ประมวลสถานการณ์วิกฤตน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งใหญ่ 4-5 ตุลา 67

วันที่ 4-5 ตุลาคม 2567 ถือเป็นช่วงที่คนเชียงใหม่ต้องลุ้นระทึกและส่วนหนึ่งได้กลายเป็นผู้ประสบภัย เมื่อเผชิญกับเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมกันทั้งจังหวัด โดยเฉพาะในพื้นที่ตัวอำเภอเมือง ระดับน้ำปิงได้หนุนสูงถึง 5.30 เมตร ซึ่งถือว่าสูงสุดในประวัติศาสตร์ไปแล้ว โดยกระแสน้ำได้ไหลเอ่อล้นทะลักท่วมพื้นที่เขตเมืองขยายไปเป็นวงกว้างอย่างต่อเนื่อง

อำเภอดอยเต่า

ข่าวสด รายงานว่า เกิดสิ่งที่ไม่เคยคาดคิดกันมาก่อน หลังฝนตกหนักสะสมต่อเนื่อง ทำให้เกิดน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของอำเภอดอยเต่า โดยพบบางจุดที่น้ำไม่เคยท่วมมาก่อน แต่ในปีนี้พบว่าโดนน้ำท่วมบนดอยเต่า ต.โปงทุ่ง อ.ดอยเต่า ทำให้ชาวบ้านต่างต้องยกของขึ้นที่สูงหนีน้ำ โดยถือว่าหนักที่สุดในรอบ 10 ปี นอกจากนั้น บริเวณสะพานเชื่อมต่อระหว่างบ้านไร่ หมู่ 2 – บ้านสันติสุข หมู่ 7 ต.ดอยเต่า ตอนนี้ไม่สามารถสัญจรได้แล้ว โดยปิดทางเข้าออกบ้านไร่ หมู่ 2 เนื่องจากกระแสน้ำได้ขึ้นท่วมถึงบ้านสันติสุขกันเลย

ที่มา ข่าวสด

อำเภอจอมทอง

เพจ จอมทองสร้างสรรค์ รายงานว่า หลังฝนตกหนัก ทำให้เกิดกระแสน้ำปิงหลากไหลแรง จนทำให้สะพานวังสะแกง ข้ามแม่น้ำปิงเชื่อมต่อระหว่าง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ – อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ได้พังและหักในช่วงเที่ยงคืนเศษ ของวันที่ 5 ต.ค.67 ในขณะที่ข้อมูลเบื้องต้นบอกว่า การบูรณะสะพานครั้งนี้จะแล้วเสร็จปลายปี 67 แต่สะพานดันมาทรุดและหักก่อน

สะพานวังสะแกง พังหักลง ที่มา: จอมทองสร้างสรรค์

อำเภอสันป่าตอง

คมชัดลึก รายงานว่า หลังจากที่ ฝนตกหนักต่อเนื่องในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำขาน ที่ไหลผ่านพื้นที่ อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ เอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนหลายตำบลได้แก่ ต.น้ำบ่อหลวง ต.บ้านแม ต.ทุ่งสะโตก ต.บ้านกลาง รวมกว่า 2,500 หลังคาเรือน ที่ถูกแม่น้ำขานเอ่อล้นไหลเข้าท่วมตั้งแต่ช่วงเช้าของวันที่ 4 ต.ค. 2567 ที่ผ่านมา และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

ขณะที่บ้านทุ่งเสี้ยว ต.บ้านกลาง อ.สันป่าตอง จ.เชียงใหม่ ก็เป็นอีกหนึ่งหมู่บ้านที่ได้รับผลกระทบโดยชาวบ้านต้องช่วยกันนำเชือกมาขึงไว้เพื่อใช้จับหากจะข้ามน้ำเนื่องจากน้ำไหลเชี่ยวมาก นอกจากนี้ยังมีการร้องขอความช่วยเหลืออพยพเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเตียง ที่ติดอยู่ในบ้านซึ่งตามภาพจะเห็นได้ว่าน้ำท่วมสูงจนถึงที่นอนแล้ว ซึ่งทางเจ้าหน้าที่กู้ภัยและทหาร ก็ได้ใช้เรือท้องแบนวิ่งฝ่ากระแสน้ำเข้าไปให้การช่วยเหลือด้วยความยากลำบาก

ที่มา คมชัดลึก

อำเภอดอยหล่อ

รจนา ยี่บัว ชาวบ้าน อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ บอกว่า เมื่อค่ำคืนวันที่ 4 ต.ค.ที่ผ่านมา ในหมู่บ้านเเม่อาว อ.ดอยหล่อ จ.เชียงใหม่ มีการจัดงานศพกันอยู่ จู่ๆ ก็มีน้ำได้เอ่อท่วมเข้ามาจนถึงระดับขา ต้องย้ายแล้วย้ายอีก ขนของหนีน้ำกันจ้าละหวั่น

และที่หลายคนเฝ้าจับตาดูกันมากที่สุด ก็คือพื้นที่อยู่ในโซนเหนือของจังหวัด โดยเฉพาะอำเภอที่อยู่ในเขตพื้นที่ต้นน้ำปิง เนื่องจากประมาณน้ำฝนที่ตกหนักสะสมอย่างต่อเนื่องและยาวนาน จะไหลลงแม่น้ำปิงและมีผลต่อพื้นที่อำเภอเมืองและอำเภอท้ายน้ำทั้งหมด

อำเภอเวียงแหง

มีรายงานว่า ในพื้นที่อำเภอเวียงแหง มวลน้ำแตง ได้ไหลเอ่อท่วมและไหลแรงลงไปข้างล่าง ผ่านตำบลเมืองคอง ลงไปทางกึ๊ดช้าง อ.แม่แตง อย่างต่อเนื่อง

ที่มา: เพจ ที่นี่เวียงแหง

ซึ่งหลังเกิดเหตุการณ์ ก็มีชาวบ้านเวียงแหงออกมาแสดงความคิดเห็นกันหลายมุม ไม่ว่าจะเป็นเพราะปัญหาโลกร้อน การตัดไม้ทำลายป่า รวมไปถึงการถางไร่ ปลูกส้ม ปลูกข้าวโพด ล้วนเป็นสาเหตุทั้งสิ้น

Somsak Metha บอกว่า ต้องขุดลอกแม่น้ำแตงให้ลึกเหมือนแต่ก่อนครับ เพราะตอนนี้มันตื้นเขินและแคบไปหมดแล้ว เกิดจากการขยายพื้นที่ทำกินให้มีที่งอกเงยเพิ่ม ช่วงหน้าแล้งลองเดินไปตามน้ำแตงดูครับ บางที่ลึกไม่ถึงเมตรแล้ว แบบนี้ถ้าฝนตก น้ำมาไม่ต้องเยอะ ก็เต็มลำน้ำแล้ว

Rising contributor บอกว่า ตอนนี้มีฝายสองที่เท่าที่ผมเห็นมา จะมีฝายตรงแสนไหกับฝายบ้านจอง และสองฝายนี้ก็ไม่สามารถกักเก็บน้ำได้แบบ100% เนื่องจากตอนนี้ฝายตื้นมาก มีแต่ทรายกับดินโคลน ฝายแสนไห ควายเดินเล่นได้สบายเลย ถ้าลองขุดทรายกับดินโคลนออกน่าจะช่วยได้เยอะเลย หน้าแล้งก็จะพอมีน้ำไว้ใช้บ้าง

อำเภอเชียงดาว

ฝนตกหนักรอบนี้ อำเภอเชียงดาวถือว่าเป็นอำเภอหนึ่งที่ได้รับผลกระทบกันหลายพื้นที่ บางจุดไม่เคยน้ำท่วมก็ท่วม อย่างเช่น ในหลายพื้นที่ของตำบลเมืองคอง หรือหมู่บ้านปิงโค้ง ซึ่งตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำปิงตรงจุดใกล้สะพานปิงโค้ง ใกล้หมวดการทางเชียงดาว(ปิงโค้ง) ซึ่งนำ้ปิงที่ไหลมาจากตำบลเมืองนะ ได้ทะลักไหลเข้าท่วมหมู่บ้านปิงโค้ง จนกู้ภัยและผู้นำท้องถิ่นได้ช่วยกันขนสิ่งของให้ชาวบ้านกันอย่างเร่งด่วน 

นอกจากนั้น กระแสน้ำป่ายังได้ท่วมถนนหลวงสายปิงโค้ง-พร้าว ตรงบริเวณสะพาน ซึ่งชาวบ้านบอกว่าน้ำท่วมตรงนี้ถือเป็นครั้งแรกในชีวิต

เช่นเดียวกับที่หมู่บ้านไตรสภาวคาม ต.ปิงโค้ง อ.เชียงดาว  มวลน้ำปิงได้หนุนสูงขึ้นจนล้นตลิ่ง ทำให้น้ำทะลักเข้าท่วมถนนและ ร.ร.ศึกษาสงเคราะห์เชียงดาว นอกจากนั้น มีรายงานว่า มีชาวบ้านติดอยู่ในบ้าน ออกมาไม่ได้ จนต้องขอชุดกู้ภัยเหยี่ยวแดง เทศบาลตำบลแม่นะ นำเรือเข้าไปช่วยเหลืออพยพคนออกจากบ้านได้ทัน 

ในขณะที่บริเวณหน้าถ้ำเชียงดาว ได้เกิดกระแสน้ำป่าไหลหลากทะลักเข้าท่วมภายในบริเวณวัดถ้ำเชียงดาว จนทำให้มีการประกาศแจ้งให้นักท่องเที่ยวว่า ขอปิดชั่วคราว เพื่อความปลอดภัย 

อำเภอแม่แตง

อำเภอแม่แตง ถือเป็นอีกอำเภอหนึ่ง ที่ทุกคนเฝ้าระวังกันอย่างใจจดใจจ่อ เนื่องจากมวลน้ำแตง ซึ่งไหลมาจากอำเภอเวียงแหง ผ่านตำบลเมืองคอง อำเภอเชียงดาว ก่อนจะไหลลงมาถึงบริเวณบ้านเมืองกึ้ด อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของศูนย์บริบาลช้างแม่แตง-เชียงใหม่ และ มูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม เชียงใหม่ 

กระแสน้ำแตงได้ไหลเชี่ยวกรากและทะลักเข้าท่วมพื้นที่ของศูนย์บริบาลช้าง จนทำให้สัตว์ที่อยู่ในความดูแล ทั้งช้าง วัว ควาย ได้ถูกกระแสน้ำพัดลอยหายไปทางท้ายน้ำหลายชีวิต

ThaiPBS North รายงานว่า แสงเดือน ชัยเลิศ ผู้อำนวยการศูนย์บริบาลช้างแม่แตง-เชียงใหม่ และประธานมูลนิธิอนุรักษ์ช้างและสิ่งแวดล้อม โพสต์วิดีโอผ่านเพจ “แสงเดือน ชัยเลิศ-Saengduean Chailert” ระบุว่า มันเป็นวันแห่งความมืดมิดวันมหาวิปโยคของพวกเรา ภาพที่ดิฉันเห็นตอนที่สามารถเข้าไปในพื้นที่โดยเรือกู้ภัยมันหลอกหลอนจิตใจที่ไม่อาจลืมได้ การแจ้งเตือนว่าน้ำจะท่วมพวกเราได้ย้ายช้างที่อยู่ในที่ลุ่มขึ้นสู่ที่สูง แต่ใครจะคาดคิดว่าที่สูงแล้วยังไม่ปลอดภัยเมื่อน้ำท่วมถึงบนภูเขาจมหมู่บ้านกึ้ดช้างแทบทั้งหมู่บ้าน สัตว์ของเราที่อยู่ในพื้นที่ลอยคออยู่ในน้ำ เนื่องจาก ช้างที่เราให้นอนกลางคืนพวกเขาไม่ได้ล่ามโซ่แต่มีโรงนอนที่มีรั้วกั้น แต่น้ำที่สูงสามเมตรแต่น้ำมาสูงเกินรั้วโรงนอนเกือบบมิดหลังคาบางโรงนอนกระแสน้ำที่แรงมาก พัดเอาช้างตาบอดแม่พลอยทอง พังแม่มีบุญ และช้างหลายตัว ออกจากคอกหายไปต่อหน้าต่อตา

กระแสน้ำที่สูงและแรงอย่างนั้นมันยากที่จะควบคุมสถานการณ์ได้ ถึงแม้ในเวลานี้พวกเรายังติดตามหาครอบครัวคนงานคนเลี้ยงช้างเลี้ยงสัตว์ ลูกเด็กเล็กแดงอีกเยอะที่อาศัยในพื้นที่สูงฝั่งหมู่บ้านกึ้ดช้างและหลายคนพวกเรายังไม่ทราบชะตากรรม ว่าพวกเขาหายไปไหนบ้างเพราะไม่มีสัญญานและไม่มีการติดต่อ และพวกเขาอยู่ในพื้นที่ที่ไม่เคยมีน้ำท่วมช้างคุณยายหงษ์ฟ้าที่อยู่คลีนิคอ่อนแรงให้น้ำเกลืออยู่แทบจะเดินไม่ได้มันเป็นเรื่องยากลำบากที่จะย้ายช้างแก่ช้างป่วยแต่ละตัวออกไป 

พนักงานทำงานอย่างหนักฝ่ากระแสน้ำที่สูงสามเท้าเข้าไปช่วยช้างทั้งไม่มีอุปกรณ์และเรือแต่พวกเราพยายามกันทุกคนทำงานอย่างหนักเพื่อช่วยเอาช้างที่ถูกแรงอัดของน้ำออกจากรั้วกัน ต้องใช้คนมาตัดเล็กออก ประตูโรงช้างเปิดไม่ได้เพราะโคลนทับหมด บางคอกช้างยังได้ช่วยพังรั้วออกมา ตอนนี้ยังมีช้างสูญหายหลายตัว วัวควายสูญหายเยอะมาก หมาแมวทุกตัวปลอดภัยแต่พวกเราย้ายขึ้นไปปล่อยในที่สูงแต่ยังไม่มีกรงใส่ 

ดิฉันขอขอบคุณจิตอาสาทุกท่านหน่วยกู้ภัย หน่วยงานราชการ ปางช้างหลายแห่งที่อยู่ในพื้นที่ส่งคนส่งควาญมาช่วยพวกเราในการควบคุมช้างที่ตื่นตระหนกให้ออกมาจากน้ำ ดิฉันอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมกับทีมช่วยเหลือสัตว์จึงยังไม่ทราบว่ามีหน่วยงานไหนส่งคนมาช่วยบ้างแต่เท่าที่ทราบจากพนักงานที่ประสานงานมีหลายหน่วยงานมากซึ่งดิฉันจะนำรายละเอียดมาขอบคุณทุกท่านต่อไป เมื่อคืนนี้มีคนมาแจ้งว่าพบช้างสองตัวเสียชีวิตซึ่งดิฉันใจสลายมากและจะนำรายละเอียดมาอัพเดทต่อไปค่ะ

ดราม่า..เมืองกึ๊ด! ไม่ได้มีแค่ช้าง

อย่างไรก็ตาม SaveChiangmai รายงานว่า มีเสียงสะท้อนจากชาวบ้านเมืองกึ้ด…ทุกคนต้องการความช่วยเหลือ ไม่แพ้สัตว์ เหมือนกัน คนในชุมชนต้องช่วยเหลือกันเอง เราเจอเจ้าหน้าที่ ที่เข้ามาช่วยเหลือมากมาย แต่ไม่ได้ยินคำช่วยเหลือจากหน่วยงานไหนเลย ที่จะเข้ามาช่วยเหลือเรา บ้านเมืองกื้ดท่วมทั้งหมู่บ้านนะคะ ไม่ใช่แค่ปางช้าง นักข่าวหยุดถามที ว่าปางช้างไปทางไหน คนก็เอาตัวจะไม่รอด ฝากไว้ให้คิด!!!!

ที่มา SaveChiangmai

ในขณะที่ระดับน้ำแตงยังคงเชี่ยวกรากและได้ไหลผ่านสะพานข้ามน้ำแตง บริเวณที่ว่าการอำเภอ จนทำให้ระบบส่งน้ำประปาของอำเภอแม่แตง ถูกกระแสน้ำพัดล้มจมไปกับสายน้ำ นอกจากนั้น มวลน้ำยังล้นทะลักเข้าท่วมชุมชนแผ่ขยายเป็นวงกว้าง

ภาพน้ำท่วมแม่ริม มุมสูง กำลังไหลสู่ตัวเมืองเชียงใหม่. (ภาพโดย เชียงใหม่ม่วนเวอร์)

อำเภอเมืองเชียงใหม่

ตัดมาที่ตัวอำเภอเมืองเชียงใหม่ ในรอบนี้ถือว่ารับมวลน้ำมหาศาล จนระดับน้ำปิงที่จุด P.1 นั้นสูงทะลุถึง 5.38 ในวันที่ 5 ต.ค.2567 จนทำลายสถิติน้ำท่วมใหญ่เชียงใหม่เป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว โดยมวลน้ำได้ทะลักล้นเข้าท่วมไปในพื้นที่สองฝั่งแม่น้ำปิง แผ่ขยายไปเป็นวงกว้างอย่างที่ไม่เคยพบเจอกันมาก่อน 

ชัชวาล ทองดีเลิศ ผู้ก่อตั้ง โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา บอกว่า วันที่ 4 ต.ค.67 โฮงเฮียนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา น้ำท่วมเต็มพื้นที่ ดูแล้วน้ำจะเพิ่มขึ้นอีก ทีมสืบสานยกของขึ้นแล้วทุกคนอพยพกันรอบที่ 2 แล้ว ขอส่งกำลังใจให้ทีมงานสืบสานล้านนาและพี่น้องชาวเชียงใหม่ผู้ร่วมชะตากรรมเดียวกันทุกคน

เพจคนล้านนา รายงานว่า รพ.ค่ายกาวิละ น้ำท่วมสูงมาก  แจ้งปิดไม่มีกำหนด จนกว่าน้ำจะลด (5 ต.ค.เป็นต้นไป) โดยเมื่อคืนวันที่ 4 ต.ค.67 น้ำปิงทะลักเข้าท่วม รพ.ค่ายกาวิละ อ.เมืองเชียงใหม่ และเช้าวันที่ 5 ต.ค.67 น้ำปิงยังเอ่อเข้าท่วมพื้นที่ รพ.ฯ ระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ทำให้รพ.ค่ายกาวิละ ไม่สามารถให้บริการผู้ป่วยได้ชั่วคราว หากน้ำลดเข้าสู่ภาวะปกติ ทางรพ.ค่ายกาวิละ จะประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง

ที่มาภาพ คนล้านนา
ที่มาภาพ คนล้านนา

เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลแม็คคอร์มิค เชียงใหม่ นำ้ได้เอ่อทะลักเข้าท่วมสูงระดับ 1 เมตรเลยทีเดียว

ที่สถานีขนส่งอาเขต เชียงใหม่ มวลน้ำได้ไหลทะลักเข้าไปตามถนนและพื้นที่สถานีขนส่ง จนทำให้รถสัญจรไปไม่ได้เลย

อสมท.ก็ได้รายงานว่า มวลน้ำได้ไหลทะลักเข้าท่วมถนนวงแหวนรอบ1 รอบ2 ทำให้บางจุดน้ำได้ไหลท่วมอุโมงค์ทางลอด จนทำให้มีการประกาศปิด ห้ามใช้สัญจรไปแล้ว ในขณะถนนวงแหวนรอบ3 จราจรเป็นอัมพาต

ทั้งนี้ ได้มีการแจ้งว่า ขอให้หลีกเลี่ยงเส้นทาง จุดปิดกั้นการจราจร เนื่องจากมีน้ำท่วมสูงในพื้นที่ อำเภอเมืองเชียงใหม่

นอกจากนั้น หลายภาคส่วนได้มีการประกาศแจ้งให้ทราบว่า มีศูนย์พักพิงชั่วคราวผู้ประสบอุทกภัย จ.เชียงใหม่ โดยได้จัดตั้งศูนย์เพื่อรองรับกลุ่มเปราะบาง ในหลายพื้นที่ด้วยกัน 

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านผู้ประสบภัย ไม่สามารถอพยพออกไปยังศูนย์พักพิงได้

จากสถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในเมืองเชียงใหม่ครั้งนี้  ทำให้ประชาชนที่พักอาศัยอยู่ใกล้ลำน้ำปิง กลายเป็นผู้ประสบภัยในทันที หลายพื้นที่ไม่สามารถจะหนีออกมาได้ อีกทั้งทางการไฟฟ้า และการประปา ได้เริ่มประกาศจะตัดไฟ ตัดระบบน้ำประปาในบางจุดที่เสี่ยงภัยด้วย ทำให้ผู้ประสบภัยหลายราย ซึ่งส่วนใหญ่เป็น กลุ่มเปราะบาง มีทั้งเด็ก คนชรา ผู้ป่วย คนพิการ ติดในบ้าน ต้องการอพยพ ขอความช่วยเหลือ ต้องอาศัยวิธีการโพสต์ขอความช่วยไปตามเพจสื่อต่างๆ เอา เนื่องจากติดต่อขอรับความช่วยเหลือจากศูนย์ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของภาครัฐแล้วไม่มีการตอบรับ หลายคนบอกเบอร์ที่หน่วยงานรับประกาศติดต่อไม่ได้ โดยเฉพาะในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่ ซึ่งจะเห็นมีเพียงอาสาสมัครกู้ภัยจากพื้นที่อื่นๆ ที่เข้ามาช่วยเหลือ  จนทำให้ประชาชนหลายกลุ่มเริ่มตั้งคำถาม ทำไมไม่ประกาศให้เชียงใหม่เป็นเขตภัยพิบัติ ทำไมภาครัฐ และรัฐบาลชุดนี้ไม่ออกมาตรการให้ความช่วยเหลือพี่น้องประชาชนชาวเชียงใหม่ที่กำลังประสบภัยกันในขณะนี้

เช่นเดียวกับ กลุ่มไลน์ชาวชุมชนวัดเกต ได้โพสต์ให้ความรู้และการป้องกันจากน้ำท่วม ให้กันเอง

เรื่อง step voltage  เมื่อไฟฟ้ารั่วลงน้ำ จะมีรัศมีของมัน แผ่ออกไปจากจุดที่รั่ว เมื่อเราเดินลุยน้ำแล้วเข้าไปใกล้จุดที่ไฟฟ้ารั่ว จะเริ่มรู้สึกคันยิบๆ ยิ่งเข้าใกล้เท่าไหร่ ก็จะรู้สึกเจ็บมากขึ้น ฉะนั้นแล้วการเดินลุยน้ำ ให้เดินช้าๆ ถ้าไปตรงไหนแล้วรู้สึกชาหรือคันยิบๆ ให้เดินถอยออกมาจากบริเวณนั้น ไม่เข้าไปใกล้

ซึ่งสมาชิกในกลุ่มก็ได้แนะนำกันว่า ให้อยู่ห่างเสาไฟฟ้าเลย อย่างน้อย 1เมตร การแบ่งปันครั้งนี้ ทำให้นึกถึงเคสแรกที่รับสายแจ้งเหตุน้ำท่วม ผู้เสียชีวิตจากไปเพราะโดนไฟฟ้าดูดตอนเดินในน้ำ เสียใจ ช่วยเหลือชีวิตไม่ได้ ได้แต่ช่วยเคลื่อนย้ายร่าง

ในขณะที่เพจ GREEN ROAD ก็ได้แนะนำวิธี กั้นน้ำด้วยน้ำ แทนกระสอบทราย โดยบอกว่า ไอเดียของ Dr.Pow Green Road ในชั่วโมงเร่งด่วน น้ำท่วมแล้วหากระสอบทรายไม่ได้ ก็มองหาถุงพลาสติกหนา ๆ ใบใหญ่ ๆ ในบ้านเติมน้ำสักครึ่งหนึ่งแล้วนำไปอุดตามช่องประตู หรือหน้าบ้าน ก็สามารถป้องกันน้ำในระดับหนึ่ง หากถุงพลาสติกบางไปก็ซ้อนกัน 2 ชั้น ได้

ที่มา : GREEN ROAD
ที่มา : GREEN ROAD

หลายฝ่ายเริ่มสะท้อน หลังน้ำท่วมเชียงใหม่ ควรมีการทบทวนการแก้ไขปัญหากันใหม่ 

เมื่อเหตุการณ์วิกฤตน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งนี้ผ่านไป หลายฝ่ายคงต้องกลับมานั่งทบทวนกันใหม่แล้วว่า ทำไมน้ำท่วมครั้งนี้ถึงแผ่ขยายไปเป็นวงกว้างในตัวเมืองเชียงใหม่ขนาดนี้ แน่นอน นอกจากปัญหาจากโลกร้อน โลกรวน ปัญหาจากการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งเป็นสาเหตุใหญ่ๆ แล้ว ปัญหาเรื่องการบริหารจัดการลุ่มน้ำปิง ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้เกิดน้ำท่วมเชียงใหม่ครั้งใหญ่ในครั้งนี้

พงศกร แสงสุวรรณ ชาวบ้านที่สนใจในเรื่องการบริหารจัดการแม่น้ำปิง บอกว่า สาเหตุที่น้ำปิงล้นเอ่อฝั่งเร็วกว่าทุกๆปี.เพราะฝายชะลอน้ำนั่นแหละครับ เราไปสร้างประตูขวางลำน้ำไว้หลายจุดช่วยยามแล้ง แต่ยามน้ำหลากมากเกินไป มันจะเป็นตัวอั้นไว้ให้น้ำไหลไม่ทันกับปริมาณน้ำที่เข้ามาเติมเรื่อยๆ 

“สังเกตดีๆ ตัวเลขระดับน้ำเป็นเมตรกับ อัตราการไหลของน้ำที่เป็นลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ที่จุด P1 สะพานนวรัฐที่อยู่เหนือกว่าฝายประตูน้ำป่าแดด ระดับน้ำที่สูงขึ้นทุกชั่วโมงอย่างรวดเร็ว แต่อัตราการเพิ่มขึ้นของการไหลของน้ำมันมีสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นตามไม่มาก ในความเป็นจริงแล้วมันจะต้องวิ่งไปถึง 1,000-2,000 ลบม/วินาทีแล้ว แต่มันยังอยู่แค่ 636 ลบม/วินาที นั่นเป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า อัตราการไหลออกของน้ำมันน้อยเกินไปกว่าที่ไหลเข้ามาเติม ระดับน้ำมันจึงสูงขึ้นรวดเร็ว  และมันก็คอนเฟิร์มสิ่งที่ผมบอกไว้แล้ว….ฝายกั้นน้ำป่าแดด และฝายล่างลงไปอีกหลายที่ มันเป็นตัวชะลอความเร็วของน้ำลง ทำให้น้ำไหลไม่สะดวก ต้องรื้อทิ้งอย่างเดียวครับ ทำเป็นฝายหินสปิลเวย์ก็พอ”

ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์ภาควิชาสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ก็บอกว่า ท้ายเมืองเชียงใหม่ บริเวณป่าแดด มีการรื้อฝายวังตาลที่เป็นฝายพื้นบ้านทิ้ง แล้วสร้างประตูน้ำคอนกรีตแทนฝายดั้งเดิมของชาวบ้านสร้างด้วยภูมิปัญญาของชาวล้านนา โดยการตอกไม้และนำหินมาเรียง แค่เพื่อยกระดับน้ำเข้าลำเหมืองเพื่อทำนา หากน้ำมามาก น้ำก็ไหลผ่านตัวฝายได้ การจัดการน้ำแบบนี้มีมานานนับพันปี ขณะที่ประตูน้ำคอนกรีตที่สร้างใหม่ ยามน้ำหลากมาก แม้เปิดประตูทั้งหมด ลำน้ำก็ถูกบีบเป็นคอขวด น้ำไหลผ่านได้น้อย นี่เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้น้ำท่วมสองฝั่งน้ำปิงไปถึงแถวภูธรภาค 5 ก่อนรื้อฝายพื้นบ้านแล้วสร้างเป็นประตูน้ำคอนกรีต เคยมีการคัดค้าน แต่ไม่เป็นผล เพราะหน่วยงานรัฐไม่ฟังเสียงของคนท้องถิ่น

ในภาพจะเห็นการสร้างโครงสร้างในการจัดการน้ำของรัฐ ไม่ได้รองรับน้ำท่วมหลาก แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับการจัดการน้ำแบบเหมืองฝายของคนล้านนา ซึ่งหลังจากวิกฤตน้ำท่วมเชียงใหม่นี้ผ่านไป เชื่อว่าทุกฝ่ายอาจจะต้องกลับมานั่งถกทบทวนและสังคายนากันใหม่อีกครั้ง

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากผู้เขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง