‘ภัทรพงษ์’ สส.พรรคประชาชน จี้รัฐบาลแพทองธาร หลังแถลง 90 วัน ไร้แผนรับมือฝุ่นพิษ

12 ธันวาคม 2567 แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผลงาน 90 วัน ในการทำงานของรัฐบาลแพทองธาร และมอบนโยบายการบริหารราชการแผ่นดินในปีต่อไปภายใต้แคมเปญ “2568 โอกาสไทยทำได้จริง”

โดยผลงานที่แถลง ประกอบด้วย โครงการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท, กฎหมายสมรสเท่าเทียม, แจกเงินชาวนา 1,000 บาท, พักหนี้เกษตรกร, ลดค่าน้ำ ค่าไฟ, รถไฟฟ้า 20 บาท, กระตุ้นท่องเที่ยวฟรีวีซา, แอ่วเหนือ 400 บาท, ตรึงภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT 7%) อีก 1 ปี, บัตรประชาชนรักษาทุกที่

นอกจากนั้นยังระบุว่า นโยบายที่จะดำเนินการให้เป็นรูปธรรมในปี 2568 คือ การเร่งกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่น ส่งเสริมการท่องเที่ยว แก้ปัญหาอาชญากรรม-ปัญหายาเสพติด และเร่งนโยบายการแจกเงินดิจิทัล เฟส 2-3 จำนวน 10,000 บาท รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ การลดราคาพลังงาน และสาธารณูปโภค ไม่เพียงเท่านี้ รัฐบาลยังมุ่งยกระดับการทำเกษตรดั้งเดิมให้เป็นสมัยใหม่ และการขับเคลื่อนกองทุนหมู่บ้าน 

ภาพจาก Facebook Phattarapong Leelaphat – ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์

ด้าน ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ หรือ ‘สส.ตี๋’ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เชียงใหม่เขต 8  พรรคประชาชน ได้ออกมาพูดถึง “แถลงผลงานที่ไม่มีผลงาน” 90 วันที่ไร้การเตรียมการรับมือ PM2.5 ของ รัฐบาลแพทองธาร ผ่าน Facebook Phattarapong Leelaphat – ภัทรพงษ์ ลีลาภัทร์ ในวันที่ 14 ธันวาคม 2567 โดยมองว่า รัฐบาลไม่มีมาตรการอย่างชัดเจน และนำเสนอมุมเดียวว่าลดพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ได้ แต่กลับไม่พูดความจริงว่าพื้นที่เผาไหม้ทั้งประเทศนั้นเพิ่มขึ้น พร้อมยังบอกอีกว่าถ้ารัฐบาลมีเป้าหมายในการคืนสภาพอากาศที่ดีให้ประชาชนจริงๆ นายกฯ ควรต้องเปิดใจรับฟังมากกว่านี้ 

ในการแก้ปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 นั้น รัฐบาลต้องดำเนินมาตรการและให้ความชัดเจนกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้วางแผนล่วงหน้าตามมาตรการที่ชัดเจน แต่ผ่านมา 90 วัน รัฐบาลกลับไม่มีมาตรการใดๆ ที่ชัดเจนเลย และนายกฯ ยังเลือกที่จะนำเสนอข้อมูลในมุมเดียวที่ว่าสามารถลดพื้นที่เผาไหม้ในจังหวัดเชียงใหม่ลงได้ โดยไม่พูดประเด็นที่ว่า พื้นที่การเผาไหม้ในปี 2567 ของทั้งประเทศนั้นเพิ่มขึ้นจากปี 2566 และเป็นพื้นที่เผาไหม้การเกษตรกว่า 4 ล้านไร่

ทั้งนี้ สส.ภัทรพงษ์ มองว่า หากนายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับสภาฯ และรับฟังมากกว่านี้ 90 วันที่ผ่านมาไม่มีทางสูญเปล่าแบบนี้ เพราะในวันแถลงนโยบายต่อรัฐสภาของรัฐบาลแพทองธาร ผมได้อภิปรายแนวทางการเตรียมพร้อมรับมือปัญหาฝุ่นพิษ PM2.5 อย่างชัดเจนทุกๆ ด้าน เป็นแผนปฏิบัติการอย่างชัดเจนว่าแต่ละเดือนต้องดำเนินการอะไรบ้าง นำเสนอภาพปัญหาการเผาไหม้ภาคการเกษตรที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณในปี 2567 ของพืชที่มีการเผาไหม้หลักๆ 3 ชนิด คือ ข้าว อ้อย และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ที่ต้องมีการประกาศมาตรการล่วงหน้าเพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการได้วางแผนปรับตัวได้ทัน แต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใดๆ เลย

(1) ข้าว รัฐบาลมีโครงการสนับสนุนชาวนาไร่ละ 1,000 บาท ไม่เกิน 10 ไร่ แต่กลับไม่มีการเพิ่มเงื่อนไขห้ามเผาเข้าไปในมาตรการนี้ ทั้งที่จะเป็นการเริ่มต้นเพิ่มแรงจูงใจ ลดการเผาไหม้ได้เป็นอย่างดี

(2) อ้อย ตอนนี้อ้อยเริ่มเปิดหีบแล้ว อ้อยเผาเข้าสู่โรงงานแล้ว แต่รัฐบาลยังไม่มีมาตรการใดๆ ออกมาบังคับใช้ นายกฯ กล่าวในการแถลงผลงานว่าต้องจริงจังมากขึ้นเรื่องการเผาอ้อย โดยเฉพาะโรงงานน้ำตาลทราย แต่ถึงวันนี้ไม่มีการดำเนินการใดๆ สิ่งที่เห็นลางๆ มีเพียงสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทรายที่เสนอมาตรการสนับสนุนชาวสวนไร่อ้อยตัดอ้อยสด 120 บาทต่อตันในการประชุม ครม.สัญจรเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน และขอให้รัฐบาลมีมติ ครม. ก่อนเปิดหีบอ้อยในฤดู 67/68 นี้ แต่รัฐบาลกลับนิ่งดูดาย และร่างระเบียบ กอน. ว่าด้วยการตัดและส่งอ้อยฯ ที่จะออกมาตรการปรับโรงงานที่รับอ้อยเผาต่อวันเกิน 25% 130 บาทต่อตัน ก็ยังอยู่ในชั้นรับฟังความคิดเห็น ทั้งๆที่อ้อยเปิดหีบกันไปแล้ว

(3) ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ นายกฯ ประกาศทุกครั้งว่าจะไม่รับซื้อข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่มีที่มาจากการเผา แต่จนถึงวันนี้ยังเป็นเพียงคำพูดลอยๆ ไม่มีมาตรการใดออกมา ทั้งที่ตนชี้แนวทางชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นการออกมาตรฐานบังคับข้าวโพดไม่เผาที่จะมีผลบังคับใช้ทั้งในประเทศและการนำเข้า ป้องกันปัญหาเรื่องการละเมิด National Treatment ปฏิบัติกับต่างประเทศอย่างไรก็ต้องปฏิบัติกับในประเทศอย่างนั้น แล้วออกหลักเกณฑ์การตรวจสอบข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลอดห่วงโซ่อุปทานของผู้ผลิตอาหารสัตว์ หลังจากนั้นจึงออกประกาศนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบปลอดภาษีให้สอดคล้องกัน โดยให้มีการระบุ Geo-location ของแปลงเพาะปลูกเพื่อการตรวจสอบย้อนกลับ หรือการใช้ข้อยกเว้นการค้าเสรีของ WTO ข้อ B และ G ตนก็เคยเสนอไปแล้วในการอภิปรายทั่วไปเมื่อเดือนเมษายน 2567 เช่นกัน แต่ทั้งหมดนี้นายกฯ ยังไม่มีความชัดเจนว่าจะดำเนินการอย่างไร

ไม่ใช่เพียงภาคเกษตรเท่านั้นที่เราต้องเร่งดำเนินการ ภาคป่าไม้ก็ถูกเพิกเฉยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะพื้นที่ป่าสงวนที่รัฐบาลตัดงบประมาณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เป็นเจ้าภาพหลักในการดับไฟป่าในเขตป่าสงวน จาก อบต. ทั้งหมด 1,801 แห่ง ปัจจุบันได้งบประมาณเพียง 90 แห่งเท่านั้น ​

และสุดท้ายที่นายกฯ ได้พูดไว้ว่า จะคืนสุขภาพที่ดีให้ประชาชนคนไทยทุกคน แต่จนถึงวันนี้รัฐบาลยังไม่มีมาตรการป้องกันหรือเฝ้าระวังโรคมะเร็งปอดจากปัญหา PM2.5 ทั้งที่ตนได้อภิปรายนำเสนอไปหลายต่อหลายครั้งว่าให้ทบทวนประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยโรคที่ต้องเฝ้าระวังจาก PM2.5 ให้เพิ่มโรคมะเร็งปอดเข้าไปด้วย และเพิ่มสิทธิการตรวจมะเร็งปอดแบบ Low dose CT scan ให้กับประชาชนในพื้นที่ที่ประสบค่าฝุ่น PM2.5 มาเป็นเวลานาน

ทั้งหมดนี้หากรัฐบาลเปิดใจรับฟังและนำไปดำเนินการ วันนี้นายกฯ แพทองธารคงมีผลงานรัฐบาล 90 วันให้แถลงจริงๆ ไม่ใช่แค่จัดงานแถลงโดยไม่มีผลงาน เพื่อหนีการตอบกระทู้ในสภาแบบเมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง