เศรษฐกิจเพชรบูรณ์เมื่อทริปน้ำไม่อาบมาเยือน  ‘หน่วยงานท้องถิ่น’ อยู่ตรงไหนในทริปนี้? 

เรื่อง: ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

“รวมตัวกันขี่มอเตอร์ไซค์เป็นหมื่นๆ คน บอกจะไปทำบุญไปกระตุ้นเศรษฐกิจ สุดท้ายรวมเงินทำบุญได้ 4 แสนนิดๆ วันหลังโอนเงินไปให้วัดเถอะไม่ต้องขี่มา รำคาญ!!!”

ข้อความข้างต้นคือคอมเม้นท์จากผู้ใช้เฟซบุ๊กรายหนึ่งได้กล่าวถึง ‘ทริปน้ำไม่อาบ’  ที่มาเยือนจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อวันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2567 ที่ผ่านมา และเป็นทริปท่องเที่ยวที่จัดมายาวนานต่อเนื่องกว่า 6 ปี ตามคำกล่าวอ้างของเมลาย รัชดา ผู้จัดการทริป โดยการรวมตัวขี่มอเตอร์ไซค์ออกทริปท่องเที่ยวของทริปน้ำไม่อาบ ได้กลับมาเป็นที่พูดถึงอีกครั้ง หลังมีกระแสวิพากษ์จากสังคมมาต่อเนื่องกว่า 2 ปี ทั้งข้อวิจารณ์เรื่องปริมาณรถมอเตอร์ไซค์ รูปร่างหน้าตาของผู้ขับขี่ เสียงแง้นๆ จากการบิดมอเตอร์ไซค์ ไปจนถึงการที่ เมลาย รัชดา และทราย เอสพัน ผู้จัดทริป ได้ปลุกกระแสให้คำว่า ‘ทรงซ้อ’ และ ‘ทรงเอ’ กลายเป็นที่พูดถึงในสังคมไทยอยู่ช่วงเวลาหนึ่งเลยทีเดียว

“รวมวีรกรรม ทริปน้ำไม่อาบ ป่วนทั้งถนน ชนพระแล้วหนี เฉี่ยวชาวบ้าน 9ขวบเจ็บ”  

“ดับแล้ว 1 ราย ทริปน้ำไม่อาบ ตายระหว่างทาง เมลาย หัวหน้าแก๊ง โพสต์ถามใครขับรถชนพระ” 

ข้อความเหล่านี้คือพาดหัวข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ หลังเริ่มต้นทริปน้ำไม่อาบได้เพียง 1 วัน จนนำไปสู่ข้อเรียกร้องต่อหน่วยงานราชการต่างๆ ให้เข้ามาดูแลทริปน้ำไม่อาบในครั้งนี้  

ศรัญญู มีทองคำ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นทริปน้ำไม่อาบ เมื่อวันที่ 23 พฤษจิกายน 2567 โดยกล่าวว่า “น้องๆ ทริปน้ำไม่อาบมาท่องเที่ยวในพื้นที่ถือเป็นเรื่องดี เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ”  

เหตุการณ์นี้ทำให้ สุเทพ เบียร์ดี นายอำเภอเขาค้อ ได้ออกหนังสือสั่งการต่อกำนันและผู้ใหญ่บ้านในอำเภอเขาค้อให้เตรียมตั้งจุดวัดเพื่อควบคุมการการจราจรและความปลอดภัยของชุมชน ก่อนวันนัดรวมกันของทริปน้ำไม่อาบเพียง 2 วัน ต่อมา อนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ก็ได้ถูกสัมภาษณ์ในประเด็นทริปไม่อาบน้ำเช่นเดียวกัน 

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อทริปน้ำไม่อาบและการเรียกร้องการกำกับดูแลความสงบเรียบร้อยจากหน่วยงานของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐที่รับหน้าที่ดูแลความสงบเรียบร้อยนอกจากตำรวจแล้ว ส่วนใหญ่เป็น ‘ข้าราชการฝ่ายปกครอง’ ที่สังกัดกระทรวงมหาดไทย ไม่ว่าจะเป็นผู้ว่าราชการ ไปจนถึงผู้ใหญ่บ้าน แต่หน่วยงานหนึ่งที่หายไปจากสื่อเลยก็คือบรรดา ‘องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น’ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็น อบจ.เพชรบูรณ์ อบต.เขาค้อ อบต.เข็กน้อย หรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นอื่นๆ ที่รับผิดชอบในพื้นที่ระหว่างภูทับเบิกและเขาค้อ ซึ่งเป็นจุดหมายการท่องเที่ยวของทริปไม่อาบน้ำ  

