นายก อบจ. 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นใคร-อยู่มาแล้วกี่สมัย

การเลือกตั้งนายก อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้ ถือเป็นหมุดหมายสำคัญของการเมืองท้องถิ่น โดยบางจังหวัดได้มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าไปแล้วทั้งหมด 29 จังหวัด เหตุมีการลาออกก่อนวาระและกลับมาลงสมัครใหม่อีกครั้งในหลายจังหวัด ซึ่งตอนนี้เหลือเพียงแค่ 47 จังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งพร้อมกัน 

Lanner ชวนย้อนดูสนามการเมืองท้องถิ่นว่า นายก อบจ. ทั้ง 17 จังหวัดภาคเหนือ เป็นใครและอยู่มากี่สมัยบ้าง เพื่อทำความเข้าใจและเตรียมพร้อมสำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นที่จะถึงนี้

จังหวัดเชียงราย

จังหวัดเชียงรายถือเป็นจังหวัดที่มีลักษณะของความเป็นบ้านใหญ่ที่ไม่ได้ผูกขาดไว้ที่ตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่เป็นลักษณะบ้าน 4 ตระกูล ได้แก่ ตระกูลจงสุทธานามณี , ตระกูลติยะไพรัช, ตระกูลวันไชยธนวงศ์ และตระกูลเตชะธีราวัฒน์ ที่หมุนเวียนสับเปลี่ยนครองตำแหน่งนายก อบจ.เชียงรายกัน

โดยในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ตั้งแต่ 2547-2551 รัตนา จงสุทธานามณี สามารถครองที่นั่งนายก อบจ. ถึง 2 สมัย ก่อนพ่ายแพ้ให้กับ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ในการเลือกตั้งปี 2555 แต่ สลักจฤฎดิ์ ก็ถูกตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี ในปี 2557 ทำให้มีการจัดการเลือกตั้งใหม่ในปีเดียวกัน ก่อนได้ บุศริณธญ์ วรพัฒนานันน์ นั่งตำแหน่งนายก อบจ.เชียงใหม่ จนถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งแรกในปี 2563 ที่ทำให้ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ชนะการเลือกตั้ง ซึ่งการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ในปี 2568 ทั้ง อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ และสลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ที่พ้นจากการตัดสิทธิ์ทางการเมืองกลับมาแข่งกันอีกครั้ง

เชียงใหม่

การเลือกตั้งท้องถิ่นในจังหวัดเชียงใหม่ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน พรรคเพื่อไทยหรือพรรคไทยรักไทยและพรรคพลังประชาชนในอดีต เป็นพรรคการเมืองที่เป็นที่เป็นส่วนสำคัญที่ผลักดันว่าใครจะได้นั่งตำแหน่ง นายก อบจ. ย้อนกลับไปในปี 2547 ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนกว่า 399,160 คะแนน ด้วยการสนับสนุนของ ทักษิณ ชินวัตร และพรรคไทยรักไทย ต่อมาการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ในปี 2551 บุญเลิศ บูรณุปกรณ์ อดีตนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ ชนะการเลือกตั้ง นายก อบจ. โดยได้รับการสนับสนุนโดย พรรคพลังประชาชน ซึ่งการเลือกตั้งในครั้งนี้ ธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ ก็ได้ลงแข่งแต่พ่ายแพ้เนื่องจากเกิดความขัดแย้งกับคนในพรรคไทยรักไทย

ต่อมาในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2555 บุญเลิศ ยังคงชนะการเลือกตั้งได้อีกหนึ่งสมัย ด้วยคะแนน 400,584 ด้วยการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย จนกระทั้งปี 2563 การเลือกตั้งในครั้งนี้ ถือว่าเป็นจุดเปลี่ยนระหว่างบุญเลิศและพรรคเพื่อไทยเนื่อง จากบุญเลิศลงสมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามอิสระ และได้รับการสนับสนุนจาก จตุพร พรหมพันธุ์ แกนนำ นปช. ด้านพรรคเพื่อไทย ส่ง พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย ที่ได้รับการสนับสนุนโดยทักษิณด้วยจดหมายน้อยจากแดนไกล ส่งผลให้ พิชัย เอาชนะการเลือกตั้ง บุญเลิศ ด้วยคะแนน 421,679 คะแนน ซึ่งในปี 2568 นี้ พิชัย ก็ลงสมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทย ท้าชนกับ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ อดีต ผอ.NIA จากพรรคประชาชน

จังหวัดน่าน

นรินทร์ เหล่าอารยะ เป็นผู้ครองตำแหน่งนายก อบจ.น่าน คนแรกที่มาจากการเลือกตั้ง และดำรงตำแหน่งมาอย่างยาวนานตั้งแต่ปี 2544 จนถึงปี 2563 ซึ่งเป็นเวลากว่า 20 ปี ซึ่งในการเลือกตั้งนายก อบจ.น่าน ปี 2563 นรินทร์ ตัดสินใจไม่ลงสมัครรับเลือกตั้ง จึงเป็นโอกาสของ นพรัตน์ ถาวงศ์ ประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่านในสมัยนั้น ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ให้สามารถขึ้นมาดำรงตำแหน่งแทน ซึ่งในการเลือกตั้งนายก อบจ.น่าน ปี 2568 นี้ นพรัตน์ ก็ลงสมัครชิงตำแหน่งนายก อบจ.อีกสมัย ในนามพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม

จังหวัดพะเยา

ตำแหน่งนายก อบจ. ของพะเยานั้นเป็นของ ไพรัตน์ ตันบรรจง มาหลายสมัย ด้วยความที่เป็นตระกูลการเมืองที่สำคัญในจังหวัดพะเยามาอย่างยาวนาน จนกระทั้งการเลือกตั้งนายก อบจ.พะเยา ก่อนวาระในปี 2554 วรวิทย์ บุรณศิริ น้องชายของวิทยา บุรณศิริ สส.อยุธยาและรัฐมนตรีในสมัยรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งด้วยการสนับสนุนพรรคเพื่อไทยนำโดย ธรรมนัส พรหมเผ่า ที่ในขณะนั้นยังอยู่ในสังกัดพรรคเพื่อไทยอยู่ แต่การเปลี่ยนแปลงขั้วทางการเมืองก็เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อปี 2561 ธรรมนัสได้เข้าร่วมกับพรรคพลังประชารัฐ โดยได้รับแต่งตั้งเป็นประธานกรรมการยุทธศาสตร์ภาคเหนือของพรรค ซึ่งการเลือกตั้งระดับชาติในปี 2562 ธรรมนัส พรหมเผ่า ในสังกัดพลังประชารัฐ ชนะเลือกตั้ง สส. ถึง 2 ใน 3 ของจังหวัดพะเยา และได้ส่ง อัครา พรหมเผ่า น้องชายของตนลงสมัครนายก อบจ. พะเยาในนามกลุ่มฮักพะเยา ในปี 2563 และชนะคู่แข่งอย่างขาดลอย

โดยปัจจุบันการเลือกตั้งล่าสุดในตำแหน่งนายก อบจ. ของจังหวัดพะเยาได้มีการจัดการเลือกตั้งไปแล้วเมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2567 โดยมีผู้ลงสมัคร 2 รายคือ ชัยประพันธ์ สิงห์ชัย ตัวแทนคณะก้าวหน้าและ ธวัช สุทธวงค์ จากพรรคเพื่อไทย ซึ่งธวัชเป็นผู้ชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

จังหวัดแพร่

จังหวัดแพร่ประกอบด้วยหลายขั้วทางการเมือง แต่ยังคงมีบ้านใหญ่อยู่ 3 บ้านที่โดดเด่น คือ ตระกูลศุภศิริ ตระกูลวงศ์วรรณ และตระกูลเอื้ออภิญญกุล โดยตระกูลวงศ์วรรณกับตระกูลเอื้ออภิญญกุลอยู่ปีกเดียวกับพรรคเพื่อไทย ในขณะที่ตระกูลศุภศิริอยู่ฝั่งพรรคประชาธิปัตย์ 

โดยในปี 2547-2550 ชาญชัย ศิลปอวยชัย ได้ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.แพร่ จนกระทั้งถูกลอบสังหาร ในวันที่ 22 ตุลาคม 2550 จึงทำให้มีการเลือกตั้งใหม่ในปีเดียวกันในวันที่ 9 ธันวาคม ทำให้ อนุวัธ วงศ์วรรณ อดีต สส.สังกัดพรรคไทยรักไทยในขณะนั้นที่ตัดสินใจลงสมัครนายก อบจ.แพร่ ในนามกลุ่มฮักเมืองแพร่ได้รับชัยชนะและดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.มาตั้งแต่ปี 2550 ถึงปัจจุบันรวมกว่า 3 สมัย โดยในการเลือกตั้งนายก อบจ. 2568 นี้ อนุวัธ ก็ลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทยเพื่อชิงตำแหน่งในสมัยที่ 4

