เกือบ 2 ปีล่วงผ่าน การอ่าน “ประกาศคณะราษฎร” ในกิจกรรม “แห่ไม้ก้ำประชาธิปไตยปักหมุดกระจายอำนาจ” โดย “คณะก่อการล้านนาใหม่” เมื่อ 24 มิถุนายน 2566 เป็นเหตุให้ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีจากการอ่านคำประกาศดังกล่าว
กิจกรรมแห่ไม้ก้ำฯ เริ่มต้นที่หน้าอนุสาวรีย์ครูบาศรีวิชัย จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนจะเคลื่อนขบวนบรรทุกไม้ค้ำสะหรีซึ่งเป็นประเพณีล้านนาเดิมที่ผู้คนเอาไม้ง่ามไปค้ำที่ต้นโพธิ์ในวัดเพื่อสื่อถึงการค้ำจุนพุทธศาสนา แต่ในครั้งนี้การแห่ไม้ก้ำได้ถูกนำมาสื่อถึงการค้ำจุนประชาธิปไตย ขบวนบรรทุกไม้คำสะหรีและสัญลักษณ์หมุดราษฎร ปี 2563 บนรถกระบะกว่า 10 คัน สลับกับเสียงปราศรัยมีเนื้อหากล่าวถึงความสำคัญของวันอภิวัฒน์สยาม เมื่อปี 2475 และเน้นย้ำถึงความสำคัญของการกระจายอำนาจจากรัฐส่วนกลาง เพื่อการกำหนดชีวิตด้วยตัวเองไม่ต้องรอคอยอำนาจจากรัฐส่วนกลางหรือกรุงเทพฯ จากนั้นผู้ร่วมกิจกรรมได้เคลื่อนขบวนนำไม้ค้ำพร้อมป้ายข้อความติดตั้งบริเวณกลางลานอนุสาวรีย์สามกษัตริย์ มีการตีกลองสะบัดชัย อ่านประกาศคณะราษฎรฉบับที่ 1 ก่อนตัวแทนอ่านประกาศข้อเรียกร้องของคณะก่อการล้านนาใหม่ 3 เรื่อง ได้แก่ 1) การแก้รัฐธรรมนูญทั้งฉบับ 2) กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นเพื่อให้เป็นจังหวัดจัดการตนเอง 3) ผลักดันรัฐสวัสดิการ
ย้อนไปหนึ่งวันก่อนหน้า (23 มิ.ย.66) มีการจัดกิจกรรม “เสวนา-รัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ” ที่โรงแรมแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ ซึ่งมีนักวิชาการ ภาคประชาสังคม กลุ่มการเมือง ตัวแทนจากหน่วยงานราชการ รวมไปถึงประชาชนทั้งเห็นพ้องและเห็นต่างเข้าร่วมเวที ซึ่งเดิมทีนั้นมีกำหนดการจัดที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เนื่องด้วยงานดังกล่าวมีการคัดค้านและการแสดงความกังวลจากกลุ่มอนุรักษ์นิยมว่ากิจกรรมเวทีดังกล่าวอาจนำไปสู่การแบ่งแยกดินแดนและสร้างความขัดแย้งต่อสังคม คณบดีนิติศาสตร์ มช. จึงเสนอให้เปลี่ยนสถานที่จัดดังกล่าว แต่ทว่าหลังจากมีการย้ายสถานที่จัดกิจกรรมแล้วนั้น ได้มีเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) รวมตัวตั้งขบวนแสดงออกเชิงสัญลักษณ์คัดค้านกิจกรรมของคณะก่อการล้านนาใหม่ และจับตากิจกรรมที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น
ท้ายที่สุด เหตุการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วยการฟ้องคดี 3 นักศึกษา 1 นักกิจกรรม ตามมาในเดือนพฤศจิกายน 2566 รวม 4 คน ได้แก่ วัชรภัทร ธรรมจักร, ธีราภรณ์ พุดทะสี, เบญจภัทร ธงนันตา และชาติชาย ธรรมโม โดยเจ้าหน้าที่ทหารของมณฑลทหารบกที่ 33 ฟ้องข้อกล่าวหาจากกรณีทำกิจกรรมอ่านคำประกาศคณะราษฏร ฉบับที่ 1 ที่อนุสาวรีย์สามกษัตริย์ เมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2566 ซึ่งจัดขึ้นโดย “คณะก่อการล้านนาใหม่” รวม 6 ข้อกล่าวหา ได้แก่
- ข้อหา “ยุยงปลุกปั่นฯ” หรือร่วมกันกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใด มิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116
- ข้อหาร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใด ๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (3)
- ข้อหาร่วมกันเป็นผู้จัดการชุมนุม แต่ไม่แจ้งการชุมนุมสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 มาตรา 10 ประกอบมาตรา 28
- ข้อหาตั้งวางสิ่งของกีดขวางทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 385
- ข้อหาใช้เครื่องขยายเสียงด้วยกำลังไฟฟ้า โดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียง พ.ศ. 2493 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 วรรค 1
- ข้อหาตั้งวางหรือกองวัตถุใดๆ เพื่อการชุมนุมสาธารณะ อันเป็นทางสาธารณะ ตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ
‘วัชรภัทร ธรรมจักร’ ตัวแทนอ่านคำประกาศ เล่าย้อนว่าตั้งแต่เขาทำกิจกรรมนักศึกษาพบว่ามีการจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 24 มิถุนาเกือบทุกปี และในแต่ละปีก็มักมีคนอ่านประกาศคณะราษฎรมาตลอดแต่ไม่เคยมีใครถูกดำเนินคดีมาก่อน
“เราแจ้งชุมนุมเรียบร้อยแล้วครับ ผมต้องย้ำว่าทำเป็นประจำทุกปี ปีก่อนผมก็ไป ปีนั้นก็ท่องบทนี้เหมือนกันแต่ไม่มีการดำเนินคดีแต่ปีนี้มี”
เวลาผ่านไปเกือบสองปีแต่ทว่าคดีนี้ยังคงไม่สิ้นสุด หลังจากรับทราบข้อกล่าวหาและให้การปฏิเสธแล้ว ผู้ถูกกล่าวหายังต้องไปยื่นคำให้การเพิ่มเติมเป็นลายลักษณ์อักษร โดยพวกเขายืนยันว่าประกาศทั้งสองฉบับไม่ได้เข้าข่ายการกระทำความผิดตามมาตรา 116 เนื่องจากเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ อีกทั้งประกาศคณะราษฎรก็เป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์ที่มีการเผยแพร่โดยทั่วไปและไม่ได้ถูกห้ามเผยแพร่
อย่างไรก็ตาม คดีนี้ยังอยู่ในชั้นของพนักงานสอบสวนและตำรวจยังเรียกกลุ่มผู้ต้องหาทั้ง 4 คน ไปสอบสวนเพิ่มเติมอีกในช่วงปลายเดือนเมษายน 2567 และได้มีการจัดให้เจ้าหน้าที่เข้ามาสอบสวนทั้ง 4 คน เพิ่มเติมที่คณะนิติศาสตร์ ในเดือนกรกฎาคม 2567 อีกครั้ง
“มันเสียเวลาชีวิตมากถ้าสมมติประกอบอาชีพก็เสียรายได้ ถ้าเรียนอยู่ก็ไม่ได้ไปเรียนต้องไปตามหมาย ถ้าไม่ไปตามหมายก็โดนจับ มันยังมีมิติของสภาพจิตใจอีก ช่วงที่มันพีคมากก็ถึงขั้นต้องต้องคุยกับนักจิตฯ รวมไปถึงมันเป็นปัญหาเรื่องครอบครัวซึ่งเขาไม่ได้ไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เรากำลังสื่อสารแต่เพราะไม่อยากให้มีคดีก็คือเป็นห่วง ซึ่งผมเคยถึงขั้นไม่คุยกับแม่เลยเป็นปี เวลาโดนคดีเราไม่ได้เครียดคนเดียวที่เครียดมากกว่าอาจจะเป็นพ่อหรือแม่หรือผู้ปกครอง มันเหมือน SLAAP เป็นการฟ้องปิดปากไม่ให้เขาทำแบบนี้อีกถ้ายังกระเหี้ยนกระหือรือกับรัฐอยู่ก็จะโดนแบบนี้ แล้วมึงโดนไม่เท่าไรพ่อแม่มึงล่ะอาชีพมึงล่ะอนาคตมึงล่ะ มันเป็นฟังก์ชันเป็นโซลูชั่นในการดำเนินการกับคนที่เห็นต่างกับรัฐ ถ้าใครจิตไม่แข็งหรือว่าต่อให้จิตแข็งก็จะรู้สึกเหนื่อย ไหนต้องไปรายงานตัวกับตำรวจไหนจะสอบเพิ่มเติมอีก ไหนจะต้องไปนัดอัยการ ไหนจะขึ้นศาล คือมันเสียเวลาไปหมดครับ ผมคิดว่าไม่ควรฟ้อง ม. 116 ด้วย พวกเราเพียงแค่เรียกร้องแก้รัฐธรรมนูญ มันรุนแรงเกินไปและคิดว่าไม่เข้าองค์ประกอบความผิดเลยด้วย” วัชรภัทร กล่าว
ปัจจุบันก้าวเข้าสู่ปี 2568 แล้ว แต่ยังไม่ทราบแน่ชัดว่ากระบวนการยุติธรรมในครั้งจะสิ้นสุดลงอย่างไร
การปรากฏตัวของคณะก่อการล้านนาใหม่
“คณะก่อการล้านนาใหม่” ก่อตั้งขึ้นปี 2564 ประกอบไปด้วยสมาชิกหลากหลายในภาคเหนือตอนบน ทั้งนักศึกษา เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักกิจกรรมที่คว่ำหวอดในวงการเคลื่อนไหวต่อสู้ปกป้องทรัพยากร เกษตรกร นักวิชาการ สื่อมวลชน ภาคประชาสังคม และกลุ่มชนเผ่าพื้นเมือง ผู้ซึ่งเผชิญกับความไม่เป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรธรรมชาติที่เป็นรากฐานของวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของตน ทรัพยากรเหล่านี้ถูกควบคุมโดยกลุ่มชนชั้นนำและกีดกันประชาชนในท้องถิ่นในการเลือกพัฒนาชุมชนของตัวเอง สถานการณ์ดังกล่าวผลักดันให้ประชาชนในพื้นที่ลุกขึ้นรวมตัวเพื่อทวงคืนสิทธิและเรียกร้องการออกแบบการจัดการชีวิตของตนเอง
ก่อนหน้านี้พบว่ามีผู้คนหลายกลุ่มแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลางและมีการเรียกร้องให้เกิดการกระจายอำนาจอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้คลื่นกระจายอำนาจละลอกใหม่ที่เรียกตัวเองว่าคณะก่อการล้านนาใหม่ พวกเขาจึงพยายามรวบรวมคนหลากหลายวัยและรวมเอาชนพื้นเมืองที่ดำรงชีพในป่าผู้ซึ่งถูกทำให้เสียงแผ่วเบาโดยเฉพาะเมื่อถูกเบียดขับให้ห่างไกลจากศูนย์กลาง การปรากฏตัวของพวกเขาก็เพื่อส่งเสียงว่าการรวมอำนาจตัดสินใจทางนโยบายหรือการออกกฎหมายจากชนชั้นนำได้ลิดรอนสิทธิตามรัฐธรรมนูญของพวกเขา ท้องถิ่นหลายแห่งโดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลไม่สามารถใช้ทรัพยากรในพื้นที่ของตนอย่างมีประสิทธิภาพ และในบางกรณีเกิดความเหลื่อมล้ำในการพัฒนาท้องถิ่นระหว่างชนบทและเมืองใหญ่ การกระจายอำนาจของพวกเขาจึงไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของการบริหารจัดการเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวข้องกับสิทธิและความเป็นธรรมในการเข้าถึงทรัพยากรของทุกคนด้วย
ภาคเหนือปมขัดแย้งใต้เงารัฐรวมศูนย์
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างนโยบายของรัฐกับสิทธิชุมชนและวิถีชีวิตของชาวบ้านคือนโยบาย “ทวงคืนผืนป่า” ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐไทยที่มุ่งเน้นไปที่การเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศ โดยเฉพาะในภาคเหนือ นโยบายนี้เริ่มดำเนินการอย่างจริงจังในช่วงปี พ.ศ. 2557 ภายใต้คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยเป้าหมายของนโยบายคือเพิ่มพื้นที่ป่าไม้ของประเทศให้บรรลุเป้าหมาย 40% ของพื้นที่ทั้งประเทศ ตลอด 8 ปีของนโยบายฯ มีคดีความที่เกี่ยวข้องกับการบุกรุกป่าไม่ต่ำกว่า 46,000 คดี
“แสงเดือน ตินยอด” หญิงวัย 55 ปี ชาวบ้านแม่กวัก อำเภองาว จังหวัดลำปาง เป็นผู้ได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าที่มีลักษณะรวมศูนย์อำนาจ กรณีนี้เจ้าหน้าที่รัฐในสังกัดกรมป่าไม้และกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ จับกุมดำเนินคดีตัดฟันพืชผลและชาวบ้านต้องถูกให้ออกจากพื้นที่ทำกินเดิม เพื่อเป้าหมายเพิ่มพื้นที่ป่า 40% ตามนโยบาย
เรื่องราวเริ่มต้นขึ้นเมื่อพื้นที่ที่เธออาศัยและทำกินมานานราว 10 ไร่ กลับถูกประกาศเป็นป่าสงวนแห่งชาติ ต่อมากรมป่าไม้อนุญาตให้ชาวบ้านเข้าทำประโยชน์และอยู่อาศัยในพื้นที่ โดยออกใบอนุญาตทำกิน (สทก.1) และส่งเสริมให้ปลูกยางพารา ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อมีคำสั่ง คสช. ที่ 64/2557 หรือ “นโยบายทวงคืนผืนป่า” เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติถ้ำผาไทและป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่โป่ง สั่งให้แสงเดือนตัดฟันต้นยางพารา 2 ครั้ง ในปี 2556 และ 2558 แสงเดือนถูกดำเนินคดีในปี 2561 ข้อหาบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติโดยเจตนา ต่อมาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องเนื่องจากเห็นว่าแสงเดือนทำกินในพื้นที่มาก่อนการประกาศเป็นป่าสงวน และเธอปฏิบัติตามนโยบาย “โฉนดชุมชน”
แต่เรื่องราวยังไม่จบลงโดยง่าย หน่วยงานรัฐกลับยื่นอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์กลับคำพิพากษาสั่งจำคุกแสงเดือน 1 ปี ไม่รอลงอาญา พร้อมจ่ายค่าเสียหาย 4 แสนบาท พร้อมดอกเบี้ย 7.5 เปอร์เซ็นต์ นับตั้งแต่วันที่ 6 กันยายน 2561 รวมทั้งให้แสงเดือนออกจากพื้นที่และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง กระทั่งจะมีการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในวันที่ 28 ก.ย. 2566 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ รอลงอาญา 2 ปี
สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) ลำปางระบุว่าเหตุการณ์นี้เป็นภาพสะท้อนนโยบายใหญ่ที่ไม่เป็นธรรม โดยเฉพาะนโยบายเพิ่มพื้นที่ป่า ตั้งแต่แผนแม่บทป่าไม้ฯ ที่กำหนดว่าประเทศไทยต้องมีพื้นที่ป่า 40% ของประเทศ รวมถึงนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่มีความพยายามในการส่งเสริมปลูกป่าเพื่อค้าคาร์บอนเครดิต นโยบาย “Net Zero” หรือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ที่จะสัมพันธ์โดยตรงต่อ “การแย่งยึดที่ดินชุมชนท้องถิ่นในพื้นที่เขตป่า” และจะส่งผลต่อการยึดพื้นที่ทำกินของชาวบ้านด้วยมาตรการทางกฎหมายป่าไม้ โดยมีทั้งพื้นที่ที่ถูกดำเนินคดีและกำลังเสี่ยงที่จะถูกดำเนินคดี ซึ่งจะเป็นเป้าหมายหลักในการนำมาดำเนินโครงการปลูกป่า
แม้ว่าพื้นที่ภาคเหนือจะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่การจัดการทรัพยากรเหล่านี้กลับเต็มไปด้วยปัญหา หลายครั้งการจัดสรรทรัพยากรถูกกำหนดจากส่วนกลางโดยไม่ได้คำนึงถึงความต้องการหรือความเห็นของคนในพื้นที่อย่างเพียงพอ กลุ่มชนเผ่าพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในพื้นที่สูงมักได้รับผลกระทบจากนโยบายการจัดการป่าไม้และที่ดิน ซึ่งไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและความเชื่อของพวกเขา รัฐใช้อำนาจผ่านกฎหมายเพื่อกดทับชนเผ่าพื้นเมือง เช่น การขับไล่ออกจากพื้นที่บรรพบุรุษ การประกาศพื้นที่อุทยานที่ทับซ้อนกับที่ทำกินดั้งเดิม หรือแม้กระทั่งการห้ามเผาเพื่อเตรียมพื้นที่เพาะปลูก เจ้าหน้าที่มักกล่าวหาว่าชนเผ่าพื้นเมืองบุกรุกป่า ทั้งที่พื้นที่เหล่านั้นเป็นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยที่พวกเขาสืบทอดมาอย่างยาวนาน การจัดสรรทรัพยากรในลักษณะนี้ไม่เพียงแต่ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพวกเขา แต่ยังสร้างความขัดแย้งระหว่างชุมชนท้องถิ่นกับภาครัฐ สิ่งเหล่านี้สะท้อนถึงการใช้อำนาจรัฐที่กำหนดชะตาชีวิตของผู้คนที่ดำรงชีวิตพึ่งพิงป่าอย่างลึกซึ้ง คนเหล่านี้ไม่ได้สูญเสียเพียงทรัพย์สิน แต่ยังเผยให้เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ฝังลึกในสังคมไทยมาอย่างยาวนาน นั่นคืออคติและความเข้าใจผิดต่อวิถีชีวิตที่ผูกพันกับภูมิปัญญาท้องถิ่นและธรรมชาติ
จากใต้จรดเหนือบรรยากาศไม่เอื้อกระจายอำนาจ
จากภาคใต้สู่ภาคเหนือกิจกรรมรณรงค์กระจายอำนาจในช่วงระยะเวลาใกล้เคียงกัน กลายเป็นเรื่องถูกจับตา ส่งต่อ และขยายความบนโลกออนไลน์ รวมทั้งมีการเคลื่อนไหวตรวจสอบของหน่วยงานความมั่นคง
นับตั้งแต่กิจกรรมประชามติจำลองเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 กลุ่มนักศึกษาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้มีการรวมตัวกันในชื่อ “ขบวนการนักศึกษาแห่งชาติ” (Pelajar Bangsa) ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี โดยมีวาระสำคัญคือการเปิดตัวกลุ่มองค์กรนักศึกษาและมีการปาฐกถาประเด็นสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเอง (Self Determination) กิจกรรมเสวนามีการเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม พร้อมจัดกิจกรรมประชามติจำลองเพื่อสอบถามความคิดเห็นเกี่ยวกับรูปแบบการปกครองปาตานี โดยเปิดให้ผู้เข้าร่วมแสดงความเห็นระหว่างลงทะเบียน พวกเขาเห็นว่าการทำประชามติจำลองเป็นการแสดงออกถึงสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง หรือ Rights to self-determination (RSD) ผ่านประชามติซึ่งเป็นสิทธิของประชาชน กิจกรรมดังกล่าวกลายเป็นที่จับตาและถูกส่งต่อ รวมถึงขยายความในโลกออนไลน์ จนหน่วยงานความมั่นคงเริ่มมีการตรวจสอบความเคลื่อนไหวอย่างใกล้ชิด
สำหรับเนื้อหาบนบัตรแสดงความคิดเห็นในประชามติจำลอง มีคำถามระบุว่า “คุณเห็นด้วยกับสิทธิในการกำหนดชะตากรรมตนเองหรือไม่ ที่จะให้ประชาชนปาตานีสามารถออกเสียงประชามติแยกตัวเป็นเอกราชได้อย่างถูกกฎหมาย”
ตัวแทนนักศึกษาที่จัดงานชี้แจงว่าจุดประสงค์ของกิจกรรมนี้คือการเปิดพื้นที่แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับอนาคตของพื้นที่ชายแดนใต้ไม่ใช่การสนับสนุนการแบ่งแยกดินแดน บัตรสอบถามประชามติเป็นการจำลองสอบถามความเห็นสิทธิการกำหนดชะตากรรมตนเอง และยอมรับว่าการใช้คำว่า “เอกราช” หรือ “แบ่งแยกดินแดน” อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดและถูกนำไปตีความได้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม นักวิชาการผู้เชี่ยวชาญประเด็นชายแดนใต้มองว่ากิจกรรมนี้เป็นเวทีวิชาการเนื่องจากองค์ประกอบของผู้เข้าร่วมและเนื้อหาการพูดคุยเน้นไปที่การถกเถียงเชิงวิชาการเป็นหลัก
กรณีคณะก่อการล้านนาใหม่ มีเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบัน (ภาคเหนือ) รวมตัวกันแสดงออกคัดค้านการจัดงานเสวนาวาระรัฐธรรมนูญ-กระจายอำนาจ ซึ่งมีธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าคณะก้าวหน้าเป็นผู้ปาฐกถาภาพรวมการกระจายอำนาจ เครือข่ายคนไทยรักชาติฯ ให้เหตุผลว่าไม่เห็นด้วยกับการจัดเสวนาดังกล่าวเพราะเชื่อว่าเสวนาวิชาการครั้งนี้มีการเชิญวิทยากรเฉพาะกลุ่มที่มีแนวคิดไม่หลากหลาย จึงเป็นห่วงว่าอาจเป็นการยุยงปลุกปั่นและแฝงแนวคิดบางอย่างที่ชักนำทำให้ประชาชนและประเทศชาติเกิดความแตกแยก ผู้เข้าร่วมขบวนมีการชูป้ายในทำนองคัดค้านการแบ่งแยกดินแดน นอกจากนั้นสมาชิกเครือข่ายฯ ประกาศว่าจะเดินทางไปร่วมทุกๆ กิจกรรมของคณะก่อการฯ เพื่อปกป้องสถาบันอีกด้วยเนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการสร้างความแตกแยกในสังคม การแบ่งแยกดินแดน รวมถึงขบวนการล้างสมองเยาวชน ซึ่งเดิมทีการเสวนาดังกล่าวนี้มีกำหนดจัดขึ้นที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งก่อนหน้านั้นเครือข่ายคนไทยรักชาติรักสถาบันได้ยื่นหนังสือถึงอธิการบดีมหาวิทยาลัยคัดค้านการจัดกิจกรรมดังกล่าวในพื้นที่มหาวิทยาลัย เนื่องจากเชื่อว่ามีลักษณะเข้าข่ายการยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยกและแอบแฝงแนวคิดการแบ่งแยกการปกครองโดยมีบางพรรคการเมืองอยู่เบื้องหลัง จนกระทั่งผู้จัดงานมีการย้ายสถานที่เป็นโรงแรมไอบิส
หลังจากนั้น ผู้จัดการสุดสัปดาห์มีการรายงานข่าวในวันที่ 1 กรกฎาคา 2567 โดยพาดหัวข่าวว่า “หอมกลิ่นแยกดินแดน! จาก “ปาตานี” ถึง “ล้านนา” ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม!?” มีเนื้อหาย้ำว่า “สปป.ล้านนา” เป็นกลุ่มที่เคลื่อนไหวเรื่องการแบ่งแยกดินแดนล้านนาออกจากประเทศไทย
ด้าน “วัชรภัทร” ผู้เข้าร่วมกิจกรรมของคณะก่อการล้านนาใหม่ชี้แจงว่าภาคประชาชนมีการรณรงค์เรื่องกระจายอำนาจในภาคเหนือมาอย่างยาวนานเพื่อแก้ไขปัญหาท้องถิ่นและไม่ได้เป็นพวกเดียวกับพรรคการเมืองใดการเมืองหนึ่ง
“ผมมองว่าเรามีประเด็นร่วมกันมากกว่า ทุกคนมีความคิดเห็นร่วมกันในประเด็นปัญหานี้จึงมาร่วมกัน วันนั้นผมยืนยันได้ว่าเราเชิญทางภาครัฐแล้วก็คนที่ทั้งเห็นตรงและไม่เห็นตรงมาร่วมถกเถียงแลกเปลี่ยนกันด้วย แต่ประเด็นปัญหาเขาไม่มาอย่างนั้นเลย ก็เลยทําให้กลุ่มการเมืองอีกฝั่งหนึ่งเขาคิดว่ากีดกันฝั่งเขาหรือเปล่า จนมันไปถูกนําเสนอผ่านสื่อต่างๆ มันก็เลยทําให้คนอ่านข่าวเข้าใจว่าเชิญแต่นักวิชาการฝั่งตัวเอง”
“ใครเห็นตรง เห็นไม่ตรงหรือไม่เห็นร่วมสามารถมาร่วมแลกเปลี่ยนกันได้ เพราะมันจะมีช่วงฟรีเวทีเพื่อมาถกกัน ซึ่งแม้แต่คนที่เห็นด้วยกันเห็นร่วมกันว่าจะต้องมีการกระจายอํานาจก็ถกกันนะ คือเราเหมือนได้มาเปิดมิติใหม่เรื่องโครงสร้างอํานาจแบบราชการไทย เราจะเห็นปัญหาที่มันยุ่งเหยิงกันมากเลย อย่างเช่นถนนที่เป็นหลุมเป็นบ่อก็ไม่รู้ว่าหน่วยงานไหนต้องเป็นคนรับผิดชอบ โยนให้กันไปมาจนกลายเป็นปัญหาเรื้อรังบางครั้งไม่มีอำนาจสั่งการ ผมคิดว่าทุกคนพยายามอยากให้มาร่วมเพราะเราจะได้เห็นเลยว่า มิติมุมมองการกระจายอํานาจของเราหรือการคงอยู่ของอีกฝ่ายหนึ่งเนี่ยมันจะเป็นไปในรูปแบบไหน ต่างคนต่างเหตุผลกันไปอย่างไร แล้วสุดท้ายแล้วมันจะไปในทิศทางไหนดี ก็ยังอยากให้เกิดการแลกเปลี่ยนนะครับ”
“อีกอย่างในงานมีการถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กด้วย ตั้งแต่เสวนารวมไปถึงการแห่ขบวนซึ่งมันก็ค่อนข้างชัดว่าเราก็สื่อสารกับสาธารณะด้วย ไม่ได้เป็นเหตุการณ์ต้องปกปิดหรือปิดบัง”
เหตุการณ์ในครั้งนั้นจบลงด้วยการฟ้องคดีโดยอดีตผู้บัญชาการมณฑลทหารบกที่ 33 มอบอำนาจให้นายทหารไปฟ้องที่ สภ.เมืองเชียงใหม่ ในส่วนของวัชรภัทรถูกระบุว่าเขาเป็นผู้อ่านคำประกาศของคณะราษฎร เมื่อ 24 มิถุนายน 2475 ซึ่งผู้กล่าวหาอ้างว่าการนำประกาศฉบับดังกล่าวมาอ่านอีกครั้งในปี 2566 ทำให้เข้าใจได้ว่าผู้ต้องหากับพวกมีแนวคิดเชิญชวนบุคคลที่ได้รับฟังเกิดความกระด้างกระเดื่อง ไม่เคารพกฎหมายหรืออาจล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน
อย่างไรก็ดี ในห้วงยามที่มีการรณรงค์เรียกร้องกระจายอำนาจเจ้าหน้าที่รัฐมีการบังคับใช้กฎหมายในการดำเนินคดีความ ใช้กฎหมายเพื่อขัดขวางปิดกั้นและควบคุมกิจกรรมอันเกี่ยวเนื่องกับการใช้สิทธิและเสรีภาพในการแสดงออกของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการใช้ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เนื่องจากเป็นกฎหมายที่เปิดช่องทางให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินคดีกับใครก็ตามที่วิพากษ์วิจารณ์องค์กรหรือเจ้าหน้าที่รัฐ ควบคู่ไปกับการใช้กฎหมายอาญามาตรา 116 ในการดำเนินคดีผู้วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล นอกจากนั้นสื่อออนไลนที่เผยแพร่เนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลต่างต้องเผชิญกับการถูกปิดกั้น ถูกดำเนินคดี แม้กระทั่งข้อเสนอเรื่องกระจายอำนาจที่มุ่งหวังสร้างสังคมที่เท่าเทียม ก็ถูกต่อต้าน ขัดขวาง รวมไปถึงประชาชนที่แสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์มักถูกคุกคามโดยเจ้าหน้าที่รัฐหรือกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลอีกด้วย
เกือบ 2 ปีแล้ว ที่วัชรภัทรและสมาชิกคณะก่อการล้านนาใหม่ต้องเผชิญกับบรรยากาศที่ไม่เอื้อต่อการพูดประเด็นกระจายอำนาจซ้ำยังต้องใช้เวลาไปกับการต่อสู้คดี แต่วัชรภัทรยังคงยืนยันเคลื่อนไหวเรียกร้องกระจายอำนาจ หนึ่งในแนวทางที่เขาเชื่อว่าจะเป็นทางออกของสังคมที่เขาฝันถึง
“มันเป็นสิ่งที่เราต้องจ่ายทั้งที่ไม่ควรต้องจ่ายในสังคมประชาธิปไตย เราถูกกล่าวหาร้ายแรงนะเรื่องแบ่งแยกดินแดน ผมคิดว่าตัวผมเองก็ยังจะทําต่อครับ ต่อให้ผมไม่ทําต่อผมว่าก็มีคนทําต่อเพราะว่ามันยังเป็นปัญหาที่ไม่ได้ถูกแก้ไข ผมมองว่าสิ่งที่เราทําเราต้องยันในหลักการว่ามันไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิด ในที่นี้ไม่ได้ผิดทั้งกฎหมายและไม่ได้ผิดทั้งมิติเชิงสังคม ถ้ามีคนมองแบบเราแบบมิติที่เราคิดเยอะมากขึ้นเท่าไรในสังคมปัญหาเหล่านั้นน่าจะถูกได้รับการแก้ไขมากขึ้นเท่านั้น ผมเชื่อลึกๆ ว่ามันจะมีการเปลี่ยนแปลง”
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...