‘แข่งกันเอง-ตายไปเอง’ ภาพสะท้อนขนส่งสาธารณะภาคเหนือ: 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารใน 17 จังหวัดภาคเหนือลดลงแค่ไหน?

เรื่อง: ผกามาศ ไกรนรา


Summary

  • ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%
  • หากมองภาพรวมของภาคเหนือในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 จากข้อมูลข้างต้น จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ทุกจังหวัดในภูมิภาคต่างก็กำลังประสบกับสถานการณ์การลดลงของจำนวนรถโดยสารอย่างถ้วนหน้า ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดที่เคยมีรถโดยสารมาก หรือจังหวัดที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วก็ตาม
  • ในบรรดา 17 จังหวัดภาคเหนือ ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี
  • อีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

“ปล่อยให้แข่งขันกันเอง และล้มหายตายจากไป”

ประโยคนี้ไม่ได้สะท้อนเพียงแค่ความเป็นจริงของ ‘ระบบขนส่งสาธารณะ’ และ ‘กึ่งสาธารณะ’ ในเชียงใหม่ แต่ยังสะท้อนถึงภาพรวมของทุกจังหวัดในภาคเหนือที่กำลังเผชิญสถานการณ์เดียวกัน.. ผู้ประกอบการขนส่งที่ค่อยๆ ลดจำนวนลง ส่งผลให้ระบบขนส่งสาธารณะในภูมิภาคนี้ค่อยๆ เลือนหายไปจากชีวิตผู้คน การพึ่งพา ‘รถส่วนตัว’ จึงกลายเป็นทางเลือกที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับประชาชนในหลายพื้นที่

ต่อเนื่องจากรายงาน เชียงใหม่เมืองยานยนต์ ถนนน้อย ไร้ขนส่งมวลชน คำถามที่น่าสนใจถัดมาคือ “แล้วสถานการณ์จริงของจังหวัดอื่นๆ ในภาคเหนือเป็นยังไง? จะเหมือนเชียงใหม่หรือเปล่า?” เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนมากขึ้น ในรายงานนี้จึงจะขอชวนทุกคนมาสำรวจข้อมูลสั้นๆ เกี่ยวกับ ‘จำนวนรถโดยสาร’ ของอีก 17 จังหวัดภาคเหนือ ว่าในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางของจังหวัดเหล่านี้ลดลงมากน้อยแค่ไหน?

จำนวนรถโดยสารในภาคเหนือ 2562 – 2566
ประเภทรถ25622563256425652566
รถโดยสารประจำทาง8,1237,0787,7187,8596,921
รถโดยสาไม่ประจำทาง9,1857,5005,8505,4414,931
รวม (คัน)17,30814,57813,56813,30011,852
ที่มา: กรมการขนส่งทางบก

หากพิจารณาข้อมูลจำนวนรถโดยสารในภาคเหนือตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ตามตารางข้างต้น เราจะพบกับความจริงที่น่าตกใจว่า ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา (2562 – 2566) จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในภาคเหนือมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี โดยลดลงจาก 17,308 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 11,852 คัน ในปี 2566 ซึ่งคิดเป็นการลดลงถึง 5,456 คัน (31.5%) ภายใน 5 ปี หรือลดลงเฉลี่ยปีละกว่า 6.3%

เมื่อเจาะลึกลงมาดูรายจังหวัด ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนรถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางใน 17 จังหวัดภาคเหนือ มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน โดยจังหวัดที่ประสบกับการลดลงมากที่สุด คือ ‘น่าน’ ซึ่งตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 414 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 219 คัน ในปี 2566 คิดเป็นการลดลงถึง 195 คัน (47.1%) หรือเฉลี่ยปีละ 9.4%

แม่ฮ่องสอน ครองอันดับสอง แม้จะเริ่มต้นด้วยจำนวนรถที่ค่อนข้างน้อยเพียง 179 คันในปี 2562 แต่ในปี 2566 จำนวนรถลดลงเหลือ 104 คัน ลดลงถึง 75 คัน (41.9%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.4% เช่นเดียวกับ พะเยา ที่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 423 คัน เหลือเพียง 247 คัน คิดเป็นการลดลง 176 คัน (41.6%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.3%

เพชรบูรณ์ อยู่ในอันดับสี่ ด้วยจำนวนรถที่ลดลงจาก 670 คัน ในปี 2562 เหลือเพียง 399 คันในปี 2566 ลดลง 271 คัน (40.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 8.1% ขณะที่ เชียงราย ซึ่งเป็นหนึ่งในจังหวัดเมืองหลักของภาคเหนือ ก็ไม่สามารถหลีกหนีปัญหานี้ได้ แม้จะมีระบบขนส่งหลากหลาย แต่จำนวนรถโดยสารลดลงจาก 1,773 คัน เหลือเพียง 1,129 คัน คิดเป็นการลดลง 644 คัน (36.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.3%

ในจังหวัดอื่นๆ เช่น แพร่ จำนวนรถลดลงจาก 377 คัน เหลือ 244 คัน คิดเป็นการลดลง 133 คัน (35.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 7.1% ส่วน พิจิตร ลดลงจาก 268 คัน เหลือ 175 คัน หรือลดลง 93 คัน (34.7%) เฉลี่ยปีละ 6.9% เช่นเดียวกับ เชียงใหม่ ที่ลดลงจาก 7,301 คัน เหลือเพียง 4,770 คัน คิดเป็นการลดลงถึงกว่า 2,531 คัน (34.7%) หรือลดลงเฉลี่ยปีละ 6.9% และ สุโขทัย ลดลงจาก 444 คัน เหลือ 295 คัน คิดเป็นการลดลง 149 คัน (33.5%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.7%

นครสวรรค์ ซึ่งเป็นประตูสู่ภาคเหนือ ก็ประสบปัญหาเช่นกัน โดยจำนวนรถลดลงจาก 1,183 คัน เหลือเพียง 801 คัน ลดลง 382 คัน (32.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 6.5% ส่วน กำแพงเพชร ลดลงจาก 509 คัน เหลือ 345 คัน หรือลดลง 164 คัน (32.2%) เฉลี่ยปีละ 6.4%

แม้กระทั่ง พิษณุโลก ซึ่งถือเป็นเมืองหลักที่สำคัญในภูมิภาค ก็เผชิญกับการลดลงถึง 27.8% (จาก 713 คัน เหลือ 515 คัน ลดลง 198 คัน) หรือเฉลี่ยปีละ 5.6% เช่นเดียวกับ อุทัยธานี ที่ลดลงจาก 418 คัน เหลือ 302 คัน ลดลง 116 คัน (27.8%) หรือเฉลี่ย 5.6% ต่อปี และ อุตรดิตถ์ ที่ลดลงในสัดส่วนใกล้เคียงกันคือ จาก 357 คันเหลือ 258 คัน ลดลง 99 คัน (27.7%) หรือเฉลี่ย 5.5% ต่อปี

สำหรับ ลำพูน จังหวัดอุตสาหกรรมอันดับหนึ่งในภาคเหนือ ตัวเลขรถโดยสารลดลงจาก 439 คัน เหลือ 319 คัน คิดเป็นการลดลงจำนวน 120 คัน (27.3%) หรือเฉลี่ยปีละ 5.4% ขณะที่ ลำปาง ลดลงจาก 1,022 คัน เหลือเพียง 753 คัน หรือลดลง 269 คัน (26.3%) เฉลี่ยปีละ 5.3%

สุดท้ายคือ ตาก ซึ่งเป็นศูนย์กลางการค้าชายแดนไทย-เมียนมา แม้จะได้รับผลกระทบน้อยที่สุด แต่จำนวนรถโดยสารยังคงลดลงจาก 818 คัน เหลือ 634 คัน หรือลดลง 184 คัน (22.5%) เฉลี่ยปีละ 4.5%

จากภาพรวมจะเห็นได้ว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2562 – 2566 ไม่ว่าจะเป็นจังหวัดเมืองหลักอย่างเชียงรายและพิษณุโลก หรือจังหวัดที่มีจำนวนรถโดยสารน้อยอย่างแม่ฮ่องสอน ทุกพื้นที่ต่างประสบกับการลดลงอย่างต่อเนื่องชัดเจน

โดยในบรรดา 17 จังหวัด ‘จังหวัดน่าน’ ครองอันดับหนึ่งด้วยตัวเลขของจำนวนรถโดยสารที่ ‘ลดลงเกินครึ่งหนึ่ง’ ของจำนวนเดิมเดิมที่เคยมีในปี 2562 ขณะที่แม่ฮ่องสอน พะเยา และเพชรบูรณ์ เป็นอีกกลุ่มที่ประสบปัญหาในระดับใกล้เคียงกัน โดยลดลงเกือบ 50% ของจำนวนรถที่เคยให้บริการ สำหรับจังหวัดอื่นๆ ส่วนใหญ่ ตัวเลขแสดงให้เห็นว่า จำนวนรถโดยสารลดลงราว 1 ใน 4 ของจำนวนที่เคยมี

ในอีกด้านหนึ่ง ‘จังหวัดตาก’ ครองอันดับสุดท้ายในสถานการณ์นี้ แม้จะลดลงในสัดส่วนที่น้อยที่สุดเพียง 22.5% แต่ตัวเลขก็ยังชี้ให้เห็นถึงปัญหาของระบบขนส่งสาธารณะของจังหวัด เช่นเดียวกันกับเชียงรายและพิษณุโลก ซึ่งเป็นกลุ่มเมืองหลักภายในภูมิภาค ก็ยังไม่รอดพ้นจากสถานการณ์นี้ โดยรถโดยสารในสองจังหวัดนี้ลดลงไปกว่า 30% ภายใน 5 ปีที่ผ่านมา ส่วน ‘แม่ฮ่องสอน’ ซึ่งมีจำนวนรถโดยสารน้อยที่สุดในภาคเหนือมาตั้งแต่ต้น ก็ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง จนตัวเลขที่น้อยอยู่แล้วลดน้อยลงไปอีก

ทำไมขนส่งสาธารณะในหลายที่ติดหล่ม-ถดถอย? 

ศุภกร ศิริสุนทร ได้อธิบายไว้อย่างน่าสนใจในบทความ ‘กับดักทางความคิด ที่ทำให้ขนส่งสาธารณะไทยติดหล่ม’ ว่า หนึ่งในปัญหาสำคัญมาจากการที่รัฐมองขนส่งสาธารณะเป็นเพียงแค่ ‘ธุรกิจบริการ’ การจัดการระบบขนส่งสาธารณะจึงมักถูกดำเนินการผ่านระบบสัมปทาน ซึ่งเน้นให้เอกชนเข้ามาประมูลแข่งขันกัน โดยรัฐไม่ได้เข้ามาจัดการหรือกำกับดูแลอย่างมีประสิทธิภาพ

ผลที่ตามมาคือ ระบบขนส่งสาธารณะในไทยติดอยู่ในวังวนของคุณภาพที่ไม่สมดุลกับราคา ระบบที่พอมีคุณภาพดีมักมีค่าโดยสารที่แพงจนคนทั่วไปเอื้อมไม่ถึง ขณะที่ระบบที่ค่าโดยสารถูก คุณภาพการให้บริการกลับต่ำจนน่าผิดหวัง เพื่อให้เอกชนยังคงทำกำไรได้ สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวของระบบสัมปทานที่ไม่สามารถควบคุมราคาและคุณภาพได้อย่างเหมาะสม

ยิ่งไปกว่านั้น การควบคุมคุณภาพในด้านอื่นๆ เช่น ความถี่ของการให้บริการ หรือแม้แต่การปรับปรุงเส้นทางให้สอดคล้องกับการขยายตัวของชุมชน ก็ทำได้ยากเช่นกัน

เมื่อผู้ประกอบการขนส่งทั้งสาธารณะและกึ่งสาธารณะทยอยล้มหายตายจากไป สิ่งที่หายตามไปด้วยคือ จำนวนรถโดยสารที่ลดลงอย่างน่าใจหาย ข้อมูลข้างต้นสะท้อนภาพที่ชัดเจนว่า รถโดยสารทั้งประจำทางและไม่ประจำทางในหลายพื้นที่เหล่านี้ลดลงอย่างต่อเนื่องทุกปี ทั้งที่บางจังหวัดมีจำนวนประชากรไม่น้อย และบางจังหวัดเป็นพื้นที่เศรษฐกิจสำคัญ การมีรถโดยสารสาธารณะเพิ่มขึ้นควรเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชน

เป็นเรื่องน่าเศร้าที่บริการเหล่านี้กำลังค่อยๆ ทยอยหายไปอย่างเงียบๆ หากปล่อยให้สถานการณ์ดำเนินเช่นนี้ต่อไป ในอนาคตเมื่อไม่มีขนส่งสาธารณะที่เพียงพอรองรับในการเดินทางในตัวเมือง สิ่งที่เราต้องเผชิญอาจหนีไม่พ้นปัญหารถติดเต็มถนนและมลพิษทางอากาศที่จะกลายเป็นวิถีชีวิตที่ทุกคนเลี่ยงไม่ได้..


อ้างอิง

อดีตนักศึกษารัฐศาสตร์ฯ การระหว่างประเทศ จากแดนใต้ ที่หลงเสน่ห์เชียงใหม่จนกลายเป็นบ้านหลังที่สอง ผู้มีกองดองที่ยังไม่ได้อ่าน และแอบวาดฝันว่าสักวันหนึ่งจะผูกมิตรกับเจ้าเหมียวทุกตัวที่ได้พบเจอ 🙂

ข่าวที่เกี่ยวข้อง