จังหวัดแม่ฮ่องสอน

การเลือกตั้งผู้บริหารท้องถิ่นโดยตรงจากประชาชนเป็นครั้งแรกในประเทศไทยในปี 2547 จังหวัดแม่ฮ่องสอนนั้นได้มีการจัดการเลือกตั้งนายก อบจ. ขึ้นโดย ผู้ที่ชนะการเลือกตั้งก็คือ สุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีตสมาชิกสภาจังหวัดแม่ฮ่องสอน 2 สมัย ตั้งแต่ปี 2538-2545 อดีตรองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอนปี 2543 

จนกระทั้งในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ปี 2549 สุรสิทธิ์ ได้พ่ายแพ้ให้กับ อัครเดช วันไชยธนวง จากตระกูล วันไชยธนวง ที่ไม่ใช่ตระกูลที่มีพื้นเพอยู่ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนแต่เป็นตระกูลใหญ่จากจังหวัดเชียงราย ซึ่ง อัครเดช ก็ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบันร่วมกว่า 3 สมัย ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 นี้ อัครเดชก็ตัดสินใจลงสมัครชิงสมัยที่ 4 เช่นเดียวกัน 

จังหวัดลำปาง

สุนี สมมี ได้รับการเลือกตั้งเป็นนายก อบจ.ลำปาง อย่างต่อเนื่อง ถึง 3 ครั้งใน ปี 2547, 2551 และ 2555 โดยการสนับสนุนของ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตรัฐมนตรี และ สส.หลายสมัย ในสังกัดพรรคเพื่อไทย จนกระทั้งการรัฐประหารโดย คสช. ในปี 2557 สุนี ถูกคำสั่ง ม.44 ในวันที่ 26 มิถุนายน 2558 ให้หยุดปฎิบัติหน้าที่ชั่วคราว เป็นเวลา 2 ปี เธอจึงลาออกในปี 2560 โดยมีปลัด อบจ.ลำปางจะเป็นผู้รักษาราชการแทน 

จนกระทั้งปี 2563 ได้มีการจัดการเลือกตั้งท้องขึ้นครั้งแรกภายหลังการรัฐประหาร ไพโรจน์ ได้ส่ง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ลูกสาวของตนลงสมัครนายก อบจ.ลำปาง สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับชัยชนะถล่มถลายกว่า 220,284 คะแนน ซึ่งการเลือกตั้งนายก อบจ.ปี 2568 นี้ ตวงรัตน์ ก็ได้ลงสมัครเลือกตั้ง นายก อบจ.ลำปาง เป็นสมัยที่ 2

จังหวัดลำพูน

จังหวัดลำพูนเป็นจังหวัดเดียวที่มีการเปลี่ยนตัวนายก อบจ. ทุกครั้งที่มีการเลือกตั้ง และมีภาพของความเป็นตัวแทนพรรคการเมืองยังไม่ชัดเจนนักอย่างในปี 2547 สมาน ชมพูเทพ (ชื่อเดิมที่ได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็น สมานฉันท์ ชมภูเทพ) สส.พรรคประชาธิปัตย์ จังหวัดลำพูน หลายสมัย ได้ลงเลือกตั้งนายก อบจ. เอาชนะ ตรี ด่านไพบูลย์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคไทยรักไทยได้ ต่อมาในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2551 สมาน ได้แพ้การเลือกตั้งให้แก่ ทรงชัย วงศ์สวัสดิ์ สส.พรรคประชาธิปัตย์ ที่หันมาลงสมัครนายก อบจ.ลำพูน โดยทรงชัย ได้รับการสนับสนุนจาก อนุสรณ์ วงศ์วรรณ จนกระทั่งในการเลือกตั้ง นายก อบจ. ปี 2555 ทรงชัยก็ได้พ่ายให้กับ นิรันดร์ ด่านไพบูลย์ และการเลือกตั้งในปี 2563 พรรคเพื่อไทยได้ส่งอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ที่เป็นอดีตรัฐมนตรี และอดีต ส.ส. ลำพูน มาลงสมัครในนามพรรค และได้รับชัยชนะ โดยการเลือกตั้งนายก อบจ.ในปี 2568 นี้ อนุสรณ์ ก็ได้ลงสมัครชิงตำแหน่งอีกหนึ่งสมัยภายใต้สังกัดพรรคเพื่อไทย

