รอบนอกเมืองเชียงใหม่-สุโขทัย หลายพื้นที่น้ำยังขัง เชียงใหม่เฝ้าระวังเขื่อนแม่งัดฯระบายน้ำ 110 ลบ.ม. 

สืบเนื่องจากปริมาณน้ำที่ลดลงของแม่น้ำปิงและแม่น้ำสาขาอื่นๆ ส่งผลให้สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดเชียงใหม่เริ่มคลี่คลาย แต่ถึงอย่างนั้น ในบางพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่ยังคงต้องรับมือกับเหตุน้ำท่วมขัง

พื้นที่ อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถือว่าเป็นพื้นที่ท้ายน้ำ ทำให้แม้ในตัวเมืองเชียงใหม่จะมีปริมาณน้ำท่วมลดลงแล้ว แต่พื้นที่ อ.สารภี ยังคงต้องรับมวลน้ำท่วมต่อจากตัวเมือง ทำให้ ณ ตอนนี้ยังคงมีน้ำขังในพื้นที่สูงถึง 1 เมตร

รศ.ชูโชค อายุพงศ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยด้านการจัดการภัยพิบัติทางธรรมชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้เผยแพร่ผ่านช่องทาง Facebook ถึงสาเหตุของน้ำท่วมขังในพื้นที่ อ.สารภี ไว้ว่า

– น้ำที่เอ่อล้นมาจากแม่น้ำปิงเข้าท่วมหนองหอย ไม่ได้ไหลกลับแม่น้ำปิง แต่จะไหลลงมาตำบลท่าวังตาลซึ่งจะมีถนนวงแหวนรอบสองและรอบสามขวางทาง น้ำเอ่อท่วมต่อเนื่องกลายเป็นแก้มลิงไป 2 แก้ม น้ำจะลดลงช้าเพราะเส้นทางน้ำเดิมมีปัญหากีดขวางทางน้ำ (อันนี้ใช้เวลาอีกหลายวันกว่าจะไหลหมดแก้มที่สอง) 

– น้ำจากตำบลท่าวังตาล ต.ดอนแก้ว ต.หนองผึ้ง และอื่น ๆ จะไหลต่อไปสู่ตำบลหนองแฝก ซึ่งที่นี้จะเป็นจุดรับน้ำจากทั้งหมด ทำให้เกิดน้ำท่วมสะสมมาก 

– น้ำจากหนองแฝกจะไหลลงไปสู่ลำน้ำปิงห่างและเหมืองร้องฝรั่งแล้วไหลลงสู่แม่น้ำแม่กวง โดยที่บ้านป่าเส้า ตำบลอุโมงค์ จ.ลำพูน ต้องเร่งจัดการสิ่งกีดขวางทางน้ำ

ทางด้านสำนักงานชลประทานที่ 1 ได้มีการสรุปปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักและแม่น้ำสาขา ว่ามีแนวโน้มลดลง โดยมีรายละเอียดดังนี้

แม่น้ำปิง ต้นน้ำ P.20 (อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่) 48.20 cms. (22%) กลางน้ำ P.1 (อ.เมือง จ.เชียงใหม่) 325.00 cms. (80%) ปลายน้ำ P.73A (อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่) 978.15 cms. (73%)

น้ำแม่กวง P.5 (สะพานท่านาง อ.เมือง จ.ลำพูน) ปริมาณน้ำ 155.00 cms. (140%)

น้ำปาย Sw.5A ปริมาณน้ำ 306.85 cms. (140%)

ถึงแม้ว่าระดับน้ำในแม่น้ำปิงจะลดลงตั้งแต่วันที่ 27 ก.ย.ที่ผ่านมา แต่แม่น้ำสายเล็ก คลองต่าง ๆ ยังคงมีปริมาณน้ำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่รอยต่ออำเภอเมืองและอำเภอสารภี ที่ถือเป็นจุดท้ายน้ำ เช่นตำบลท่าวังตาล, ตำบลหนองผึ้ง, ตำบลดอนแก้ว จากนั้นจึงไหลมาตำบลหนองแฝก ซึ่งได้รับผลกระทบมากที่สุด

ภาพ: Yam Poramate

หรือในพื้นที่บ้านเชียงขาง หมู่ 7 ต.ไชยสถาน อ.สารภี จ.เชียงใหม่ ถูกน้ำท่วมขัง เข้าสู่วันที่ 6 ซึ่งมีมวลน้ำจากแม่น้ำปิง ที่ไหลมาจากฝายพญาคำ เอ่อล้นเข้ามาสมทบในหมู่บ้าน รวมไปถึงน้ำจากลำน้ำคาว ที่ทะลักเข้ามาท่วมในพื้นที่ ประกอบกับสภาพหมู่บ้านที่ขณะนี้กลายเป็นแอ่งกะทะ เนื่องจากมีบ้านจัดสรรล้อมรอบ และถมดินยกระดับพื้นที่ให้สูงขึ้น ทำให้เมื่อมีฝนตกลงมา น้ำจะไหลเข้าสู่พื้นที่ลุ่มต่ำในหมู่บ้านเชียงขางทั้งหมด

นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังมวลน้ำที่ระบายออกจากเขื่อนแม่งัดฯ โดยมีประกาศเริ่มระบายน้ำไปเมื่อเวลา 07.00 น. ที่ผ่านมา ด้วยปริมาณ 110 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะใช้เวลาทั้งสิ้น 34 ชั่วโมง ซึ่งจะส่งผลต่อพื้นที่ท้ายน้ำเป็นต้นไป รวมถึงพื้นที่ อ.สารภีด้วย

นายเฉลิมเกียรติ อินทกนก ผู้อำนวยการโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาแม่แฝก-แม่งัดสมบูรณ์ชล ได้ออกหนังสือประกาศเรื่อง แจ้งแผนการระบายน้ำของเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล โดยระบุว่า จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยา สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้คาดหมายสถานการณ์ มีแนวโน้มที่จะเกิดฝนตกในพื้นที่ลุ่มน้ำปิงตอนบน ตั้งแต่ช่วงค่ำของวันที่ 30 กันยายน 2567 ต่อเนื่องถึงวันที่ 2 ตุลาคม 2567 ในปริมาณปานกลางถึงหนักในบางพื้นที่ ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณน้ำท่าในแม่น้ำปิง และแม่น้ำสาขามีแนวโน้มที่สูงขึ้น และปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชลเพิ่มขึ้นจากเดิมและล้นข้ามอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉิน (Emergency Spillway) ในอัตราสูงถึง 150-200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่ไม่สามารถควบคุมได้ไหลลงสู่แม่น้ำปิง และส่งผลกระทบกับเมืองเชียงใหม่และพื้นที่ตอนล่าง

ภาพ: สุโขทัยโพสต์

ทั้งนี้ วันที่ 29 กันยายน 2567 เวลา 10.37 น. สุโขทัยโพสต์ ได้รายงานสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ อำเภอศรีสำโรง ว่าระดับในหลายพื้นที่เริ่มลดลงแต่ยังมีน้ำท่วมขังในหลายพื้นที่อยู่ โดยสถานการณ์น้ำท่วมถนนเส้นหลัก 101 สายสุโขทัย-ศรีสำโรง ช่วงแยกท่าช้าง ต.ทับผึ้ง อ.ศรีสำโรง จ.สุโขทัย ทั้ง 2 ฝั่งจะเริ่มลดระดับลงบ้างแล้ว แต่บางจุดก็ยังมีน้ำท่วมสูง จึงต้องปิดการจราจรต่อชั่วคราว ส่วนที่หมู่ 6 ต.วังใหญ่ อ.ศรีสำโรง ซึ่งคันดินพังจุดเดิมบริเวณใต้สะพานสิริปัญญารัต ทำให้น้ำทะลักท่วมบ้านเรือน หมู่ 4 และหมู่ 6 กระแสน้ำยังคงไหลเชี่ยวกราก ตัดขาดทางหลวงหมายเลข 1195 เส้นเตว็ดใน-วังไม้ขอน ช่วงหมู่ 6 ต.วังใหญ่ ล่าสุดระดับน้ำทรงตัว

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง