‘ยังฮ่วมใจ๊ นวัตกรรมวัยยัง’ นวัตกรรมแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน และลดนักสูบหน้าใหม่

ภาพ : กนกพร จันทร์พลอย

เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2567 เวลา 16.00 – 21.00 น. ณ ลานท่าแพ จังหวัดเชียงใหม่ มูลนิธิโกมลคีมทอง ร่วมกับสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. ได้จัดเทศกาล “ยังฮ่วมใจ๊ นวัตกรรมวัยยัง” รวมพลังเยาวชนภาคเหนือ สร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ปลอดภัย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อตั้งคำถามและออกแบบนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหาความไม่ปลอดภัยบนท้องถนน ทางสัญจรและลดนักสูบหน้าใหม่ จากยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้า

มูลนิธิโกมลคีมทอง จัดตั้งขึ้นภายหลังจากการเสียชีวิตของนายโกมล คีมทอง บัณฑิตหนุ่มจากคณะครุศาสตร์ จุฬาฯ หรือครูโกมลของเด็กน้อยแห่งโรงเรียนเหมืองห้วยในเขา ต.บ้านส้อง กิ่งอ.เวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งแบบอย่างของเขาได้สร้างความศรัทธาให้กับผู้อยู่ข้างหลัง จึงร่วมกันจัดตั้งมูลนิธิในนามของเขาขึ้นเมื่อปี 2514 โดยมูลนิธิโกมลคีมทองไม่ได้เป็นเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่ครูโกมลเท่านั้น แต่มีวัตถุประสงค์ที่จะสานต่อและสนับสนุนให้บุคคลมีความเสียสละเพื่อสังคม มีอุดมคติเป็นผู้นำในทางที่ถูกต้อง

นายโกมล คีมทอง

เทศกาล “ยังฮ่วมใจ๊ นวัตกรรมวัยยัง” รวมพลังเยาวชนภาคเหนือ สร้างสรรค์เพื่อสังคมที่ปลอดภัย ประกอบไปด้วยเยาวชนจากกลุ่ม Dumbledore , กลุ่ม BEAM Foundation , กลุ่ม SPSS UP มหาวิทยาลัยพะเยา , ELC CMU – คลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ,กลุ่ม เยาวชนคนรักษาแผ่นดินไทย โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก , กลุ่ม สภานักเรียน SBY โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน ฯลฯ โดยมี การณิก จันทดา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเชียงใหม่เขต 2 พรรคประชาชน และกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ เป็นผู้เปิดงานในครั้งนี้

ภายในงานนอกจากจะมีการแสดงสุดพิเศษจากเยาวชนมูลนิธิโกมลคีมทองแล้ว ยังมีเวทีเสวนาประเด็นปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาทางเท้า โดยมีชื่อเสวนาว่า ‘ความไม่ปกติ บน ความปกติ’ : ความชินชาของถนนหนทางในประเทศไทย ร่วมเสวนาโดย ณัฐภัทร จันทน์แดง จากกลุ่ม SPSS UP มหาวิทยาลัยพะเยา ธีระวีร์ คงแถวทอง และ ธนกฤต ศรีสมเพ็ชร จาก ELC CMU – คลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

ธีระวีร์ คงแถวทอง คลินิกกฎหมายสิ่งแวดล้อม คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางทีมได้ทำประเด็นปัญหาสิ่งแวดล้อมในเมือง นั่นก็คือปัญหาตู้ไฟฟ้าจากโครงการ ‘เชียงใหม่ เมืองสวย ไร้สาย’ ที่ได้ตั้งกีดขวางการสัญจรบนทางเท้า ซึ่งทางเดินเท้าถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญในการพัฒนาเมือง ต้องมีความสะดวก ปลอดภัย และต้องไม่มีสิ่งกีดขวางคนเดินเท้า โดยเฉพาะกลลุ่มผู้พิการที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพารถเข็นวีลแชร์ และผู้พิการทางสายตาที่เดินทางลำบากอยู่แล้ว แต่ยังต้องมาเจออุปสรรคจากสิ่งกีดขวางบนทางเท้า ซึ่งถ้ามองจากต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้วจะพบว่าโครงการนำสายไฟฟ้าลงใต้ดินไม่จำเป็นต้องมีตู้ไฟฟ้าที่ติดตั้งกีดขวางการจราจร ทั้งบนถนนและบนทางเท้า จึงอยากจะฝากถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องของโครงการให้มองเห็นถึงความสำคัญของทางเท้าในจังหวัดเชียงใหม่ด้วย

ณัฐภัทร จันทน์แดง กลุ่ม SPSS UP มหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า ทางทีมได้ลงพื้นที่สำรวจการเกิดอุบัติเหตุภายในชุมชน และพบว่าส่วนใหญ่เกิดบริเวณใกล้กว๊านพะเยา เนื่องจากถนนไม่มีไหลทาง และมีจำนวนคนนอกพื้นที่เข้ามาเที่ยวเป็นจำนวนมาก จึงไม่คุ้นชินทางจนทำให้เกิดอุบัติเหตุ อีกทั้งยังมีปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมที่บดบังการใช้รถใช้ถนน ไม่ว่าจะเป็นต้นไม้กีดขวางการจราจร ป้ายสัญญาณเตือนที่เก่าทรุดโทรม ทางทีมงานจึงได้ร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นในการจัดกิจกรรม ‘สภากาแฟ’ ที่เป็นการรับฟังปัญหาของชาวบ้านที่ใช้รถใช้ถนนในบริเวณชุมชน และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลแก้ไขปัญหาต่อไป

เสร็จจากเวทีเสวนาปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนและปัญหาทางเท้า ยังมีวงเสวนาปัญหายาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน โดยมีชื่อว่า เสวนา นวัตกรรม “วัยยัง” แก้ไขปัญหาบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชน ร่วมเสวนาโดย นฤทัย สายอินตา กลุ่ม สภานักเรียน SBY โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน , ชัชวาล โยชุ่ม กลุ่ม เยาวชนคนรักษาแผ่นดินไทย โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก , ชมพูนุช แสงสว่าง กลุ่ม Dumbledore จังหวัดเชียงใหม่ , อภิชัย คล้ายสุรินทร์ แกนนำสุขภาพเด็กและเยาวชนตำบลสันนาเม็ง จังหวัดเชียงใหม่ , พรพรรณ ทับแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคเหนือตอนล่าง และ การณิก จันทดา คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ

นฤทัย สายอินตา กลุ่ม สภานักเรียน SBY โรงเรียนส่วนบุญโญปถัมภ์ จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ทางกลุ่มมีการใช้ทฤษฎี 21 วัน ให้ผู้ที่เข้าร่วมโครงการตั้งเป้าหมายที่จะลดการสูบบุหรี่ไฟฟ้าภายใน 21 วัน และมีการทำกิจกรรมร่วมกันระหว่างคณะทำงานและกลุ่มเป้าหมาย เช่นการพากลุ่มเป้าหมายไปพักผ่อนที่คาเฟ่แมว พาทำกิจกรรมงานฝีมือ เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายเบี่ยงเบนจากบุหรี่ไฟฟ้าหันมาทำกิจกรรมต่างๆ อีกทั้งยังมีการพาไปปลูกป่าและอยู่กับธรรมชาติเพื่อบำบัดความเครียด 

นฤทัย สายอินตา

อภิชัย คล้ายสุรินทร์ แกนนำสุขภาพเด็กและเยาวชนตำบลสันนาเม็ง จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการที่ทีมงานลงไปสำรวจผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้า พบว่ามีสาเหตุมาจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้รู้สึกมีความสุข รู้สึกผ่อนคลาย และเพลิดเพลินในการสูบ ทางทีมจึงได้จัดทำแผนเสนอผู้มีอำนาจให้จัดทำพื้นที่สำหรับสูบบุหรี่ เพื่อแยกไม่ให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ต้องสูดควันมือสองเหล่านี้ 

อภิชัย คล้ายสุรินทร์

ชมพูนุช แสงสว่าง กลุ่ม Dumbledore จังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางกลุ่มขับเคลื่อนโดยการให้กลุ่มเป้าหมายได้มีโอกาสใช้เวลากับสิ่งรอบตัวในสังคม ไม่ว่าจะเป็นเพื่อน หรือครอบครัว เพื่อให้กลุ่มเป้าหมายได้สร้างคุณค่าให้กับตัวเอง คิดได้ด้วยตัวเอง

ชมพูนุช แสงสว่าง

ชัชวาล โยชุ่ม กลุ่ม เยาวชนคนรักษาแผ่นดินไทย โรงเรียนสรรพวิทยาคม อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กล่าวว่า ทางทีมมีการจัดค่ายให้เยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าได้แลกเปลี่ยนข้อมูล รวมถึงความคิดเห็นให้กับทีมงานได้รู้ อีกทั้งยังนำข้อมูลที่ได้มาทำเป็นสารคดี เพื่อเผยแพร่เบื้องลึกเบื้องหลังในการเข้ามาสูบบุหรี่ไฟฟ้าว่าพวกเขาต้องเจออะไรมาบ้าง 

ชัชวาล โยชุ่ม

พรพรรณ ทับแสง ผู้ประสานงานเครือข่ายสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า พื้นที่ภาคเหนือตอนล่างมีการทำโครงการปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยบุหรี่ไฟฟ้า และได้มีการลงสำรวจพื้นที่ใน 3 จังหวัด ได้แก่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ และสุโขทัย พบว่าจังหวัดพิษณุโลก มีเยาวชนจำนวน 97 คน ที่มีประสบการณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งคิดเป็น 41.8 เปอร์เซ็นต์ และสิ่งที่น่ากังวลคือเยาวชนเห็นว่ากลิ่นของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เป็นอัตราย ส่วนจังหวัดอุรดิตถ์ พบว่ามีเยาวชนอายุ 10-11 ปี ครอบครองบุหรี่ไฟฟ้าและนำไปโรงเรียน ส่วนจังหวัดสุโขทัย พบว่าเยาวชน 99 คน จาก 100 คน เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้า

พรพรรณ ทับแสง

การณิก จันทดา คณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า ในประเทศไทยบุหรี่ไฟฟ้ายังเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย นั่นหมายความว่าการที่จะสืบหาข้อมูลหรือแม้แต่การลงไปช่วยเหลือเยาวชนเหล่านี้เป็นไปได้ยากมาก ซึ่งต้องลองย้อนกลับมาตั้งคำถามว่าแล้วทำไมเราไม่ทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย เพื่อที่ว่าเราจะได้ได้เก็บรวบรวมข้อมูลของผู้ใช้ให้มากขึ้น รวมถึงมีข้อมูลของผู้ค้าผู้จัดจำหน่าย ให้มีการควบคุมการขายให้กับเยาวชนได้ อีกทั้งยังต้องออกกฎหมายในการควบคุมการสูบที่เข้มงวด และยังสนับสนุนในเรื่องของการสร้างพื้นที่สูบบุหรี่ เพื่อป้องกันให้ผู้ที่ไม่สูบสามารถหลีกเลี่ยงจากควันมือสองเหล่านั้นได้ ซึ่งล่าสุดในขณะนี้ในสภามีการตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาและพิจารณากฎหมายควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย โดยส่วนตัวแล้วเราไม่ได้สนับสนุนให้คนสูบบุหรี่มากขึ้น เพียงแต่ต้องการกำกับ ควบคุม ดูแลการสูบ

การณิก จันทดา

ในช่วงท้ายก่อนจบกิจกรรม เยาวชนจากมูลนิธิโกมลคีมทองได้ประกาศเจตนารมณ์ ‘เสียงเด็ก เยาวชนถึงผู้ใหญ่’ โดยมีใจความว่า

“สภาพสังคมที่มีความเหลื่อมลํ้าในมิติต่างๆ ทั้งรายได้ โอกาสและทรัพยากรทำให้เส้นทาง ชีวิตของเด็กและเยาวชนถูกเรียกร้องและกดดันจากครอบครัวและระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และ ยังไม่มองไม่เห็นอนาคตของตนเอง”

“ในอีกด้านหนึ่ง ความคาดหวังและแรงกดดันที่เด็กและเยาวชนต้องแบกรับไว้ มาจาก สภาพแวดล้อมในชีวิตและสังคมที่ไม่เกื้อหนุนพวกเรา ระบบการเรียนการสอนที่ไม่เหมาะสม และมีสิ่งจูงใจมากมายที่จะชักนำให้ใช้ชีวิตในทางที่เสี่ยง”

“รวมทั้งค่านิยมของสังคมที่มุ่งแสวงหาความสุขและความสำเร็จทางวัตถุ ยิ่งผลักเด็กและ เยาวชนต้องใช้ชีวิตที่เสี่ยงต่อสุขภาวะ ทั้งการดื่ม การสูบ การเสพ หรือการขับขี่ที่ไม่ปลอดภัย การขาดพื้นที่การแสดงออกอย่างสร้างสรรค์ ขาดคนรับฟังและเข้าใจนำไปสู่ความสับสนในตัวเอง”

“พวกเราจึงอยากเรียกร้องให้ทุกชุมชนมีพื้นที่สีเขียว มีพื้นที่กิจกรรม มีพื้นที่สาธารณะที่ ได้รับการสนับสนุนนจากชุมชนและรัฐ รวมไปถึงโรงเรียนและครอบครัวที่จะกลายเป็นพื้นที่ ปลอดภัยให้กับพวกเราเพื่อให้พวกเราได้แสดงออกซึ่งความคิด ความรู้สึก และความสามารถ อย่างอิสระไม่ถูกตัดสิน ในโรงเรียนก็มีพื้นที่แสดงออกและคุณครูที่เข้าใจ เปิดใจพร้อมรับฟัง ในครอบครัวมีพ่อแม่และคนในครอบครัวที่เปิดโอกาส รับฟัง พูดคุย ใช้ชีวิตร่วมกันอย่างสนุกและมีความสุข มีกลุ่มเพื่อที่เข้าใจกันร่วมกันทำกิจกรรมต่างๆ ไปด้วยกันอย่างเข้าใจ มีความใฝ่ฝน ร่วมกัน เพื่อให้พวกเราได้พัฒนาตตนเองและเติบโตอย่างมีคุณภาพตลอดไป”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง