เรื่องและภาพ: สุทธิกานต์ วงศ์ไชย
จังหวัดแพร่ เป็นจังหวัดเล็กๆ เมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภาคเหนือ แต่ในจังหวัดเล็กๆ นี้ กลับมีร้านกาแฟแทรกซึมอยู่ทุกๆ 100 เมตร บนถนนในเขตเมือง ทั้งสายหลักและสายรอง ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กล่าวมานี้ ทำให้เห็นว่าธุรกิจกาแฟในจังหวัดแพร่ ไม่ว่าจะในแง่ของ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำเกิดการเติบโตอย่างต่อเนื่อง
แล้วอะไรคือสาเหตุที่ทำให้กาแฟในจังหวัดแพร่ เติบโตได้ขนาดนี้?
กาแฟเป็นสินค้าที่มีความต้องการบริโภคสูงขึ้นทุกปี มีมูลค่าตลาดที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผลสำรวจโดย Euromonitor International พบว่า ในช่วงปี 2564 – 2566 มูลค่าตลาดกาแฟไทยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 8.55 ต่อปี ซึ่งมีมูลค่าตลาดในปี 2566 สูงถึง 34,470.3 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 7.34 ด้วยเหตุผลนี้ทำให้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างผลักดันการปลูกกาแฟในไทย
จังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟสายพันธุ์โรบัสต้า 1,720 ไร่ คิดเป็น 61% และสายพันธุ์อาราบิก้า 1,105 ไร่ คิดเป็น 39% ความน่าสนใจคือ จังหวัดแพร่เป็นแหล่งปลูกกาแฟ ‘อาราบะซอลต์’ หรือ ‘กาแฟภูเขาไฟ’ ซึ่งเป็นกาแฟที่สร้างชื่อเสียงให้กับจังหวัดแพร่ได้อย่างมาก โดยส่วนใหญ่จะรู้จักในชื่อ ‘กาแฟเด่นชัย’ แต่นอกจากกาแฟเด่นชัยแล้วก็ยังมีกาแฟแพร่ที่โดดเด่นอีกมากมาย เช่น กาแฟแม่ลัว กาแฟบ้านนาตอง
ร้านกาแฟถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดฮิต ที่มีส่วนสำคัญในการกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดแพร่ เนื่องจากร้านกาแฟเป็นพื้นที่ที่เหมาะกับการพักผ่อนหรือนัดพบปะพูดคุยกัน คนรุ่นใหม่เลยมักจะเที่ยวคาเฟ่กันเยอะขึ้น ร้านกาแฟหลายแห่งในจังหวัดแพร่ก็มีจุดขายที่แตกต่างกันออกไป และส่วนใหญ่ก็มักนำเข้ากาแฟจากดอยต่างๆ ที่มีชื่อเสียงในเมืองไทย และจากต่างประเทศในปริมาณที่มาก
คุณภาพของกาแฟ คุณภาพของคน(แพร่)รุ่นใหม่
วิทยา ไพศาลศักดิ์ หรือ ‘ลุงโม่ง’ ผู้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทย และเจ้าของร้านกาแฟ Balance cup Espresso & Slow bar ในจังหวัดแพร่ เรื่องการบริโภคกาแฟของคนแพร่ คำบอกเล่าของลุงโม่งทำให้เรารู้ว่าจังหวัดแพร่มีการเติบโตของอุตสาหกรรมกาแฟมากขึ้น เห็นได้จากจำนวนร้านกาแฟที่เพิ่มขึ้น และคนดื่มกาแฟส่วนใหญ่มักจะเลือกกาแฟที่คุณภาพ และรสชาติที่ดี แตกต่างจากเมื่อก่อนที่มีแบบไหนก็ดื่มแค่แบบนั้น
“เดี๋ยวนี้คนดื่มกาแฟเขารู้หมดว่ารสชาติกาแฟแบบไหนเป็นยังไง เขาก็จะเลือกกินร้านดีๆ เมล็ดดีๆ คนทำกาแฟก็ต้องเรียนรู้เรื่องกาแฟให้เยอะขึ้น เพื่อให้ทำกาแฟออกมาได้ตรงตามความต้องการของลูกค้าเพราะคนดื่มเขาพัฒนาความรู้เรื่องการดื่มเรื่อยๆ”
คุณภาพของกาแฟ เป็นปัจจัยที่สำคัญอันดับต้นๆ ในการเลือกดื่มกาแฟของคนรุ่นใหม่ และกาแฟไทยในหลายที่โดยเฉพาะจังหวัดน่าน ก็เป็นกาแฟที่ได้รับการันตีว่ามีคุณภาพดี จากการได้รับรางวัลในการประกวดของหลายๆ รายการ อย่างล่าสุดในการประกวดสุดยอดกาแฟไทย ‘Thai Specialty Coffee Awards 2024’ โดย SCATH (Specialty Coffee Association of Thailand) ก็จะเห็นได้เลยว่ามีกาแฟที่ปลูกในจังหวัดน่านที่ได้รับรางวัลในอันดับ Top 3 แทบทุกประเภทของการประกวด
แล้วกาแฟของจังหวัดแพร่ ถือว่าตอบโจทย์สำหรับผู้บริโภคยุคใหม่แล้วหรือยัง?
“กาแฟแพร่ถือว่าอยู่ในมาตรฐานที่ดีมากเลยนะ เราเคยส่งเมล็ดกาแฟที่ปลูกในแพร่ไปประเมินโดย CQI (Coffee Quality Institute) และพบว่าได้คะแนนจากการประเมินสูงถึง 80 คะแนน แต่เพราะยังไม่มีเกษตรกรที่เขาอยากพัฒนาคุณภาพกาแฟแพร่อย่างจริงจังเลยทำให้กาแฟที่มีคุณภาพพวกนี้มันมีน้อย เราเลยต้องนำเข้ากาแฟจากที่อื่นมาเสริม”
ลุงโม่งเล่าต่ออีกว่า การปลูกกาแฟให้ได้ผลผลิตที่คุณภาพดีมีเงื่อนไขค่อนข้างเยอะ เพราะเกษตรกรต้องควบคุมปัจจัยในพื้นที่ปลูก ทั้งอุณหภูมิ ความชื้น และความสูงจากระดับน้ำทะเลที่ต้องเหมาะสมพอดี
ลุงโม่งเล่าว่าความท้าทายของการปลูกกาแฟในจังหวัดแพร่ อย่างแรกคือเรื่องของพื้นที่ปลูก โดยจังหวัดแพร่มีพื้นที่ปลูกกาแฟเพียง 2,600 กว่าไร่เท่านั้น (ข้อมูลจาก สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ วันที่ 19 กันยายน 2566) ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยถ้าเทียบกับพื้นที่เกษตรทั้งหมดในจังหวัด เมื่อพื้นที่ปลูกมีน้อยก็ทำให้ผลผลิตที่ได้ในแต่ละปีมีน้อยตามไปด้วย นอกจากนั้นปัญหาของการที่เกษตรกรขาดความรู้ในเรื่องการดูแลต้นกาแฟแต่ละสายพันธุ์และการเก็บเกี่ยวเมล็ดกาแฟที่ถูกต้อง ทำให้จังหวัดแพร่ผลิตกาแฟที่มีคุณภาพได้น้อยมาก ร้านกาแฟในแพร่ส่วนใหญ่เลยเลือกใช้เมล็ดคุณภาพดีจากที่อื่นแทน
Specialty แบบแพร่ๆ
เมล็ดกาแฟพิเศษ (Specialty Coffee) เป็นเมล็ดกาแฟที่ผ่านกระบวนการคัด คั่ว บด กลั่น ชง จนได้กาแฟที่มีรสชาติดี มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และผ่านรับการรับรองคุณภาพจากนักชิมที่มีความเชี่ยวชาญ ด้วยคุณภาพที่ถูกคัดมาเป็นพิเศษนี้ ทำให้กาแฟ Specialty กลายเป็นจุดขายของร้านกาแฟหลายๆ ร้าน
“กาแฟแต่ละตัวเขาก็จะมีรสชาติต่างกัน พอดื่มจากแก้วที่มีรูปทรงต่างกันรสชาติก็จะต่างกันไปด้วย สิ่งนี้มันคือความสนุกของการกินกาแฟ Specialty ”
รามอส-ชยากร วันทนียวงค์ เจ้าของร้าน AM23 ร้านกาแฟ Specialty ในจังหวัดแพร่ เล่าว่า เขาได้นำเข้าเมล็ดกาแฟ Specialty จากทั้งในและต่างประเทศ มาวางขายหลากหลายชนิด เพราะอยากให้ลูกค้าได้ลองชิมกาแฟหลายๆ แบบ โดยเขามองว่า เอกลักษณ์ที่แตกต่างกันของเมล็ดกาแฟพิเศษเหล่านี้ เป็นเหมือนสีสันที่ช่วยทำให้การดื่มกาแฟนั้นมีมิติมากขึ้น
“คนที่มาเพื่อดื่มกาแฟดำของร้านเราโดยเฉพาะเลยก็เยอะ ยิ่งช่วงหน้าหนาวกาแฟร้านเราจะขายดีมาก เพราะเวลาคนไปเที่ยวน่านหรือที่อื่น เขาก็จะแวะดื่มกาแฟกัน ด้วยคาแรคเตอร์ร้านเราคือ Specialty Coffee คนที่อยากกินกาแฟนอก หรือกาแฟ Specialty เขาก็จะมาลองกัน”
รามอสเล่าว่า ในช่วงหน้าหนาวที่ร้านของเขาจะคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะเป็นฤดูการท่องเที่ยว นักท่องเที่ยวบางส่วนที่ตั้งใจไปเที่ยวจังหวัดน่านหรือจังหวัดใกล้เคียง ก็เลือกที่จะแวะดื่มกาแฟที่ร้าน เพราะมีกาแฟ Specialty ที่หลากหลายให้ได้มาเลือกลอง ถือเป็นทางเลือกใหม่ๆ ให้คอกาแฟในจังหวัดแพร่ที่ต้องการดื่มกาแฟคุณภาพ
ให้กาแฟเดินไปหาเมือง
เมื่อเป็นเมืองมีคนรักกาแฟกระจายอยู่เยอะมาก สิ่งที่ตามมาคือการเกิดคอมมูนิตี้คนรักกาแฟ ที่รวบรวมคอกาแฟมาทำกิจกรรมด้วยกัน
“เราเคยทำ Coffee & Co คือการรวมกลุ่มร้านกาแฟที่เป็นเพื่อนกันมาเปิดร้านเล็กๆ ด้วยกันแล้วย้ายพื้นที่ขายไปเรื่อยๆ มันเริ่มมาจากการที่เรามีเครื่องมือ มีเมล็ดกาแฟ แล้วเราก็อยากเที่ยวด้วย แล้วคนเข้าร่วมเขาก็มากันเยอะมาก ผลตอบรับก็ดีมากเลย”
อาร์ต-ศักดิ์นรินทร์ ภู่จันทร์ เจ้าของร้าน Inwardly Cafe & Coffee Roaster จังหวัดแพร่ เล่าว่า เมื่อปีที่ผ่านมาเขาและเพื่อนๆ คนทำกาแฟได้รวมกลุ่มคนรักกาแฟมาทำกิจกรรม Coffee & Co ที่เป็นการเปิดร้านกาแฟเล็กๆ และย้ายพื้นที่ไปรอบตัวเมืองแพร่ เพื่อให้คนรักกาแฟได้มามีส่วนร่วมในการพูดคุย แลกเปลี่ยนประสบการณ์เรื่องกาแฟ และมาลองชิมกาแฟไปด้วยกัน โดยผลตอบรับของกิจกรรมนี้สำหรับอาร์ตแล้วเขามองว่ามีผลตอบรับค่อนข้างดี เพราะมีผู้ร่วมกิจกรรมเยอะขึ้นในทุกครั้งที่เขาจัด เขาเล่าอีกว่าหากมีโอกาสก็อยากให้มีกิจกรรมแบบนี้อีกเยอะๆ
“ร้านกาแฟที่แพร่มันก็ไปได้เรื่อยๆ เพราะว่าแพร่ไม่ค่อยมีที่เที่ยว คนก็จะเที่ยวคาเฟ่กัน ผมมองว่าธุรกิจนี้มันโตขึ้นได้อีก เพราะจำนวนผู้บริโภคตอนนี้มันเยอะกว่าจำนวนร้าน”
อาร์ตเล่ามุมมองเกี่ยวกับธุรกิจกาแฟในจังหวัดแพร่ว่ายังมีโอกาสเติบโตไปได้อีกเพราะว่าจำนวนผู้บริโภคกาแฟในแพร่ยังมีอยู่เยอะ และคาเฟ่ก็ยังเป็นอีกธุรกิจที่สร้างเม็ดเงินให้กับจังหวัดแพร่อยู่พอสมควร
ทั้งที่มีศักยภาพขนาดนี้แล้วทำไมคนทำกาแฟถึงไม่รวมตัวกัน?
จากที่คุยกับผู้ประกอบการร้านกาแฟในจังหวัดแพร่ทั้งสามคน ทำให้เราเห็นว่าจริงๆ แล้วจังหวัดแพร่เป็นเมืองที่มีศักยภาพเรื่องกาแฟค่อนข้างสูง มีทั้งผู้พัฒนาสายพันธุ์กาแฟไทยที่ปลุกปั้นกาแฟน่านสู่เวทีระดับโลกหลายรายการ มีร้านกาแฟที่นำเข้ากาแฟพิเศษจากหลายพื้นที่ และยังมีคอมมูนิตี้นักดื่มที่หลากหลาย แล้วทำไมเราถึงยังไม่ค่อยเห็นการรวมตัวกันของกลุ่มคนทำกาแฟในจังหวัดแพร่เลย ทั้งที่ในจังหวัดอื่นในพื้นที่ใกล้เคียงกันนี้ ก็มีงานกาแฟให้เราได้เห็นกันเยอะพอสมควร อย่างจังหวัดลำปาง ก็มีงาน Lampang Coffee Fest ที่จัดโดย องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หรือที่อุตรดิตถ์ ก็ยังมีงาน Uttaradit Coffee Craft แล้วทำไมแพร่ถึงยังไม่มีงานกาแฟเป็นของตัวเองบ้าง
“คนแพร่ค่อนข้างมีความเป็นปัจเจกสูง เราเคยชวนคนที่ปลูกกาแฟมาพัฒนาคุณภาพกาแฟด้วยกันแต่ก็ยังไม่ค่อยมีคนมาร่วมเท่าไหร่ แต่เราเชื่อว่าแพร่มีศักยภาพมากพอที่จะทำให้กาแฟมันไปต่อได้นะ อยู่ที่ว่าจะมีคนมาทำอย่างจริงจังไหม”
ลุงโม่งมองว่ากาแฟแพร่มีศักยภาพมากพอที่จะพัฒนาต่อไปได้ ถ้าคนปลูกกาแฟตั้งใจร่วมมือกันพัฒนาการปลูกกาแฟในแพร่อย่างจริงจัง
“มันเคยมีคนทำนะ ทำด้วยกันอยู่สองสามร้าน งานมันก็จะเล็กๆ จนดูเป็นงานเฉพาะกลุ่ม แต่ถ้าหลายๆ ร้านร่วมจัดด้วยกัน ไปดึงเอาคอนเนคชันหลายๆ กลุ่ม มาทำด้วยกันมันก็อาจจะดี เพราะว่าแพร่งานกาแฟมันยังไม่ได้มีจริงจังมากขนาดนั้น”
รามอสเล่าว่าเคยมีการรวมตัวกันบ้างแล้วแต่ยังเป็นการรวมตัวกันแค่ในกลุ่มเล็กๆ โดยเขามองว่า ถ้าหลายๆ ร้านมีการร่วมมือกันอย่างจริงจัง ภาพที่เมืองแพร่มีงานกาแฟเหมือนที่จังหวัดอื่นๆ อาจเกิดขึ้นได้
“เพราะว่ามันยังไม่มีใครที่มาทำเป็นแกนหลัก แต่ละคนเขาก็จะมีงานหลักของตัวเอง อย่างผมก็เปิดร้าน พอทำเองมันก็เสียรายได้เยอะเพราะผมก็ต้องปิดร้านครึ่งวันเลย แต่ผมมองว่ามันมีโอกาสเกิดขึ้นได้นะ ถ้ามันมีคนเริ่มทำจริงๆ เราก็พร้อมเข้าร่วม”
สำหรับอาร์ตแล้วแกนหลักในการรวมกลุ่มถือเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะสามารถทำให้คนทำกาแฟในแพร่เกิดการรวมตัวกันได้จริง และหากมีผู้เริ่ม เขาก็พร้อมที่จะเป็นผู้เข้าร่วมสร้างเมืองแพร่ให้เป็นเมืองกาแฟไปด้วยกัน
มาถึงตรงนี้ก็ทำให้เราเห็นแล้วว่า คนทำกาแฟในจังหวัดแพร่มีศักยภาพ มีความพร้อม และความต้องการที่จะพัฒนากาแฟแพร่ให้เติบโตได้มากขึ้น ขาดเพียงแค่ ‘การรวมกลุ่ม’ เพื่อสานพลังให้คอมมูนิตี้กาแฟแพร่มีความเข้มแข็งมากขึ้น
ถึงเวลาแล้วที่เราจะลุกขึ้นมาผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มกันอย่างจริงจัง
คุณก็เป็นได้นะ! ‘ผู้เริ่มต้นปลุกแพร่ให้เป็นเมืองกาแฟ’
นักศึกษาวารสารศาสตร์ ทาสรักคาเฟอีนที่ชอบบันทึกความทรงจำผ่านชัตเตอร์ สนใจประเด็นสังคม สิ่งแวดล้อม และไลฟ์สไตล์ มีเป้าหมายชีวิตคือการเป็นหัวหน้าแก๊งแมวมอมทั่วราชอาณาจักร