ค้านตัดงบค่าตอบแทนขาสอง คณาจารย์ มช. แนะฟังความเห็น ชี้ละเมิดสิทธิคนทำงานวิชาการ

11 กันยายน 2567 เวลา 13.00 น. ที่ผ่านมา ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เครือข่ายคณาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้ร่วมกันจัด ‘เวทีสาธารณะประเด็นว่าด้วยการจ่ายค่าตอบแทนประจำตำแหน่งขาสอง มช.’ เพื่อร่วมพูดคุยแสดงความเห็น สะท้อนปัญหา และให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย จากกรณีร่างประกาศของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ว่าด้วย ‘หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการ’ หรือที่เรียกว่า ‘ค่าตอบแทนตำแหน่งวิชาการขาสอง’ ซึ่งกำหนดให้คณาจารย์ที่มีตำแหน่งวิชาการต้องยื่นผลงานวิชาการทุกปี หากไม่สามารถยื่นได้ตามกำหนด อาจถูกหักหรือยกเลิกค่าตอบแทนดังกล่าว 

ร่วมเสวนาโดย ปีดิเทพ อยู่ยืนยง คณะนิติศาสตร์, เก่งกิจ กิติเรียงลาภ คณะสังคมศาสตร์, จิรันธนิน กิติกา คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์, ชาติชาย เขียวงามดี คณะเศรษฐศาสตร์, พงศกร ศุภกิจไพศาล คณะเกษตรศาสตร์, วรรณวิสาข์ ไชยโย คณะมนุษยศาสตร์, สิงห์ สุวรรณกิจ คณะมนุษยศาสตร์, และศรยุทธ เอี่ยมเอื้อยุทธ คณะวิจิตรศิลป์ ดำเนินรายการโดย ปิ่นแก้ว เหลืองอร่ามศรี คณะสังคมศาสตร์

ปิ่นแก้ว ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวถึงที่มาของงานว่า การจัดเวทีในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปิดพื้นที่ให้คณาจารย์ได้ร่วมพูดคุยและแสดงความคิดเห็นต่อเรื่องดังกล่าว ที่อาจกระทบต่อผลประโยชน์ สิทธิ และสวัสดิการของพนักงานมหาวิทยาลัย เพื่อนำไปสู่การปรับปรุงหลักเกณฑ์ให้มีความเหมาะสมและเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น

ปีดิเทพ แสดงความเห็นต่อหลักเกณฑ์การได้รับเงินค่าตอบแทนขาสองว่า หลักเกณฑ์การประเมินผลงานเพื่อรับค่าตอบแทนฯ ยังคงมีความคลุมเครือและขาดความชัดเจนในหลายประเด็น โดยเฉพาะการให้ทุนวิจัยและทุนบริการวิชาการที่มีความแตกต่างกันในไปแต่ละคณะ จึงต้องการให้มหาวิทยาลัยมีกรอบดุลยพินิจที่ชัดเจนและเป็นบรรทัดฐานเดียวกันต่อการพิจารณา พร้อมทั้งเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเทียบเคียงผลงานวิชาการที่ควรมีความโปร่งใส และเปิดโอกาสให้ครอบคลุมคณาจารย์ในหลากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ทำงานในด้านกีฬา ศิลปวัฒนธรรม หรือสาขาอื่น ๆ ที่มักถูกมองข้าม นอกจากนี้ ปิดิเทพยังได้กล่าวถึงปัญหาการตีพิมพ์บทความวิชาการ โดยชี้ว่าคณาจารย์มักต้องสำรองค่าใช้จ่ายออกไปก่อน ซึ่งเป็นภาระที่หนักอึ้งสำหรับหลายคน ดังนั้นจึงต้องการให้มหาวิทยาลัยมีบทบาทเชิงรุกมากขึ้นในการให้การสนับสนุนที่เป็นรูปธรรม เพื่อช่วยให้คณาจารย์สามารถผลิตผลงานวิชาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

“สิทธิการทำงานควรเป็นสิทธิพื้นฐาน แต่โดยพื้นฐานนี่เป็นการละเมิดสิทธิของคนทำงาน”

เก่งกิจ แสดงความเห็นเกี่ยวกับร่างประกาศ ‘หลักเกณฑ์การได้รับเงินประจำตำแหน่งสายวิชาการ’ ว่าสิ่งนี้เป็นการละเมิดสิทธิพื้นฐานของบุคลากร และอยู่ในกระบวนการตัดสินใจ รวมถึงการใช้อำนาจเป็นแบบ Top-Down ทั้งในแง่ของเนื้อหา ที่มา และกระบวนการ โดยไม่ได้มีการรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรอย่างกว้างขวางแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีข้อเสนอขอให้มีการยุติการประกาศเกณฑ์ดังกล่าวนี้ หรือหากมีกระบวนการของการเปลี่ยนแปลง มหาวิทยาลัยก็ควรต้องมีการรับฟังความคิดเห็นอย่างโปร่งใส ยุติธรรม และทั่วถึง

“เราติดอยู่ในกับดักของการคิดแบบบนลงล่างและการแบกภาระงานจนลืมสิทธิ”

จิรันธนิน ตั้งคำถามถึงทิศทางของมหาวิทยาลัยจากร่างประกาศหลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยชี้ให้เห็นถึงปัญหาของการให้ความสำคัญกับผลผลิตผลทางวิชาการ อาทิ จำนวนงานวิจัย และตัวชี้วัดเชิงปริมาณอื่น ๆ มากกว่าการพัฒนาคุณภาพการเรียนการสอนและบัณฑิต ที่ทำให้อาจารย์ต้องแบกรับภาระงานวิจัยและเอกสารเป็นจำนวนมาก จนละเลยบทบาทการเป็นผู้สอนซึ่งแทบไม่มีเวลาการสอนอย่างเต็มที่ ขณะเดียวกันก็ตั้งคำถามถึงบทบาทของผู้บริหารมหาวิทยาลัย โดยชี้ว่า ผู้บริหารควรทำงานเพื่อยกระดับสวัสดิการของบุคลากรและนักศึกษา ไม่ใช่เพียงเพื่อผลประโยชน์ของตนเอง 

ชาติชาย มีความเห็นสอดคล้องกับเก่งกิจและจิรันธนินต่อประเด็นปัญหาของเกณฑ์ประเมินผลงานวิชาการในคณะสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์เพื่อได้รับเงินค่าตอบแทนขาสอง โดยเสริมว่า เกณฑ์ประเมินผลงานในปัจจุบันอาจมีความไม่เหมาะสมต่อคณะสายสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ เนื่องจากการผลิตผลงานอาจมีรูปแบบที่หลากหลายมากกว่าการเน้นตีพิมพ์งานวิชาการ ซึ่งเกณฑ์ปัจจุบันไม่สามารถสะท้อนถึงความสำคัญของงานเหล่านี้ได้อย่างครบถ้วน ดังนั้นจึงเสนอให้มหาวิทยาลัยหาทางออกที่เหมาะสมทั้งในเรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การประเมิน รวมไปถึงการป้องกันปัญหาการซื้อผลงานวิจัยอย่างเข้มงวด เพื่อความเป็นธรรมต่อบุคลากรในทุกสายวิชา

พงศกร สะท้อนถึงความไม่ชัดเจนในกระบวนการและการสื่อสารจากมหาวิทยาลัยเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนขาสอง โดยกล่าวว่า แม้จะมีอาจารย์บางส่วนที่ยอมรับหลักเกณฑ์นี้ แต่ก็ยังคงมีคำถามหลายประเด็น โดยเฉพาะความชัดเจนในด้านการสื่อสารเกี่ยวกับเกณฑ์ต่าง ๆ ที่ยังไม่ปรากฏจนกระทั่งใกล้ถึงกำหนดการประเมิน ในขณะที่อาจารย์บางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับหลักเกณฑ์นี้รู้สึกว่าพวกเขาไม่มีสิทธิมีเสียง และไม่ได้รับการฟังในกระบวนการตัดสินใจ หลายคนรู้สึกว่าหลักเกณฑ์ใหม่ไม่ยุติธรรมและถูกบังคับให้ปฏิบัติตามโดยไม่มีโอกาสแสดงความเห็น ดังนั้นจึงต้องการให้มหาวิทยาลัยมีการปรับปรุงการสื่อสารและกระบวนการทำงานภายในมหาวิทยาลัยให้มีความโปร่งใสและเป็นระบบมากขึ้น

วรรณวิสาข์ แสดงความเห็นต่อประเด็นการปรับเปลี่ยนหลักเกณฑ์การจ่ายค่าตอบแทนขาสองของอาจารย์ โดยเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยคงระบบเดิมไว้ และเสนอแนวทางปรับปรุงระบบให้เป็นธรรมและสร้างแรงจูงใจเชิงบวกมากขึ้น ทั้งนี้ วรรณวิสาข์ได้อธิบายถึงที่มาของเงินค่าตอบดังกล่าวว่า เกิดจากความต้องการรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพไว้ในมหาวิทยาลัย เนื่องจากในอดีตมีปัญหาการสูญเสียบุคลากรไปยังภาคเอกชน ดังนั้น การจะเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ระบบค่าตอบแทนดังกล่าวจึงควรมีการเหตุผลที่ชัดเจน โดยต้องเปิดรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรอย่างกว้างขวาง และเป็นข้อตกลงของทั้งสองฝ่ายคือฝ่ายอาจารย์และฝ่ายบริหารร่วมกัน

“ภาพรวมของการเปลี่ยนแปลงใน มช. ที่ผ่านมา รวมถึงเรื่องเงินขาสอง สะท้อนว่า ทุกอย่างมุ่งเน้นไปที่ความเป็นธุรกิจมากขึ้น ทำให้ความเป็น ‘ที่แสวงหาความรู้’ หายไป มหาวิทยาลัยเป็น ‘Social Enterprise’ ไม่ใช่ ‘Private Enterprise’ เพราะฉะนั้นไม่ควรเอาเรื่องกำไรขาดทุน การคิดคำนวณเชิงตัวเลขเข้ามาเกี่ยวข้อง”

สิงห์ แสดงความกังวลต่อแนวทางการบริหารมหาวิทยาลัยในปัจจุบัน โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนขาสองของอาจารย์ โดยเห็นว่าประเด็นดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงเชิงธุรกิจที่เกิดขึ้นในมหาวิทยาลัยมากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากที่มหาวิทยาลัยออกนอกระบบและต้องพึ่งพารายได้จากการหาเงินเอง การเปลี่ยนแปลงนี้สะท้อนให้เห็นถึงการมุ่งเน้นการสร้างรายได้และการไต่อันดับมหาวิทยาลัยในระดับโลก มากกว่าการสร้างสรรค์องค์ความรู้ตามอุดมคติของมหาวิทยาลัย ทั้งที่ในความเป็นจริง มหาวิทยาลัยควรให้ความสำคัญกับการสร้างบรรยากาศทางการเรียนการสอน (Teaching Environment) ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยยกระดับคุณภาพการศึกษา ดังนั้น จึงเรียกร้องให้มหาวิทยาลัยยุติการบริหารในลักษณะบริษัทเอกชน ยุติการเปลี่ยนแปลงหลักเกณฑ์ค่าตอบแทน และกลับมาให้ความสำคัญกับบทบาทของมหาวิทยาลัยในฐานะศูนย์กลางทางปัญญาของสังคม ไม่ใช่การวัดผลลัพธ์จากตัวเลขเพียงอย่างเดียว นอกจากนี้ ผู้บริหารมหาวิทยาลัยควรเปิดรับฟังความคิดเห็นของอาจารย์อย่างรอบด้าน และหาทางออกร่วมกันเพื่อรักษาความเป็นมหาวิทยาลัยที่แสวงหาความรู้และมีบทบาทในการขับเคลื่อนสังคมต่อไป    

ศรยุทธ แสดงความเห็นต่อหลักเกณฑ์ค่าตอบแทนขาสอง ชี้ว่าปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่การทำผลงานวิชาการตามเกณฑ์ แต่เป็นเรื่องของการขาดการมีส่วนร่วมและการประชาพิจารณ์จากคณาจารย์และบุคลากร โดยกล่าวว่า หลักเกณฑ์ใหม่นี้ส่งผลกระทบต่อคณาจารย์ทุกคน แต่กระบวนการตัดสินใจกลับเกิดขึ้นโดยไม่มีการร่วมพูดคุยหรือเปิดโอกาสให้แสดงความคิดเห็นอย่างทั่วถึง ซึ่งขาดความชอบธรรมทั้งในระดับคณะและมหาวิทยาลัย นอกจากนี้ ศรยุทธยังตั้งข้อสงสัยถึงการใช้เกณฑ์วัดผลด้านวิชาการที่เน้นการตีพิมพ์ผลงานวิชาการ โดยไม่มีหลักฐานชัดเจนว่าสิ่งนี้จะเสริมสร้างความเข้มแข็งทางวิชาการให้มหาวิทยาลัยอย่างไร พร้อมเตือนถึงปัญหาการซื้อขายผลงานวิชาการ ซึ่งอาจเป็นผลกระทบทางลบที่มากขึ้นหากไม่ถูกตรวจสอบอย่างเหมาะสม

ทั้งนี้ ปิ่นแก้ว ในฐานะผู้ดำเนินรายการ กล่าวทิ้งท้ายว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัย (ก.บ.ม.) เพื่อพิจารณาเรื่องหลักเกณฑ์ดังกล่าวเป็นครั้งสุดท้ายในวันที่ 18 กันยายน 2567 ที่จะถึงนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าทางมหาวิทยาลัยจะพิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบและถี่ถ้วน

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง