สนามเลือกตั้ง อบจ.พิจิตร คึกคัก อบจ.พิจิตรร่วมมือ กกต.จัดอบรมวิทยากร ครู ข เตรียมความพร้อมเลือกตั้งนายก และ ส.อบจ.ปี 2568 ขณะที่ผู้สมัครหน้าใหม่เร่งหาเสียงชูวิสัยทัศน์ อยากเปลี่ยนแปลง ต้องเริ่มจากเปลี่ยนคน งัดผู้กำกับกบ อดีตนายก อบจ. คนล่าสุด เน้นชูนโยบายพัฒนาผลงานเดิม ก่อนถึงวันเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์นี้ ‘Lanner’ สัมภาษณ์ ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดพิจิตรครั้งนี้สะท้อนถึงความสนใจและการมีส่วนร่วมทางการเมืองของประชาชนในท้องถิ่น รวมถึงผลกระทบต่อการเมืองระดับชาติ
เมืองเล็กกับการเมืองเก่า ‘พิจิตร’ กับส่วนร่วมในการเลือกตั้งท้องถิ่น
วีระได้อธิบายว่า พื้นที่จังหวัดพิจิตร ประชาชนและบุคคลในพื้นที่ต่างๆ เช่น ข้าราชการ รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ มีส่วนร่วมและให้ความสนใจมากน้อยแค่ไหน ถ้าดูจากกลุ่มที่สนใจในเรื่องการเมืองจริงๆ จะเห็นว่าพิจิตรเป็นจังหวัดที่ขนาดค่อนข้างเล็ก แต่สามารถพัฒนาได้เยอะ เช่น การพัฒนาบึงสีไฟที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวจากจังหวัดข้างเคียงเข้ามาเที่ยวบ่อยจนมีโรงแรมใหม่ๆ เกิดขึ้น
โดยการพัฒนานี้มาจากการมีงบประมาณเข้ามาเยอะ แต่ถึงอย่างนั้น พิจิตรยังไม่ใช่เมืองใหญ่ที่เราจะเรียกว่ากันว่า “เมืองรอง” เพราะยังไม่มีแหล่งค้าปลีกขนาดใหญ่ เช่น ห้างเซ็นทรัล หรือสนามบิน พิจิตรยังคงมีภาพลักษณ์ที่ผูกพันกับภาคเกษตรกรรม โดยเฉพาะการปลูกข้าวที่เป็นพืชเศรษฐกิจหลักของจังหวัด ซึ่งพื้นที่ปลูกข้าวครอบคลุมกว่า 1.2 ล้านไร่ และสร้างรายได้หลักให้กับเกษตรกรในจังหวัดปีละหลายพันล้านบาท นอกจากนี้ พืชสำคัญอื่น ๆ เช่น ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ มันสำปะหลัง และผลไม้อย่างกล้วยน้ำว้าก็มีบทบาทในการส่งออกและเสริมเศรษฐกิจระดับท้องถิ่น
สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ จะเห็นว่ามีแคนดิเดตจากหลากหลายกลุ่ม เช่น แคนดิเดตที่มาจากข้าราชการตำรวจที่มีเครือข่ายกับข้าราชการในพื้นที่ อาทิ พ.ต.อ. กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ อดีตนายก อบจ. พิจิตร คนล่าสุด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับกลุ่มข้าราชการในพื้นที่ หรืออีกฝ่ายหนึ่งคือนายกฤษฏ์ เพ็ญสุภา หลานชาย นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ แคนดิเดตที่มาจากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งการแข่งในครั้งนี้สะท้อนให้เห็นว่าเป็นการเมืองท้องถิ่นที่ยังคงแข่งขันในลักษณะของการเมืองเก่า โดยมีการดึงตัวคนที่มีอิทธิพลมาคุมคะแนนเสียง เช่น การที่ลูกน้องต้องเลือกข้างว่าจะสนับสนุน พ.ต.อ. กฤษฎา หรือสนับสนุนหลานของประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ซึ่งเป็นการแบ่งขั้วในทางการเมืองท้องถิ่นอย่างชัดเจน
เมื่อความหวังในประชาธิปไตยไม่ตรงกับความเป็นจริง
แต่ส่วนที่น่าสนใจคือฝั่งที่ไม่สนใจทางการเมืองเพราะว่ามันเกิดกระแสของการที่ไม่กลับไปเลือกจริงๆ มีการศึกษาเกี่ยวกับมุมมองของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งครั้งแรก (First-Time Voter) ในระดับชาติพบว่า ความตื่นตัวทางการเมืองของกลุ่มนี้เริ่มมีความแตกต่างอย่างชัดเจน จากการที่พวกเขามีความกระตือรือร้นในช่วงแรกๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไปความสนใจทางการเมืองกลับลดลงอย่างเห็นได้ชัด งานวิจัยที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้พบว่า คนกลุ่มนี้ในช่วงเลือกตั้งครั้งแรกนั้นมีความคาดหวังในอนาคตทางการเมืองสูง อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงและการพัฒนาในหลายด้าน แต่เมื่อการเลือกตั้งผ่านไปและคนที่พวกเขาหวังจะเลือกไม่ได้รับชัยชนะ ความผิดหวังก็เริ่มเกิดขึ้น ผลักดันให้พวกเขามีความรู้สึกว่า นโยบายที่ถกเถียงกันในเวทีดีเบตไม่ถูกนำไปใช้หรือถูกนำไปใช้เพียงเล็กน้อย จนทำให้ความสนใจทางการเมืองของพวกเขาลดลงอย่างมากในช่วงหลายปีหลังการเลือกตั้ง
“เมื่อมองในภาพรวม การที่กลุ่มผู้เลือกตั้งครั้งแรกไม่ได้รับการตอบสนองจากระบบการเมืองในระดับชาติเท่าที่ควรส่งผลให้ความตื่นตัวของพวกเขาลดลงและห่างไกลจากการเมืองระดับท้องถิ่น พวกเขาเริ่มไม่สนใจการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นหรือการเลือกตัวแทนในระดับพื้นที่ เนื่องจากพวกเขามองว่า กระแสการเมืองที่เกิดขึ้นในระดับชาติไม่ได้ช่วยกระตุ้นให้รู้สึกอยากออกไปเลือกตั้งและสู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง มันกลายเป็นลักษณะของการเมืองท้องถิ่นที่มีการแข่งขันภายในพื้นที่ และกลุ่มคนที่ตื่นตัวจริงๆ มักเป็นเครือข่ายของกลุ่มที่เกี่ยวข้องในระดับท้องถิ่นเท่านั้นและคนตื่นตัวทางการเมืองก็เป็นเครือข่ายของ 2 กลุ่มที่แข่งขันกันเอง”
ผลกระทบเลือกตั้งท้องถิ่นต่อการเลือกตั้งระดับชาติ
ผลกระทบจากการเลือกตั้ง อบจ. จะส่งผลต่อการเลือกตั้งในระดับชาติในลักษณะที่การเมืองท้องถิ่นสามารถมีอิทธิพลต่อพรรคการเมืองที่มีฐานเสียงในพื้นที่นั้นๆ การเลือกตั้ง อบจ. ถือเป็นการควบคุมการเมืองท้องถิ่นในระดับจังหวัด ซึ่งทำให้ฝ่ายบริหารสามารถควบคุมเครือข่ายในการจัดกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่ เช่น การจัดงานต่างๆ หรือการแข่งขันเรือ ที่มีงบประมาณอยู่ที่ท้องถิ่นและต้องการการประสานงานระหว่างส่วนกลางและภูมิภาค ซึ่งจะส่งผลต่อการเลือกตั้งใหญ่ในอนาคต โดยเฉพาะการเลือกตั้งในระดับเทศบาลหรืออบต. ที่จะมีความสำคัญในการขับเคลื่อนคะแนนเสียง ก่อนที่จะส่งผลต่อการเลือกตั้งในระดับชาติ
การเลือกตั้ง อบจ. จึงกลายเป็นเวทีสำคัญในการช่วงชิงอำนาจของฝ่ายนายก อบจ. ซึ่งจะมีความได้เปรียบในการแข่งขันชิงคะแนนในจังหวัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่ 29 จังหวัด มีการลาออกก่อนหน้านี้ เพื่อรักษาตำแหน่งนายก อบจ. เอาไว้ ส่งผลให้ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ การเลือกตั้ง อบจ. จะทำให้ผลลัพธ์ออกมาเป็นการเลือกตั้งเฉพาะ ส.อบจ. โดยที่นายก อบจ. ได้รับตำแหน่งพร้อมกัน ซึ่งจะสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันในสภาท้องถิ่น ผลจากสถานการณ์นี้อาจทำให้การเมืองท้องถิ่นไม่เกิดการตรวจสอบระหว่างฝ่ายต่างๆ และกลายเป็นรูปแบบการเมืองที่ยากจะเปลี่ยนแปลงในอนาคต ส่งผลให้การเมืองท้องถิ่นอาจจะใช้เวลานานในการปรับตัวและเกิดการเปลี่ยนแปลง
ผลการเลือกตั้งในครั้งนี้จะสะท้อนผลต่อการเมืองในระดับชาติ โดยเฉพาะในแง่ของการสร้างฐานเสียงจากระดับท้องถิ่นให้กับพรรคการเมืองต่าง ๆ หากพรรคใดได้รับการตอบรับและสามารถชนะการเลือกตั้งท้องถิ่นได้ จะส่งผลดีต่อการเลือกตั้งในระดับชาติในอนาคต เช่น การเลือกตั้ง ส.ส. หรือการเลือกนายกฯ ซึ่งจะช่วยให้พรรคมีฐานเสียงที่มั่นคง และสร้างผลตอบรับในทางการเมืองระยะยาว
