ปี 67 ผู้ว่าฯภาคเหนือเกษียณไปแล้ว 6 คน พบ 5 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 3 ปี

30 กันยายน 2567 ที่ผ่านมาเป็นวันสุดท้ายของปีงบประมาณ 2567 และนับเป็นวันสุดท้ายที่ข้าราชการครบอายุ 60 ปี จะต้องเกษียณอายุราชการ ข้อมูลจาก ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง ข้าราชการพ้นจากราชการเพราะอายุครบหกสิบปีบริบูรณ์ (ครบเกษียณอายุ) ในสิ้นปีงบประมาณ พ.ศ.2567 เผยว่ามีข้าราชการพลเรือนที่เกษียณอายุราชการทั้งหมด 253 ราย

Lanner ทำการสำรวจ ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ ที่เกษียณอายุราชการพบว่ามีทั้งหมด 25 ราย โดยเป็นผู้ว่าฯ ที่ประจำอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือทั้งหมด 6 ราย จาก 6 จังหวัดดังนี้

1.กฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 รวมระยะที่ดำรงตำแหน่ง 4 ปี (1,467 วัน)

2.ชัชวาลย์ ฉายะบุตร ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 รวมระยะที่ดำรงตำแหน่ง 2 ปี (731 วัน)

3.พุฒิพงศ์ ศิริมาตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 รวมระยะที่ดำรงตำแหน่ง 1 ปี 10 เดือน (669 วัน) 

4.ภูสิต สมจิตต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพิษณุโลก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 รวมระยะที่ดำรงตำแหน่ง 2 ปี (731 วัน)

5.สมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดตาก ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2564 รวมระยะที่ดำรงตำแหน่ง 2 ปี 10 เดือน (1,021 วัน)

6.สุชาติ ทีคะสุข ผู้ว่าราชการจังหวัดสุโขทัย ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 2 ธันวาคม 2565 รวมระยะที่ดำรงตำแหน่ง 1 ปี 10 เดือน (669 วัน)

จะเห็นได้ว่าผู้ว่าราชการจังหวัดนั้นส่วนใหญ่เกษียณราชการในขณะอยู่ในตำแหน่งไม่ถึง 3 ปี ถึง 5 คน มีเพียง กฤษณ์ คงเมือง ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ เพียงคนเดียวที่ดำรงตำแหน่งทั้งหมด 4 ปี ซึ่งสอดคล้องกับ ข้อมูลจากรายงาน เปิดข้อมูล 30 ปี ผู้ว่าฯ ภาคเหนือ เป็นใครมาจากไหน เป็นคนในพื้นที่เท่าไหร่ แล้วดำรงตำแหน่งกันกี่ปี โดย นลินี ค้ากำยาน เผยว่า จากการสำรวจข้อมูลระยะเวลาการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดใน 16 จังหวัดในภาคเหนือ (ไม่รวมจังหวัดนครสวรรค์ เนื่องจากไม่พบข้อมูลการดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ในเว็บไซต์ประจำจังหวัด จึงไม่สามารถนำเสนอข้อมูลในจังหวัดดังกล่าวได้) ตั้งแต่ปี 2536 – 2566 ในฐานะเป็นช่วงเวลาหลังจากที่มีการบังคับใช้ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 เผยว่า ใน 30 ปีที่ผ่านมา ผู้ว่าราชการจังหวัดในภาคเหนือดำรงวาระตำแหน่ง 1 ปี ถึง 139 คน รองลงมา ได้ดำรงตำแหน่ง 2 ปี จำนวน 64 คน ดำรงตำแหน่งไม่ถึง 1 ปี จำนวน 40 คน และดำรงตำแหน่ง 3 ปี จำนวน 39 คน ในขณะที่มีผู้ว่าฯ ดำรงตำแหน่งมากกว่า 4 ปี เพียง 9 คน

รายงานยังพบว่าจังหวัดที่เปลี่ยนผู้ว่าฯ บ่อยที่สุดในรอบ 30 ปีคือ พะเยา จำนวน 23 คน รองลงมาเป็น แพร่และพิจิตร 21 คน ลำปางและน่าน 20 คน เชียงรายและลำพูน 19 คน เชียงใหม่และอุตรดิตถ์ 18 คน แม่ฮ่องสอน, ตาก, เพชรบูรณ์และอุทัยธานี 17 คน พิษณุโลก 16 คน สุโขทัย 15 คน และกำแพงเพชร 13 คน ตามลำดับ 

ทั้งนี้ ใน 30 ปีที่ผ่านมา 16 จังหวัดภาคเหนือ มีผู้ว่าราชการจังหวัดทั้งหมด 291 คน โดยเป็นคนที่มีภูมิลำเนาจังหวัดตัวเองเพียง 10 คน คนนอกจังหวัด 84 คน และไม่ทราบข้อมูลอีก 197 คน ซึ่งไม่พบข้อมูลภูมิลำเนาแต่ละคนในเว็บไซต์ประจำจังหวัด

ทั้งนี้ ผศ.ดร.ยอดพล เทพสิทธา อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เคยให้สัมภาษณ์ไว้ในบทความ ผู้ว่าราชการจังหวัด ราชการส่วนภูมิภาค ความอีนุงตุงนังกับอำนาจท้องถิ่น เผยว่า ‘ผู้ว่าราชการจังหวัด’ เป็นตำแหน่งที่เสมือนกับมีอำนาจมาก แต่ในความเป็นจริงแล้วตาม พ.ร.บ.การบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 ผู้ว่าราชการจังหวัดไม่มีอำนาจสั่งการหน่วยงานอื่นใด (ที่อยู่นอกสังกัดกระทรวงมหาดไทย) ได้มากมายนัก

ยอดพล เผยว่าแต่ที่ยังเห็นผู้ว่าราชจังหวัดเสมือนกับมีอำนาจในการสั่งการหน่วยงานต่าง ๆ ในจังหวัด เพราะอำนาจการสั่งการของผู้ว่าฯ มาจากกฎหมายเฉพาะฉบับอื่นๆ เช่น พ.ร.บ.สาธารณสุข หรือ พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อมที่กำหนดให้อำนาจแก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งพนักงานเจ้าที่ตามกฎหมายฉบับต่างๆ ก็จะถูกกำหนดโดยหนังสือสั่งการจากกระทรวงต่างๆ ที่ให้อำนาจผู้ว่าฯในการสั่งการหรือแต่งตั้งข้าราชการของหน่วยงานในจังหวัด บางทีอาจมีหนังสือสั่งการจากกระทรวงสาธารณสุขที่สั่งการให้ผู้ว่าฯ มีอำนาจในการประกาศสอบแต่งตั้งข้าราชการระดับ 6 ที่สังกัดกระทรวงสาธารณสุขของจังหวัดนั้นๆ ได้ เป็นต้น 

ซึ่งหากมาย้อนดูตามหลักการแล้วผู้ว่าราชการจังหวัดอาจจะมีศักดิ์และสิทธิไม่ต่างจากหน่วยงานประจำจังหวัดหน่วยงานอื่น ๆ แต่ตามระเบียบการบริหารราชการแผ่นดินกลับกำหนดให้ผู้ว่าฯ เป็นผู้ดูแลข้าราชการทั้งปวงเพียงเท่านั้น หรืออาจจะกล่าวได้ว่า อำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดเอาเข้าจริงๆ อำนาจส่วนใหญ่เป็น อำนาจฝาก และ อำนาจรับฟังคำสั่งและหนังสือสั่งการจากกระทรวงต่างๆ มากกว่า ส่งผลให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็น “เสมือนว่ามีอำนาจ”

ยอดพลได้ตั้งคำถามต่อว่า ทำไมกระทรวงต่าง ๆ ถึงให้อำนาจฝากนี้กับผู้ว่าราชการจังหวัด ? ยอดพลได้เสนอทางวิชาการและทางกฎหมายราชการส่วนภูมิภาคมีความเป็น “overlap, overrule” ที่มีความทับซ้อน ความอีนุงตุงนัง และความอีหยังวะอยู่มาก เพราะอำนาจหลายอย่างถูกฝากไว้ที่ผู้ว่าราชการจังหวัด แต่เมื่อมีอำนาจบางอย่างก็ถูกถ่ายโอนไปที่องค์การปกครองส่วนท้องถิ่น กลายเป็นว่าเมื่อเกิดปัญหาหรือเหตุการณ์บางอย่างขึ้น มันจะเกิดคำถามตามมาทันที่ว่า “ตกลงใครต้องรับผิดชอบ” ยอดพลเล่าว่าในทางวิชาการมันจึงเกิดคำถามหนึ่งที่ว่า “แล้วเราจะมีส่วนภูมิภาคเอาไว้ทำไม ยกเลิกไปเลยดีกว่าไหม หรือจะยังคงเอาไว้ แต่อยู่ในฐานะตำแหน่งที่จะไม่ไปยุ่งกับกิจการใดๆ เลย”   

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง