ภาคเหนือวิกฤต ‘น้ำท่วมลำปาง’ ขยายตัว 2 เขื่อนเร่งระบายน้ำ ‘สุโขทัยพนังกั้นน้ำยมพัง’ น้ำทะลักท่วมชุมชน – ด้านแพร่ พะเยา เฝ้าระวัง

24 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา ThaiPBS รายงานว่า สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคเหนือของไทยยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะใน จังหวัดลำปาง และ สุโขทัย ซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำที่ไหลทะลักเข้าท่วมในพื้นที่

ที่มา: ThaiPBS

ความคืบหน้าสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดลำปาง น้ำท่วมยังคงขยายตัวเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่องในหลายพื้นที่ โดยชาวบ้านบ้านแม่ไฮ ม.3 ต.นาแส่ง อ.เกาะคา จ.ลำปาง บางส่วนยังคงติดค้างอยู่ในพื้นที่ อย่างไรก็ดี จิตอาสาได้มีการตระเวนส่งอาหารให้กับผู้ประสบภัยแล้ว นอกจากนี้ น้ำจากแม่น้ำวังยังได้เอ่อล้นเข้าท่วมคอสะพานบ้านนาแก้วตะวันออก ม.3 ซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักในการสัญจรข้ามแม่น้ำวังไปยังอำเภอเสริมงาม ส่งผลทำให้ผู้ใช้ถนนต้องเลี่ยงเส้นทางและเพิ่มความระมัดระวังในการเดินทางมากขึ้น

ด้าน ชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ระบุถึงสถานการณ์น้ำว่า เขื่อนกิ่วคอหมา ที่รับน้ำจากอำเภอวังเหนือ ซึ่งถูกน้ำท่วมขณะนี้ จำเป็นต้องมีการระบายน้ำออก เนื่องจากปริมาณน้ำเกินความจุกักเก็บ โดยเริ่มระบายน้ำตั้งแต่ 10.00 น. ของวานนี้ (24 ก.ย. 67) ในอัตรา 250 ลบ.ม. ต่อวินาที คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อประชาชนในหลายตำบล ทั้งตำบลวิเชตนคร ตำบลปงดอน ตำบลแจ้ห่ม และตำบลบ้านสา อำเภอแจ้ห่ม จึงขอให้ประชาชนที่อยู่ริมแน่น้ำวัง เก็บของขึ้นที่สูง และเตรียมความพร้อมในการเผชิญกับสถานการณ์เพิ่มสูงขึ้น ขณะเดียวกัน เขื่อนกิ่วลม จะระบายน้ำออกในอัตรา 320 ลบ.ม. ต่อวินาที และจะไม่ให้เกิน 375 ลบ.ม. ต่อวินาที โดยมวลน้ำจะเริ่มมีผลกระทบกับพื้นที่ลุ่มต่ำของแม่น้ำวัง พื้นที่เขต อ.เมืองลำปาง

ที่มา: ThaiPBS

ขณะเดียวกัน วันนี้ (25 ก.ย.2567) ฝนยังคงตกหนักในพื้นที่ จ.ลำปาง อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำป่าไหลหลากและมีปริมาณน้ำจำนวนมากไหลลงสู่เขื่อนกิ่วคอหมาจนเต็มความจุเก็บกัก ต้องเร่งระบายน้ำออกจากเขื่อนลงสู่แม่น้ำวัง ก่อนจะไหลลงสู่เขื่อนกิ่วลมตามลำดับ

กรมชลประทาน ได้ปรับเพิ่มการระบายน้ำเพื่อรักษาความปลอดภัยของตัวเขื่อนทั้ง 2 แห่ง โดยเช้าวันนี้ (25 ก.ย.2567) เขื่อนกิ่วคอหมา ระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 255 ลบ.ม.ต่อวินาที ขณะที่เขื่อนกิ่วลม ระบายน้ำอยู่ที่ประมาณ 322 ลบ.ม.ต่อวินาที จะส่งผลให้มีพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ ดังนี้

หมู่ 1 บ้านบุญนาคพัฒนา ต.บุญนาคพัฒนา อ.เมืองลำปาง พื้นที่ลุ่มต่ำในเขตเทศบาลนครลำปาง อ.เมืองลำปาง บริเวณถนนเลียบแม่น้ำวังด้านล่างทั้ง 2 ฝั่ง ตั้งแต่บริเวณสะพานเสตุวารี ถ.ท่านางลอย ถ.ป่าไม้ ถ.เจริญประเทศ ถ.ปงสนุก ถ.ตลาดเก่า ถ.ทิพย์ช้าง และถ.บ้านดงไชยบางส่วน คาดว่าจะมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันประมาณ 70-85 ซม.

นอกจากนี้ การระบายน้ำดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ลุ่มต่ำทั้ง 2 ฝั่งแม่น้ำวังบริเวณท้ายเขื่อนกิ่วลมด้วย และหากมีปริมาณน้ำฝนด้านท้ายเขื่อนกิ่วลมตกลงมาสมทบอีก จะทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำวังเพิ่มระดับสูงขึ้นตามไปด้วย

กรมชลประทาน ประสานจังหวัดลำปาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้เคลื่อนย้ายสิ่งของที่จะเกิดความเสียหายขึ้นที่สูง และเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดแล้ว หากมีการปรับแผนการระบายน้ำเพิ่มเติมจะแจ้งให้ทราบเป็นระยะ ๆ ทั้งนี้ กรมชลประทาน ได้ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของตัวเขื่อนกิ่วลม-กิ่วคอหมาแล้ว ขอยืนยันว่าเขื่อนทั้ง 2 แห่ง ยังมีความมั่นคง แข็งแรง และปลอดภัย สามารถใช้ในการบริหารจัดการน้ำได้อย่างเต็มศักยภาพ

พนังกั้นน้ำยมสุโขทัยพัง น้ำทะลักท่วมชุมชนอ่วมกว่า 100 ครัวเรือน พร้อมเร่งอพยพหนีน้ำ

ที่มา: ThaiPBS

ด้าน จังหวัดสุโขทัย ช่วง 19.30 น. ของวานนี้ (24 ก.ย.67) เกิดสถานการณ์น้ำจากแม่น้ำยมเอ่อล้นตลิ่ง พนังกั้นน้ำยมฝั่งตะวันออก (ฝั่งซ้ายแม่น้ำยม) พังทลาย บริเวณสะพานข้ามแม่น้ำยม หลังวัดศรีสังวร ม.6 ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง เกิดการยุบตัวทำให้มวลน้ำจากแม่น้ำยมไหลทะลักเข้าท่วมพื้นที่บริเวณวัดศรีสังวรและโรงเรียนวัดศรีสังวร ด้วยระดับน้ำที่สูงถึง 50 – 80 ซม. รวมถึงถนนสาย 101 จรดวิถีถ่อง ช่วงตั้งแต่หน้าวัดศรีสังวร บ้านท่าช้าง – สี่แยกท่าช้าง สูง 20 – 80 ซม. ส่งผลทำให้เจ้าหน้าที่ต้องปิดการจราจรในช่วงนี้ และให้ประชาชนเลี่ยงเส้นทางไปใช้ถนนทางหลวงเส้น 1195 แทน

อย่างไรก็ดี ด้วยปริมาณที่ยังไม่มีวี่แววว่าจะลดลง ส่งผลทำให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณดังกล่าวกว่า 100 ครัวเรือน ต้องเร่งขนย้ายทรัพย์สินหนีน้ำ รวมทั้งอพยพออกมาอยู่ในที่ปลอดภัย เนื่องจากภายในบ้านบางจุดถูกน้ำท่วมสูงกว่า 1.5 เมตร แล้ว

ด้าน สุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย พร้อมด้วย หน่วยงานป้องกันจังหวัด และเจ้าหน้าที่กู้ภัยบางแก้วกว่า 20 นาย ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลืออพยพผู้ประสบภัย และได้สั่งการให้เตรียมศูนย์พักพิงผู้ประสบภัยอย่างเร่งด่วน คาดว่า ระดับน้ำที่ท่วมในจุดนี้ จะยังคงมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมวลน้ำทางตอนเหนือสุโขทัยจากจังหวัดแพร่ยังไม่มีทีท่าว่าจะลดลง

นอกจากนี้ หลังจากช่วงหัวค่ำวานนี้ (24 ก.ย. 67) น้ำจากแม่น้ำยมได้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชนบริเวณบ้านท่างช้าง ม.6 ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง ทำให้ชาวบ้านต้องรีบขนย้ายทรัพย์สินหนีน้ำออกมา พระครูปลัดสุวัฒนสาธุคุณ เจ้าอาวาสวัดพลายชุมพล ตำบลบ้านกล้วย อำเภอเมืองสุโขทัย  และ สนอง อินทิม นายกอบต.ทับผึ้ง จึงได้เปิดโรงครัวช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ เพื่อจัดหาอาหารและน้ำดื่มสำหรับผู้ประสบภัยที่ไม่ได้รับประทานอาหารเย็นในวันเกิดเหตุ ขณะที่เจ้าหน้าที่กู้ภัยยังคงเดินทางมาให้การช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง

สถานการณ์น้ำท่วมในภาคเหนือนี้ยังคงน่ากังวล เนื่องจากปริมาณน้ำในแม่น้ำยมและแม่น้ำวังยังคงเพิ่มสูงขึ้น ประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำจึงถูกเตือนให้เตรียมตัวรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเลวร้ายลง

หวั่นน้ำยมเพิ่มสูง ผู้ว่าฯ แพร่ ประชุมฉุกเฉินรับมือน้ำท่วม-ตั้งศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ด้านจังหวัดแพร่ เมื่อ 24 ก.ย. 67 เวลา 21.00 น. ที่ผ่านมา ไทยรัฐ รายงานว่า ชุติเดช มีจันทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดแพร่ เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม เนื่องจากระดับน้ำในแม่น้ำยมเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้บางพื้นที่ในจังหวัดแพร่เริ่มถูกน้ำท่วม โดยเฉพาะบริเวณติดแม่น้ำยมและพื้นที่ลุ่มต่ำ บางแห่งระดับน้ำสูงเกือบ 2 เมตร

เทศบาลเมืองแพร่ได้นำถุงกระสอบทรายขนาดใหญ่ (บิ๊กแบ็ก) มาวางกั้นในจุดที่เสี่ยงต่อการสูงขึ้นของระดับน้ำ เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าท่วมเขตเศรษฐกิจของอำเภอเมืองแพร่ อย่างไรก็ตาม เวลา 23.00 น. ระดับน้ำที่ห้วยสัก (y20) ลดลงมาอยู่ที่ 7.26 เมตร ในขณะที่สถานีน้ำโค้ง (y1c) มีระดับน้ำสูงถึง 9.15 เมตร ปริมาณน้ำ 1,144 ลบ.ม. โดยปริมาณน้ำล้นเข้าท่วมสะพานข้ามแม่น้ำยม เชื่อมต่อระหว่างเขตเทศบาลเมืองแพร่ และตำบลป่าแมต อำเภอเมืองแพร่ ส่งผลให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจภูธรเมืองแพร่ต้องปิดเส้นทางการสัญจรเพื่อป้องกันอุบัติเหตุ

ขณะเดียวกัน หน่วยกู้ภัยจังหวัดแพร่ สมาคมกู้ภัยเด่นชัยร่วมบุญ และกู้ภัยสูงเม่น ได้เข้าช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วม โดยมีการประสานงานกับหน่วยกู้ภัยจากจังหวัดอุตรดิตถ์เพื่อนำเรือเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่ที่ต้องการความช่วยเหลือ

โชคชัย พนมขวัญ นายกเทศมนตรีเมืองแพร่ เผยว่า คาดว่าระดับน้ำจะสูงสุดที่ประมาณ 9.50 เมตร และคาดว่าน้ำจะเริ่มลดลงในช่วงเช้าของวันพรุ่งนี้ (26 ก.ย. 67) ซึ่งทางเทศบาลเมืองแพร่ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเพิ่มเติมในกรณีฉุกเฉิน พร้อมทั้งเตรียมแจกจ่ายอาหารและสิ่งของช่วยเหลือให้กับชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น ชุมชนเชตวัน สระบ่อแก้ว ศรีชุม และสวรรคนิเทศ ระดับน้ำอยู่ที่ 9 เมตรเศษ ตอนนี้การเพิ่มของน้ำมีอัตราลดลง จากนี้ก็จะเริ่มนิ่งและทรงตัว พื้นที่ริมน้ำสูงต่ำไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่จากมณฑลทหารบกที่ 35 และกองพันทหารม้าที่ 12 ค่ายพระยาไชยบูรณ์ ได้ร่วมมือกับโรงพยาบาลแพร่ในการช่วยเหลือชาวบ้านย้ายของขึ้นที่สูง และจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ดูแลผู้ป่วยติดเตียงในพื้นที่น้ำท่วมเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

น้ำกว๊านพะเยาล้นตลิ่ง เทศบาลเมืองพะเยาตัดไฟฟ้า-ขอความร่วมมืองดสัญจรยามวิกาล

ที่มา: จังหวัดพะเยา

จังหวัดพะเยา เมื่อ 24 ก.ย. 67 ที่ผ่านมา มีรายงานว่า สถานการณ์ในพื้นที่ยังเกิดฝนตก ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่บ้านเรือนประชาชน ต.ต๋อม ต.ต๊ำ ต.ท่าจำปี ต.แม่ใส ต.แม่ต๋ำ ต.ท่าวังทอง ต.แม่กา ในเขต อ.เมืองพะเยา และน้ำร่องช้าง ได้ไหลเข้าท่วมชุมชน อำเภอดอกคำใต้ ทั้งในเขตเทศบาลเมืองดอกคำใต้ และนอกเขตเทศบาล ตลอดจนหมู่บ้านใกล้ลำน้ำ ขณะที่ชาวบ้านหลายหมู่บ้าน อำเภอเชียงม่วน ก็ถูกน้ำท่วมหลายตำบลหลายหมู่บ้านเช่นกัน ทำให้น้ำป่าและน้ำในลำน้ำได้เอ่อทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ถนน วัด ไร่นา เป็นบริเวณกว้าง

สำหรับสถานการณ์น้ำในกว๊านพะเยา มีปริมาณกักเก็บเพียง 55.650 ล้าน ลบ.ม. และในวันที่ 24 ก.ย. ที่ผ่านมา มีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีระดับสูง 392.59 ปริมาณน้ำ 57.855 ล้าน ลบ.ม. เกินปริมาณการกักเก็บ ทำให้ไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือน ไร่นา ถ.พหลโยธิน ในตัวเมืองพะเยา และชุมชน ต.เวียง เขตเทศบาลเมืองพะเยา ปริมาณน้ำกว๊านสูงขึ้น ทางชลประทานพะเยาก็ได้ทำการระบายออกประตูน้ำสู่ลำน้ำอิง ทำให้ชุมชนบ้านแม่ต๋ำเมืองชุม เขตเทศบาลเมืองพะเยา และชุมชนบ้านฝั่งหมิ่น ต.ดอกคำใต้ อ.ดอกคำใต้ ถูกน้ำที่ระบายออกจากกว๊านพะเยาไหลทะลักเข้าท่วมเป็นรอบที่ 2 ด้วยเช่นกัน

ขณะเดียวกันในวันนี้ (25 ก.ย. 67) เพจเฟซบุ๊ก พะเยาโพสต์ PhayaoPost ได้รายงานถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ ต.เวียง จ.พะเยา ว่า เนื่องจากปริมาณน้ำกว๊านพะเยาเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำล้นตลิ่งในบางพื้นที่

เพื่อความปลอดภัยของประชาชน เทศบาลเมืองพะเยาจึงได้ตัดกระแสไฟฟ้าในระบบไฟฟ้าส่องสว่างตลอดแนวถนนชายกว๊าน (ฝั่งเลียบกว๊าน) ตั้งแต่ลานอเนกประสงค์เทศบาลเมืองพะเยาไปจนถึงบริเวณวัดน้อย (ร้าง) และลานอนุสาวรีย์พ่อขุนงำเมือง เป็นการชั่วคราว จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

ทางเทศบาลยังขอความร่วมมือประชาชนผู้ใช้รถใช้ถนนเพิ่มความระมัดระวังในการสัญจร และขอให้งดการเดินบนเส้นทางเลียบกว๊านในช่วงเวลากลางคืน เพื่อป้องกันอันตรายและลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ

สำหรับสถานีขนส่งผู้โดยสารจังหวัดพะเยา การจอดรับ-ส่งผู้โดยสารของรถโดยสารประจำทางทุกเส้นทาง จะดำเนินการบริเวณถนนด้านหน้าของสถานีชั่วคราว จนกว่าระดับน้ำจะลดลงสู่ภาวะปกติ

ทั้งนี้ หากประชาชนพบเหตุฉุกเฉินหรือมีความต้องการความช่วยเหลือ สามารถติดต่อได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 054-431123 หรือสายด่วน 199 ตลอด 24 ชั่วโมง

เขื่อนแม่งัดประกาศเตือนระดับน้ำในพื้นที่ ขอประชาชนเตรียมพร้อม ยกของขึ้นที่สูง-นำยานพาหนะไปจอดในที่ปลอดภัย 

ที่มา: เพจเฟซบุ๊ก เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กรมชลประทาน

เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล กรมชลประทาน ออกประกาศแจ้งเตือนสถานการณ์น้ำของตัวเขื่อนแม่งัด ในจังหวัดเชียงใหม่ โดยระบุว่า เนื่องจากอิทธิพลของพายุ ‘ซูริก’ และร่องความกดอากาศต่ำระหว่างวันที่ 21-24 กันยายน 2567 ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีฝนตกกระจายทั่วทั้งจังหวัดในเกณฑ์หนักมาก ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำปิงและลำน้ำสาขาในพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำมีปริมาณสูง

สถานการณ์น้ำล่าสุด ณ วันที่ 25 กันยายน 2567 เวลา 07.00 น. ปริมาณน้ำในเขื่อนฯ ปริมาณน้ำเท่ากับ 277.166 ล้าน ลบ.ม.  คิดเป็น 104.59% ระดับน้ำ +397.250 ม.(รทก.) และจากการประเมินสถานการณ์ปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนของวันนี้ (25 ก.ย. 67) คาดว่า จะมีปริมาณน้ำสูงเกินกว่าระดับเก็บกักสูงสุด +398.26 ม.(รทก.) อาจส่งผลให้ปริมาณน้ำส่วนเกินล้นผ่านอาคารทางระบายน้ำฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ในอัตรา 50-200 ลบ.ม. ต่อวินาที ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำปิงมีปริมาณน้ำที่สูง ทำให้ปริมาณน้ำส่วนเกินเอ่อล้นตลิ่งลำน้ำแม่งัด ส่งผลกระทบต่อพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรของประชาชนที่อยู่ติดกับลำน้ำแม่งัด ในเขตตำบลบ้านเป้า ตำบลช่อแล และตำบลอินทขิล ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.00 น.เป็นต้นไป ของวันที่ 26 กันยายน 2567 (คืนวันนี้)

ทั้งนี้ ทางเขื่อนฯ จะเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิด รวมถึงรายงานให้ทราบอย่างต่อเนื่อง และขอให้ประชาชนในพื้นที่เตรียมความพร้อม ยกของขึ้นที่สูง และนำยานพาหนะไปจอดในที่ปลอดภัยเพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง