15 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา ThaiPBS รายงานว่า วานนี้ (15 ธ.ค. 67) คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้จัดการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก (นายกอบจ.ตาก) โดยมีผู้สมัครจำนวน 2 คน คือ ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก หมายเลข 1 และ ‘พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร’ อดีตผู้ช่วยของ ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจและดิจิทัล (ดีอี) หมายเลข 2
สำหรับในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ พื้นที่จังหวัดตากมีจำนวนผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งทั้งสิ้น 404,695 คน กระจายอยู่ใน 684 หน่วยเลือกตั้ง
การเลือกตั้งฯ จบลงด้วยความดุเดือดและเข้มข้น หลังการนับคะแนนเสร็จสิ้น 100% ในช่วงเวลา 02.15 น. ของวันนี้ (16 ธ.ค. 67) ต่อมาช่วงบ่ายของวันเดียวกัน อบจ.ตาก ได้ประกาศผลคะแนนอย่างเป็นทางการผ่านเฟซบุ๊ก องค์การบริหารส่วนจังหวัดตาก ซึ่งผลปรากฏว่า อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ คว้าชัยด้วยคะแนน 98,601 คะแนน ทิ้งห่าง พ.ต.ท.อนุรักษ์ จิรจิตร ที่ได้รับ 88,327 คะแนน โดยคะแนนห่างกันกว่า 10,000 คะแนน
การเลือกตั้งฯ ครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงแค่การเลือกตั้งนายกอบจ.ทั่วไป แต่กลับถูกจับตามองว่าเป็น ‘สมรภูมิการเมือง’ ที่ท้าทายความมั่นคงของตระกูล ‘ทวีเกื้อกูลกิจ’ กับตำแหน่งทางการเมืองที่ยังเหลืออยู่ โดยมี อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘รองจอย’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก เป็นผู้สมัครที่ถูกจับตามองอย่างใกล้ชิด
สำหรับเหตุผลที่อัจฉราได้รับชัยชนะในครั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าอาจมาจาก 3 เหตุผลหลักที่สำคัญ ดังนี้
1. การเป็น ‘บ้านใหญ่’ ขั้วอำนาจเดิม ‘อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ’ หรือ ‘รองจอย’ อดีตรองนายกอบจ.ตาก ผู้สมัครหมายเลข 1 ในการเลือกตั้งครั้งนี้ เป็นบุคคลที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากอัจฉราเป็นภรรยาของ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกุลกิจ หรือ ‘ส.ส.เฟิร์ส’ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) จังหวัดตาก พรรคพลังประชารัฐ ที่เปลี่ยนสังกัดมาสู่พรรคภูมิใจไทย แต่ประสบความพ่ายแพ้ในสนามเลือกตั้ง ปี 2566
การลงสมัครรับเลือกตั้งนายกอบจ.ตากของอัจฉราครั้งนี้จึงถือเป็น ‘ก้าวสำคัญ’ ในการรักษาฐานอำนาจของตระกูล ‘ทวีเกื้อกูลกิจ’ หลังจากที่ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีตนายกอบจ.ตาก ผู้เป็นพ่อตา ประกาศลาออกจากตำแหน่งกะทันหัน ท่ามกลางข่าวลือเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ จึงถูกมองว่านี่คือการเปิดโอกาสให้ลูกสะใภ้ก้าวเข้ามาสานต่อเก้าอี้นายก อบจ. เพื่อรักษา ‘ปราการด่านสุดท้าย’ ในเวทีการเมืองของครอบครัว
สอดคล้องกับกับที่ อนุชา บุญถิ่น จากอาสาสมัครสังเกตการณ์เลือกตั้งอบจ. WeWatch ให้สัมภาษณ์กับ Lanner ถึงเหตุผลที่อัจฉราสามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ต่อจาก ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ ไว้ว่า การเลือกที่จะ ‘ลาออกก่อนครบกำหนดวาระ’ ของณัฐวุฒินั้นถือเป็นหนึ่งใน ‘ยุทธวิธีการเมือง’ ที่จะถือโอกาสนี้ในการสานต่อเก้าอี้และตำแหน่งนายกอบจ.ซึ่งเป็นตำแหน่งทางการเมืองเพียงไม่กี่ตำแหน่งที่เหลืออยู่นี้ให้แก่คนในครอบครัวต่อไป
