เก็บตกหลังเลือกตั้ง อบจ. 8 จังหวัดภาคเหนือ หลายจังหวัดแชมป์เก่าเก้าอี้สั่น! คู่แข่งห่างแค่เอื้อม

เรื่อง: กองบรรณาธิการ

ผ่านพ้นสมรภูมิเลือกตั้งนายก อบจ. มาร่วมสัปดาห์ ซึ่งก็รู้ผลกันไปแล้วว่าใครได้ไปต่อบนถนนหนทางของการพัฒนาท้องถิ่น 4 ปีนี้ โดยไทม์ไลน์หลังจากนี้จะมีการประกาศผลการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการในวันที่ 3 มีนาคม 2568 และภายในวันที่ 2 เมษายน 2568 จะมีการแถลงนโยบายต่อสภา อบจ. ก่อนที่จะถึงวันนั้น Lanner ชวนวิเคราะห์การเลือกตั้งนายก อบจ. 2568 ภาคเหนือ ทั้ง 8 จังหวัด ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งไปถึงจนหลังเลือกตั้งว่าเกิดปรากฏการณ์อะไรที่น่าสนใจขึ้นบ้าง

เชียงใหม่ “พิชัย” เฉือน “พันธุ์อาจ” หวุดหวิด คว้าเก้าอี้นายก อบจ.เชียงใหม่ ด้วยคะแนนสูสี

– เชียงใหม่เป็นพื้นที่ได้รับความสนใจอย่างยิ่งโดยเฉพาะ ซึ่งเป็นคู่แข่งหน้าใหม่ในสนามการเมืองท้องถิ่น

– ศึก อบจ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา  ถือเป็นศึกการเมืองท้องถิ่นที่มีความเข้มข้น โดยการชิงชัยในตำแหน่งนายก อบจ. เชียงใหม่ในครั้งนี้มีคู่แข่งหลัก 3 คนที่ได้รับความสนใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

– 1 กุมภาพันธ์ 2568 สิ้นสุดผลการเลือกตั้ง ผู้ชนะคือ “พิชัย” ที่ยังรักษาพื้นที่ไว้ได้และคะแนนค่อนข้างสูสีกับน้องใหม่อย่าง “พันธุ์อาจ” เพียง 20,955 คะแนน เท่านั้น

หากลองวิเคราะห์ผู้สมัครแต่ละคน เราจะพบความน่าสนใจว่า ผู้สมัครหมายเลข 1 พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ จากพรรคประชาชน ถือเป็นอีกหนึ่งตัวเต็งในการแข่งขันครั้งนี้ เนื่องจากได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงในภาคเหนือ ที่มองหาแนวทางการพัฒนาในระดับท้องถิ่น พร้อมวิสัยทัศน์ใหม่ๆ ในการพัฒนาเชียงใหม่ และแก้ไขปัญหาสังคมในมิติท้องถิ่น ในขณะที่ ผู้สมัครหมายเลข 2 พิชัย เลิศพงศ์อดิศร อดีตนายก อบจ. เชียงใหม่ สมัยก่อนหน้า ซึ่งเป็นเหมือนเจ้าถิ่นในศึกนี้ โดยพิชัยลงสมัครในนามสมาชิกพรรคเพื่อไทย ซึ่งเป็นพรรคการเมืองหลักที่มีฐานเสียงในพื้นที่ที่แข็งแกร่ง แม้จะเคยถูกพรรคก้าวไกลช่วงชิงพื้นที่ในเลือกตั้งระดับชาติไปเมื่อปี 2566 แต่ยังคงได้รับความนิยมจากกลุ่มผู้เลือกตั้งที่คุ้นเคยกับการทำงานของเขาในวาระที่ผ่านมา

ในส่วนของ ผู้สมัครหมายเลข 3 พนม ศรีเผือด ผู้สมัครอิสระ อดีตหัวหน้าฝ่ายข่าวและกิจการมวลชน กอ.รมน.เชียงใหม่ ที่แม้เริ่มแรกจะประกาศตัวว่า จะไม่มีการลงสมัครภายใต้พรรคการเมืองใด แต่กลับพบว่าในอดีตเขาเคยเป็นอดีตผู้สมัคร สส.พรรครวมไทยสร้างชาติ จังหวัดเชียงใหม่เขต 3 อำเภอแม่ออน, อำเภอดอยสะเก็ด และอำเภอสันกำแพง (ยกเว้นตำบลสันกลาง ตำบลบวกค้าง และตำบลแช่ช้าง) นอกจากนี้ในช่วงโค้งสุดท้าย ยังได้มีการเปิดตัว “มาดามหยก” หรือ กชพร เวโรจน์ หัวหน้าพรรคก้าวอิสระ ว่าเป็นผู้สนับสนุนพนมในการเลือกตั้งครั้งนี้ ทั้งนี้พรรคก้าวอิสระ ได้เปลี่ยนชื่อมาจากพรรคพลังชาติไทยและพรรครวมแผ่นดิน ตามลำดับ ซึ่งเดิมทีเคยถูกมองว่าพรรครวมแผ่นดินเป็นพรรคเครือข่ายของพรรคพลังประชารัฐ เนื่องจาก พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา คณะกรรมการมูลนิธิป่ารอยต่อ อดีตหัวหน้าพรรครวมแผ่นดินนั้นถือว่าเป็นคนใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ นั่นเอง

ผศ.ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ได้วิเคราะห์ไว้ก่อนการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2568 ที่ผ่านมาไว้ว่า

“ในอดีตผลการเลือกตั้งระดับชาติจะมีผลต่อ นายก อบจ. แต่เมื่อปี 2566 พรรคก้าวไกลชนะอย่างถล่มทลาย ทำให้มีการคาดการณ์ว่าพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชน) จะชนะในการเลือกตั้ง อบจ.เชียงใหม่ด้วย เพราะได้คะแนนจากการเลือกตั้งระดับชาติถึง 7 ที่นั่ง แต่ผลการเลือกตั้งที่ออกมากลับไม่เป็นเช่นนั้น ผู้สมัครนายก อบจ.ในนามพรรคเพื่อไทยยังคงเอาชนะได้ แต่ด้วยคะแนนที่ไม่ขาดมากนัก ซึ่งตรงนี้หลายคนเชื่อว่าเป็นเพราะคะแนนเสียงนอกพื้นที่ไม่ถูกนับรวม”

ทั้งนี้ Lanner ได้ลงสำรวจพื้นที่ชุมชนในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อนการเลือกตั้ง อบจ. ได้พูดคุยกับประชาชนในหลายอาชีพที่ต่างสนับสนุนในหลากหลายพรรคการเมือง พบว่าประชาชนหลากคนต่างเชียร์ผู้สมัครผ่านพรรคที่ตนชอบ รวมไปถึงการสนับสนุนผ่านการทำงานในช่วงที่ผ่านมาเช่น กรณีของชาวบ้านในชุมชนรถไฟสามัคคี อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมา

“ป้าเลือกพรรคเพื่อไทยเพราะที่ผลงานที่ผ่านมาเขาก็พัฒนาดีอยู่  ให้การช่วยเหลือชาวบ้าน ส่วนพรรคสีส้มเขามีแต่อุดมการณ์” ป้าอี๊ด หญิงวัยชรา กล่าวไว้ก่อนจะมีการเลือกตั้ง 

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน อย่างไม่เป็นทางการ ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1  พันธุ์อาจ ชัยรัตน์  รวม 358,386 คะแนน หรือ 41.48 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 พิชัย เลิศพงศ์อดิศร  รวม 379,341 คะแนน  หรือ 43.91 %

ผู้สมัครหมายเลข 3 พนม ศรีเผือด รวม 26,940 คะแนน  หรือ 3.12 %

จะเห็นได้ว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้ พนมมีคะแนนรวมอยู่ที่ 26,940 คะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.1 ของผู้มาใช้สิทธิเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ทั้งหมด 877,752 คน 

สิ่งที่น่าสนใจคือ คะแนนของพนมในเกือบทุกเขตเลือกตั้งจะอยู่ที่หลักสิบถึงหลักพันต้นๆ เท่านั้น โดยเขตที่เขาได้คะแนนสูงสุด (เมื่อเทียบกับคะแนนในเขตอื่นๆ ของเขาเอง) ได้แก่ แม่แตงเขต 1 ที่ได้ 2,362 คะแนน ซึ่งโดยรวมแล้วคะแนนเหล่านี้ก็ยังไม่สามารถเทียบกับผู้สมัครอีก 2 คนจากพรรคประชาชนและพรรคเพื่อไทยได้เลย จึงอาจจะกล่าวได้ว่า ในการเลือกตั้งครั้งนี้พนมไม่ได้มีฐานเสียงอยู่ที่ใดที่หนึ่ง สะท้อนให้เห็นโจทย์สำคัญของกลุ่ม 2 ไม่เอา (ไม่เอาส้มไม่เอาแดง) ของจังหวัดเชียงใหม่ นั่นคือการ “หาที่ทาง”  ในเลือกตั้งครั้งต่อๆ ไป

อย่างไรก็ตาม ตัวเต็งในสนามนี้คือ เบอร์ 1 กับ เบอร์ 2 ซึ่งเป็นอดีตเจ้าของพื้นที่กับน้องใหม่ไฟแรงจากพรรคประชาชน ที่หลายคนมองว่าอาจจะล้มแชมป์เดิมได้ เพราะหากย้อนกลับไปเมื่อการเลือกตั้งระดับชาติปี 2566 จะเห็นได้ว่าพรรคก้าวไกล (พรรคประชาชนปัจจุบัน) สามารถกวาด สส.เขต ได้ถึง 7 ใน 10 ที่นั่ง ในเขตพื้นที่เชียงใหม่

ปรากฎการณ์หลังเลือกตั้ง

ภายหลังจากมีการประกาศผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการของการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงใหม่ออกมา เฟซบุ๊ก “พิชัย เลิศพงศ์อดิศร” ได้โพสต์ข้อความระบุว่า ทุกคะแนนเสียงคือพลังจาก ประชาชน !! ขอขอบคุณทุกคนที่ออกมาใช้สิทธิใช้เสียงนะครับ ขอขอบคุณทุกคะแนนเสียง ทั้ง 386,559 คะแนน  (อย่างไม่เป็นทางการ) จากพ่อแม่ พี่น้องชาวเชียงใหม่ ทุกท่านด้วยนะครับ ที่ให้การสนับสนุนและไว้วางใจ เลือกผม . .

“พิชัย เลิศพงศ์อดิศร เป็นนายก อบจ.เชียงใหม่ ในสมัยนี้ ผมจะทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น และทุ่มเทเพื่อพัฒนายกระดับคุณภาพชีวิตของพี่น้องชาวเชียงใหม่ทุกคน และขอสัญญาว่าจะทำงานอย่างเต็มที่เพื่อสร้างสรรค์ ความเจริญก้าวหน้าให้กับจังหวัดเชียงใหม่ในทุกๆ ด้าน ขอบคุณอีกครั้งสำหรับทุกการสนับสนุนครับ”ข้อความระบุ

ขณะที่อันดับ 2 พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ได้ออกมาโพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัวเช่นกัน โดยระบุว่า ขอบคุณทุกคน ทุกเสียง ทุกความหวัง หนทางและการเดินทางยังอีกยาวไกล นี่คือจุดเริ่มต้นใหม่ของ ท้องถิ่นประชาชน มาร่วมเปลี่ยนเชียงใหม่ สำหรับอนาคตใหม่ ก้าวใหม่ที่ไกลกว่า ของประชาชนอย่างแท้จริง กันครับ

เชียงราย “อทิตาธร” สู้ศึกนอกพรรคภูมิใจไทย ยืนหยัดชนะ “สลักจฤฏดิ์” ด้วยคะแนนห่างไม่ถึงหมื่น

– ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายครั้งล่าสุด อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 ลงสมัครในนามอิสระ และถูกมองว่าเป็นตัวแทนพรรคภูมิใจไทย และแชมป์เก่าของการเลือกตั้งครั้งเมื่อปี 2563  ได้รับคะแนนเสียงสูงสุดที่ 249,845 คะแนน (43.06%) เอาชนะ สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย ที่ได้คะแนน 230,262 คะแนน (39.69%) แม้ว่าสลักจฤฏดิ์จะได้รับการสนับสนุนจากทักษิณ ชินวัตรและมีฐานเสียงจากตระกูลติยะไพรัช แต่ก็ไม่สามารถชนะอทิตาธรได้ 

– ขณะที่ผู้สมัครหน้าใหม่หมายเลข 3  จิราพร หมื่นไชยวงศ์ ได้คะแนนเพียง 20,254 คะแนน (3.49%)

เมื่อวิเคราะห์ผู้สมัครนายก อบจ.เชียงรายแต่ละคน จะพบความน่าสนใจคือ ผู้สมัครหมายเลข 1 อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ หรือที่รู้จักในชื่อ “นายกนก” ซึ่งเป็นอดีตนายก อบจ. เชียงราย ที่ในครั้งนี้ได้ลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ เป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญในแวดวงการเมืองท้องถิ่นของจังหวัดเชียงราย โดยในการเลือกตั้งครั้งนี้เธอได้รับการสนับสนุนจากฐานเสียงที่แข็งแกร่งของตระกูลวันไชยธนวงศ์ ที่มีอิทธิพลในทิศตะวันออกของจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอำเภอเทิง ที่เป็นฐานเสียงสำคัญของครอบครัวนี้ อทิตาธร เกิดและเติบโตในครอบครัวการเมือง โดยสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ บิดาของเธอ เคยดำรงตำแหน่ง ส.ส.เชียงรายหลายสมัย การเมืองของครอบครัววันไชยธนวงศ์ได้สั่งสมอำนาจและฐานเสียงที่มั่นคง โดยในช่วงที่ผ่านมา อทิตาธรเคยดำรงตำแหน่งนายก อบจ.เชียงราย และได้ชู 7 นโยบายหลัก ไม่ว่าจะเป็นการกระจายเครื่องจักรกลและบุคลากรสู่ชุมชน ส่งเสริมการเรียนรู้ กระจายสินค้า ส่งเสริมท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ ตลอดจนศูนย์เศรษฐกิจสร้างสรรค์ สร้างเชียงรายแบรนด์ สู่ตลาดโลก

ในส่วนของ ผู้สมัครหมายเลข 2 สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ที่ลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย  คู่สมรสของเธอคือ ยงยุทธ ติยะไพรัช  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในรัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร ตระกูลติยะไพรัช เป็นตระกูลบ้านใหญ่ที่มีอิทธิพลในจังหวัดเชียงราย โดยเฉพาะในเขตอำเภอแม่จัน ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีฐานเสียงสำคัญของครอบครัวนี้ ในครอบครัวติยะไพรัชยังมีบุคคลสำคัญทางการเมืองที่มีบทบาทเด่นในสภาผู้แทนราษฎรหลายท่าน เช่น ละออง ติยะไพรัช อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) พรรคเพื่อไทย หลายสมัย และ ปิยะรัฐชย์ ติยะไพรัช ส.ส.เชียงราย เขต 2 ในปัจจุบัน ทั้งนี้ สลักจฤฏดิ์ ได้ชูนโยบายรถไฟสร้างเมือง เป็นนโยบายการพัฒนาพื้นที่เชื่อมต่อสถานีรถไฟทั้ง 11 แห่งใน 7 อำเภอของจังหวัดเชียงราย ให้กลายเป็น “พื้นที่เศรษฐกิจชุมชน ที่สร้างความเจริญแก่ท้องถิ่น ด้วยการออกแบบพื้นที่โดยรอบสถานีรถไฟให้มีบทบาทมากกว่าการเป็นจุดพักผู้โดยสาร แต่ยังเป็นจุดเชื่อมโยงเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และศูนย์กลางการพัฒนาอย่างยั่งยืนทำเชียงรายให้เป็นเมืองหลวงชากาแฟของโลกและเมืองกีฬาระดับโลก

ด้านผู้สมัครหมายเลข 3 จิราพร หมื่นไชยวงศ์ ที่ลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ ถือเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ที่ยังไม่มีเครือข่ายทางการเมืองมากนัก

ก่อนหน้าการเลือกตั้ง Lanner ได้สัมภาษณ์ ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์ คณะรัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ถึงพื้นที่การเลือกตั้งในจังหวัดเชียงราย ซึ่งการเลือกตั้งครั้งนี้มีความพิเศษเนื่องจากพื้นที่การเมืองในจังหวัดเชียงรายนั้นมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว อำนาจทางการเมืองไม่รวมศูนย์ในตระกูลใดตระกูลหนึ่ง แต่กระจายไปใน 4 ตระกูลใหญ่ ได้แก่ ตระกูลจงสุทธานามณี, ตระกูลติยะไพรัช, ตระกูลวันไชยธนวงศ์, และ ตระกูลเตชะธีราวัฒน์ ซึ่งแต่ละตระกูลต่างมีอิทธิพลในพื้นที่ของตนเอง 

“ย้อนกลับการเลือกตั้งในปี 2563 เป็นครั้งแรกที่พรรคเพื่อไทยประกาศจะส่งผู้สมัครนายก อบจ. อย่างเป็นทางการ และเชียงรายก็เป็นหนึ่งในจังหวัดที่พรรคเลือกส่งผู้สมัคร การตัดสินใจของพรรคเพื่อไทยในการส่งผู้สมัครนายก อบจ.เป็นที่สนใจเมื่อพรรคเลือกส่งตระกูลเตชะธีราวัฒน์ โดยเฉพาะ วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ หรือ “คุณยิ้ม” ทำให้เกิดการแข่งขันภายในพรรค เนื่องจากผู้ที่เคยตั้งใจจะลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทยอีกคนหนึ่ง คือ อธิตาธร วันชัยธนวงศ์ หรือ “นายกนก” ถูกตัดสินใจไม่ให้เป็นตัวแทนพรรค ส่งผลให้เขาตัดสินใจลงสมัครในนามอิสระ แม้จะมีบางส่วนมองว่าเขาถูกมองว่าเป็นตัวแทนของภูมิใจไทย”ดร.ณัฐกร วิทิตานนท์กล่าว

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงราย ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1 อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ รวม  249,845  คะแนน หรือ 43.06 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช รวม 230,262 คะแนน หรือ 39.69 %

ผู้สมัครหมายเลข 3 จิราพร หมื่นไชยวงศ์ รวม 20,254 คะแนน หรือ 3.49 %

ปรากฎการณ์หลังเลือกตั้ง

ธวัชชัย ดวงนภา ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น เชียงรายสนทนา มองปรากฏการณ์หลังการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เชียงราย ที่ผ่านมาว่าถือเป็นเรื่องที่น่าสนใจและสามารถแบ่งออกได้เป็นสองส่วนใหญ่ๆ ในมุมมองของคนท้องถิ่น โดยส่วนแรกคือการที่ อธิตาธร วันชัยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ. ได้ทำงานอย่างหนักในช่วงที่ดำรงตำแหน่งโดยมีการลงพื้นที่ในหลายๆ ชุมชนและสร้างการรับรู้จากผลงานที่ทำ ทำให้คนในพื้นที่หลายคนมีมุมมองที่ดีต่อการทำงานของเขา เช่นเดียวกับ ในช่วงน้ำท่วมรอบแรกที่เขาลงพื้นที่ทำงานในภาคสนามอย่างจริงจัง ซึ่งทำให้เธอได้รับการยอมรับจากประชาชน ถึงแม้ว่าจะมีการวิจารณ์จากบางฝ่ายที่พยายามเข้ามาแข่งขันกับเขาในสนามการเมืองแต่ก็ไม่สามารถทำลายฐานเสียงของเธอได้อย่างชัดเจน ขณะที่บางพื้นที่ เช่น อำเภอแม่สาย ก็เห็นผลการเลือกตั้งที่ค่อนข้างสูสีกันแม้เธอจะไม่ได้รับชัยชนะในพื้นที่ดังกล่าว

ส่วนที่สองคือประเด็นคดีการเมืองที่เกี่ยวข้องกับการจับเงินที่อ้างว่าเป็นการซื้อเสียง ซึ่งแม้จะไม่มีคดีโดยตรงกับ อธิตาธร แต่มีการตั้งคำถามถึงความโปร่งใสในการเลือกตั้ง รวมถึงภาพเหตุการณ์การซื้อเสียงทั้ง 2 กรณี ที่หลุดออกมา เกิดขึ้นในอำเภอพาน ทำให้เกิดความสงสัยและมีการฟ้องร้องโดย วิสาร เตชะธีราวัฒน์ ซึ่งเป็นตระกูลบ้านใหญ่อีกบ้านหนึ่งในจังหวัดเชียงราย ทั้งนี้การโพสต์ของ อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เกี่ยวกับเหตุการณ์นี้ ทำให้มีการจับตาในพื้นที่ โดยมีความเชื่อมโยงกับบ้านใหญ่ เตชะธีราวัฒน์ ซึ่งสร้างคำถามว่าอาจจะนำไปสู่การเลือกตั้งใหม่หรือไม่ ยังต้องรอติดตามการสอบสวนจาก กกต. ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป

“การลงสมัครรับเลือกตั้งของ อธิตาธร ในฐานะผู้สมัครอิสระนั้น สิ่งที่สะท้อนจากเหตุการณ์นี้คือการเชื่อมโยงกับพรรคภูมิใจไทย โดยเฉพาะความสัมพันธ์ที่อาจจะมาจาก สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ หรือ “เสี่ยโป้ย” ซึ่งเป็นอดีตปาร์ตี้ลิสต์ อันดับที่ 13 ของพรรคภูมิใจไทย ในอดีต และคนในเครือญาติของเขามีบทบาทในพรรคนี้ เช่น รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ เลขาธิการของ อนุทิน ชาญวีรกุล ถึงแม้ว่าอธิตาธรจะลงสมัครในฐานะอิสระและมีการบอกว่าไม่มีความเกี่ยวข้องกับพรรคภูมิใจไทย แต่ภาพที่ปรากฏกลับทำให้เกิดการเชื่อมโยงกับพรรคนี้ เนื่องจากมีบุคคลในครอบครัวและในเครือญาติที่เคยมีบทบาทในพรรค และอนุทินเองก็เป็นรัฐมนตรีในกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำให้เกิดคำถามว่าในวงจรการเมืองภายในพรรคภูมิใจไทยอาจมีการประสานงานหรือไม่แม้ว่าโดยทางการจะบอกว่าเป็นอิสระก็ตาม”

เมื่อเราดูฐานคะแนนเสียงในพื้นที่ต่างๆ ในจังหวัดโดย เฉพาะในอำเภอแม่จัน ซึ่งเป็นฐานเสียงของ สลักจฤฏดิ์ ติยะไพรัช แต่กลับโดนล้วงคะแนนไปได้ ทำให้เห็นว่าแต่ละคนก็มีฐานเสียงที่ต่างกันออกไป สิ่งที่ทำให้คะแนนมีการขยับในระยะหลังคือกลุ่มคนที่ตัดสินใจเลือกซึ่งอาจจะเป็นผู้สนับสนุนจากพรรคประชาชนที่เป็นกลุ่มที่อาจจะไม่เลือกเพื่อไทยเลย และหากไม่เลือก อธิตาธร ก็จะทำให้ สลักจฤฏดิ์  ได้รับคะแนนและเชียงรายจะตกอยู่ในสภาวะที่เป็นบ้านใหญ่เต็มรูปแบบ 

ซึ่งพื้นที่นี้เป็นจังหวัดที่มีการแข่งขันทางการเมืองอย่างใกล้ชิดระหว่างพรรคต่างๆ แม้คะแนนจะสูสีมากแต่การขยับในระดับ 20,000-30,000 คะแนนนั้น น่าจะมีผลจากการตัดสินใจของกลุ่มผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล หรือ พรรคประชาชนที่ตัดสินใจเลือกโดยไม่ต้องการเลือกพรรคเพื่อไทย นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยจากการที่เกิดการฟ้องร้องในคดี ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเลือกตั้งใหม่หรือไม่ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ กกต. ที่ต้องรอดูผลการตัดสินอีกที

แม่ฮ่องสอน  “อัครเดช” ครองเก้าอี้นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ต่อเนื่อง 

– ภาพรวมการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอนสะท้อนความสัมพันธ์ส่วนบุคคลที่ยังมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมือง โดยความคิดเห็นของนักวิชาการอย่าง ทรงศักดิ์ ปัญญา ชี้ว่า ความสัมพันธ์ในเชิงอุปถัมภ์และผลประโยชน์ยังเป็นส่วนสำคัญในการเมืองท้องถิ่นมากกว่าการตัดสินใจตามหลักการนโยบายพรรค ซึ่งเป็นผลมาจากการพัฒนาในจังหวัดที่ยังจำกัดและความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมในพื้นที่ ดังนั้น การเมืองในแม่ฮ่องสอนจึงมักเชื่อมโยงกับบุคคลที่มีอำนาจในพื้นที่มากกว่านโยบายพรรค

ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 จังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผู้ลงสมัคร 2 คน ได้แก่  ผู้สมัครหมายเลข 1 อัครเดช วันไชยธนวงศ์ อดีตนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ที่ลงสมัครในนามกลุ่มพลังแม่ฮ่องสอน และได้รับการสนับสนุนจาก ปกรณ์ จีนาคำ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 1 พรรคกล้าธรรม และ ปัญญา จีนาคำ อดีต สส.แม่ฮ่องสอน พรรคพลังประชารัฐ และผู้สมัครหมายเลข 2 ดนุภัทร์ เชียงชุม จากพรรคประชาชน ที่ลงสมัครในนามกลุ่มพลังแม่ฮ่องสอน และได้รับการสนับสนุนจาก เลาฟั้ง บัณฑิตเทอดสกุล สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน , สมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์, สมบูรณ์ ไพรวัลย์ อดีต สส.แม่ฮ่องสอน พรรคไทยรักไทย, จำลอง รุ่งเรือง อดีตสส.แม่ฮ่องสอน พรรคกิจสังคม และ สุรสิทธิ์ ตรีทอง อดีตสมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นผู้เชี่ยวชาญประจำตัวของ สมบัติ ยะสินธุ์  สส.เขต 2 จังหวัดแม่ฮ่องสอน พรรคประชาธิปัตย์ มาอย่างยาวนาน 

Lanner พูดคุยกับ ทรงศักดิ์ ปัญญา อาจารย์ประจำสาขาการปกครองท้องถิ่น  วิทยาลัยชุมชนแม่ฮ่องสอน เพื่อฉายภาพการเมืองท้องถิ่นในจังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนถึงวันเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่อนสอน 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมาว่า การเมืองแม่ฮ่องสอนมีความสัมพันธ์ส่วนบุคคลเหนือพรรคการเมือง ส่วนหนึ่งของลักษณะนี้เกิดจากสภาพสังคมที่ยังมีแนวคิดในเชิงอุปถัมภ์ (Patronage) ค่อนข้างมาก ซึ่งหมายความว่าการเมืองของแม่ฮ่องสอนยังคงมีความผูกพันกับการให้ผลประโยชน์ การเจรจาต่อรองระหว่างกลุ่มต่างๆ มากกว่าการตัดสินใจโดยหลักการทางพรรคการเมืองหรือประเด็นนโยบายอย่างชัดเจน สาเหตุหนึ่งที่ทำให้แม่ฮ่องสอนมีลักษณะเช่นนี้คือการขาดโอกาสในการพัฒนาในหลายด้าน ทั้งในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การเข้าถึงน้ำ ไฟฟ้า ถนน ที่ยังไม่ดีเท่ากับจังหวัดอื่นในภาคเหนือ และยังต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ เช่น กฎหมายเรื่องป่าชุมชน ที่มักทำให้ชาวบ้านที่พึ่งพิงการใช้ประโยชน์จากป่า เช่น การทำการเกษตร การเลี้ยงสัตว์ หรือการเก็บผลผลิตจากป่า  ต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการใช้พื้นที่เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของตัวเอง ทำให้การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในพื้นที่ ไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มที่ 

นอกจากนี้แม่ฮ่องสอนยังถือเป็นจังหวัดที่ได้รับการพัฒนาอย่างจำกัดเมื่อเทียบกับจังหวัดอื่นในภูมิภาค ทำให้มีปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคมที่ซ่อนอยู่ในเบื้องหลังของภาพลักษณ์ที่ดูเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีเสน่ห์ ซึ่งในความเป็นจริง คนในพื้นที่ต้องเผชิญกับความท้าทายและข้อจำกัดที่ไม่สามารถพัฒนาได้ตามที่ควร สิ่งนี้ทำให้การเมืองในแม่ฮ่องสอนยังคงยึดโยงกับตัวบุคคลและผู้มีอำนาจท้องถิ่น ที่สามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ยังส่งผลให้การพัฒนาการเมืองในท้องถิ่นขยับช้ากว่าจังหวัดอื่นๆ ทำให้การเมืองแม่ฮ่องสอนยังคงอยู่ในวงจรที่สัมพันธ์กับบุคคลและไม่ค่อยมีการพัฒนาในเชิงพรรคการเมืองหรือประเด็นนโยบายเท่าที่ควร

“ในจังหวัดแม่ฮ่องสอนมีผู้สมัครนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) จำนวน 2 คน ซึ่งทั้งสองมีลักษณะการเติบโตในสายทางการเมืองที่ค่อนข้างใกล้เคียงกัน โดยเริ่มต้นจากการร่วมงานกับพรรคการเมืองในสายเดียวกัน เมื่อย้อนกลับไปจะเห็นว่าทั้งสองมีพื้นฐานทางการเมืองจากพรรคประชาธิปัตย์ โดยผู้สมัครทั้ง 2 ยังมีความสัมพันธ์อันดีต่อกัน ทำให้มุมมองทางการเมืองของทั้งสองคนไม่ได้ต่างขั้วกันมากนัก หากมองในแง่ของการเมืองในระดับท้องถิ่น ยังมีความเชื่อมโยงในเรื่องของการเมืองส่วนบุคคลมากกว่าในเชิงนโยบายพรรคการเมือง ซึ่งถือเป็นจุดเชื่อมโยงหลักระหว่างพวกเขา”ทรงศักดิ์กล่าว

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.แม่ฮ่องสอน ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1 อัครเดช วันไชยธนวงศ์  รวม 71,652  คะแนน หรือ 59.88 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 ดนุภัทร์ เชียงชุม รวม 26,481 คะแนน หรือ 22.14 %

จะเห็นได้ว่า ผู้สมัครหมายเลข 1 อัครเดช วันไชยธนวงศ์ จากกลุ่มดีต่อเนื่อง ซึ่งเป็นแชมป์เก่าสามารถครองเก้าอี้เดิมไว้ได้จากผลคะแนนสูงถึง 71,652 คะแนน ขณะที่ผู้สมัครหมายเลข 2 ดนุภัทร์ เชียงชุม จากกลุ่มพลังใหม่แม่ฮ่องสอน ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายแชมป์เก่านั้นยังไม่สามารถล้มแชมป์ได้

ปรากฎการณ์หลังเลือกตั้ง

สร้อยแก้ว คำมาลา สื่อมวลชนท้องถิ่น กล่าวถึงปรากฎการเลือกตั้งท้องถิ่นในแม่ฮ่องสอนว่า ล่าสุดยังคงเป็นการสานต่อของนายกคนเดิมคือ อัครเดช วันไชยธนะวงศ์ ซึ่งได้เริ่มทำงานตั้งแต่ปี 2550 และดำรงตำแหน่งมายาวนาน 18 ปี สิ่งที่น่าสนใจก็คือเขาคือคนในตระกูลเดียวกับคนที่ชนะ นายก อบจ.เชียงราย อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ซึ่งพื้นเพหรือรากเหง้ายังไม่ใช่คนแม่ฮ่องสอนแท้ๆ

สำหรับในมิติประชาชนเท่าที่สังเกตดูจะเห็นว่าหลายคนอาจไม่เข้าใจบทบาทของ อบจ. ว่ามีหน้าที่อะไร แม้ว่าทุกคนจะคุ้นเคยกับการเลือกตั้ง ส.ส. แต่การเมืองท้องถิ่นยังคงเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจจากประชาชนทั่วไปน้อยกว่าทั้งที่ อปท.หรือการปกครองท้องถิ่นมีความสำคัญมากสำหรับประชาชนในพื้นที่ แต่ปีนี้การที่พรรคการเมืองเริ่มมีบทบาทมากขึ้นในการเมืองท้องถิ่น ช่วยกระตุ้นให้คนเริ่มตื่นตัวมากขึ้น แต่เราก็จะเห็นความคึกคักนั้นเป็นได้บางจังหวัดเช่นเชียงรายหรือเชียงใหม่ที่จะมีเวทีปราศรัยหาเสียงและการโชว์นโยบายในขณะที่จังหวัดเล็กๆ อย่างแม่ฮ่องสอนการหาเสียงจะเป็นลักษณะการฝากเนื้อฝากตัวช่วยเลือกเบอร์นั้นเบอร์นี้แต่จะเห็นการโชว์นโยบายค่อนข้างน้อยซึ่งถ้าหากใครอยากรู้ว่าผู้สมัครแต่ละท่านมีนโยบายอย่างไรก็จะเข้าไปดูใน facebook หรือช่องทางการสื่อสารทางออนไลน์ แต่เวทีปราศรัยจะยังไม่เห็น

แต่อย่างน้อยโดยรวมแล้วการเลือกตั้งอบจ. ครั้งนี้ก็ถือว่ามีมิติใหม่ๆเกิดขึ้นหลายด้าน ที่สำคัญช่วยกระตุ้นให้ประชาชนสนใจการเมืองท้องถิ่นมากขึ้นซึ่งในอนาคตจะทำให้ภาคประชาชนหันมาสนใจตรวจสอบและตระหนักในสิทธิของประชาชนท้องถิ่นมากยิ่งขึ้น

“ปัญหาหนึ่งที่พบในหลายพื้นที่คือการคอร์รัปชั่นภายในองค์กรปกครองท้องถิ่น ที่อาจเกิดขึ้นได้เมื่อขาดการตรวจสอบจากประชาชนในท้องถิ่นนั้น  เช่นกรณีของ อบต.แห่งหนึ่งของแม่ฮ่องสอน ที่มีการยักยอกเงินไปกว่า 26 ล้าน จนปปช. ลงมาตรวจสอบ  ซึ่งเรื่องนี้ ชาวบ้านเป็นเจ้าของเงินภาษีนั้น เขาต้องออกมาส่งเสียงมากกว่านี้ แต่เท่าที่เห็นคือชาวบ้านจะไม่รู้สึกว่านี่คือ สิทธิของเขานะ  เงินของเขานะ  ดังนั้น  การสร้างการเรียนรู้ให้กับชาวบ้านในท้องถิ่นยังเป็นเรื่องสำคัญเพื่อให้งบประมาณการปกครองท้องถิ่นเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมท้องถิ่นนั้นอย่างแท้จริง

การตื่นตัวของชาวบ้านในการเลือกตั้งท้องถิ่นครั้งนี้อาจช่วยลดปัญหานี้ได้ในอนาคต  โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมของชนชั้นกลางและกลุ่มปัญญาชนในท้องถิ่น ซึ่งปัจจุบันนี้ฐานของคนกลุ่มนี้กำลังขยายตัวมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมากๆ สำหรับจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่คนรุ่นใหม่จะได้เข้ามาผลักดันและพัฒนาจังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อคุณภาพชีวิตของคนแม่ฮ่องสอนอย่างแท้จริง” สร้อยแก้ว คำมาลา กล่าว

ลำพูน “วีระเดช” พรรคประชาชน เลื่อยเก้าอี้อดีตนายกฯ “อนุสรณ์” พรรคเพื่อไทย หลังเฉือนเอาชนะ 5,967 คะแนน

– ก่อนการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำพูน 1 ก.พ. 2568 รศ.ดร.ณัฏฐ์ดนัย ประเทืองบริบูรณ์ วิเคราะห์การแข่งขันระหว่าง อนุสรณ์ วงศ์วรรณ จากพรรคเพื่อไทย และ วีระเดช ภู่พิสิฐ จากพรรคประชาชน โดยมีปัจจัยสำคัญคือการเลือกตั้งท้องถิ่นที่คนเลือกจากตัวบุคคลมากกว่ากระแสพรรค แม้กระแสพรรคประชาชนจะมีความนิยมเพิ่มขึ้น แต่ต้องจับตาดูการเปลี่ยนใจของกลุ่มผู้มีอิทธิพลและการเคลื่อนไหวทางการเมืองในพื้นที่ ว่า อนุสรณ์ จะรักษาเก้าอี้ได้หรือไม่ 

– ปรากฎว่าน้องใหม่อย่าง  วีระเดช  1 เดียวใน 17 ผู้ท้าชิงเก้าอี้นายก อบจ.ทั่วประเทศในนามพรรคประชาชนที่สามารถชิงเก้าอี้มาครองได้สำเร็จ 

เมื่อวิเคราะห์การเลือกตั้งนายก อบจ.ลำพูน จะพบความน่าสนใจว่า ผู้สมัครหมายเลข 1 วีระเดช ภู่พิสิฐ หรือที่รู้จักกันในชื่อเล่นว่า “เฮง” จากพรรคประชาชน ที่ปัจจุบันดำรงตำแหน่งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นนักธุรกิจและบุตรของ ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และอดีตประธานหอการค้าจังหวัดลำพูน นอกจากนั้นยังเป็นญาติกับ ชัยณรงค์ ภู่พิสิฐ อดีตรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และอดีตผู้สมัคร ส.ส.ลำพูน พรรคไทยสร้างไท เส้นทางการเมืองของเขาเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2568 ซึ่งวีระเดชลงสมัครรับเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน เป็นครั้งแรก โดยแข่งขันกับผู้สมัครหมายเลข 2  อนุสรณ์ วงศ์วรรณ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “เสี่ยโอน” ซึ่งลงสมัครในนามพรรคเพื่อไทย เป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ในรัฐบาล สมชาย วงศ์สวัสดิ์ นอกจากนั้นยังเป็นอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม ในรัฐบาลสมัคร สุนทรเวช และอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดลำพูน สังกัดพรรคพลังประชาชน ในปี พ.ศ. 2563 อีกด้วย ถือเป็นการชิงชัยที่น่าจับตามองระหว่างผู้สมัครจากสองพรรคใหญ่คือ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน 

Lanner สัมภาษณ์ รศ.ดร.ณัฏฐ์ดนัย ประเทืองบริบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ถึงสถานการณ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อบจ.ลำพูน ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่เป็นการต่อสู้กันของผู้สมัคร นายกฯ จากพรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน รวมไปถึงการเลือกตั้ง นายก อบจ. สมัยที่แล้วที่อาจจะส่งผลต่อคะแนนเสียงในกาเลือกตั้งฯ เผยว่า การเมืองท้องถิ่นในจังหวัดลำพูน มีความน่าสนใจเนื่องจากเป็นการแข่งขันที่ชัดเจนระหว่าง อนุสรณ์ วงศ์วรรณ จากพรรคเพื่อไทย กับ วีระเดช ภู่พิสิฐ จากพรรคประชาชน โดยมีผู้สมัครเพียง 2 หมายเลขหลัก ที่เข้าชิงชัยในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) โดยในการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งที่แล้ว อนุสรณ์ วงศ์วรรณ อดีตนายกฯ ได้รับคะแนนเสียงประมาณ แสนต้นๆ ขณะที่คู่แข่งหมายเลข 2 และ 3 ที่หากนำคะแนนมารวมกันพบว่ามีคะแนนสูสีกับอนุสรณ์ ซึ่งทำให้การเลือกตั้งรอบนี้น่าจับตามองเป็นพิเศษ เนื่องจากตำแหน่งนายก อบจ.ลำพูน มีการสับเปลี่ยนทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเกิดขึ้น

แม้ว่าผลคะแนนของผู้สมัครที่เคยลงแข่งขันก่อนหน้านี้จะสูสี แต่แนวโน้มของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในลำพูนยังคง โน้มเอียงไปทางพรรคเพื่อไทยหากพิจารณาจากประวัติการเลือกตั้งที่ผ่านมาหนึ่งปัจจัยสำคัญคือ สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (สจ.) ซึ่งเป็นกำลังหลักในการหาเสียงและขับเคลื่อนคะแนนนิยมให้กับผู้สมัครนายก อบจ. ในพื้นที่ โดย สจ. เดิมของจังหวัดลำพูนหลายเขตยังคงมีบทบาทสำคัญแม้บางพื้นที่จะมีการเปลี่ยนตัวผู้สมัครแต่ส่วนใหญ่ยังคงอยู่ภายใต้พรรคการเมืองเดิม นอกจากนี้ ยังมีการ สลับตำแหน่งระหว่างผู้สมัคร บางรายที่เคยเป็นนายกเทศบาลลงสมัคร สจ. แทน หรืออดีต สจ. ลงสมัครเป็นนายกเทศบาล ซึ่งเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการรักษาฐานเสียงและอำนาจทางการเมืองของพรรคในระดับท้องถิ่น

ประชาชนชาวลำพูนยังคงเลือกจากตัวบุคคลมากกว่ากระแสพรรค สิ่งที่น่าสนใจคือการเปลี่ยนแปลงของแนวโน้มผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งในลำพูน โดยจังหวัดลำพูนมีประชากรประมาณ 400,000 กว่าคน ขณะที่ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ที่ ประมาณ 300,000 คน ซึ่งจากการคาดการณ์ก็น่าจะมีคนออกมาใช้สิทธิเลือกตั้ง อบจ. จริงประมาณ 200,000 – 250,000 คน ซึ่งปัจจัยสำคัญที่ต้องจับตาคือ การเปลี่ยนใจของประชาชนกลุ่มเดิม ซึ่งในครั้งนี้มีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มผู้มีอิทธิพลทางการเมืองบางส่วนที่ไม่ได้ลงสมัครเลือกตั้ง ซึ่งอาจส่งผลต่อคะแนนเสียงของผู้สมัครหลัก โดยเฉพาะ อนุสรณ์ อดีตนายก อบจ. ที่ต้องลุ้นว่าจะสามารถรักษาเก้าอี้ของตนเองได้หรือไม่

“สิ่งที่เห็นได้ชัดคือ จังหวัดลำพูนมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองมากกว่าลำปาง โดยมีประชาชนจำนวนมากหันมาให้ความนิยมกับพรรคประชาชนมากขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากระแสพรรคการเมืองระดับประเทศจะส่งผลบ้าง แต่ในการเลือกตั้งท้องถิ่นประชาชนยังคงเลือกจาก ตัวบุคคล มากกว่ากระแสพรรค แต่ในอดีต จังหวัดลำพูนเคยมีตัวแทนจากหลายพรรคการเมือง เช่น พรรคประชาธิปัตย์ ที่เคยมี สส. ในพื้นที่ แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มว่าความนิยมของพรรคประชาชนกำลังเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในคะแนนเสียงของการเลือกตั้งครั้งนี้” รศ.ดร.ณัฏฐ์ดนัยกล่าว

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำพูน ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1 วีระเดช ภู่พิสิฐ รวม 109,372 คะแนน หรือ 45.13 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 อนุสรณ์ วงศ์วรรณ รวม 103,405 คะแนน หรือ  42.66 %

จะเห็นได้ว่าวีระเดชเป็นผู้เล่นหน้าใหม่ที่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้จากคะแนนรวม 109,372 คะแนน ถือเป็นชัยชนะครั้งสำคัญของพรรคประชาชนในจังหวัดลำพูน ขณะที่อนุสรณ์นั้นพ่ายให้กับน้องใหม่ด้วยคะแนนห่างกันเพียง 5,967 คะแนน

ปรากฎการณ์หลังการเลือกตั้ง 

หลังจากทราบผลการเลือกตั้ง วีระเดชได้โพสต์ข้อความขอบคุณพี่น้องชาวลำพูนผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว โดยระบุว่า “ชัยชนะครั้งนี้ ไม่ใช่ชัยชนะของผมเพียงคนเดียว แต่เป็นชัยชนะของคนลำพูนที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง”

นายกฯ เฮง” ประกาศผ่าน Facebook โดยมีข้อความระบุว่า พี่น้องประชาชนที่เคารพรักทุกท่าน ผมได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันแรก แล้ว ถึงแม้นว่าจะไม่ได้รับรองจาก กกต. ตื่นเช้ามา ผมเดินทางมาแถลงข่าวที่สำนักงานใหญ่พรรคประชาชน กรุงเทพฯ ผมได้รับการประสานจากกลุ่มนักท่องเที่ยวที่มีอุดมการณ์เดียวกันว่า วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 68 จะเดินทางมาเที่ยวจังหวัดลำพูน ร่วมแสดงความยินดีกับพี่น้องจังหวัดลำพูน ที่เป็นจังหวัด 1 เดียวในประเทศไทย ที่ได้รับเลือกในนาม พรรคประชาชน โดยจะมีนักท่องเที่ยวจากภูเก็ตและอีกหลายจังหวัดเดินทางจากจุดนัดพบสนามหลวง 1 คัน รถบัส และจะประชาสัมพันธ์ ให้นักท่องเที่ยวในจังหวัดต่างๆเดินทางไปเที่ยวจังหวัดลำพูน โดยมีจุดนัดพบที่ลำพูน ให้ทีมงานลำพูนแนะนำพาเที่ยวสถานที่ท่องเที่ยวในลำพูน พร้อมกับประสานโรงแรมที่พักให้

“นอกจากนั้น มีกลุ่มที่ทำเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ประสานมาจะมาถ่ายทำแนะนำสถานที่ ท่องเที่ยวในลำพูนให้ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย เพียงแต่ขอให้ทีมงานผมเป็นผู้นำทาง  ผมรู้สึกดีใจมากที่ผมได้เริ่มทำงานตั้งแต่วันแรก ตามที่ผมสัญญากับพี่น้องประชาชนไว้ ถึงแม้นว่าจะเป็นการสร้างรายได้ไม่มาก แต่ก็เป็นสัญญานของการเริ่มต้นที่ดี ขอบคุณทุกภาคส่วนที่ให้โอกาสผมในการทำให้ลำพูนดีกว่าเดิมได้” 

ลำปาง “ตวงรัตน์” พรรคเพื่อไทย ชนะเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปาง สมัยที่สอง ทิ้งห่างคู่แข่ง ดาชัย เอกปฐพี 

– ผลการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ปรากฏว่า ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ.ลำปาง จากพรรคเพื่อไทย ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ โดยได้รับคะแนนเสียงถึง 196,842 คะแนน (51.6%) ขึ้นแท่นอีกครั้งในตำแหน่งนายก อบจ.ลำปางเป็นสมัยที่สอง 

– ทิ้งห่างคู่แข่งสำคัญ ดาชัย เอกปฐพี ผู้สมัครอิสระ ที่ได้รับ 103,802 คะแนน (27.22%) ตามมาด้วย อธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ และ ดร.ปกิตตา ตั้งชนินทร์ ผู้สมัครอิสระอีกสองคน แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะมีการแข่งขันจากหลายฝ่าย แต่ตวงรัตน์ยังคงรักษาฐานเสียงและเป็นตัวเต็งในพื้นที่ลำปาง

เมื่อมาวิเคราะห์ผู้สมัครในสนามเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปาง ครั้งนี้ ทำให้เห็นว่า ผู้สมัครหมายเลข 1 ดาชัย เอกปฐพี ที่ลงสมัครในฐานะผู้สมัครอิสระ ซึ่งเป็นอดีต สส.ลำปาง พรรคพลังประชารัฐ ซึ่งดาชัยถือเป็นนักการเมืองที่มีประสบการณ์ยาวนานในจังหวัดลำปาง โดยได้เริ่มต้นเส้นทางการเมืองตั้งแต่ปี 2555 ในตำแหน่งสมาชิกสภาจังหวัดลำปาง จากนั้นได้ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลำปาง เขต 3 สังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยนโยบายหลักของนายดาชัยในการเลือกตั้งครั้งนี้ คือการสนับสนุนงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุ การจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้สูงอายุ 2 ล้านบาทในทุกอำเภอ และการสร้างศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ ยังมีนโยบายสนับสนุนการศึกษาและการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ แม้ว่าในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมาเขาจะไม่ได้รับชัยชนะ แต่ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญในวงการการเมืองของจังหวัดลำปาง

ด้านผู้สมัครหมายเลข 2 ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ตัวเต็งจากพรรคเพื่อไทย อดีตนายก อบจ.ลำปาง เป็นบุตรสาวคนโตของ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ลำปาง หลายสมัย ตวงรัตน์ได้เข้าสู่วงการการเมืองจากการลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อ สังกัดพรรคเพื่อไทย และได้รับเลือกตั้งสำเร็จ ต่อมา ในปี 2563 ตวงรัตน์ก็ได้รับเลือกตั้งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง (อบจ.ลำปาง) ด้วยคะแนนเสียง 220,284 คะแนน แต่แล้วในเดือนธันวาคม ปี 2567 ที่ผ่านมา ตวงรัตน์ก็ได้ยื่นหนังสือลาออกจากตำแหน่งนายก อบจ.ลำปาง และได้ลงสมัครรับเลือกตั้งอีกครั้ง ในนามพรรคเพื่อไทย โดยมีนโยบายหลักในการพัฒนาจังหวัดลำปาง ได้แก่ การส่งเสริมการศึกษา การพัฒนาสาธารณสุข และการสร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนในพื้นที่

ขณะที่ ผู้สมัครหมายเลข 3 อธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ ในนามผู้สมัครอิสระ ซึ่งทำงานด้านกฎหมาย โดยมีสำนักงานกฎหมายอยู่ที่กรุงเทพฯ และเป็นที่ปรึกษาทางกฎหมายให้กับบริษัทหลายแห่ง ในส่วนของบทบาททางการเมืองและสังคม เขาได้ทำงานอยู่เบื้องหลังกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองต่างๆ มาโดยตลอด 

ในส่วนของ ผู้สมัครหมายเลข  4 ดร.ปกิตตา ตั้งชนินทร์ ในนามผู้สมัครอิสระ หมายเลข 4 หรือ “ดร.อุ๋ย” เธอเป็นผู้สมัครหน้าใหม่ ที่เปิดสำนักงานเกี่ยวกับกฎหมาย เป็นผู้สมัครหญิงที่หวังจะชิงตำแหน่งกับอดีตนายก อบจ.ลำปาง ซึ่งก่อนหน้านี้เธอถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งประจำ อบจ.ลำปาง ประกาศ ไม่รับสมัคร ตามหนังสือ ผ.ถ.4/4 โดยผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำ อบจ.ลำปาง ลงวันที่ 3 มกราคม 2568 ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ปกิตตา ได้ยื่นเอกสารและเข้าชี้แจงกับทางผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดลำปาง เพื่อขออุธรณ์ไปยัง กกต.กลาง ให้ช่วยพิจารณาและเป็นผู้ชี้ขาด โดยผู้สมัครให้เหตุผลว่ามีคุณสมัติพร้อมที่จะลงสมัครรับเลือกตั้งในครั้งนี้ 

Lanner สัมภาษณ์ รศ.ดร.ณัฏฐ์ดนัย ประเทืองบริบูรณ์ อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์สาขาวิชารัฐประศาสนศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏลำปาง ถึงสถานการณ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อบจ.ลำปาง ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่มีตัวเต็งแชมป์อย่าง  ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร อดีตนายก อบจ.ลำปางสมัยที่แล้ว ที่อาจจะยังคงนั่งตำแหน่งนี้ต่ออีก 1 สมัย ว่า

“การเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปาง มีพรรคตัวเต็งอย่างพรรคเพื่อไทย ที่ส่ง ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ลงสมัครเลือกตั้งอีก 1 สมัย ยังคงได้เปรียบอยู่พอสมควร ซึ่งหากย้อนไปพิจารณาจากผลการเลือกตั้งนายก อบจ. ครั้งก่อนในปี 2563 ตวงรัตน์ ได้รับคะแนนกว่า 220,000 คะแนน ซึ่งทิ้งห่างคู่แข่งถึง 180,000 คะแนน หากพิจารณาจากผลการเลือกตั้ง สส. ปี 2566 ในจังหวัดลำปาง ซึ่งมีเขตการเลือกตั้งทั้งหมด 4 เขต และพรรคก้าวไกล สามารถคว้าชัยไปได้ถึง 3 เขต แต่เมื่อนำคะแนนรวมของพรรคประชาชนทั้ง 3 เขตมารวมกัน ก็ยังไม่เทียบเท่ากับคะแนนที่ ตวงรัตน์ ได้รับจากการเลือกตั้งนายก อบจ. ในปี 2563”

โดยในจังหวัดลำปางมีผู้สมัคร นายก อบจ. ทั้งหมด 4 คน ได้แก่ ดาชัย เอกปฐพี ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 1 อดีต สส.ลำปาง พรรคพลังประชารัฐ ,ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ผู้สมัครจากพรรคเพื่อไทย อดีตนายก อบจ.ลำปาง หมายเลข 2 ,อธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 3 และ ดร.ปกิตตา ตั้งชนินทร์ ผู้สมัครอิสระ หมายเลข 4 ดังนั้นผลการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปาง ที่จะถึงนี้ ตวงรัตน์จากพรรคเพื่อไทยอาจจะชนะได้อีกหนึ่งสมัย ซึ่งหากมาดูที่คู่แข่งคนเดิม อย่าง ดาชัย เอกปฐพี ผู้สมัครหมายเลข 1 ที่เคยได้คะแนนอยู่ที่ประมาณ 40,000 คะแนน ซึ่งถือเป็นฐานเสียงที่ค่อนข้างคงที่แต่จะเร่งคะแนนให้ขึ้นมาสู้กับแชมป์เก่าอย่าง ตวงรัตน์ อาจเป็นเรื่องที่ท้าทาย

สำหรับจังหวัดลำปางประชาชนส่วนใหญ่ยังคงให้การสนับสนุนพรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการลงพื้นที่หาเสียงในภาคเหนือ ล่าสุดเดินทางไปเชียงใหม่และเชียงราย ซึ่งเป็นฐานเสียงสำคัญของพรรคและ สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้สมัครรวมไปถึงซื้อใจประชาชนในพื้นที่ โดยยังคงยืนยันว่าจังหวัดลำปางน่าจะยังคงเลือกตัวแทนจากพรรคเพื่อไทยเหมือนเดิม”รศ.ดร.ณัฏฐ์ดนัยกล่าว 

หากมาดูที่จำนวนประชากรในจังหวัดลำปางนั้นมีประชากรราว 700,000 คน และผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งอยู่ที่ ประมาณ 600,000 คน อย่างไรก็ตาม ในการเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมา มีผู้มาใช้สิทธิ์เพียง 60% หรือประมาณ 300,000  คน ทั้งนี้ กระแสความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะมีอยู่ แต่ในพื้นที่ลำปาง ยังคงต้องใช้เวลาในการปรับเปลี่ยน เนื่องจากกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีแนวคิดทางการเมืองแบบใหม่ยังมีจำนวนไม่มากและส่วนใหญ่อาศัยอยู่นอกพื้นที่ ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นของลำปางยังคงสะท้อนโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในรูปแบบเดิม

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.ลำปาง ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1 ดาชัย เอกปฐพี รวม 103,802 คะแนน หรือ 27.22 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร รวม 196,842 คะแนน หรือ 51.6 %

ผู้สมัครหมายเลข 3 อธิวัฒน์ ศรีไชยยานุพันธ์ รวม 19,972 คะแนน หรือ 5.24 %

ผู้สมัครหมายเลข 4 ดร.ปกิตตา ตั้งชนินทร์ รวม 9,588 คะแนน หรือ 2.51 %

ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ที่ตวงรัตน์ยังคงรักษาตำแหน่วได้อีกสมัย ถือเป็นการตอกย้ำการเมืองท้องถิ่นของลำปางที่ยังมีโครงสร้างอำนาจทางการเมืองในรูปแบบเดิม

ปรากฎการณ์หลังการเลือกตั้ง

รัชชา สถิตทรงธรรม ผู้สื่อข่าวท้องถิ่น ตะลอนตะหลอด The Local Space ในจังหวัดลำปาง สะท้อนปรากฎการณ์การเลือกตั้งนายก อบจ. ลำปางในรอบที่ผ่านมา มีผู้สมัครรับเลือกตั้งทั้งหมด 4 คน ซึ่ง ตวงรัตน์ เป็นผู้สมัครในนามของพรรคเพื่อไทย ส่วนอีก 3 คนที่เหลือมีทั้งผู้สมัครอิสระและผู้สมัครในนามกลุ่มการเมือง อย่าง ดาชัย เอกปฐพี ที่ได้คะแนนอันดับ 2 ก็สมัครในนามของกลุ่มพลังลำปาง แต่ว่าถ้าย้อนกลับไปดูพื้นหลังของดาชัยจะพบว่า ดาชัยเคยลงสมัคร สส.ในปี 2562 และปี 2566 ในนามพรรคพลังประชารัฐ 

“ผู้คนในจังหวัดลำปางก็มีความคิดที่หลากหลาย เพียงแต่ในสมัยแรกตอนเลือกตั้งนายก อบจ. 2563 ที่ผ่านมา ตวงรัตน์ ได้มีผลงานเชิงประจักษ์ในหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกาดนั่งก้อมซึ่งเปิดทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ที่สวนสาธารณะหนองกระทิง ซึ่งตอนแรกๆ เราประเมินกันว่าอาจอยู่ได้ไม่นาน แต่สุดท้ายทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่ อันนี้จึงเป็นผลงานเชิงประจักษ์ที่คนลำปางจับต้องได้และมั่นใจในตวงรัตน์มากขึ้น หากสมัยหน้ายังได้รับเลือกตั้งเป็นนายก อบจ. ต่อ”  

ปัจจัยสำคัญที่สอง ถ้าดูชื่อชั้นของผู้สมัครคนลำปางส่วนใหญ่มองว่าไม่มีใครที่เหมาะสมยิ่งไปกว่าตวงรัตน์แล้ว เพราะในการเลือกตั้งนายก อบจ. ลำปาง 2568 พรรคประชาชนซึ่งได้ที่นั่ง สส. 3 ใน 4 เขตตอนที่ยังเป็นพรรคก้าวไกล ไม่ได้ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งนายก อบจ. แต่ส่งผู้สมัครลง ส.อบจ. ทั้งหมด 14 คน จาก 30 เขต”

ซึ่งผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้สมัคร ส.อบจ. พรรคประชาชนได้รับชัยชนะ 4 ที่นั่งจากทั้งหมด 30 ที่นั่ง ซึ่งสะท้อนว่ามีประชาชนบางส่วนในจังหวัดลำปางที่ต้องการการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังไม่ใช่จำนวนที่มากพอ และอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่ทำให้การเลือกตั้งท้องถิ่นมีผู้มาใช้สิทธิน้อย (จังหวัดลำปางคิดเป็น 63.42%) คือ การรณรงค์ให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งท้องถิ่นจากหน่วยงานรัฐและสื่อมวลชนยังไม่เพียงพอ แม้การเลือกตั้งท้องถิ่นจะมีความสำคัญต่อจังหวัดในเรื่องการพิจารณางบประมาณและโครงการต่างๆ รวมถึงการตรวจสอบฝ่ายบริหารที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน 

“จุดอ่อนในลำปางคือการประชาสัมพันธ์และรณรงค์เกี่ยวกับการเลือกตั้งท้องถิ่นยังไม่เพียงพอ การสื่อสารที่มีอยู่ส่วนใหญ่เน้นไปที่เหตุการณ์หรือการกระทำที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน แต่ขาดการสื่อสารในเชิงประเด็นที่สำคัญ เช่น ทำไมประชาชนต้องออกไปใช้สิทธิเลือกตั้ง หรือการนำเสนอข้อมูล ข้อเท็จจริงที่สามารถทำให้ผู้รับสารเข้าใจได้ง่าย โดยเฉพาะการนำเสนอข้อมูลในรูปแบบ Data Journalist กับอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ผู้คนไม่สะดวกไปเลือกตั้งครั้งนี้คือการไม่มีการเลือกตั้งล่วงหน้าหรือเลือกตั้งนอกเขต ทำให้คนที่ทำงานอยู่ต่างจังหวัดไม่สามารถไปใช้สิทธิได้สะดวก สุดท้ายผู้คนในลำปางมักเลือกคนเดิมต่อไปเรื่อยๆ แม้จะมีการซื้อเสียงหรือไม่ ก็ยังทำให้ฝ่ายที่ชนะได้รับความนิยมอยู่ดี” รัชชากล่าว

จังหวัดแพร่ “อนุวัธ” แชมป์เก่าพรรคเพื่อไทย คว้าชัยชนะเลือกตั้งนายก อบจ.แพร่ สมัยที่ 4 ชนะคู่แข่ง “ประสงค์” ทิ้งห่าง 50,000 คะแนน

– ในการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผู้สมัครหมายเลข 2 อนุวัธ วงศ์วรรณ จากพรรคเพื่อไทย คว้าชัยชนะด้วยคะแนน 124,750 คะแนน (54.8%) ทำให้เขาได้ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.แพร่ต่อเป็นสมัยที่ 4 

– ขณะที่คู่แข่ง ประสงค์ ชุ่มเชย หรือ “สจ.น้อย” ผู้สมัครอิสระ ได้ 74,934 คะแนน (32.92%) แม้จะมีกลุ่มคนรุ่นใหม่และการเสนอนโยบายที่เน้นการพัฒนาในระดับท้องถิ่น

– อนุวัธ ยังคงได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายการเมืองที่แข็งแกร่งจากตระกูลและพื้นที่ชนบทในจังหวัดแพร่ ทำให้เขายังคงครองแชมป์ในการเลือกตั้งครั้งนี้

ในการเลือกตั้งนายก อบจ. ปี 2568 จังหวัดแพร่มีผู้ลงสมัคร 2 คน ได้แก่ ผู้สมัครหมายเลข 1 ประสงค์ ชุ่มเชย หรือ “สจ.น้อย” ที่ลงสมัครในนามอิสระ ซึ่งเป็นรองประธานกรรมาธิการวิสามัญพิจารณากฎหมายยุทธศาสตร์ลำไย สภาผู้แทนราษฎร และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกลุ่มการเมืองของ ศิริวรรณ ปราศจากศัตรู  “แม่เลี้ยงติ๊ก”  ส.ส.แพร่  และผู้สมัครหมายเลข 2 อนุวัธ วงศ์วรรณ หรือ ‘เสี่ยเอน’ พรรคเพื่อไทย ดำรงตำแหน่งนายก อบจ.แพร่ แล้วถึง 3 วาระ คือวาระที่ 1 วันที่ 9 ธ.ค.2550 -14 ก.ย.2554 วาระ 2 ตั้งแต่ 6 พ.ย.2554 จนครบ 4 ปี และอยู่ยาวในช่วงปฏิวัติรัฐประหาร และวาระ 3 ในปี พ.ศ.2564 มาจนถึงปัจจุบัน รวมเวลาที่นั่งบริหารงานในตำแหน่งนายก อบจ.แพร่ 17 ปี ทั้งนี้เขายังเป็นลูกชายคนโตของนักการเมืองใหญ่ในอดีต พ่อเลี้ยงณรงค์ วงศ์วรรณ  

Lanner สัมภาษณ์ ถิรายุส์ บำบัด อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ถึงสถานการณ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น อบจ.แพร่ ที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 โดยถิรายุส์กล่าวถึงการเมืองในจังหวัดแพร่ โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกตั้งที่ว่า จังหวัดแพร่ถือเป็นพื้นที่ชายขอบขอบของภาคเหนือ ซึ่งหมายถึงการเมืองในพื้นที่นี้ยังคงมีการขับเคลื่อนจากพรรคเพื่อไทยและเครือข่ายของพรรคในระดับท้องถิ่น

“อนุวัธ ยังถือว่าเป็นตัวเต็งในสนามการเมืองจังหวัดแพร่ เพราะพื้นฐานของเขามาจาก “บ้านใหญ่” หรือ “ตระกูลการเมือง” ที่มาพร้อมกับเครือข่ายและฐานเสียงที่แข็งแกร่งในหลายเขต ซึ่งจุดนี้ถือว่ามีผลอย่างมากในภาคการเมืองไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทหรือในจังหวัดที่ยังคงมีการยึดโยงกับเครือข่ายการเมืองที่เก่าแก่ แม้จะมีกลุ่มอิสระหรือพรรคสีส้มที่ลงมาแข่งขันในครั้งนี้ แต่ความแข็งแกร่งของ “บ้านใหญ่” หรือการมีเครือข่ายการเมืองที่ครอบคลุมทั้งจังหวัด ทำให้ อนุวัธ ยังคงมีความได้เปรียบในการดึงดูดความสนใจจากผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในพื้นที่ชนบทที่ยังคงให้ความสำคัญกับตัวบุคคลและเครือข่ายท้องถิ่นมากกว่าการพิจารณานโยบายในเชิงลึก”

ทางฝั่งของผู้สมัครอิสระ เช่น ประสงค์ ที่มีการเปิดตัวอย่างชัดเจนในฐานะนักการเมืองคนสนิทของ “แม่เลี้ยงติ๊ก” แม้ว่าจะไม่ได้มีเครือข่ายแบบ “บ้านใหญ่” หรือการเชื่อมโยงกับพรรคใหญ่ แต่ในเชิงนโยบายเขาก็พยายามที่จะนำเสนอวิธีการบริหารงานที่แตกต่างจากกลุ่มบ้านใหญ่ โดยเน้นการเข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่และชูแนวทางของการพัฒนาในระดับพื้นฐาน เช่น การสร้างงาน สร้างรายได้จากธุรกิจท้องถิ่น และโครงการที่สามารถเข้าถึงได้ง่ายในแต่ละชุมชน การนำเสนอนโยบายแบบใหม่และการเปิดตัวทีมบริหารรุ่นใหม่ในแคมเปญของเขา ก็เป็นการดึงดูดกลุ่มคนรุ่นใหม่ในพื้นที่ ซึ่งอาจจะมีผลต่อการเลือกตั้งในบางพื้นที่ที่มีผู้คนรุ่นใหม่อยู่มาก แม้ว่าจะยังไม่สามารถเรียกคะแนนเสียงได้มากมายเท่ากับฐานเสียงของบ้านใหญ่

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.แพร่ ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1  ประสงค์ ชุ่มเชย รวม 74,934 คะแนน หรือ 32.92 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 อนุวัธ วงศ์วรรณ รวม 124,750 คะแนน หรือ 54.8 %

โดยในการเลือกตั้งนายก อบจ. 2568 นี้ อนุวัธ ก็ลงสมัครเลือกตั้งในนามพรรคเพื่อไทย และยังคงรักษาตำแหน่งนายก อบจ.ได้ในสมัยที่ 4 ด้วยคะแนน 124,750 คะแนน ส่วน ประสงค์ ชุ่มเชย ผู้สมัครนายก อบจ. เบอร์ 1 ในนามอิสระ ได้คะแนนไป 74,934 ห่างกันเกือบ 5 หมื่นคะแนน

ปรากฎการณ์หลังการเลือกตั้ง

อนันตรัฐ สุวรรณรัตน์ ประชาชนในจังหวัดแพร่ กล่าวว่า การที่อนุวัธสามารถกลับมาคว้าแชมป์ได้เป็นสมัยที่ 4 นั้น เกิดจากหลายปัจจัยที่ผสมผสานกัน เนื่องจากมีฐานเสียงที่สะสมมานานถึง 17 ปี จากการทำงานในโครงการชลประทานและการพัฒนาถนนเข้าถึงชาวบ้านทำให้เขามีความน่าเชื่อถือในพื้นที่ แม้ว่าจะมีเหตุการณ์น้ำท่วมในปีที่ผ่านมา แต่อนุวัธก็ยังคงเน้นเรื่องโครงการบริหารจัดการน้ำและท่องเที่ยวซึ่งตอบโจทย์การพัฒนาในพื้นที่ได้ดี อีกทั้งยังมีการจับมือกับพรรคเพื่อไทย สร้างเครือข่ายความสัมพันธ์ในพื้นที่ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม คะแนนที่อนุวัธ ได้ก็ไม่ใช่การชนะที่เด็ดขาดเนื่องจากมีคู่แข่งที่ค่อยๆ ขยับตัวขึ้น โดยเฉพาะประสงค์ ที่มีเครือข่ายในพื้นที่และเคยเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากพรรคการเมืองอื่น ส่งผลให้เขาได้รับคะแนนเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม คะแนนที่อนุวัธได้ยังคงสูงกว่าและสามารถคว้าชัยชนะได้ในที่สุด

“การเลือกตั้งครั้งนี้มีหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้อง เช่น คะแนนเสียงจากผู้ไม่ไปใช้สิทธิ์และปัจจัยทางสังคมที่ทำให้บางคนตัดสินใจไม่เลือกใครเลยหรือเลือกแบบ “โหวตโน” การที่มีผู้เล่นหลายคนในการเลือกตั้งส่งผลให้คะแนนสูสีกันมากในบางเขต เช่น เขตอำเภอเมืองที่คะแนนไม่ต่างกันมากนัก ดังนั้นการเลือกตั้งครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในแพร่ ซึ่งยังคงมีความไม่แน่นอนในการตัดสินใจของประชาชนที่จะเลือกผู้สมัครที่สามารถตอบสนองความต้องการในชีวิตของพวกเขาได้ดีที่สุด” อนันตรัฐ กล่าว

น่าน “นพรัตน์” แชมป์เก่าผงาด คว้าชัยจากพรรคเพื่อไทย ท่ามกลางการแข่งที่หลากหลาย

– แม้ว่ามีผู้ท้าชิงคนอื่นๆ อย่าง พิชัย โมกศรี ที่มีฐานเสียงแข็งแกร่งในพื้นที่เมืองน่าน และ สันติภาพ อินทรพัฒน์ ที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่ม “ทีม สว.” ซึ่งประกอบด้วยอดีตสมาชิกสภาจังหวัดที่มีประสบการณ์ทางการเมืองยาวนาน

เมื่อมาวิเคราะห์ผู้สมัครนายก อบจ.น่าน ทั้ง 5 คน ทำให้เห็นว่า ผู้สมัครหมายเลข 1 นายนพรัตน์ ถาวงศ์ จากพรรคเพื่อไทย อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดน่าน คนสนิทของ หมอชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน ในครั้งนี้นพรัตน์ มีนโยบายเพื่อการพัฒนาจังหวัดน่านให้เป็น “น่านหนึ่งเดียว”  โดยมุ่งเน้น 5 ด้าน ได้แก่ น่านน่าอยู่ น่านน่ากิน น่านน่าเที่ยว น่านน่าเรียน และน่านน่าธรรม  นอกจากนี้ เขายังมีแผนงานและโครงการต่างๆ เช่น การจัดให้มีรถโดยสารสาธารณะ 12 เส้นทาง เชื่อมโยงโครงข่ายครอบคลุมทั้งจังหวัดน่าน การสนับสนุนหนึ่งตำบลหนึ่งเตาเผาขยะนวัตกรรมไร้มลพิษและการสนับสนุนการแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันเชื้อเพลิง ขณะที่ผู้สมัครหมายเลข 2 พันโทอธิวัฒน์ เตชะบุญ  หรือ ผู้พันหวิน จากพรรคคลองไทย ที่ชูสโลแกน กล้าคิด กล้าทำ กล้าตัดสินใจ ซื่อสัตย์ โปร่งใส คบง่าย ใจถึง พึ่งได้ 

ด้านผู้สมัครหมายเลข 3 สันติภาพ อินทรพัฒน์ ลงสมัครในนามผู้สมัครอิสระ อดีตสมาชิกวุฒิสภา สว. จังหวัดน่าน และเลขาธิการพรรครักษ์ผืนป่า ที่ได้รับการสนันสนุนจาก 2 อดีตสมาชิกวุฒิสภา คือ ชัยวุฒิ ครูอริยกุล อดีต สว.สมาชิกวุฒิสภาในปี 2549 และ โสภณ สีมาเหล็ก อดีต สว. จากการเลือกตั้งเมื่อปี 2551 และการลงสมัครในครั้งนี้ เขามีทีมสนับสนุนที่เรียกว่า “ทีม สว” ในส่วนของผู้สมัครหมายเลข 4 เสนอ เวชสัมพันธ์ รองนายกเทศมนตรีเมืองน่าน มีนโยบายของเขาคือ น้ำสะอาด การศึกษาสร้างสรรค์ วัฒนธรรมยั่งยืน เศรษฐกิจแข็งแกร่ง บริหารโปร่งใส และผู้สมัครหมายเลข 5 พิชิต โมกศรี กลุ่มน่านพัฒนา ที่เป็นอดีตปลัดเทศบาลเมืองน่าน และอดีตผู้สมัคร สส. น่าน พรรครวมไทยสร้างชาติ

ถิรายุส์ บำบัด อาจารย์ประจำหลักสูตรรัฐศาสตรบัณฑิต คณะรัฐศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยพะเยา ได้วิเคราะห์ถึงสถานการณ์เลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น นายก อบจ.น่าน ก่อนมีการเลือกตั้งเกิดในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า  ในสนามการเมืองน่านในปีนี้ นพรัตน์ จาก พรรคเพื่อไทย ยังคงเป็น เต็งหนึ่ง ในการแข่งขัน โดยเขาได้รับการสนับสนุนอย่างเหนียวแน่นจากพรรคเพื่อไทย ที่เลือกใช้ แบรนด์พรรค ในการหนุนหลัง รวมทั้ง ส.ส. พรรคเพื่อไทย ทั้ง 3 เขต และเครือข่ายสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัด (ส.อบจ.) ของ นพรัตน์ ที่เคยหมดวาระไปก่อนหน้านี้ให้การสนับสนุน ในส่วนของ สันติภาพ แม้จะเป็นผู้สมัครใหม่ แต่กระแสการสนับสนุนจาก “ทีม สว”  ที่ก็ยังคงมาแรงอย่างต่อเนื่องเช่นกัน  โดยทั้ง 2 ท่านได้รับการเปิดตัวเป็น รองนายก อบจ. ในทีม สันติภาพ ซึ่งทำให้เขามีกระแสที่พุ่งแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงการได้รับการสนับสนุนจากหลายฝ่ายที่เชื่อมั่นในศักยภาพของเขา

“ด้วยเหตุนี้ ทำให้ นพรัตน์ ยังคงเป็น เต็งหนึ่ง แต่การแข่งขันยังคงดุเดือด สันติภาพ กลายเป็น เต็งสอง ที่กระแสแรงขึ้นในทุกวัน ขณะที่ พิชิต ยังคงมีฐานเสียงที่ไม่ธรรมดาและมีคะแนนที่สูงพอสมควรในฐานะอดีตข้าราชการและผู้มีประสบการณ์ในการบริหารท้องถิ่น ดังนั้นการแข่งขันเลือกตั้งนายก อบจ. น่านในครั้งนี้จึงเป็นการดวลกันระหว่างทีมการเมืองที่มีความแข็งแกร่งและเชื่อมโยงกับกลุ่มฐานเสียงที่หลากหลาย และมันยังคงขึ้นอยู่กับการเคลื่อนไหวในช่วง สัปดาห์สุดท้ายว่ากระแสการเมืองจะพลิกผันไปในทิศทางใด” ถิรายุส์กล่าว

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.น่าน ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1 นพรัตน์ ถาวงศ์ รวม 124,151 คะแนน หรือ 49.54 %

ผู้สมัครหมายเลข 2 พันโทอธิวัฒน์ เตชะบุญ รวม 18,648 คะแนน หรือ 7.44 %

ผู้สมัครหมายเลข 3 สันติภาพ อินทรพัฒน์ รวม 38,506 คะแนน หรือ 15.37 %

ผู้สมัครหมายเลข 4 เสนอ เวชสัมพันธ์ รวม 12,620 คะแนน หรือ 5.03 %

ผู้สมัครหมายเลข 5 พิชิต โมกศรี รวม 20,957 คะแนน หรือ 8.36 %

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.น่าน ปี 2568 นี้ นพรัตน์ ก็ยังคงรักษาตำแหน่งนายก อบจ.ได้อีก 1 สมัย ในนามพรรคเพื่อไทยเช่นเดิม ซึ่งได้คะแนนนำจากผู้สมัครคนอื่นๆ ไปเกือบ 1 แสนคะแนน ด้วยคะแนน 124,151 คะแนน

ปรากฎการณ์หลังการเลือกตั้ง

ทีปกร ยศเสถียร ประชาชนในจังหวัดน่านกล่าวว่า ในการเลือกตั้ง อบจ. น่านที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันทางการเมืองที่เต็มไปด้วยการซื้อเสียงและการสนับสนุนจากกลุ่มต่างๆ มีการแย่งชิงคะแนนเสียงในระดับท้องถิ่นแต่สุดท้ายก็เห็นชัดเลยว่ามีการสนับสนุนที่ไม่เท่าเทียมจากหลายๆ กลุ่มในพื้นที่ แต่ถึงแม้จะใช้เงินซื้อเสียงกันอยู่มาก แต่ก็ไม่ได้การันตีผลคะแนนได้เพราะสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับความนิยมในตัวบุคคลของประชาชนในพื้นที่และการสนับสนุนจากกลุ่มชุมชนท้องถิ่นเดิมมีฐานเสียงเข้มแข็ง

ในขณะเดียวกันพรรคประชาชนที่ไม่ได้ส่งผู้สมัครนายก อบจ. แต่มีการส่งผู้สมัคร ส.อบจ.แต่กลับไม่ได้รับความนิยมจากชาวบ้านเท่าที่คาดหวังมากแม้จะมีผู้สมัครรุ่นใหม่ที่พยายามสร้างการเปลี่ยนแปลง แต่ก็ยังต้องพึ่งพาการสนับสนุนจากคนรุ่นเก่าที่มีฐานเสียงแน่นหนา ผลก็คือคนในพื้นที่ยังคงสนับสนุนผู้สมัครที่มีความคุ้นเคย สำหรับชาวบ้านในจังหวัดน่านหลายคนก็ยังรู้สึกว่าในการเลือกตั้งครั้งนี้มันไม่คึกคักเหมือนที่คิดเอาไว้ โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ยังไม่สามารถเข้าถึงได้เท่าที่ควร กลุ่มคนรุ่นเก่าก็ยังคงมีบทบาทหลักในการเลือกตั้ง โดยสรุปแล้วก็เลยเป็นการแย่งชิงคะแนนเสียงระหว่างกลุ่มคนที่คุ้นเคยกันมา แล้วก็ไม่สามารถเชื่อมโยงกับคนรุ่นใหม่หรือกลุ่มคนทำงานได้ ทำให้การเมืองในจังหวัดน่านยังคงวนเวียนอยู่กับผู้นำท้องถิ่นคนเดิมๆ เนื่องจากไม่มีตัวเลือกมากนัก

พิจิตร “กฤษฏ์” คว้าชัยเหนือ “กฤษฎา” ในศึกภายในตระกูล

– การเลือกตั้งนายก อบจ.พิจิตรปี 2568 มีการแข่งขันหลักระหว่างสองผู้สมัครจากตระกูลภัทรประสิทธิ์ ได้แก่ กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ และ กฤษฏ์ เพ็ญสุภา เป็นการสู้ศึกภายในตระกูลเดียวกัน และมีผู้สมัครอิสระเข้าร่วมแข่งขันด้วย

– 1 กุมภาพันธ์ 2568 ผลการเลือกตั้งปรากฏว่า ผู้ชนะคือ “กฤษฏ์ เพ็ญสุภา” จากกลุ่มบ้านสีเขียวที่สามารถคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ได้สำเร็จ โดยคะแนนที่ได้รับอยู่ที่ 119,940 คะแนน คิดเป็น 65.82% ของคะแนนทั้งหมด ขณะที่คู่แข่งที่ใกล้เคียงที่สุดคือ กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ จากกลุ่มพัฒนาจังหวัดพิจิตร ซึ่งได้รับคะแนน 56,981 คะแนน หรือคิดเป็น 31.27% ซึ่งห่างจากผู้ชนะค่อนข้างมาก

กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ ผู้สมัครหมายเลข 1 อดีตนายก อบจ.จังหวัดพิจิตร เขาเคยเป็นอดีตผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรวังทรายพูน จ.พิจิตรและอดีตผู้กำกับกองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 6  ก่อนหน้านี้เขาลงเลือกตั้งครั้งแรกในสนามการเมืองท้องถิ่น และได้ตำแหน่งนายก อบจ.พิจิตร เมื่อปี 2563 ในนามบ้านสีเขียว โดยได้รับการสนับสนุนจากนาย ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรีหลายสมัย แต่ครั้งล่าสุดเขาลงชิงเก้าอี้นายก อบจ.พิจิตร อีกครั้ง ในปี 2568 โดยมีกลุ่ม ผู้บริหาร และสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดพิจิตรให้การสนันสนุนแทนหลังจากแตกหักกับคนในตระกูล “ภัทรประสิทธิ์”

2.กฤษฎ์ เพ็ญสุภา ผู้สมัครหมายเลข 2 ทายาท  ในพรรคภูมิใจไทย  อดีตผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์  เขามาจากตระกูล “เพ็ญสุภา” ผู้บริหารตลาด “สี่มุมเมือง” และหลานชายของนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ซึ่งการลงชิงตำแหน่งนายก อบจ.พิจิตรในครั้งนี้เขาได้รับการสนับสนุนจากนายประดิษฐ์ แทนนายกฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ (ที่เกิดการแตกหักกันในครอบครัว)

3.ประชา โพธิ์ศรี หมายเลข 3 ผู้สมัครในนามอิสระ และปรากฎภาพแต่สวมเสื้อประชาชนพิจิตเข้าสมัครรับเลือกตั้ง ทั้งมีสโลแกนก้าวหน้า ก้าวไกลเพื่ออนาคตใหม่ของประชาชน

4.สุขเสริม ไพบูลย์ศิริ หมายเลข 4 นายกสมาคมกีฬาแห่งจังหวัดพิจิตร และอดีตรองนายก อบจ. อดีตทีมบริหารของนายกฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ ทั้งนี้ยังเป็นการลงสมัครแต่ไม่มีการหาเสียงแต่อย่างใด

ซึ่งตัวเต็งในครั้งนี้คือนายกฤษฎ์ เพ็ญสุภา ผู้สมัครหมายเลข 2 การที่ กฤษฎ์  เพ็ญสุภาได้รับการสนับสนุนจาก ประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ ซึ่งถือเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงในแวดวงการเมือง อาจทำให้เขามีความได้เปรียบในแง่ของฐานเสียงและทรัพยากรที่มาจากพรรคภูมิใจไทย รวมถึงการเป็นผู้สืบทอดตระกูลธุรกิจ ในขณะที่ กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ แม้จะมีประสบการณ์ในตำแหน่งนายก อบจ. พิจิตรและการทำงานในราชการ แต่การแตกหักภายในครอบครัวอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของเขา โดยเฉพาะในกรณีที่ผู้สนับสนุนบางกลุ่มอาจลังเลว่าจะเลือกฝ่ายไหนในครอบครัว

ดร.วีระ หวังสัจจะโชค อาจารย์ประจำภาควิชารัฐศาสตร์และรัฐประศาสนศาสตร์ คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่องการเลือกตั้งองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ในจังหวัดพิจิตรก่อนหน้านี้ว่า

“ในส่วนของผลการเลือกตั้งในพื้นที่ต่างๆ เช่น พิษณุโลก พิจิตร และอุทัยธานี จะเห็นได้ว่า ความสัมพันธ์ในครอบครัว หรือการส่งลูกหลานมาสืบทอดตำแหน่งการเมืองจากระดับท้องถิ่นไปยังระดับชาติ เป็นแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะในกลุ่มพรรคสีแดงและสีน้ำเงิน ซึ่งอาจสะท้อนถึงการเปลี่ยนแปลงของท้องถิ่นที่สามารถเป็นฐานในการสนับสนุนผู้สมัคร ส.ส. ในอนาคต ขณะเดียวกันจะเห็นได้ว่าผลการเลือกตั้งท้องถิ่นจะสะท้อนการเมืองระดับชาติ โดยพรรคสีส้มอาจชนะได้น้อย หรือไม่ชนะเลย ซึ่งเป็นการสะท้อนภาพการเมืองระดับชาติเช่นเดียวกัน”

ในการเลือกตั้งนายก อบจ.น่าน ปี 2568 เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา มีผลสรุปคะแนน ดังนี้

ผู้สมัครหมายเลข 1 กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ ได้คะแนน 69,954 หรือ 30.93%

ผู้สมัครหมายเลข 2 กฤษฏ์ เพ็ญสุภา ได้คะแนน 147,836 หรือ 65.37% 

ผู้สมัครหมายเลข 3 ประชา โพธิ์ศรี ได้คะแนน 7,452 หรือ 3.29% 

ผู้สมัครหมายเลข 4 สุขเสริม ไพบูลย์ศิริ ได้คะแนน 919 หรือ 0.41%

โดยผลการเลือกตั้ง นายก อบจ.พิจิตร ปี 2568 ปรากฎว่า กฤษฎ์ เอาชนะ กฤษฎา  ด้วยคะแนน 147,631 ต่อ 69,843 คะแนน ห่างกันเกือบ 8 หมื่นคะแนน

ปรากฎการณ์หลังการเลือกตั้ง

ธนัทเมศร์ ศิรพีรลักษณ์ จาก We Watch กล่าวว่า การเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) พิจิตรครั้งนี้เป็นการประลองทางการเมืองที่น่าสนใจ มีผู้สมัครทั้งหมด 4 คน โดยแต่ละคนมีพื้นฐานทางการเมืองและฐานเสียงที่แตกต่างกันออกไป เบอร์ 1 เป็นอดีตนายก อบจ. ที่เคยชนะการเลือกตั้งหลายสมัย และยังคงรักษาฐานเสียงเดิม พร้อมกับใช้กลยุทธ์ที่เน้นการสื่อสารและเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ ส่วนเบอร์ 2 เป็นหลานของผู้มีบ้านใหญ่ในพื้นที่ ซึ่งมีกลยุทธ์การหาเสียงที่เข้มข้น โดยพยายามขยายฐานสนับสนุนจากเครือข่ายในพื้นที่ต่างๆ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับรูปแบบการหาเสียงในครั้งนี้

ขณะที่เบอร์ 3 และเบอร์ 4 เป็นผู้สมัครอิสระที่ลงแข่งขันโดยไม่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มการเมืองที่ชัดเจน แม้ว่าจะมีข้อสังเกตเกี่ยวกับแนวทางการหาเสียงที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนในรูปแบบต่างๆ ซึ่งเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงในหลายพื้นที่ อย่างไรก็ตาม การเลือกตั้งครั้งนี้ยังคงสะท้อนถึงความท้าทายในการทำให้ประชาชนเข้าใจบทบาทของนายก อบจ. และความสามารถในการพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง

เมื่อสอบถามความคิดเห็นจากเยาวชนในพื้นที่ หลายคนให้ความสนใจในเรื่องนี้มากขึ้น เช่น  ติดตามนโยบายของผู้สมัครทั้ง 4 เบอร์  ติดตามการหาเสียงของผู้สมัครว่ามีการหาเสียงอย่างไร  และมีการพูดคุยในกลุ่มเยาวชนว่าจะมีการแก้ไขปัญหาได้จริงหรือไม่   แต่เยาวชนยังไม่แน่ใจถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น สำหรับคะแนนเสียงจาก “ประชา” ที่ได้รับ 7,452 คะแนน หากเขาได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอย่างเต็มที่ อาจทำให้คะแนนของเขาขึ้นไปอยู่ในระดับเต็ง 1 หรือเต็ง 2 แต่คะแนนที่ได้ยังคงต่ำเมื่อเทียบกับผู้สมัครเบอร์ 1 และเบอร์ 2 การได้คะแนน 7,452 คะแนนอาจมาจากการทำงานหาผู้สนับสนุนเอง หรือมีผู้ช่วยสนับสนุนจากพรรคการเมือง โดยเฉพาะการสนับสนุนจากผู้สมัคร ส.ส. ในเขตต่างๆ แม้ว่าคะแนนจะไม่ได้สูงเทียบกับผู้สมัคร ส.ส. แต่ก็ยังถือเป็นคะแนนที่ดีและแสดงถึงความสนใจที่เพิ่มขึ้น ส่วนเบอร์ 4 ที่ได้รับคะแนนเพียง 900 กว่าเสียง อาจสะท้อนถึงการเตรียมตัวเพื่อการเลือกตั้งครั้งต่อไป โดยทำการเช็คคะแนนเสียง

“พรรคประชาชนในจังหวัดพิจิตรหรือผู้สมัครคนอื่น ๆ ที่ผ่านมาได้พัฒนาและขยายงานในบางพื้นที่แล้ว แต่บางประเด็นยังไม่ได้รับความสนใจจากประชาชนอย่างเต็มที่ เช่น ปัญหาน้ำและข้าว ซึ่งเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรในจังหวัดพิจิตร หากพรรคประชาชนหรือผู้สมัครนายก อบจ. คนอื่น ๆ ให้ความสำคัญกับประเด็นเหล่านี้และลงมือทำจริงจังอาจช่วยเพิ่มคะแนนและสร้างการตื่นตัวทางการเมืองในพื้นที่ได้มากขึ้น การที่พรรคประชาชนและผู้สมัครคนอื่น ๆ จะมีโอกาสชนะในการเลือกตั้งยังคงเป็นไปได้ หากมุ่งเน้นการสร้างความตื่นตัวให้กับประชาชนผ่านการทำงานที่ชัดเจนและการแก้ปัญหาของชาวบ้านอย่างจริงจังและอนาคตการเลือกตั้งท้องถิ่นนักการเมืองควรเตรียมตัวของผู้สมัคร  การทำงานให้ชัดเจนและแก้ไขปัญหาชาวพิจิตรอย่างจรองจัง  ซึ่งการทำงานจะเป็นประโยชน์ให้กับชาวพิจิตรและผู้สมัครคนอื่น ๆ ก็จะได้ทำงานให้เข้าถึงชุมชนถึงจะมีโอกาสผลงานเข้าตาชาวบ้าน ” ธนัทเมศร์ กล่าว

พรรคการเมืองระดับชาติในสนามท้องถิ่นหลังเลือกตั้ง อบจ.

หากมาดูที่พรรคการเมืองระดับชาติในสนามการเมืองท้องถิ่นหลังจากการเลือกตั้ง อบจ. เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2568 ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 17 จังหวัดภาคเหนือนั้นถือว่ามีบทบาทในการผลักดันผู้สมัครนายก อบจ. ทั้งในแง่เปิดตัวอย่างเป็นทางการ เปิดตัวในนามสมาชิกพรรค รวมไปถึงการสนับสนุนส่วนตัวแบบไม่เปิดเผยและความสัมพันธ์เชิงเครือญาติ จะพบว่าเกือบทุกจังหวัดนั้นมีการสนับสนุนในรูปแบบนี้ทั้งสิ้น

การเปิดตัวเป็นทางการของพรรคการเมืองระดับชาติในการเลือกตั้งสนามท้องถิ่นที่ผ่านมาพบว่ามีพรรคการเมืองทั้งหมด 2 พรรคที่มีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการได้แก่ พรรคเพื่อไทย และ พรรคประชาชน โดยมี ว่าที่นายก อบจ. และ นายก อบจ. ทั้งหมด 7 คน ได้แก่ พิชัย เลิศพงศ์อดิศร ว่าที่นายก อบจ.เชียงใหม่ สมาชิกพรรคเพื่อไทย ที่มีการสนับสนุนจากคนในพรรคจากล้นหลามรวมถึง ทักษิณ ชินวัตร, นพรัตน์ ถาวงศ์ ว่าที่นายก อบจ.น่าน สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่มี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว สส.พรรคเพื่อไทย ให้การสนับสนุน,ธวัช สุทธวงศ์ นายก อบจ.พะเยา สังกัดพรรคเพื่อไทย ที่อยู่ในเครือข่ายของ ธรรมนัส พรหมเผ่า สส.พรรคกล้าธรรม อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, อนุวัธ วงศ์วรรณ ว่าที่นายก อบจ.แพร่ 4 สมัย สังกัดพรรคเพื่อไทย, ตวงรัตน์ โล่ห์สุนทร ว่าที่นายก อบจ.ลำปาง สังกัดพรรคเพื่อไทย ลูกสาวของ ไพโรจน์ โล่ห์สุนทร อดีต สส.ลำปาง 8 สมัย, มนู พุกประเสริฐ นายก อบจ.สุโขทัย สังกัดพรรคเพื่อไทย และ วีระเดช ภู่พิสิฐ ว่าที่นายก อบจ.ลำพูน สังกัดพรรคประชาชน บุตรของ ประเสริฐ ภู่พิสิฐ อดีตนายก อบจ.ลำพูน เข้าร่วมกับพรรคอนาคตใหม่ ตั้งแต่ปี 2561

ซึ่งหากมาดูความสัมพันธ์ของนายก อบจ. และว่าที่ นายก อบจ.กับพรรคการเมืองระดับชาติจะพบว่าส่วนใหญ่ที่มีความในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่มักจะประกาศตัวในการเลือกตั้งว่า ‘อิสระ’ แต่หากสืบค้นความสัมพันธ์ที่มีการสนับสนุนส่วนตัวแบบไม่เปิดเผยและความสัมพันธ์เชิงเครือญาติก็จะพบว่ามีหลายคนที่อยู่ในความสัมพันธ์รูปแบบนี้ทั้งหมด 10 คน โดยมีความสัมพันธ์กับพรรคภูมิใจ 6 คน พรรคพลังประชารัฐ 2 คน พรรคเพื่อไทย 2 คน และพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน ดังนี้

อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ว่าที่นายก อบจ.เชียงราย สมัยที่ 2 มีบิดาอย่าง สมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ และ รังสรรค์ วันไชยธนวงศ์ เป็นสมาชิกพรรคภูมิใจไทย โดยภายหลังการเลือกตั้งนายก อบจ.เชียงรายเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา อนุวิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย ก็ได้ร่วมแสดงความยินดีต่อ อทิตาธร ที่สามารถดำรงตำแหน่งได้อีกสมัย

เช่นเดียวกับ อัครเดช วันไชยธนวงศ์ ว่าที่นายก อบจ.แม่ฮ่องสอน สมัยที่ 4 ที่มีบิดาอย่างสมบูรณ์ วันไชยธนวงศ์ และเป็นน้องชายของ อทิตาธร วันไชยธนวงศ์ ซึ่งสามารถสันนิษฐานได้ว่าเขาก็ได้รับการสนับสนุนจากพรรคภูมิใจไทยไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อย่างไรก็ตาม อัครเดช นั้นสนิทสนมกับสมบัติ ยะสินธุ์ สส.แม่ฮ่องสอน เขต 2 พรรคประชาธิปัตย์ 

ชัยศิริ ศุภรักษ์จินดา นายก อบจ.อุตรดิตถ์ สมัยที่ 3 ที่ได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายพรรคเพื่อไทย และ 3 สส. อุตรดิตถ์ สังกัดพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้ง นอกจากนี้ด้วยความที่ ชัยศิริ อยู่ในสนามการเมืองท้องถิ่นอุตรดิตถ์มานานทำให้เขาเคยสนับสนุนและเป็นฐานเสียงให้กับ ชัยภักดิ์ ศิริวัฒน์ อดีต สส.อุตรดิตถ์ ที่ปัจจุบันมีการส่งไม้ต่อให้กับน้องชายอย่าง วารุจ ศิริวัฒน์ เป็น สส.อุตรดิตถ์

มนต์ชัย วิวัฒน์ธนาฒย์ นายก อบจ.พิษณุโลก 3 สมัย นั้นคาดการณ์ว่าอาจจะได้รับการสนับสนุนจากเครือข่ายของพรรคเพื่อไทย และเขาเองก็สนับสนุน สส.พรรคเพื่อไทยเช่นเดียวกัน อย่างการเลือกตั้งซ่อมจังหวัดพิษณุโลกเมื่อกลางปีที่ผ่านมา มนต์ชัย ได้ลงพื้นที่หาเสียงร่วมกับ จเด็ศ จันทรา สส.พิษณุโลก พรรคเพื่อไทย 

ถัดมาที่จังหวัดตาก อัจฉรา ทวีเกื้อกูลกิจ นายก อบจ.ตาก ที่รับไม้ต่อมาจาก ณัฐวุฒิ ทวีเกื้อกูลกิจ พ่อตา และมีสามีคือ ธนัสถ์ ทวีเกื้อกูลกิจ อดีต สส.จังหวัดตาก ที่ปรึกษารมว.แรงงาน และสมาชิกพรรคภูมิใจไทย ซึ่งคาดการณ์ว่าการหาเสียงเลือกตั้งที่ผ่านมาพรรคภูมิใจไทยก็ให้การสนับสนุน

ถัดมาที่จังหวัดกำแพงเพชร ที่มี สุนทร รัตนากร นายก อบจ.กำแพงเพชร สมัยที่ 3 ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากน้องชายอย่าง วราเทพ รัตนากร ผู้อำนวยการพรรคพลังประชารัฐในการเลือกตั้งที่ผ่านมา

กฤษฎ์ เพ็ญสุภา ว่าที่นายก อบจ.พิจิตร ที่เอาชนะ ลุงของตนอย่าง กฤษฎา ภัทรประสิทธิ์ โดยเขาได้รับการสนับสนุนจากประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ อดีตรัฐมนตรี ที่เป็นคนนำตระกูลภัทรประสิทธิ์เข้าสู่พรรคภูมิใจไทย 

สมศักดิ์ จันทะพิงค์ นายก อบจ.นครสวรรค์ ได้รับการสนับสนุนในการหาเสียงจาก ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย และ ซาบีดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย อย่างชัดเจน ในการเลือกตั้งก่อนวาระในกลางปีที่ผ่าน 

เผด็จ นุ้ยปรี นายก อบจ.อุทัยธานี สมัยที่ 4 เป็นตัวแทนจาก “กลุ่มคุณธรรม” เครือข่ายทางการเมืองใหญ่ในจังหวัดอุทัยธานี กำเนิดขึ้นจากความร่วมมือกันระหว่างชาดา ไทยเศรษฐ์ กับ “ตระกูลเหลืองบริบูรณ์” ตระกูลใหญ่จังหวัดอุทัยธานี เพื่อลงเลือกตั้งสมาชิกเทศบาลเมืองอุทัยธานี ก่อนจะขยายแนวรวมดึงเอาตระกูลทางการเมืองอื่น ๆ หรือคนการเมืองที่มีชื่อเสียงในจังหวัดเข้ามาสังกัดหรือร่วมเป็นเครือข่ายกับกลุ่มคุณธรรม โดยกลุ่มคุณธรรมเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่ผลักดันสำคัญให้ชาดา ไทยเศรษฐ์ สส.อุทัยธานี พรรคภูมิใจไทย ก้าวเข้าสู่สนามการเมืองจนเติบโตขึ้นไปเป็นรัฐมนตรี 

อัครเดช ทองใจสด นายก อบจ.เพชรบูรณ์ 7 สมัย นั้นมีลูกชายคือ อัคร ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ สังกัดพรรคพลังประชารัฐ โดยอัครเดช เป็นลูกชายของ เอี่ยม ทองใจสด สส.เพชรบูรณ์ 10 สมัย 

ทีมข่าวที่ประกอบไปด้วยผู้คนหลากหลาย บ้างก็มาจากทะเล บ้างก็มาจากภูเขา แต่สุดท้ายก็ลงเอยที่ภาคเหนืออยู่ที่ Lanner นี่แหละ...

ข่าวที่เกี่ยวข้อง