เสียงคนแม่สายถึงวิกฤติ #น้ำท่วมเชียงราย พบปัญหาซับซ้อน ป่าเสื่อมโทรม-ระบบจัดการภัยพิบัติล้มเหลว

Lanner สัมภาษณ์ ธนพงษ์ หมื่นแสน วิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ว่า ไม่ได้เกิดจากจากปริมาณน้ำในแม่น้ำสายเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังเป็นผลมาจากสืบเนื่องมาจากปัจจัยที่ซับซ้อนหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาการรุกล้ำป่าต้นน้ำแม่สายในพื้นที่ฝั่งพม่าเพื่อทำการเกษตรและตั้งถิ่นฐานที่อยู่อาศัย ส่งผลให้พื้นที่ขาดความสามารถในการรองรับน้ำ เมื่อฝนตกหนัก น้ำป่าจึงไหลหลากลงมาสู่แม่น้ำสายในปริมาณมาก ประกอบกับพายุยางิที่พัดผ่าน ทำให้เกิดฝนตกหนักในพื้นที่ติดต่อกันตลอด 24 ชั่วโมง จนเกิดดินถล่มตามมาในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะบริเวณดอยผาหมีและกู่เต็งนาโย่ง ส่งผลให้น้ำป่าจำนวนมหาศาลไหลลงสู่แม่น้ำสายและลำห้วยสาขาต่าง ๆ ทำให้ลำห้วยสาขาต่าง ๆ ที่ควรจะเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำสายต้องแบ่งไปรับน้ำในส่วนที่เป็นน้ำป่า น้ำจึงทะลักเข้าท่วมพื้นที่

ในประเด็นการให้ความช่วยเหลือ ธนพงษ์กล่าวว่า แม้จะมีการตั้งศูนย์ประสานงานเพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยจำนวน 2 แห่งคือ ที่เทศบาลตำบลแม่สาย และที่ว่าการอำเภอแม่สาย แต่ด้วยความสับสนในการประสานงาน ทำให้ต้องยุบรวมศูนย์ประสานงานเป็นหนึ่งเดียวที่ว่าการอำเภอแม่สาย โดยมูลนิธิกระจกเงาเป็นผู้รับผิดชอบในการประสานงาน และปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือการขาดข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ทำให้การช่วยเหลือส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ที่พื้นที่เศรษฐกิจชั้นใน ขณะที่พื้นที่รับมวลน้ำ เช่น บ้านสันผักฮี้ กลับไม่ได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าแผนปฏิบัติการช่วยเหลือยังไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ

ในประเด็นของไฟฟ้าและสัญญาณอินเทอร์เน็ต ธนพงษ์เสริมว่า บางพื้นที่ยังคงประสบกับปัญหาการขาดไฟฟ้าเนื่องจากน้ำยังไม่แห้ง ซึ่งทำให้การจ่ายไฟฟ้าไม่สามารถดำเนินการได้ในขณะนี้ นอกจากนี้ สัญญาณอินเทอร์เน็ตยังคงเป็นปัญหาใหญ่ เนื่องจากในช่วงของการเกิดภัยพิบัติ สัญญาณอินเทอร์เน็ตมักถูกตัด ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้นในยามฉุกเฉินเพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากจำเป็นต้องตัดสัญญาณ ควรมีการจัดเตรียมรถปล่อยสัญญาณเพื่อรองรับสถานการณ์ฉุกเฉิน

ในด้านสถานการณ์น้ำ ธนพงษ์ระบุว่า ในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงราย เช่น บ้านสันผักฮี้ ซึ่งเป็นพื้นที่รับมวลน้ำที่ไหลมาจากปิยะพร สถานการณ์น้ำเริ่มคลี่คลายลงในระดับหนึ่งแล้ว แต่ในช่วงเช้าของวันนี้ (13 ก.ย 67) มีฝนลงมาอีกระยะหนึ่ง จึงยังคงมีน้ำล้นท่วมอยู่ อย่างไรก็ตาม พื้นที่ที่ยังคงน่าเป็นห่วงมากที่สุดคือ ตำบลเกาะช้าง เนื่องจากเป็นพื้นที่รับน้ำจากแม่น้ำรวก ซึ่งเป็นแม่น้ำสายใหญ่กว่าแม่น้ำสาย และในแง่ของความช่วยเหลือในพื้นที่ ได้รับความช่วยเหลือเบื้องต้นจากเทศบาลและจิตอาสาในพื้นที่เพียงเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ธนพงษ์ ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ว่าสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาเชิงระบบของการบริหารจัดการภัยพิบัติของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยที่ยังมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอในการรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉิน นอกจากนี้ ธนพงษ์ยังได้ตั้งคำถามถึงบทบาทของจิตอาสาในสังคมไทย โดยมองว่าการทำจิตอาสาควรเป็นการบริการสาธารณะ (public service) ที่ทำด้วยความสมัครใจ ไม่ใช่เป็นการทำบุญหรือการเสียสละเพียงอย่างเดียว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง