เปิดอัพเดทค่าแรงขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด (2568) ‘อำเภอเมืองเชียงใหม่’ สูงสุด 380 บาท น่าน-พะเยา-แพร่ รั้งท้าย 345 บาท ไม่มีจังหวัดไหนในภาคเหนือแตะ 400 บาท

คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 ได้มีมติเป็นเอกฉันท์ในการประชุมเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2567 ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปี 2568 โดยอัตราสูงสุดของประเทศอยู่ที่ 400 บาท และต่ำสุด 337 บาท เริ่มบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ภาคเหนือยังไม่มีจังหวัดใดที่ได้ค่าแรงถึงระดับนี้

วานนี้ (23 ธันวาคม 2567) คณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 22 มีมติการประชุมครั้งที่ 11/2567 เมื่อ 23 ธันวาคม 2567 กำหนดให้ปรับค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละพื้นที่เพิ่มขึ้นระหว่าง 7-55 บาท (เฉลี่ย 2.9%) แบ่งเป็น 17 อัตรา ซึ่งเป็นการพิจารณาจากโครงสร้างเศรษฐกิจและค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละจังหวัด

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ และประธานคณะกรรมการค่าจ้าง กล่าวว่า การปรับค่าแรงครั้งนี้มุ่งให้แรงงานทั่วไปแรกเข้าทำงานสามารถดำรงชีพได้อย่างเหมาะสมตามมาตรฐานค่าครองชีพ สภาพเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเหมาะสมตามความสามารถของธุรกิจในท้องถิ่นนั้น ซึ่งการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในครั้งนี้จะส่งผลส่งผลกระทบเชิงบวกกับแรงงานกว่า 3,760,679 คนทั่วประเทศ

สำหรับปี 2568 คณะกรรมการค่าจ้างได้ปรับแนวทางการพิจารณาอัตราค่าแรงขั้นต่ำ โดยกระจายอำนาจให้คณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในระดับจังหวัด ทั้งหมด 77 คณะ เพื่อนำข้อเสนอจากแต่ละพื้นที่มาประกอบการตัดสินใจอย่างเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2560 มาตรา 87 แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 ด้านความจำเป็นในการครองชีพของลูกจ้าง
  • กลุ่มที่ 2 ด้านความสามารถในการจ่ายของนายจ้าง
  • กลุ่มที่ 3 ด้านเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม

โดยพิจารณาจากค่าครองชีพที่เพิ่มขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ เพื่อให้ลูกจ้างมีค่าจ้างเพียงพอต่อการดำรงชีวิต และพิจารณาอยู่บนพื้นฐานของความเสมอภาค รวมทั้งรับฟังความเห็นของทุกฝ่าย เพื่อให้นายจ้าง/ลูกจ้าง สามารถประกอบธุรกิจและดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งกระทรวงแรงงานจะนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี แม้รัฐบาลจะตั้งเป้าปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ แต่ในพื้นที่ภาคเหนือ 17 จังหวัด ยังไม่มีจังหวัดใดได้รับอัตราค่าแรงดังกล่าว ทั้งนี้ ค่าแรงขั้นต่ำในภาคเหนือถูกกำหนดให้แบ่งออกเป็น 7 ระดับ โดยพิจารณาจากค่าครองชีพ และโครงสร้างทางเศรษฐกิจของแต่ละพื้นที่ ดังนี้

อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ 17 จังหวัดภาคเหนือจังหวัด ปี 2568
จังหวัดค่าจ้างขั้นต่ำปี (บาทต่อวัน)
เชียงใหม่ (เฉพาะอำเภอเมือง)380
เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมือง)357
เชียงราย352
ตาก352
พิษณุโลก352
นครสวรรค์350
ลำพูน350
เพชรบูรณ์349
กำแพงเพชร347
พิจิตร347
แม่ฮ่องสอน347
ลำปาง347
สุโขทัย347
อุตรดิตถ์347
อุทัยธานี347
น่าน345
พะเยา345
แพร่345

ค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาท โจทย์ใหญ่ที่ต้องมองไกลกว่าแค่ตัวเลข

วรวิทย์ เจริญเลิศ คณาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดมุมมองถึงประเด็นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท กับ Lanner ไว้ว่า การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท เป็นก้าวที่ควรผลักดัน แต่ต้องไม่ลืมมองลึกไปถึงปัญหาโครงสร้างทางการเมืองและเศรษฐกิจ วรวิทย์ เผยว่าไทยนั้นเติบโตจากการใช้แรงงานราคาถูก แต่กลับเผชิญหน้ากับการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งหากจะแก้ปัญทั้งหมด ต้องมองไปที่โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยที่ไม่สามารถยกระดับขึ้นได้ ซึ่งในปัจจุบันไทยไม่สามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมการส่งออกที่เป็นหัวใจหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้เลย เนื่องจากการส่งออกในตลาดโลกนั้นซบเซาผลจากภาวะสงครามที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วโลก ซึ่งเป็นข้อจำกัด

ส่งผลต่อผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับตัวได้จากภาวะดังกล่าว วรวิทย์ เผยว่าผู้ประกอบการยังใช้วิธีเก่าคือต้องการกำหนดให้ค่าแรงถูก และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดเล็กที่เป็นฐานอุตสาหกรรมไม่ใช้เทคโนโลยีในการผลิต ซึ่งหากไทยจะเดินหน้าในการพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจต้องมีการฝึกทักษะใหม่ หากมาดูที่ค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท วรวิทย์ เผยว่าไม่ถึงกับสูงมากหากเทียบกับภาวะเงินเฟ้อที่เป็นอยู่ รวมไปถึงหนี้ครัวเรือนที่มากในปัจจุบัน 

วรวิทย์ ยังมองไปเรื่องของการศึกษาที่เป็นการเพิ่มทักษะให้กับแรงงานให้สัมพันธ์กับค่าแรงที่สูงตาม ซึ่งต้องใช้การ Training และ Re-Training ที่การอบรมต้องมีความรู้และประสบการณ์ในการถ่ายทอดความรู้ ในหลายประเทศใช้วิธีการให้นายจ้างและตัวแทนของลูกจ้างเป็นคณะกรรมการในการปรับทักษะภายในโรงงาน แต่หากมาย้อนมองดูในไทย การอบรมดังกล่าวอยู่ภายใต้การดำเนินงานของราชการทำให้ไม่ตอบโจทย์

วรวิทย์ ยังเสริมไปที่ระบบการศึกษาที่อาศัยแต่ความจำในเนื้อหาการเรียนการสอน แต่กลับขาดการวิเคราะห์และสังเคราะห์ ซึ่งเป็นการผลิตบัณฑิตที่เน้นแต่ปริมาตรและเป็นธุรกิจมากกว่าส่งเสริมการเรียนรู้ และขาดการมีส่วนร่วมจากประชาชน อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของไทยไม่เติบโตนั้นเป็นผลมาจากระบอบอำนาจนิยม เป็นการเมืองของชนชั้นนำ ที่เป็นประชาธิปไตยแบบครึ่งใบ อำนาจที่ทับซ้อนกันที่ยังเป็นปัญหาอยู่

วรวิทย์ เผยว่าการที่ไทยต้องการแรงงานราคาถูกแต่กลับขาดแคลนแรงงานจึงมีการเปิดพรมแดนให้แรงงานข้ามชาติเข้ามา ซึ่งประเด็นการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 400 บาท ถึงแม้แรงงานข้ามชาติอาจจะได้รับประโยชน์จากนโยบายดังกล่าว แต่ก็เป็นส่วนน้อย เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายที่ไม่ครอบคลุม รวมไปถึงกลุ่มแรงงานข้ามชาตินั้นไม่มีอำนาจต่อรอง รวมไปถึงไม่สามารถจัดตั้งสหภาพแรงงานได้

การจะแก้ปัญหาได้ในปัจจุบันต้องมองการบริโภคและผลิตภายในให้มากขึ้น ซึ่งต้องแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน รวมไปถึงการกระจายรายได้ และอำนาจในการใช้จ่าย ซึ่งจะได้ประโยชน์ทั้งนายจ้างและลูกจ้าง หากมามองที่รัฐบาลในปัจจุบันก็คล้ายกับว่าจะมีแนวความคิดดังกล่าว อย่างนโยบายเงินดิจิตอล แต่ก็ทำได้แค่แจกแต่ยังไม่เห็นในมุมของการกระตุ้นให้เกิดการฟื้นตัวจากเศรษฐกิจที่ซบเซา ซึ่งการแก้ไขปัญหาในปัจจุบันของรัฐบาล วรวิทย์ มองว่าเป็นการมองแค่เป้าหมายแต่ไม่มองกระบวนการที่จะนำไปสู่การสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจที่แข็งแรง ซึ่งต้องมีการปฏิรูปทางการเมือง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง