ล้านนา World จากแม่น้ำโขง ถึงแม่น้ำโคลัมเบีย การต่อสู้อันยาวนาน ‘รื้อเขื่อนในอเมริกา เพื่อชนพื้นเมืองและปลาแซลมอน’ สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือการไม่ยอมแพ้

เรื่อง: ภู เชียงดาว


Summary

  • สารคดี “พันธสัญญาแห่งชาวปลาแซลมอน” (Convennant of the Salmon People) โดย สวิฟท์วอเตอร์ฟิล์ม (Swiftwater Films) เป็นเรื่องราวของชนพื้นเมืองในอเมริกาที่ออกมาต่อสู้ จนรัฐยอมให้มีการรื้อเขื่อนเพื่อให้แซลมอนได้วางไข่ได้เหมือนเดิม หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นมานับร้อยปี
  • สหรัฐ ‘รื้อเขื่อน’ กว่า 2,000 แห่ง ฟื้นฟูธรรมชาติ คืนชีวิตให้ ‘ชนเผ่าพื้นเมืองปลาแซลมอน’
  • ชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองชายแดนโอเรกอน-แคลิฟอร์เนีย ที่ต่อสู้มานานหลายทศวรรษ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ
  • “เราไม่จะไม่ให้คนในลุ่มน้ำโขง เจ็บปวดเป็นร้อยๆ ปี เหมือนชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำโคลัมเบีย  เพราะเราเห็นแล้วว่าแม่น้ำโคลัมเบียมันเกิดปัญหาอย่างไร แล้วพี่น้องชนพื้นเมืองอเมริกาเขาต่อสู้กันอย่างไร  นั่นคือบทเรียนอันล้ำค่าและคิดว่าสําคัญที่สุดที่เราไปเห็นมา” นิวัฒน์ ร้อยแก้ว บอกย้ำ

ผมมีโอกาสไปร่วมงาน “เวทีสาธารณะแม่น้ำโขงและมินิเทศกาลหนังสารคดี” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 23-26 ตุลาคม 2567 ที่โฮงเฮียนแม่น้ำของ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ในงานนี้ นอกจากมีเวทีเสวนาแล้ว ยังมีการพาเราลงพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้กับชุมชนริมน้ำโขง ในพื้นที่ อ.เชียงของ อ.เวียงแก่น และ อ.เชียงแสน ซึ่งเป็นชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากความเปลี่ยนแปลงของแม่น้ำโขงกันอีกด้วย 


ที่มาภาพ: องอาจ เดชา

นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจหลายอย่าง เช่น Mekong Film Workshop ที่ได้เชิญชวนผู้สนใจประเด็นแม่น้ำโขง และการทำภาพยนตร์สารคดีมาร่วมเวิร์คชอป ภายใต้โครงการการถ่ายทอดองค์ความรู้และสร้างเครือข่ายด้านงานวิจัย Science and Policy Interface : Turning Knowledge into Action และ Mekong Youth Program โดยผู้เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้เทคนิคการเล่าเรื่องด้วยภาพ การเรียบเรียงประเด็น และผลิตสื่อออกมาในรูปแบบภาพยนตร์สารคดีสั้น ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิดจากผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทย จนตลอดเผยแพร่ให้บุคคลทั่วไปได้รับชม เพื่อส่งเสริมความเข้าใจ และขยายการมีส่วนร่วมทุกภาคส่วนในการสื่อสารประเด็นแม่น้ำโขง

ครูตี๋ – นิวัฒน์ ร้อยแก้ว  ผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ที่มาภาพ: องอาจ เดชา

‘นิวัฒน์ ร้อยแก้ว’ ที่หลายคนรู้จักในนาม ‘ครูตี๋’ ถือเป็นคนท้องถิ่นที่เป็นกำลังสำคัญที่ลุกขึ้นมาปกป้องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของแม่น้ำโขงมายาวนานกว่าสามสิบปี เขาเคยนั่งเรือไปประท้วงต่อต้านการรุกคืบของจีนที่พยายามจะมาระเบิดแก่งคอนผีหลงกลางแม่น้ำโขง จนต้องถอยกลับและระงับโครงการนี้ไป ต่อมาเขายังออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านการสร้างเขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มาอย่างต่อเนื่อง  นอกจากนั้นจึงได้ร่วมกันก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ เพื่อเป็นพื้นที่การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของเด็กๆ นักเรียน นักศึกษาในท้องถิ่น รวมไปถึงนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทั่วโลกด้วย

จากการทำงานเคลื่อนไหวปกป้องฐานทรัพยากรแม่น้ำโขงมายาวนาน ทำให้ครูตี๋ ได้รับรางวัล Goldman Environmental Prize ประจำปี ค.ศ. 2022 ซึ่งเป็นรางวัลด้านสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยมูลนิธิ Goldman Environmental Foundation ซึ่งเป็นเหมือนรางวัลโนเบลด้านสิ่งแวดล้อมกันเลยทีเดียว

การมาเยือน ‘โฮงเฮียนแม่น้ำของ’ ก็เหมือนกลับมาเยี่ยมบ้านอันอบอุ่นที่คุ้นเคย…ผมรู้สึกแบบนี้ทุกครั้ง พอถึงช่วงกลางคืน มีบทเพลงดนตรีจากวงนาคำ-นาคา สตูดิโอ มาบรรเลง  แทรกกับการอ่านบทกวี ผมลุกขึ้นอ่านบทกวี ‘โลกกำลังเปลี่ยนแปลง’ 

แม่น้ำสายนี้มีชีวิต แม่น้ำสายนี้มีลมหายใจ

แม่น้ำสายนี้มีตำนาน

แม่น้ำสายนี้ มีจิตวิญญาณและความจริง

เงี่ยหูฟังสิ แม่ธรรมชาติกำลังสนทนากับเรา

ในหน้าหนาว เรายินเสียงแม่น้ำอ่อนโยนต่อสรรพสิ่ง

และเฝ้าโอบกอดหัวใจผู้คนสองฟากฝั่ง

ทะนุถนอมเลี้ยงดูชีวิตวิถีชุมชน มายาวนาน

ในยามแล้ง- – เรายินเสียงแม่น้ำร้องไห้

ในฤดูน้ำหลาก- – เรายินเสียงแม่น้ำกราดเกรี้ยว

แม่นั้นเชี่ยวกราก รุนแรง ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไปๆ

เมื่อมีสิ่งแปลกปลอมที่ชื่อว่า ‘เขื่อน’ มาคอยกั้นขวาง

ใช่แล้ว, โลกกำลังเปลี่ยนแปลง

ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โลกกำลังเดือด โลกกำลังร้อน

โลกกำลังแล้ง โลกกำลังรวน และเลวร้ายไปทุกๆ นาที

โน่น,หิมะ ธารน้ำแข็งบนเทือกเขากำลังละลายหาย

แม่น้ำหลายสายนั้นเหือดแห้ง ระบบนิเวศของโลกถูกกระทบ

ทุกหนแห่งกำลังประสบ ดินถล่ม น้ำท่วมอย่างรุนแรง

สิ่งแวดล้อมกำลังพังทลาย ความหลากหลายทางชีวภาพจะลดลง

สัตว์ป่าจะล้มลง สัตว์น้ำเฉพาะถิ่นจะค่อยๆ สูญพันธุ์หายไป

มนุษย์จะล้มตาย ไฟป่าจะลุกลามไหม้หายนะมากขึ้น

ฝุ่นพิษจะคลี่คลุมเมือง พายุจะรุนแรง ฟ้าดำก่ำเศร้า

ที่โน่น แผ่นดินไหว, ที่นั่น น้ำท่วมใหญ่เกิดขึ้นซ้ำๆ

และอีกหลายประเทศ จะได้เห็นทะเลทรายเป็นครั้งแรก

ใช่, โลกกำลังเปลี่ยนแปลง ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

นี่คือสงครามครั้งใหญ่กำลังปะทุรุนแรงมากขึ้น

ปัญหาความมั่นคงทางอาหารกำลังก่อตัวไปทุกแห่งหน

เรากำลังเผชิญกับวิกฤติสงครามในรูปแบบใหม่

ไปพร้อมๆ กับวิกฤติโลกเดือด โลกรวน ไปพร้อมๆ กัน

โอ… โลกกำลังเปลี่ยนแปลง – – -ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ทุกอย่างจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

โลกกำลังเปลี่ยนแปลง… 

จากนั้น มีการฉายหนังสารคดีเกี่ยวกับแม่น้ำโขง และผลกระทบจากการสร้างเขื่อน หลายเรื่องที่หาดูได้ยากมาก เรื่องที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ “ให้ทุกเสียงฝากรอยร้าวแด่เขื่อน” (Every Voice is A crack in The Dam) สารคดีเรื่องนี้ เป็นฝีมือของชาติพันธุ์ดั้งเดิมนิมิอิปู กลุ่มชนพื้นเมือง Nez Perce หรือ Nimiipuu ทำงานร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในพื้นที่ พวกเขาก่อตั้งขบวนการทางสังคมเพื่อรื้อเขื่อนสี่แห่งบนแม่น้ำสาขาที่ใหญ่ที่สุดของแม่น้ำโคลัมเบียทางตะวันตกของสหรัฐอเมริกาและแคนาดา

ชมสารคดีเรื่องนี้ได้ที่นี่ https://www.facebook.com/watch/?v=521964182461370

และ “พันธสัญญาแห่งชาวปลาแซลมอน” (Convennant of the Salmon People) โดยสวิฟท์วอเตอร์ฟิล์ม (Swiftwater Films) เป็นผลงานสารคดีของชนพื้นเมืองในอเมริกา ที่ออกมาต่อสู้เคลื่อนไหวจนกระทั่งรัฐยอมให้มีการรื้อเขื่อนเพื่อให้ปลาแซลมอนได้วางไข่ได้เหมือนเดิมอีกครั้ง หลังจากมีการสร้างเขื่อนกั้นมานับร้อยปี 

สามารถดูสารคดีเรื่องนี้ได้ที่ https://www.pbs.org/video/covenant-vcucck/

พอเราดูสารคดีเรื่องนี้เสร็จ ครูตี๋ได้บอกเล่าเรื่องราว เมื่อครั้งไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับพี่น้องชนพื้นเมืองในอเมริกา ว่าประสบการณ์หรือสิ่งที่ตนได้มีโอกาสได้ไปแลกเปลี่ยนได้ ไปรู้ไปเห็น ไปเข้าใจหลายสิ่งหลายอย่าง ซึ่งการไปครั้งนั้น มันเป็นการไปเพื่อไปเรียนรู้เรื่องราวของเขื่อน คือเราอยากรู้ว่า ความคิดจริงๆ ของเขื่อนมันคืออย่างไร? ทําไมมันต้องสร้างเขื่อน? มันสร้างขึ้นมาเพื่ออะไร? มันสร้างเพื่อใคร?

“ซึ่งมันทำให้เราเข้าใจว่า อ๋อ..จริงๆ เรื่องพวกนี้มันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจนี่แหละ เกิดจากการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ โดยเอาพลังงานเป็นเป็นตัวที่สําคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งมันเป็นวิธีคิดร้อยกว่าปีแล้ว เราไปเห็นปุ๊บ มันชัดเจนเลยว่า โดยวิธีคิดอย่างนี้นี่เอง ทําให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนขึ้นมา มันเห็นชัดเจนเลย ว่าวิธีคิดอย่างนี้มันร้อยปีมาแล้ว และการสร้างเขื่อนมาเป็นร้อยปีในแม่น้ำสายสําคัญในอเมริกา มันสร้างความเจ็บปวด สร้างความผลกระทบมากมายกับกลุ่มคนในท้องถิ่นมาอย่างยาวนานแล้ว ซึ่งทำให้เรารู้ว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นจากการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโคลัมเบีย และในแม่น้ำสาขาต่างๆมันเกิดผลกระทบมากมายกับชนพื้นเมืองที่นั่น” 

Native American หรือชนพื้นเมืองอเมริกัน เป็นกลุ่มแรกๆ ที่อาศัยอยู่ในแอ่งโคลัมเบีย พื้นที่แห่งนี้ขึ้นชื่อเรื่องการตกปลาแซลมอนที่ยอดเยี่ยม ชนเผ่าวานาปัมเป็นชนเผ่าเดียวที่ตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ฮันฟอร์ด ในขณะที่ชนเผ่าเนซเพอร์ซ ยาคามา และอูมาทิลลาอาศัยแอ่งโคลัมเบียในการล่าสัตว์ ตกปลา และประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันโบราณวัตถุที่เกี่ยวข้องกับสถานที่ตั้งแคมป์หรือสุสานสามารถพบได้ในพื้นที่ฮันฟอร์ด    

ครูตี๋ เล่าว่า เมื่อได้ไปแลกเปลี่ยนกับกลุ่มคนท้องถิ่นที่เขาหาอยู่หากินกับธรรมชาติ ทำให้เรารู้ถึงวิธีการขับเคลื่อนต่อสู้ คือพวกเขาใช้สัญลักษณ์ รู้วิธีการต่อสู้ โดยเขาใช้คําว่า ‘People Salmon’ หรือที่แปลว่า ‘ประชาชนแซลมอน’ ที่เห็นถึงความสําคัญว่า ‘แซลมอน เป็นสิ่งสําคัญที่สุด’ เขาพาไปร่วมพิธีในโบสถ์ ในสถานที่ต่างๆ ซึ่งเราก็ได้เห็นว่า สิ่งที่เขาขับเคลื่อนนั้น มันเป็นความเจ็บปวดตั้งแต่ในอดีต ซึ่งเขาเคยอุดมสมบูรณ์ด้วยปลาแซลมอน แซลมอนที่เขาเรียกร้อง ในนามประชาชนแซลมอน มันไม่ใช่แซลมอนที่พวกเขากินเท่านั้น แต่สิ่งที่เราไปเห็นนั่นคือ ปลาแซลมอน มันเชื่อมโยงไปสู่เรื่องของพิธีกรรมความเชื่อ เรื่องการเคารพธรรมชาติ 

“ซึ่งในพิธีกรรมที่เราเข้าไปร่วมกับพี่น้องยาคามาในโบสถ์ มันเห็นชัดเจนว่า แซลมอนคือสัญลักษณ์ที่ใช้บูชาในพิธีกรรมนั้น หมายความว่า ปลาแซลมอน ไม่ใช่อาหารอย่างเดียว แต่มันคือวัฒนธรรม มันคือวิถีความเชื่อ นี่เป็นเรื่องใหญ่ เป็นการยกระดับของจิตวิญญาณไปแล้ว ซึ่งทําให้เห็นว่า เมื่อสิ่งที่เขาได้พึ่งพามาตลอดตั้งแต่บรรพบุรุษแล้ว พอเกิดการสร้างเขื่อนในแม่น้ำโคลัมเบีย แม่น้ำสาขาเกิดขึ้น ทำให้ปลาแซลมอนจํานวนมากมายมันหายไป มันหายไปขนาดไหน หายไปขนาดปลาที่เคยใช้ประกอบพิธีกรรมไม่มี ต้องไปยืมปลาจากหมู่บ้านอื่นมาทำพิธี ทำให้เราเห็นชัดเจนว่า เขาได้ประสบเรื่องความเจ็บปวดจากเขื่อน เขาเจอมานานนับร้อยปีแล้ว  ปลาแซลมอนหายไป วัฒนธรรมหายไป เราไปแลกเปลี่ยนความเจ็บปวดกับสิ่งที่มันเกิดผลกระทบมากมาย ระบบนิเวศเปลี่ยนแปลงในแม่น้ำโคลัมเบีย กลุ่มคนท้องถิ่นเขาเห็นชัดเจนว่า ปัญหาทั้งหมดนั้นมันถูกกระทําจากเขื่อน วิกฤตมันเกิดจากเขื่อน”

ที่มาภาพ: wildlifefilms.org

ครูตี๋ เล่าอีกว่า ในขณะที่รัฐบาลอเมริกาในสมัยนั้น ก็ตั้งข้อหากล่าวหาชนพื้นเมืองกลุ่มนี้ว่า เพราะการทํามาหากินตามวิถีชีวิตของพี่น้องชาวบ้านนี่แหละ ทําให้ปลามันลดลง

“ผมได้นั่งคุยกันแลกเปลี่ยนกับผู้เฒ่าชนพื้นเมืองอเมริกา ซึ่งต่อสู้เรื่องนี้มาตั้งแต่เป็นเด็ก เขาเล่าว่าเคยไปตกปลากับพ่อแต่ถูกรัฐบาลจับ ไม่ให้ตกปลา นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนท้องถิ่น ก็เหมือนกับบ้านเรา ที่กำลังเกิดขึ้นกับกลุ่มพี่น้องชาติพันธุ์หรือกลุ่มคนท้องถิ่นบ้านเราในขณะนี้นั่นแหละ เพราะฉะนั้น เราจะต้องทํายังไงให้คนบ้านเรา ได้เข้าใจเรื่องนี้  มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันความเจ็บปวดเป็นร้อยปี แล้วเขาทําอย่างไร เขาให้ความหวังกับเยาวชนของเขาอย่างไร  ใช่ เขาทําทุกอย่างให้กับคนรุ่นใหม่ทั้งนั้น นี่คือสิ่งสําคัญที่ผมไปเห็น และผมคิดว่าเป็นสิ่งสําคัญมาก ว่าการทํางานหรือว่าการขับเคลื่อนเพื่อไปสู่การเปลี่ยนแปลง  มันต้องให้ผู้ที่ได้รับผลกระทบจริงๆ ได้เรียนรู้แลกเปลี่ยนซึ่งกันและกัน มันเป็นประสบการณ์ซึ่งผมพูดตลอดเวลาว่า เราไม่จะไม่ให้คนในลุ่มน้ำโขง เจ็บปวดเป็นร้อยๆ ปี เหมือนชนพื้นเมืองในลุ่มน้ำโคลัมเบีย  เพราะเราเห็นแล้วว่าแม่น้ำโคลัมเบียมันเกิดปัญหาอย่างไร แล้วพี่น้องชนพื้นเมืองอเมริกาเขาต่อสู้กันอย่างไร  นั่นคือบทเรียนอันล้ำค่า ที่ผมคิดว่าสําคัญที่สุดที่เราไปเห็นมา”

หันมาทบทวนบทเรียนของคนลุ่มน้ำโขง ต่อสู้เรื่องการระเบิดแก่ง-เขื่อนกั้นแม่น้ำโขง มาร่วม 30 ปี

ครูตี๋ บอกว่า นี่คือบทเรียนที่เราจะต้องทําอย่างไร ให้คนบ้านเรา ให้พี่น้องเราได้ขับเคลื่อนได้เข้าใจรวดเร็วให้มากยิ่งกว่านี้  เพื่อดับทุกข์ดับโศก ดับสิ่งที่มันเกิดขึ้นกับพี่น้อง กับแม่น้ำโขงของเรา ให้มีระยะเวลาที่มันสั้นกว่าพี่น้องชนพื้นเมืองอเมริกัน ซึ่งเขาโดนกระทํามาเป็นร้อยปี แล้วก็สิ่งสําคัญคือ การกระทํากับแม่น้ำ โดยเฉพาะเรื่องเขื่อนนั้น มันแก้ปัญหาไม่ได้หรอก ในเรื่องของการอพยพของปลา ซึ่งบทเรียนอันหนึ่งที่ผมไปเห็นว่า การแก้ปัญหาโดยการทําสถานที่เพาะพันธุ์ปลา เพื่อนำไปปล่อยในแม่น้ำธรรมชาติ มันไม่ใช่การแก้ปัญหา บางครั้งมันกลับไปสร้างปัญหาให้ใหญ่กว่านั้น

“เพราะปลามันเป็นสิ่งมีชีวิต มันเหมือนคน แล้วก็มันมีข้อจํากัดมากกว่าคน ปลามันต้องมีธรรมชาติของมัน แล้วธรรมชาตินั้นสําคัญมาก แต่คุณไปเปลี่ยนแปลงธรรมชาติหมด แล้วมันจะกลับคืนมาได้ยังไง ผมว่านี่คือบทเรียนที่เขาได้เห็น เพราะฉะนั้น เรื่องราวที่ผมไปเจอ ทางรอดก็คือเอาเขื่อนออก พอรื้อเขื่อน เอาเขื่อนออก 11 ปีที่ผ่านมา แล้วผมไปล่องแก่งกับชาวบ้านกับแอนดี้ ไปล่องแพกัน ทำให้เราเห็นแล้วว่าปลาแซลมอนกลับมา ธรรมชาติมันกลับมาแล้ว เราเห็นด้วยตาของเรา แล้วนั่นคือปลาแซลมอนธรรมชาติมันกลับคืนมา มีคําตอบ มีความชัดเจนหมดแล้ว เพราะฉะนั้น การขับเคลื่อนเรื่องต้องเอาเขื่อนออก มันจึงเป็นเรื่องที่มีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น”

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Swiftwater Films

ครูตี๋ พูดให้ทุกคนคิดกันว่า ในขณะที่ประเทศที่เขาผ่านประสบการณ์เรื่องราวพวกนี้มาแล้ว เขารื้อเอาเขื่อนออกไปแล้ว  แต่บ้านเรายังไม่มีการรื้อ พวกคุณยังจะเอาเขื่อนไปกั้นแม่น้ำโขงเพิ่มอีก?

กระนั้น สิ่งหนึ่งที่ครูตี๋ พยายามย้ำก็คือ สร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้ามามีส่วนร่วมให้มากที่สุด

“อันนี้แหละที่ผมคิดว่ามันเป็นสิ่งที่สําคัญที่สุด  เพราะว่ามันเป็นสิทธิของคนรุ่นใหม่ มันเป็นสิทธิของเขาที่จะต้องพูด เพราะว่าเป็นอนาคตของเขา นั่นคือสิทธิ์ของเขา ว่าอะไรคือสิ่งที่เป็นประโยชน์กับชีวิตของเขา ไม่ใช่เหมือนคนรุ่นเก่าที่กระทําสิ่งนั้นแล้วกลับมาทําร้ายทําลายตนเองอยู่ในขณะนี้”

สหรัฐ ‘รื้อเขื่อน’ กว่า 2,000 แห่ง ฟื้นฟูธรรมชาติ คืนชีวิตให้ ‘ชนเผ่าพื้นเมืองและปลาแซลมอน’

เป็นข่าวที่น่ายินดีไปทั่วโลก เมื่อปลายเดือนสิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา สหรัฐได้ทำการรื้อ ‘เขื่อน’ ทั้งหมด 4 แห่งที่อยู่บนแม่น้ำคลาแมธ นับเป็นโครงการรื้อถอนเขื่อนที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ และเป็นชัยชนะครั้งสำคัญสำหรับชนเผ่าพื้นเมืองชายแดนโอเรกอน-แคลิฟอร์เนีย ที่ต่อสู้มานานหลายทศวรรษ เพื่อฟื้นฟูแม่น้ำให้กลับคืนสู่สภาพธรรมชาติ

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation

เมื่อสิ่งกีดขวางทางน้ำชิ้นสุดท้ายได้ถูกกำจัดออกไป แม่น้ำคลาแมธก็กลับมาไหลอย่างอิสระอีกครั้ง ‘ปลาแซลมอน’ สัตว์ที่เป็นสัญลักษณ์ของภูมิภาคนี้ สามารถว่ายน้ำทั่วแม่น้ำสายหลักและลำน้ำสาขา และเปิดแหล่งวางไข่และอนุบาลปลาแซลมอนได้ไกลถึง 804 กิโลเมตร หลังจากที่แซลมอนไม่สามารถว่ายน้ำไปวางไข่ได้มากกว่าร้อยปีนับตั้งแต่สร้างเขื่อนขึ้น

หน่วยงานกำกับดูแลของรัฐบาลกลางอนุมัติแผนการรื้อถอนเขื่อนผลิตไฟฟ้าพลังน้ำ 4 แห่ง ได้แก่ เขื่อนไอรอนเกต เขื่อนเจซีบอยล์ เขื่อนโคปโก 1 และ 2 ในปี 2565 ถัดมาในปี 2566 ได้เริ่มทำการรื้อถอนเขื่อนโคปโก 2 เขื่อนที่เล็กที่สุด และค่อย ๆ ทยอยรื้อถอนเรื่อยมา จนกระทั่งเสร็จสมบูรณ์ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา

ที่มาภาพ: เฟซบุ๊ก Klamath River Renewal Corporation

แม่น้ำคลาแมธเคยเป็นที่รู้จักในฐานะแม่น้ำที่ส่งออกปลาแซลมอนทใหญ่เป็นอันดับสามของฝั่งตะวันตก แต่หลังจากที่บริษัทผลิตไฟฟ้า PacifiCorp เข้ามาสร้างเขื่อนระหว่างปี 1918-1962 (พ.ศ.2461-2505) เพื่อผลิตไฟฟ้าสำหรับพื้นที่ทางตะวันตกที่กำลังเติบโต แต่ไม่ได้รับความยินยอมจากชนเผ่า