ตัวอย่างเช่น หากพรรคเพื่อไทยได้รับชัยชนะในระดับอบจ. จะช่วยเสริมความมั่นคงและเสถียรภาพในการบริหารงานของรัฐบาล ซึ่งจะส่งผลให้การเจรจาต่อรองทางการเมืองมีความเข้มแข็ง ขณะเดียวกัน หากพรรคภูมิใจไทยชนะในท้องถิ่น การชนะดังกล่าวจะเอื้อให้พรรคสามารถควบคุมกระทรวงมหาดไทยได้ และสร้าง Synergy ระหว่างการเมืองท้องถิ่นและการเมืองภูมิภาค อีกทั้งยังสามารถปรับแก้กฎหมายท้องถิ่นเพื่อให้มีการกลับมาของกำนันผู้ใหญ่บ้านในเทศบาลได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการควบคุมและบริหารจัดการภายในท้องถิ่นได้
“ในส่วนของผลการเลือกตั้งในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น พิษณุโลก พิจิตร และอุทัยธานี จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือการส่งลูกหลานมาสืบทอดตำแหน่งการเมืองจากระดับท้องถิ่นไปยังระดับชาติ เป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มพรรคสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นที่สามารถเป็นฐานในการสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. ในอนาคต ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่า ผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะสะท้อนการเมืองระดับชาติ โดยพรรคสีส้มอาจชนะได้น้อย หรือไม่ชนะเลย ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพการเมืองระดับชาติเช่นเดียวกัน”
ท้องถิ่นกับการเห็นผลงานในอดีตมากกว่านโยบายใหม่
นโยบายท้องถิ่นในช่วงการเลือกตั้งมักจะเน้นการสื่อสารถึงผลงานในอดีตเพื่อดึงดูดเสียงสนับสนุนจากประชาชน เนื่องจากข้อจำกัดทางกฎหมายที่ทำให้ท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการหลายๆ เรื่องได้ เช่น การสร้างถนนหรือการจัดการโรงพยาบาลที่ยังไม่ถูกถ่ายโอนมาให้ท้องถิ่นดูแล นอกจากนี้ การศึกษาในท้องถิ่นก็ถูกจำกัดไม่สามารถพูดถึงหลักสูตรหรือการจัดการได้อย่างอิสระ การหาเสียงในท้องถิ่นจึงมักจะมาจากการเน้นถึงสิ่งที่ทำได้ในอดีตและการขยายผลจากสิ่งที่มีอยู่แล้ว เช่น การจัดตั้งศูนย์ฟอกไตประจำตำบลโดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อบจ.) ซึ่งสามารถให้บริการได้โดยการฝึกอบรมบุคลากรระดับพื้นฐานเพื่อให้บริการในพื้นที่ที่ขาดแคลน นโยบายที่มีผลงานสำเร็จและสามารถขยายไปสู่พื้นที่อื่นๆ มักได้รับการสนับสนุนจากประชาชนและเพิ่มโอกาสให้กับผู้สมัครที่มีตำแหน่งเดิม เช่น นายกอบจ. ที่มีความได้เปรียบในแง่ของการเลือกตั้งท้องถิ่น
“ในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งล่าสุด พบว่า 29 จังหวัดมีการเลือกผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งมาก่อนกลับเข้ามาใหม่ถึง 12 จังหวัด และเครือข่ายของผู้ที่เคยดำรงตำแหน่งก็ได้รับการสนับสนุนใน 9 จังหวัด รวมทั้งหมด 21 จังหวัดจาก 29 จังหวัดที่ได้คนเดิมมา ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าในกระบวนการหาเสียงของท้องถิ่นนั้น มักจะอาศัยผลงานจากสิ่งที่เคยทำมาในอดีต มากกว่าการเสนอนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งใหม่ๆ เนื่องจากคนในท้องถิ่นจะตั้งคำถามเกี่ยวกับความสามารถในการเปลี่ยนแปลง เพราะท้องถิ่นถูกจำกัดโดยข้อกฎหมายและปัจจัยต่างๆ ในการดำเนินงาน เช่น การสร้างโครงการใหม่หรือการปรับเปลี่ยนที่ไม่สามารถทำได้โดยง่าย ผู้ที่เสนอการเปลี่ยนแปลงจึงมักจะเสียเปรียบ เนื่องจากท้องถิ่นไม่สามารถดำเนินการได้มากมายตามที่ได้เสนอออกไป”
จากระดับชาติถึงท้องถิ่นกลยุทธ์การช่วงชิงอำนาจในการเมืองเลือกตั้ง อบจ.
ในการเลือกตั้งอบจ.ครั้งนี้ การเมืองระดับชาติได้เข้ามามีบทบาทอย่างชัดเจน โดยเฉพาะการใช้กระแสจากพรรคการเมืองใหญ่ อย่างพรรคเพื่อไทย ที่พยายามใช้การเมืองระดับชาติเป็นเครื่องมือในการหาเสียงในพื้นที่ท้องถิ่นหลายแห่ง ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือการหาเสียงที่เน้นไปที่ประเด็นการเมืองระดับชาติ แทนที่จะเป็นปัญหาหรือทิศทางการพัฒนาท้องถิ่นเฉพาะ ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ยังเห็นการใช้กลยุทธ์ในการสร้างกระแสจาก ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เพื่อดึงดูดความสนใจของสื่อมวลชน แม้ว่าพรรคเพื่อไทยจะได้เปรียบในด้านการเล่นกับข่าวและกระแส แต่สิ่งที่เราควรพิจารณาคือการมองการเมืองท้องถิ่นจากมุมมองที่ลึกซึ้งกว่าการแบ่งฝ่ายตามสีพรรค เพื่อตรวจสอบนโยบายและการพัฒนาท้องถิ่นที่แท้จริงแทนการพึ่งพาภาพลักษณ์การเมืองระดับชาติ
“อีกหนึ่งประเด็นที่สำคัญในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้ คือคำถามเกี่ยวกับความได้เปรียบที่เกิดจากการมีเครือข่ายกับกลุ่มพรรคการเมืองระดับชาติ โดยเฉพาะพรรคที่อยู่ในรัฐบาล เพราะเมื่อประชาชนต้องการเลือกผู้แทนในท้องถิ่น พวกเขาก็มองหาผู้ที่สามารถดึงงบประมาณและทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ได้จริง ดังนั้น การเลือกผู้ที่มีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองที่เป็นส่วนหนึ่งของรัฐบาลระดับชาติจึงเป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลสำหรับประชาชนในหลายพื้นที่ เพราะการมีเครือข่ายกับรัฐบาลกลางจะช่วยให้การทำงานในท้องถิ่นมีประสิทธิภาพและสามารถผลักดันโครงการต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ดังนั้น การเลือกตั้งในครั้งนี้จึงไม่ใช่แค่การเลือกคนที่มีแนวคิดและนโยบายดีแต่เป็นการเลือกเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงกับรัฐบาลและสร้างประโยชน์ให้กับท้องถิ่นได้”
ประเด็นที่สำคัญคือ การเมืองท้องถิ่นและการเมืองระดับชาติไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เพราะในที่สุดแล้ว การเมืองท้องถิ่นก็เป็นฐานสำคัญในการสนับสนุนการเมืองระดับชาติ เมื่อประชาชนเลือกผู้แทนท้องถิ่น พวกเขาก็ไม่ได้เลือกเพียงแค่บุคคล แต่ยังเลือกเครือข่ายที่สามารถเชื่อมโยงกับรัฐบาลกลางและสร้างผลประโยชน์ให้กับท้องถิ่นได้ การที่อำนาจในครม. หรือการเมืองระดับชาติส่งผลต่อการเมืองท้องถิ่นจึงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ และเป็นรากฐานของระบบประชาธิปไตย ซึ่งการมีความสัมพันธ์กันระหว่างทั้งสองระดับการเมืองนี้ช่วยให้ระบบการปกครองมีความสมบูรณ์แบบยิ่งขึ้น ในที่สุด การช่วงชิงความได้เปรียบในการเลือกตั้งท้องถิ่นก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การช่วงชิงอำนาจในการเมืองระดับชาติ ที่ทุกฝ่ายพยายามทำให้ฝั่งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงมีโอกาสในการขึ้นเป็นรัฐบาล
ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...