ก๊อนเก๊าเล่าล้านนา: ชักแม่น้ำทั้งสายให้ไหลลงสู่น้ำแม่โขง : ว่าด้วยเรื่องทิศทางการไหลของน้ำในลุ่มน้ำแม่กก

เรื่อง: นวลคำ ขะยอมแดง สุภาพชนคนเมือง

ความนำ

น้ำไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ” 

ข้อความนี้สะท้อนกฎธรรมชาติว่าด้วยการไหลของน้ำที่เป็นไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ขณะเดียวกัน การไหลของน้ำตามแหล่งธรรมชาติอย่างลำธาร คลองหรือแม่น้ำก็เป็นอีกรูปแบบ ทิศทางและลักษณะของการไหลไปยังพื้นที่ต่าง ๆ อย่างมีความแตกต่างกัน 

เงื่อนไขที่มีส่วนในการกำหนดการไหลของน้ำจึงขึ้นอยู่กับปัจจัยด้านภูมิประเทศของพื้นที่หรือถิ่นที่ต่าง ๆ อย่างเช่น สันปันน้ำ ความลาดเอียงของพื้นที่ ลักษณะหรือชนิดของดินในพื้นที่หรืออาณาบริเวณซึ่งได้รับอิทธิพลจากลักษณะการไหลของสายน้ำในแต่ละแห่งเรียกว่า “ลุ่มน้ำ” โดยชื่อของลุ่มน้ำต่าง ๆ จึงมักถูกกำหนดขึ้นตามแม่น้ำสายหลักในพื้นที่หรืออาณาบริเวณนั้น ๆ 

ทั้งนี้ ทิศทางการไหลยังมีผลต่อการกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนหลากหลายรูปแบบทั้งด้านการตั้งถิ่นฐานอย่างที่อยู่อาศัย การดำรงชีพด้วยวิถีเกษตรกรรมการเพาะปลูก ตลอดจนการใช้สายน้ำเป็นเส้นทางสำหรับการคมนาคมเพื่อการติดต่อผู้คนในชุมชนอื่น ๆ ที่อาศัยอยู่ควบคุมตามแนวลำน้ำที่บ่งชี้ให้เห็นมิติความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ และความสัมพันธ์ทางการเมืองแยกปลีกย่อยออกไปอีกมากมาย 

กล่าวอย่างง่ายคือ ผู้คนที่อาศัยอยู่ในเขตลุ่มน้ำเดียวกัน มักมีแนวโน้มที่จะสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมวัฒนธรรมอย่างเกาะเกี่ยวและแนบแน่นระหว่างกันและกันได้ดีกว่าผู้คนที่อาศัยอยู่นอกเขตลุ่มน้ำ

สำหรับภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยซึ่งลักษณะภูมิศาสตร์ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่โอบล้อมด้วยเทือกเขาและป่าไม้เขตร้อน กำเนิดของแม่น้ำสำคัญหลายสายที่พัดพาดินตะกอนและแร่ธาตุมาสู่พื้นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่และที่ราบลุ่มในหุบเขาแคบ ๆ พื้นที่ดังกล่าวนี้เป็นแหล่งที่ตั้ง และเป็นต้นธารในการกำเนิดชุมชนน้อยใหญ่ทั้งที่อยู่ตามลาดเขาอันสลับซับซ้อนซึ่งทอดตัวคดเคี้ยวและบางชุมชนก็กระจายตัว  ตามแนวพื้นที่ราบลุ่มซึ่งมีแม่น้ำสายสำคัญหล่อเลี้ยงบ้านเมืองในอาณาบริเวณน้อยใหญ่เหล่านี้ด้วยเช่นกัน               ซึ่งเรียกกันว่าเป็น “โหล่ง” ซึ่งเป็นคำที่ขยายความหมายได้ประมาณว่า “อาณาบริเวณทางเศรษฐกิจวัฒนธรรม” 

งานของพรพิไล เลิศวิชาและคณะ  ได้นำเสนอผ่านงานเขียนเรื่อง “เชียงใหม่-ลำพูน : เขตเศรษฐกิจวัฒนธรรม พลวัตและพัฒนาการ” และงานของรังสรรค์ จันต๊ะ ที่ได้นำเสนอผ่านงานวิจัยเรื่อง “บ้าน โหล่ง และเมือง เขตความสัมพันธ์บนฐานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน ในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูนตอนบน” ที่อธิบายและนิยามความหมายของคำว่า “โหล่ง” ในมิติวิชาการได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ พื้นที่หรืออาณาบริเวณของ “โหล่ง” มักใช้เป็นที่ตั้งของเมืองใหญ่เมืองน้อยที่ถูกตั้งชื่อเรียกกลุ่มผู้ตั้งถิ่นฐานควบกับชื่อภูมิศาสตร์ เช่น บ้านโฮ่งโหล่งลี้ก็เป็นที่ตั้งของเมืองลี้ โหล่งเชียงแสนเป็นที่ตั้งของเมืองเชียงแสนหรือโหล่งเมืองฝางเป็นที่ตั้งของเมืองฝาง ส่วนโหล่งที่มีขนาดใหญ่อย่างพื้นที่เชียงใหม่ลำพูนซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพื้นที่เกษตรกรรม และการชลประทานก็เป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อให้เกิดการตั้งบ้านเมืองขนาดใหญ่เพื่อเป็นศูนย์กลางของรัฐจารีตในพื้นที่แถบดังกล่าว เป็นต้น 

นอกจากความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องข้าวปลาอาหารที่เป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างบ้านแปลงเมืองของผู้คนในอดีตแล้ว การมีแม่น้ำเพื่อเป็นเส้นทางคมนาคมก็เป็นอีกหนึ่งสิ่งสำคัญที่คอยร้อยรัดความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเข้าไว้ด้วยกันได้เป็นอย่างดี การร้อยรัดความสัมพันธ์ที่ว่านี้คงอธิบายได้เป็นประมาณว่าจิตสำนึกรวมหมู่ (collective consciousness) ของผู้คนเพื่อบ่งบอกอัตลักษณ์ของตัวเองหรืออธิบายตัวเองว่าเขาเป็นคนถิ่นที่ใด มีสำนึกความเป็นส่วนหนึ่งของสังคม (Sense of Belonging) ในพื้นที่แห่งใดรวมทั้งมีการติดต่อสัมพันธ์ข้ามพื้นที่ชุมชนผ่านเครือข่ายต่าง ๆ เช่นเครือข่ายการค้า เครือข่ายพ่อค้า และเครือญาติต่าง ๆ อย่างไร

แม่น้ำสายต่างๆจึงมีอิทธิพลต่อการเกี่ยวพัน (Bonding) การเชื่อมโยง (Bridging) และการเชื่อมสัมพันธ์ (Linking) ระหว่างผู้คนภายในชุมชนและระหว่างชุมชน ข้อเขียนนี้มุ่งหมายจะมอบความสัมพันธ์ระหว่างมโนทัศน์ว่าด้วยเรื่อง “โหล่ง” ของคนล้านนากับพื้นที่ของลุ่มแม่น้ำแม่กกทั้งในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่อันเป็นอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมอย่าง“โหล่งเมืองฝาง” และพื้นที่จังหวัดเชียงรายอันเป็นอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมและพื้นที่เกษตรกรรมครอบคลุมหลายลุ่มลำน้ำสาขาย่อยของน้ำแม่กก 

ทั้งนี้ การคลี่คลายให้เห็นความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนในเชิงพื้นที่ดังกล่าวอาจนำไปสู่การเข้าใจธรรมชาติของแม่น้ำเพื่อเป็นพื้นฐานสำคัญในการบริหารจัดการน้ำในสถานการณ์น้ำท่วมทั้งช่วงที่ผ่านมาได้

ลุ่มน้ำแม่กก : จากโหล่งเมืองฝางสู่เมืองเชียงรายและปลายทางที่สบกก

ช่วงเวลา 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมาบทสัมภาษณ์ของนายกรัฐมนตรีเกี่ยวกับประเด็นน้ำท่วมพื้นที่อำเภอเมืองและในปริมณฑลโดยรอบของเมืองเชียงใหม่นั้น การแถลงจากนายกรัฐมนตรีที่ถือโพยจากเครื่องเล่นไอแพดของเธอนำเสนอถ้อยแถลงจับความได้ประมาณว่า “ลำปาง-ลำพูน” น้ำท่วมน้อย ประชาชนสบายใจได้ 

เหตุน้ำจากเชียงใหม่ไหลลงเขื่อนภูมิพล-แม่น้ำโขง นับเป็นจุดสนใจจากเหล่าบรรดามหาชนน้อยใหญ่ในโลกออนไลน์หลายคนที่พากันตั้งคำถามถึงความชัดเจนของข้อมูลในคำแถลงจากนายกฯ ในประเด็น “น้ำจากเชียงใหม่ไหลไปแม่น้ำโขง” เนื่องจากประชาชนมีความเข้าใจเกี่ยวกับเส้นทางน้ำว่า น้ำปิงจากเชียงใหม่จะไหลลงเขื่อนภูมิพล และลุ่มน้ำเจ้าพระยาเท่านั้น 

ท่ามกลางสังคมที่เต็มไปด้วยความเคลือบแคลงสงสัยและขาดความเชื่อมั่นในศักยภาพของผู้นำรัฐบาลในการบริหารจัดการรับมือกับสถานการณ์ของอุทกภัยที่เกิดขึ้นหลายพื้นที่ในรอบหลายเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีจะเป็นการพูดนำเสนอเนื้อหาที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการสื่อสารอันอาจจะเกิดจากความไม่รู้ก็ดี หรือการพูดที่เว้นวรรคไม่ถูกต้องก็ดี ตลอดจนการฟังไม่ได้ศัพท์แล้วจับไปขยี้ขยายด้วยมุมมองที่อัดแน่นไปด้วยอคติก็ดี ทว่าการสื่อสารของนายกรัฐมนตรีในประเด็นที่ว่ามานี้ก็ได้ถูกทำให้ใครเป็นประเด็นทางการเมืองผ่านเกมจับผิดคำศัพท์ของผู้คนจำนวนกว่าครึ่งค่อนสังคมไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ขณะเดียวกัน กลุ่มคนที่มีความเชื่อมั่นและสนับสนุนการทำงานของรัฐบาลชุดปัจจุบันก็สร้างเกราะป้องกันขึ้นในพื้นที่โลกออนไลน์อย่างมากมายมหาศาล พร้อมกับคำอธิบายในทำนองที่ว่าน้ำในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ที่ไหลผ่านพื้นที่ของจังหวัดเชียงรายแล้วไหลลงสู่แม่น้ำโขงนั้นคือ “แม่น้ำกก” 

แน่นอนว่าเหตุผลและชุดความรู้ด้านภูมิศาสตร์การไหลของน้ำในพื้นที่ภาคเหนือได้เป็นสิ่งที่ “ผู้แบก”หลายต่อหลายคนพยายามหยิบยกเพื่อชัก “แม่น้ำทั้งสาย”ให้ไหลลงแม่น้ำโขงนั้นก็อาจเป็นสิ่งที่คงอาจรับรู้กันได้ในหมู่ผู้สนใจวิชาภูมิศาสตร์พื้นฐาน หรือเข้าใจลักษณะภูมิประเทศในพื้นที่ภาคเหนือได้เป็นอย่างดีพี่พอจะมีหลายคนที่ร่ำเรียนวิชาภูมิศาสตร์ในระดับชั้นมัธยมศึกษาหรือพอจะมี Geo-Literacy อยู่บ้างก็คงจะพอรู้ว่าพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทยเรานี้ มีกลุ่มของเทือกเขาขนาดใหญ่ที่ทอดตัวอยู่ในพื้นที่ตอนกลางและมีแขนงแยกย่อยในภูมิภาคแห่งนี้ที่เรียกว่า “เทือกเขาผีปันน้ำ” 

กลุ่มเทือกเขาดังกล่าวนี้มี “ระบบปันน้ำ” โดยอาศัยสันเขาแบ่งการไหลของสายน้ำในพื้นที่ออกเป็น 3 ระบบด้วยกัน ได้แก่ 1) ระบบผันน้ำไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ได้แก่ แม่น้ำและลำน้ำสาขาในพื้นที่ราบลุ่มปิง วัง ยมและน่านซึ่งมีทิศทางไหลลงสู่พื้นที่ภาคกลางของประเทศไทยและกลายเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา 2) ระบบผันน้ำไหลลงสู่แม่น้ำสาละวิน ได้แก่ แม่น้ำและลำน้ำสาขาของแม่น้ำยวม แม่น้ำเมย และลำน้ำต่าง ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน และ 5 อำเภอด้านตะวันตกของจังหวัดตากซึ่งมีทิศทางการไหลไปทางทิศตะวันตก (แม่น้ำยวม) และย้อนขึ้นเหนือ (แม่น้ำเมย) ลงสู่แม่น้ำสาละวิน 

ระบบสุดท้ายที่จะกล่าวถึงในข้อเขียนนี้คือ 3) ระบบผันน้ำไหลลงสู่แม่น้ำโขง ได้แก่แม่น้ำและลำน้ำสาขาในพื้นที่ราบลุ่มจังหวัดเชียงรายและจังหวัดพะเยา ได้แก่ แม่น้ำอิง แม่น้ำกก แม่น้ำคำ แม่น้ำสายและแม่น้ำรวก ตลอดจนลำน้ำสาขาซึ่งมีทิศทางการไหลทวนย้อนขึ้นไปทางทิศเหนือลงสู่แม่น้ำโขงในพื้นที่จังหวัดเชียงรายซึ่งจุดที่แม่น้ำรวกไหลลงแม่น้ำโขง เรียกว่า สบรวก จุดที่แม่น้ำกกไหลลงแม่น้ำโขง เรียกว่า สบกก และจุดที่แม่น้ำคำไหลลงแม่น้ำโขง เรียกว่า สบคำ  แต่ทว่าจุดที่แม่น้ำอิงไหลลงแม่น้ำโขง เรียกว่า ปากอิง ที่เขียนว่า “สบ” หากจะอธิบายเพื่อขยายความรู้ต่อยอดอีกสักนิดหนึ่ง สบ แปลว่า ปาก มีคำซ้อนอย่างคำว่า “กำสบกำปาก”คำเหล่านี้คือตัวอย่างในการเรียกชื่อ

นอกจากนี้ บริเวณชุมชนที่เป็นปากแม่น้ำหรือจุดบรรจบของแม่น้ำก็ยังเป็นชื่อของชุมชนหลาย ๆ แห่งอย่างเช่น ตำบลสบตุ๋ยในพื้นที่อำเภอเมืองจังหวัดลำปาง ซึ่งเป็นจุดที่น้ำแม่ตุ๋ยไหลมาบรรจบกับน้ำแม่วัง นอกจากนี้ยังมี สบลี้ สบทา สบแจ๋ม สบกลาง ฯลฯ ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูนอีก ขณะเดียวกัน ในภาษาลาวก็มักจะใช้คำว่าปากแทนคำว่าสบในภาษาล้านนา เช่น ปากอิง หมายถึงจุดบรรจบของแม่น้ำอิงที่ไหลลงบริเวณแม่น้ำโขงบริเวณชุมชนบ้านปากอิงซึ่งเป็นชุมชนคนลาวอพยพในเขตพื้นที่อำเภอเชียงของ และมีปากอื่น ๆ อย่างเช่น ปากแบง ปากทา หรือแม้กระทั่งปากมูลหรือปากน้ำโพ เป็นต้น 

ทั้งนี้ ข้อเขียนทั้งหมดที่กล่าวไปในตอนต้นนั้น ไม่ได้เกี่ยวกับประเด็นน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และตัวเมืองเชียงใหม่ วิญญูชนคนร่ำเรียนภูมิศาสตร์หรืออยู่ในสถานะที่จะมี Geo-literacy ในระดับพื้นที่ก็ย่อมรู้และพึงรู้ดีว่าน้ำในเขตพื้นที่ “เมืองฝาง” นั้นไหลไปในทิศทางใด และแน่นอนว่าน้ำในพื้นที่เมืองฝางไม่ใช่สาเหตุของมวลน้ำมหาศาลที่สร้างหายนะให้แก่เมืองเชียงใหม่และบริเวณโดยรอบซึ่งสอดรับกับบริบทและช่วงเวลาที่นายกรัฐมนตรีกำลังแถลงข่าวอยู่เป็นแน่

แม้เหตุผลของการชักแม่น้ำทั้งสายให้ไหลลงสู่ในแม่โขงอย่างน้ำแม่กกจะวางอยู่บนฐานของข้อเท็จจริงที่ว่าเป็นแม่น้ำที่ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดเชียงรายโดยสามารถไหลลงสู่แม่น้ำโขงได้ก็ตาม แต่ความจริงที่มีอยู่มากกว่าความรู้และข้อเท็จจริงพื้นฐานด้านภูมิศาสตร์ กลับกลายเป็นว่าแม่น้ำสายดังกล่าวได้ไหลผ่านพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่แค่ในเขตอำเภอแม่อายที่สำคัญคือไหลผ่านตำบลท้ายสุดของอำเภอด้วยซ้ำไป นั่นคือ ตำบลท่าตอนซึ่งเลยจุดสะพานข้ามแม่น้ำกกตรงบ้านท่าตอนขึ้นมาอีกไม่กี่สิบกิโลเมตรขึ้นดอยก็มาถึงกิ่วสะไตซึ่งเข้าสู่พื้นที่จังหวัดเชียงรายแล้ว 

ขณะเดียวกัน ลำน้ำสาขาของแม่น้ำกกในพื้นที่เดียวกันก็เป็นแม่น้ำสายเล็กและสั้นอย่างแม่น้ำฝางและลำน้ำอื่น ๆ จากพื้นที่อำเภอฝาง แม่อายและไชยปราการซึ่งเรียกรวมกันว่า “เมืองฝาง” อันถือว่าเป็นอาณาบริเวณทางเศรษฐกิจวัฒนธรรมของลุ่มน้ำกกตอนกลางที่เป็นพื้นที่หรืออาณาบริเวณลุ่มกว้างแห่งแรกเมื่อแม่น้ำกกไหลเข้าสู่ดินแดนของประเทศไทยในปัจจุบัน

“เมืองฝาง” หรืออำเภอฝางเดิมเป็น “อำเภอเมืองฝาง” ซึ่งเคยเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเชียงรายซึ่งต่อมาภายหลังกระทรวงมหาดไทยได้มีการยกอำเภอเมืองฝาง มาขึ้นกับจังหวัดเชียงใหม่ ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยลงวันที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2468 ต่อมาได้มีการแยกกิ่งอำเภอออกคือ กิ่งอำเภอแม่อายใน พ.ศ. 2510 ก่อนที่ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอแม่อายใน พ.ศ. 2516 ต่อมาได้แยกกิ่งอำเภออีกคือกิ่งอำเภอไชยปราการใน พ.ศ. 2531 และได้ยกฐานะขึ้นเป็นอำเภอไชยปราการใน พ.ศ. 2537 แน่นอนว่าคนเมืองฝาง ความเป็นเมืองฝาง ตลอดจนทิศทางการไหลของน้ำในเขตเมืองฝางจึงแทบจะสัมพันธ์กับความคิดและสำนึกของผู้คนทั่วในพื้นที่ดังกล่าวด้วยซ้ำกล่าวขยายความคือ คนในพื้นที่สามอำเภอดังกล่าวรุ่นก่อน ไม่ว่าจะอาศัยอยู่ในพื้นที่แม่อาย หรือไชยปราการ พวกเขาจะเรียกตัวเองว่าเป็น “ชาวเมืองฝาง” เพราะพวกเขาเหล่านี้อยู่ไกลจากตัวจังหวัดเชียงใหม่มาก เวลาจะลงไป “เวียงเชียงใหม่” ในแต่ละครั้งนั้นก็ต้องนั่งรถหวานเย็นเพื่อข้าม “ดอยหัวโท” ด้วยระยะเวลานานถึงค่อนวันกว่าจะถึงตัวเวียงเชียงใหม่ ยิ่งเป็นผู้คนรุ่นก่อนสมัยที่ถนนช่วงแม่แตง-เชียงดาวไม่ได้สะดวกสบายแบบนี้ (ซึ่งก็เพิ่งทำเสร็จสิ้นมาเมื่อไม่กี่ปีมานี้นี่เอง) 

เห็นได้จากกรณีของ “ชาวเมืองฝาง” ส่วนหนึ่งว่ากันว่าขึ้นลงเครื่องบินที่สนามบินเชียงราย จับจ่ายซื้อของที่ห้างบิ๊กซีเชียงราย หรือแม้กระทั่งมีเคยผู้ป่วยเร่งด่วนเราจะเห็นรถพยาบาลจากโรงพยาบาลฝางหรือโรงพยาบาลแม่อายส่งต่อผู้ป่วยมาที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ 

ด้วยเหตุนี้ สำนึกที่ไม่เป็นส่วนหนึ่งของ “คนเมืองฝาง” และ “ความเป็นเมืองฝาง” จึงแยกขาดออกจากความเป็นเชียงใหม่ไปโดยปริยาย และถูกขับเน้นอย่างเป็นรูปธรรมผ่าน “การเคลื่อนไหวแยกจังหวัดฝาง” เมื่อหลายปีก่อนเป็นโครงการจัดตั้งที่มีแนวคิดจะยกฐานะ อำเภอฝาง อำเภอแม่อาย และอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ เป็นจังหวัดฝางซึ่งในเดือนมกราคม พ.ศ. 2554 ได้ผ่านการพิจารณาลงนามโดยนายกรัฐมนตรีเพื่อเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ต่อมาได้มีการยุบสภาผู้แทนราษฎร ส่งผลให้ร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวต้องชะลอไป แน่นอนว่าความเคลื่อนไหวเรื่องดังกล่าวไม่เพียงแค่ต้องชะลอเท่านั้นแต่กลับกลายเป็นเรื่องที่ต้องชะงักเงียบหายไปเป็นเวลามาประมาณหนึ่งทศวรรษแล้ว

การพิจารณาเมืองฝางในฐานะ “โหล่งเมืองฝาง” ซึ่งเป็นอาณาบริเวณทางด้านเศรษฐกิจวัฒนธรรมที่มีความสัมพันธ์กับลุ่มน้ำนั้น ชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงของผู้คน วัฒนธรรม การเคลื่อนย้าย และการติดต่อสัมพันธ์ที่ร้อยรัดไปกับทิศทางการไหลของสายน้ำในพื้นที่ลุ่มน้ำแม่กกซึ่งถือได้ว่าเป็นลุ่มน้ำขนาดใหญ่ในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนกินขนาดพื้นที่ครอบคลุมทั้งลุ่มน้ำทั้งหมดกว่า 10,875 ตารางกิโลเมตร ขนาดที่บางส่วนของพื้นที่ลุ่มน้ำดังกล่าวอยู่ในเขตประเทศเมียนมาร์ และพื้นที่ลุ่มน้ำที่อยู่ในเขตของประเทศไทยมีเพียง 7,300 ตารางกิโลเมตร อาณาบริเวณอันกว้างใหญ่ครองลุ่มน้ำดังกล่าวนี้ครอบคลุมพื้นที่ 2 จังหวัดทั้งเชียงใหม่ และเชียงราย โดยอาจจะมีพื้นที่ติดบริเวณขอบเขตจังหวัดลำปางเล็กน้อยในบริเวณต้นน้ำ 

จุดเริ่มต้นของน้ำแม่กกนั้นเกิดจากพื้นที่ที่มีสภาพภูมิประเทศประกอบไปด้วยเทือกเขาสูงชันทางทิศเหนือของเทือกเขาแดนลาว ขนาบด้วยเทือกเขาขุนตาลทางด้านทิศใต้และเทือกเขาผีปันน้ำในด้านที่ตะวันออกเฉียงใต้ การโอบล้อมของเทือกเขาเหล่านี้ทำให้พื้นที่ของลุ่มแม่น้ำกกนั้นเป็นต้นกำเนิดของแม่น้ำสาขา ไหลเลาะระหว่างที่ราบเชิงเขากระจายอยู่ระหว่างหุบเขา และมีที่ราบลุ่มแม่น้ำตลอดสองข้างฝั่งลำน้ำของแม่น้ำกก   

ต้นกำเนิดจริงๆของแม่น้ำกกนั้นมาจากภูเขาทางด้านเหนือในรัฐฉานใกล้กับเมืองเชียงตุงของประเทศเมียนมาร์จากนั้นจึงไหลเข้าสู่ประเทศไทยที่ช่องน้ำแม่กก อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ แล้วไหลไปทางทิศตะวันออกผ่านอำเภอแม่อายแล้วจึงเข้าสู่เขตอำเภอเมือง จังหวัดเชียงราย ผ่านตัวเมืองเชียงราย จากนั้นจึงได้ไหลไปทางทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอเชียงแสนไหลลงสู่แม่น้ำโขงที่บ้านสบกก ตำบลบ้านแซว อำเภอเชียงแสน จังหวัดเชียงราย 

ระยะทางความยาวของแม่น้ำกกจากพื้นที่ต้นน้ำนับรวมทั้งหมด 285 กิโลเมตร ช่วงแรกประมาณ 128 กิโลเมตร อยู่ในเขตประเทศเมียนมาร์ แต่แม่น้ำกกในส่วนที่อยู่ในประเทศไทยยาวประมาณ 157 กิโลเมตร โดยมีสภาพภูมิประเทศและสภาพลุ่มน้ำจากลุ่มน้ำในแต่ละสาขาอัน ได้แก่

๐ ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำแม่ฝาง มีต้นน้ำอยู่บริเวณดอยขุนห้วยฝางและดอยหัวโทซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของอำเภอไชยปราการ จังหวัดเชียงใหม่ ไหลไปทางทิศเหนือ ผ่านอำเภอฝาง แล้วไหลไปบรรจบกับแม่น้ากกที่ตำบลท่าตอน อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่ โดยจุดบรรจบของลำน้ำแม่ฝางลงสู่แม่น้ำกกนั้นเรียกว่าบริเวณ “สบฝาง” ซึ่งเป็นที่ตั้งของศาสนสถานสำคัญอันเป็นที่กราบไหว้ของผู้คนในพื้นที่คือ “พระธาตุสบฝาง” โดยความยาวของลำน้ำแม่ฝางประมาณ 122 กิโลเมตร โดยลำน้ำดังกล่าวนี้ยังมีลำน้ำสายเล็กๆอย่างน้ำแม่ทะลบ น้ำแม่งอนน้อย น้ำแม่มาว น้ำแม่นาวาง น้ำแม่สาว และน้ำแม่แหลงหลวง เป็นต้น

๐ ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำแม่ลาว มีต้นกำเนิดจากเทือกเขาผีปันน้ำในเขตอำเภอเวียงป่าเป้าจังหวัดเชียงราย โดยได้ไหลไปทางทิศเหนือผ่านพื้นที่ของอำเภอเวียงป่าเป้า เข้าสู่อำเภอแม่สรวย จากนั้นจึงเป็นเส้นแบ่งเขตระหว่างอำเภอพานกับอำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายแล้วไหลไปทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือเข้าสู่อำเภอเมืองจังหวัดเชียงรายชวนไปบรรจบกับแม่น้ำกกที่บ้านป่าตึง ตำบลรอบเวียงอำเภอเมืองจังหวัดเชียงราย โดยระยะทางของลำน้ำแม่ลามีความยาวประมาณประมาณ 210 กิโลเมตร และมีลำน้ำสาขาย่อยที่สำคัญได้แก่ น้ำแม่โถ น้ำแม่เจดีย์ น้ำแม่ฉางข้าว น้ำแม่ปูนหลวง น้ำแม่ต๋ำ  น้ำตาช้าง น้ำแม่สรวยและน้ำแม่กรณ์น้อย เป็นต้น

๐ ลุ่มน้ำสาขาลำน้ำแม่สรวย มีต้นน้ำอยู่บริเวณดอยดอยแม่วังน้อยและดอยหลุมข้าวซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของอำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย โดยน้ำแม่สรวยไหลลงไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ แล้วไหลไปบรรจบกับน้ำแม่ลาวที่บ้านกาด ตำบลแม่สรวย อำเภอแม่สรวย จังหวัดเชียงราย ความยาวของลำน้ำแม่สรวย ประมาณ 60 กิโลเมตร

ขณะเดียวกัน แม่น้ำกกไหลเข้าสู่พื้นที่จังหวัดเชียงรายส่วนหนึ่งของระยะทางการไหลนั้นได้ผ่านพื้นที่ซึ่งมีภูมิประเทศเป็นช่องแคบระหว่างหุบเขาบางส่วนเขาแม่น้ำยังมีลักษณะเป็นเกาะแก่ง มีน้ำเชี่ยวกราดในหลายจุด 

ในอดีตแม่น้ำกกจึงไม่มีประโยชน์สำหรับการคมนาคมเพียงแต่การเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างเมืองฝางกับเมืองเชียงรายอาศัยช่องแคบระหว่างหุบเขาที่ลัดเลียบขนานไปตามลำน้ำเป็นเส้นทางคมนาคม แต่ยังมีลำน้ำสาขาย่อยที่ไหลลงสู่แม่น้ำกกในพื้นที่จังหวัดเชียงรายอันประกอบไปด้วยลำน้ำเมืองงาม ห้วยน้ำริน ห้วยลู ห้วยหมากเลี่ยม น้ำแม่ยาว น้ำแม่กรณ์ น้ำแม่ลาว และห้วยเผือ เป็นต้น

การทำความเข้าใจต่อความซับซ้อนของแม่น้ำทั้งที่เป็นเส้นหลักและสาขาย่อยท่ามกลางภูมิประเทศของลุ่มแม่น้ำกกจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่เมืองเชียงรายและลุ่มน้ำแม่กกทั้งหมด มิใช่เพียงแค่ความรู้ภูมิศาสตร์พื้นฐานว่าสายน้ำในแต่ละพื้นที่จะไหลไปในทิศทางใดเท่านั้น 

หากแต่การบริหารจัดการสถานการณ์รับมือกับสถานการณ์น้ำท่วมในแต่ละพื้นที่ก็ควรจะยึดเอา “ลุ่มแม่น้ำ” และ “โหล่ง”  ของบ้าน-เมือง เป็นฐานคิดสำคัญในการบริหารจัดการตลอดจนการตัดสินใจเชิงนโยบายต่าง ๆ บ้าง

ประเด็นดังกล่าวนี้ผู้เขียนยอมรับว่าไม่ได้มีข้อมูลเรื่องดังกล่าวมากพอ แต่อดสงสัยและชักไม่อาจแน่ใจได้ว่าส่วนราชการหรือผู้เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ “โหล่งเมืองฝาง” ทั้งหลายนั้นมีรูปแบบการทำงานในด้านการเข้าร่วมประชุมหรือการรายงานการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตอย่างเรื่องน้ำท่วมอย่างไร ต้องลงไปประชุมที่ตัวเมืองเชียงใหม่หรือไม่หรือควรจะรายงานสถานการณ์ดังกล่าวกับหน่วยราชการในพื้นที่ลุ่มน้ำเดียวกัน 

การส่งต่อข้อมูลการบริหารจัดการสถานการณ์วิกฤตด้านอุทกภัยบนฐานคิด “ลุ่มน้ำ” จะเกิดขึ้นได้ดีหรือมีประสิทธิภาพมากน้อยแค่ไหนผลลัพธ์เรื่องดังกล่าวคงจะเป็นตัวบ่งชี้ที่สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาในระนาบเดียวกันกับการบริหารราชการแผ่นดินส่วนภูมิภาคที่เน้นการบริหารจัดการสถานการณ์ปัญหาด้วยวิธีคิด “จังหวัด” เป็นฐานกระมัง

บททิ้งท้าย

แม้ข้อเขียนทั้งหมดนี้ไม่ได้สะท้อนถึงประเด็นปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และตัวเมืองเชียงใหม่แต่อย่างใด  เพียงแต่ต้องการเน้นย้ำถึงประเด็นที่ใครก็ตามที่พอจะมีความรู้เบื้องต้นด้านภูมิศาสตร์หรือข้อมูลเชิงพื้นที่เกี่ยวกับ “เมืองฝาง” บ้าง ก็คงพอรู้ได้แหละว่าน้ำในพื้นที่ดังกล่าวนั้น ไหลไปในทิศทางใดอย่างไม่ต้องรอให้ใครมาชักสายน้ำทั้งสายให้ไหลลงแม่น้ำโขง และแน่นอนว่าน้ำในพื้นที่เมืองฝางไม่ใช่สาเหตุของมวลน้ำมหาศาลที่สร้างความฉิบหายให้แก่เมืองเชียงใหม่และบริเวณโดยรอบอย่างแน่แท้ 

ฉะนั้น การพูดถึงเรื่องน้ำท่วมเมืองเชียงใหม่และปริมณฑลโดยรอบก็ควรโฟกัสประเด็นที่เรื่องน้ำท่วม และผลกระทบเรื่องน้ำที่ได้สร้างความหายนะและความวอดวายให้แก่พื้นที่ใดกันแน่ ประเด็นและสาระสำคัญมันอยู่ตรงนี้มากกว่าน้ำจะไหลไปทิศทางใด  

ส่วนน้ำจากพื้นที่จากจังหวัดเชียงใหม่จะไหลไปแม่น้ำโขงหรือน้ำปิงจะไหลลงแม่น้ำโขงตรงไหน นั่นคงไม่ใช่ประเด็นหรือสาระสำคัญเท่ากับว่าผู้นำรัฐบาลจะมีสติปัญญา และมันสมองในการบริหารจัดการสถานการณ์น้ำท่วมได้ดีมากน้อยเพียงใด จุดนี้ต่างหากที่ประชาชนสนใจที่จะให้ความสำคัญอันควรต้องทำให้ประชาชนเห็นผลงานเป็นที่ประจักษ์ในวงกว้าง และประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริง ไม่ใช่การขนกองแบกกองเชียร์มาต่อล้อต่อเถียงหาเหตุผลเรื่องน้ำในพื้นที่ 3 อำเภอด้านเหนือสุดของจังหวัดเชียงใหม่ไหลลงแม่น้ำกก และแม่น้ำโขงวนไปวนมาอยู่แค่นั้น (ซึ่งคนที่เล่าเรียนภูมิศาสตร์มาบ้างก็รู้พื้นฐานเรื่องนี้กันดีอยู่แล้ว)

ทว่าประเด็นและใจความสำคัญคือวันที่เรื่องดังกล่าวนี้ ถูกพูดในบริบทของเหตุการณ์หรือสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ใดต่างหากเล่า นี่ไม่ใช่เรื่องของการตีฝีปากฝากสำนวนเถียงกันไปเถียงกันมา แต่เป็นเรื่องที่ต้องแปรเปลี่ยนสติปัญญาและมันสมองให้เป็นการปฏิบัติที่มีรูปธรรมให้เห็นเป็นที่ประจักษ์มากกว่าว่าจะทำได้หรือไม่ ไม่ได้เกี่ยวกับคนโต้แย้งหรือเห็นแย้งอะไรต่อเรื่องพูดผิดพูดถูกเหล่านี้เลยด้วยซ้ำ

แต่ว่าก็ว่าเถอะจะมีสมองหรือสติปัญญามากน้อยเพียงใดประชาชนคงพิจารณาได้เอง

รายการอ้างอิง

  • พรพิไล เลิศวิชา. สุพชัย เมถิน. นนธชัย นามเทพ (2552). เชียงใหม่-ลำพูน เขตเศรษฐกิจวัฒนธรรม พลวัตและพัฒนาการ. กรุงเทพฯ : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).
  • รังสรรค์ จันต๊ะ (2552). บ้าน โหล่ง และเมือง เขตความสัมพันธ์บนฐานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมชุมชน ในแอ่งเชียงใหม่ – ลำพูนตอนบน. โครงการวิจัยเขตเศรษฐกิจวัฒนธรรมภาคเหนือตอนบน. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.).

ชนชั้นกลางระดับล่างที่ค่อนมาทางปีกซีกซ้ายในทางเศรษฐกิจการเมือง ร่ำเรียนมาทางด้านการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ชื่นชอบประเด็นทางสังคมศาสตร์ มนุษยศาสตร์และการเมืองร่วมสมัย เป็นคนให้ความสนใจประเด็นล้านนาคดีทั้งในมิติประวัติศาสตร์ สังคมวัฒนธรรมและวรรณกรรมล้านนา (อยู่บ้างเล็กน้อย) แม้ตัวเองไม่ใช่คนดีย์แต่ยังคงมีการครุ่นคิดและสงสัยว่า ตัวเองนั้นเป็นนักกิจกรรม (Activist) และเป็นผู้นิยมมาร์กซ (Marxist) อยู่หรือเปล่า

ข่าวที่เกี่ยวข้อง