นับถอยหลังเลือกตั้งอบจ. 68 ย้อนรอยการเมืองท้องถิ่น 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน 2547-2563

เรื่อง: ปิยชัย นาคอ่อน

การเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะถึงในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้เป็นการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (นายก อบจ.) จำนวน 47 จังหวัด และ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) จำนวน 76 จังหวัด ด้วยบางส่วนจัดการเลือกตั้งไปแล้ว 29 จังหวัด ทำให้การเลือกตั้งรอบนี้ไม่ครบทั่วทั้งประเทศ นอกจากนี้การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นครั้งที่สองหลังจากจัดให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่นแรกในปี 2563 ภายหลังการเลือกตั้งท้องถิ่นถูกแช่แข็งไปในปี พ.ศ. 2557 ในช่วงของ คสช. 

หากพูดถึงสถานการณ์การเมืองท้องถิ่นในภาคเหนือตอนบนเป็นพื้นที่ที่น่าจับตามองเนื่องจากกลุ่มบ้านใหญ่ที่ครองฐานเสียงอยู่และการเข้ามามีบทบาทของกลุ่มคณะก้าวหน้า ต้องกล่าวย้อนกลับไปในช่วงปี พ.ศ. 2547 ซึ่งจัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. โดยตรงเป็นครั้งแรก จากศึกษาของ อโณทัย วัฒนาพร อดีตอาจารย์ประจำสำนักวิชาการเมืองการปกครอง คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งศึกษาเรื่องการแข่งขันทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนจังหวัดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน เสนอว่า ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ของแต่ละจังหวัดมักจำกัดอยู่ในแวดวงของชนชั้นนำในพื้นที่นั้นๆ และผู้สมัครมักเป็นผู้สมัครคนเดิมหรือเป็นผู้สมัครกลุ่มเดิมซึ่งต่างกับผู้สมัคร ส.อบจ. ที่เป็นกลุ่มคนชนชั้นกลางแต่เข้าถึงมวลชนได้มาก อโณทัยได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การแข่งขันในระดับ ส.อบจ. นั้นมีการผูกขาดที่น้อยกว่าในกรณีของนายก อบจ. แต่การเปลี่ยนแปลงผู้สมัครนั้นก็เป็นเพียงแค่การเปลี่ยนตัวผู้ใต้อุปถัมภ์คนใหม่จากคนเก่านั่นเอง นอกจากนี้ในช่วงเวลาดังกล่าวการเข้ามาของพรรคการเมืองเริ่มมีนัยยะสำคัญในการขับเคลื่อนการเลือกตั้งท้องถิ่น กล่าวคือพรรคการเมืองมีส่วนทำให้คะแนนนิยมในตัวผู้สมัครนั้นเพิ่มขึ้น แต่ยังมีบางสนามเช่นในจังหวัดลำพูนที่พรรคไม่สามารถมีอิทธิพลในการเลือกตั้งท้องถิ่นได้

ต่อมาในช่วงปี พ.ศ. 2564 งานศึกษาของ ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เรื่องการแข่งขันทางการเมืองขององค์การบริหารส่วนจังหวัดใน 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบนในรอบทศวรรษ (พ.ศ. 2554-2563)  ได้วิเคราะห์ถึงปัจจัยของการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือไว้ว่า การเมืองในกลุ่มจังหวัดล้านนาถูกเปลี่ยนไปเป็นลักษณะพรรคเดียวเด่นอย่างเห็นได้ชัดหลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร ได้ก่อตั้งพรรคไทยรักไทย (หรือพรรคในเครือเดียวกัน) นายก อบจ. ต่างมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับพรรค แต่หลังเกิดการรัฐประหารโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในปี 2557 ก็เกิดการชะงักและแช่แข็งการเลือกตั้งท้องถิ่น เนื่องจากรัฐบาล คสช. พยายามดึงอำนาจกลับไปที่ส่วนกลาง เช่น การให้ปลัดปฏิบัติหน้าที่แทนนายก อบจ. ในกรณีที่ครบวาระ แต่ทำเช่นนี้อยู่ได้ไม่นานก็เหลือเพียงแค่การงดไม่ให้มีการจัดการเลือกตั้งท้องถิ่น จนกระทั้งปลายปี 2563 รัฐบาลมีท่าทีผ่อนคลายลงจึงกำหนดให้มีการเลือกตั้ง อบจ. พร้อมกันทั่วประเทศ 76 จังหวัด ในวันอาทิตย์ที่ 20 ธันวาคม โดยต่อจากนี้จะเป็นการหยิบเอางานศึกษาของ ณัฐกร มาแสดงให้เห็นถึงบริบทความเคลื่อนไหวของการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือใน 8 จังหวัด

จังหวัดเชียงราย  

การเมืองของจังหวัดเชียงรายนั้นมีลักษณะเป็นสองขั้วจากคนในนามสกุลจงสุทธานามณีซึ่งเป็นการเมืองท้องถิ่น และคนในนามสกุลติยะไพรัชซึ่งเป็นการเมืองระดับชาติ แม้พรรคไทยรักไทยจะได้ที่นั่ง สส.ยกจังหวัด แต่กลับพ่ายแพ้ให้กับการเลือกตั้ง อบจ. ซึ่งเป็นไปได้ว่าชาวเชียงรายแยกแยะระหว่างการเมืองระหว่างประเทศและการเมืองท้องถิ่นออกจากกัน ในปี 2555 การเมืองท้องถิ่นเริ่มเป็นขั้วเดียวกันทั้งภาคเหนือจากที่นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภรรยาของนายยงยุทธ ติยะไพรัช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร อดีตประธานรัฐสภา และอดีตประธานสภาผู้แทนราษฎร อดีตเลขาธิการนายกรัฐมนตรี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร อดีตรองหัวหน้าพรรคพลังประชาชน และ สส. จังหวัดเชียงราย ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร อบจ. เชียงราย แต่เป็นอยู่ได้เพียงแค่ 2 ปี ก็ต้องพ้นตำแหน่งจากคดีเก่าสืบเนื่องในสมัยเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งแรก ปี 2547 ทำให้ต้องมีการเลือกตั้งซ่อม ชัยชนะก็ยังตกเป็นของตระกูลติยะไพรัช ต่อมาได้ถูก กกต. ตัดสินให้มีการเลือกตั้งใหม่ ด้วยเหตุที่มีการให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้ตำแหน่งเป็นคุณหรือโทษให้แก่ผู้สมัคร 

สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ภาพ: สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช

แต่ในช่วงนั้น คสช. ประกาศไม่ให้มีการจัดเลือกตั้งท้องถิ่น จึงทำให้ อบจ. ของเชียงราย ปราศจากนายก อบจ. จนการเลือกตั้งปี 2563 นายกอบจ. คนใหม่คือนางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์บุตรสาวของนายสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ อดีต ส.ส. เชียงรายหลายสมัย ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.อบจ. พบว่าการผูกขาดค่อนข้างน้อยและมีตัวเลขที่สูงกว่าจังหวัดอื่นๆ

จังหวัดพะเยา

ตำแหน่งนายก อบจ. ของพะเยานั้นเป็นของนาย ไพรัตน์ ตันบรรจง มาหลายสมัย ด้วยความที่เป็นตระกูลการเมืองที่สำคัญในจังหวัดพะเยามาอย่างยาวนาน จนในปี 2554 นายวรวิทย์ บุรณศิริ น้องชายของนายวิทยา บุรณศิริ ส.ส. อยุธยาและรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาลของนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ขึ้นมาเป็นนายก อบจ. แทน และในช่วงปี 2562 การเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมืองก็เกิดขึ้นอีกครั้ง เมื่อ พรรคพลังประชารัฐที่นำโดย ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า ชนะเลือกตั้ง ส.ส. ถึง 2 ใน 3 ของจังหวัดพะเยา ร้อยเอกธรรมนัส จึงได้ส่ง นายอัครา พรหมเผ่า ลงสมัครนายก อบจ. พะเยาในนามกลุ่มฮักพะเยา และชนะคู่แข่งขาดลอย พะเยาจึงเป็น 1 ใน 2 จังหวัดที่พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งผู้สมัครของตนลงตามที่ได้กล่าวถึงในบทความ ในขณะที่ ส.อบจ. พะเยามีความเปลี่ยนแปลงน้อยเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่น

อัครา พรหมเผ่า ภาพ: อัครา พรหมเผ่า

โดยปัจจุบันการเลือกตั้งท้องถิ่นล่าสุดของจังหวัดพะเยาได้มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 โดยมีผู้ลงสมัคร 2 รายคือ นายชัยประพันธ์ สิงห์ชัย ตัวแทนคณะก้าวหน้าและนายธวัช สุทธวงค์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งนายธวัชเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้   

จังหวัดลำปาง

ลำปางเป็นจังหวัดที่พรรคไทยรักไทยชนะการเลือกตั้งติดต่อกันหลายสมัย แต่ไม่ได้เป็นพรรคไทยรักไทยเดียวทั้งหมด จากการที่มีบ้านเล็กสองหลัง คือ “สายเหนือ” พื้นที่กลุ่มบ้านสวน และ “สายใต้” พื้นที่กลุ่มดอยเงิน การเลือกตั้ง อบจ. จึงเป็นการแข่งขันของสองบ้านนี้เป็นหลัก ซึ่งกลุ่มของนายไพโรจน์สนับสนุนกลุ่มแม่วังของนางสุนี สมมี ให้ได้เป็นนายก อบจ. อย่างต่อเนื่องถึง 3 ครั้ง ส่วนของ ส.อบจ.นั้นพบว่ามีการผูกขาดมากที่สุด แม้จะเป็น ส.อบจ. หน้าใหม่ ก็ยังเป็นคนในสายสัมพันธ์เดิม

จังหวัดน่าน

นายนรินทร์ เหล่าอารยะ เป็นผู้ครองตำแหน่งนายก อบจ. มาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปี และเป็นนายก อบจ. ที่มาจากการเลือกตั้งคนแรก ในการเลือกตั้งครั้งล่าสุด (พ.ศ. 2563) นายนรินทร์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสของนายนพรัตน์ ถาวงศ์ ให้สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ขณะที่ ส.อบจ. นั้นมีความเปลี่ยนแปลงในระดับที่สูงถึงร้อยละ 70 และเป็นจังหวัดที่มี ส.อบจ. เป็นกลุ่มคนข้ามเพศจังหวัดแรก ๆ คือ นายเกริกก้อง สวนยศ นายกสมาคมสตรีข้ามเพศแห่งประเทศไทยได้รับเลือกตั้ง

จังหวัดแพร่ 

จังหวัดแพร่ประกอบด้วยหลายขั้วทางการเมือง แต่ยังคงมีบ้านใหญ่อยู่ 3 บ้านที่โดดเด่น คือ ตระกูลศุภศิริ ตระกูลวงศ์วรรณ และตระกูลเอื้ออภิญญกุล โดยตระกูลวงศ์วรรณกับตระกูลเอื้ออภิญญกุลอยู่ปีกเดียวกับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ตระกูลศุภศิริอยู่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์และได้ถูกลดบทบาทลงจากกรณีลอบสังหาร นายแพทย์ชาญชัย ศิลปอวยชัย กลายเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่างสองตระกูลที่มาจากปีกพรรคเพื่อไทย ซึ่งในปี 2563 นายอนุวัธ วงศ์วรรณ ได้รับเลือกเป็นนายก อบจ. ถึง 3 สมัย สำหรับสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนั้นมีแนวโน้มที่ ส.อบจ. คนเก่าจะกลับเข้ามาดำรงค์ตำแหน่งอีกสมัยน้อยลงเรื่อย ๆ เหตุมาจาก ส.อบจ. คนเก่ามีอายุมากขึ้นหรือไม่ลงสมัครเลือกตั้งอีก

อนุวัธ วงศ์วรรณ ภาพ: อบจ.แพร่

จังหวัดลำพูน

ลำพูนเป็นจังหวัดเดียวที่มีการเปลี่ยนตัวนายก อบจ. ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และมีภาพของความเป็นตัวแทนพรรคการเมืองยังไม่ชัดเจนนัก จนกระทั่งการเลือกตั้งในปี 2563 พรรคเพื่อไทยได้ส่งนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ที่เป็นอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. ลำพูน มาลงสมัครในนามพรรค การที่ลำพูนมีประชาชนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากคิดเป็นร้อยละ 77.86 เป็นลำดับสองของประเทศ ซึ่งเป็นผลให้การผูกขาดตำแหน่งลดน้อยลง

จังหวัดเชียงใหม่

อบจ.เชียงใหม่มีการแข่งขันที่สูงเนื่องจากผู้รับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่มีตำแหน่งสำคัญมาก่อน นอกจากนี้ปัจจัยทางพรรคการเมืองยังคงมีผลต่อการเลือกตั้งอย่างมีนัยยะ เช่นกรณีของนายธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ อดีต ส.ส. เชียงใหม่ 4 สมัย ได้เป็นนายก อบจ. สมัยแรก โดยสังกัดพรรคไทยรักไทย ต่อมาตัดสินใจแยกตัวออกมาลงสมัครในนามกลุ่มฅนเจียงใหม่ แต่พ่ายแพ้ให้กับนายบุญเลิศ บูรณุปกรณ์ ในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ปี 2551 แสดงให้เห็นว่าการเมืองเชียงใหม่เป็นแบบขั้วเดียวภายใต้พรรคเพื่อไทย (ไทยรักไทย) ไม่ได้ยึดติดกับตัวบุคคล และ ส.อบจ. เองก็มีการผลัดเปลี่ยนการเข้าสู่อำนาจในระดับปานกลาง

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

แม่ฮ่องสอนเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านบุคคลที่ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. โดยนายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ ที่ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.แม่ฮ่องสอนมาแล้วกว่า 3 สมัย แม้ว่าแต่ละครั้งจะมีผู้สมัครหลายรายแข่งกันก็ตามแต่ข้อสังเกตคือ ผู้ที่สมัครลงเลือกตั้งมักไม่ได้มีพื้นเพเป็นคนแม่ฮ่องสอน ต่างกับสมาชิกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีอัตราการเปลี่ยนแปลงตัวบุคคลสูงเป็นอันดับต้นๆ ของภาค ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากการแบ่งเขตการเลือกตั้งใหม่

ภาพรวมการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือสู่การเลือกตั้งปี 2568

จากงานศึกษาของ ณัฐกร แสดงให้เห็นถึงประเด็นที่น่าสนใจคือ การแข่งขันของนายก อบจ. 8 จังหวัดภาคเหนือแทบจะถูกผูกขาดโดยพรรคเพื่อไทย (พรรคไทยรักไทยเดิม) ในหลายจังหวัดและเป็นเครือข่ายมายาวนานหลายสิบปี โดยไม่มีพรรคอื่นเข้ามาเป็นคู่แข่งเท่าใดนัก บางจังหวัดแม้จะเป็นเครือข่ายพรรคเพื่อไทยเหมือนกันแต่ก็ยังมีการแข่งขันระหว่างบ้านใหญ่เพื่อชิงอำนาจทางการเมืองให้เห็น เช่น ในจังหวัดแพร่ที่ตระกูลเอื้ออภิญญกุลจะเป็นการเมืองในระดับชาติ และการเมืองท้องถิ่นจะเป็นของตระกูลวงศ์วรรณ ในขณะที่การเลือกตั้ง ส.อบจ. จะเป็นกลุ่มที่มีพลวัตมากกว่า ในบางจังหวัดอย่างจังหวัดน่านและจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีอัตราการเปลี่ยนตัวบุคคลสูงนั้น เกิดจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการวางมือของผู้ลงสมัครคนเก่าหรือการเปลี่ยนเอาคนในเครือข่ายขึ้นมาแทนที่สมาชิกคนเดิม

ภาพ: พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ว่าที่ผู้สมัครนายกอบจ.เชียงใหม่

การศึกษานี้ทำให้เห็นแนวทางในการเมืองท้องถิ่นปี 2568 ว่าจะเป็นไปในทิศทางใด การเดินสายของนายทักษิณ ชินวัตร ในจังหวัดต่างๆ ก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ก็แสดงให้เห็นถึงการดึงเอาบุคคลสำคัญเข้ามาช่วยดึงฐานเสียงมวลชนเดิม เมื่อมองถึงสถานการณ์การเลือกตั้งในจังหวัดต่างๆ เริ่มจากจังหวัดเชียงราย นางสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครในนามพรรคเพื่อไทยกลับมาลงแข่งกับ นางอทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ. ในสมัยที่ผ่านมา โดยนายทักษิณ เข้ามาช่วยเหลือในการหาเสียงเป็นจังหวัดแรกๆ อีกด้วย ขณะเดียวกัน นางอธิตาธรที่แม้จะลงสมัครในนามอิสระ ก็ถูกจับตามองว่ามีเครือข่ายสีน้ำเงินคอยหนุนหลังอยู่ และยังคงเป็นการแข่งขันกันของบ้านใหญ่เช่นเดิม

ถัดมาในจังหวัดลำปาง นางตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ. ลำปางได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งก่อนหมดวาระเพียง 2 วันคือวันที่ 17 ธันวาคม 2567 แต่ไม่ได้มีผลกระทบกับการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ โดยนางตวงรัตน์จะลงสมัครนายก อบจ. ในนามพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ยังมีผู้ลงสมัครอีก 3 คนคือ นายดาชัย เอกปฐพี นายอธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ และนางสาวปกิตตา ตั้งชนินทร์ ในขณะที่น่านมีผู้ลงสมัครทั้งสิ้น 4 ราย คือ นายนพรัตน์ ถาวงศ์ ในนามพรรคเพื่อไทย พ.ท. อธิวัฒน์ เตชะบุญ, นายสันติภาพ อินทรพัฒน์ ที่ทั้งสองลงสมัครในนามอิสระ และนายเสนอ เวชสัมพันธ์

จังหวัดแพร่นำโดยนายอนุวัธ วงศ์วรรณ อดีตนายก อบจ.และทีมงานพรรคเพื่อไทย นายวรายุส กาศสนุก คณะทำงานชั่วคราวจากพรรคประชนชนและผู้สมัครอิสระ อบจ.ลำพูน มีนายวีระเดช ภู่พิสิฐ ทายาทอดีตนายก อบจ.ลำพูน นายประเสริฐ ภู่พิสิฐ ในนามพรรคประชาชน กับนายอนุสรณ์ วงศ์วรรณ นายก อบจ.ลำพูนคนปัจจุบัน จังหวัดแม่ฮ่องสอน นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ. ลงสมัครในนามอิสระ นายดนุภัทร์ เชียงชุม อดีตประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่ลือว่าสังกัดพรรคประชาชน 

และจังหวัดสุดท้ายคือจังหวัดเชียงใหม่ที่นายก อบจ. คนปัจจุบันคือนายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร ซึ่งลาออกก่อนครบวาระ เช่น เดียวกันกับนางตวงรัตน์ อดีตนายก อบจ. ลำปาง ที่มีการคาดการว่าการลาออกของนายพิชัยจะเปิดพื้นที่การแข่งขันระดับท้องถิ่น และนายพิชัยเองก็ลงสมัครนายก อบจ. ด้วยเช่นกัน โดยพรรคประชาชนได้ส่งนายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ลงสมัครเป็นคู่แข่ง

ประเด็นที่น่าจับตามองในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือ การที่พรรคประชาชน (หรือพรรคก้าวไกลเดิม) ขึ้นมาเป็นคู่แข่งทางการเมืองใหม่ในพื้นที่ภาคเหนือจากการชนะการเลือกตั้ง สส. ในปี 2566 ที่ชนะการเลือกตั้งไปทั้งหมด 7 เขต จาก 10 เขต ถึงแม้จังหวัดเชียงใหม่จะขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองหลวงของตระกูลชินวัตรก็ตาม การเดินสายทั้งของนายทักษิณ ชินวัตรและนายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ในเวลาไล่เลี่ยกันถือเป็นการเดินเกมเพื่อชิงฐานเสียงที่ตนมีภายในจังหวัด ซึ่งทั้งสองพรรคมีฐานเสียงที่แตกต่างกัน ระดับฐานมวลชนที่แตกต่างกัน พรรคเพื่อไทยเป็นตัวแทนของฐานเสียงบ้านใหญ่และกลุ่มคนเสื้อแดง ในขณะที่พรรคประชาชนจะเป็นตัวแทนของกลุ่มคนรุ่นใหม่เสียมากกว่า

ซึ่งการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้จะเป็นการเมืองที่ผูกขาดโดยพรรคเพื่อไทยหรือจะถูกแทนที่ด้วยพรรคประชาชน ถือเป็นเรื่องที่น่าติดตามกันต่อไป

ที่มา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง