07/06/2022
ไม่ใช่เพียง “ไร่หมุนเวียน” ซึ่งเป็นระบบการเกษตรตามวิถีที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ แต่ความมั่นคงทางอาหารในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 นั้นยังอยู่ในพื้นที่ป่าที่ชุมชน ที่ชาวกะเหรี่ยงดูแลรักษาควบคู่กับการใช้ประโยชน์มาหลายชั่วอายุคน
ณ ชุมชนบ้านแม่ส้าน หมู่ที่ 6 ต.บ้านดง อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง อันเป็นชุมชนของชาวกะเหรี่ยงโปว์ที่มีประวัติศาสตร์การก่อตั้งชุมชนยาวนานนั้น ชาวบ้านส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ตลอดจนยังคงนับถือศาสนาดั้งเดิม จึงยังคงไว้ซึ่งลักษณะการจัดการที่ดินและทรัพยากรที่เรียกว่า “พื้นที่ทางจิตวิญญาณ” มาจนถึงปัจจุบัน ครอบคลุมพื้นที่กว้างขวางถึง 18,102 ไร่ ในจำนวนนั้นมีพื้นที่ 223 ไร่ ที่ชุมชนกันไว้เป็นพื้นที่ “ป่าใช้สอย” สำหรับการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในป่า โดยเฉพาะเก็บหาอาหารตามฤดูกาลบริโภคในครัวเรือนและเป็นฐานเศรษฐกิจชุมชน
เริ่มตั้งแต่ต้นปี ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านใช้เวลาร่วม 3 เดือน ตั้งแต่กุมภาพันธ์จนถึงเมษายนในการดูแลผืนป่าจากไฟป่า ด้วยการทำแนวกันไฟความยาวถึง 36 กิโลเมตรล้อมรอบพื้นที่แนวเขตชุมชน สร้างจุดเฝ้าระวังไฟป่าตลอด 24 ชั่วโมง และลาดตระเวนในพื้นที่ป่าที่ชุมชนดูแลเพื่อให้สามารถดับไฟได้อย่างทันท่วงที ทั้งหมดนี้เกิดจากน้ำพักน้ำแรงของชุมชน เพราะป่าคือบ้านและแหล่งความมั่นคงทางอาหารที่ไม่อาจปล่อยให้เสื่อมโทรมได้
“การดับไฟป่าแต่ละจุด แต่ละครั้ง แม้จะยากหรือลำบากแค่ไหนเราก็ไม่ท้อ ชาวบ้านดับฟ่าด้วยภูมิปัญญาโดยนำต้นกล้วยป่ามาประกบกับต้นไม้ที่กำลังติดไฟอยู่ ต้นกล้วยจะมีน้ำและความเย็นเพียงพอที่จะดับไฟได้ เราจะเอามาถมตอไม้แห้งหรือรากไม้ที่กำลังติดไฟอยู่ และตัดไม้ไผ่มากั้นไว้ เพื่อป้องกันเศษไม้ที่ติดไฟตกไปไหม้ต่อไปในบริเวณอื่น” ณัฐนนท์ ลาภมา ชาวกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านกล่าว
หลังผ่านช่วงเวลาที่ชุมชนดูแลผืนป่าให้พ้นจากไฟป่าอย่างหนัก ก็ได้เวลาที่ชุมชนบ้านแม่ส้านจะได้รับรางวัลจากการทำงานอย่างหนักนั้น ด้วยการเข้าไปพึ่งพาอาหารจากพื้นที่ป่า “หน่อไม้” เป็นหนึ่งในพืชอาหารหลักในป่าใช้สอย แล้วยังสามารถเป็นแหล่งรายได้ของชุมชนได้อีกด้วย โดยในแต่ละปีหากราคารับซื้อหน่อไม้ดี อาจทำรายได้ให้ครัวเรือนสูงสุด 1,500 บาทต่อวัน และ 20,000 บาทต่อปี
นอกจากนั้นยังมี “มะแขว่น” ที่อยู่ในไร่หมุนเวียนพักฟื้น ที่เป็นเครื่องเทศหายากราคาแพง ชุมชนใช้ปรุงอาหารรับประทานในครัวเรือน แล้วยังมีเหลือเฟือนำไปขายเป็นฐานเศรษฐกิจของชุมชนได้ โดยรายได้แต่ละปีจากมะแขว่นเฉลี่ยครัวเรือนละประมาณ 50,000 บาท และบางครัวเรือนอาจได้สูงถึง 100,000 บาท
การมีรายได้จากฐานทรัพยากรในชุมชนนั้นแม้ไม่มากมาย แต่ก็ยังพอให้ชุมชนสามารถมีทุนทรัพย์เก็บออมไว้ใช้ในยามจำเป็น หรือส่งลูกหลานเรียน ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นี้เมื่อลูกหลานพากันกลับเข้ามาในชุมชน ก็สามารถช่วยลดอัตราความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด-19 ได้ เพราะชุมชนไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานรับจากนอกชุมชนแต่อย่างใด
นอกจากนั้นยังมีอาหารอีกหลากหลายให้ได้เก็บกิน เป็นต้นว่าหัวปลีป่า กล้วยป่า หยวกกล้วยป่า ผักกูด กระชายป่า เห็ด ผักกูด และหนอนไม้ไผ่ เป็นต้น ทั้งหมดนี้เป็นอาหารปลอดภัย ปราศจากสารเคมี และยังคงมีพืชผักเหลือเฟือที่จะสามารถแบ่งปันให้คนในเมืองที่กำลังเดือดร้อนอยู่ในขณะนี้ได้
บรรพบุรุษสอนว่า “กินอยู่กับป่าต้องรักษาป่า กินอยู่กับน้ำต้องรักษาน้ำ” ชุมชนกะเหรี่ยงบ้านแม่ส้านเป็นอีกหนึ่งชุมชนที่พิสูจน์แล้ว ว่าหากพวกเขาไม่ดูแลรักษาป่า คงไม่มีกินมีใช้จนถึงทุกวันนี้ ผืนป่าแห่งจิตวิญญาณนั้นตอบแทนชุมชนด้วยการเป็นแหล่งความมั่นคงทางอาหาร พาชาวบ้านพ้นภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชนโดยแท้จริง
เรื่องและภาพ: พชร คำชำนาญ
#สู้ภัยโควิดด้วยสิทธิชุมชน #กะเหรี่ยงโปว์
#แม่ส้าน #ป่าชุมชน
#ป่าใช้สอย #ป่าจิตวิญญาณ
#Lanner