เปิด 3 เหตุผล เลือกตั้งนายกอบจ.เพชรบูรณ์ ทำไม ‘อัครเดช’  แชมป์เก่ากินขาด 7 สมัยซ้อน

วานนี้ (15 ธ.ค. 67) การเลือกตั้งนายกอบจ.เพชรบูรณ์ ปิดฉากลงด้วยชัยชนะของ ‘อัครเดช ทองใจสด’ ผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตนายกอบจ.เพชรบูรณ์ 6 สมัย ซึ่งคว้าตำแหน่งสมัยที่ 7 มาได้ด้วยคะแนนอย่างท่วมท้น โดยมีคะแนนนำคู่แข่งอย่าง ธิปไตย แสงรัก ผู้สมัครหมายเลข 2 อดีตผู้สมัคร ส.ส.เพชรบูรณ์ เขต 4 พรรคภูมิใจไทย แต่ครั้งนี้ลงในนามอิสระ และ จิรวิทย์ แก้วกำพล ผู้สมัครหมายเลข 3 อดีตข้าราชการ ถึงกว่า 200,000 คะแนน

จากการรายงานผลคะแนนอย่างเป็นทางการเมื่อเวลา 14.00 น. วันนี้ (16 ธ.ค. 67) ซึ่งนับครบทั้ง 1,703 หน่วยเลือกตั้งใน 11 อำเภอ อัครเดช ทองใจสด ได้รับคะแนน 263,545 คะแนน ขณะที่ ธิปไตย แสงรัก ได้อันดับ 2 ด้วยคะแนน 38,705 คะแนน และ จิรวิทย์ แก้วกำพล ได้อันดับ 3 ด้วยคะแนน 8,376 คะแนน

สำหรับการชนะในการเลือกตั้งนายกอบจ.ครั้งนี้ของ อัครเดช ทองใจสด ที่เพชรบูรณ์ ถูกมองเช่นเดียวกันกับของชัยชนะอัจฉราที่ตาก ซึ่งถือว่า ‘ไม่สร้างความเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในเชิงการเมือง’ โดยหากวิเคราะห์ก็คงกล่าวได้ว่า อัครเดชเองก็ยังคงรักษาฐานเสียงเดิมไว้ได้อย่างเหนียวแน่น ซึ่งตากก็ยังคงเป็นขั้วเดิมที่ ‘อัจฉรา’ รองนายกอบจ.เก่าคว้าชัยชนะ ในเพชรบูรณ์ก็ยังคงเป็น ‘อัครเดช’ คนเดิมที่ครองตำแหน่งนายกอบจ.มาต่อเนื่องยาวนานถึง 6 สมัย และการได้รับชัยชนะในครั้งนี้จะทำให้เขากลายเป็นนายกอบจ. สมัยที่ 7

ขณะเดียวกัน อัครพงษ์ สิทธิ หนึ่งในประชาชนที่จับตาการเลือกตั้งนายกอบจ.จังหวัดเพชรบูรณ์มาโดยตลอด ได้ให้ความเห็นซึ่งสอดคล้องกับการวิเคราะห์ของ Lanner เกี่ยวกับเหตุผลที่อัครเดชได้รับชัยชนะในศึกการเลือกตั้งอบจ. ครั้งนี้ไว้ด้วยชนะชนะขาดลอยกว่า 2 แสนคะแนน ดังนี้

1. การชิงลาออกจากตำแหน่งนายกอบจ.ก่อนครบกำหนดวาระเพื่อสร้างความได้เปรียบทางการเลือกตั้ง ทั้งทางด้านการเตรียมความพร้อมในการหาเสียงเลือกตั้ง โดยอัครพงษ์มองว่า การทำแบบนี้จะทำให้ผู้ที่ลาออกก่อนมีเวลาเตรียมความพร้อมมากขึ้น มากกว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งคนอื่นๆ

2.  การดำรงตำแหน่งนายกอบจ.มาอย่างยาวนานถึง 6 สมัยก่อนหน้านี้ การครองพื้นที่ทางการเมืองมาโดยตลอด ส่งผลให้อัครเดชมี ‘เครือข่าย’ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นทั้งกลุ่มประชาชนในพื้นที่ หรือแม้แต่องค์กรที่เคยได้เข้าไปดูแล อาทิ องค์กรส่วนท้องถิ่นต่างๆ ที่อาจจะมีผลประโยชน์เอื้อต่อกัน ทำให้มีความเป็นไปได้ว่าอาจจะได้รับคะแนนนิยมในส่วนนี้เพิ่มเติม 

3. ไม่มีเลือกตั้งล่วงหน้า ทำให้ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งอยู่นอกพื้นที่ เช่น ผู้ที่อาศัยหรือทำงานอยู่ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งในและต่างประเทศไม่สามารถกลับมาเลือกตั้งในพื้นที่ได้ ปัญหานี้คาบเกี่ยวกับเรื่องเวลาการเลือกตั้งที่จัดในต้นปี หลังช่วงเทศกาลต่างๆ ได้ไม่นานนัก ทำให้หลายคนอาจมองว่าไม่คุ้มค่าแก่การเดินทางกลับมาเท่าไหร่นัก เนื่องจากหลังจากนั้นไม่นานก็จะมีการเลือกตั้ง ส.อบจ. อีกครั้งหนึ่งในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ เป็นสองขยักที่อาจเป็นภาระในแง่ค่าใช้จ่ายการเดินทางเพิ่มมากขึ้น เหตุผลนี้จึงไปสัมพันธ์กับจำนวนผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งแท้จริงที่มีเพียงแค่ 2 – 3 แสนคน ซึ่งไม่ถึงครึ่งหนึ่งของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งจริง 774,960 คน ด้วยซ้ำ

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง