28 พฤศจิกายน 2567 สำนักงานอุตสาหกรรมแร่ประจำท้องถิ่นจังหวัดลำปาง ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ (แร่พลวง) ณ ศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่ผึ้ง หมู่ 5 ตำบลเสริมขวา อำเภอเสริมงาม จังหวัดลำปาง ตั้งแต่เวลา 09.00 – 12.00 น. โดย ‘เครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง’ ได้รวมตัวชุมนุมคัดค้านเวทีรับฟังความคิดเห็นการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ และเมื่อเวลา 08.30 น. ผู้ชุมนุมได้ตั้งขบวนบริเวณสะพานน้ำแม่ผึ้ง กระทั่งได้เคลื่อนขบวนไปยังศาลาอเนกประสงค์บ้านแม่ผึ้ง พร้อมกับถือป้ายข้อความและส่งเสียงแสดงพลังว่า “ชาวแม่เลียงไม่เอาเหมืองแร่”
ในส่วนของการประทานบัตรเหมืองแร่ในครั้งนี้ถูกตั้งข้อกังวลว่า จะส่งผลกระทบการทำเหมืองแร่พลวงในพื้นที่แม่เลียงกว่า 50 ไร่ ทับซ้อนกับพื้นที่ต้นน้ำแม่เลียง ซึ่งเป็นแหล่งน้ำและทรัพยากรสำคัญในการอุปโภค และใช้ในการทำเกษตรกรรมถึง 12 ชุมชน และกระทบต่อระบบนิเวศและสิ่งแวดล้อมโดยตรง เมื่อมีการทำเหมืองเปิดบริเวณพื้นที่ราบขนาดกว้างกว่า 50 ไร่ ในลักษณะขั้นบันได และมีการขุดเจาะในแนวดิ่งลงไปกว่า 25 เมตร สารปนเปื้อนที่เกิดจากการขุดเจาะพื้นที่ย่อมกระทบต่อน้ำที่อยู่ใต้ดินที่จะไหลซึมไปยังพื้นที่ข้างเคียงอย่างเลี่ยงไม่ได้ รวมถึงทรัพยากรป่าไม้ในพื้นที่ที่ชุมชนดูแลรักษาถูกทำลายจากการขุดเจาะเหมืองแร่
การคัดค้านการทำเหมืองแร่แม่เลียงไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก ย้อนกลับไปเมื่อราวทศวรรษที่ 2510 สหพันธ์ชาวนาชาวไร่ในพื้นที่แม่เลียง ตำบลเสริมขวา จังหวัดลำปาง ได้ทำการคัดค้านการทำเหมืองแร่แบบผิดกฎหมาย เพราะเป็นเหมืองฉีด แทนที่จะเป็นเหมืองหาบตามที่ได้รับอนุญาต ทำให้น้ำปนเปื้อนไหลเข้าสู่พื้นที่เกษตรกรรมของชาวบ้านกว่า 7,000 ไร่ กระทบกว่า 600 ครอบครัว จนนำไปสู้การต่อสู้ที่ทำให้มีผู้นำการคัดค้านถูกลอบสังหารและมีชาวบ้านเสียชีวิต กระทั่งเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2566 ทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางเคยจัดประชาคมเพื่อเปิดรับฟังความคิดเห็นของชุมชน แต่เวทีดังกล่าวถูกยกเลิกไปเนื่องจากชาวบ้านแม่เลียงและชุมชนใกล้เคียงในพื้นที่ตำบลเสริมขวาได้รวมตัวประท้วงราว 200 – 300 คน ณ ศาลาอเนกประสงค์วัดแม่เลียง เพื่อแสดงความไม่เห็นด้วยต่อกรณีมีการขอประทานบัตรทำเหมืองแร่ในพื้นที่บ้านแม่เลียง
และในครั้งนี้เป็นการจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นชุมชนในพื้นที่ที่ขอประทานบัตรทำเหมืองแร่พลวง ของบริษัท ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด โดยมีตัวแทนจากบริษัท ทรัพย์ธรณี ลานนา จำกัด นายประสิทธิ์ ศรีพรหม ผู้อำนวยการระดับสูงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง ว่าที่ร้อยตรี อดิศักดิ์ ดวงจินดา นายอำเภอเสริมงาม และ รภัสสรณ์ นิยะโมสถ สภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลำปาง เขต 4 พรรคประชาชน ร่วมรับฟังความคิดเห็นและรับหนังสือการคัดค้านการทำเหมืองแร่จากตัวแทนเครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง
รายละเอียดของข้อเรียกร้องในหนังสือคัดค้านการดำเนินโครงการเหมืองแร่พลวง ประกอบด้วย
1. ให้บรรจุวาระตรวจสอบและหามาตรการยุติการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เลียง เข้าสู่ วาระการพิจารณาของคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วม ของประชาชน สภาผู้แทนราษฎร โดยเชิญผู้เข้าร่วมชี้แจง ได้แก่ ผู้แทนชุมชนที่ได้รับผลกระทบจาก การขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เลียง, กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ และบริษัท ทรัพย์ ธรณี ล้านนา จำกัด
2. ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในคณะกรรมาธิการฯ ได้เร่งตั้งกระทู้ถามสดถึงนายกรัฐมนตรี (น.ส.แพ ทองธาร ชินวัตร) กรณีการเร่งรัดผลักดันโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ โดย ไม่คำนึงถึงการมีส่วนร่วมและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน รวมถึงช่วยสื่อสารทางสาธารณะ เพื่อให้เป็นที่ประจักษ์แก่ประชาชนทั่วไปว่า ขณะนี้การผลักดันให้เกิดโครงการพัฒนาของรัฐที่กระทบ ต่อทรัพยากรธรรมชาติ ไม่ได้เกิดเฉพาะในพื้นที่แม่เลียงเท่านั้น แต่พบว่ามีความพยายามดำเนินการใน ลักษณะเดียวกันในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ
3. ให้เร่งหามาตรการในการปกป้องชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินการประทานบัตรเหมืองแร่แม่ เลียง โดยเบื้องต้นให้คณะกรรมาธิการฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง โดยรับฟังความเห็นของ ประชาชนในพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เรียงอย่างรอบด้าน เพื่อให้มีข้อมูลสถานการณ์ในระดับ พื้นที่ประกอบการตรวจสอบการละเมิดสิทธิการมีส่วนร่วมของประชาชน และจัดทำรายงาน ข้อเสนอแนะถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้อต่อไป
ในส่วนหนังสือที่ยื่นถึงสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดลำปาง มีข้อเรียกร้องให้เร่งตรวจสอบและหามาตรการยุติการดำเนินการขอประทานบัตรเหมืองแร่แม่เลียงโดยทันที และให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ที่ปรึกษาบริษัทเหมืองแร่ และหน่วยงานอื่นใดที่ส่งเสริมการทำเหมืองแร่ ยุติการเข้ามาในพื้นที่ชุมชนเครือข่ายไม่เอาเหมืองแร่แม่เลียง
ด้านชาวบ้านที่คัดค้านการทำเหมืองแร่พลวงกล่าวว่า การเข้ามาทำเหมืองแร่จะทำให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นมลพิษจากฝุ่นที่มีการขุดเจาะเหมือง แหล่งนำ้ในชุมชนจะปนเปื้อนไปด้วยตะกอนและสารพิษจากการทำเหมืองแร่ ป่าที่ชาวบ้านช่วยกันปกป้องดูแลจะถูกทำลาย อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อการคมนาคมจากการขนแร่ธาตุผ่านถนนชุมชน การเข้ามาทำงานของคนต่างพื้นที่ที่มีความแตกต่างทางวัฒนธรรม โดยข้อเสนอของเครือข่ายผู้ชุมนุมคือการไม่เอาเหมืองแร่และยุติการสัมปทานเหมืองแร่ในพื้นที่ชุมชนทุกรูปแบบ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...