2. การมีฐานเสียงแข็งแกร่งจากหลายพื้นที่ ซึ่งมีเครือข่ายสนับสนุนที่เหนียวแน่น ไม่ว่าจะเป็นจากฐานเสียงหลักในอำเภอวังเจ้าและอำเภอเมืองตาก โดยในอำเภอวังเจ้า ‘อัจฉรา’ ได้รับการสนับสนุนจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ประดาง, นาโบสถ์, และเชียงทอง รวมถึงการสนับสนุนจากกลุ่มท้องถิ่นอย่าง ‘ส.จ.แม่สุ่ม’ จันทรา อุดมโภชน์ ‘ส.จ.กิม’ กิติญา วงค์วาร รวมทั้ง ‘กำนันต้อง’ อนุรักษ์ นิลน้อย ซึ่งเป็นแนวรับที่แข็งแกร่งและยากที่จะฝ่าไปได้
ในส่วนของอำเภอเมืองตาก อัจฉรายังมีฐานเสียงสำคัญจากนายกอบต.วังประจบ, อบต.แม่ท้อ, อบต.โป่งแดง และ อบต.ป่ามะม่วง เป็นแนวร่วมสำคัญ โดยมีเครือข่ายพี่น้องในตำบลหนองบัวเหนือ ที่มั่นคงและพร้อมที่จะสนับสนุนอย่างเต็มที่
ด้านอำเภอท่าสองยาง, อำเภอแม่ระมาด, และอำเภอบ้านตาก โดยเฉพาะฝั่งตากตะวันตก เป็นพื้นที่ที่ ส.ส.ภาคภูมิ บูลย์ประมุข หรือ ‘ส.ส.ปั้น’ ซึ่งเป็นผู้นำในพื้นที่จะมีบทบาทสำคัญในการชี้ทิศทางการเลือกตั้ง โดยจะเป็นตัวแปรที่สำคัญว่า ‘อัจฉรา’ จะได้เปรียบหรือไม่ ข้ามน้ำปิงมาซีกตากตะวันออก มี เกรียงไกร แก้วแปง หรือ ‘สจ.เกรียง’ ที่ขึ้นแท่นว่าที่รองนายกอบจ.ตาก ให้ทีมอัจฉรา ยิ่งควบแน่นและคราคล่ำไปด้วยแนวรับที่เหนียวหนึบ ยากที่จะเจาะผ่านไปได้
ในขณะที่อำเภอสามเงา กลุ่มท้องถิ่นในพื้นที่ได้ร่วมมือกับอบจ.ตาก ในการลงพื้นที่น้ำท่วม เพื่อมุ่งรักษาฐานเสียงของ ‘อัจฉรา’ ไว้ได้อย่างมั่นคง เรียกได้ว่า 4 อำเภอซีกตะวันออกของจังหวัดตากยากที่จะพ่ายแพ้
ทั้งนี้ ในพื้นที่ 5 อำเภอชายแดนตะวันตก อัจฉรายังได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มต่าง ๆ เช่น ว่าที่ ร.ต.ประเสริฐ ปวงละคร นายกเทศมนตรีนครแม่สอด, อดีต ส.จ.อุ้มผาง จากสายฉัตรชัยลือนาม, และกลุ่มเก๊าใหม่ แซ่ย่าง อ.พบพระ พร้อมทั้ง ส.จ.ชัย นายจิรวัฒน์ มงคลจุฑาศรษฐ จากอำเภอแม่สอด ซึ่งทำให้ทีมของ ‘อัจฉรา’ ได้จัดตั้งแนวรับที่แข็งแกร่งในพื้นที่ตะวันตกของจังหวัดตาก
เช่นเดียวกันกับที่อนุชา กล่าวเพิ่มเติมไว้ว่า การมีเครือข่ายต่าง ๆ เช่น อสม. รวมทั้งการเข้าถึงพื้นที่ต่างๆ ได้มากกว่านั้นก็เป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้อัจฉราประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งฯ ครั้งนี้
ขณะเดียวกัน ฐานเสียงเองก็ถือว่ามีความสำคัญมากในการเลือกตั้งนายกอบจ. โดยอนุชามองว่า ระดับความเข้มข้นในการเลือกตั้งนายกอบจ.นั้นอาจมีไม่มากเท่ากับการเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งเป็นระดับที่ใหญ่กว่า ดังนั้นการดึงผู้คนให้มารู้จักตัวผู้รับสมัครเลือกตั้งผ่านฐานเสียงซึ่งมาจากการสนับสนุนโดยเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ จึงเป็นสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันกับเหตุผลอื่นๆ ที่สนับสนุนให้อัจฉราชนะการเลือกตั้ง
3. จำนวนผู้ไปใช้สิทธิ์น้อยจากการไม่เห็นความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น และการไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญลำดับต้น ๆ เช่นเดียวกันกับการเลือกตั้งนายกอบจ.ในพื้นที่อื่นๆ โดยอนุชาได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นนี้ว่า ประเด็นนี้เกี่ยวข้องอย่างแน่นอนเนื่องจากหากมองในเรื่องของความคุ้มค่า การกลับไปเพื่อเลือกตั้งแค่อย่างเดียวอาจไม่คุ้มค่าเท่าไหร่นักสำหรับคนทำงานต่างจังหวัดหรือต่างอำเภอ
อย่างไรก็ดี แม้จะชนะการเลือกตั้ง แต่การชนะในครั้งนี้ของอัจฉรา กลับถูกมองว่า ‘ไม่ได้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญ’ โดยนักวิชาการให้ความเห็นว่า อัจฉรายังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ทำให้ตากก็ยังคงเป็นขั้วเดิมที่ ‘อัจฉรา’ รองนายกอบจ.เก่าคว้าชัยชนะ
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...