ศาลปกครองสูงสุดสั่ง ‘คดีฟ้องฝุ่นเหนือ’ ให้นายกฯ-คกก.สิ่งแวดล้อม เร่งแก้ปัญหา PM2.5 ภาคเหนือทันที โดยไม่ต้องรอคดีถึงที่สุด

วันนี้ (20 กันยายน 2567) ทนายความคดี ‘ฟ้องฝุ่นเหนือ’ ได้รับคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ซึ่งลงวันที่ 12 กันยายน 2567 โดยศาลมีคำสั่งให้ “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น โดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด

สืบเนื่องจาก ‘คดีฟ้องฝุ่นพิษ PM2.5 ภาคเหนือ’ ซึ่งศาลปกครองเชียงใหม่ได้มีคำพิพากษาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2567 ให้นายกรัฐมนตรี (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) ต้อง “ใช้อำนาจหรือร่วมกันใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 กำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินที่มีประสิทธิภาพอย่างบูรณาการและยั่งยืน เพื่อป้องกันควบคุม แก้ไข บรรเทา หรือระงับภยันตรายอันเกิดจากฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 (PM2.5) ซึ่งเกินกว่าค่ามาตรฐานและอยู่ในระดับที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนในพื้นที่ภาคเหนือให้ทันท่วงที ทั้งนี้ให้ ดำเนินการกำหนดมาตรการ หรือจัดทำแผนฉุกเฉินดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 90 วัน นับแต่วันที่คำพิพากษาถึงที่สุด”

แต่เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2567 คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองเชียงใหม่ ต่อมาในวันที่ 18 เมษายน 2567 ผู้ฟ้องคดีทั้ง 10 ได้ยื่นคำขอให้มีการปฏิบัติตามคำพิพากษาศาลปกครองชั้นต้น โดยไม่ต้องรอให้คดีถึงที่สุดต่อศาลปกครองสูงสุด

ประกอบกับเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2567 ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ได้ยื่นชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาลปกครองสูงสุดว่า  “คณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืนได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2567 เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2567 มีมติเห็นชอบมาตรการฉุกเฉินยกระดับการปฏิบัติการในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 ในช่วงสถานการณ์วิกฤต ประจำปี 2567 ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำมาตรการฉุกเฉินดังกล่าวเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และนำเสนอต่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป แสดงให้เห็นว่า ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 อยู่ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ในเรื่องที่เกี่ยวกับการบังคับตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น”

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีความเห็นว่า “การปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด จึงมิได้เป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายอย่างร้ายแรงที่ยากแก่การเยียวยาแก้ไขในภายหลัง หรือจะเป็นปัญหาอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นแก่การบริหารงานรัฐหรือแก่บริการสาธารณะ กรณีนี้จึงมีเหตุผลสมควรที่จะมีคำสั่งให้ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุดตามคำขอของผู้ฟ้องคดีทั้งสิบได้”

ศาลปกครองสูงสุดจึงมีคำสั่งให้ “ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ปฏิบัติตามคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นโดยไม่ต้องรอจนกว่าคดีจะถึงที่สุด”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง