เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง
เวลาเย็นย่ำค่ำคืนของวันที่ 15 พฤศจิกายน(2567) ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เสียงประทัดกึกก้องดังมาประปราย และค่อนข้างมีท่าทีคลี่คลายน้อยลงไปกว่าเทศกาลเดียวกันนี้เมื่อปีก่อนๆ เสียงเพลงบรรเลงจังหวะและท่วมทำนองแจ๊ะๆ ก็ยังเวียนแวะเวี่ยไว้ในโสตประสาท โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลง ‘ยายแล่ม’ ของวงคันไถที่ถูกนำมาขับร้องใหม่โดย ลำไย ไหทองคำ สลับสับเปลี่ยนกับเพลงสามพี่น้องไตและแม่รำวงที่ดังข้ามทุ่งมาจากโซนชุมชน คนไทใหญ่ที่ตั้งบ้านเรือนแทรกสลับกับเหล่าเจ้าถิ่นคนเมือง ตะวันลับฟ้าลงเหลี่ยมของสันเขาดอยนางนอนเป็นสัญญาณที่ส่งบอกให้คนในหมู่บ้านเริ่มต้นตั้งขบวนแห่ ‘ไม้แคร่หลวง’ ทยอยเข้าสู่เขตวัดประจำหมู่บ้าน
ผู้เขียนรู้สึกเฉยๆ กับประเพณีงานหรือเทศกาลในหมู่บ้านของตน ซึ่งดูมีบรรยากาศอันถดถอยกร่อยลงมาก ต่างออกไปจากความมีชีวิตชีวา และภาพจำที่มีต่อประเพณีหรือเทศกาลในค่ำคืนนี้เมื่อคราวสมัยช่วงวัยเด็ก เสียงประทัดที่เบาบางและโคมลอยที่จางหายไปจากท้องฟากฟ้าน่าจะเป็นสัญญาณดีที่บอกเราเป็นนัยยะว่า “บ้านเมืองเราคงวัฒนามาถึงอีกจุดหนึ่งแล้ว” นอกเสียจากจะลอยละล่องมาจากประเทศเพื่อนบ้านอยู่ประปราย ผู้เขียนจึงจับมอเตอร์ไซต์ขี่ออกจากบ้าน ณ ห้วงโมงยามนั้น ใจหนึ่งก็จดจ่อถึงวัดวาอารามที่มีการจัดงาน ‘เทศน์มหาชาติ-เวสสันดร’ ตลอดจนประประดับประดาตกแต่งซุ้มประตูป่า และขัดซุ้มราชวัตรเป็นรูปเขาวงกต ที่ทำจากไม้ไผ่ของวัดในเขตพื้นที่ชุมชนแม่สายอันเป็นถิ่นฐานที่ผู้เขียนพำนักอาศัยในปัจจุบัน ทว่าสิ่งที่พบกลับไม่มีวัดใดมีงานหรือจัดงานตั้งธัมม์หลวงและการเทศมหาชาติเลยแม้แต่วัดเดียว! ทั้งที่ไม่กี่ปีก่อนหน้าประเพณีดังกล่าวยังพอที่จะหาได้ ด้านหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่า แม่สายบ้านของผู้เขียนเองอาจเพิ่งพ้าผ่านการประสบอุทกภัยในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาก็เป็นได้ แต่นั่นคงไม่อาจพอที่จะเป็นสาเหตุทั้งหมดทั้งมวลของการอนุรักษ์และสืบทอด ‘จารีตฮีตฮอย’ ของถิ่นบ้านล้านนา เพราะ ‘งานลอยกระทง’ พวกท่านๆ ยังจัดกันได้เลย
ผู้เขียนเคยนำเสนอประเด็นสำคัญในข้อเขียนฉบับก่อนหน้าว่า ทุกความเชื่อ วัฒนธรรมหรือประเพณี มักมี ‘นาฎกรรม’ เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนชูโรง เพื่อสร้างความหนักแน่นเป็นแก่นสารและธำรงการรับใช้ผู้คนและสังคม ดังนั้น ฉากต่างๆ ของนาฏกรรมทางสังคมวัฒนธรรมในงานประเพณียี่เป็งของคนล้านนาในภาคเหนือนั้นจึงเน้นการเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าว่า ‘แม่นางกาเผือก’ ที่มีวัตถุทางวัฒนธรรมอย่าง ‘ฝ้ายตี๋นก๋า’ อันเกิดขึ้นภายใต้บริบททางสังคมวัฒนธรรมซึ่งเกี่ยวโยงกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาที่อ้างอิงกับ ‘นิทานพระเจ้า 5 พระองค์’ ที่มีการตั้งธัมม์หลวงหรือการเทศน์มหาชาติเป็นโครงสร้างหลักในการเล่าเรื่องราวที่อาศัย ‘วัตถุทางวัฒนธรรม’ ที่เป็นรูปธรรมเป็นสัญญะหรือภาพแทนในการทำหน้าที่สร้างความจำได้หมายรู้ และเน้นย้ำความรับรู้ให้เกิดขึ้นกับผู้คน ข้อเสนอนี้จึงเป็นเพียงแค่จุดเริ่มของหนทางการสร้างความเข้าใจใหม่ เพื่อให้เกิดคำถามในทางวิชาการเล็กๆ น้อยๆ ภายใต้ประเด็นสำคัญในทางวิชาการใหญ่ๆ มากมายที่มีต่อประเด็นทางสังคมวัฒนธรรมร่วมสมัยในถิ่นบ้านล้านนา ที่สามารถมีที่ทางอย่างเท่าเทียมบนพื้นที่สาธารณะและนโยบายการส่งเสริมวัฒนธรรมท้องถิ่น
ข้อเขียนนี้จึงเป็นความตั้งใจการนำเสนอประเด็น ‘การตั้งธัมม์หลวงและการเทศน์มหาชาติ’ ในค่ำคืนยี่เป็ง ซึ่งประเพณีและเทศกาลดังกล่าวนี้มีความสัมพันธ์กับความเชื่อและศรัทธาของผู้คนในสังคมล้านนา ที่มีวัฒนธรรมในการเรียนรู้ รับรู้คุณค่าทางศาสนาที่ถูกเล่าผ่านพิธีกรรม วัตถุธรรมและวัฒนธรรมที่ผู้เขียนอยากยืมแนวคิด ‘รัฐนาฏกรรม’ (Theatrical state) ที่ นิธิ เอียวศรีวงค์ (2560) ได้อ้างอิงงานของ Clifford Geertz เพื่อมาอธิบายระบบสัญลักษณ์ในพิธีกรรมและการแสดงที่เกี่ยวข้องผ่านเรื่องเล่าทางพระพุทธศาสนาซึ่งทำให้เกิด ‘โลกภายนอก’ ที่เราสัมผัสได้ เพื่อมีผลกระทบต่อ ‘โลกภายใน’ ซึ่งเป็นโลกแห่งการรับรู้และรู้สึกของพุทธศาสนิกชนคนล้านนาที่ผู้เขียนอยากเรียกว่า ‘พุทธนาฏกรรม’ (Theatrical Buddha) ข้อเขียนนี้จึงมุ่งหวังให้การเล่าเรื่องหรือเรื่องเล่าในพุทธตำนานและนิทานทางศาสนาในล้านนา ทั้งเวสสันดรชาดกและแม่กาเผือกที่มีประเพณียี่เป็งล้านนาเป็นเสมือนโรงละคร ที่บริบทสังคมวัฒนธรรมพุทธแบบล้านนาสื่อสารบางอย่างให้แก่ ‘คณะศรัทธา-ศาสนิกชน’ นั้นอาจดูเหมือนว่า เป็นเพียงแค่เปลือกหรือกระพี้ หาใช่แกนแกนกลางของธรรมะในสายตาของพุทธเถรวาทแบบสยาม ทว่าในสายตาของผู้เขียนเองกลับมองว่า ทั้งเปลือกและกระพี้ที่มีการถ่ายทอดผ่านนิทานหรือพุทธตำนานท้องถิ่น ซึ่งอาศัยประเพณีหรือพิธีกรรมเป็นโรงละครนี่แหละ ที่เป็นธรรมในระดับโลกียะธรรม ที่สัมพันธ์กับปฏิบัติการในชีวิตประจำวันของผู้คน เพื่อช่วยเป็นการธำรงรักษาและตอกย้ำความหลากหลายของความเชื่อความศรัทธาที่ผู้คนในสังคมร่วมกัน ตลอดจนสร้างสังคมตามอุดมคติที่หล่อหลอมจินตนาการของผู้คนที่นำไปสู่สังคมที่สงบสุขได้
พุทธนาฏกรรมและตั้งธัมม์หลวงเทศน์มหาชาติในค่ำคืนยี่เป็งล้านนา
การตั้งธัมม์หลวงเทศน์มหาชาติ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวชาดกในทางพุทธศาสนาเรื่องสำคัญอันชื่อว่า ‘พระเวสสันดรชาดก’ โดยเป็นเรื่องที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาดกดังกล่าวนี้มีความเกี่ยวกับพระชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า ศาสดาของศาสนาพุทธ โดยกล่าวถึงเรื่องราวเมื่อครั้งทรงเสวยพระชาติเป็นมนุษย์ในฐานะพระโพธิสัตว์ ก่อนที่จะกลับชาติมาเกิดอีกเป็นครั้งสุดท้ายเพื่อบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้า ทั้งนี้ ชาวพุทธมีความเชื่อว่า พระชาติของพระเวสสันดรนั้น พระองค์ทรงบำเพ็ญบารมีธรรมสูงสุดยิ่งกว่าในพระชาติก่อนๆ กล่าวคือ ทรงบำเพ็ญบารมีครบทั้ง 10 ประการ พระชาตินี้จึงได้รับยกย่องว่า ‘เป็นพระชาติที่ยิ่งใหญ่’ เรียกว่า ‘มหาชาติ’ และเมื่อเอ่ยถึงคำว่า ‘มหาชาติ’ ชาวไทยพุทธก็จะเข้าใจว่าหมายถึง ‘มหาเวสสันดรชาดก’
หนังสือชื่อ ‘ประวัติวรรณคดีไทย’ ของ เปลื้อง ณ นคร (2515 : 48) กล่าวถึงคำว่า ‘มหาชาติ’ นี้เป็นชาติใหญ่ ชาติสำคัญ ซึ่งเป็นได้ว่าความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ ในอดีตดั้งเดิมนั้นเกี่ยวพันกับการกำเนิด (Born) มากกว่า Nation ด้วยเหตุนี้ มหาเวสสันดรจึงเป็นการกำเนิดอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์ก่อนกลับมาเป็นพระพุทธเจ้าผู้ซึ่ง ‘รู้ ตื่น เบิกบาน’ ผ่านการตรัสรู้พระธรรมวิเศษและบรรลุพระปรินิพพานนั่นเอง ฉะนั้นเวสสันดรชาดกเป็นเรื่องราวการบำเพ็ญทานบารมีอันยิ่งใหญ่ จึงเรียกว่า ‘มหาชาติ’ แปลว่า ‘ชาติใหญ่’ ทางล้านนาเรียกว่า ‘ตั้งธรรมหลวง’ ก็คือ ‘การฟังธรรมที่ยิ่งใหญ่’ และเนื้อเรื่องก็มีความน่าติดตามและมีอรรถรสอันไพเราะ มีคติสอนใจที่เกี่ยวโยงกับการให้ทาน ความสามัคคี การสงเคราะห์ผู้อื่น และการทำตนให้เป็นประโยชน์
การตั้งธรรมหลวงหรือการเทศน์มหาชาติทางล้านนาครั้งยิ่งใหญ่จึงมักจัดให้มีขึ้นในช่วงเทศกาลเดือนยี่เป็งล้านนากำหนดตามปฏิทินสุริยคติ คือประมาณเดือนพฤศจิกายน ในท่ามกลางค่ำคืนของเทศกาลดังกล่าว วัดวาอารามหลายแห่งจึงเป็นแหล่งมหกรรมการเทศน์ใส่ทำนอง คล้ายกับการเทศน์แหล่ของภาคกลาง ทว่าทางล้านนาเรียกกันว่าเป็นการเทศน์ใส่ ‘ระบำ’ เนื่องจากการตั้งธรรมหลวงจะต้องตระเตรียมพิธีหลายประการ เช่น แต่งสถานที่สำหรับเทศน์หรือสถานที่ฟังเทศน์ให้มีบรรยากาศคล้ายกับเรื่องราวในเรื่องเวสสันดรชาดก บางแห่งจัดทำยิ่งใหญ่ มีการสร้างเขาวงกตจำลองในเขตบริเวณพิธีกรรมเรียกว่า ‘ราชวัตร’ ซึ่งจะประดับประดาด้วยพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ มีการจัดแต่งบรรยากาศป่าหิมพานต์ตามจินตนาการ เพื่อสร้างความรู้สึกประหนึ่งว่าผู้เข้าร่วมพิธีเข้าไปสัมผัสบรรยากาศจริง ด้านในจะตั้งธรรมมาสน์สำหรับพระภิกษุผู้เทศน์ไว้ เพื่อให้ประชาชนเข้าไปกราบไหว้บูชาและเข้าฟังเทศน์ การเข้าเขาวงกตนั้นมีความเชื่อว่า ตนเองจะได้ร่วมเหตุการณ์เข้าไปในสถานที่ ซึ่งครั้งหนึ่งพระเวสสันดรโพธิสัตว์เคยประกอบคุณความดีครั้งยิ่งใหญ่ คือ การให้ทานปรมัตถบารมี แม้จะเป็นการสมมุติ ก็เป็นการระลึกในด้านคุณความดีที่จะเป็นแบบอย่างให้มีการทำความดีต่อไป อีกทั้งเป็นการน้อมศรัทธาปสาทของพุทธบริษัทให้เชื่อมั่นในคุณงามความดี โดยเฉพาะการให้ทานและสร้างทานบารมีครั้งยิ่งใหญ่ ที่พระเวสสันดรกระทำไว้ด้วยการบริจาคทานด้วยยศสมบัติ ทรัพย์สมบัติ ข้าทาสบริวาร บุตรภริยา หรือแม้แต่เลือดเนื้อ ดวงตา และชีวิต เพื่อผลทานอันยิ่งใหญ่ คือการสำเร็จเป็นพระสัมมาสัมโพธิญาณ และเผยแผ่ธรรมแห่งการหลุดพ้นนั้นแก่มวลมนุษย์
เนื้อหาของการเทศน์มหาชาติเวสสันดรมีความยาวกำหนดเป็นคาถา 1,000 คาถา จึงนิยมเรียกว่า ‘คาถาพัน’ แต่ในส่วนวรรณคดีเรื่องมหาชาตินี้ได้รับอิทธิพลจากอรรถกถาชาดก ซึ่งแต่งขึ้นภายหลังเพื่อขยายเนื้อความให้พิสดารมากขึ้น มี 13 กัณฑ์ คือ กัณฑ์ทศพร กัณฑ์หิมพานต์ กัณฑ์ทานกัณฑ์ กัณฑ์วนประเวศน์ กัณฑ์ชูชก กัณฑ์จุลพน กัณฑ์มหาพน กัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์สักบรรพ กัณฑ์มหาราช กัณฑ์ฉกษัตริย์ กัณฑ์นครกัณฑ์
ทางล้านนาหรือภาคเหนือของไทยมีความเชื่อกันว่า การตั้งธรรมหรือฟังเทศน์มหาชาติเกิดจากคัมภีร์ทางศาสนาเรียกว่า ‘มาลัยสูตร’ ซึ่งมีเรื่องราวกล่าวถึงครั้งพระมาลัยเถรเจ้า พระภิกษุที่ชาวล้านนาเชื่อว่า เป็นผู้มีทรงคุณอันวิเศษสามารถท่องไปในแดนสวรรค์และนรกได้ มาลัยสูตรฉบับล้านนาแบ่งออกเป็น 2 ตอน คือ ‘ปฐมมาลัย’ และ ‘ทุติยมาลัย’ แต่ชาวล้านนานิยมเรียกว่า ‘มาลัยต้น’ และ ‘มาลัยปลาย’
ปฐมมาลัยและทุติยมาลัยนั้นมีเนื้อหาที่กล่าวถึงพระมาลัยเถรเจ้าไปไหว้พระเกตุแก้วจุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ และได้สนทนากับพระศรีอริยเมตไตรยโพธิสัตว์ ตามคัมภีร์กล่าวถึงพระมาลัยเถรเจ้านั่งอยู่เหนือแท่นหินกำพลศิลาอาสน์ อันเป็นทิพย์อาสน์แห่งพระอินทร์ ใต้ต้นปริฉัตต์หรือไม้ทองหลางทิพย์ ล้านนาเรียกว่า ‘ดอกกาสะลอง’ มีสีขาวกลิ่นหอมเบ่งบานเต็มต้น ฉะนั้นเวลามีการเทศน์มหาชาติ ชาวล้านนาจึงนิยมนำดอกบัวและกาสะลองมาปักบูชาไว้รอบธรรมาสน์ หรือนำดอกกาสะลองมาตากแห้งแล้วใส่หีบไม้ไผ่สานขัดแตะเป็นรูปสี่เหลี่ยมกว้างประมาณ 20 เซนติเมตร แขวนบูชารอบธรรมาสน์ หลังจากพระมาลัยเถรเจ้ากลับมาจากสวรรค์ ก็ได้นำเรื่องราวเหล่านั้นมาเล่าให้คนทั้งหลายฟัง คนทั้งหลายที่อยากเกิดร่วมศาสนาพระศรีอาริย์จึงได้พากันฟังเทศน์มหาชาติหรือตั้งธรรมหลวงสืบมา
วรรณคดีเรื่องมหาชาติฉบับภาษาบาลีเข้ามาเผยแพร่ในล้านนาเป็นครั้งแรกเมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานปรากฏชัด เรื่องราวของพระเวสสันดรมีกล่าวถึงอย่างย่อๆ ในชินกาลมาลีปกรณ์แต่งโดยพระรัตนปัญญาเถระ ซึ่งเป็นวรรณคดีที่แต่งขึ้นประมาณ พ.ศ. 2060 และจากการสำรวจนิทานในปัญญาสชาดก พบว่า หลายตอนในวรรณคดีนิทานของล้านนาชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลจากวรรณคดีมหาชาติ ในด้านแนวความคิดและโครงเรื่องเท่าที่มีการค้นพบในขณะนี้ วรรณคดีมหาชาติของล้านนามีกว่า 122 สำนวน แต่งขึ้นหลายยุคสมัย มีมากมายหลายสำนวน แต่เนื้อความและสำนวนโวหารจะไม่แตกต่างกันทั้งหมด โดย ประคอง นิมมานเหมินทร์ พบว่า กัณฑ์ที่มีผู้นิยมเพิ่มเติมและแก้ไขสำนวนโวหารมากที่สุด ได้แก่ กัณฑ์ชูชกกัณฑ์กุมาร กัณฑ์มัทรี กัณฑ์มหาราช และกัณฑ์นครกัณฑ์ ซึ่งกัณฑ์ชูชกและกัณฑ์มหาราชนั้นมีเนื้อหาส่วนใหญ่เกี่ยวกับชูชก เวลาเทศน์ต้องการความสนุกสนานตลกคะนอง จึงเพิ่มความและใช้ภาษาเพื่อให้ถึงอกถึงใจผู้ฟังยิ่งขึ้น ส่วนกัณฑ์กุมารและกัณฑ์มัทรี จุดสำคัญอยู่ที่การเร้าอารมณ์ให้เศร้าสลดคล้อยตามตัวละคร และนครกัณฑ์ก็มีฉากที่บรรยายให้สวยงามน่าตื่นตาตื่นใจ เพราะเป็นตอนที่หกกษัตริย์เสด็จเข้าสู่นคร (ประคอง นิมมานเหมินทร์,2526 : 6-7) ขณะที่สำนวนที่มีชื่อเสียงเป็นที่นิยมใช้เทศน์ ได้แก่ สำนวน “ไม้ไผ่แจ้เรียวแดง” “อินทร์ลงเหลา” “พระยาพื้น” รวมทั้งยังมีสำนวนที่ตีพิมพ์เป็นภาษาไทยภาคกลางแล้ว ได้แก่ สำนวน “สร้อยสังกร” (เป็นที่นิยมในปัจจุบัน เพราะสะดวกแก่พระสงฆ์ที่อ่านอักษรพื้นเมืองไม่ได้) นอกจากจะมีการแต่งเวสสันดรเป็นฉบับต่างๆ แล้ว การเทศน์มหาชาติยังมีการเทศน์ธรรมที่ไม่เหมือนการเทศน์แบบปกติทั่วไปที่เรียกว่า ‘ทำนองธรรมวัตร’ ส่วนเทศน์มหาชาติจะมีอีกทำนองหนึ่ง ไม่เรียกว่าทำนอง แต่จะเรียกว่า ‘ระบำ’ ชื่อเรียกระบำนี้จะใช้ชื่อบ้านนามเมืองหรือลักษณะเรียกตามลักษณะของระบำ และเป็นที่นิยมเฉพาะในท้องถิ่นนั้นๆ เพราะแต่ละท้องถิ่นจะนิยมระบำไม่เหมือนกัน เช่น ‘ระบำเมืองเชียงแสน’ ทางเชียงรายนิยม ‘ระบำมะนาวล่องของ’ คือ มีลีลาคล้ายกับลูกมะนาวที่ไหวเอื่อยไปตามลำน้ำของ (แม่น้ำโขง) มีจังหวะช้า เสียงทุ้ม ต่ำๆ สูงๆ เหมือนมะนาวที่ลอยน้ำ บางครั้งโดนคลื่นผลักสูงหรือบางครั้งจมลงไปใต้น้ำ ระบำประจำเมืองลำพูน – เชียงใหม่ คือ ‘ระบำน้ำตกตาด’ และ ‘ระบำพร้าวไกว๋ใบ’ มีลักษณะเหมือนน้ำฝนตกจากชายคา หยดลงมาเป็นระยะ ถี่ห่างเสมอกัน หรือจะเทียบกับการเคาะไม้เป็นจังหวะก็ได้ ส่วนระบำพร้าวไกว๋ใบ มีอาการดุจใบมะพร้าวเวลาต้องลม แกว่งเอนไปมาช้าๆ ฉะนั้นนักเทศน์จึงนิยมเทศน์เมื่อบรรยายความและฉากตื่นเต้นเร้าใจด้วยระบำน้ำตกตาด และเทศน์ฉากโศก สลด รำพัน ด้วยระบำพร้าวไกว๋ใบ ระบำประจำเมืองลำปาง คือ ‘ระบำแมลงภู่จมดวง’ มีลีลาราวกับแมลงภู่ชมเกสรดอกไม้ คือการเทศน์พุ่งตรงไปหาอักษรตัวต่อไป เป็นจังหวะเหมือนแมลงภู่ที่ดูดน้ำหวานจากดอกไม้นั้นไปดอกนั้นๆ เรื่อยไปพร้อมมีการเล่นลิ้นอย่างน่าฟังมาก ระบำประจำเมืองแพร่ คือ ‘ระบำนกเขาเหิน’ มีลีลาคล้ายกับนกเขาบินไปช้าๆ แล้วเหินตัวขึ้นบนอากาศ เวลาเทศน์ไปช้าๆ แล้วพุ่งเสียงขึ้นสูงเหมือนนกเขาเหินไม่มีผิด ระบำประจำเมืองน่าน ได้แก่ ‘ระบำช้างข้ามทุ่ง’ ลีลาช้าเนิบนาบชัดถ้อยชัดคำเหมือนจังหวะเดินของช้าง คือสม่ำเสมอ ลีลาเหล่านี้เป็นระบำประจำเมืองแต่ปัจจุบันจะมีการผสมกลมกลืนกันระหว่างระบำต่างๆ ที่ไพเราะ เช่น เทศน์ระบำมะนาวล่องของ อาจจะมีพร้าวไกว๋ใบ น้ำตกตาด หรือนกเขาเหินแทรกเป็นบางตอน
ประเพณีเดือนยี่ทางล้านนา ถือเป็นฤดูกาลแห่งงานรื่นเริงสนุกสนาน ดังนั้นในช่วงเวลาท้ายฤดูฝนถึงต้นฤดูหนาวชาวบ้านจะว่างเว้นจากทำงานในไร่นา เนื่องจากได้เก็บเกี่ยวผลผลิตเสร็จแล้ว และถือโอกาสนี้ถวายผลิตผลของตนแก่พระภิกษุสงฆ์และบำรุงพระพุทธศาสนา ประเพณีเดือนยี่จึงเป็นที่เชื่อมรวมของประเพณีสำคัญหลายอย่างในล้านนา เมื่อทางวัดกำหนดวันเวลาที่จะจัดเทศน์ตั้งธรรมมหาชาติขึ้น ก็จะประชุมศรัทธาชาวบ้าน เพื่อบอกให้ศรัทธาชาวบ้านทราบว่าผู้ใดจะรับเอากัณฑ์เทศน์ใด ซึ่งมี 13 กัณฑ์ เรียก ‘จบหนึ่ง’ หรือ ‘กัปหนึ่ง’ พร้อมธรรมพิเศษอีก 8 กัณฑ์คือ ‘คาถาพัน’ ‘ปฐมมาลัยเก๊า’ ‘ทุติยมาลัยปลาย’ ‘อานิสงส์เวสสันดร’ ‘อานิสงส์ผะตี๊ด’ ‘พุทธาภิเษก’ ‘ธรรมจักร’ และ ‘ปฐมสมโพธิ’ เรียกว่า ‘ตกธรรม’ พอตกธรรมทั้งศรัทธาและพระเทศน์เสร็จแล้วก็จะมีการจัดสถานที่ โดยจะมีการขัดราชวัตร ประดับฉัตรธง ช่อน้อย ตุงไชย และรูปสัตว์บูชา ‘ช้างร้อย’ ‘ม้าร้อย’ เพื่อเอาไว้ไถ่สองพระกุมาร ตอนเทศน์กัณฑ์มหาราช รอบๆ ธรรมาสน์บุษบกปราสาท ก็จัดให้คล้ายกับป่าเขาวงกต ฝังต้นกล้วย ต้นอ้อย กุ๊ก ข่า แขวนโคมไฟ รูปต่างๆ จัดที่ตั้งกัณฑ์เทศน์ และที่ตั้งเครื่องบูชาคาถา พระเวสสันดรประจำกัณฑ์ต่างๆ ซึ่งรวมกันมีถึงพันคาถา บางทีมีเครื่องสืบชะตาก็มีการตั้งบาตรน้ำมนต์วงด้ายสายสิญจน์เรียกว่า ‘ฝ้ายมงคล’ และมีเครื่องบูชาเฉพาะอีกคือ ข้าวตอกเต็มเกวียน เทียนเล่มหมื่น ผะตี๊ดพันผาง ดอกพันดวง ช่อพันผืน ข้าวพันก้อนครั้นตกแต่งเครื่องบูชา จัดสถานที่เสร็จ เมื่อถึงวันนัดหมาย รุ่งเช้าของวันที่จะเทศน์มหาชาติก็จะเริ่มเทศน์กัณฑ์อื่นๆ ก่อนเวลาประมาณ 5 โมงเย็น จะมีการตีกลองส่งสัญญาณเพื่อเป็นพุทธบูชาและเป็นการเตือนศรัทธาโดยใช้เวลาประมาณครึ่งชั่วโมงแล้วมีการพิธี ‘ขึ้นท้าวทั้งสี่’ พอศรัทธาชาวบ้านมาพร้อมกันก็จะมีพิธีไหว้พระรับศีลเริ่มเทศน์กัณฑ์ ‘ทศพร’ เรียกตามสำเนียงท้องถิ่นว่า ‘ตัสสะปอน’ ‘หิมมะปานต์ตานะขัณฑ์’ เทศน์กัณฑ์นี้เป็นเวลารับประทานอาหารเช้า ทั้งศรัทธาเจ้าของกัณฑ์และพระภิกษุผู้เทศน์ก็ยังไม่ได้รับประทานและฉันอาหาร จึงเรียกกัณฑ์นี้ว่า ‘ตานะขัณฑ์กั้นข้าว’ แล้วต่อด้วยกัณฑ์ ‘วนะประเวศ’ ‘ชูชก’ ซึ่งเรียกอีกอย่างตามสำเนียงว่า ‘ตุ๊จก’ เป็นกัณฑ์ตลกขบขัน ตอนบ่ายก็เทศน์ ‘จุลลพน’ ‘มหาพน’ กัณฑ์นี้ส่วนใหญ่เป็นเนื้อเรื่องพรรณนาธรรมชาติ เช่น ต้นไม้ใบไม้ นกกา พระยาพรหมโวหาร กวีล้านนาได้แต่งกัณฑ์มหาพนฉบับใหม่เรียกว่า ‘มหาพนตำรายา’ กล่าวถึงสรรพคุณของสมุนไพรของต้นไม้นั้นๆ ว่า ราก ใบ หัว กิ่ง ลูก เปลือก ใช้ทำยารักษาโรคใด นับว่าเป็นความคิดสร้างสรรค์เกิดภูมิปัญญาตอนยอดได้อย่างน่าสรรเสริญ ผู้ฟังก็เกิดความชอบใจและเกิดความรู้ไปด้วย ต่อจากนั้นก็เป็นกัณฑ์ ‘กุมาร’ เรียกว่า ‘กุมารบรรพ์’ เป็นเวลาใกล้ค่ำ ผู้เทศน์เสียงดี ฉากนี้จะกล่าวถึงสองกุมารคือ กัณหาและชาลี อำลาป่าไม้แสดงการปริเวทนาคร่ำครวญถึงพระนางมัทรี พอจบก็พลบค่ำพอดี บ้านเรือน ครั้นช่วงเวลากลางคืนก็จะเทศน์ ‘มัทรีสักกบรรพ์’ ‘มหาราช’ ‘ฉกษัตริย์’ เรียกตามภาษาเหนือว่า ‘สักกติ’ แล้วต่อด้วยกัณฑ์ ‘นคร’ เป็นฉากที่แสดงความสงบสุขร่มเย็นเพราะเวสสันดรกลับมาเสวยเมืองดังเดิม
ในค่ำคืนเดือนยี่เป็นการเทศน์ ‘อานิสงส์ผะตี๊ด’ ก็เป็นอีกส่วนสำคัญของพิธีกรรมในค่ำคืนดังกล่าวที่ต่างมีเรื่องราวสัมพันธ์กับพระเจ้า 5 พระองค์แบบแม่กาเผือกอันนำมาสู่ความเชื่อและวิถีปฏิบัติเกี่ยวกับการจุดผางปะตี๊ปตี๋นก๋า ปูจาแม่ก๋าเผือกซึ่งสืบทอดชื่อเทศกาลมาจากตำนานของพระพุทธศาสนาจากตำนานพระเจ้า 5 พระองค์ ที่แพร่หลายและเป็นที่รับรู้ในสังคมล้านนา ทั้งนี้ หนังสือธัมม์ใบลาน เรื่อง มูลผะติ้ดตีนกา (กาเผือก) ฉบับวัดดงนั่งคีรีชัย อำเภอแจ้ห่ม จังหวัดลำปาง กล่าวว่า กาเผือกเป็นธรรมชาดกล้านนา เป็นมูลกำเนิดของพระพุทธเจ้าในภัททกัป ซึ่งเป็นกัปที่มีพระพุทธเจ้าทรงอุบัติขึ้นในโลกมากที่สุด จำนวน 5 พระองค์ คือ กกุสันธพุทธเจ้า โกนาคมนพุทธเจ้า กัสสปพุทธเจ้า โคตมพุทธเจ้า และอริยเมตไตรยพุทธเจ้า ซึ่งล้วนเคยมีอดีตชาติเป็นพี่น้องร่วมอุทรเดียวกันเมื่อคราวที่เคยเสวยพระชาติเป็นลูกกำพร้าของแม่กาเผือก (อนุชา พิมศักดิ์, 2550) ดังความในนิทานดังนี้
“ในอดีตกาลข้ามล่วงพ้นไปนานแล้ว ยังมีแม่กาเผือกทำรังอาศัยอยู่บนต้นไม้มะเดื่อริมฝั่ง แม่น้ำคงคา นางได้ให้กำเนิดลูก (ไข่) จำนวน 5 ฟอง เลี้ยงดูฟูมฟักเป็นอย่างดี ไม่ยอมออกจากรังไปหากิน วันหนึ่งความหิวได้ครอบงำ ทำให้นางกาเผือกต้องทิ้งลูกไว้ในรัง นางบินไปหาเหยื่อกินเป็นอาหารในที่ไกล วันที่นางบินออกไปหากินทิ้งลูกน้อยไว้ในรัง เกิดฝนตกหนักและลมพายุพัดรุนแรง ทำให้รังของนางถูกลมพัดตกลงไปในแม่น้ำพร้อมทั้งลูกทั้ง 5 เมื่อลมพายุและฝนสงบลงแล้ว นางบินกลับมาที่รัง ไม่พบลูกน้อย ได้บินเที่ยวหาลูกน้อยทั้ง 5 บินไปตามลำดับแม่น้ำคงคา ตามหุบเหว หุบเขา และในน้ำก็ไม่พบลูก นางเศร้าโศกเสียใจ หมดแรงที่จะบินเสาะหาลูกน้อย จึงขาดใจตาย และได้ไปเกิดเป็นพรหม ชั้นสุทธาวาส ปรากฏชื่อว่า ‘ฆติกาพรหม’ ส่วนลูก (ไข่) ทั้ง 5 หลังจากที่ลมพัดรังตกลงไปในแม่น้ำคงคาแล้ว ไข่ฟองที่ 1 ถูกน้ำพัดลอยไปค้างที่ดอนทราย แม่ไก่เผือกนำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 2 ถูกน้ำพัด ลอยไปค้างที่ดอนทราย แม่วัวนำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 3 ถูกน้ำพัดไปลอยค้างที่ดอนทราย แม่เต่านำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 4 ถูกน้ำพัดลอยไปค้างที่ดอนทราย หญิงซักผ้านำไปเลี้ยงดู ไข่ฟองที่ 5 ถูกน้ำพัดลอยไปค้างที่ดอนทราย แม่งูใหญ่ (นาค) นำไปเลี้ยงดู
หลังจากไข่ทั้ง 5 มีผู้นำไปเลี้ยงดูไม่นาน ก็แตกออกเป็นทารกเพศชาย ครั้นเจริญเติบโตอายุได้ 16 ปี ได้ขออนุญาตแม่ออกบวชเป็นฤาษี เพื่อสร้างบารมีให้ได้ตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในอนาคตจักได้นำสัตว์โลกข้ามห้วงโอฆะวัฏฏะสงสาร แม่เลี้ยงทั้ง 5 อนุญาตให้ออกบวช แต่ขอให้ลูกทุกคนถือคำสัตย์ปฏิญาณว่า หากลูกทั้ง 5 ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว ขอให้ ‘ชื่อและนามโคตร’ แห่งแม่จงเป็นชื่อและโคตรของลูกทุกคนที่แม่ได้เลี้ยงดูมา ดังนั้นพระนามของพระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์ ในภัทรกัปนี้ จึงมีชื่อของแม่เลี้ยงเป็นพระนามและโคตรของพระพุทธเจ้า คือ
1) กกุกสันธพุทธเจ้า นามแม่ไก่เผือก
2) โกนาคมนพุทธเจ้า นามงูใหญ่ (นาค)
3) กัสสปพุทธเจ้า นามแม่เต่า
4) โคตมพุทธเจ้า นามแม่วัว
5) อาริยเมตไตรยพุทธเจ้า นามหญิงซักผ้า
หลังจากฤาษีทั้ง 5 ออกบวชบำเพ็ญเพียรอยู่ในป่า วันหนึ่งฤาษีทั้ง 5 ได้พบกัน ณ สถานที่แห่งหนึ่ง จึงสอบถามถึงชื่อและโคตร วัน เดือน ปี และสถานที่เกิด ฤาษีทั้ง 5 เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ตนเองได้รับฟังจากแม่เลี้ยง (แม่ผู้อุปการะเลี้ยงดู) ว่า ตนเองเกิดจากไข่แม่กาเผือก ฤาษีทั้ง 5 รู้ว่าทุกคนเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกันของแม่กาเผือก จึงทำการคารวะเคารพซึ่งกันและกัน โดยคนที่เกิดทางเหนือน้ำเป็นพี่ชายคนโต และคนที่เกิดท้ายน้ำเป็นน้องชายคนเล็ก ทั้ง 5 ปรึกษากันว่า พวกเราเป็นลูกกำพร้า ไม่เคยเห็นหน้ามารดาแม่กาเผือก เลยพากันตั้งจิตอธิษฐานขอให้แม่กาเผือกมาปรากฏต่อหน้า ด้วยแรงจิตอธิษฐานและความผูกพันเป็นแม่ลูกในอดีตชาติ ฆติกาพรหมจึงเนรมิตกายเป็นกาเผือกตัวใหญ่มีขนสีขาวทั้งตัว บินมาจากสวรรค์ชั้นสุทธาวาส ปรากฏต่อหน้าฤาษีทั้ง 5 พี่น้อง และให้โอวาทคำสอนแก่ลูกทั้ง 5 นางจากนั้น ฤาษีทั้ง 5 พี่น้องก็ขอเอารอยเท้าของแม่กาเผือกไว้เป็นที่กราบไหว้บูชา ฆติกาพรหมจึงนำเส้นฝ้ายมาฟั่นเป็นเกลียว 3 ขา ให้เสมอกันเสมือนรอยตีนกา ให้ฤาษีทั้ง 5 นำไปใส่ไว้ในถ้วยน้ำมันทำเป็นไส้ประทีปจุดไฟ เพื่อบูชาแม่กาเผือกจวบจนกระทั่งลูกทั้ง 5 ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าในโลกนี้ต่อมาได้กลายเป็นประเพณีจุดประทีปตีนกาบูชาแม่กาเผือกในวันเพ็ญ เดือนยี่ (เหนือ) หรือยี่เป็งมาจนถึงปัจจุบัน”
จะเห็นได้ว่า ความเชื่อพระเจ้า 5 พระองค์ โดยผ่านวัฒนธรรมประเพณีนั้น เป็นการผูกเรื่องราวที่เชื่อมโยงจากวรรณกรรมแบบแม่กาเผือกไปสู่ประเพณีในรูปแบบต่างๆ ทั้งนี้ การจุดประทีปตีนกาเพื่อบูชาแม่กาเผือกของพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ ที่กล่าวข้างต้นนี้ เป็นประเพณีที่เชื่อมโยงคุณธรรมในเรื่องของความกตัญญูรู้คุณผู้มีพระคุณอีกด้วย (อนุชา พิมศักดิ์, 2550)
คราวนี้ เราย้อนกลับมาต่อประเด็นที่เมื่อมาการจุดบูชาประทีปตีกา ภายหลังการเทศน์มหาชาติจบทั้ง 13 กัณฑ์แล้ว ชุมชนล้านนาในอดีตทั้งบ้านและวัดจะจุดเทียน จุดประทีปโคม ไฟสว่างไสวทุกตรอกซอกซอย ซึ่งเกิดขึ้นพร้อมๆ กับเหตุการณ์บริเวณการจัดงานเทศน์ที่เมื่อถึงกัณฑ์นคร เมื่อถึงฉากฝนห่าแก้ว 7 ประการ ตกลง เพื่ออุดหนุนบารมีในการตั้งความปรารถนาโพธิสมภารของพระเวสสันดร พอพระเทศน์ถึงฉากนี้ ศรัทธาประชาชนจะโปรยข้าวตอกดอกไม้ และเหรียญเงินบาทหรือสลึงเต็มทั่ววิหารฝูงชน และเด็กจะพากันแย่งนำเงินนี้ไปเป็นขวัญถุง เรียกว่า ‘เงินฝนห่าแก้ว’ ทำให้เกิดความชุ่มเย็น พอเทศน์กัณฑ์นครนี้เสร็จจะเป็นเวลาใกล้รุ่งเช้า จึงเรียกกัณฑ์นี้อีกอย่างว่า ‘นครข้อนแจ้ง’ จะเห็นได้ว่า เป็นการแสดงละครโรงใหญ่ ด้วยการเทศน์มหาชาตินั้นจะมีทั้งการขับร้องที่ไพเราะ เพื่อให้ผู้ฟังเกิดจินตนาการในการฟัง การสมมติเหตุการณ์ทั้งสถานที่และเรื่องราว และการเข้ามามีส่วนร่วมของศรัทธาประชาชนผู้รับฟัง นอกจากผู้ฟังจะได้รับความบันเทิงและดื่มด่ำซาบซึ้งกับเรื่องราวแล้ว ยังสืบโยงไปสู่บุญบารมีจากการรับฟังและการเข้าร่วมพิธีกรรมนั้นด้วย
ทิ้งท้ายแต่คงมิใช่ท้ายสุด
แม้จุดมุ่งหมายของการตั้งธรรมหลวง มีนัยสำคัญเกี่ยวข้องทั้งพระสงฆ์และชาวบ้านในชุมชน ในส่วนพระสงฆ์ คือการรวบรวมคัมภีร์ธรรมต่างๆ ไว้เป็นหมวดหมู่ การเจียนคัมภีร์ธรรมที่เป็นวิทยาการเพิ่มเติมให้มากขึ้น การฝึกหัดพระภิกษุสามเณร ให้ความรู้ด้านการอ่านคัมภีร์ให้คล่องแคล่วขึ้น การบำรุงพระภิกษุสามเณรในด้านจตุปัจจัย ส่งเสริมกิจกรรมทางศาสนาหลายประการ เช่น การทำโคมไฟ และทำดวงประทีป การทำตุง และการตัดช่อ เป็นต้น เกิดการประสานสามัคคีกันระหว่างวัดกับชาวบ้านมากขึ้น ส่วนสำหรับชาวบ้านนั้นท้องถิ่น ทำให้เกิดความสามัคคีภายในชุมชน การเรียนรู้เกี่ยวกับจารีตประเพณี การเรียนรู้หลักธรรมทางศาสนาโดยสื่อผ่านเรื่องพระเวสสันดร และทำให้มีโอกาสได้ฟังคีตกวีสำเนียงเสียงขับร้องอันไพเราะ งานตั้งธรรมหลวงจึงเป็นงานที่ถือว่ามีความสำคัญต่อชุมชน เพราะประเพณีดังกล่าวสอดแทรกวัฒนธรรมพื้นบ้านและคติคำสอนไว้หลายสิ่งหลายประการ ซึ่งยากยิ่งที่จะหาประเพณีวัฒนธรรมใดที่สอดประสานวัฒนธรรมพื้นบ้านไว้ได้อย่างมากมาย เช่น การตั้งธรรมหลวง
ดังนั้น ถ้าพิจารณาบทบาทของการตั้งธรรมหลวง จะมีบทบาทสำคัญอยู่ 2 ประการ คือ บทบาทในการแสดงธรรมสั่งสอนพุทธบริษัท หรือบทบาทในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา และบทบาทในการให้ความเพลิดเพลิน โดยเฉพาะการเทศน์มหาชาติในงานศพหรืองานฉลองต่างๆ ปกติในงานเช่นนี้มักมีการเทศน์มหาชาติกัณฑ์ที่สนุกเพลิดเพลิน ได้แก่ กัณฑ์ชูชกกุมารและมัทรี การเทศน์กัณฑ์ชูชกมักมุ่งความตลกคะนอง การเทศน์กัณฑ์กุมารและมัทรี ก็เน้นความซาบซึ้งในรสวรรณคดีและน้ำเสียงโอดครวญเศร้าสร้อยของพระผู้เทศน์ พระที่เทศน์เก่งๆ จะมีน้ำเสียงแหลมเล็ก สามารถเอื้อนเสียงโอดครวญได้อย่างจับใจ คร่ำครวญให้คนฟังเกิดอารมณ์ร่วมไปกับกัณหาชาลี และพระนางมัทรีเป็นการเปลี่ยนความสนใจของผู้ฟังแทนที่จะอาลัยเศร้าโศกในผู้ตายมากเกินไป ให้หันมาเพลิดเพลินซาบซึ้งกับเรื่องราวและรสของวรรณคดีมหาชาติแทน (ประคอง นิมมานเหมินทร์, 2526 : 4-5)
นอกจากนี้ การฟังเทศน์มหาชาติตามวัดวาอารมในล้านนาในสมัยอดีตนั้นคงมีการเทศน์มหาชาติทุกวัด เพราะความศรัทธาที่มีต่อพระพุทธศาสนา ประกอบกับเนื้อหาของเวสสันดรชาดกมีเนื้อหาที่ก่อให้เกิดอรรถรสกินใจและสะเทือนอารมณ์ เนื้อเรื่องมีครบทุกรส การจัดเทศน์มหาชาติแต่ละครั้ง ผู้จัดจะตกแต่งสถานที่งดงามซึ่งจะดึงดูดความสนใจใคร่มาเห็น พระนักเทศน์ก็คัดแต่พระเสียงดี แต่การเทศน์มหาชาติก็ตกอยู่สภาพความไม่แน่นอน ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรือง แต่พอถึงยุคหนึ่งกลับซบเซาเลือนหาย ถึงจะมีการจัดเทศน์มหาชาติก็ทำกันในวงแคบ ในชุมชนของตนเอง เป็นการจัดสร้างรักษาประเพณีเท่านั้น แน่นอนว่าอดีตที่ผ่านมา ดินแดนล้านนาเคยมีอิสระปกครองตนเอง แต่เมื่อล้านนาถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของสยาม วัฒนธรรมล้านนาที่เคยรุ่งเรืองกลับอยู่ในสภาพตกต่ำ กิจกรรมทางศาสนาที่เคยปฏิบัติกันมากลับถูกลดบทบาท เช่น ภาษาล้านนาที่เคยใช้สื่อสารระหว่างกันและกัน กลับถูกห้ามเรียนห้ามสอน พระสงฆ์ที่เคยอ่านเขียนภาษาล้านนาก็ไม่สามารถอ่านได้ เมื่อพระสงฆ์อ่านภาษาล้านนาไม่ได้ก็กระทบถึงการเทศน์มหาชาติ ซึ่งต้องใช้ภาษาล้านนา
พอว่ามาถึงประเด็นนี้แล้วก็ได้แต่เก็บไว้ในในอกในใจแล้วคิดหาอะไรต่อมิอะไรทำต่อไปดีว่า..
อ้างอิง
- นิธิ เอียวศรีวงศ์ . (2555). “รัฐนาฏกรรมอีกที,” มติชนสุดสัปดาห์ (10-16 สิงหาคม): 30.
- ประคอง นิมมานเหมินทร์. (2526). มหาชาติลานนา : การศึกษาในฐานะที่เป็นวรรณคดีท้องถิ่น. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
- เปลื้อง ณ นคร. (2515). ประวัติวรรณคดีไทย. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.
- อนุชา พิมศักดิ์. (2550). ตำนานพระเจ้าห้าพระองค์ : โครงสร้างเนื้อหาและบทบาทในสังคมไทย.กรุงเทพฯ : วิทยานิพนธ์อักษรศาสตรมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
- ภาพปก สวท.เชียงใหม่
ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า