ภาพ: อนุชา ตาดี
23 – 24 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา ภาคประชาชนร่วมจัดงาน ‘เส้นทางชาวนาไทย: รำลึก 50 ปี สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย’ ณ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพื่อน้อมรำลึกถึงการต่อสู้ของสามัญชน เรียนรู้บทเรียนจากประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยบาดแผลและความสูญเสีย และสดุดีวีรชนของสหพันธ์ชาวนาฯ พร้อมประกาศเจตนารมณ์ ‘ชาวนาและอนาคตสังคมไทย’ ท่ามกลางการมีส่วนร่วมของขบวนการประชาชน นักศึกษา คณาจารย์ ญาติวีรชน และผู้แทนองค์กรจากหลากหลายภาคส่วน เช่น องค์กรทางการเมือง องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร มูลนิธิ สหภาพ และสื่อมวลชน ฯลฯ
สำหรับบรรยากาศในช่วงเช้าของวันที่ 24 พ.ย. 67 เวลา 08.00 – 10.00 น. กิจกรรมเริ่มต้นขึ้นด้วยการรำลึกวีรชนสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ผ่านการกล่าวสดุดี พร้อมด้วยพิธีวางพวงมาลาเพื่อเชิดชูเกียรติวีรชน โดย ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ตัวแทนผู้นำฝ่ายค้าน กัลยา ใหญ่ประสาน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำพูน พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้แทนองค์กรเกษตรกรและสิทธิชุมชน กิติศักดิ์ จันทร์ใหม่ ผู้แทนองค์กรประชาธิปไตย ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ผู้แทนองค์กรแรงงาน คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ ผู้แทนองค์กรเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษา จีราวรรณ โสดาวัฒน์ ผู้แทนญาติวีรชนสหพันธ์ชาวนาฯ
ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวรำลึกถึงคุณูปการของวีรชนผู้เสียสละเพื่อสิทธิมนุษยชน โดยย้ำถึงวัตถุประสงค์สำคัญ 3 ประการ คือ การไว้อาลัยและเชิดชูเกียรติวีรชนผู้ล่วงลับและสูญเสีย การให้กำลังใจสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ และการเรียนรู้จากอดีต เพื่อวางรากฐานอนาคต รวมถึงการเยียวยาและฟื้นฟูอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อให้แน่ใจว่าเหตุการณ์ในอดีตที่สร้างความสูญเสียจะไม่เกิดขึ้นซ้ำอีก พร้อมทั้งแสดงความยินดีที่จะสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในฐานะตัวแทนรัฐบาลและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม
เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล ตัวแทนผู้นำฝ่ายค้าน กล่าวรำลึกถึงการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทยในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่าแม้โครงสร้างเศรษฐกิจชนบทจะเปลี่ยนไป แต่โครงสร้างอำนาจยังคงถูกครอบงำโดยนายทุนและรัฐที่ปกป้องผลประโยชน์ของพวกเขา ปัญหาที่ดินทำกินและหนี้สินยังคงเป็นอุปสรรคใหญ่ของชาวนาชาวไร่ สะท้อนถึงการเมืองที่ไม่เป็นธรรม ทั้งกฎหมายและนโยบายที่เอื้อให้นายทุนแต่ขัดขวางการพัฒนาชาวนา ในนามของพรรคประชาชน ยืนยันจะตรวจสอบการกดขี่ขูดรีด พร้อมผลักดันกฎหมายที่เพิ่มสิทธิและความเป็นธรรมให้แก่ชาวนาไร่ชาวนาซึ่งเป็นผู้ผลิตอาหารของประเทศต่อไป
“ในฐานะพรรคฝ่ายค้าน ในสภาผู้แทนราษฎร เราตระหนักถึงคุณูปการการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ รวมทั้งกลุ่มองค์กรภาคประชาชนในยุคหลังที่ทําให้เกิดกฎหมายที่สําคัญหลายฉบับ เราพร้อมที่จะร่วมต่อสู้ฝ่าฟันเพื่อสร้างความเป็นธรรมต่อผู้ผลิตอาหารสําหรับหล่อเลี้ยงคนในประเทศนี้ ทั้งตรวจสอบการกดขี่ขูดรีดชาวนาชาวไร่ และผลักดันกฎหมายที่เพิ่มสิทธิและโอกาศใหม่ ๆ ให้แก่ชาวนาชาวไร่ต่อไป”
กัลยา ใหญ่ประสาน สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดลำพูน กล่าวถึงความสำคัญของการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมและความเสมอภาคในสังคม โดยย้ำว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลงใดที่อำนาจรัฐจะยื่นให้โดยง่าย แต่ต้องมาจากการยืนหยัดต่อสู้ของประชาชน ขอให้ทุกคนมองข้ามความแตกต่าง ผนึกกำลังในแนวราบเพื่อสร้างพลังร่วมกันจากพลังเล็ก ๆ รวมตัวเป็นกระแสใหญ่เพื่อเปลี่ยนแปลงสังคม การรวมพลังในวันนี้จะเป็นพันธะสัญญาทางจิตวิญญาณของทุกคน ที่จะสร้างสังคมที่อยู่ดีกินดีและปราศจากการเอารัดเอาเปรียบ พร้อมทิ้งท้ายด้วยบทกวีที่แปลโดย จิตร ภูมิศักดิ์ ความว่า
“เพื่อลบรอยคราบน้ำตาประชาราษฎร์ สักพันชาติจักสู้ม้วยด้วยหฤหรรษ์ แม้นชีพใหม่มีเหมือนหวังอีกครั้งครัน จักน้อมพลีชีพนั้นเพื่อมวลชน”
พะตีตาแยะ ยอดฉัตรมิ่งบุญ ผู้แทนองค์กรเกษตรกรและสิทธิชุมชน กล่าวในโอกาสครบรอบ 50 ปีการต่อสู้ของสหพันธ์ชาวนาชาวไร่ฯ ว่า วันนี้เป็นวันที่ดีที่สุดที่ได้มาพบปะและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น พร้อมรำลึกถึงผู้ที่เสียสละในอดีต โดยย้ำว่าแม้การต่อสู้จะเหนื่อยยาก แต่ไม่ควรท้อถอย ทั้งยังเน้นถึงความสำคัญของการปลูกฝังจิตวิญญาณการต่อสู้ให้กับคนรุ่นถัดไป เพื่อสืบทอดความมุ่งมั่นในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าให้กับชุมชนและประเทศชาติ พร้อมแสดงความดีใจที่วันนี้มีทั้งตัวแทนภาครัฐและประชาชนมาร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลง
“อนาคตประเทศกับเราก็จะดีขึ้นสักวันหนึ่ง เพราะเรายืนหยัดต่อสู้”
กิติศักดิ์ จันทร์ใหม่ ผู้แทนองค์กรประชาธิปไตย กล่าวรำลึกถึงจิตวิญญาณของการต่อสู้ในอดีต พร้อมเน้นย้ำถึงความสำคัญของการสานต่อเจตนารมณ์เพื่อสร้างอนาคตที่ดีกว่า สร้างความเท่าเทียมและความเป็นธรรมในสังคม โดยมีประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนเป็นแกนหลัก พร้อมเสนอว่ารัฐต้องแสดงความรับผิดชอบต่อการกระทำที่ละเมิดสิทธิประชาชน และสร้างสภาพแวดล้อมทางกฎหมายในการอยู่ร่วมกัน สร้างขอตกลงร่วมกัน จะต้องทำให้มันเข้มแข็ง พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า
“เราต้องร่วมมือกันเขียนรัฐธรรมนูญประชาชน แม้จะยากเพียงใดก็ตาม เพื่อให้อำนาจกลับมาอยู่ในมือประชาชน เพื่อกำหนดอนาคตและชะตาชีวิตของตนเอง”
ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ ผู้แทนองค์กรแรงงาน รำลึกถึงจิตวิญญาณการต่อสู้ของ สามประสาน ระหว่างสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ กรรมกร และนักศึกษา ที่เคยสร้างความเปลี่ยนแปลงในอดีต โดยเน้นว่า การต่อสู้ของชาวนาชาวไร่ไม่ได้เริ่มต้นเมื่อปี 2517 แต่มีรากฐานยาวนาน เช่น เหตุการณ์ปี 2445 ที่ชาวนาลุ่มน้ำแม่งัด จ.เชียงใหม่ รวมตัวกันประท้วงภาษีที่ดินอย่างกล้าหาญ แม้ต้องเผชิญการปราบปรามด้วยอาวุธ และย้ำว่า ‘ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติคือการต่อสู้ทางชนชั้น’ และเรียกร้องให้มีการปลดแอกชาวนาและกรรมกรจากโซ่ตรวนแห่งการกดขี่ ด้วยการแจกจ่ายปัจจัยการผลิตและที่ดินให้แก่ผู้ทำการผลิตและชาวนาชาวไร่ ตามคำขวัญดั้งเดิมของสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ที่ว่า ‘ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ’ พร้อมทิ้งท้ายว่า
“ในนามชนชั้นกรรมอาชีพผมขอแสดงความสมานฉันท์กับพี่น้องสมาพันธ์ชาวนาชาวไร่ผู้เป็นชนชั้นผู้ถูกกดขี่เช่นเดียวกัน”
คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ ผู้แทนองค์กรเยาวชนนักเรียนนิสิตนักศึกษา กล่าวสดุดีในโอกาสครบรอบ 50 ปีของการต่อสู้ของชาวนา โดยย้ำถึงความสำคัญของวีรชนผู้เสียสละในอดีตว่า เราทุกคนที่อยู่ในวันนี้ คือผู้ได้รับผลจากการต่อสู้อันกล้าหาญในอดีต ทั้งในแง่ของกฎหมายและบรรทัดฐานทางสังคม พร้อมกล่าวคำสดุดีทิ้งท้ายความว่า
“จากปี 2517 จนถึงปี 2567 50 ปีที่ผ่านมา ครึ่งศตวรรษ ขอสดุดีวีรชนชาวนาทุกท่าน ขอสดุดีแด่ผู้เสียสละทุกคน ผมในฐานะนักศึกษา ในฐานะคนรุ่นหลัง คนรุ่นใหม่ เราจะไม่มีทางมีวันนี้ได้เลยถ้าเกิดว่าไม่เกิดการต่อสู้เมื่อครั้งอดีต เมื่อครั้งก่อนหน้า พวกเราทุกคนที่อยู่ตรงนี้เป็นผู้ได้รับผลของการต่อสู้ เป็นผู้ได้รับผลตอบแทนของการต่อสู้เมื่อครั้งอดีตทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นกฎหมาย หรือแม้กระทั่งบรรทัดฐานทางสังคม เรายืนพูดอยู่ในทุกวันนี้ได้ เรามีสิทธิเสรีภาพได้ เป็นเพราะการต่อสู้ก่อนหน้าทั้งสิ้น ในฐานะคนรุ่นใหม่ผมขอสดุดีจากใจจริง”
ในช่วงท้าย จีราวรรณ โสดาวัฒน์ ผู้แทนญาติวีรชนสหพันธ์ชาวนาฯ ได้กล่าวคำสดุดีที่สะท้อนถึงความกล้าหาญและการเสียสละของเหล่าวีรชน ผู้ลุกขึ้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมในนามของผู้ไร้เสียง
“ณ ท้องทุ่งที่อาบไปด้วยหยาดเหงื่อและความทุกข์ทน ผู้นำชาวนาชาวไร่ได้ลุกขึ้นยืนเพื่อต่อกรกับความอยุติธรรมในนามของผู้คนที่ไร้เสียง พวกเขาไม่เพียงแต่ทวงคืนสิทธิในผืนนาที่บรรพชนก่นสร้างไว้ แต่ยังต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีและชีวิตที่ดีกว่า เลือดเนื้อและชีวิตของพวกเขาคือรากฐานแห่งเสรีภาพ ในวันที่ดวงตะวันที่ลับขอบฟ้าไปพร้อมกับความสิ้นหวัง พวกเขากลับหยัดยืนและเปล่งเสียงแห่งความกล้าหาญ แม้นต้องเผชิญกับอำนาจที่คุกคาม พวกเขายังเดินหน้าด้วยจิตใจที่เข้มแข็งไม่หวาดหวั่น เพื่อปลดแอดชาวนาชาวไร่ จากพันธนาการแห่งความเหลื่อมล้ำ จารึกชื่อไว้ในแผ่นดิน ผู้นำเหล่านี้มิได้ทิ้งไว้เพียงเรื่องเล่า หากแต่เป็นแรงบันดาลใจที่ก้องกังวานผ่านรุ่นสู่รุ่น การเสียสละของพวกเขาได้ประกาศให้โลกรู้ว่า การต่อสู้เพื่อความยุติธีีมต้องแลกมาด้วยความเจ็บปวด การเสียสละเลือดเนื้อและชีวิต แต่มันคุ้มค่า เพื่อมอบอนาคตที่ดีกว่าให้คนรุ่นหลัง ขอให้เลือดเนื้อของพวกท่านเป็นพลังให้เมล็ดพันธุ์แห่งเสรีภาพงอกงาม ขอให้ชีวิตที่พลีเพื่อสิทธิ์และศักดิ์ศรีของชาวนาชาวไร่ เป็นแสงสว่างที่ไม่มีวันมอดดับ โลกจะไม่ลืมความกล้าหาญที่ท่านฝากไว้ในแผ่นดิน ในนามของลูกหลานชาวนาชาวไร่ ขอสดุดีแด่ดวงวิญญาณของ พ่อหลวงอินถา ศรีบุญเรือง พ่อหลวงศรีทน ยอดกันธา และเหล่าผู้นำชาวนา ผู้ไม่เคยยอมก้มหัวให้กับโชคชะตา และได้ต่อสู้จนลมหายใจสุดท้าย แม้โลกนี้จะเปลี่ยนไปเพียงใด วีรกรรมของพวกท่านจะอยู่ในหัวใจของพวกเราเสมอ ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน..”
เหลียวหลังแลหน้า ภารกิจแห่งอนาคตของ ‘ขบวนการประชาชน’ การต่อสู้ทางชนชั้น การเมืองมวลชน การเมืองรัฐสภา
ถัดจากกิจกรรมรำลึกในช่วงเช้า ต่อมาเวลา 10.15 – 12.15 น. งานดำเนินต่อด้วยเวทีเสวนาภายใต้หัวข้อ ‘เหลียวหลังแลหน้า ภารกิจแห่งอนาคตของขบวนการประชาชน การต่อสู้ทางชนชั้น การเมืองมวลชน การเมืองรัฐสภา’ เพื่อเปิดพื้นที่ให้เครือข่ายขบวนการประชาชนได้ร่วมกันทบทวนบทบาทในปัจจุบัน และกำหนดทิศทางการเคลื่อนไหวในอนาคต โดยเฉพาะในบริบทของการรวมกลุ่มและผลักดันเชิงนโยบาย อีกทั้งการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรต่าง ๆ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่มีประสิทธิภาพ โดยตัวแทนจากขบวนการประชาชนหลายภาคส่วน ได้แก่ สุนี ไชยรส เครือข่ายเด็กเท่ากัน ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย สุรพล สงฆรักษ์ สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ บุญยืน สุขใหม่ สมัชชาคนจน จรัสศรี จันทร์อ้าย สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ นันทชาติ หนูศรีแก้ว เครือข่ายสลัม 4 ภาค ธีรเนตร ไชยสุวรรณ ขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม พรชิตา ฟ้าประทานไพร เครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ สหภาพแรงงานบาริสต้า และ คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ นักศึกษาภาคเหนือ ดำเนินรายการโดย นิติรัตน์ ทรัพย์สมบูรณ์ จากเครือข่ายรัฐสวัสดิการ We Fair และ วิศรุต ศรีจันทร์ จากมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ
สุนี ไชยรส จากเครือข่ายเด็กเท่ากัน กล่าวถึงประเด็นสําคัญในความเชื่อมโยงของ ขบวนการ ‘สามประสาน’ ซึ่งประกอบด้วย นักศึกษา ชาวนา และกรรมกร โดยระบุว่า แม้ขบวนการสามประสานจะเป็นกระดูกสันหลังของการเคลื่อนไหวทางสังคมตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม สุนีย้ำว่า การต่อสู้ในปัจจุบันต้องก้าวไปไกลกว่าสามประสาน ต้องขยายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ เพื่อครอบคลุมมิติใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละกลุ่ม การเคลื่อนไหวในปัจจุบันจำเป็นต้องเรียนรู้จากบทเรียนในอดีต และสร้างความร่วมมือระหว่างกลุ่มต่าง ๆ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง ตราบใดที่ปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างสมบูรณ์ การต่อสู้ก็ยังต้องเดินหน้าต่อไป
“เราคือการเมืองภาคประชาชน ที่จะเป็นตัวทั้งต่อรอง ทั้งตรวจสอบ ทั้งกระบวนการผลักดันอื่น ๆ ถ้าเราคิดอย่างนี้เราก็จะเดินไปได้ ฐานใหญ่ที่สุดก็คือเราต้องเข้มแข็ง เพราะว่าการต่อรองมันต้องอาศัยกระบวนการที่เข้มแข็งมาก ๆ โจทย์ของมันคือว่า ไม่ว่ายุคไหนก็ตาม ไม่มีวันที่ประชาชนจํานวนแสน จำนวนล้าน ลุกขึ้นมาพร้อมกับเรา ไม่มี 14 ตุลาก็เริ่มจากหัวหอกไม่มาก อันนี้คือความหวังที่เราต้องมั่นใจ”
ลัดดาวัลย์ ตันติวิทยาพิทักษ์ จากคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) เน้นย้ำถึงความสำคัญของการสร้างความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในสังคม โดยเชื่อมั่นในการบูรณาการ พลังของ ‘สามประสาน’ และการขยายความร่วมมือไปสู่ ‘หลากหลายประสาน’ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มคนที่หลากหลายในยุคปัจจุบัน การประสานพลังและสร้างความร่วมมือถือเป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้การเคลื่อนไหวมีพลังและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ในประเด็นสำคัญของปัจจุบัน ลัดดาวัลย์ชี้ว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ คือหัวข้อที่ทุกคนต้องให้ความสำคัญ โดยระบุว่าการจัดทำ ‘ประชามติ’ คือหัวใจของประชาธิปไตยโดยตรง หากกระบวนการประชามติได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ประชาชนจะมีสิทธิแสดงความคิดเห็นในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ประชามติเข้ามามีบทบาทในการตัดสินใจเชิงนโยบาย
“อย่าคิดว่าเราเขียนรัฐธรรมนูญไม่ได้ ไม่ใช่นักกฎหมายเท่านั้นที่จะเขียนรัฐธรรมนูญ ทุก ๆ คนมีสิทธิ์ที่จะมีเสียง มีส่วนร่วมในการเขียน ทุกคนจะต้องทำ ไม่ใช่แค่ ครป. หรือภาคี แต่ทุกคนต้องลุกขึ้นมาทำ ต้องช่วยกันออกมาแก้ไข ช่วยกันการกระจายอำนาจให้เป็นจริง ลุกขึ้นมาจัดการตนเอง แก้ปัญหาด้วยตนเอง เพื่อพิสูจน์ให้รัฐบาลและผู้มีอำนาจรู้ว่า คุณอยู่ไม่ได้ถ้าไม่มีประชาชน”
สุรพล สงฆรักษ์ จากสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ชี้ให้เห็นถึง ‘ปัญหาเชิงโครงสร้าง’ ที่ยังคงมีปัญหาหนักหน่วงในสังคมไทย เช่น โครงสร้างที่อยุติธรรม การใช้อำนาจความรุนแรง และอิทธิพลดำมืดในระดับท้องถิ่นที่ยังคงตามหลอกหลอนเหมือนเมื่อ 50 ปีก่อน ยังคงฝังรากลึกและครอบงำระบบการเมืองไทยมาตลอด ส่งผลให้ทุนผูกขาดสามารถมีอำนาจเหนือรัฐและประชาชนได้อย่างต่อเนื่อง
เป้าหมายสำคัญของการต่อสู้ในยุคปัจจุบันคือ การทำลายทุนผูกขาดที่มีอำนาจเหนือรัฐ และสร้างประชาธิปไตยที่เป็นของประชาชนอย่างแท้จริง การลดทอนรัฐธรรมนูญให้เป็นเพียงเครื่องมือแก้ปัญหาปากท้องนั้นไม่เพียงพอสำหรับการสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน รัฐธรรมนูญควรเป็นเครื่องมือในการสะท้อนสิทธิเสรีภาพ ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และอำนาจอธิปไตยของประชาชน การต่อสู้ควรเชื่อมโยงกันระหว่างเศรษฐกิจและการเมือง เช่น การจัดการทรัพยากรที่ดินและป่าไม้ ควบคู่กับการผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ที่มาจากประชาชน 100% และการยกระดับการศึกษาทางการเมือง ซึ่งเป็นพื้นฐานในการพัฒนาการจัดตั้งและการต่อสู้ของขบวนการประชาชน
“ไม่ว่าปัญหาเฉพาะหน้าหรือปัญหาระยะยาว จะต่อสู้ได้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาด ได้รับผลชัยชนะตามที่คาดหวัง ก็ต้องมีขบวนการต่อสู้ที่เข้มแข็ง มียุทธศาสตร์การต่อสู้ร่วมกัน ไม่ใช่กระจัดกระจายอย่างที่เป็นอยู่ทุกทุกวันนี้”
บุญยืน สุขใหม่ จากสมัชชาคนจน ชี้ให้เห็นถึงปัญหาเชิงโครงสร้างที่ประชาชนต้องเผชิญ โดยเฉพาะการที่รัฐพยายามควบคุมการรวมตัวของขบวนการประชาชนผ่านการออกกฎหมายและกติกาต่าง ๆ ที่กลายเป็นเครื่องมือกดดัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มกรรมกร ชาวนา หรือขบวนการภาคประชาชน โดยเน้นว่าปัญหาหลักของคนจนมักหมุนเวียนอยู่ที่ ‘อำนาจในการต่อรองกับรัฐ’ ซึ่งถูกลดทอนด้วยโครงสร้างทางกฎหมายที่ออกแบบมาเพื่อจำกัดสิทธิและเสรีภาพ
บุญยืนชี้ว่า ‘รัฐธรรมนูญ’ เป็นกลไกสำคัญในการกำหนดอนาคตของขบวนการประชาชน การใช้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ผ่านมาแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากลไกนี้สามารถทำให้การขับเคลื่อนของภาคประชาชนเป็นไปได้หรือถูกหยุดยั้งได้ อย่างไรก็ตาม ขบวนการต่าง ๆ ในปัจจุบันมักทำงานแบบแยกส่วน นักศึกษามุ่งแก้ปัญหาเฉพาะกลุ่ม กรรมกรสู้ในโรงงาน และเกษตรกรต่อสู้กับปัญหาที่ดินหรือปากท้องของตนเอง แต่การต่อสู้แบบแยกส่วนเช่นนี้ทำให้พลังในการต่อรองกับรัฐอ่อนแอลง ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ ‘ขบวนการประชาชน’ ต้องกลับมาสร้างความร่วมมือสามประสาน ระหว่างนักศึกษา กรรมกร และเกษตรกร ซึ่งในอดีตเคยเป็นรากฐานสำคัญของการต่อสู้
“นอกจากขบวนการภาคประชาชนบนท้องถนนที่เราต้องต้องขับเคลื่อนกันต่อไป ขณะเดียวกันการเมืองในระดับประเทศ การเมืองในระดับรัฐสภา เราก็ต้องช่วยกันผลักดัน และช่วยกันขับเคลื่อนให้เป็นอย่างที่เราคาดหวัง”
จรัสศรี จันทร์อ้าย จากสหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ ได้สะท้อนถึงภาพสําคัญของการเคลื่อนไหวของขบวนเครือข่ายต่าง ๆ ที่มีอยู่ และภาพอนาคตที่ควรจะเป็นต้องมากกว่า ‘สามประสาน’ การต่อสู้ต้องก้าวไปสู่การสร้างขบวนการที่ ‘จับต้องและสัมผัสได้’ และมีพลังร่วมกันมากยิ่งขึ้น ทุกคนต่างมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน นั่นคือการสร้างสังคมที่เท่าเทียมและดีขึ้น แต่สิ่งที่ขัดขวางอยู่ในปัจจุบันคือ อำนาจรัฐและโครงสร้างที่ใหญ่โตและซับซ้อนเกินกว่าที่ชาวบ้านจะต่อกรได้
ดังนั้น ถึงเวลาแล้วที่ต้องสร้าง ‘การเคลื่อนไหวแบบขบวน’ ที่รวมพลังจากทุกกลุ่ม เพื่อทำงานร่วมกันในรูปแบบที่จับต้องได้ การสร้างรัฐธรรมนูญที่สะท้อนความต้องการของทุกกลุ่มในสังคมคือก้าวแรกสำคัญที่ขบวนการประชาชนควรมุ่งหน้ารัฐธรรมนูญที่เป็นผลจากความร่วมมือในขบวนการประชาชน จะสามารถเชื่อมโยงประเด็นของกลุ่มต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจ อย่างแท้จริง
“อำนาจคนตัวเล็กตัวน้อย ถ้ากระจัดกระจายไปจะไม่เป็นอำนาจที่ยิ่งใหญ่ และถ้าจะยิ่งใหญ่ได้จริงคือ หนึ่ง อำนาจของคนตัวเล็กตัวน้อยอาจจะต้องเป็นอำนาจที่เป็นรูปธรรมและมีการจัดตั้งทางความคิดร่วมด้วย อย่างที่สอง เรื่องแนวร่วมที่ต้องขยายร่วมกันให้มันมากขึ้น ต้องจับมือกัน เพราะถ้าเรายังกระจัดกระจายกันอยู่ เราก็เหมือนเบี้ยหัวแตก ต่างคนต่างสู้ ตีกันคนละครั้ง ถ้าจะสู้ก็ต้องรวมกันสู้ รวมกันตี”
นันทชาติ หนูศรีแก้ว จากเครือข่ายสลัม 4 ภาค ได้เล่าถึงกระบวนการขับเคลื่อนของเครือข่ายที่มุ่งแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ควบคู่กับการผลักดันเชิงนโยบายที่เป็นรูปธรรม โดยชี้ว่า แนวทางการทำงานของเครือข่ายเน้นการ ‘ไม่ทำแทนกัน แต่ทำงานร่วมกัน’ โดยเรียนรู้และยกระดับบทบาทของสมาชิกที่เผชิญปัญหาให้มีส่วนร่วมในการวางแผนและกำหนดทิศทางร่วมกัน เป็น ‘ขบวนการประชาชนที่มุ่งสร้างพลเมืองตื่นรู้’ พร้อมผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในประเด็นที่อยู่อาศัย คุณภาพชีวิต และความเป็นธรรมในสังคม
“อยากชวนกันมาสร้างพื้นที่ที่ประชาชนตื่นรู้ ลุกขึ้นมาปกป้องสิทธิ ลุกขึ้นมากำหนดอนาคตของตนเอง ผ่านประสบการณ์ตรง ผ่านปัญหาเฉพาะหน้า และยกระดับไปให้ถึงกลไกเชิงนโยบายที่จะเกิดความยั่งยืน”
ธีรเนตร ไชยสุวรรณ จากขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (พีมูฟ) กล่าวถึงบทบาทของพีมูฟที่เป็นขบวนการรวมตัวของประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายรัฐในหลากหลายพื้นที่และปัญหา ไม่จำกัดเพียงชาวนา แต่รวมถึงผู้ที่เผชิญความอยุติธรรมในรูปแบบต่าง ๆ การต่อสู้ของพีมูฟกว่า 13 ปีที่ผ่านมา ไม่ได้หยุดอยู่แค่การแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า แต่ยังพยายาม ยกระดับไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย
แม้พีมูฟจะเป็นขบวนการระดับประเทศ แต่ธีรเนตรยอมรับว่า การแก้ไขปัญหาในเชิงโครงสร้าง เช่น การผลักดันรัฐธรรมนูญใหม่ จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากกลุ่มและองค์กรต่าง ๆ การทำงานร่วมกันเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่ซับซ้อนและยากเกินกว่าจะดำเนินการได้ด้วยตัวพีมูฟเอง
“สิ่งที่ทําอยู่ปัจจุบัน แม้จะเป็นกระบวนการที่ดูแซ้ําซาก แต่ว่าอีกมุมหนึ่งคือเราไปแสดงตัวตน พยายามผลักดันเรื่องราว ผลักดันการแก้ปัญหา การเสนอกฎหมาย เพื่อให้รัฐเห็นว่า ภาคประชาชนต้องเข้าไปอยู่ในสมการของภาครัฐให้จงได้ การทบทวีของพี่น้องมวลชน ผมก็ยังเชื่อแบบนั้น การสะสมทางความคิดบวกกับการจัดตั้งของแต่ละองค์กรเครือข่าย มันเป็นโอกาสที่เราทําได้ในอนาคตนะ”
พรชิตา ฟ้าประทานไพร จากเครือข่ายประชาชนผู้เป็นเจ้าของแร่ กล่าวถึงการรวมตัวของประชาชนจากภาคอีสาน ภาคเหนือ และภาคใต้ ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการเหมืองแร่ โดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อปกป้องสิทธิในสิ่งแวดล้อมและชุมชน เครือข่ายทำหน้าที่ติดตามผลกระทบ พูดถึงการฟื้นฟูพื้นที่ และต่อสู้เพื่อยับยั้งโครงการเหมือง
การต่อสู้ของเครือข่ายไม่ได้จำกัดเฉพาะพื้นที่ที่มีเหมืองอยู่แล้ว แต่ยังรวมถึงการคัดค้านโครงการเหมืองในพื้นที่ใหม่ เช่น เหมืองแร่กะเบอะดิน ที่แม้ยังไม่มีการทำเหมือง แต่ชุมชนได้รวมตัวกันเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการพัฒนาที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิต การต่อสู้เหล่านี้ไม่ได้จำกัดเพียงพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง แต่ยังเชื่อมโยงชุมชนในหลายภูมิภาคที่เผชิญปัญหาเหมือนกัน
พรชิตาเชื่อว่าในอนาคต หากเครือข่ายสามารถสร้างข้อเสนอเชิงนโยบายและกฎหมายที่เป็นรูปธรรมและได้ สิ่งนี้ก็จะช่วยสร้างความชัดเจนและเพิ่มพลังให้กับการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น
“วันนี้เราเห็นจุดร่วมเดียวกัน แต่ละประเด็นมีจุดมุ่งหมาย เป้าหมายเดียวกันคือ การที่ประชาชนจะเป็นใหญ่ในแผ่นดิน รวมไปถึงการมีประชาธิปไตยที่แท้จริงในประเทศนี้ ขบวนการไหน หรือพี่น้องกลุ่มไหนที่กำลังต่อสู้ หรือเจอประเด็นปัญหา ประเด็นความไม่เป็นธรรม ไม่เท่าเทียมในสังคม เราเป็นเพื่อนกัน”
ศุภลักษณ์ บำรุงกิจ จากสหภาพแรงงานบาริสต้า ตั้งคำถามสำคัญต่อขบวนการต่อสู้ทางสังคม ว่าเราจะแพ้หรือชนะนั้นไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราสื่อสารกับสังคมได้มากพอหรือไม่ แต่เป็นเพราะ ‘เราไม่มีอำนาจมากพอ’ ศุภลักษณ์ยกตัวอย่างการผลักดัน ร่างพรบ.คุ้มครองแรงงานลาคลอด 180 วัน ที่แม้ฝั่งแรงงานจะมีข้อมูลครบถ้วนจากนักวิชาการและหลักฐานจากสหภาพแรงงาน แต่ก็ยังถูกต่อต้านจากฝั่งนายทุนที่ไม่มีหลักฐานใด ๆ รองรับความกังวลของตนเอง แม้จะมีข้อมูลและความจริงอยู่ในมือ แต่การตัดสินใจยังถูกครอบงำด้วยอำนาจของกลุ่มนายทุนที่อยู่ในโครงสร้างอำนาจรัฐ ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การสื่อสารไม่เพียงพอ แต่เป็นเพราะโครงสร้างอำนาจที่ไม่ยุติธรรม ทำให้เสียงของประชาชนถูกเพิกเฉย
ศุภลักษณ์เสนอว่า โจทย์สำคัญของขบวนการแรงงานและการต่อสู้ทางสังคมคือ ‘จะเปลี่ยนมวลชนให้กลายเป็นอำนาจต่อรองได้อย่างไร’ เพื่อสร้างแรงกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่แท้จริง และทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงไม่อาจเกิดขึ้นจากการร้องขอเพียงอย่างเดียว แต่ต้องผ่านการต่อสู้อย่างมีเป้าหมายชัดเจน การสื่อสารอาจเป็นเครื่องมือหนึ่ง แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือการสร้างอำนาจต่อรองที่แข็งแกร่ง เพื่อชัยชนะในการต่อสู้ระยะยาว
“มันไม่ได้มีสิ่งไหนได้มาด้วยการร้องขอ แต่ได้มาจากการต่อสู้ทั้งนั้น ถ้าเกิดเข้าใจแล้วว่าการต่อสู้นี้เราจะชนะได้ยังไง ก็ค่อย ๆ มาออกแบบกระบวนการร่วมกัน”
คุณานนต์ คุณานุวัฒน์ นักศึกษาภาคเหนือ สะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของขบวนการเคลื่อนไหวตั้งแต่ปี 2562 – 2563 ที่เคยเฟื่องฟู แต่กลับถูกลดทอนอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยชี้ว่าสิ่งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยบังเอิญ แต่เป็นผลจากกลไกที่มุ่งทำลายและควบคุมการเคลื่อนไหวของประชาชน ทั้งการออกกฎหมายที่จำกัดสิทธิในการชุมนุม การจัดตั้งสหภาพ และการจัดการกับผู้ที่ลุกขึ้นสู้ในรูปแบบต่าง ๆ
ปัจจุบันนักศึกษาไม่ได้ถูกฆ่าด้วยอาวุธ แต่ถูก ‘ฆ่าความคิด’ และแช่แข็งในฐานะผู้เรียนรู้ที่ถูกทำให้เชื่อว่าปัญหานอกเหนือจากรั้วโรงเรียน รั้วมหาวิทยาลัยไม่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ความตั้งใจนี้มุ่งสร้างความแยกส่วนในสังคม เพื่อป้องกันไม่ให้คนรุ่นใหม่ลุกขึ้นมาสร้างการเปลี่ยนแปลง แม้ว่าผลจากปัญหาในสังคมจะมาถึงทุกคนไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังนั้นจึงเชื่อว่าการ ‘รวมตัว’ เพื่อสร้าง ‘อำนาจ’ ที่มากขึ้นคือคำตอบ การเปลี่ยนแปลงไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือและการต่อสู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความหวังและทิศทางให้กับคนรุ่นต่อไป
“ทุกการต่อสู้ที่ผ่าน มันมีมูลค่าให้กับสังคม มันสร้างความหวัง สร้างวิธีการ ทำให้เรารู้ว่าจะไปยังไงต่อ เป็นการกรุยทางให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้จากการต่อสู้ก่อนหน้าอยู่เสมอ และการต่อสู้ในวันนี้ก็จะสร้างเส้นทางให้คนรุ่นหลังสามารถมองเห็นและมีความหวังต่อไปได้”
“เราจะชนะศัตรูได้ ก็ต้องอาศัยมวลชนพี่น้องชาวนาชาวไร่ที่ถูกกดขี่ และเพื่อนมนุษย์ที่รักความเป็นธรรมเท่านั้น”, ใช่ วังตะกู ประธานสหพันธ์ชาวนาฯ ปี 2517
“ในบรรดาขวากหนามที่ต้องฝ่าฝันให้พ้นไปนั้น นอกจากสิ่งอื่น ๆ แล้ว มีสิ่งหนึ่งที่สำคัญก็คือ แนวความคิดที่ปลูกฝังให้คนยอมจำนนต่อสิ่งที่ดำรงอยู่ ในลักษณะของการสร้างรูปแบบกฎเกณฑ์ขึ้นมามอมเมาให้เชื่อว่า สิ่งที่ปรากฏอยู่ในสังคมคือความเป็นธรรม ผู้ที่ลุกขึ้นมาคัดค้านกฎเกณฑ์นั้นจึงถูกกล่าวหาจากฝ่ายที่เป็นปฏิปักษ์ต่อประชาชนว่าเป็นผู้ก่อการร้าย เป็นผู้คิดคดทรยศต่อประเทศ เป็นผู้ขายชาติ ที่แท้จริง แล้วบุคคลเหล่านี้คือผู้ที่เดินอยู่บนเส้นทางแห่งความยุติธรรมและความถูกต้อง เดินไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีงามกว่า เพื่อสร้างสรรค์สังคมที่ปราศจากการกดขี่ ขูดรีด เบียดเบียน บุคคลเหล่านี้กําลังเดินทางไปกับประชาชน ไปสู่อนาคตอันรุ่งโรจน์และสดใสในบั้นปลาย ส่วนผู้ที่กดขี่ขูดรีดก็กําลังเดินไปสู่เชิงตะกอนเผาศพของตัวเองและจะถูกลบหายไปจากเวทีประวัติศาสตร์ในที่สุด”, จำรัส ม่วงยาม ประธานสหพันธ์ชาวนาฯ คนสุดท้าย
ชาวนาและอนาคตสังคมไทย
ในช่วงท้ายของงาน ขบวนการประชาชนทุกกลุ่มต่างมาร่วมกันประกาศเจตนารมณ์ โดยมีความตอนหนึ่งว่า
“เราเป็นผลิตผลของการลุกขึ้นสู้อันยาวนานหลายยุคสมัย ความทรงจำของการต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมและเพื่อชีวิตที่ดีกว่า ยังคงเจิดจ้าและเป็นแสงสว่างเพื่อนำทางให้แก่พวกเราในการเดินทางไปสู่อนาคตที่งดงาม
สหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย คือ ผลผลิตทางประวัติศาสตร์การลุกขึ้นสู้ของสามัญชน ที่มีการก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2517 วัตถุประสงค์ ได้แก่ การพิทักษ์ผลประโยชน์ของชาวนาชาวไร่ การแก้ไขความเดือดร้อนของชาวนาชาวไร่ ภายใต้คำขวัญ “ที่ดินต้องเป็นของผู้ถือคันไถ” นำมาสู่การประกาศใช้ พ.ร.บ.ควบคุมการเช่านา พ.ศ.2517 และ พ.ร.บ.ปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตรกรรม พ.ศ.2518
ตลอดเวลาที่ผ่านมาการเคลื่อนไหวของชาวนาชาวไร่ยังคงดำเนินมาตลอด และความเปลี่ยนแปลง ดำเนินสหพันธ์ชาวนาฯ ของวิถีชีวิตชาวนาเกิดขึ้นอย่างไพศาล ชาวนาเลื่อนสถานะเป็นชนชั้นกลางระดับล่าง ไม่ได้มีอาชีพหรือรายได้หลักเพียงการทำนา อย่างไรก็ตามภายใต้เศรษฐกิจทุนนิยมที่มีการผลิตล้นเกินท่ามกลางความเหลื่อมล้ำ ชาวนาชาวไร่คนทำงานทุกสาขาอาชีพ 99% สร้างความมั่งคั่งแก่ชนชั้นนำ 1% แรงงานรองรับความเสี่ยงจากการทำงานโดยไร้สวัสดิการที่คำนึงถึงคุณภาพชีวิต ภายใต้ภูมิทัศน์การเมืองที่มีรัฐธรรมนูญจารีตที่รับรองการรัฐประหาร โครงสร้างวัฒนธรรมศักดินาราชูปถัมภ์อำมาตยาธิปไตย กลไกตุลาการนิติสงคราม
การจัดงานรำลึก ‘50 ปี สหพันธ์ชาวนาฯ’ จึงไม่ใช่เพียงโอกาสในการรำลึกประวัติศาสตร์ที่ถูกทำให้เลือนหายจากการลอยนวลพ้นผิดของผู้ก่ออาชญากรรม หากแต่เป็นการเรียนรู้จิตสำนึกทางการเมืองของชาวนา การจัดองค์กรการต่อสู้ของชาวนา รวมทั้งการสานต่อการลุกขึ้นสู้ของขบวนการที่อาจจะถูกลดทอนตัดตอนลงในช่วงประวัติศาสตร์ ด้วยการทำความเข้าใจสถานการณ์ภูมิทัศน์การเมืองร่วมสมัย และการแสวงหาแนวทางในการต่อสู้ในเงื่อนไขใหม่
ในโอกาสรำลึกสหพันธ์ชาวนาชาวไร่แห่งประเทศไทย เราขอคารวะต่อจิตวิญญาณอันแสดงถึงเจตจำนงของพลังกรรมาชีพ กรรมกร ชาวนาชาวไร่ ที่เป็นพลังหลักในการเปลี่ยนแปลงสังคม ดังผู้นำสหพันธ์ชาวนาฯที่เสียสละชีวิตจากการต่อสู้ ได้มอบให้แก่เราไว้ เราไม่เคยลืมนายใช่ วังตะกู นายอินaถา ศรีบุญเรือง นายจำรัส ม่วงยาม ผู้นำชาวนาชาวไร่ของเราที่ได้เสียสละชีวิต
‘เรา’ เครือข่ายเพื่อสังคมทุกองค์กร จะร่วมกันสร้างนิยาม ‘ตัวตน’ ให้ครอบคลุมผู้ถูกกดทับให้กว้างที่สุด ชาวนา ชาวไร่ คนจนข้ามรุ่น พลเมืองที่ถูกทอดทิ้ง ฯลฯ เพื่อที่จะได้ร่วมถักสาน ‘สายสัมพันธ์’ ใหม่ทางการเมืองในการแสวงหาแนวทางไปสู่อนาคตที่งดงามของทุกคนในสังคมไทย
ด้วยจิตคารวะ”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...