เพื่อตอบคำถามว่า องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นหายไปจากหน้าข่าวทริปไม่อาบน้ำได้อย่างไร? เราจึงจะพาทุกคนไปสำรวจการทำงานขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นในการบริหารจัดการการท่องเที่ยวเขาค้อและภูทับเบิก เพื่อหวังว่าเรื่องราวดราม่านี้ จะมีตัวละครใหม่ๆ ให้เราได้พูดถึงกันบ้าง 

พัฒนาการ การท่องเที่ยวเขาค้อ-ภูทับเบิก  

340+ ภูทับเบิก ภาพถ่ายสต็อก รูปภาพ และภาพปลอดค่าลิขสิทธิ์ - iStock

การส่งเสริมการท่องเที่ยวเขาค้อและภูทับเบิก เริ่มต้นในปี 2546 การท่องเที่ยวเริ่มกลายเป็นความหวังใหม่ในทางเศรษฐกิจ ประเทศไทยเริ่มดำเนินนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬาเมื่อปี 2545 รวมถึงการให้ข้าราชการจากกระทรวงต่างๆ รับบทยอดนักขายด้วยเช่นกัน ทูตจากกระทรวงต่างประเทศมิได้ทำหน้าที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างประเทศเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ต้องทำหน้าที่เป็นเซลล์แมนได้ด้วย ในขณะที่ผู้ว่าจากกระทรวงมหาดไทยก็ต้องเป็นทั้ง CEO บริหารจังหวัด และต้องเป็นนักโฆษณาการท่องเที่ยวของจังหวัดไปด้วยในเวลาเดียวกัน 

ดิเรก ถึงฝั่ง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ในเวลานั้น ได้โฆษณาการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ภายใต้สโลแกน “นอนภูทับเบิกหนึ่งคืน อายุยืนห้าสิบปี” เพื่อจัดวางให้ภูทับเบิกเป็นหมุดหมายในการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์ และเทียบเชิญสมาคมท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์เพื่อเข้ามาร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ ในปี 2547 จึงเริ่มปรากฏความสำเร็จในการส่งเสริมการท่องเที่ยวภูทับเบิก แต่รายได้ส่วนใหญ่กลับตกไปอยู่กับสมาคมท่องเที่ยวเพชรบูรณ์มากกว่าจะเป็นรายได้ให้กับคนในชุมชนทับเบิก จึงทำให้ผู้ว่าดิเรกได้ร้องขอให้สมาคมฯ ถอนตัวออกเมื่อครบ 2 ปี ต่อมาในปี 2550 ชาวบ้านชุมชนทับเบิกจึงเริ่มรวมตัวกันเพื่อเข้ามาทำหน้าที่บริหารจัดการการท่องเที่ยวภูทับเบิก โดยมีศูนย์สงเคราะห์ชาวเขาเป็นหน่วยงานที่เข้ามาช่วยเหลือเป็นระยะ 

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ภูมิประเทศ, ท้องฟ้า, หมอก

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ในช่วงเวลาระหว่าง ปี 2546-2550 เขาค้อเองก็เริ่มได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของเพชรบูรณไปพร้อมกับๆ ภูทับเบิก โดยตั้งแต่ปี 2550 หน่วยงานราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เริ่มส่งเสริมให้ทั้งเขาค้อและภูทับเบิกเป็นโมเดลการท่องเที่ยวโดยชุมชน สังเกตได้จากการสนับสนุนงบประมาณผ่านโครงการขนาดเล็กที่ลงดำเนินโครงการในทั้งสองแหล่งท่องเที่ยว ตัวอย่างเช่น การสนับสนุนการทำวิจัยแบบเรียนรู้จากประสบการณ์จริง (Action Research) ที่ให้ชาวบ้านในชุมชนเขาค้อและชุมชนทับเบิกเป็นผู้ทำวิจัยด้วยตนเอง ซึ่งเป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่าการสนับสนุนแหล่งท่องเที่ยวทั้งสองจะดำเนินไปในโมเดลที่หน่วยราชการส่วนกลางหรือภูมิภาคดำเนินร่วมกับชาวบ้านโดยตรง โดยไม่ดำเนินโครงการผ่านองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นแต่อย่างใด 

ฉะนั้น การท่องเที่ยวภูทับเบิกและเขาค้อจึงเกิดขึ้นภายใต้ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนกับหน่วยงานราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค โดยไม่เปิดทางให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวเขาค้อและภูทับเบิก 

ท้องถิ่นอยู่ตรงไหนในการท่องเที่ยวเขาค้อ-ภูทับเบิก 

จากการประเมินศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์ พบว่า แม้พื้นที่อำเภอเขาค้อหลายแห่งจะมีศักยภาพในการท่องเที่ยวสูงมาก แต่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นกลับมิได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาการท่องเที่ยวมากนัก อันเป็นผลมาจากเหตุผล 4 ประการด้วยกัน ประกอบด้วย

  1. องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นขาดประสบการณ์และความรู้ในการจัดการการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นปัญหาที่สืบเนื่องมาจากการพัฒนาการท่องเที่ยวเขาค้อ-ภูทับเบิก ที่ไม่ได้ให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมตั้งแต่เริ่มต้น 
  2. ขาดความร่วมมือจากหน่วยงานราชการส่วนภูมิภาคและกฎหมายที่คลุมเครือในประเด็นเกี่ยวกับอำนาจจัดการท่องเที่ยว ส่งผลให้เกิดความสับสนในการดำเนินนโยยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นต่างๆ ในอำเภอเขาค้อ ท้ายที่สุดจึงทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้ เลือกดำเนินนโยบายประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวมากกว่าจะดำเนินกิจการส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง 
  3. การขาดแคลนงบประมาณ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในอำเภอเขาค้อมีความสามารถในการจัดเก็บรายได้น้อยมาก ซ้ำงบประมาณสนับสนุนและเงินอุดหนุนเองก็มีน้อย ทำให้งบประมาณขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเหล่านี้มีใช้อย่างจำกัด เพียงพอแค่นำมาใช้ในการดำเนินภารกิจบำบัดทุกข์บำรุงสุดคนในชุมชนซึ่งเป็นพันธกิจสำคัญของหน่วยงานท้องถิ่น ไม่สามารถนำงบประมาณมาส่งเสริมการท่องเที่ยวได้มากนัก 
  4. การขาดการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการระหว่างหน่วยราชการส่วนภูมิภาค องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และภาคประชาชน ซึ่งเป็นปัญหาที่นำไปสู่การพัฒนาแบบแยกส่วน  

ตารางแสดงรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่เขาค้อและภูทับเบิก 

องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อำเภอ รายได้ที่จัดเก็บได้เอง  (ล้านบาท) รายได้ที่รัฐจัดสรรให้ (ล้านบาท) เงินอุหนุน (ล้านบาท) รายได้รวม (ล้านบาท) 
อบต. เข็กน้อย เขาค้อ 2.79 35.97 53.91 92.66 
อบต. เขาค้อ เขาค้อ 4.04 28.27 35.92 68.23 
อบต. ทุ่งสมอ เขาค้อ 4.43 19.51 13.85 37.79 
อบต. หนองแม่นา เขาค้อ 0.56 16.56 11.23 28.34 
อบต. วังบาล หล่มเก่า 2.02 29.43 40.07 71.52 
ข้อมูลรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประจำปีงบประมาณ 2566 จาก กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น 

จากข้อมูลการจัดเก็บรายได้ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น 4 แห่งในพื้นที่เขาค้อ ประกอบด้วย อบต. เข็กน้อย เขาค้อ ทุ่งสมอ และหนองแม่นา และอีก 1 แห่งในพื้นที่ภูทับเบิก คือ อบต. วังบาล เราจะเห็นว่าแม้องค์การฯ เหล่านี้จะทำหน้าที่รับผิดชอบดูแลแหล่งท่องเที่ยว แต่กลับมีรายได้ที่น้อยมาก โดยสามารถจัดเก็บได้ สูงสุดเพียง 4.43 ล้านบาทเท่านั้น ขณะที่ อบต.หนองแม่นามีความสามารถในการจัดเก็บรายได้ต่ำสุด โดยจัดเก็บได้ไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการประเมินศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอเขาค้อ รวมถึง อบต.วังบาล ซึ่งเป็นหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลแหล่งท่องเที่ยวภูทับเบิก ก็มิได้มีสถานะทางการเงินที่ดีไปกว่า อบต. ในพื้นที่เขาค้อแต่อย่างใด 

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, กลางแจ้ง, ท้องฟ้า, ต้นไม้

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพจาก pantip.com

การที่เขาค้อมีทั้งพื้นที่อุทยานแห่งชาติและเขตพื้นที่ป่าสงวน ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากที่พักหรือแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ได้เลย ถือเป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้องค์การบริหารจัดการส่วนท้องถิ่นทั้ง 5 แห่งนี้ สามารถจัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวได้น้อยมาก แม้ว่าเขตรับผิดชอบจะเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของจังหวัดเพชรบูรณ์ 

ในขณะที่ อบต. มิอาจจัดเก็บรายได้จากแหล่งเท่าที่เหล่านี้ได้ แต่จำนวนที่พักและที่ท่องเที่ยวกลับขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ โดยอาศัยทั้งการใช้ที่ดินจัดสรรเพื่อการเกษตร พร้อมอ้างว่ากิจการท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นกิจการต่อยอดจากการเกษตรและไม่ต้องจัดส่งภาษีให้แก่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น หรือสร้างที่พักทับบนพื้นที่ป่าสงวนไปเลย 

นอกจากเป็นพื้นที่ป่าสงวนแล้ว ที่ดินหลายในตำบลเขาค้อยังเป็นที่ดินของกองทัพภาคที่ 3 ที่เริ่มเข้ามาขอใช้ประโยชน์จากที่ดินในตำบลเขาค้อตั้งแต่หลังปี 2529 เป็นต้นมา และระหว่างถือครองที่ดินนั้นก็ได้นำที่ดินหลายแปลงไปหาประโยชน์ ทั้งการปล่อยเช่าหรือแบ่งที่ดินบางส่วนให้เป็นที่ดินทำกินแก่ชาวบ้านในพื้นที่ นำมาซึ่งปัญหาต่างๆ มากมาก แม้กองทัพภาคที่ 3 จะอ้างว่าส่งคืนกรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในตำบลเขาค้อให้กรมป่าไม้ แต่ก็ยังมีข่าวเกี่ยวกับความขัดแย้งในที่ดินเหล่านี้ อย่างข่าวที่พักหลายแห่งถูกดำเนินคดีบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนหลายต่อหลายแห่ง ก็เป็นพื้นที่เดิมที่กองทัพภาคที่ 3 เคยถือครอง ซึ่งทำให้หน่วยราชการอื่นๆ ต้องเข้ามาตามแก้ปัญหาดังกล่าวจนถึงปัจจุบัน 

องค์การบริหารส่วนตำบลเขาค้อ - วิกิพีเดีย

แน่นอนว่าหน่วยงานที่ถูกกันออกจากการบริหารจัดการที่ดินคือ องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ทั้งที่ความเป็นจริงหน่วยงานท้องถิ่นเหล่านี้สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการปัญหาเหล่านี้ได้ และมีศักยภาพที่จะบริหารจัดการความขัดแย้งได้ดีกว่าราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค แต่กลับมิสามารถทำได้ เนื่องจากกรรมสิทธิ์เหนือที่ดินดังกล่าวยังคงเป็นของราชการส่วนกลางหรือส่วนภูมิภาค และแน่นอนว่าผลประโยชน์จากที่ดินเหล่านั้นก็เช่นกัน  

เศรษฐกิจท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ในวันที่ทริปน้ำไม่อาบมาเยือน 

“การกระตุ้นเศรษฐกิจ” กลายเป็นข้อแก้ตัวยอดฮิตของทริปน้ำไม่อาบ ทริปท่องเที่ยวที่ผู้เข้าร่วมจะขี่มอเตอร์ไซค์หลายพันคันเพื่อไปกินลม ชมวิว นอนตากลมหนาวโดยไม่อาบน้ำที่เขาค้อและภูทับเบิก สถานที่ท่องเที่ยวขึ้นชื่อของจังหวัดเพชรบูรณ์ ที่บรรดาสิงห์นักบิดทั้งรถใหญ่รถเล็กต่างตั้งเป็นจุดหมายในการท่องเที่ยวที่ควรไปเยือน 

“การมาของทริปน้ำไม่อาบ มองได้ 2 มุม มีทั้งคนที่ชอบและไม่ชอบ เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ร้านค้าขายดิบขายดีซึ่งเขาชอบมาก ส่วนบางคนที่อยู่ติดริมถนนซึ่งไม่มีผลประโยชน์ อาจจะว่าเสียงดัง เป็นการรบกวน แต่ก็ยอมรับว่าดังจริงๆ”  

“มองว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจเพราะเศรษฐกิจกำลังดีขึ้น สำหรับเรื่องเสียงดังคิดว่าปีละครั้งรับได้ ไม่มีผลกระทบ วันนี้ซึ่งเป็นวันกลับ ทางร้านก็กำลังเตรียมรับลูกค้าคิดว่าน่าจะคึกคัก เต็มร้านแน่นอน 

ข้อความข้างต้น คือคำให้สัมภาษณ์ของเจ้าของร้านอาหารที่ตั้งอยู่ริมถนนทางหลวงหมายเลข 21 สระบุรี-หล่มสัก ถนนที่ทริปไม่อาบน้ำใช้เป็นเส้นทางขับขี่รถมอเตอร์ไซค์กว่า 6 พันคัน และบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 1 หมื่นคน จำนวนลูกค้ากว่าหมื่นคนนี้เองคงเป็นเหตุให้ผู้ประกอบการยอมอดทนยิ้มต้อนรับเสียงเร่งเครื่องยนต์ หรือกระทั่งผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อนักข่าวขอสัมภาษณ์เกี่ยวกับประเด็นทริปไม่อาบน้ำ ท่านผู้ว่าก็ยังเอ่ยชื่นชมทริปไม่อาบน้ำว่า “เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ” 

คำถามที่น่าสนใจหลังจากฟังคำกล่าวอ้างเรื่องกระตุ้นเศรษฐกิจของทริปน้ำไม่อาบ คือ เศรษฐกิจท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์เป็นอย่างไรกันแน่?

สถานภาพการท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ 

แรกเริ่มนั้นจังหวัดเพชรบูรณ์ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยว หากแต่เป็นจังหวัดที่พึ่งพาการทำเกษตรเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจมาโดยตลอด ในปัจจุบันการทำการเกษตรก็ยังคงเป็นเครื่องจักรทางเศรษฐกิจหลักของจังหวัดเพชรบูรณ์ ในขณะที่การท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ ก็เริ่มเติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่หลังปี 2550 เป็นต้นมา โดยในปี 2566 รายได้จากการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์เพิ่มขึ้นกว่า 200% อันเป็นผลสืบเนื่องจากการฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 และการประกาศขึ้นทะเบียนเมืองศรีเทพเป็นมรดกโลก

การท่องเที่ยวดูจะเป็นเครื่องจักรใหม่ในทางเศรษฐกิจของจังหวัดเพชรบูรณ์ สังเกตได้จากแผนพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ ปี พ.ศ.2561-2565 ที่นิยามแผนการพัฒนาฉบับนี้ว่า “จังหวัดเพชรบูรณ์มุ่งส่งเสริมการเกษตรปลอดภัย ส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ที่ใช้ศักยภาพทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่เป็นจุดเด่น พร้อมกับการพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนและสังคมอย่างยั่งยืน เพื่อให้ไปสู่การเป็นเมืองแห่งความสุขของคนอยู่และผู้มาเยือน” สอดคล้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในระดับประเทศในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา ที่การท่องเที่ยวกลายเป็นความหวังทางเศรษฐกิจของรัฐบาลทั้งในระดับประเทศและระดับภูมิภาค จังหวัดเพชรบูณ์เองก็หวังพึ่งเครื่องจักรเครื่องนี้ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของจังหวัดที่ยังผูกติดอยู่การผลิตภาคเกษตร  

อย่างไรก็ตาม การท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์กลับพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยในสัดส่วนที่สูงมาก รายงานของสำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์เมื่อเดือนธันวาคม 2566 ระบุว่า นักท่องเที่ยวกว่า 2 แสนคน เป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมีจำนวนเพียง 6 พันคน และเป็นเช่นนี้มาต่อเนื่องเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2560 ที่มีนักท่องเที่ยวชาวไทยกว่า 2 ล้านคน แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติกลับมีจำนวนเพียง 2.5 หมื่นคน  

รูปภาพประกอบด้วย ข้อความ, ภาพหน้าจอ, ตัวอักษร, ออกแบบ

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
 ข้อมูลจาก สำนักงานการท่องเที่ยวและกีฬาจังหวัดเพชรบูรณ์ 

สัดส่วนนักท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ ทำให้เราสามารถอนุมานได้ว่า เศรษฐกิจการท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์ผูกโยงอยู่กับเศรษฐกิจในระดับประเทศโดยตรง กล่าวคือ การท่องเที่ยวจังหวัดเพชรบูรณ์จะดีหรือไม่ดีขึ้นอยู่สถานการณ์เศรษฐกิจระดับประเทศเลยก็ว่าได้ หากสภาพเศรษฐกิจทั้งประเทศอยู่ในสภาพย่ำแย่จำนวนนักท่องเที่ยวและเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์เองก็จะย่ำแย่ไปตามกัน  

แผนภูมิเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศไทยกับมูลค่าผลิตภัณฑ์ด้านการบริการของจังหวัดเพชบูรณ์ 

ข้อมูลผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัดแบบปริมาณลูกโซ่ ฉบับ พ.ศ. 2565 จาก สำนักงานพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ 

นโยบายขับ (ไม่) เคลื่อนการท่องเที่ยว  

การดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจไทย เริ่มเบนเข็มมาสู่การพึ่งพาการท่องเที่ยวตั้งแต่หลังการรัฐประหารเมื่อปี 2549 เป็นต้นมา โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารเมื่อปี 2557 ที่ประเทศไทยสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางอุตสาหกรรมไปมาก ขณะเดียวกันสถานการณ์เศรษฐกิจภายในประเทศก็ไม่สู้ดีนัก เนื่องจากปริมาณหนี้ครัวเรือนที่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและมีทีท่าว่าจะพุ่งสูงต่อไป  เสียงบ่นเสียงด่าเรื่องเศรษฐกิจย่ำแย่เป็นเสียงที่เราคงคุ้นเคยตั้งแต่การรัฐประหารครั้งล่าสุดเป็นต้นมา 

นอกจากการสนับสนุนนโยบายการท่องเที่ยวในระดับประเทศแล้ว รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้เสนอนโยบายพัฒนา “เศรษฐกิจฐานราก” โดยดำเนินนโยบายจากรัฐส่วนกลางเข้าสู่ชุมชนโดยตรง เพื่อหวังสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจในชุมชน พร้อมกับนำเสนอชื่อ “ประชารัฐ” ไปพร้อมกัน 

อีกหนึ่งข้ออ้างของนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก คือการกระจายความมั่งคั่งและอำนาจทางเศรษฐกิจลงสู่ชุมชนในจังหวัดต่างๆ แต่การดำเนินนโยบายกลับอาศัยหน่วยราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาคเป็นผู้ดำเนินนโยบาย ร่วมกับนักธุรกิจในพื้นที่และผู้นำชุมชน ขณะที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ในเวลานั้นถูกกำกับให้อยู่ใต้อาณัติทหารและราชการส่วนกลาง ทำหน้าที่เป็นเสมือนตัวสำรองมากกว่าตัวจริงในการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน 

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา | ที่มา : ศูนย์สื่อทำเนียบ | Flickr
ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีที่เสนอนนโยบายเศรษฐกิจฐานราก โดยเป็นการทำงานระหว่างราชการส่วนกลางกับชุมชนโดยตรง

การศึกษาในหัวข้อ การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นบนเส้นทางการกระจายอำนาจของไทย โดย ศาสตราจารย์ ดร.จรัส สุวรรณมาลา พบว่า การดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่ผ่านมากลับไม่ได้รับความสำคัญมากนัก นโยบายส่วนใหญ่ยังคงเป็นเรื่องการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชนมากกว่าจะทำหน้าที่เป็นกองหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจ เนื่องจากการพัฒนาเศรษฐกิจไม่ใด้ถูกบรรจุอยู่ในพันธกิจขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ไม่ว่าจะกฎหมายฉบับใดก็ตาม ทำให้การเลือกจะดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจเป็นอำนาจการตัดสินใจของผู้บริหารท้องถิ่น หากผู้บริหารท้องถิ่นเลือกที่จะดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่รับผิดชอบของตน พื้นที่นั้นก็จะมีความรุ่งโรจน์ในทางเศรษฐกิจ แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ที่ผู้บริหารท้องถิ่นไม่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างเห็นได้ชัด 

แม้จะมีบทเรียนจากต่างประเทศมากมายที่แสดงถึงผลกระทบเชิงบวกทางเศรษฐกิจ จากการเปิดทางองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานท้องถิ่นของเมืองเจนีวา ในสหรัฐอเมริกา ที่ดำเนินนโยบายการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมใกล้แม่น้ำสายหลักของเมืองให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ หรือการพัฒนาพื้นที่เสื่อมโทรมในปารีสให้กลายเป็นแหล่งช้อปปิ้งโดยหน่วยงานท้องถิ่นของกรุงปารีส หรือกระทั่งประเทศอำนาจนิยมสมัยใหม่อย่างประเทศจีนก็ได้เปิดทางให้หน่วยงานท้องถิ่นต้องดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ เพราะเห็นถึงความจำเป็นของการให้หน่วยงานท้องถิ่นเป็นกองหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น 

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, เมฆ, อาคาร, ท้องฟ้า

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
โครงการพัฒนาพื้นที่ La Défense โดยหน่วยงานท้องถิ่นเมืองปารีส 

ในขณะที่ประเทศไทย แม้จะมีหน่วยงานในองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ที่เป็นกองหน้าในการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น อย่าง โครงการตลาดน้ำอัมพวา ที่ดำเนินโครงการโดยเทศบาลตำบลอัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม และโครงการปาก้า (PAKA) ที่ริเริ่มโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่ เพื่อสร้างพื้นที่ทางเศรษฐกิจท่องเที่ยวใหม่ในจังหวัดกระบี่ แต่โครงการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นเหล่านี้กลับไม่สามารถพบเห็นได้ทั่วไปนัก อีกทั้งโครงการพัฒนาเศรษฐกิจที่เสนอโดยองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น ยังมีรูปแบบที่ไม่แตกต่างกันมากนัก กล่าวคือ เขียนไปโดยไม่ได้มีความจริงจังที่จะดำเนินนโยบาย และผู้ปฏิบัติการในหน่วยงานท้องถิ่นก็ยังขาดประสบการณ์และข้อมูลที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการการท่องเที่ยว 

ซ้ำร้าย องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นของประเทศไทยก็มีข้อจำกัดด้านกฎหมาย ที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น โดยเฉพาะอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน และการจัดเก็บรายได้ รวมถึงอำนาจในการสร้างแรงจูงใจทางการเงินและการลงทุน ที่ท้องถิ่นมิอาจดำเนินการได้ ซึ่งเป็นอำนาจสำคัญที่ทำให้หน่วยงานท้องถิ่นของสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการดำเนินนโยบายพัฒนาพื้นที่ท่องเที่ยว สำหรับประเทศไทยอำนาจดังกล่าวถูกจำกัดให้เป็นอำนาจของราชการส่วนกลาง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) และสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เป็นต้น ท้องถิ่นจึงมีอำนาจทางกฎหมายน้อยมากในการดำเนินนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น จนส่งผลให้ท้ายที่สุดองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในประเทศไทยเลือกที่จะไม่ดำเนินนโยบายพัฒนาใดๆ นอกเหนือจากการบำบัดทุกข์บำรุงสุขประชาชน 

เมื่อมองมาที่องค์การปกคองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดเพชรบูรณ์ กลับไม่มีบทบาทในการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างชัดเจนมากนัก โดยเฉพาะองค์การบริหารส่วนตำบลทุกแห่งในอำเภอเขาค้อ และองค์การบริหารส่วนตำบลวังบาลที่อยู่ใกล้กับภูทับเบิก สองแหล่งท่องเที่ยวที่เป็นจุดหมายของทริปน้ำไม่อาบ โดยโครงการที่องค์การบริหารส่วนตำบลเหล่านี้ดำเนินการส่วนใหญ่เป็นโครงการประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวมากกว่านโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง เนื่องจากแหล่งท่องเที่ยวทั้งสองนี้เป็นที่ดินป่าสงวน ที่ดินกองทัพ ไม่ก็ที่ดินอุทยานแห่งชาติ ซึ่งอยู่ภายใต้อำนาจของราชการส่วนกลางและส่วนภูมิภาค องค์การบริหารส่วนตำบลมิอาจจัดเก็บรายได้หรือดำเนินนโยบายพัฒนาการท่องเที่ยวในแหล่งท่องเที่ยวเหล่านี้ได้ 

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ภูเขา, ต้นไม้, หมอก

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ

ฉะนั้น อาจกล่าวได้ว่าการท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ยังอยู่ในภาวะที่มีความไม่แน่นอนสูง เนื่องจากยังพึ่งพานักท่องเที่ยวชาวไทยในจำนวนมาก แต่ภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศกลับมีแนวโน้มเติบโตต่ำ และยังมีหนี้ครัวเรือนที่สูงมากขึ้นเรื่อยๆ จนอาจทำให้การท่องเที่ยวเพชรบูรณ์ซบเซาตามเศรษฐกิจไทย  

ขณะที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นในจังหวัดเพชรบูรณ์เองกลับมีบทบาทในการพัฒนาท่องเที่ยวอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากไม่สามารถจัดเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวได้และติดปัญหาเรื่องอำนาจในการบริหารจัดการที่ดิน  

ถ้าเป็นเช่นนี้ เราคงได้แค่หวังว่าทริปน้ำไม่อาบจะกลับไปเยือนเพชรบูรณ์อีกครั้ง เพื่ออัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจท้องถิ่น แม้จะเป็นการแก้ปัญหาที่ไม่ยั่งยืน ซ้ำยังเสี่ยงต่อปัญหาที่อาจตามมาจากการขี่มอเตอร์ไซค์รวมกันบนถนนกว่า 6 พันคันก็ตาม   

รูปภาพประกอบด้วย กลางแจ้ง, ถนน, รถจักรยานยนต์, ต้นไม้

คำอธิบายที่สร้างโดยอัตโนมัติ
ภาพจากเพจ โฟโต้ วิว

รายการอ้างอิง  

  • เปิดใจร้านค้า ปีหน้ายังยินดีต้อนรับ “ทริปน้ำไม่อาบ” ขออย่าเบิ้ลรถ-ขับหวาดเสียว – https://www.thairath.co.th/news/local/2827310  
  • ‘ทริปน้ำไม่อาบ’ คืออะไร ทำไมถึงกลายเป็นดรามาของชาวเพชรบูรณ์ – https://www.tnnthailand.com/news/socialtalk/158535/ 
  • อัตราการขยายตัวของรายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2565 – https://phchabun.nso.go.th/statistical-information-service/key-indicators-of-the-province/growth-rate-of-income-from-tourism.html  
  • สถิติผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและชาวต่างชาติ เดือนมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. 2565 – https://province.mots.go.th/ewtadmin/ewt/phetchabun/graph_views.php?graph_id=32  
  • สถิติผู้เยี่ยมเยือนคนไทยและชาวต่างชาติ เดือนมกราคม – ธันวาคม พ.ศ. 2566 – https://province.mots.go.th/ewtadmin/ewt/phetchabun/graph_views.php?graph_id=55  
  • ข้อมูลด้านการท่องเที่ยวของจังหวัดเพชรบูรณ์ – https://www.phetchabun.go.th/fileupload/data/1559247353_k2fehc1d.pdf  
  • รายงานประมาณการเศรษฐกิจจังหวัดเพชรบูรณ์ ฉบับที่ 1/2567 – https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER96/DRAWER058/GENERAL/DATA0001/00001775.PDF  
  • รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังจังหวัดเพชรบูรณ์ ฉบับที่1/2567 – https://www.oic.go.th/FILEWEB/CABINFOCENTER96/DRAWER058/GENERAL/DATA0001/00001772.PDF  
  • แผนพัฒนาจังหวัดเพชรบูรณ์ (พ.ศ. 2561 – 2565) รอบทบทวน ประจ าปี พ.ศ. 2563 – 1658706147_evv3wf27.pdf  
  • ผลิตภัณฑ์ภาคและจังหวัด แบบปริมาณลูกโซ่ ฉบับ พ.ศ. 2565 (Gross Regional and Provincial Product Chain Volume Measures 2022 Edition) – https://www.nesdc.go.th/main.php?filename=gross_regional  
  • จรัส สุวรรณมาลา. (2558). การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นบนเส้นทางการกระจายอำนาจของไทย ใน KPI YEARBOOK 2558 : ดุลอำนาจในการเมืองการปกครองไทย, รองศาสตราจารย์วุฒิสาร ตันไชย, อรทัย ก๊กผล, ธีรพรรณ ใจมั่น และภควัต อัจฉริยปัญญา (บก.). กรุงเทพฯ : สถาบันพระปกเกล้า 
  • ศิกานต์ อิสสระชัยยศ. (2559). การพัฒนาเศรษฐกิจในท้องถิ่น: ประสบการณ์จากนานาชาติและทางเลือกเพื่อพัฒนาท้องถิ่นไทย. วารสารสถาบันพระปกเกล้า. 14(1). หน้า 72-98 
  • รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์ และรสสุคนธ์ ประดิษฐ์. (2557). รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการแนวทางการพัฒนาการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน พื้นที่อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์. มหาวิทยาลัยนเรศวร.  
  • http://10.10.20.172/dspace/handle/123456789/381 
  • รัดเกล้า เปรมประสิทธิ์ และรสสุคนธ์ ประดิษฐ์. (2557). ศักยภาพและโอกาสในการพัฒนาการท่องเที่ยวของอำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ. วารสารสังคมศาสตร์, 10 (2), หน้า 127-149. https://so04.tci-thaijo.org/index.php/jssnu/article/download/211185/146312/665349 
  • มณีกานต์ พวงรอด (2529). สภาพทั่วไปทางด้านสังคมและเศรษฐกิจของบ้านเนิน ตำบลบ้านเนิน อำเภอหล่มเก่า จังหวัดเพชรบูรณ์. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. สำนักบัณฑิตอาสาสมัคร. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:311348  
  • เซ็ง แซ่ลี และคณะ (2552). โครงการรูปแบบการบริหารจัดการการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนภูทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์: รายงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:162534  
  • สมัย ขันเงิน และคณะ. (2555). แนวทางการลดผลกระทบจากการจัดการท่องเที่ยวโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนหนองแม่นา ตำบลหนองแม่นา อำเภอเขาค้อ จังหวัดเพชรบูรณ์: รายงานฉบับสมบูรณ์. สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:57344  
  • นิตินัย ธงสันเทียะ (2558). ม้งแห่งภูทับเบิก: การเปลี่ยนแปลงวิถีการดำรงชีพอันเนื่องมาจากการพัฒนาเป็นแหล่งท่องเที่ยว. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์. คณะศิลปศาสตร์. https://digital.library.tu.ac.th/tu_dc/frontend/Info/item/dc:304348   
ปองภพ ดั่นสมานฉันท์ชัย

เกิดและโตในภาคเหนือตอนล่าง เรียนตรีจิตวิทยา กำลังเรียนโทสังคมศาสตร์ สนใจอ่านสังคมจากการมองประเด็นเล็ก ๆ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง