ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ เมื่อ AI เข้ามา การศึกษาไทย การศึกษาท้องถิ่น ต้องตั้งรับปรับตัวกันอย่างไร!?

เรื่อง: องอาจ เดชา

ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ในฐานะนายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) และผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’ ได้บอกเล่าถึง ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI (Artificial Intelligence) ที่เข้ามาและกำลังส่งผลต่อวงการการศึกษาของไทยและการศึกษาของท้องถิ่นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยชัชวาลย์ได้เน้นย้ำว่า ที่สำคัญคือ เราต้องรู้เท่าทัน AI แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด  ขณะเดียวกัน เราก็ไม่ทิ้งวิถีชีวิตและจิตวิญญาณ และความรู้ที่เป็นสิ่งสําคัญของมนุษย์ที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และพร้อมที่จะพัฒนาความรู้เหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในระบบ AI ด้วย

ในฐานะนายกสมาคมการศึกษาทางเลือกไทย (สกล.) และผู้ก่อตั้ง ‘โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา’  มีมุมมองเรื่องปัญญาประดิษฐ์หรือ AI นี้อย่างไรบ้าง?

ก่อนอื่นเราคงต้องสร้างความเข้าใจกันก่อนว่าจริง ๆ แล้ว AI มันคือเทคโนโลยี  มันคือเครื่องมือของมนุษย์มากกว่า  อย่าให้ AI มันเป็นสรณะ แต่ให้มันเป็นเครื่องมือในการรวบรวมเรื่องราวความรู้ต่าง ๆ หรือให้มันมาช่วยแบ่งเบาเรามากกว่านะ แต่ถึงที่สุดแล้ว เป้าหมายของชีวิต มันไม่ใช่ตรงนี้  เป้าหมายชีวิตของเรามันยิ่งใหญ่กว่า  มันเป็นเรื่องของจิตวิญญาณที่มีต่อโลก  จิตวิญญาณ ที่มีต่อสังคม ต่อชุมชน มันเป็นเรื่องของความรัก ความผูกพัน ของครอบครัวพ่อแม่ลูก เครือญาติ ชุมชน สังคม รวมแม้กระทั่งเพื่อนร่วมโลกต่าง ๆ นะครับ  

เพราะฉะนั้น เราต้องมอง AI ในฐานะที่มันเป็นเครื่องมือของเราที่จะช่วยทําให้เราง่ายขึ้น  ในการจัดระบบความรู้ การเข้าถึงความรู้  การค้นคว้าหาความรู้ต่าง ๆ แต่อย่าให้มันมาแทนชีวิตของเรา แต่ถ้าเรามองในแง่ของระบบการศึกษา ก็มีประโยชน์นะ จะเรียกว่ามันเป็นการจัดการความรู้แขนงหนึ่งก็ได้ ที่ช่วยเราจัดระบบจากข้อมูล จาก Information ให้มันเป็น Data จาก Data ให้มันเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศ จากเทคเทคโนโลยีสารสนเทศให้มันกลายเป็นความรู้  แต่จากระดับความรู้ให้มันกลายเป็นภูมิปัญญาหรือระดับจิตวิญญาณ อันนี้ AI จะยังไปไม่ถึง  

ฉะนั้น AI ก็จะเป็นการศึกษาขั้นหนึ่งที่มาช่วยเราเกิดจากระบบ อย่างเช่น การตั้งประเด็น การตั้งสมมติฐาน  การค้นหาทางเลือก  การค้นคว้าอนาคต ประเด็นเหล่านี้มันจะถูกตั้งโดยมนุษย์ที่มีเป้าหมายของชีวิต  เป้าหมายของชุมชนและเป้าหมายของสังคมมาเป็นที่ตั้ง  เสร็จแล้วไอ้ตัว AI มันจะมาช่วยค้นหาความรู้จากระบบความรู้ เป็นความรู้อะไรต่อมิอะไรให้เราใช่มั้ย แต่ว่ามันอาจจะไม่มีปัญญาพอที่จะมาเป็นประเด็นที่แหลมคม เพื่อแก้วิกฤติของมนุษย์  หรือว่าแม้กระทั่งมิติของการสร้างสรรค์ต่าง ๆ AI คงตั้งประเด็นเพื่อจะให้ไปตรงนั้นไม่ได้  เพราะฉะนั้น เราในฐานะเป็นมนุษย์เอง และเป็นผู้เรียนรู้เอง อาจจะต้องเป็นตัวใฝ่รู้ใฝ่เรียน ตั้งคําถาม ตั้งประเด็นในการวิเคราะห์นะ โดยที่มี AI ซึ่งเป็นตัวเทคโนโลยีใหม่เข้ามาช่วยอันนี้ น่าจะเป็นประโยชน์กับกับระบบการศึกษาบ้านเรา

ถ้าพูดถึงปัญญาประดิษฐ์กับการศึกษาทางเลือก ที่กำลังขับเคลื่อนกันอยู่ในขณะนี้ มอง AI ว่ามันสอดคล้องกับการศึกษาทางเลือกมากมั้ย?

