มองเลือกตั้งนายก อบจ. 68 ภาคเหนือจากข้อมูล ใครเป็นใคร พรรคไหนส่ง งัดกันด้วยนโยบายแบบใด

เรื่อง: ปรัชญา ไชยแก้ว

ภาพ: วีรภัทร เหลาเกิ้มหุ่ง

หมุดหมายสำคัญของการเมืองท้องถิ่นที่จะเกิดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่จะถึงนี้ ในประเทศไทยจะเหลือเพียง 47 จังหวัดที่จะมีการเลือกตั้งนายก อบจ. พร้อมกัน เนื่องจากมี 29 จังหวัด ที่มีการจัดการเลือกตั้งล่วงหน้าไปก่อนแล้วเหตุมีการลาออกก่อนวาระของเหล่านายก อบจ. โดยใน 47 จังหวัดที่เหลือนั้นมีผู้สมัครฯ ทั้งหมด 332 คน

ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือเหลือเพียง 8 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่, ลำปาง, เชียงราย, ลำพูน, แม่ฮ่องสอน, แพร่, น่าน และ พิจิตร มีผู้สมัครทั้งหมด 25 คน โดยจังหวัดที่มีผู้สมัครนายกอบจ.มากที่สุดคือ จังหวัดน่าน จำนวน 5 คน รองลงมาคือ จังหวัดลำปางและพิจิตร จำนวน 4 คน และจังหวัดที่มีผู้สมัครฯ 3 คน ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย ส่วนจังหวัดที่มีผู้สมัครฯ น้อยที่สุดเพียง 2 คน คือ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และแพร่

สัดส่วนเพศผู้สมัครนายก อบจ. ภาคเหนือ

ทั้งนี้ ผู้สมัครนายก อบจ. ทั่วประเทศมีทั้งหมด 332 คน แบ่งเป็นเพศชาย 283 คน และเพศหญิง 49 คน โดยในพื้นที่ภาคเหนือมีผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 25 คนแบ่งเป็นเพศชาย 20 คน คิดเป็น 80% เพศหญิง 5 คน คิดเป็น 20% หากอิงตามข้อมูลข้างต้นพบว่า มีจังหวัดที่มีผู้สมัคร นายก อบจ. ที่เป็นเพศชายทั้งหมด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน แพร่ น่าน พิจิตร และจังหวัดที่มีทั้งผู้สมัครชายและหญิงเท่ากัน คือ ผู้ชาย 2 คน ผู้หญิง 2 คน ได้แก่ ลำปาง ที่น่าสนใจคือจังหวัดเชียงรายเป็นจังหวัดที่มีผู้สมัครเป็นเพศหญิงทั้งหมด ได้แก่ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์, สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช และจิราพร หมื่นไชยวงศ์ ซึ่งหากเทียบกับจำนวนผู้สมัครฯ ทั้ง 8 จังหวัดก็ถือว่ายังเป็นสัดส่วนที่น้อยอยู่ดี 

ซึ่งหากมาดูที่จังหวัดที่มีการจัดเลือกตั้งก่อนวาระไปแล้ว 9 จังหวัดที่เหลือ (พะเยา, สุโขทัย, พิษณุโลก, ตาก, กำแพงเพชร, นครสวรรค์, อุทัยธานี และเพชรบูรณ์) พบว่า มีเพศชายดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ทั้งหมด 8 คน และมีเพียง 1 คนที่เป็นผู้หญิงนั้นก็คือ อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ นายก อบจ.ตาก อดีตรองนายก อบจ.ตาก สะใภ้ของ ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต นายก อบจ.ตาก คนก่อนหน้า

ผู้สมัครในนามอิสระที่อาจจะไม่ได้อิสระอย่างที่เห็น

หากดูที่ตัวผู้สมัคร นายก อบจ. ใน 8 จังหวัดที่มีการเลือกตั้ง นายก อบจ. ทั้ง 25 คน พบว่ามีพรรคการเมืองระดับชาติที่เปิดตัวอย่างเป็นทางการเพียง 2 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย 5 คน คิดเป็น 20% โดยมี 1 คน ที่เปิดตัวในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทย คิดเป็น 4%  และ พรรคประชาชน 2 คน คิดเป็น 8% และเปิดตัวเป็นผู้สมัคร ‘อิสระ’ อีก 17 คน คิดเป็น 68% 

พรรคเพื่อไทยเป็นพรรคที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการมากที่สุด 5 คน ได้แก่ ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ผู้สมัคร นายก อบจ.ลำปาง, สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงราย, อนุสรณ์ วงศ์วรรณ ผู้สมัคร นายก อบจ.ลำพูน, อนุวัธ วงศ์วรรณ ผู้สมัคร นายก อบจ.แพร่ และ นพรัตน์ ถาวงศ์ ผู้สมัคร นายก อบจ.น่าน 

ส่วน พิชัย เลิศพงษ์อดิศร ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ อดีต นายก อบจ.เชียงใหม่ สมัยล่าสุด ได้เปิดตัวในนาม ‘สมาชิกพรรค’ โดย พิชัย เคยเป็นตัวแทนลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งที่แล้ว แต่ครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้ส่งลงในนามพรรคซึ่งจะต้องมีมติของคณะกรรมการบริหารพรรค แต่ครั้งนี้สมัครในนามสมาชิกพรรคอันน่าจะเป็นผลมาจากคดีความที่ยังค้างคาอยู่ในศาลอาญาคดีทุจริตฯ ซึ่งยังถือว่าเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ในทำนองเดียวกับกรณีที่ปทุมธานีที่ครั้งแรกส่งในนามพรรคเพื่อไทย แต่พอมีการเลือกตั้งใหม่เพราะเหตุใบเหลืองกลับไม่ส่งในนามพรรค

ส่วนพรรคประชาชนมีผู้สมัครนายก อบจ. เปิดตัวอย่างเป็นทางการทั้งหมด 2 คน ได้แก่ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ และ วีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัคร นายก อบจ.ลำพูน

ทั้งนี้ จากการสืบค้นข้อมูลของผู้สมัครนายก อบจ. ที่ลงสมัครในนาม ‘อิสระ’ ทั้ง 17 คนนั้นพบว่า หลายคนมีความสัมพันธ์กับพรรคการเมืองอยู่ อิงจากความสัมพันธ์ในอดีตของการนำเสนอของสื่อมวลชน อาทิ การสังกัดพรรคการเมือง, การลงสมัคร สส.ในนามพรรคนั้นๆ, สนับสนุนพรรคการเมือง เป็นต้น

อย่าง พนม ศรีเผือด ผู้สมัคร นายก อบจ.เชียงใหม่ หมายเลข 3 อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวและกิจการมวลชน กอ.รมน.เชียงใหม่ ได้ลงสมัครในนามอิสระ มีสโลแกนในการหาเสียงคือ “อิสระ ไร้สี ไม่มีบ้านใหญ่” ก็เคยลงสมัคร สส.ในนามพรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2566 ซึ่งปัจจุบันพนมประกาศว่าตนได้ลาออกจากสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติแล้ว

หรือ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.เชียงราย สมัยล่าสุด ที่ลงสมัครในนามอิสระ ในทีมมั่นใจนกทำได้ ซึ่งมีบิดาอย่าง สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ และ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย โดยในอดีต “วันไชยธนวงศ์” ถือว่าเป็นตระกูลที่มีสัมพันธ์อันดีกับพรรคเพื่อไทยตั้งแต่สมัยพรรคไทยรักไทย อย่างการเลือกตั้งปี 2544 และ 2548  สมบูรณ์ ก็ลงสมัครและได้รับเลือกตั้งในนามพรรคไทยรักไทย หรือ รังสรรค์ ก็เคยลงรับเลือกตั้งในปี 2550 สังกัดพรรคพลังประชาชน และในปี 2554 ก็ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ในปี 2562 ก็ลงสมัครเลือกตั้งสังกัดพรรคเพื่อไทยก่อนจะย้ายมาซบอกพรรคภูมิใจไทยในปีเดียวกัน เช่นเดียวกับ สมบูรณ์ ก็ย้ายมารวมงานกับพรรคภูมิใจไทยในการเลือกตั้งปี 2554

นอกจากนี้ยังมี ดาชัย เอกปฐพี ผู้สมัครนายก อบจ.ลำปาง เบอร์ 1 กลุ่มพลังลำปางในนามอิสระ ก็เคยเป็นอดีตผู้สมัคร สส.ลำปาง เขต 3 พรรคพลังประชารัฐ ในปี 2566 และมีคดีพัวพันขบวนการทุจริตโกงสอบตำรวจสายอำนวยการ รวมไปถึงประสงค์ ชุ่มเชย ผู้สมัคร นายก อบจ.แพร่ ในนามอิสระ ก็เคยเป็นสมาชิกพรรครวมไทยสร้างชาติ และลงสมัคร สส. ในสังกัดพรรครวมไทยสร้างชาติ ในปี 2566 

ดนุภัทร์ เชียงชุม ผู้สมัคร นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ในนามอิสระก็เคยลงสมัคร สส. ในปี 2566 ในนามพรรคประชาธิปัตย์ และเป็นอดีตผู้เชี่ยวชาญประจำตัวสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของ สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 หรือพิชิต โมกศรี ผู้สมัคร นายก อบจ.น่าน ก็เคยลงสมัคร สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ในปี 2566 

หรือในจังหวัดพิจิตรที่มีผู้สมัครตระกูลบ้านใหญ่อย่างตระกูล ‘ภัทรประสิทธิ์’ ทั้ง กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ และกฤษฎ์ เพ็ญสุภา ที่ทั้งคู่ลงสมัครนายก อบจ.พิจิตร ในนามอิสระ ทั้งคู่มีศักดิ์เป็นหลานกับลุง ซึ่งกฤษฎาเคยได้รับการสนับสนุนจาก ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรี ที่เป็นคนนำตระกูลภัทรประสิทธิ์เข้าสู่พรรคภูมิใจไทย แต่ตัว ประดิษฐ์ ได้มีความขัดแย้งกันภายในตระกูลจึงส่งกฤษฎ์ ที่เป็นหลานของตนลงแข่งกับกฤษฎา ซึ่งถือว่าเป็นความขัดแย้งที่ผูกปมกันไปมาในตระกูลภัทรประสิทธิ์ที่พรรคภูมิใจไทยก็เป็นหนึ่งในปมนั้น

ทั้งนี้ กฤษฎา ยังมีความเชื่อมโยงกับพรรคเพื่อไทยในหลายๆ ด้าน อาทิ เป็นลูกเขยของ สุชน ชามพูนท อดีต สส.พิษณุโลก 14 สมัย ซึ่งสนิทกับเครือข่ายพรรคเพื่อไทย และเคยเดินหาเสียงร่วมกันในตำบลเนินปอ และตำบลหนองโสน กับ รัตน์ฐาภัทร  เหลืองวิจิตร ผู้สมัคร ส.อบจ. อ.สามง่าม เขต 2 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สุณีย์ เหลืองวิจิตร อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ที่ปรึกษาของ ภูมิธรรม เวชยชัย

พรรคเพื่อไทยในสนามการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือ

หากมาดูที่การพรรคการเมืองระดับชาติในการเปิดตัวผู้สมัครนายก อบจ. อย่างเป็นทางการมีทั้งหมด 8 คน ได้แก่ พรรคประชาชน 2 คน และพรรคเพื่อไทย 6 คน หากมาดูผู้สมัครแต่ละคนที่เปิดตัวกับพรรคเพื่อไทยจะพบว่าแทบทุกคนเป็นผู้สมัครที่เคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ. มาแล้ว และบางคนก็ดำรงตำแหน่งมาแล้วหลายสมัย อย่าง อนุวัธ วงศ์วรรณ ผู้สมัครนายก อบจ.แพร่ ที่ดำรงตำแหน่งมาแล้วกว่า 3 สมัย และอนุสรณ์ วงศ์วรรณ ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน นายก อบจ. ลำพูน สมัยล่าสุด ซึ่งทั้งคู่เป็นทายาทของ ณรงค์ วงศ์วรรณ อดีตรองนายกรัฐมนตรีไทย

โดยการเลือกตั้ง นายก อบจ. ในครั้งนี้พรรคเพื่อไทยไม่ได้เปิดตัว พิชัย เลิศพงษ์อดิศร ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ อย่างเป็นทางการ แต่ พิชัย ได้ลงสมัครในนาม สมาชิกพรรค เนื่องจากมีคดีพัวพันอยู่ โดยก่อนหน้าพรรคเพื่อไทยมีการสนับสนุน พิชัย ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2563 ด้วย ‘จดหมายน้อย’ จาก ทักษิณ และ ยิ่งลักษณ์ 2 พี่น้องอดีตนายกรัฐมนตรี ตระกูลชินวัตร ที่เขียนเผยแพร่ทางเพจเฟซบุ๊ก Thaksin Shinawatra จนชนะการเลือกตั้ง และในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 นี้ ทักษิณก็ได้เดินทางขึ้นเวทีปราศรัยที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ จ.เชียงใหม่ สนับสนุนนายพิชัยให้รักษาแชมป์อีก 1 สมัย

เช่นเดียวกับ ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ผู้สมัครนายก อบจ.ลำปาง ที่เข้าสู่เส้นทางการเมืองในปี 2554 ต่อจาก ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร ผู้เป็นบิดาหลังถูกตัดสิทธิ์การเมือง 5 ปี โดยลงสมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร แบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย จนถึงปี 2562 และ ตวงรัตน์ได้ลงสมัครนายก อบจ.ลำปาง ในปี 2563 และชนะขาดลอยด้วยคะแนน 220,284 คะแนน ด้วยการสนับสนุนของพรรคเพื่อไทย

ในจังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดตัว นพรัตน์ ถาวงศ์ ผู้สมัครนายก อบจ.น่าน อดีตนายก อบจ.สมัยล่าสุด ที่ได้รับการสนับสนุนโดย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ตั้งแต่การเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2563 จนทำให้ชนะขาดลอยด้วยคะแนน 89,698 คะแนน

นอกจากนี้ การแข่งขันเลือกตั้งทั้งระดับท้องถิ่นและระดับชาติในจังหวัดเชียงรายถือว่าเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่พรรคเพื่อไทยให้การสนับสนุนอย่างเต็มกำลัง อย่างการเลือกตั้ง อบจ. 68 นี้ มีตระกูลใหญ่ลงชิงตำแหน่ง นายก อบจ. ถึง 2 ตระกูล คือ สลักจฤฎดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงราย สังกัดพรรคเพื่อไทย จากตระกูล ‘ติยะไพรัช’ ที่ได้รับการสนับสนุนจากเหล่าแกนนำพรรคเพื่อไทยหลายคน อย่าง พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน, ละออง ติยะไพรัช, ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช, เทอดชาติ ชัยพงษ์, วิสาระดี เตชะธีรวัฒน์ และทักษิณ ชินวัตร

สลักจฤฎดิ์ เคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย ตั้งแต่ปี 2555-2557 แต่ต้องหลุดจากตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย เนื่องเหตุทางคดีทำให้ถูกจำคุก 2 ปี 6 เดือน และตัดสิทธิ์ทางการเมือง 10 ปี เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2557 โดยการกลับมาในสนามการเมืองครั้งนี้เธอก็ได้ใช้ชื่อเล่นของทักษิณอย่าง Tony Woodsome ในนโยบายการหาเสียงของเธอด้วย “TONY BRAND” คือนโยบายการสร้างแบรนด์สินค้าเพื่อเพิ่มมูลค่าในการภูมิปัญญาท้องถิ่นให้เป็นแรงบันดาลใจระดับสากล โดย TONY BRAND ย่อมาจาก “Transforming Local Opportunities into a global Network that sparks Yearning”

อีกหนึ่งตระกูลที่ในอดีตเคยร่วมงานกับพรรคเพื่อไทยและพรรคไทยรักไทยอย่างตระกูล ‘วันไชยธนวงศ์’ ก็ได้ส่ง อทิตาธร นายก อบจ.เชียงราย สมัยล่าสุด ที่ถึงแม้ไม่ได้เปิดตัวในนามพรรคอย่างเป็นทางการ แต่ในอดีต คนจากตระกูลวันไชยธนวงศ์อย่าง รังสรรค์ และสมบูรณ์ ล้วนเคยลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคไทยรักไทยและพรรคเพื่อไทยก่อนย้ายมาอยู่พรรคภูมิใจไทยในปัจจุบัน

ที่ทางของทหาร-ตำรวจในการเมืองท้องถิ่นภาคเหนือ

พื้นที่ทางการเมืองท้องถิ่นนอกจากนักการเมือง หรือนักธุรกิจแล้ว ‘ทหาร-ตำรวจ’ ก็เป็นอีกผู้เล่นที่ลงมาในสนามนี้เช่นเดียวกัน จากข้อมูลพบว่า มีทหาร-ตำรวจที่เป็นผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งหมด 3 จังหวัด จำนวน 3 คน ดังนี้

พลตรี พนม ศรีเผือด ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ ในนามอิสระ ที่ในอดีตเคยลงสมัคร สส. พรรครวมไทยสร้างชาติ ในการเลือกตั้งระดับชาติปี 2566 ก่อนลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคในตอนท้าย ในอดีต พนม เริ่มต้นเส้นทางด้วยการเป็นพลทหารปี 27 ผลัด 1/27 ก่อนเข้าเรียนนายสิบรุ่น 18/28 ก่อนเข้าไปทำงานในหน่วยข่าวกรอง และหัวหน้าฝ่ายข่าวและกิจการมวลชน กอ.รมน.เชียงใหม่

อธิวัฒน์ เตชะบุญ หรือ ‘ผู้พันหวิน’ ฉายา ‘นักรบนักพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือ (ตอนบน)’ ผู้สมัครนายก อบจ.น่าน ในนามอิสระ อดีตผู้สมัคร สส.น่าน เขต 1 ปี 2562 และอดีตเลขาธิการพรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย เคยปฎิบัติหน้าที่ สนง.เลขาฯ รมต.กลาโหม ฝ่ายความมั่นคง เคยปฏิบัติการช่วยเกาะติดแผนการ ยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศรูปแบบใหม่ ตำแหน่งทางราชการทหารยศพันโท เกษียณอายุราชการในปี 2555

และคนสุดท้าย พ.ต.อ.กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ หรือ ‘ผู้กำกับกบ’ ผู้สมัครที่นอกจากมาจากนามสกุลใหญ่อย่าง ‘ภัทรประสิทธิ์’ แล้ว กฤษฎา ยังเคยมีที่ทางในวงการสีกากีในตำแหน่งผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรวังทรายพูน จังหวัดพิจิตร และอดีตผู้กำกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6 ก่อนลาออกมาประกอบธุรกิจส่วนตัว

นโยบายหลักในการหาเสียงของผู้สมัครนายก อบจ.

หากมาดูที่นโยบายในการหาเสียงอิงจากนโยบายในการหาเสียงและการนำเสนอของสื่อมวลชนผ่านช่องทางออนไลน์ของผู้สมัคร นายก อบจ. ทั้ง 25 คน โดยแบ่งเป็นทั้งหมด 7 นโยบายหลัก (นโยบายด้านความโปร่งใสในการบริหารงานของ อบจ., นโยบายด้านโครงสร้างพื้นฐาน, นโยบายด้านผู้สูงวัยและสาธารณสุข, นโยบายด้านการศึกษาและเยาวชน, นโยบายด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว, นโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการสาธารณภัย และนโยบายด้านขนส่งมวลชน) พบว่า นโยบายด้านขนส่งมวลชนเป็นนโยบายในการหาเสียงน้อยที่สุด มีเพียงผู้สมัครนายก อบจ. เพียง 6 คนเท่านั้นที่มีนโยบายด้านนี้ในการหาเสียง รองลงมาเป็นนโยบายด้านความโปร่งใสในการบริหารงานของ อบจ. เป็นนโยบายที่มีผู้สมัครฯ ใช้ในการหาเสียงเพียง 7 คน 

ซึ่งนโยบายที่ใช้ในการหาเสียงที่จะพบได้ในเกือบทุกการหาเสียงของผู้สมัครฯ คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน เป็นนโยบายที่ผู้สมัครทั้ง 21 คนใช้ในการหาเสียง, ด้านผู้สูงวัยและสาธารณสุข เป็นนโยบายที่ผู้สมัครทั้ง 15 คนใช้ในการหาเสียง, ด้านการศึกษาและเยาวชน เป็นนโยบายที่ผู้สมัครทั้ง 20 คนใช้ในการหาเสียง, ด้านเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว เป็นนโยบายที่ผู้สมัครทั้ง 19 คนใช้ในการหาเสียง และด้านสิ่งแวดล้อมและการจัดการสาธารณภัย เป็นนโยบายที่ผู้สมัครทั้ง 17 คนใช้ในการหาเสียง

“การปฎิรูปท้องถิ่น” ในนโยบายหาเสียงเลือกตั้ง อบจ.

การหาเสียงเพื่อได้มาของตำแหน่ง นายก อบจ. ของผู้สมัครนายก อบจ. แต่ละจังหวัดแล้ว นอกจากนโยบายหรือแผนการดำเนินงานในการหาเสียงที่กินใจประชาชนในแต่ละพื้นที่ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือการที่ผู้สมัคร นายก อบจ. แต่ละคนมีแนวคิดของตนว่าต้องการปฏิรูปท้องถิ่นหรือไม่ ผ่านนโยบายหาเสียงที่ถือว่าเป็นตัวชี้วัดว่าผู้สมัครฯ นั้นมีแนวคิดที่ต้องการให้ท้องถิ่นนั้นได้ปลดล็อคศักยภาพในการทำงานเพื่อประชาชนในจังหวัดอย่างแท้จริง

จากการสำรวจผู้สมัครฯ ทั้ง 25 คนของ Lanner ที่อิงข้อมูลจากนโยบายหลักในการหาเสียงและการนำเสนอของสื่อมวลชนผ่านช่องทางออนไลน์ พบว่ามี ผู้สมัครฯ ที่พูดถึงการปฏิรูปท้องถิ่นมีเพียง 2 คน ซึ่งทั้ง 2 คน เป็นผู้สมัครฯ ที่เปิดตัวกับพรรคประชาชนทั้งคู่ ได้แก่ พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงใหม่ และ วีระเดช ภู่พิสิฐ ผู้สมัครนายก อบจ.ลำพูน

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้ใช้โควทในการหาเสียงผ่านเพจเฟซบุ๊กในการหาเสียงไว้ว่า เพราะ อบจ.เชียงใหม่ ต้องถูกปฏิรูปให้ทำงานได้อย่าง โปร่งใส่ ทันสมัย และมีประสิทธิภาพ ด้วยงบประมาณ 1800 ล้าน ต่อปี ซึ่งหากสืบค้นนโยบายหรือแผนการทำงานของพันธุ์อาจจะพบว่าจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายในหลายๆ ด้าน รวมไปถึงการทำให้ อบจ.มีความโปร่งใสในการทำงานมากขึ้น อย่าง การเปิด Open data ข้อมูลภาครัฐ การถ่ายทอดสดการประชุมสภา อบจ. เป็นต้น

ด้าน วีระเดช ภู่พิสิฐ มีนโยบายในการหาเสียงที่เผยว่าจะมีการนำกลไกของ ‘สภาพลเมือง’ เข้ามาในการทำงานให้ประชาชนในจังหวัดลำพูนได้ออกความคิดเห็นในการเสนอโครงการต่อ อบจ. รวมไปถึงมีสิทธิในการร้องเรียน รวมไปถึงการติดตามผลผ่านช่องทางออนไลน์ จากนโยบายของ 2 คนที่เป็นผู้สมัครฯ จากพรรคประชาชน อาจจะกล่าวเป็นนัยยะได้ว่าพรรคประชาชนต้องการปฏิรูปท้องถิ่นที่ให้ท้องถิ่นสามารถตรวจสอบได้อย่างโปร่งใส ผ่านนโยบายการทำงานของ 2 ผู้สมัครฯ

โดย ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้อธิบายว่าการที่เหล่าผู้สมัครนายก อบจ. ไม่ได้มีนโยบายด้านการปฏิรูปท้องถิ่นในการหาเสียงของตนเนื่องจาก กลไกหลักในการปฏิรูปท้องถิ่นนั้นส่วนใหญ่จะเป็นการทำงานของรัฐบาลมากกว่าอำนาจขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 

อีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เหล่าผู้สมัคร นายก. หลายคนที่ไม่ได้ผลักดันเรื่องนี้เนื่องจากอยู่ฝั่งเดียวกับรัฐบาล หากมีการผลักดันเรื่องนี้ก็เหมือนเป็นการกดดันรัฐบาล จึงเลือกแต่นโยบายที่จับต้องได้อย่างการบริการสาธารณะ ผู้สูงอายุ และนโยบายที่ตอบโจทย์คนในพื้นที่ชนบทที่เป็นคนส่วนใหญ่ของการเลือกตั้ง 

แต่พรรคประชาชนนั้นเป็นฝ่ายค้านก็สามารถผลักดันนโยบายนี้ได้ รวมไปถึงพรรคประชาชนก็ผลักดันเรื่องนี้มาตลอด นอกจากนี้เหล่าผู้สมัครอิสระส่วนใหญ่นั้นไม่ต้องการมีปัญหากับรัฐบาล เนื่องจากหากได้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ. แล้ว การพัฒนาท้องถิ่นให้มีศักยภาพขึ้นต้องพึ่งพิงขอความช่วยเหลือจากรัฐบาล จึงทำให้การผลักดันเรื่องปฏิรูปท้องถิ่นของเหล่าผู้สมัครอิสระเป็นไปได้ยากเช่นเดียวกัน

กองบรรณาธิการ Lanner เกิดและโตที่เชียงใหม่ มีความฝันบ้า ๆ ว่าอยากเป็นชาวประมง สอดส่องชีวิตผู้คนด้วยเลนส์ 576 ล้านพิกเซล และกลั่นกรองออกมาเป็นงานเขียน พบเจอได้ตามกิจกรรมทางการเมือง ที่ ลานท่าแพ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง