22 พฤศจิกายน 2567 ที่ ทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพฯ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย ร่วมกับ องค์กรภาคประชาสังคม ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทัมไรท์ จัดกิจกรรมวันเกิดเพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ยืนหยัดเคียงข้างอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการกรมสรรพากร ซึ่งถูกคุมขังด้วยประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 จากการใช้เสรีภาพในการแชร์คลิปบนโซเชียลมีเดีย พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงผลกระทบของคดี ม.112 และความจำเป็นของร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน รวมถึงส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน
กิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ครั้งนี้ ต้องการสร้างความตระหนักรู้ในสถานการณ์ของผู้ต้องขังทางการเมือง และสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันกับนักกิจกรรมที่อยู่ในเรือนจำ รวมถึงส่งกำลังใจให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคน ภายในงานประกอบด้วยการกิจกรรมร้องเพลงวันเกิดให้กับอัญชัญ ปรีเลิศ ที่ด้านหน้าทัณฑสถานหญิงกลาง กรุงเทพ ฯ และแจกไอศกรีมรส “FREE ANCHAN” ให้กับผู้ร่วมงานและประชาชนที่อยู่ในบริเวณนั้น เพื่อเป็นสัญลักษณ์ ส่งเสียงเรียกร้องให้ปล่อยตัวอัญชัญและผู้ต้องหาคดีทางการเมืองทุกคน นอกจากนี้ ยังมีการอ่านจดหมายจากอัญชัญที่สะท้อนถึงความรู้สึกของเธอในเรือนจำ รวมถึงบอกเล่าความสำคัญของจดหมายถึงเพื่อนในเรือนจำ ว่ามีคุณค่าต่อผู้ต้องขังทุกคนที่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง
ปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า วันนี้เป็นวันพิเศษ เพราะเป็นวันเกิดของป้าอัญชัญ เราไม่ได้มาที่นี่เพียงเพื่อเฉลิมฉลอง แต่เพื่อย้ำเตือนถึงคุณค่าของสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ทุกคน กรณี นางอัญชัญ สะท้อนให้เห็นถึงความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมของไทย การที่ถูกตัดสินจำคุกกว่า 43 ปี ชี้ให้เห็นว่ากฎหมายที่ทางการไทยบังคับใช้ ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชน
ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงมีขึ้นมาเพื่อส่งเสียงว่า ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องแก้กฎหมายเพื่อความเป็นธรรมต่อทุกคน นอกจากนี้ แอมเนสตี้ ประเทศไทยขอให้รัฐบาลพิจารณาสิ่งที่เคยสัญญากับประชาชน โดยต้องทำตามอนุสัญญาต่างๆ เกี่ยวกับหลักสิทธิมนุษยชนระดับสากลที่ลงนามไว้ โดยเฉพาะอนุสัญญากติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองและสถานะการเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC
“ผลการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 ประเทศไทยได้รับเลือกเป็นสมาชิกคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ตามวาระปี 2568 – 2570 เมื่อเป็นเช่นนี้ทางการไทยยิ่งต้องทบทวนคำสัญญาและบทบาทหน้าที่เรื่องสิทธิมนุษยชนให้ชัดเจน แอมเนสตี้เสนอว่าทางการไทยต้องปฏิบัติตามหลักสิทธิมนุษยชนมาตรฐานสากล เพื่อให้ประเทศไทยได้ยืนอยู่ในคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติได้เต็มภาคภูมิ” ปิยนุชกล่าว
ขณะที่ พูนสุข พูนสุขเจริญ ตัวแทนจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ได้ชี้ให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ผู้ต้องขังคดีการเมืองที่มากกว่าครึ่งได้รับโทษภายใต้ประมวลกฏหมายอาญามาตรา 112 กำลังจะถูกละทิ้งจากทั้งกระแสสังคมและผู้มีอำนาจรัฐในการพิจารณากฏหมายนิรโทษกรรม โดยพูนสุข ยืนยันถึงจุดยืนของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน ที่จะต้องผลักดันร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม โดยรวมมาตราดังกล่าว
ทางด้าน จิณห์วรา ช่วยโชติ และธันยชนก ชาลีเขียว ตัวแทนของแอมเนสตี้ ประเทศไทย และทัมไรท์ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของการเขียนจดหมายเพื่อให้กำลังใจแก่เพื่อนในเรือนจำ ไม่ว่าสิ่งที่เขียนไปจะเป็นเรื่องเล็กน้อยแค่ไหน การได้ส่งผ่านความรู้สึกห่วงใย การระลึกถึง เป็นเรื่องสำคัญทั้งสำหรับผู้ที่ถูกคุมขังทุกคน
แอมเนสตี้ ประเทศไทย และเครือข่ายขอให้ทางการไทยสนับสนุนร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมประชาชน ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อยุติการดำเนินคดีต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมและเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองตั้งแต่เหตุการณ์รัฐประหาร 2549 โดยเน้นการแก้ปัญหาแบบ “ไม่แบ่งสี ไม่แยกฝ่าย” ครอบคลุมทุกคดี ยกเว้นกรณีเจ้าหน้าที่รัฐที่ใช้ความรุนแรงเกินกว่าเหตุ
สำหรับอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการพลเรือน ถูกตัดสินจําคุก 87 ปี เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2564 ในข้อหา ม.112 จำนวน 29 กระทง จากคลิปเสียงที่อัปโหลดและเผยแพร่บนโซเชียลมีเดีย โดยโทษจําคุกของเธอลดลงเหลือ 43 ปี 6 เดือนเนื่องจากรับสารภาพ พิพากษาให้จำคุกที่ทัณฑสถานหญิงกลางในกรุงเทพ ซึ่งกรณีของอัญชัญ สะท้อนให้เห็นถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดต่อการใช้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกทางการเมือง แอมเนสตี้จึงใช้วันเกิดในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2567 ที่จะมีอายุครบ 69 ปี จัดกิจกรรมขึ้นมาเพื่อสนับสนุนการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออกของผู้ที่ถูกกดขี่จากกฎหมายดังกล่าว
โดยอัญชัญถูกจับกุมเมื่อวันที่ 25 มกราคม 2558 และถูกควบคุมตัวที่ค่ายทหารเป็นเวลา 5 วัน ก่อนถูกพิพากษา โดยถูกฝากขังเป็นเวลาสามปีกับ 281 วัน ในตอนแรกคดีถูกพิพากษาโดยศาลทหาร ซึ่งอัญชัญปฏิเสธคําขอประกันตัวหลายรอบ กระทั่งได้รับการประกันตัวชั่วคราวเมื่อ 2 พฤศจิกายน 2561 อย่างไรก็ดี คดี ม.112 ของอัญชัญ ยังอยู่ภายใต้เขตอํานาจศาลของศาลทหารกรุงเทพ จนกระทั่งเดือนกรกฎาคม 2562 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้มีคำสั่งให้ส่งคดีของพลเรือนในศาลทหารไปยังศาลพลเรือน (อ้างอิงจาก: International Federation for Human Rights (FIDH)
นอกจากนี้ ในปี 2567 ยังคงมีผู้ถูกคุมขังจากการใช้สิทธิในเสรีภาพการแสดงออก และการกล่าวหาจากมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างน้อย 35 คน ประกอบด้วย ผู้ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดีอย่างน้อย 22 คน เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 16 คน และผู้ต้องขังคดีการเมืองที่มีการพิจารณาโทษแล้วจำนวนอย่างน้อย 12 คน เป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 9 คน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...