมาจากปี 2567 ก็ตาม

ที่มา: เฟซบุ๊กศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2567

ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่า การแจ้งเตือนภัยพิบัติของ ศภช. ในวันเกิดเหตุนั้น เป็นเพียงการโพสต์รูปภาพเกี่ยวกับการคาดการณ์สาธารณภัยในระยะสั้นบนเฟซบุ๊ก ซึ่งไม่สอดคล้องกับความรุนแรงและความเร่งด่วนของสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่แม่สาย หลายคนตั้งคำถามว่า การแจ้งเตือนในรูปแบบดังกล่าวเพียงพอต่อการเตรียมความพร้อมและอพยพประชาชนให้ทันเวลาหรือไม่

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลทำให้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการจัดการภัยพิบัติในไทยเป็นจำนวนมากจากหลายภาคส่วน โดยมีเรียกร้องให้ศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติกลับไปสังกัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (DE) หรือให้กระทรวงที่มีความคล่องตัวในด้านดิจิทัลรับผิดชอบหลักในเรื่องนี้ เนื่องจากการแจ้งเตือนภัยพิบัติควรมีความรวดเร็ว ประชาชนควรเข้าถึงได้ง่าย และครอบคลุมทุกพื้นที่ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งระบบแจ้งเตือนที่มีประสิทธิภาพควรอยู่ในมือของหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญในการจัดการและประสานงานเรื่องการแจ้งเตือนภัยอย่างมืออาชีพ

อาจกล่าวได้ว่า ปัจจุบันผู้ประสบภัยในไทยยังต้องพึ่งพาการช่วยเหลือจากกู้ภัย เอกชน และมูลนิธิมากกว่าจากหน่วยงานของรัฐ ทั้งที่ในหลายประเทศ การช่วยเหลือฉุกเฉินรวมถึงการอพยพประชาชนจะดำเนินการอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เช่น การใช้เฮลิคอปเตอร์ในการช่วยเหลือพื้นที่ที่เข้าถึงได้ยาก

น้ำท่วมเชียงราย เปิดสาเหตุและปัญหาที่ประชาชนต้องช่วยกันเอง

สาเหตุที่พื้นที่ดังกล่าวเกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เป็นเพราะพื้นที่อำเภอแม่สายและท่าขี้เหล็ก ตั้งอยู่ปากทางออกของน้ำแม่สาย ที่รวบรวมน้ำมาจากเทือกเขาขนาดใหญ่ด้านตะวันตกของของตัวอำเภอในประเทศพม่า ถือได้ว่าเป็นพื้นที่รับน้ำขนาดมหาศาลและมีระดับน้ำสูงกว่าอำเภอแม่สายราว 200 เมตร ยาวประมาณ 50 กิโลเมตร และมีเฉลี่ยความชัน 1:250 ซึ่งถือว่าลำน้ำมีความชัน เมื่อฝนตกหนักจึงเกิดเป็นน้ำป่าไหลหลาก นอกจากนี้พื้นที่รับน้ำของแม่สายนั้นเป็นหุบเขาขนาดใหญ่ และในช่วงหน้าแล้งยังเกิดไฟป่าขึ้นทุกปี นั่นอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำป่าไหลมาอย่างรวดเร็ว จากการขาดพืชคลุมดินและผืนป่าเต็มไปด้วยขี้เถ้าจากการเผา พูดง่าย ๆ ก็คือ ขี้เถ้าเป็นเสมือนแผ้นฟิล์มกันไม่ให้น้ำไหลซึมลงสู่ดิน 

ภาพจาก : workpointtoday

ด้านเขื่อนของจีนในแม่น้ำโขงที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมในภาคเหนือ เพียรพร ดีเทศน์ ผู้อำนวยการฝ่ายรณรงค์ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ องค์กรแม่น้ำนานาชาติ (International Rivers) กล่าวกับ บีบีซี การสร้างเขื่อนประเทศจีนที่ทำให้เกิดน้ำท่วมนั้นอาจจะยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องนี้ เนื่องจาข้อมูลการระบายน้ำของแต่ละเขื่อนนั้นยังไม่มีการเปิดเผยสู่สาธารณะให้ตรวจสอบได้ อย่างไรก็ตามทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สนทช.) จะคอยติดตามสถานการณ์และแจ้งต่อคณะกรรมาธิการฯ ประเทศสมาชิก MRC เพื่อพิจารณาการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน และหลีกเลี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งที่จะส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อาศัยอยู่ริมตลิ่งในหลายจังหวัดของประเทศไทย

สำหรับวิกฤตนำ้ท่วมที่เกิดขึ้นนี้ได้มีเทคโนโลยีพยากรณ์น้ำท่วม ที่สามารถทำนายล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน ทำความรู้จัก Google Flood Hub ซึ่งเป็นระบบที่ทำงานด้วย AI ทำหน้าที่เป็นเครื่องมือพยากรณ์น้ำท่วมที่จะเตือนประชาชนถึงภัยพิบัติที่กำลังจะมาถึงในบริเวณที่อยู่ โดย Flood Hub จะดึงข้อมูลสาธารณะมาจากหลายแหล่ง ไม่ว่าจะเป็นจากการพยากรณ์อากาศ และภาพจากดาวเทียมต่างๆ  โดยจะรวมแบบจำลอง 2 แบบเข้าด้วยกัน คือ 1.แบบจำลองอุทกวิทยา ที่คาดการณ์ปริมาณน้ำที่ไหลในแม่น้ำ 2.แบบจำลองน้ำท่วม ที่คาดการณ์พื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบและความระดับลึกของน้ำ นอกจากนี้แล้ว Google ยังใช้ AI และภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อติดตามไฟป่าและแจ้งเตือนผู้คนที่ตกอยู่ในอันตราย Google นั้นยังได้ร่วมมือกับหน่วยงานแนวหน้าและหน่วยงานฉุกเฉินเพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและโปรแกรมที่จะให้ข้อมูลและช่วยเหลือประชาชนจากภัยอันตราย สำหรับ Flood Hub ในประเทศไทยสามารถเข้าถึงได้ที่ https://sites.research.google/floods/l/0/0/3

ด้านผู้ว่าฯ เชียงราย เรียกประชุมด่วน ติดตามสถานการณ์น้ำท่วม ณ ศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ฯ อ.แม่สาย ซึ่งสำหรับสิ่งที่มีความจำเป็นต่อการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ยังติดในพื้นที่ คือ “เรือยาง” ซึ่งมีความเบา ท้องเรือสามารถรับมือกับมวลน้ำที่ไหลแรงได้มีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้เรือท้องแบน ซึ่งในขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและอาสาสมัครได้นำกำลังเข้าไปช่วยเหลือประชาชนอย่างต่อเนื่อง

ส่วนภาคประชาสังคมได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นทีมงานคุณ กัน จอมพลัง ที่นำเจ็ท สกี เข้าไปช่วยเหลือผู้ประสบภัยที่ติดอยู่ในที่พัก และอาสาสมัครที่นำอาหารหรืออุปกรณ์ยังชีพเข้าไปแจกจ่าย สำหรับผู้ใดที่ต้องการสนับสนุน สามารถช่วยเหลือได้ทาง 

– มูลนิธิกระจกเงา กองทุนภัยพิบัติ มูลนิธิกระจกเงา SCB 202-258-2983

– คริสตจักรศรีชัยภูมิ คริสตจักรพระกิตติคุณสมบูรณ์ สำหรับผู้ได้รับผลกระทบจาก มีที่พักพร้อมที่จอดรถรองรับได้ 120-200 คน

– สนามกาแล็กซี่ จอดรถได้ 20-30 คัน มีห้องน้ำ/อาบน้ำ น้ำ ไฟฟ้า ให้ใช้ฟรี มีแม่บ้านทำความสะอาดตลอด

– ชุมชนในเขตเมืองเชียงราย สามารถนำรถยนต์ไปจอดที่ ” วัดห้วยปลากั้ง “เชียงราย รับได้ 600 คัน โทร 088-610-4955

– สนามสิงห์ เชียงราย สเตเดียม เปิดให้เอารถมาจอดพักได้ ไม่เสียค่าใช้จ่าย

– หอพักพรไพริน ป่าเหมือดซอย 2 ผู้ประสบภัยน้ำท่วมในพื้นที่ อ.แม่สาย ยังไม่มีที่พัก สามารถมาพักได้ที่หอพักได้

อีกทั้งยังมีข้อกังวลเกี่ยวกับการขาดแคลนการฝึกซ้อมและความพร้อมรับมือภัยพิบัติในประเทศไทย การฝึกซ้อมร่วมระหว่างหน่วยงานและประชาชน เช่น กรณีน้ำท่วมที่ไม่มีการเตรียมพร้อมล่วงหน้าหรือให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับพื้นที่หลบภัยอย่างเหมาะสม

เหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่แม่สายนี้จึงถือเป็นตัวจุดชนวนกระแสให้หลายภาคส่วนต้องตั้งคำถามถึง ‘การจัดการภัยพิบัติในระดับท้องถิ่นและชุมชน’ ว่าควรได้รับการปรับปรุง เพื่อเตรียมรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันหรือไม่ อย่างไร

อ้างอิง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง