คนเหนือพรรค วิเคราะห์ท้องถิ่นแม่ฮ่องสอนผ่านภูมิศาสตร์ทางการเมือง

การเมืองในแม่ฮ่องสอนมีลักษณะแตกต่างจากจังหวัดอื่นในภาคเหนืออย่างเห็นได้ชัด หากย้อนกลับไปดูการเลือกตั้ง สส. ที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแม่ฮ่องสอนยังคงมีแนวโน้มในการเลือกผู้แทนจากตัวบุคคล มากกว่าการเลือกตามพรรคการเมือง การเมืองในจังหวัดนี้จึงมีลักษณะเฉพาะที่เชื่อมโยงกับบุคคลและความสัมพันธ์ส่วนตัวมากกว่าการเมืองในเชิงพรรคพวก Lanner พูดคุยกับทรงศักดิ์ ปัญญา’ อาจารย์ประจำสาขาการปกครองท้องถิ่น  วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เพื่อฉายภาพการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนถึงวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่อนสอน 1 กุมภาพันธ์ 2568 นี้

การเมืองแม่ฮ่องสอน ความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเหนือพรรคการเมือง

ส่วนหนึ่งของลักษณะนี้เกิดจากสภาพสังคมที่ยังมีแนวคิดในเชิงอุปถัมภ์ (Patronage) ค่อนข้างมาก ซึ่งหมายความว่า การเมืองของแม่ฮ่องสอนยังคงมีความผูกพันกับการให้ผลประโยชน์ การเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ มากกว่าการตัดสินใจโดยหลักการทางพรรคการเมืองหรือประเด็นนโยบายอย่างชัดเจน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ฮ่องสอนมีลักษณะเช่นนี้คือการขาดโอกาสในการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า ถนน ที่ยังไม่ดีเท่ากับจังหวัดอื่นในภาคเหนือ และยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ เช่น กฎหมายเรื่องป่าชุมชน ที่มักทำให้ชาวบ้านที่พึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากป่า เช่น การทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเก็บผลผลิตจากป่า  ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้แม่ฮ่องสอนยังถือเป็นจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภูมิภาค ทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลังของภาพลักษณ์ที่ดูเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ ซึ่งในความเป็นจริง คนในพื้นที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดที่ไม่สามารถพัฒนาได้ตามที่ควร

สิ่งนี้ทำให้การเมืองในแม่ฮ่องสอนยังคงยึดโยงกับตัวบุคคลและผู้มีอำนาจท้องถิ่น ที่สามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังส่งผลให้การพัฒนาการเมืองในท้องถิ่นขยับช้ากว่าจังหวัดอื่นๆ ทำให้การเมืองแม่ฮ่องสอนยังคงอยู่ในวงจรที่สัมพันธ์กับบุคคลและไม่ค่อยมีการพัฒนาในเชิงพรรคการเมืองหรือประเด็นนโยบายเท่าที่ควร

การเมืองท้องถิ่นในแม่ฮ่องสอน การเชื่อมโยงส่วนบุคคลในสนามเลือกตั้ง

ในตอนนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 2 คน ซึ่งทั้งสองมีลักษณะการเติบโตในสายทางการเมืองที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยเริ่มต้นจากการร่วมงานกับพรรคการเมืองในสายเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปจะเห็นว่าทั้งสองมีพื้นฐานทางการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้สมัครทั้ง 2 ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้มุมมองทางการเมืองของทั้งสองคนไม่ได้ต่างขั้วกันมากนัก หากมองในแง่ของการเมืองในระดับท้องถิ่น ยังมีความเชื่อมโยงในเรื่องของการเมืองส่วนบุคคลมากกว่าในเชิงนโยบายพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงหลักระหว่างพวกเขา

อัครเดช วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ผู้สมัครหมายเลข 1  ภาพจาก Facebook อัครเดช วันไชยธนวงศ์ Official – 6ธค62
ดนุภัทร์ เชียงชุม ผู้สมัครหมายเลข 2 ภาพจาก Facebook  ดนุภัทร์ เชียงชุม

โดย ‘อัครเดช วันไชยธนวงศ์’ อดีตนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ผู้สมัครหมายเลข 1 ลงสมัครในนามกลุ่มพลังแม่ฮ่องสอน ได้รับการสนับสนุนจาก ปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 1 พรรคกล้าธรรม และ ปัญญา จีนาคำ อดีต สส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ  

ส่วน ‘ดนุภัทร์ เชียงชุม ผู้สมัครหมายเลข 2 ลงสมัครในนามกลุ่มพลังแม่ฮ่องสอนจากพรรคประชาชน  ได้รับการสนับสนุนจาก เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน , สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์, สมบูรณ์ ไพรวัลย์ อดีต สส.แม่ฮ่องสอน พรรคไทยรักไทย, จำลอง รุ่งเรือง อดีตสส.แม่ฮ่องสอน พรรคกิจสังคม และ สุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของ ‘สมบัติ ยะสินธุ์’ สส.เขต 2 จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ มาอย่างยาวนาน 

ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ผู้ที่คาดหวังการเปลี่ยนแปลงในทางการเมืองหรือการพัฒนาพื้นที่อาจจะยังไม่ได้รับการตอบสนองจากการเลือกตั้งในครั้งนี้ เนื่องจากยังไม่เห็นการปฏิรูปที่ชัดเจนจากการเมืองท้องถิ่นในขณะนี้ โดยเฉพาะเมื่อมองกลับไปที่การเลือกตั้งระดับชาติเมื่อปี 2566 ครั้งล่าสุด ซึ่งแม้คะแนนเสียงที่ออกมาจะสนับสนุนพรรคการเมืองใหม่ๆ เช่น พรรคก้าวไกล แต่คะแนนส่วนใหญ่ยังคงยึดโยงกับตัวบุคคลเป็นหลัก ส่งผลให้พรรคการเมืองอย่างพลังประชารัฐและประชาธิปัตย์ยังคงมีบทบาทหลัก

การเมืองท้องถิ่นแม่ฮ่องสอน การเปลี่ยนแปลงที่ยังไม่เกิดขึ้นในระยะสั้น

นอกจากนี้ ยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า ซึ่งคนรุ่นใหม่มักตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบการเมืองที่ยังเอื้อประโยชน์ให้กับตัวบุคคลมากกว่าที่จะมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาในระยะยาว การตั้งคำถามเหล่านี้ทำให้เกิดช่องว่างในความคิดระหว่างสอง Generation ที่มีมุมมองต่างกัน

ผู้ที่มองหาการเปลี่ยนแปลงในระบบการเมืองท้องถิ่นของแม่ฮ่องสอนจึงต้องใช้เวลาในการบ่มเพาะการเมืองใหม่ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น คาดว่าในอนาคตจะต้องให้เวลาผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่ระดับท้องถิ่น เช่น อบจ. จนถึงระดับ สส. ถึงแม้ว่าตอนนี้ยังค่อนข้างยากที่จะเห็นผู้สมัครหน้าใหม่ที่มีทักษะและแรงผลักดันในการเปลี่ยนแปลงได้จริง

หลายปัจจัยในสภาพแวดล้อมต่างๆ ส่งผลให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่แม่ฮ่องสอนไม่ค่อยสนใจที่จะกลับมามีบทบาทในการเมืองท้องถิ่น ทั้งในเรื่องของระบบการเมืองที่ต้องใช้เวลาในการปรับปรุงและการสร้างเส้นทางอาชีพที่ยากลำบาก นอกจากนี้ยังมีข้อจำกัดในด้านการพัฒนาเศรษฐกิจและโอกาสในพื้นที่ที่ทำให้หลายคนเลือกที่จะไปหางานในที่อื่นแทนที่จะกลับมาเป็นนักการเมืองในบ้านเกิด

ดังนั้น หากจะถามว่าการเมืองในครั้งนี้จะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองแบบใหม่ในแม่ฮ่องสอนหรือไม่ คำตอบก็คือ ยังไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนในครั้งนี้ แต่หากจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นจริง คงต้องรอการเติบโตของผู้เล่นใหม่ๆ ในการเมืองท้องถิ่นในอนาคต

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา การเมืองท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนเริ่มเห็นการเข้ามาของคนรุ่นใหม่ที่มีความตั้งใจและมีแนวคิดที่หลากหลายเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในช่วงเลือกตั้งที่ผ่านมา ซึ่งสัดส่วนของคนรุ่นใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในพื้นที่มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาในด้านการศึกษาและการเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางของท้องถิ่น

แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงในทางบวก แต่กระบวนการเข้ามามีส่วนร่วมในการเมืองท้องถิ่นของคนรุ่นใหม่ยังคงมีความท้าทายที่สำคัญ โดยเฉพาะในเรื่องของ “ระบบอุปถัมภ์” ซึ่งเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลสูงในการเลือกตั้งและการตัดสินใจในวงการการเมืองท้องถิ่นคนรุ่นใหม่หลายคนที่มีความสามารถและความตั้งใจ มักจะต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเข้าไปมีบทบาทในระบบที่ยังคงยึดโยงกับบ้านใหญ่ พรรคการเมืองขนาดใหญ่ หรือการสนับสนุนจากผู้มีอิทธิพลในพื้นที่

สำหรับผู้สมัครหมาย 1 น่าจะมีโอกาสได้เปรียบในเชิงที่ดำรงตำแหน่ง นายก อบจ. มาตั้งแต่ปี 2550 หรือ 10 กว่าปี ข้อได้เปรียบในเรื่องของผลงานที่ทำมาหลายๆ เรื่อง ซึ่งเขาก็น่าจะเป็นจุดที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองแบบใหม่กับแบบเก่าเหมือนกัน เพราะว่าบุคลิกการเล่นการเมืองของ อัครเดช เริ่มเปลี่ยนจากนักการเมืองแบบเดิมไปสู่การมีเรื่องของแนวคิดในการพัฒนาใหม่ๆ 

ในยุคที่เขาขึ้นมาเป็นนายกฯ ก็อาจจะถือว่าเป็นยุคที่กำลังเปลี่ยนผ่านการเมืองไปสู่รูปแบบใหม่ ซึ่งคนที่จะมาเป็นต่อจากเขานี้ต้องทำการบ้านหนักพอสมควร เพราะการที่ต้องทำผลงานเพื่อพัฒนาพื้นที่นั้นจะต้องมีแนวคิดที่สามารถแก้ไขได้ในเชิงของปัญหาที่เป็นรากเหง้า ดังนั้นใครที่จะมาแทนก็ต้องทำการบ้านหนักพอสมควร นอกจากนี้ยังต้องกลับไปดูในเรื่องของฐานเสียง หรือระบบสนับสนุนที่อยู่เบื้องหลัง ซึ่งก็ถือว่าเป็นแต้มต่อ

ในขณะเดียวกัน ผู้สมัครหมายเลข 2  ในรอบนี้ก็อาจจะเป็นเหมือนกับการลองเช็คสนาม แต่จะเสียเปรียบในเรื่องของผลงานที่ยังไม่ค่อยเห็นชัดเจนในเชิงประจักษ์ เพราะว่าเขาไม่ได้มีส่วนในการคุมเรื่องของงบประมาณหรือนโยบายในการพัฒนา มีเพียงแนวคิดซึ่งตอนนี้ถือว่าสู้ลำบากเพราะจากการหาเสียงตั้งแต่ช่วงรับสมัครจนถึงตอนนี้ ดนุภัทร์ มีฐานเสียงน้อยมากในเรื่องของการหาเสียงและการนำเสนอนโยบายในการพัฒนา ถ้าเทียบกับผู้สมัครหมายเลข 1 ที่มีความชัดเจนในการสื่อสารและการนำเสนอแนวคิดในการพัฒนา ซึ่งค่อนข้างตรงไปตรงมาและชัดเจนมากกว่าทำให้ในเรื่องของการสื่อสารและการพัฒนา ผู้สมัครหมายเลข 2 อาจจะอ่อนกว่านิดหน่อย 

ความเคลื่อนไหวของกลุ่มชาติพันธุ์และทิศทางการพัฒนาที่ต้องการความพิเศษ

คนในพื้นที่แม่ฮ่องสอนให้ความสนใจในการเลือกตั้งท้องถิ่นเยอะมาก โดยเฉพาะ กลุ่มชาติพันธุ์ โดยความคิดเดิมของคนทั่วไปมักจะมองว่าเป็นกลุ่มที่ไม่ Active ทางการเมือง แต่ว่าจากประสบการณ์ที่ผมอยู่ในพื้นที่พวกเขาเป็นคนที่ Active กับการเมืองมาก ส่วนหนึ่งเพราะว่าพวกเขาถูกกดทับมาตลอด ทั้งเรื่องของสิทธิการที่จะได้รับโอกาสในการเข้าถึงสวัสดิการของรัฐ ทำให้เขาจะต้องหาคนที่สามารถที่จะต่อรองกับอำนาจรัฐได้ ซึ่งนักการเมืองก็เป็นตัวที่สามารถที่จะเป็นตัวกลางในการที่จะต่อรองกับรัฐ

“เดิมทีชาวบ้านก็จะมักจะปะทะกันรัฐโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของที่ดินกินเรื่องป่าไม้เรื่องสิทธิการถูกเอารัดเอาเปรียบต่างๆ นักการเมืองเข้ามาเป็นตัวละครที่มาเล่นในเรื่องของการช่วยเป็นคือตัวกลางตั้งแต่การเจรจา การลดจากหนักเป็นเบา การไปช่วยประกันตัวในคดีต่างๆ ที่ชาวบ้านได้ ทำให้เขามีฐานเสียงจากกลุ่มนี้เข้ามา ซึ่งทำให้กลุ่มชาติพันธุ์ต้องอาศัยกลุ่มนักการเมืองในการที่จะช่วยในการเจรจาต่อรองเพื่อดีลอำนาจต่างๆ ที่ตัวเองได้รับอย่างไม่เป็นธรรม”

ตอนนี้สิ่งน่าสนใจตอนนี้คือเราดูโครงสร้างประชากรของแม่ฮ่องสอน ประชากรตอนนี้ 280,000 คน ซึ่ง 50-60% เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ มีประมาณ 9 ชาติพันธุ์หลัก 13 กลุ่มย่อย ดูเรื่องของสภาพสังคมที่โดยภาพรวมของประเทศไทยจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งก็ชัดเจนเพราะคนในเมืองส่วนใหญ่ก็มีลูกน้อยลงช้าลงมีแนวโน้มที่จะมีกลุ่มชาติพันธุ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นอนาคตถ้าใครจะทำงานการเมืองฐานเสียงที่เป็นชาติพันธุ์อาจจะมีสัดส่วนที่เยอะขึ้นเรื่อยๆ จะทำให้เขาปรับเปลี่ยนให้เป็นพลังที่จะเอื้อประโยชน์ให้เกิดเรื่องของความเป็นธรรมกับกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้ยังไง เป็นโจทย์ที่เขาจะต้องวางแผนอนาคตล่วงหน้า

ประชาชนในพื้นที่โดยส่วนใหญ่คาดหวังเรื่องของการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น อีกส่วนหนึ่งก็คือเรื่องของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ซึ่งตัวนี้จะต้องไปแก้โดยเฉพาะเรื่องกฎหมายป่าไม้ที่ยังทับซ้อนประมาณ 86% อยู่ปัจจุบันที่เป็นปัญหาในระยะยาว ถ้าไม่สามารถมีรูปแบบการจัดการหรือกฎหมายเฉพาะที่จัดการกับพื้นที่นี้ได้ แม่ต้องฮ่องสอนควรเป็นพื้นที่พิเศษแบบหนึ่งที่มีรูปแบบของการจัดการในเชิงของท้องถิ่นอีกแบบหนึ่ง 

“ถ้าปัจจุบันเรามีเรื่องของกรุงเทพมหานคร เมืองพัทยาต่างๆ คิดว่าถ้าจะพัฒนาแม่ฮ่องสอนให้ไปได้มากกว่านี้อาจจะต้องคิดไปถึงขั้นเรื่องของการออกแบบท้องถิ่นแบบพิเศษอีกแบบหนึ่งขึ้นมา เนื่องจากบริบทสภาพภูมิศาสตร์ ภูมิรัฐศาสตร์และผู้คนที่อยู่ข้างในพื้นที่ด้วยต่างจากพื้นที่อื่นๆ อย่างมาก”

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง