ภาพ: Blood Money – သွေးစွန်းငွေ
10 ธันวาคม 2567 ที่ผ่านมา เนื่องในวันสิทธิมนุษยชนสากล องค์กรปฏิวัติและองค์กรภาคประชาสังคมจากทั้งเมียนมา ไทย และนานาประเทศรวมกว่า 311 องค์กร พร้อมกลุ่มที่ไม่ประสงค์ออกนามอีก 72 กลุ่ม ได้ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึง ดิโยม ฟอรี่ CEO ของ Airbus SE เรียกร้องให้ยุติการลงทุนในเมียนมา และหยุดความเกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามที่ก่อโดยเผด็จการทหารพม่าผ่านการลงทุนและการค้าชิ้นส่วนเครื่องบินกับ Aviation Industry Corporation of China (AVIC)
โดยจดหมายดังกล่าวระบุว่า หลังจากความพยายามก่อรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 คณะรัฐประหารเมียนมาได้กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชนและอาชญากรรมสงครามอย่างต่อเนื่อง โดยการเข้าถึงอาวุธและการสนับสนุนด้านเทคนิคจาก AVIC ที่จัดหาเครื่องบินทหารและการบำรุงรักษาหลักให้กับคณะรัฐประหารพม่า ทำให้การโจมตีทางอากาศที่มีเป้าหมายต่อพลเรือนยังดำเนินต่อไป
Airbus SE ถูกระบุว่าเป็นพันธมิตรสำคัญและผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ AviChina Industry & Technology Company Limited ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของ AVIC โดย AviChina ผลิตเครื่องบิน K-8 และ Y-12 ที่ถูกใช้งานโดยกองทัพพม่าในการโจมตีพลเรือนตั้งแต่รัฐประหาร
สอดคล้องกันกับเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่เครือข่ายติดตามการลงทุนไทยและความรับผิดชอบข้ามพรมแดน (ETOs Watch Coalition) ได้เผยแพร่จดหมายของกลุ่มรณรงค์หยุดเงินเปื้อนเลือดแห่งเมียนมา (Blood Money Campaign) ซึ่งระบุว่า นับตั้งแต่เกิดการก่อรัฐประหารเมื่อปี 2021 AVIC ได้ให้การเข้าถึงอาวุธแก่กองทัพอย่างต่อเนื่อง รวมถึงเครื่องบินรบ และความช่วยเหลือด้านการบำรุงรักษา ซ่อมแซม และยกเครื่องที่เกี่ยวข้อง แม้จะมีการคว่ำบาตรอาวุธของสหภาพยุโรปและมีหลักฐานชัดเจนว่ากองทัพได้ก่ออาชญากรรมสงครามและอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
กองทัพเมียนมาได้ใช้เครื่องบินของ AVIC ในการโจมตีทางอากาศที่เข้มข้นขึ้น มีการโจมตีทางอากาศมากกว่า 7,186 ครั้งตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2021 ส่งผลให้พลเรือนเสียชีวิตมากกว่า 1,873 ราย รวมถึงสตรีมีครรภ์และทารก
ไม่เพียงเท่านั้น กองทัพยังคงทิ้งระเบิดทางอากาศโจมตีบ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล สถานที่ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา งานแต่งงาน และค่ายพักพิงสำหรับผู้พลัดถิ่น การโจมตีทางอากาศเกิดขึ้นเกือบทุกวันในเมียนมา
“Airbus มีอำนาจต่อรองเหนือ AVIC ผ่านการลงทุนและพันธมิตรทางธุรกิจ Airbus เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดในระดับนานาชาติของบริษัท AVIC อย่าง AviChina ดังนั้น Airbus จึงได้รับประโยชน์จากธุรกิจของ AVIC กับกองทัพเมียนมา และมีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจทางธุรกิจของ AviChina แอร์บัสได้ประโยชน์จากการร่วมทุนกับเอวิคและการจัดหาเทคโนโลยี ซึ่งน่าจะมีประโยชน์ต่อการผลิตทางทหารของ AVIC” จดหมายระบุ
ดังนั้น ในจดหมายเปิดผนึกครั้งนี้ 311 องค์กร และ 72 กลุ่มภาคประชาสังคมฯ จึงได้เรียกร้องให้ Airbus SE ดำเนินการตามข้อเรียกร้องดังต่อไปนี้
1. ใช้ข้อได้เปรียบทางธุรกิจในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่กดดัน AVIC ให้หยุดการโอนอาวุธและเครื่องบินรบทั้งหมดแก่กองทัพเมียนมา
2. ดำเนินการตรวจสอบความร่วมมือกับ AVIC และบริษัทในเครืออย่างเข้มงวด และเปิดเผยผลการตรวจสอบต่อสาธารณะ
3. ยุติความสัมพันธ์กับ AVIC หากยังดำเนินธุรกิจกับกองทัพเมียนมา
โดยองค์กรทั้งหมด 311 องค์แห่ง และ 72 กลุ่มที่ไม่ประสงค์ออกนามที่ร่วมลงนามมีดังนี้
นอกจากนี้ ก่อนหน้านี้ชาวเมียนมาได้จัดแคมเปญ #Airbus2Airstrike เพื่อกดดัน Airbus SE ผ่านการเดินขบวน ชูป้าย และการรณรงค์บนโซเชียลมีเดีย โดยเรียกร้องให้บริษัทใช้ความได้เปรียบทางธุรกิจเพื่อกดดัน AVIC ให้ยุติการค้าขายยุทโธปกรณ์แก่กองทัพพม่าด้วยเช่นกัน
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...