เขื่อนเหล่านี้ได้หยุดการไหลของแม่น้ำตามธรรมชาติ และรบกวนวงจรชีวิตของปลาแซลมอนและปลาอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และเมื่อจำนวนปลาแซลมอนลดลง จิตวิญญาณของชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในคลาแมธมาเป็นเวลาหลายศตวรรษก็ลดลงตามไปด้วย

ชนเผ่ายูร็อก (Yurok) ในแคลิฟอร์เนียตอนเหนือ เป็นที่รู้จักในชื่อ “ชาวปลาแซลมอน” เพราะสำหรับพวกเขาแล้ว ปลาแซลมอนถือเป็นปลาศักดิ์สิทธิ์ที่มีความสำคัญต่อวัฒนธรรม อาหาร และพิธีกรรมของพวกเขา ตามความเชื่อของชนเผ่าระบุว่า จิตวิญญาณได้สร้างปลาแซลมอนและสร้างมนุษย์ขึ้นมาด้วย ดังนั้นถ้าไม่มีปลา ก็ไม่มีพวกเขาด้วยเช่นกัน

ที่มาภาพ: mekongschool.org

ในปี 2545 เกิดการระบาดแพร่ระบาดของสาหร่ายเซลล์เดียวจากการรั่วไหลของสารเคมีในเขื่อนลงสู่แม่น้ำ ทำให้ปลาไปกว่า 34,000 สายพันธุ์ตายลง เฉพาะปลาแซลมอนอย่างเดียวตายไปกว่า 70,000 ตัว นับเป็นเหตุการณ์ปลาตายครั้งประวัติศาสตร์ และเป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ชาวยูร็อกและชนเผ่าอื่นๆ ในลุ่มน้ำ รวมกันผลักดันให้เกิดการรื้อเขื่อนทั้งหมด

ที่มาภาพ wildlifefilms.org

บทส่งท้าย…

“ผมเป็นลูกแม่น้ำ ดังนั้น ไม่ว่าคุณจะเป็นลูกของแม่น้ำไหน เราก็คือลูกแม่น้ำเหมือนกัน”

ผมนึกไปถึงถ้อยคำของครูตี๋ ที่ได้ไปพูดในวงเสวนาระหว่างประเทศเรื่องแม่น้ำและประชาชน ณ มหาวิทยาลัยรัฐพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน กับ วิลเบอร์ สลอคคิช Wilbur Slockish (คลิกคิทัต, ยากามะ), จูเลียน เอฟ. แมทธิวส์ (JULIAN F. MATTHEWS Board Member and Coordinator, Nimiipuu, Nez Perce) และ เดวิด โซแฮปปี้ David Sohappy, Jr. ยากามะ, ซึ่งเป็นลูกหลานปลาแซลมอน อเมริกันพื้นเมืองดั้งเดิม เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา

นิวัฒน์ ร้อยแก้ว เยือนอเมริกาเพื่อเข้ารับรางวัล Chang-Lin Tien Distinguished Leadership Award ประจำปี 2023 จาก The Asia Foundation และเข้าร่วมการเสวนาระหว่างประเทศเรื่องแม่น้ำและประชาชน ณ มหาวิทยาลัยรัฐพอร์ตแลนด์ รัฐโอเรกอน ที่มาภาพ: mekongschool.org/

ครูตี๋ ยังได้บอกเล่าเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวริมโขง ที่มีการพึ่งพาน้ำโขงในการดำเนินชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน น้ำโขงเป็นแหล่งอาหาร เป็นแหล่งรายได้ เป็นแหล่งวัฒนธรรม แต่ปัจจุบันสิ่งที่เกิดขึ้นกับแม่น้ำโคลัมเบียก็กำลังเกิดขึ้นกับแม่น้ำโขง โดยสิ่งนี้เรียกว่า ‘เขื่อน’ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำลายความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำโขง และเขื่อนได้ทำลายปลาแซลมอนในแม่น้ำโคลัมเบียของชนพื้นเมือง และตอนนี้น้ำโขงก็ถูกทำลายโดยเขื่อน ซึ่งสิ่งสำคัญเหล่านี้ที่ธรรมชาติให้มากำลังจะถูกทำลาย

“การสร้างเขื่อน เป็นการทำลายระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ดังเช่นแม่น้ำโคลัมเบีย ชาวแม่น้ำโคลัมเบียพึ่งพาแม่น้ำโคลัมเบียในการดำเนินวิถีชีวิตตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน พวกเขาเคารพในสิ่งที่ธรรมชาติสร้างให้  และมีความรู้สึกภูมิใจที่ได้ใช้ชีวิตอยู่กับแม่น้ำ แต่การสร้างเขื่อนได้สร้างผลกระทบ สร้างความเดือนร้อนให้กับบรรพบุรุษและพวกเขามาอย่างยาวนาน ความเดือดร้อนจากการสร้างเขื่อน แต่รัฐบาลไม่มาชดใช้ช่วยเหลือและพวกเขาต้องอพยพเพราะน้ำท่วม ชาวแม่น้ำโคลัมเบียต้องสูญเสียที่อยู่ สูญเสียสุสานของพวกเขา แม่น้ำมีความร้อนมากขึ้น เกิดปัญหาการลดลงของพันธุ์ปลา และสูญเสียปลาแซลมอน ปลาแซลมอนเป็นปลาที่มีประวัติศาสตร์มาอย่างยาวนานร่วมกับชาวแม่น้ำโคลัมเบีย เป็นอาหารโปรตีนที่สำคัญ แต่การสร้างเขื่อนได้ทำให้เกิดการปิดกั้นเส้นทางของปลา ตัวแทนจากชาวโคลัมเบียได้เล่าประสบการณ์เกี่ยวกับการต่อสู้เพื่อปกป้องแม่น้ำของพวกเขา โดยพวกเขาเรียกตัวเองว่าคนของปลาแซลมอน ตัวแทนของชาวโคลัมเบียยังได้กล่าวว่าพวกเขาจะไม่ยอมแพ้ หากพระอาทิตย์ยังขึ้น พวกเขาต้องสู้ แม้รัฐบาลจะมีการอ้างสวัสดิการต่างๆ เพื่อให้ชาวโคลัมเบียอยู่ต่อไปและไม่ต่อสู้ แต่พวกเขามองว่า  สิ่งเหล่านี้ที่รัฐบาลจะให้เป็นสัญญาลมๆ แล้งๆเท่านั้น  และพวกเขายังคงต้องสู้ต่อไป แม้ในรุ่นของพวกเขาจะไม่สามารถหยุดเรื่องการสร้างเขื่อนได้  แต่สิ่งที่ได้จากชาวพี่น้องโคลัมเบียคือการไม่ยอมแพ้

'ภู เชียงดาว' เป็นนามปากกาของ 'องอาจ เดชา' เกิดและเติบโตในหมู่บ้านเล็กๆ กลางหุบเขา อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เขาเคยเป็นครูดอยตามแนวชายแดน จากประสบการณ์ทำงานกับพี่น้องชาติพันธุ์ ทำให้เขานำมาสื่อสาร เป็นบทกวี เรื่องสั้น ความเรียง สารคดี เผยแพร่ตามนิตยสารต่างๆ เขาเคยเป็นคอลัมน์นิสต์ใน พลเมืองเหนือรายสัปดาห์, เสาร์สวัสดี นสพ.กรุงเทพธุรกิจ, ผู้ไถ่, ประชาไท, สานแสงอรุณ ฯลฯ มาช่วงเวลาหนึ่ง เขาเคยเป็นผู้สื่อข่าว "ประชาไท" ในยุคก่อตั้ง ปี 2547 และในราวปี 2550 ได้ตัดสินใจลาออกงานประจำ กลับมาทำ "ม่อนภูผาแดง : ฟาร์มเล็กๆ ที่เชียงดาว" เขาเคยเป็น บ.ก.วารสารผู้ไถ่ ได้ช่วงเวลาหนึ่งก่อนวารสารปิดตัวลง, ปัจจุบัน เขายังคงเดินทางและเขียนงานต่อไป เป็นฟรีแลนซ์ให้ ประชาไท และคอลัมนิสต์ใน Lanner

ข่าวที่เกี่ยวข้อง