ก็สอดคล้องหนุนเสริมกันอยู่นะ เนื่องจากการศึกษาทางเลือก นั้นเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้เรียนค้นคว้าด้วยตนเองเป็นหลัก  โดยอาจจะมีประเด็นคําถาม ประเด็นวิจัย เป็นโปรเจกต์ หรือว่าเป็นกลุ่มประสบการณ์ และเราสามารถใช้มันได้ดีกว่าการศึกษาในระบบ แต่ถ้าเป็นการศึกษาในระบบ

ผมมองว่า มาถึงตรงนี้แล้ว ครูนั้นสู้ AI ไม่ได้แล้วนะ ถ้าพูดถึงแค่ความรู้ ความจํา แค่ท่องหนังสือมา แล้วเอามาสอน อันนี้สู้ AI ไม่ได้อยู่แล้ว แต่ถ้าระบบการศึกษาขนาดใหญ่ AI อาจจะช่วยได้ไม่เยอะ มันช่วยได้แค่เป็นฐานข้อมูลเฉย ๆ แต่ถ้าเป็นการศึกษาทางเลือก ผมมองว่าน่าจะช่วยได้เยอะ เพราะว่าเราใช้มันไง เพราะผู้เรียนเป็นคน เป็นผู้ค้นคว้าความรู้ใช่มั้ย ฉะนั้น ความรู้มีอยู่ทั่วโลกเลย สามารถดึงความรู้ทั่วโลกมาใช้ได้หมดเลย ซึ่งได้ทําให้เด็ก ๆ ผู้เรียนการศึกษาทางเลือกของเราสามารถที่จะเรียนรู้เรื่องราวตั้งแต่เรื่องตัวเอง ชุมชน สังคม จนกระทั่งถึงนานาชาติในระดับโลก ทำให้เกิดการศึกษาคนคว้าหาความรู้กว้างขวางมากขึ้น ในขณะที่ AI มันช่วยจัดระบบข้อมูล ยกตัวอย่างเช่น เราอยากรู้เรื่องนี้ มันก็จะดึงออกมาหมดเลย ความรู้จากทั่วโลก มันจะจัดมาให้หมดเลย

แล้วผมเข้าใจว่าในอนาคต เรายังสามารถกําหนดประเด็นให้ให้ AI วิเคราะห์เบื้องต้นให้เราได้ด้วยนะ อย่างเช่น สมมติเราอยากจะรู้เรื่องการปลูกพืชชนิดนี้ในอนาคตจะเป็นอย่างไรบ้าง มันจะคํานวณให้เราหมดเลย ทั้งพยากรณ์อากาศ ทั้งดูเรื่องดิน เรื่องระบบตลาด ข้อมูลทั้งหลายเหล่านี้  จะช่วยให้เราคํานวณหรือช่วยทําให้เราวิเคราะห์และวางแผนอะไรได้ดียิ่งขึ้น ดังนั้น ในแง่ของการจัดการศึกษาทางเลือก ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากพอสมควรเลย ถ้าเราใช้ให้ถูกและเราเป็นเจ้านายของ AI จริง ๆ ที่ทําให้เรามีความรู้ชัดขึ้น ความรู้กว้างมากขึ้น ความรู้ที่ถูกจัดระบบดีขึ้น ความรู้ที่ ๆ มองไปได้ไกลมากขึ้น

แต่ถ้าย้อนไปมองดูการศึกษาในระบบ อาจต้องปรับตัวกันยกใหญ่ ปรับตัวกันทั้งครูทั้งนักเรียน ทั้งผู้สอนทั้งผู้เรียนด้วย?

ใช่ เพราะว่าถ้าครูยังท่องหนังสือมาสอนแบบเดิม ยังไงก็สู้ AI ไม่ได้ ยังไงเด็กก็เบื่อ ยังไงเด็ก ๆ ก็อยากมาค้นคว้าในกูเกิ้ล เขาอยากมาค้นคว้าในระบบ AI มากกว่านะ  ครูก็จะค่อย ๆ ด้อยค่ามากขึ้น  ถ้ายังอยู่ที่เดิม ถ้าไม่ปรับตัวนะครับ เพราะฉะนั้น การปรับตัวคือการทําให้เด็กใฝ่รู้ใฝ่เรียน ฝึกกระตุ้นให้เด็กรู้จักการตั้งประเด็น การตั้งสมมติฐาน การค้นคว้าความรู้ การสร้าง Project-Based Learning หรือแม้กระทั่งการตั้งกลุ่มประสบการณ์ที่ทําให้เด็กได้เรียนรู้ที่สูงขึ้น เหมือนกับที่เด็กที่กำลังจัดการศึกษาทางเลือกกันอยู่ตอนนี้  ดังนั้น ในอนาคต ผมคิดว่าการศึกษาในระบบ คงจะต้องปรับตัวให้มาใกล้เคียงกับการจัดทางเลือกมากขึ้น เพราะยังไงก็อยู่ที่เดิมไม่ได้อยู่แล้ว

ภาพ: Makhampom

แม้ว่าเราอยู่ในยุคของ AI ก็จริง แต่อีกมุมหนึ่งคือเรื่องชีวิต เรื่องจิตวิญญาณก็ยังจำเป็นและต้องเรียนรู้ควบคู่กันไปด้วย เหมือนกับที่โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาที่กำลังทำอยู่ทุกวันนี้ จำเป็นต้องปรับตัวด้วยมั้ย?

เรื่องของภูมิปัญญาท้องถิ่น เรื่องชีวิต จิตวิญญาณ มันจําเป็นอย่างยิ่งเลย มันเหมือนกับที่เรากำลังทำในโฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนาในขณะนี้ ก็คือเรากําลังอัพความรู้ของเราทั้งหมดที่เป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เข้าไปอยู่ในระบบออนไลน์ อัพความรู้ของเราทั้งหมดให้มันไปอยู่ในระบบใหม่นี้ด้วย เพื่อให้เข้าไปอยู่ในระบบของการค้นคว้าของคนทั่วโลกได้

ต่อไปก็จะเป็นช่องทางของการสื่อสารความรู้หรือทําให้คนเข้าถึงความรู้ของเราได้ด้วย อันนี้ก็ต้องทำ ถ้าเราไม่ทํา ความรู้ใหม่ ๆ ความรู้อื่น ๆ ความรู้ที่เป็นตลาด  ความรู้ที่เป็นของระบบทุนนิยมหรือความรู้แบบโลกาภิวัฒน์ทั้งหลาย มันก็จะเต็มไปหมดเลย ในขณะที่ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับท้องถิ่น ภูมิปัญญา หรือความรู้ที่เกี่ยวข้องกับระบบศาสนาอะไรพวกนี้ เราจําเป็นต้องทํา ในขณะที่เราทําประมวลความรู้ เรียนรู้ สั่งสมความรู้แล้ว ก็เข้าไปอยู่ในระบบ AI ด้วย นี่ก็มีความสําคัญ และจริง ๆ  แล้วมันก็คือการแบ่งปัน ให้มันเข้าไปสู่ระบบการค้นคว้าความรู้ของผู้คนทั้งในประเทศและต่างประเทศมากขึ้นด้วย ซึ่งผมคิดว่ายังมีความจําเป็นที่จะต้องทํากันต่อไป

เทศกาลเดือนแห่งการเรียนรู้ ‘เมษามาม่วน’

สรุปก็คือ เราก็ต้องรู้เท่าทัน AI แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์ที่สุด?  

ถูกต้อง เราต้องรู้เท่าทันปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI แล้วก็ใช้ให้เป็นประโยชน์มากที่สุด  ในขณะเดียวกัน เราก็ไม่ทิ้งวิถีชีวิตและจิตวิญญาณ และความรู้ที่เป็นสิ่งสําคัญของมนุษย์ที่จะมีชีวิตอยู่ร่วมกัน และพร้อมที่จะพัฒนาความรู้เหล่านี้ให้เข้าไปอยู่ในระบบเอไอด้วย

ผมมองว่า ยังไงเราก็คงปฏิเสธเรื่อง AI ไม่ได้ มันคือการเปลี่ยนแปลงในโลกยุคใหม่ แต่ว่าด้านหนึ่งมันก็มีประโยชน์ หมายถึงว่าในแง่ของการบันทึกข้อมูล การจัดระบบข้อมูล หรือระบบความรู้ที่มีอยู่กระจัดกระจายมากมายทั่วโลก AI ช่วยจัดระบบเพื่อให้เราสามารถเข้าถึงหรือค้นคว้าได้ง่าย อันนี้คือด้านดีของเขา  แต่ว่าอีกด้านหนึ่งนั้น AI มันไม่สามารถทดแทนมนุษย์ได้ ในแง่ที่เรียกกันว่าวิถีและและจิตวิญญาณ ซึ่งตรงนี้แหละ ที่เป็นเรื่องของความรัก เป็นเรื่องของความสัมพันธ์ ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ผู้คนกับผู้คน  หรือแม้กระทั่งผู้คนกับสิ่งที่เราเคารพนับถืออะไรแบบนี้  ที่เป็นสิ่งเหนือธรรมชาติ หรือว่าเป็นเรื่องของศาสนา AI เข้าไม่ถึงแน่นอน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง