‘เลาฟั้ง’ ฉะ พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ถูกขวาง คาดมีคนเสียผลประโยชน์

15 มกราคม 2568 เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคประชาชน โพสต์ข้อความผ่านเฟสบุ๊คชื่อว่า Laofang Bundidterdsakul ถึงการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองและส่งเสริมวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ พ.ศ. …. โดยระบุว่า

ทำไม พ.ร.บ.ชาติพันธุ์ฯ ที่กำลังเข้าสภาฯ ถึงถูกขัดขวาง ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้ไม่มีสัญญาณใดๆ ว่า ส.ส.หรือพรรคการเมืองใดจะคัดค้าน และตลอดการพิจารณาเรียงมาตราในสภาฯ ก็ไม่มีปัญหาใดๆ จนกระทั่งมาถึงมาตราท้ายๆ คือหมวดที่ว่าด้วย “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ก็มี ส.ส. อาวุโสกลุ่มหนึ่งในพรรครัฐบาลได้ลุกขึ้นอภิปรายคัดค้าน โดยอ้างว่าเขียนวกวนอ่านไม่เข้าใจบ้าง เขียนไม่ถูกต้องบ้าง กลัวว่าจะกระทบต่อพื้นที่ป่าบ้าง และขัดต่อรัฐธรรมนูญบ้าง ลามไปถึงตำหนิกรรมาธิการและเจ้าหน้าที่ในห้องประชุมสภาฯ ด้วย ซึ่งผมและกรรมาธิการท่านอื่นๆ ก็ได้พยายามชี้แจงแล้ว ประธานกรรมาธิการฯ และวิปฝ่ายรัฐบาล ก็พยายามไปเจรจาแล้ว แต่ไม่เป็นผล ในที่สุดจึงต้องเลื่อนการประชุมออกไปก่อน แต่เมื่อถึงการประชุมนัดต่อมาฝ่ายรัฐบาลก็ขอให้เลื่อนการพิจารณาออกไปอีกครั้ง โดยขอเวลา 3 สัปดาห์ พร้อมกันนี้ก็มี ส.ส.อาวุโสบางคนในพรรคเพื่อไทยก็ยังอภิปรายย้ำอีกว่ามีเนื้อหาขัดต่อรัฐธรรมนูญ

​ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียง คือ “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” เป็นการร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐ ชุมชนและภาควิชาการ ประกาศกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองให้กลุ่มชาติพันธุ์สามารถดำรงชีวิตได้อย่างภาคภูมิ โดยรับรองให้มีสิทธิในการใช้ที่ดิน ทรัพยากร และสามารถพัฒนาอาชีพและสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ เพื่อแก้ไขปัญหาที่ดินทับซ้อนกับพื้นที่ป่า ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของปัญหาทั้งหมด ซึ่งโดยเนื้อหาแล้วก็คล้ายๆ กับนโยบาย คทช. ของรัฐบาล เพียงแต่เอื้อประโยชน์ให้แก่ชาวบ้านมากกว่า

​คำถามคือ ทำไมการออกกฎหมายเพื่อกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์ฯ ถึงถูกคัดค้านอย่างแข็งขัน

​ผมคิดว่าเรื่องนี้ย่อมไม่ใช่การคัดค้านด้วยเหตุผลด้านกฎหมายหรือความคิดเห็นส่วนตัวอย่างแน่นอน เพราะได้รับทราบจากวิปฝ่ายรัฐบาลว่า ส.ส. อาวุโสที่เป็นนักกฎหมายหลายคนในพรรครัฐบาล ได้ชี้แจงอย่างชัดเจนแล้วว่าไม่มีประเด็นขัดต่อรัฐธรรมนูญ จึงน่าเชื่อว่าพวกเขาเหล่านั้นถูกผู้มีอำนาจ ข้าราชการประจำในกระทรวงทรัพย์ฯ และกลุ่มนายทุนเหมืองแร่ลอบบี้ให้คัดค้าน เพราะการกำหนดเขตพื้นที่คุ้มครองนี้จะกระทบต่ออำนาจและผลประโยชน์ของพวกเขาเหล่านั้น ซึ่งที่ผ่านมาต่างก็ทราบดีว่าเป็นพวก “เสือนอนกิน” ผูกขาดอำนาจและผลประโยชน์ในทรัพยากรของรัฐมาโดยตลอด โดยอ้างเพื่อรักษาป่าไม้ของชาติและประโยชน์ด้านเศรษฐกิจ

​นอกจากเกิดปรากฏการณ์ ส.ส.ขัดขวางกฎหมายนี้แล้ว ยังทราบมาอีกว่า สว. บางส่วนก็ถูกล็อบบี้ไว้หมดแล้ว จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าเมื่อผ่านสภา ส.ส. ไปแล้ว อาจจะถูกคัดค้านจากสภา สว. อีก

​กลุ่มแรก คือ ผู้มีอำนาจและข้าราชการในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีสองด้าน คือ

​ด้านที่หนึ่ง พวกเขาจะสูญเสียอำนาจบางส่วน (ความจริงเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก คือ ไม่เกิน 1% ของพื้นที่) ซึ่งผมเชื่อว่าความจริงแล้วพวกเขาไม่ได้สนใจพื้นที่ที่ถูกตัดอำนาจไป หากแต่ไปกระทบต่อชุดอุดมการณ์ความคิดแบบอนุรักษ์นิยม และทำให้พวกเขารู้สึกสูญเสียอำนาจที่ตนผูกขาดมาตลอด จึงยอมรับไม่ได้

​ด้านที่สอง พวกเขาจะสูญเสียผลประโยชน์ที่ผูกขาดมาโดยตลอด เช่น การบริหารงบประมาณแผ่นดินที่ได้รับการจัดสรร และสินบนจากการอนุมัติอนุญาตให้ใช้พื้นที่ป่าเพื่อกิจการต่างๆ เช่น การทำโครงสร้างพื้นฐาน การขอสัมปทานพื้นที่ป่าของเอกชนเป็นต้น

​กลุ่มที่สอง คือ กลุ่มนายทุนเหมืองแร่จะเสียผลประโยชน์มหาศาล เนื่องจากพบว่าพื้นที่ขอประทานบัตรเหมืองแร่จำนวนหนึ่งอยู่ในพื้นที่คาบเกี่ยวกับที่ดินทำกินหรือป่าชุมชนของกลุ่มชาติพันธุ์ฯ เหมืองบางแห่งอยู่ระหว่างดำเนินการ บางแห่งอยู่ระหว่างขออนุญาตดำเนินการ เช่น เหมืองถ่านหินที่อำเภออมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่ เหมืองฟูออร์ไรต์และเหมืองหินที่จังหวัดแม่ฮ่องอน นอกจากนี้ยังมีเหมืองแร่อื่นๆ กระจายตามพื้นที่จังหวัดต่างๆ ที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ฯ อยู่และหลายพื้นที่มีการคัดค้านอย่างแข็งขัน ดังนั้น หากประกาศเป็นเขตพื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์แล้ว จะทำให้ที่ดินสำหรับอยู่อาศัยและทำประโยชน์ของชุมชนได้รับการคุ้มครองตามกฎหมาย กิจการเหมืองแร่จะถูกห้ามอย่างเข้มงวด ย่อมจะทำให้นายทุนเหล่านั้นต้องเสียผลประโยชน์โดยตรง

​เมื่อผู้มีอำนาจ ข้าราชการและนายทุนต่างสูญเสียอำนาจและผลประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้ พวกเขาจึงยอมไม่ได้และพยายามทำทุกวิถีทางเพื่อระงับยับยั้งไม่ให้กฎหมายนี้ในหมวดที่ว่าด้วย “พื้นที่คุ้มครองวิถีชีวิตกลุ่มชาติพันธุ์” ผ่านเป็นกฎหมายได้

​แม้ที่ประชุมจะกำหนดว่าให้ไปทำความเข้าใจกับ ส.ส.บางคนที่ยังเห็นต่าง และให้นำกลับมาพิจารณาอีกครั้งในวันที่ 5 กุมภาพันธุ์ แต่มีความเป็นไปได้สูงที่จะถูกตีรวนและถ่วงเวลาไปเรื่อยๆ และใช้เทคนิทางการเมืองบีบให้ต้องถูกถอนออกไป ผลคือจะทำให้ประชาชนกลุ่มชาติพันธุ์ต้องเสียโอกาสและเสียเวลาต่อไป

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง