‘แรงงานภาคเหนือ’ ยื่นหนังสือถึงผู้ว่าฯ เชียงใหม่ เรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติ ย้ำต้อง ‘ดำเนินการเชิงรุก’

18 ธันวาคม 2567 เนื่องใน ‘วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล’ (International Migrants Day) เครือข่ายแรงงานภาคเหนือจัดกิจกรรมยื่นข้อเสนอต่อผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองที่เท่าเทียมสำหรับแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในประเทศไทย

วันนี้ (18 ธ.ค. 67) เวลา 10.00 น. ณ ศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ ซึ่งประกอบด้วยแรงงานไทยและแรงงานข้ามชาติหลากหลายอาชีพ ได้ยื่นข้อเสนอสำคัญผ่านจัดหางานจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อเรียกร้องสิทธิและการคุ้มครองที่เท่าเทียมสำหรับแรงงานข้ามชาติและแรงงานหญิงในประเทศไทย โดยข้อเรียกร้องดังกล่าวครอบคลุมหลายประเด็นสำคัญ ทั้งการคุ้มครองสิทธิแรงงาน การปรับปรุงกฎหมาย และการยุติการส่งกลับผู้อพยพไปยังพื้นที่ที่มีความขัดแย้ง โดยมีเนื้อหาดังนี้

ข้อเสนอ เนื่องในวันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล

วันที่ 18 ธันวาคม ของทุกปี องค์การสหประชาชาติได้ประกาศให้เป็น “วันผู้อพยพย้ายถิ่นสากล” (International Migrants Day) ซึ่งเป็นวันที่อนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติและครอบครัว ค.ศ. 1990  ได้รับการรับรองโดยองค์สหประชาชาติ เพื่อเน้นย้ำถึงความสำคัญและคุณูปการของแรงงานข้ามชาติต่อการพัฒนา ทั้งประเทศต้นทาง ประเทศระหว่างทาง และประเทศปลายทาง และเพื่อให้แรงงานข้ามชาติในประเทศต่างๆ ได้รับการคุ้มครองสิทธิทั้งสิทธิมนุษยชนและสิทธิแรงงาน ด้วยหลักการที่ตระหนักถึงสิทธิ และการได้รับการปฏิบัติที่เป็นธรรมปราศจากการเลือกปฏิบัติด้วยความแตกต่างเรื่องเชื้อชาติ ศาสนา สีผิว และเพศสภาพใดๆ ต่อแรงงานข้ามชาติ จากรัฐบาล และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

การอพยพเคลื่อนย้ายของแรงงานจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่งเพื่อทำงานหรืออยู่อาศัยเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นทั่วโลกมานานแล้ว สาเหตุหลักๆ ของการเคลื่อนย้ายแรงงานคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ภัยธรรมชาติหรือความขาดแคลน สงครามหรือความขัดแย้งในประเทศของตนเอง รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้คนทั่วโลกต้องเคลื่อนย้ายออกจากถิ่นฐานของตัวเอง เพื่อให้ตนเองมีชีวิตที่ดีกว่าเดิม

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติจากประเทศต่างๆ เดินทางย้ายถิ่นเข้ามาทำงานและอยู่อาศัยเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะแรงงาน 4 สัญชาติ คือ พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ทั้งที่ทำงานโดยมีเอกสารถูกต้องตามกฎหมายกว่า 3 ล้านคน และกลุ่มที่ยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานตามกฎหมายอีกกว่า 1 ล้านคน  ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าแรงงานข้ามชาติเหล่านี้เป็นฟันเฟืองสำคัญที่ร่วมขับเคลื่อนการพัฒนาและการเติบโตด้านเศรษฐกิจสังคมของประเทศไทย แต่ทว่าแรงงานข้ามชาติส่วนใหญ่กลับยังไม่ได้รับสิทธิและเข้าไม่ถึงการปกป้องคุ้มครองตามที่กฎหมายคุ้มครองแรงงานและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับแรงงานกำหนด เช่น ไม่ได้รับค่าจ้างตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่มีวันหยุดประจำสัปดาห์ ไม่ได้รับค่าจ้างในวันหยุดและวันลาตามที่กฎหมายกำหนด ต้องทำงานล่วงเวลาโดยไม่สมัครใจ เข้าไม่ถึงระบบประกันสังคม และกองทุนเงินทดแทน

ในโอกาสนี้ เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ จึงได้มีข้อเสนอต่อรัฐบาล และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่แรงงานข้ามชาติกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบันอย่างเป็นรูปธรรม โดยต้องดำเนินการเชิงรุกในการกำหนดความคุ้มครองทางกฎหมายและมุ่งเน้นให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชนต่อแรงงานข้ามชาติด้วย ดังนี้

1. รัฐบาลต้องปรับโครงสร้างค่าจ้างให้เป็นไปตามหลักการกำหนดค่าตอบแทนที่เป็นธรรม และกำหนดให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างทุกปีในอัตราที่สอดคล้องกับระดับค่าครองชีพโดยคำนวณจากอัตราเงินเฟ้อ + 3 เปอร์เซ็นต์ของอัตราค่าจ้าง และต้องเป็นค่าจ้างแบบถ้วนหน้าเท่ากันทั่วประเทศ  

2. รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายการบริหารจัดการแรงงานข้ามชาติที่เป็นระบบและเป็นนโยบายระยะยาว 5 – 10 ปี โดยต้องเป็นไปตามหลักสิทธิมนุษยชน การไม่เลือกปฏิบัติ เน้นการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน และปรับแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการจ้างงานและการอนุญาตให้อยู่และทำงานในประเทศ

3. รัฐบาลต้องเร่งดำเนินการรับรองอนุสัญญา ILO และดำเนินการต่อเนื่องหลังรับรองอนุสัญญา ดังนี้

3.1 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 87 ว่าด้วยเสรีภาพในการสมาคมและการคุ้มครองสิทธิในการรวมตัว ฉบับที่ 98 ว่าด้วยสิทธิในการรวมตัวและการเจรจาต่อรอง และดำเนินการปรับปรุงกฎหมายแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 โดยเร่งด่วนเพื่อให้แรงงานทุกภาคส่วนมีอิสระในการรวมตัว จัดตั้ง หรือเข้าร่วม และการต่อรองกับนายจ้างด้วยการจัดตั้งสหภาพแรงงานได้โดยไม่กระทบต่อการจ้างงาน

3.2 อนุสัญญา ILO ฉบับที่ 189 ว่าด้วยงานที่มีคุณค่าสำหรับลูกจ้างทำงานบ้าน เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านและดำเนินการปรับปรุงกฎหมาย กฎกระทรวง ระเบียบต่าง ๆ  เพื่อส่งเสริมสิทธิของแรงงานทำงานบ้านโดยเร็วที่สุด และต้องมีกลไกเพื่อคุ้มครองแรงงานทำงานบ้านให้ได้รับสิทธิ และสวัสดิการ โดยเฉพาะแรงงานทำงานบ้านที่ต้องทำงานในบริเวณที่พักอาศัยของนายจ้างจะต้องได้รับการจัดหาที่พักและอาหารที่สะอาด ถูกหลักสุขอนามัย เพื่อความปลอดภัยและทำให้แรงงานได้พักผ่อนเพียงพอและมีศักยภาพในการทำงาน

4. รัฐบาลต้องปรับปรุงระบบประกันสังคมโดยออกกฎกระทรวงกำหนดให้แรงงานทุกคน ทุกอาชีพ เข้าสู่ระบบประกันสังคมอย่างเท่าเทียม ไม่เลือกปฏิบัติ และกำหนดให้ผู้ประกันตนสามารถใช้สิทธิได้ทันทีหลังจากที่มีการเข้าสู่ระบบประกันสังคม  และให้แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมที่ต้องการกลับประเทศต้นทางและไม่ประสงค์ที่จะพำนักในประเทศไทยอีกต่อไป สามารถยื่นรับเงินจากกองทุนบำเหน็จชราภาพได้ทันที

5. รัฐบาลต้องรับรองสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานที่มีรูปแบบการจ้างงานที่หลากหลายภายใต้ระบบเศรษฐกิจปัจจุบัน และสร้างความคุ้มครองแรงงานทุกคนอย่างแท้จริง เช่น แรงงานทำงานบ้าน แรงงานพนักงานบริการ แรงงานสร้างสรรค์ แรงงานแพลตฟอร์ม ไรเดอร์ แรงงานข้ามชาติ แรงงานนอกระบบ แรงงานในภาคเกษตรที่ไม่มีการจ้างงานกันตลอดทั้งปี เป็นต้น โดยต้องดำเนินการแก้ไขพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 กฎหมายแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายประกันสังคม กฎหมายกองทุนเงินทดแทน และกฎหมายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับแรงงานเพื่อให้ความคุ้มครองครอบคลุมแรงงานทุกภาคส่วน

6. รัฐบาลต้องยกเลิก พ.ร.บ. ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี พ.ศ.​ 2539 

7. รัฐบาลต้องส่งเสริมและสร้างหลักประกันการเข้าถึงการจ้างงานของผู้มีความหลากหลายทางเพศ และความคุ้มครองแรงงานผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยกำหนดมาตรการการจ้างงาน สภาพแวดล้อมการทำงาน ที่ไม่แบ่งแยก ไม่เลือกปฏิบัติ และเป็นมิตรต่อแรงงานผู้มีความหลากหลาย เช่น ห้องน้ำสำหรับคนทุกเพศ และนำพระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศมาใช้เป็นแนวทางปฏิบัติอย่างเคร่งครัด

8. รัฐบาลต้องส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานหญิง โดยกำหนดให้การลาหยุดเนื่องจากเป็นวันที่มีประจำเดือนเป็นวันลาที่ได้รับค่าจ้าง และกำหนดให้ผ้าอนามัยเป็นสวัสดิการที่ผู้หญิงทุกคนเข้าถึงได้ฟรี

9. สืบเนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศเมียนมา ส่งผลให้มีผู้อพยพเข้ามาในประเทศไทยมากขึ้นเครือข่ายแรงงานภาคเหนือจึงขอให้รัฐบาลยุติการกักขังและบังคับส่งกลับ ทั้งแรงงานและผู้อพยพจากประเทศเมียนมา รวมถึงการอนุญาตให้อยู่อาศัย ทำงาน เข้าถึงการบริการด้านสุขภาพ การศึกษา และการเดินทาง โดยเร่งด่วน

เครือข่ายแรงงานภาคเหนือ

18 ธันวาคม 2567

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง