2 ธันวาคม 2567 มูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) จัดกิจกรรมเปิดเทศกาล ‘เชียงดาวมา MELT 2024 มาเฮียนมาฮู้ มาดูมาม่วน’ เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้ให้เยาวชนในพื้นที่ อ.เชียงดาว ได้มาร่วมทำกิจกรรมการเรียนรู้นอกห้องเรียน และสร้างเมืองแห่งการเรียนรู้ ด้วยกัน ณ มะขามป้อมอาร์ตสเปซเชียงดาว ต.เชียงดาว อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ โดยมีการแสดงวัฒนธรรมของเด็กๆ จากโรงเรียนชุมชนบ้านวังจ๊อม, โรงเรียนบ้านเชียงดาว และศูนย์พัฒนาเด็กเล็กองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว เพื่อเป็นการเปิดกิจกรรม
โดยในการจัดเทศกาลครั้งนี้ มีนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเชียงดาวและภาคีเครือข่ายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้มาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในดำเนินงานและสร้างประสบการณ์การทำงานร่วมกัน ทั้งในการเป็นผู้ดำเนินรายการ หรือทีมงานที่คอยอำนวยความสะดวก ไปจนถึงช่วยดูแลซุ้มกิจกรรมการเรียนรู้ในฐานต่างๆ ที่มีถึง 17 ซุ้ม ประกอบด้วย
- ซุ้มแยกกลิ่นกาแฟ: Mountainnella
- ซุ้ม Design Your Own Cake: Mountainnella
- ซุ้มอักษรล้านนา (ตั๋วเมือง): หนานจิ เจียงดารา
- ซุ้มเล่นดิน: พี่ยา Musashi Pottery
- ซุ้มบอร์ดเกม: ชมรมบอร์ดเกมรร.เชียงดาววิทยาคม
- ซุ้มของเล่นบะเก่า: ทีมงานเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้
- ซุ้มสกร.อำเภอเชียงดาว Learn To Earn, ห้องสมุดประชาชน เศรษฐกิจพอเพียง
- ซุ้มมรร.เชียงดาววิทยาคม: พักพิง
- ซุ้มเทศบาลตำบลเชียงดาว ตัดตุงพื้นเมือง
- ซุ้มเทศบาลตำบลแม่นะ: กิจกรรมระบายสี
- ซุ้มมองค์การบริหารส่วนตำบลเชียงดาว: ตัดดอกสลาก, สื่อการสอนสำหรับเด็ก
- ซุ้มบ้านปางแดงนอก กลุ่มจิงดือแด
- ซุ้มหล่าเทอโพ: กำไลข้อมือจากด้ายสีธรรมชาติ สินค้าผ้าปกาเกอญอ
- ซุ้มสอยดาวนำโชค โดย ทีมคณะทำงานเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ อาสาสมัคร
- ซุ้ม Street Art “เชียงดาวที่รัก” โดย พี่เต้ ญาติกา
- ซุ้มเรื่องราวการเดินทางเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ โดย มะขามป้อม
- รถรางนำเที่ยว โดย กลุ่มท่องเที่ยวและของดีเชียงดาว
ต่อมาในเวลา 10.00 น. ได้มีการจัดเสวนา “สานเครือข่าย สร้างพลังพลเมืองแห่งการเรียนรู้อำเภอเชียงดาว” เพื่อเปิดให้ภาคีเครือข่ายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้ ได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งร่วมเสนอแนวทางการต่อยอดกิจกรรม โดยมี ประกายดาว คันธะวงศ์ ผู้ประสานงานและหัวหน้าโครงการเชียงดาว เมืองแห่งการเรียนรู้ เป็นผู้นำในการเสวนากันครั้งนี้
ตัวแทนภาคการศึกษาที่ได้เข้าร่วมเสวนาในครั้งนี้ ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า เชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้และโรงเรียนข้ามขอบ เป็นส่วนสำคัญในการสร้างเสริมการเรียนรู้ใหม่ๆ ให้ทางโรงเรียนสามารถนำไปพัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนให้กับเด็กในโรงเรียน
ศิริกุล พยางาย ตัวแทนบุคลากรจากศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้ระดับอําเภอเชียงดาว (สกร.อำเภอเชียงดาว) เล่าว่า การนำบุคลากรและผู้เรียนเข้าร่วมกิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้ช่วยให้เด็กๆ สามารถนำความรู้มาปรับใช้ได้จริง ทั้งในการทำงานและดำรงชีวิต
เช่นเดียวกับ วันวิสา ศิริคงสุวรรณ รองผู้อํานวยการโรงเรียนบ้านเชียงดาว ที่มองว่า การเรียนรู้นอกห้องเรียนทำให้เด็กๆ ได้เรียนรู้รูปแบบใหม่นอกเหนือรูปแบบในห้องเรียนทั่วไป และอยากผลักดันให้เด็กในโรงเรียนมีโอกาสร่วมกิจกรรมแบบนี้มากขึ้น
หัสยารัตน์ ปัญไชยโชค ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านทุ่งหลุก เล่าว่า การเข้าร่วมโครงการทำให้ได้รับมุมมองและแนวทางจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อนำมาขับเคลื่อนการเรียนรู้ รู้สิทธิ รู้รากเหง้า โดยมีเป้าหมายว่าจะสามารถต่อยอด และพัฒนาการเรียนรู้นี้ให้เป็นหลักสูตรของโรงเรียนต่อไปได้
ด้าน สุพินันท์ กันทะวงค์ รองผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านนาหวาย ได้เสนอให้โรงเรียนในพื้นที่ทดลองเพิ่มห้องเรียนข้ามขอบเป็นรายวิชาเพิ่มเติมเพื่อให้เด็กได้เรียนรู้เนื้อหาใหม่นอกจากวิชาการทั่วไป และได้เชิญชวนให้มีการจัดตั้ง “โมเดลภาคีเครือข่ายเชียงดาวเมืองแห่งการเรียนรู้อย่างยั่งยืน” เพื่อเป็นต้นแบบให้กับการเรียนรู้ของชุมชนอื่นๆ ต่อไป
ธารินี ชลอร์ หรือ แม่จุ๋ม ตัวแทนผู้ปกครองที่จัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนโฮมสคูล เห็นตรงกันว่าควรส่งเสริมและพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้แบบโรงเรียนข้ามขอบในระบบการศึกษาต่อไป เพราะการได้พาลูกๆ มาเข้าร่วมกิจกรรมนี้ทำให้เห็นว่าเด็กๆ ได้สนุกไปกับการเรียนและกิจกรรมที่ช่วยพัฒนาทักษะการใช้ชีวิต ในแบบที่บางครั้งในห้องเรียนก็ให้ไม่ได้ และมองว่าเด็กๆ ควรได้มีโอกาสเรียนรู้ในหลายรูปแบบมากขึ้น
ว่าที่ร้อยตรีหญิงอรพรรณ จันตาเรือง สส.พรรคประชาชน เขต 6 จ.เชียงใหม่ กล่าวว่า รู้สึกขอบคุณทางมูลนิธิที่มองเห็นความสำคัญเรื่องการเรียนรู้ว่าไม่ได้มีแค่ในห้องเรียน และบอกว่าจะเป็นผู้ที่ผลักดันและนำรูปแบบการเรียนรู้ในเชียงดาว ไปตีแผ่ในสภาให้เห็นว่าโครงการนี้สามารถส่งเสริมการศึกษาได้จริง เพื่อให้เป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาไทยให้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
ทั้งนี้ภายในเสวนาได้เปิดโอกาสให้ตัวแทนนักเรียนจากโรงเรียนบ้านเชียงดาว และ สกร.อำเภอเชียงดาว ร่วมบอกเล่าประสบการณ์การเรียนรู้ในโครงการโรงเรียนข้ามขอบที่ทำให้พวกเขาได้เห็นว่าการเรียนรู้ที่ได้จากการสอบถามผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ด้านนั้นโดยตรงทำให้พวกเขาสามารถเกิดความเข้าใจได้ดีขึ้นและมีประสิทธิภาพมากกว่าการนั่งเรียนในห้องเรียนที่มีการสอนแบบเดิมๆ และมองว่ากิจกรรมนี้เป็นอีกโอกาสที่พาให้พวกเขาได้มาเจอเพื่อนและสังคมใหม่ๆ จนอยากให้มีแบบนี้อีกในปีต่อๆ ไป
ทั้งนี้ พฤหัส พหลกุลบุตร เลขาธิการมูลนิธิสื่อชาวบ้าน (มะขามป้อม) กล่าวปิดท้ายว่า การเชื่อมโยงการทำงานร่วมกันของทั้ง 5 องค์กร ประกอบด้วย สำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน, ศูนย์ส่งเสริมการเรียนรู้, การเรียนรู้ภาคท้องถิ่น, หน่วยงานประชาสังคม และสส.ในพื้นที่ เป็นส่วนสำคัญที่จะสามารถขับเคลื่อนการเรียนรู้ได้มากขึ้น
หลังจากนี้ จึงอยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันผลักดันรูปแบบการเรียนรู้แบบโรงเรียนข้ามขอบให้สามารถเป็น ‘ต้นแบบการเรียนรู้’ ได้ในทุกพื้นที่ ไม่ใช่แค่เฉพาะที่เชียงดาวเท่านั้น เพื่อให้เด็กในทุกพื้นที่ ไม่ว่าจะอยู่ในระบบหรือนอกระบบการศึกษา ได้มีโอกาสเรียนรู้ที่หลากหลาย ได้สร้างเสริมทักษะและประสบการณ์จนสามารถนำไปต่อยอดในการดำรงชีวิตได้อย่างปลอดภัย
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...