รัฐบาลพร้อมไหม เชียงใหม่พร้อมมาก ‘ไพรัช ใหม่ชมภู’ ชวนร่วมเข้าชื่อเสนอกฎหมาย ‘เชียงใหม่มหานคร’

เชียงใหม่นับว่าเป็นเมืองที่มีอัตราการเติบโตเร็วไม่แพ้เมืองอุตสาหกรรมในภูมิภาคอื่น ๆ นอกจากนี้เชียงใหม่ยังมีประเพณี วัฒนธรรม และอัตลักษณ์ของตนเองที่โดดเด่น ซึ่งในบางกรณีนโยบายจากส่วนกลางไม่สามารถแก้ปัญหาและตอบสนองประชาชนได้อย่างทันท่วงที อีกทั้งการกำหนดการพัฒนาจากส่วนกลางยังทำให้ชุมชนอ่อนแอลง เช่น โรงเรียนพูดภาษาไทย ไม่สอนภาษาท้องถิ่น เอาระบบชลประทานมาแทนฝาย กฏหมายการจัดการป่าของกรมป่าไม้ที่ขัดกับวิถีชาวบ้าน เกิดผลกระทบเป็นปัญหาให้ท้องถิ่น ด้วยเหตุนี้เองทำให้ในเช้าของวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2555 กลุ่มนักปั่นจักรยานกว่า 50 คันนัดเจอกันที่ประตูท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประกาศเจตนารมณ์ “เชียงใหม่พร้อมแล้วที่จะจัดการตนเอง และขับเคลื่อนสู่เชียงใหม่มหานคร” อันเป็นจุดเริ่มของการรวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอร่างพ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ถูกปัดตกจากคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลและยุบสภาไปในปี พ.ศ. 2557

เชียงใหม่มหานคร เป็นแนวคิดที่มาจากความต้องการแก้ไขปัญหาระบบบริหารราชการส่วนกลางและ   ส่วนภูมิภาคที่มีการรวมศูนย์อำนาจการบริหารจัดการไว้ที่เดียว โดยมีรัฐบาลเป็นผู้บังคับบัญชา ซึ่งการรวมศูนย์อำนาจบริหารจัดการ การตัดสินใจ และการดำเนินการปฏิบัติการเช่นนี้ทำให้ประชาชนขาดการมีส่วนร่วม อีกทั้งยังไม่ตอบสนองต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ ซึ่งข้อเสนอหลักของร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานคร คือการผลักดันให้เชียงใหม่ยกเลิกการบริหารราชการส่วนภูมิภาค โดยคงส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นไว้ กระจายอำนาจในการจัดทำบริการสาธารณะให้ท้องถิ่นเป็นผู้จัดการ เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ สภาเชียงใหม่ และสภาพลเมือง เสนอให้มีการจัดเก็บภาษีเอง และส่งให้รัฐบาลกลางร้อยละ 50

ทั้งนี้ ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ภาคีเครือข่ายรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าฯเชียงใหม่รวมกับประชาชนชาวเชียงใหม่ ได้ยื่นเสนอร่าง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ฉบับปรับปรุงตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ต่อ ปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฏร คนที่ 1 ที่ได้รับมอบหมายจากประธานสภาผู้แทนราษฎร ณ ลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ จังหวัดเชียงใหม่ (สามารถอ่าน พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ฉบับเต็ม ได้ที่นี่) ซึ่งก่อนหน้านี้ พ.ร.บ. ดังกล่าวได้ถูกปัดตกจากคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจรัฐบาลและยุบสภาไปในปี พ.ศ. 2557

ไพรัช ใหม่ชมภู คณะทำงานรณรงค์เลือกตั้งผู้ว่าจังหวัดเชียงใหม่ อธิบายให้กับทีมข่าว Lanner ว่า​​ร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานครในรอบนี้จะไปได้ไกลกว่ารอบที่ผ่านมา เนื่องจากพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่มีการตื่นตัวทางการเมืองมากขึ้น จากสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมืองที่มีปัญหาตลอดในระยะเวลา 10 ปีที่ผ่านมา อีกทั้งการยื่นร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานครในครั้งแรก ไม่มีพรรคการเมืองใดที่เสนอนโยบายการกระจายอำนาจ แต่ในครั้งนี้มีนโยบายอย่างของพรรคก้าวไกลที่เสนอให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าทุกจังหวัด และพรรคเพื่อไทยเสนอให้เลือกตั้งผู้ว่าในจังหวัดที่มีความพร้อม ด้วยสองเหตุผลนี้อาจทำให้ร่าง พ.ร.บ เชียงใหม่มหานครผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎร

ไพรัช อธิบายเสริมว่าร่าง พ.ร.บ. เชียงใหม่มหานครฉบับล่าสุดนี้มีความแตกต่างจากฉบับเดิมในปี พ.ศ. 2556 คือ 1. จากเดิมในฉบับ พ.ศ. 2556 ภาษีที่เก็บภายในจังหวัดเชียงใหม่จะถูกส่งสู่ส่วนกลางร้อยละ 30 ซึ่งคณะทำงานมองว่าในข้อนี้อาจผ่านการพิจารณาในสภาผู้แทนราษฎรได้ยาก ดังนั้นจึงแก้ไขเป็นร้อยละ 50 2. เปลี่ยนแปลงสมาชิกสภาเชียงใหม่มหานครจากเดิมกำหนดให้มี 50,000 คน ลดลงเหลือ 30,000 คน และ 3. กำหนดให้มีสภาพลเมืองที่เลือกมาจากกลุ่มอาชีพ จำนวนทั้งหมด 200 คน ซึ่งจะคอยดูแลเรื่องการทุจริตของผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ที่จากการเลือกตั้ง

ไพรัช ใหม่ชมภู

ไพรัช กล่าวว่าเป้าหมายในตอนนี้คือต้องได้รายชื่อไม่ต่ำกว่า 10,000 รายชื่อ หลังจากนั้นเมื่อยื่นเข้าสู่การพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นการรณรงค์เพื่อให้เกิดการเคลื่อนไหว และไม่ให้ประเด็นเชียงใหม่มหานครนิ่งเงียบ โดยจะมีการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นว่าเชียงใหม่นั้นเอาจริง และเมื่อเชียงใหม่เป็นต้นแบบสำเร็จก็จะส่งเสริมให้ภาคีเครือข่ายอีก 52 จังหวัดนำไปปรับใช้ต่อไป

สุดท้ายในเวลานี้อยากจะขอความอนุเคราะห์พี่น้องชาวเชียงใหม่หรือพี่น้องต่างจังหวัดที่มีสิทธิเลือกตั้ง ช่วยกันลงลายมือชื่อสนับสนุน พ.ร.บ. ระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร ในช่องทางออนไลน์ ได้ที่นี่ เพื่อให้เชียงใหม่แก้ไขปัญหาในพื้นที่และเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาในท้องถิ่นอื่น ๆ ต่อไปในอนาคตต่อไป

อ้างอิง

  • ilaw. (2555). “เชียงใหม่มหานคร” ก้าวแรกของการยกเลิกอำนาจส่วนภูมิภาค เพิ่มอำนาจส่วนท้องถิ่น. เข้าถึงจาก https://www.ilaw.or.th/articles/683
  • thecitizen.plus. (2557). ผลสำรวจคนเชียงใหม่คิดอย่างไรกับเชียงใหม่มหานคร. เข้าถึงจาก https://thecitizen.plus/node/10630
  • lannernews. (2567). เอาฤกษ์เอาชัย ร่าง พ.ร.บ.เชียงใหม่มหานครคืนชีพ ยื่นรองประธานสภาฯ เสนอเลือกตั้งผู้ว่าฯ เชียงใหม่. เข้าถึงจาก https://www.lannernews.com/22052567-03/

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง