เรื่อง: กองบรรณาธิการ
ภาพ: วิชชากร นวลฝั้น
เชียงใหม่เป็นเมืองที่มีคอมมูนิตี้ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มคนรักกาแฟ กลุ่มคนรักงานศิลปะ หรือกลุ่มคนชอบฟังเพลง เป็นต้น ซึ่งคอมมูนิตี้ต่างๆ เหล่านี้ก็มักจะมีพื้นที่ในการนัดพบปะพูดคุยและทำกิจกรรมไปด้วยกัน สำหรับกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศในเชียงใหม่ก็เป็นอีกคอมมูนิตี้ที่ต้องการมีพื้นที่สำหรับทำกิจกรรมรวมไปถึงการสนทนาในประเด็นสังคมร่วมกัน
หลังผ่านพ้นช่วงเวลาที่แสนยากลำบากจากเหตุอุทกภัยครั้งใหญ่ของเชียงใหม่เมื่อช่วงตุลาคมที่ผ่านมา ในที่สุด Anyway Book Cafe คาเฟ่เล็กๆ ที่ตั้งอยู่บนถนนราชวงศ์ในตัวเมืองเชียงใหม่ ก็ถึงคราวเปิดประตูต้อนรับอย่างเป็นทางการ สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา โดยมีการจัดกิจกรรมพิเศษๆ มากมาย ทั้งกิจกรรมอ่านไพ่ทาโร่ กิจกรรมศิลปะแกะยางลบ นอกจากนั้นยังมีวงเสวนาในหัวข้อ “AnyWeeee ท่ามกลางผู้คนที่ชั้นได้เป็นตัวเอง” ที่ชวนให้ทุกคนได้มาฟังเรื่องราวความสัมพันธ์ของหุ้นส่วนร้านทั้งสามคน ทั้งในแง่ของการเป็นคอมมูนิตี้แซฟฟิค และการรวมตัวกันเปิดธุรกิจคาเฟ่ในเมืองเชียงใหม่ที่เป็นเมืองปราบเซียน
Anyway Book Cafe ไม่ได้เป็นแค่ร้านกาแฟเท่านั้น เพราะพื้นที่แห่งนี้เป็นทั้งแหล่งรวบรวมหนังสือ และงานเขียนของนักเขียนอิสระทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษที่มีน้ำเสียงของผู้หญิงและเควียร์ รวมไปถึงเป็นร้านที่มุ่งมั่นในการเป็นพื้นที่ปลอดภัยของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยสิ่งที่ทำให้พื้นที่แห่งนี้แตกต่างจากร้านกาแฟทั่วไป ก็คือการเป็น ‘คอมมูนิตี้แซฟฟิค’
แซฟฟิค (Sapphic) คือร่มใหญ่ที่ใช้นิยามถึงผู้หญิงที่มีรสนิยมทางเพศที่ดึงดูดเข้ากับผู้หญิงด้วยกัน รวมไปถึงทรานส์เจนเดอร์ และนอนไบนารี่ ดังนั้น คอมมูนิตี้แซฟฟิค เลยหมายถึงแหล่งรวมของกลุ่มผู้หญิงที่ดึงดูดเข้ากับผู้หญิงนั่นเอง
Lanner Joy ขอพาทุกคนได้มารู้จักกับ Anyway Book Cafe พื้นที่ปลอดภัยของนักอ่านและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ร่วมสร้างโดยหุ้นส่วนชาวแซฟฟิคทั้ง 3 คนอย่าง กิ่ง-ปสุตา ชื้นขจร, มาย-มณีกาญจน์ อุปนันท์ และ พลอย-กนกวรรณ สมศิริวรางกูล ผ่านการพูดคุยกันถึงการตัดสินใจครั้งสำคัญนี้ ในเมืองปราบเซียน (ที่ปราบทุกคน) รวมไปถึงแรงขับเคลื่อนสำคัญในการสร้างพื้นที่แบบนี้ ในแบบที่เราเป็นตัวเองได้อย่างไม่มีอะไรมาขวาง
เล่าให้ฟังหน่อยว่าทั้งสามคนมาเจอกันได้ยังไง
มาย: ตอนแรกมายกับกิ่งรู้จักกันมาก่อน เพราะทำกลุ่ม Sapphic Pride ด้วยกัน ซึ่งเป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศ โดยเฉพาะกับกลุ่มหญิงรักหญิง ทำให้เราสนิทกัน แถมเราสองคนยังชอบอะไรคล้ายๆ กันอีก พอเราพูดคุยกันมากขึ้นก็ทำให้เรามีไอเดียมากขึ้น จนมาเจอพลอยและได้ไปร่วมเวิร์กช็อปที่ House of Commons – BookCafe & Space เป็นเวิร์กช็อปเกี่ยวกับธุรกิจร้านหนังสืออิสระ
กิ่ง: เรารู้จักกับพลอย เพราะก่อนหน้านี้ได้มีโอกาสร่วมงานกัน พอมีไอเดียที่จะทำร้านกับมาย เราก็ได้คุยกันว่าสองคนมันยังไม่พอ เราต้องการหุ้นส่วนเพิ่ม เลยนึกถึงพลอยเป็นคนแรกที่เราอยากทำงานด้วย
พลอย: ครั้งแรกที่เจอกัน เรารู้สึกเห็นด้วยกับไอเดียที่อยากจะมีคอมมูนิตี้เลยนะ เราเลยอยากสนับสนุนความคิดของทั้งสองคน หลักๆ จะเป็นกิ่งกับมายที่ดูแลพื้นที่ตรงนี้ เพราะเราเป็นอาจารย์ สอนอยู่ที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็ยังต้องทำหน้าที่นี้เป็นหลักอยู่ แต่ด้วยความที่เราอยากสนับสนุนและอยากจะทำให้พื้นที่นี้เกิดขึ้น เลยตัดสินใจเข้ามาร่วมกับกิ่งและมาย
ทำไมถึงต้องเป็นคาเฟ่กับร้านหนังสือ
กิ่ง: เชียงใหม่มันเป็นเมืองร้านกาแฟเมืองคาเฟ่ก็จริง ซึ่งถ้าเรามองในมุมมองนักท่องเที่ยวก็อาจจะคิดว่าทำไมเชียงใหม่มีแต่คาเฟ่เปิดเต็มไปหมด แต่ถ้ามองลึกเข้าไปจะเห็นว่ามันมีความแตกต่างกันอยู่ในแต่ละร้าน มันสะท้อนให้เห็นว่าธุรกิจในเชียงใหม่ต้องพึงพิงจากการท่องเที่ยว ซึ่งราคาก็ขยับขึ้นไปด้วย ทำให้เราคิดว่าจะทำยังไงให้ชาวเชียงใหม่มีตัวเลือกมากเพิ่มขึ้น และอีกสิ่งที่สำคัญของร้านเรา คือการดูแลพนักงานทุกคนในร้านอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยเฉพาะสิทธิแรงงาน ซึ่งเราให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ
มาย: เรามองว่าการเป็นคาเฟ่ไม่จำเป็นต้องขายกาแฟเพียงอย่างเดียวเสมอไป คำว่าคาเฟ่ ปัจจุบันมันเป็นคำกลางๆ ที่สามารถขยับไปโฟกัสในเรื่องของพื้นที่เสียมากกว่า ขณะเดียวกันร้านหนังสืออิสระอื่นๆ ถ้าสังเกตดูจะเห็นได้ว่าแต่ละร้านจะมีคาแรคเตอร์ไม่เหมือนกันเลย ซึ่งเราเชื่อว่ามันส่งผ่านจากตัวเจ้าของร้านเองที่ชอบสิ่งนั้นๆ จึงนำมาแชร์ให้ผู้คนที่เข้ามาใช้บริการร้านหนังสือ และสิ่งที่เราแตกต่างจากคาเฟ่หรือร้านหนังสืออื่นๆ คือการที่เราเป็น Sapphic ที่เราอยากจะดึงดูดคนที่คล้ายๆ กับเราให้เข้ามาพื้นที่นี้
แล้วในส่วนของร้านหนังสือ มีแนวคิดว่ายังไงบ้างที่จะทำให้อยู่รอดได้จริง
มาย: อีกแรงผลักดันของเราคือการที่ในปัจจุบันร้านขายหนังสือเหลือน้อยแล้ว อย่างที่จังหวัดเชียงรายเองก็แทบจะไม่มีร้านหนังสืออิสระแล้ว เหลือแต่ร้านการ์ตูนแค่ร้านเดียว การที่เราเห็นร้านหนังสือที่เคยวิ่งเข้าวิ่งออกตอนเด็กๆ ปิดไปเราก็ใจหาย เราเลยอยากฟื้นคืนชีพร้านหนังสือที่เคยเป็นพื้นที่ของเราในวัยเด็ก แต่ต้องทำให้อยู่รอดตามยุคสมัยปัจจุบันนี้ด้วย
มายเล่าว่าแรงผลักดันอีกอย่างในการเปิดร้านหนังสือคือความต้องการที่จะคืนชีพให้กับร้านหนังสือเพราะเธอเห็นว่าในปัจจุบันนี้มีร้านหนังสือที่ปิดตัวลงไปค่อนข้างเยอะ
มาย: ส่วนตัวมายไม่เชื่อคำที่ว่า ‘คนไทยอ่านหนังสือน้อยลง’ เพราะเรามองว่าสื่อมันเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ถ้ามองแค่ว่าคนซื้อหนังสือกันน้อยลง ประโยคนี้มันก็อาจจะถูกแค่ในแง่ของยอดขายที่ลดลง แต่ผู้คนยังเสพการอ่านจากแพลตฟอร์มบนโลกออนไลน์อยู่เสมอ ทำให้นักเขียนหรือร้านหนังสือในปัจจุบันเลยมีหนังสือที่ผ่านสำนักพิมพ์มากขึ้น แต่ก็สามารถยืนในตลาดได้
มายเล่าอีกว่าตัวเธอเองเคยได้ทำงานในแวดวงหนังสือมาก่อน แม้ว่าจะไม่ได้เป็นนักเขียนเต็มตัว แต่ก็ทำให้ได้รู้จักวงการหนังสือพอสมควร เธอมองว่าการจะทำร้านหนังสือให้อยู่รอดได้ ต้องอาศัยการปรับตัวให้สอดคล้องไปด้วยกันกับยุคสมัย และรูปแบบของสังคม
ช่วงเวลาที่ยากลำบากของ Anyway Book Cafe คืออะไร แล้วเราผ่านมาได้ยังไง
มาย: นํ้าท่วมค่ะ! เราเป็นคนเชียงรายซึ่งเป็นจังหวัดที่โดนนํ้าท่วมก่อน จนเชียงใหม่ประกาศภาวะเฝ้าระวังนํ้าท่วมครั้งที่ 1 ตอนนั้นเราก็เริ่มหวั่นใจละ เพราะฝั่งกาดเมืองใหม่มักจะโดนนํ้าท่วมเสมอ แต่ฝั่งของร้านเราจากประสบการณ์ของคนในพื้นที่ที่เราไปสอบถาม เขาก็บอกว่าไม่ท่วมแน่นอน มันไม่ท่วมมา 20 ปีแล้วนะ แต่พอระลอกที่ 2 ของน้ำท่วมเท่านั้นแหละ ร้านเราโดนเต็มๆ ซึ่งมันหายนะสุดๆ เชียงใหม่ไม่เคยเกิดเหตุการณ์แบบนี้มาก่อน
เหตุการณ์น้ำท่วมเชียงใหม่ในปี 2567 เป็นเหมือนฝันร้ายของชาวเชียงใหม่แทบทุกพื้นที่ ผู้ประกอบการกิจการต่างๆ ก็เป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ไม่น้อยไปกว่าใคร สำหรับ Anyway Book Cafe นี่จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ยากลำบากของพวกเธอ
มาย: ยิ่งไปกว่านั้นคือการจัดการที่ยํ่าแย่ของรัฐบาล รวมไปถึงมาตรการการเยียวยาที่ล่าช้า ซึ่งเราก็ตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เขาจะทำดีกว่านี้ก็ได้นะ แต่ทำไมเขาถึงไม่ทำ” สุดท้ายแล้วเราก็ผ่านมันมาได้จากการช่วยเหลือของมิตรสหายในชุมชนของเรา ซึ่งมันทำให้เราได้เห็นความสัมพันธ์ในหลายแง่ ทั้งคนรอบตัวเรา เพื่อนเรา จนไปถึงผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการช่วยเหลือเยียวยาเราอย่างภาครัฐ
กิ่ง: เราเข้าไปดูขั้นตอนในการเยียวยาต่างๆ สิ่งแรกที่เราเห็นคือ เขาไม่ได้บอกว่าจะเยียวยากลุ่มไหนบ้าง พอเราไปติดต่อเจ้าหน้าที่กลับถูกถามว่าได้นอนที่ร้านหรือเปล่า ซึ่งเราก็สงสัยว่าทำไมถึงถามแบบนั้น และเราก็ได้คำตอบมาว่าถ้าไม่ได้นอนที่ร้านไม่สามารถเบิกเงินเยียวยาได้ อีกทั้งยังมีข่าวว่าจะเยียวยาเพียง 5,000 บาท ซึ่งสำหรับภาคธุรกิจ แม้เราจะเป็นธุรกิจเล็กๆ แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นมันรุนแรงสำหรับเรา รวมไปถึงช่วงที่เกิดน้ำท่วม ยังมีการเก็บค่าน้ำค่าไฟเหมือนเดิม ทั้งๆ ที่ร้านเราเพิ่งเสียหายและเรายังต้องมาเยียวยากันเอง มันไม่แฟร์เลย
พลอย: มองว่าเป็นปัญหาของการกระจายอำนาจ และระบบการแจ้งเตือนภัยพิบัติของบ้านเรา ในทางปฏิบัติมันไม่สอดคล้องกับระบบราชการในปัจจุบันเลย ซึ่งระบบราชการที่มันรวมศูนย์อำนาจ เลยทำให้การจะนำความรู้หรือเทคโนโลยีต่างๆ มาใช้มันมีหลายขั้นตอน จนบางครั้งทำให้คนส่วนใหญ่เข้าไม่ถึง และในอนาคตมันก็จะเกิดขึ้นอีก เพราะเราอยู่กับธรรมชาติ การเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นตลอด ทำให้เราต้องกลับมามองว่าถึงเวลาแล้วหรือยังสำหรับการกระจายอำนาจ
แล้วเรามีความคาดหวังของพื้นที่นี้ต่อจากนี้ยังไงกันบ้าง
กิ่ง: เราเติบโตมาเป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเราอยากเปิดให้ Anyway Book Cafe เป็นพื้นที่สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ และกำลังตามหาคอมมูนิตี้ของตัวเอง คนที่ชอบอะไรเหมือนกันได้มาเจอกัน ซึ่งเราเองก็ดีใจทุกครั้งที่ได้เห็นคอมมูนิตี้ของเราเติบโต มากไปกว่านั้นคือการมาถกเถียงประเด็นทางสังคมกัน
พลอย: ความสัมพันธ์ก็คือการเมือง แล้วถ้าหากพื้นที่นี้สามารถส่งต่อหรือพูดในประเด็นทางสังคมได้ ไม่ว่าจะผ่านกิจกรรมต่างๆ ผ่านการตีพิมพ์หนังสือ หรือเวทีเสวนา มันก็จะเกิดการขับเคลื่อนทางความคิด การมีพื้นที่แบบนี้มากขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะสามารถเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของสังคมบ้านเรา แม้ว่าจะเป็นพื้นที่เล็กๆ ของคนที่มารวมตัวกัน แต่มันจะแปรเปลี่ยนเป็นพลังที่สำคัญต่อไป
มาย: พลังของการที่เราได้มาพบปะพูดคุยกัน ไม่ว่าการที่เรากำลังต่อสู้เรื่องคนตัวเล็กในวงการหนังสือ ด้านการเมือง หรือเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศ การที่ได้มาเจอกันมารวมตัวกัน จะสามารถส่งพลังในการผลักดันประเด็นต่างๆ ในสังคมได้ เราก็คาดหวังว่าพื้นที่ของเราจะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสังคม
ทั้งสามคนทิ้งท้ายไว้ว่า อยากให้ Anyway Book Cafe เป็นพื้นปลอดภัยที่สำหรับคนที่มีความหลากหลายทางเพศ หลากหลายทางความคิดได้มาเจอกัน ได้มาเป็นตัวของตัวเองผ่านการทำกิจกรรมร่วมกัน และอยากให้ในอนาคตพื้นที่แห่งนี้ได้มีการเติบโตไปเป็นพื้นที่ในการขับเคลื่อนสังคมผ่านกิจกรรมต่างๆ ของทางร้าน เพื่อให้เมืองเชียงใหม่ได้มีพื้นที่ปลอดภัยสำหรับผู้ที่มีความหลากหลายแบบนี้อีกหลายๆ ที่
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...