วันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา พี่น้องชาวสะเอียบได้จัดเวทีแลกเปลี่ยน เรียนรู้ และถอดบทเรียนในวาระครบรอบ 35 ปี ของการต่อสู้เพื่อคัดค้านโครงการสร้างเขื่อนแก่งเสือเต้น ณ โรงเรียนบ้านดอนชัย ต.สะเอียบ อ.สอง จ.แพร่ โดยในการจัดงานครั้งนี้ประกอบไปด้วยกิจกรรมดูนกในเขตอุทยานแห่งชาติแม่ยมเพื่อศึกษาระบบนิเวศน์ และยังมีพิธีบวชป่าที่ดงสักทองเพื่อการอนุรักษ์ป่าสักทองผืนสุดท้ายของชุมชน
ณัฐปคัลภ์ ศรีคำภา ประธานคณะกรรมการคัดค้านเขื่อนแก่งเสือเต้น เล่าถึงการต่อสู้เพื่อคัดค้านการสร้างเขื่อนของชุมชนสะเอียบที่ยาวนานกว่า 35 ปี พร้อมทั้งใช้โอกาสนี้เพื่อสื่อสารไปยังรัฐบาลว่าควรรับฟังการเสนอแนวทางให้มากขึ้น พร้อมทั้งให้ความสำคัญต่อโครงการจัดการน้ำสะเอียบโมเดล ที่เป็นข้อเสนอของชาวบ้าน
ในการจัดงานครั้งนี้มีเครือข่ายที่ได้รับผลกระทบจากการสร้างเขื่อนในพื้นที่อื่น และผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ ทั้งจากภาคเหนือ กลาง อีสาน ใต้ เข้าร่วมแลกเปลี่ยนความรู้และถอดบทเรียนไปด้วยกัน โดยตัวแทนเครือข่ายต่างกล่าวชื่นชมในความเข้มแข็งของพี่น้องชาวสะเอียบ ที่สามารถยืนหยัดต่อสู้กับภาครัฐมาอย่างยาวนานตลอด 35 ปี
ภายในงานยังมีการจัดเวทีเสวนา “35 ปี แก่งเสือเต้น มองไปข้างหน้า การจัดการน้ำในอนาคต” โดยมีการเชิญนักวิชาการทั้ง 4 ท่าน เพื่อมาแลกเปลี่ยนแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการน้ำของชุมชนสะเอียบในอนาคต
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ มองว่าการที่นักการเมืองยังคงยึดติดกับคติ ‘น้ำท่วมให้สร้างเขื่อน’ คือปัญหาที่ทำให้การจัดการน้ำในประเทศไม่สามารถพัฒนาต่อไปได้ และมองว่าการจัดการน้ำให้ดีมีหลายวิธี ไม่จำเป็นต้องสร้างเขื่อนเสมอไป
เช่นเดียวกับ ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษา รมว.เกษตรฯ ที่มีแนวคิดเกี่ยวกับการจัดการน้ำว่าควรเลือกใช้วิธีที่เหมาะสมกับพื้นที่นั้น และมองว่าเขื่อนเป็นสิ่งที่ทำได้แต่ก็ต้องดูความเหมาะสมของแต่ละพื้นที่ด้วย ส่วนการบริหารน้ำก็ต้องมองให้ครบทุกปัญหา รวมไปถึงปัญหาของคุณภาพน้ำด้วย ซึ่ง ‘สะเอียบโมเดล’ ถือเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ช่วยแก้ไขเรื่องการการจัดการน้ำในชุมชนสะเอียบได้
ด้าน รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ได้เล่าถึงการเติบโตของกลุ่มสมัชชาคนจนพร้อมได้ให้ข้อเสนอกับทางชุมชนว่า ควรทบทวนการร่างและยื่นหนังสือต่อกรรมสิทธิ์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนสะเอียบ และเป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นๆ ที่อาจเจอปัญหาคล้ายกัน
ผศ.ดร.สุชาติ เศรษฐมาลินี มีมุมมองว่าการสร้างความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับพื้นที่ของตนเองให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจพื้นฐานของชุมชนมากขึ้นจะช่วยให้ชุมชนนั้นเกิดความเข้มแข็ง
‘สะเอียบโมเดล’ เป็นโครงการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำสาขาย่อยของแม่น้ำยม แทนการก่อสร้างเขื่อนขนาดใหญ่ ที่เสนอโดยพี่น้องชาวสะเอียบ เพื่อเป็นแหล่งเก็บกักน้ำสำหรับการเกษตร การอุปโภค-บริโภค บรรเทาอุทกภัย และกิจกรรมการใช้น้ำอื่น ๆ ในพื้นที่ โดยในปัจจุบันได้ดำเนินโครงการอ่างเก็บน้ำแม่สะกึ๋น และ อ่างเก็บน้ำห้วยเป้า จนเสร็จสิ้นแล้ว โดยชุมชนสะเอียบยังคงมุ่งมั่นเดินหน้าผลักดันโครงการต่อไปเพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนในพื้นที่ชุมชนให้กับลูกหลานสืบไป
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...