จังหวัดอุตรดิตถ์

จังหวัดอุตรดิตถ์ถือว่าเป็นอีกหนึ่งจังหวัดที่ไม่มีการเปลี่ยนตำแหน่งนายก อบจ. มากนัก ‘ชัยศิริ ศุกรักษ์จินดา’ เป็นนายก อบจ. ในปี 2547-2551 ก่อนพ่ายให้กับ พีระศักดิ์ พอจิต อดีต สว. ในการเลือกตั้งปี 2551 แต่ต่อมาในปี 2555 ชัยศิริ ก็ได้กลับมาชิงชัยในสนาม นายก อบจ. อีกครั้ง และดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. มาถึงปัจจุบันในการเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนวาระเป็นสมัยที่ 5

สุโขทัย

เช่นเดียวกันกับจังหวัดสุโขทัย ที่ตำแหน่งนายก อบจ. ไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงมากนัก มนู พุกประเสริฐ เป็นนายก อบจ.สุโขทัย ในสมัยปัจจุบันที่ได้รับชัยชนะไปในการเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนวาระในวันที่ 3 พฤศจิกายน 2567 โดย มนู ได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปี 2554 ที่ มนู ได้ลาออกและได้มีการเลือกตั้งใหม่อีกครั้งในปีเดียวกันและได้ พรรณสิริ กุลนาถศิริ สส.พรรคเพื่อไทย น้องสาว สมศักดิ์ เทพสุทิน ขึ้นมานั่งตำแหน่งนายก อบจ. จนกระทั้งในปี 2563 มนู ได้กลับมาลงเลือกตั้ง นายก อบจ.อีกครั้งและเอาชนะ พรรณสิริ ต่อมาในปี 2567 มนู ก็ได้รับการเลือกตั้งในตำแหน่งนายก อบจ. อีกหนึ่งสมัย 

พิษณุโลก

ธวัชชัย กันนะพันธุ์ นั่งตำแหน่งนายก อบจ.พิษณุโลก ทั้งหมด 3 สมัย จนกระทั้งการเลือกตั้งปี 2551 ธวัชชัยได้พ่ายแพ้ให้กับสุรินทร์ ฐิติปุญญา ต่อมาในการเลือกตั้งปี 2555 สุรินทร์ ได้ส่ง วีรี ฐิติปุญญา ลูกสาวของตน แข่งกับ มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ อดีต สส.พิษณุโลก กลุ่มพลังพิษณุโลกที่ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อสู้กับกลุ่มพิษณุโลกพัฒนา ของ สุรินทร์ ซึ่งในการเลือกตั้งในครั้งนี้ มนต์ชัยได้เอาชนะลูกสาวของ สุรินทร์ และนั่งตำแหน่งนายก อบจ. ตั้งแต่ปี 2555 จนถึงปัจจุบันที่จังหวัดพิษณุโลกมีการเลือกนายก อบจ. ก่อนวาระ และมนต์ชัยได้รับชัยชนะเป็นสมัยที่ 3 

ตาก

ตั้งแต่ปี 2547-2555 ชิงชัย ก่อประภากิจ ได้เป็นนายก อบจ.ตาก ที่มาจากการเลือกตั้ง จนกระทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2555 ชิงชัยได้พ่ายแพ้ให้กับ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ จากกลุ่มพลังตาก ที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคเพื่อไทย ทำให้ ณัฐวุฒิ ได้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ตั้งแต่ปี 2555 ก่อนจะมีการประกาศลาออกในปี 2567 และส่งไม้ต่อให้ อัจฉรา ทวีเกื้อกุลกิจ อดีตรองนายก อบจ.ตาก สะใภ้ของ ณัฐวุฒิ ที่ลงสมัครเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนได้รับชัยชนะในสมัยล่าสุด

กำแพงเพชร

ตั้งแต่การเลือกตั้งนายก อบจ. ตั้งแต่ปี 2547-2568 จังหวัดกำแพงเพชรมี นายก อบจ. เพียง 2 คน ได้แก่ จุลพันธ์ ทับทิม ในปี 2547-2555 และ สุนทร รัตนากร ในปี 2555-2568 โดยในปี 2555 สุนทร อดีตรองนายก อบจ.กำแพงเพชร พี่ชายของ วราเทพ รัตนากร อดีต รมช.คลังได้เอาชนะ จุลพันธ์ ถึงแม้จะมี เรืองวิทย์ ลิกค์ อดีตรัฐมนตรีหลายกระทรวงสนับสนุนก็ตาม ซึ่ง สุนทร ก็ได้เอาชนะการเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2563 รวมไปถึงการเลือกตั้งนายก อบจ.ล่วงหน้าในปี 2567 เป็นสมัยที่ 3

พิจิตร

จังหวัดพิจิตรถือว่าเป็นจังหวัดที่มีการสับเปลี่ยนตำแหน่งนายก อบจ. น้อยที่สุด โดยตั้งแต่ปี 2540 จนถึง ปี 2563 คนที่ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.พิจิตรนั้นมีเพียงคนเดียว คือ ชาติชาย เจียมศรีพงษ์ อดีตประธานสภาจังหวัดพิจิตรตั้งแต่ปี 2538-2540 โดยในปี 2563 ชาติชาย ได้พ่ายแพ้การเลือกตั้งชิงตำแหน่งนายก อบจ. สมัยที่ 7 ต่อ กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ อดีต ผกก. ที่ได้รับการสนับสนุนจาก ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีต สส.พิจิตร หลายสมัย

โดยการเลือกตั้ง อบจ.ปี 2568 นี้ คนจากตระกูล ‘ภัทรประสิทธิ์’ ทั้ง กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ และกฤษฎ์ เพ็ญสุภา ได้ลงสมัครนายก อบจ.พิจิตร ในนามอิสระ ซึ่งทั้งคู่มีศักดิ์เป็นหลานกับลุง ซึ่งเหตุที่ทำให้เกิดความขัดแย้งขึ้นเกิดจาก ประดิษฐ์ ได้มีความขัดแย้งกันภายในตระกูลจึงส่งกฤษฎ์ที่เป็นหลานของตนลงแข่งกับกฤษฎา

นครสวรรค์

อำนาจ ศิริชัย เป็น นายก อบจ.ตั้งแต่ปี 2547-2553 โดย อำนาจ ศิริชัย ถูกลอบสังหารในวันที่ 12 กรกฎาคม 2553 จึงต้องมีการจัดให้มีการเลือกตั้งใหม่และได้ มานพ ศรีผึ้ง มานั่งตำแหน่ง นายก อบจ. จนกระทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นปี 2563 ที่ สมศักดิ์ จันทะพิงค์ ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนน 226,180 คะแนน และ สมศักดิ์ ยังเอาชนะในการเลือกตั้งก่อนวาระในวันที่ 23 มิถุนายน 2567 ภายหลังการลาออกก่อนวาระในวันที่ 1 พฤษภาคม 2567

อุทัยธานี

ตั้งแต่ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้ง นายก อบจ.ครั้งแรกในปี 2547 อุทัยธานี ได้มีตำแหน่งนายก อบจ. คือ ประเสริฐ มงคลศิริ อดีต สส.อุทัยธานี สังกัดพรรคประชาธิปัตย์และรวมไทยชาติพัฒนา จนกระทั้งการเลือกตั้งท้องถิ่นในปี 2551 ที่ ประเสริฐ ได้พ่ายให้กับ เผด็จ นุ้ยปรี อดีตหัวคะแนนใหญ่ให้กับ ศิลป์ชัย นุ้ยปรี อดีต สส.อุทัยธานี กระทั่งกระโดดเข้ามาเล่นการเมืองท้องถิ่นในตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดอุทัยธานี (สจ.) ซึ่ง เผด็จได้ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ.อุทัยธานีมากว่า 5 สมัย โดยการเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนวาระล่าสุด เผด็จ เป็นผู้สมัครเพียงคนเดียวที่ลงเลือกตั้ง เนื่องจาก มนัญญา ไทยเศรษฐ์ น้องสาวของ ชาดา ไทยเศรษฐ์ ถอนตัวจากการเลือกตั้ง ทำให้ เผด็จ ชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 5

เพชรบูรณ์

จังหวัดเพชรบูรณ์ถือว่าเป็นจังหวัดที่เป็นผูกขาดตำแหน่งนายก อบจ. มาอย่างยาวตั้งแต่ประเทศไทยจัดให้มีการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งแรกในปี 2547 เพชรบูรณ์มีตำแหน่งนายก อบจ.เพียงคนเดียวก็คือ อัครเดช ทองใจสด ตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน โดยการเลือกตั้งครั้งล่าสุดที่เป็นการเลือกตั้งนายก อบจ. ก่อนวาระ อัครเดช ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนนำโด่งกว่า 236,690 คะแนน คว้าตำแหน่งนายก อบจ. ไปในสมัยที่ 7  

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง